การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. กฎหมายตามเนื้อความและกฎหมายตามแบบพิธีคืออะไร อธิบาย
ธงคำตอบ
“กฎหมายตามเนื้อความ” คือ กฎหมายที่มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับโดยรัฏฐาธิปัตย์ เพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของประชาชน ซึ่งถ้าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ
กฎหมายตามเนื้อความจะต้องมีลักษณะที่สำคัญดังนี้คือ
- ต้องเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการตรากฎหมาย
- ต้องเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป คือมีผลบังคับได้กับบุคคลทั่วไปในรัฐ
- ต้องเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ (บุคคล) ซึ่งอาจเป็นข้อบังคับกำหนดให้บุคคลต้องกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการก็ได้
- ต้องเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับได้ตลอดไป จนกว่าจะมีการยกเลิก
- ต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับ กล่าวคือ ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดและจะถูกลงโทษ ซึ่งสภาพบงคับนั้นอาจเป็นสภาพบังคับทางอาญา (โทษ) ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน หรือสภาพบังคับทางแพ่ง เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย เป็นต้น
“กฎหมายตามแบบพิธี” คือ กฎหมายที่ผ่านกระบวนการบัญญัติกฎหมายแต่อาจไม่มีลักษณะครบองค์ประกอบที่จะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือกฎหมายที่ออกมาโดยวิธีบัญญัติกฎหมาย
ทั้งนี้โดยมิได้คำนึงว่ากฎหมายนั้นจะเข้าลักษณะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือไม่ เช่น เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยไม่มีบทบัญญัติกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งถ้าหากมีการฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ เป็นต้น
ซึ่งกฎหมายตามแบบพิธีนี้มักจะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เช่น การตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น