การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 จงอธิบายที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่ามาอย่างไร และใช้หลักอะไรเกี่ยวกับที่มาของอำนาจดังกล่าว
ธงคำตอบ
ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
1 อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ
(ก) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน โดยเป็นสมาชิก
– มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน
– มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ 125 คน
และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(ข) วุฒิสภา (ส.ว.)
วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก
– การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน
– การสรรหา รวม 74 คน
2 อำนาจบริหาร
อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย
1 นายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี
2 รัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 35 คน ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีนั้น นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะเป็น ส.ว. ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้
หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
1 อำนาจนิติบัญญัติ
หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ มีหลายประการ เช่น
(1) หลักความรู้ความสามารถ เช่น การกำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกวุฒิสภาว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นต้น
(2) หลักความชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัตินั้น จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ จะแตกต่างไปจากนั้นไม่ได้
(3) หลักความทั่วถึง หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม กล่าวคือ การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติจะต้องทั่วถึง โปร่งใส และชอบด้วยกฎหมาย จะต้องไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือใช้อิทธิพลใดๆทั้งสิ้น
(4) หลักความซื่อสัตย์สุจริต หมายความว่า การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติจะต้องเป็นการได้มาจากการกระทำที่ซื่อสัตย์สุจริต
(5) หลักความเหมาะสม เช่น การกำหนดว่า บุคคลที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นบุคคลติดยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
2 อำนาจบริหาร
หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจบริหาร มีหลายประการเช่นเดียวกัน เช่น
(1) หลักความรู้ความสามารถ เช่น การกำหนดให้รัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นต้น
(2) หลักความเหมาะสม เช่น การกำหนดว่า รัฐมนตรีจะต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เป็นต้น
(3) หลักเสียงส่วนใหญ่ เช่น การกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (โดยเสียงส่วนใหญ่) เท่านั้น เป็นต้น
(4) หลักความซื่อสัตย์สุจริต เช่น การกำหนดให้รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน เป็นต้น