การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงแนวคิดของมองเตสกิเออร์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสในการจัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมารองรับการใช้อำนาจอธิปไตย พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการของระบบการปกครองหลักทั้ง 3 ระบบ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ พร้อมยกตัวอย่างประกอบโดยสังเขป
ธงคำตอบ
มองเตสกิเออ (Montesquieu) เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า “เจตนารมณ์ทางกฎหมาย” หรือ De l’Esprit Lois ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 อำนาจคือ
1 อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา
2 อำนาจบริหาร เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล
3 อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ ได้แก่ ศาล
ซึ่งในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมารองรับการใช้อำนาจเหล่านี้ ควรจัดตั้งในลักษณะที่ให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันเพื่อป้องกันมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเหนืออำนาจอื่น และจากแนวคิดของมองเตสกิเออร์ทำให้เกิดรูปแบบของการปกครองขึ้นมา 3 ระบบ ได้แก่ ระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
ซึ่งแต่ละระบบการปกครองจะมีหลักการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ คือ
ระบบรัฐสภา
ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้ จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้ ล้มล้างในที่นี้คือ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
ระบบประธานาธิบดี
ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา การจัดตั้งองค์กรทั้ง 3 องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด
ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ
ส่วนแรก คือ ประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา นั่นคือ ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
ส่วนที่สอง คือ คณะรัฐบาล ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา
เพราะฉะนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้ ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกันนั่นเอง