การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

Advertisement

ข้อ  1  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

ก)     กฎหมายใดต่อไปนี้เป็นกฎหมายปกครองเพราะเหตุผลใด  (20  คะแนน  หากตอบผิดจะไม่ได้คะแนนในข้อนี้เลย  เพราะถือว่าเป็นสาระสำคัญของวิชา)

1)    ประมวลกฎหมายอาญา

2)    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

3)    พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง  ทบวง  กรม

4)    พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมกสิกรรม

5)    กฎกระทรวง

6)    พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล

7)    ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

8)    เทศบัญญัติ

ข)     คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่าอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ 

กฎหมายที่จะเป็นกฎหมายปกครองนั้น  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ  2  ประการ  คือ

1       จะต้องเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

2       จะต้องเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ  (รัฐสภา)  เท่านั้น  ซึ่งอาจใช้ชื่อของกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ  พระราชบัญญัติ  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  พระราชกำหนด  หรือในรูปของกฎหมายอื่นๆ  เช่น  ประมวลกฎหมาย  เป็นต้น

ดังนั้นในคำถาม  กฎหมายต่างๆ  ดังกล่าว  ที่จะมาเป็นกฎหมายปกครอง  ได้แก่

3)    พระราชบัญญัติปรับปรุง  กระทรวง  ทบวง  กรม

6)    พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล

ธงคำตอบ  ข

มาตรา  5  แห่ง  พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  นั้น  คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัย  อุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่ไหมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กำหนดในกระทรวง

ตัวอย่างของคำสั่งทางปกครอง  เช่น  การออกใบอนุญาตให้บุคคลกระทำการต่างๆ  หรือคำสั่งลงโทษวินัยข้าราชการ  เป็นต้น

 

ข้อ  2  นายราม  รักเรียน  มีที่ดินอยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน  ซึ่งบนท้องถนนหน้าที่ดินของนายรามฯ  เป็นที่กลับรถที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรงเป็นประจำ  ดังนั้นกรมทางหลวงจึงขยายผิวจราจรของถนนออกไปเพื่อเป็นที่กลับรถให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาบนถนนหลวง  แต่การขยายผิวจราจรของกรมทางหลวงได้รุกล้ำเข้าไปในที่ของนายรามฯ

นายราม  รักเรียน  ไม่พอใจนำคดีไปฟ้องศาลปกครอง  ตามมาตรา  9(3)  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

ถามว่า 

1)    ถ้าท่านเป็นศาลปกครองจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    มาตรา  9(3)  ดังกล่าว  บัญญัติว่าอย่างไร

ธงคำตอบ

1)    การที่กรมทางหลวงได้ขยายผิวจราจรออกไปเพื่อเป็นที่กลับรถให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาบนถนนหลวงนั้น  ถือว่ากมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้กระทำการโดยการใช้อำนาจตามกฎหมาย

แต่เมื่อการขยายผิวจราจรของกรมทางหลวงได้รุกล้ำเข้าไปในที่ของนายรามฯ  ย่อมถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อนายรามฯ  ซึ่งเป็นเอกชน  และเมื่อกรณีดังกล่าวเป็นการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  จึงถือว่าเป็นการกระทำละเมิดทางปกครอง  เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองตามมาตรา  9(3)  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

ดังนั้น  ตามปัญหาเมื่อนายราม  รักเรียนไม่พอใจและนำคดีไปฟ้องศาลปกครอง  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลปกครอง  ข้าพเจ้าจะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาเพราะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตาม  มาตรา  9(3)

2)    ตามมาตรา  9(3)  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  ได้บัญญัติว่า

ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา  หรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด  หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  หรือจากกฎ  คำสั่งทางปกครอง  หรือคำสั่งอื่น  หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

 

ข้อ  3  จงอธิบายความแตกต่างระหว่างการควบคุมบังคับบัญชากับการควบคุมกำกับดูแลมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

อำนาจบังคับบัญชา  เป็นอำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา  เป็นอำนาจที่ไม่มีเงื่อนไข  ผู้บังคับบัญชาสามารถที่จะสั่งการใดๆ  ก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม  สามารถที่จะกลับ  แก้ไข  ยกเลิกเพิกถอน  คำสั่งหรือกรกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ  เว้นแต่จะมีกฎเกณฑ์บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น

แต่อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจบังคับบัญชานั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย  จะใช้อำนาจบังคับบัญชาที่ขัดต่อกฎหมายไม่ได้แม้ว่าจะได้ใช้ไปในทางที่เหมาะสมก็ตาม

อำนาจกำกับดูแล  หรืออำนาจควบคุมกำกับ ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา  แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับองค์กรภายใต้การควบคุมกำกับ  จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข  คือจะใช้ได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด

ในการควบคุมกำกับนั้น  องค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติตามที่เห็นสมควร  องค์กรภายใต้ควบคุมกำกับมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  องค์กรควบคุมกำกับจึงเพียงแต่ควบคุมกำกับให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

โดยสรุปอำนาจบังคับบัญชาเป็นอำนาจในระบบการบริหารของนิติบุคคลหนึ่ง  เช่น  ภายในนิติบุคคลที่เรียกว่า  รัฐหรือองค์กรกระจายอำนาจอื่นๆ  เช่น  เทศบาลเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

ส่วนอำนาจควบคุมกำกับเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับนิติบุคคลอื่นๆ  ที่ต้องจัดทำกิจการเฉพาะของตน  ความสัมพันธ์ระหว่างราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของไทยจัดเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะการบังคับบัญชา  ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง  (รวมถึงส่วนภูมิภาค)  กับส่วนท้องถิ่นนั้น  เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะการควบคุมกำกับ

 

ข้อ  4  จงอธิบายความหมายของการกระทำทางปกครองและรูปแบบการกระทำทางปกครอง  และให้วินิจฉัยกรณีดังต่อไปนี้ว่าเป็นการกระทำทางปกครองหรือไม่  รูปแบบใด  เพราะเหตุใด

ก)     การที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในคูคลองสาธารณะที่ปลูกสร้างผิดกฎหมาย

ข)     การที่ฝ่ายปกครองตกลงเข้าทำสัญญาเช้าอาคารจากเอกชนเพื่อใช้เป็นที่ทำกรชั่วคราว

ค)     การที่บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตตรวจสภาพรถยนต์ออกใบรับรองว่ารถยนต์คันที่มารับการตรวจผ่านการตรวจสภาพ

ธงคำตอบ

การกระทำทางปกครอง  หมายถึง  การกระทำของรัฐที่กระทำโดยองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง  ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าเสมอพระราชบัญญัติ

รูปแบบของการกระทำทางปกครอง  สามารถพิจารณาได้ดังนี้

1       คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า  การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัยอุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

2       กฎ  หมายความว่า  พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง  ประกาศกระทรวง  ข้อบัญญัติท้องถิ่น  ระเบียบข้อบังคับ  หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป  โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

3       สัญญาทางปกครอง  หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ  และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

4       ปฏิบัติการทางปกครอง  ได้แก่  การกระทำทางปกครองทั้งหลายที่มิใช่การออกกฎ  คำสั่งทางปกครอง  หรือสัญญาทางปกครอง  แต่เป็นการกระทำทางปกครองเพื่อให้บรรลุผลในทางข้อเท็จจริง

ก.      การที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในคูคลองสาธารณะที่ปลูกสร้างผิดกฎหมาย  เป็นการกระทำทางปกครองในรูปแบบปฏิบัติการทางปกครอง  เพราะมิได้มีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาใดๆ  ให้ปรากฏต่อผู้ใดเลย  แต่เป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังทางกายภาพเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิและหน้าที่

ข.      การที่ฝ่ายปกครองตกลงเข้าทำสัญญาเช่าอาคารจากเอกชนเพื่อใช้เป็นการชั่วคราว  ไม่ใช่การกระทำทางปกครองรูปแบบใด  เพราะเป็นความสัมพันธ์ภายใต้ระบบกฎหมายเอกชน

ค.      การที่บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตตรวจสภาพรถยนต์ออกใบรับรองว่ารถยนต์คันที่มารับการตรวจสภาพผ่านการตรวจสภาพ  เป็นการกระทำทางปกครองในรูปแบบคำสั่งทางปกครอง  เพราะบริษัทเอกชนได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย

Advertisement