การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. การตีความกฎหมายคืออะไร เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการตีความกฎหมาย และการตีความกฎหมายแพ่งและการตีความกฎหมายอาญา มีความแตกต่างกันอย่างไร หรือไม่ อธิบาย

ธงคำตอบ

“การตีความกฎหมาย” หมายถึง การค้นหาความหมายที่แท้จริงของกฎหมาย หรือการหยั่งทราบว่าถ้อยคำของกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร

เหตุที่ต้องมีการตีความกฎหมายก็เพราะว่า ถ้อยคำของตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้นั้น มีความหมายไม่ชัดเจนแน่นอน คือมีถ้อยคำคลุมเครือ กำกวม หรือมีความหมายได้หลายทาง จึงมีความจำเป็นต้องมีการตีความเพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของตัวบทกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร

“หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง” มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น โดยแยกได้ดังนี้ คือ

  1. การตีความตามตัวอักษร ซึ่งจะต้องตีความทั้งศัพท์ธรรมดาที่มีความหมายเป็นธรรมดาทั่วไป เช่น คำว่า บุตร บิดามารดา ฯลฯ และศัพท์เฉพาะที่มีความหมายทางเทคนิคหรือทางวิชาการ เช่น คำที่อยู่ในตำรากฎหมายหรือบทความทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ
  2. การตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้น ๆ หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้น ๆ ด้วย

ส่วน “การตีความกฎหมายอาญา” นั้น เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษ ดังนั้นจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ จะต้องตีความเฉพาะการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำเท่าที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด หากการกระทำไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้ศาลก็จะต้องยกฟ้อง ตามหลักที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ”

 

ข้อ 2. นายสิงโตเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางกระต่าย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 นางกระต่ายเดินทางไปเที่ยวยุโรปกับเพื่อนที่ทำงาน ระหว่างนั่งเรือชมวิวแม่น้ำไรน์ ได้เกิดอุบัติเหตุเรืออับปางเพราะไปชนกับตอม่อฃองสะพานแห่งหนึ่งเข้า เป็นเหตุให้ผู้โดยสารส่วนหนึ่งหายไปกับกระแสน้ำ รวมทั้งนางกระต่ายด้วย หลังจากนั้นนายสิงโตก็ไม่ได้ข่าวหรือพบเห็นนางกระต่ายอีกเลย อยากทราบว่านายสิงโตจะไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นางกระต่ายเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ เมื่อใด และเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั่นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1)       นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั่นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยูในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคบสาบสูญ ต้องปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกำหนด 5 ปี หรือ 2 ปีในกรณีพิเศษ แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางกระต่ายเดินทางไปเที่ยวยุโรป และระหว่างนั่งเรือชมวิวแม่น้ำไรน์ได้เกิดอุบัติเหตุเรืออับปางเป็นเหตุให้นางกระต่ายหายไปกับกระแสน้ำ หลังจากนั้นนายสิงโตก็ไม่ได้ข่าวหรือพบเห็นนางกระต่ายอีกเลย ถือเป็นกรณีที่นางกระต่ายได้สูญหายไปในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (2)

เพราะหายไปเนื่องจากเหตุเรืออับปาง เมื่อปรากฏว่านายสิงโตเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางกระต่าย จึงถือว่านายสิงโตเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้น นายสิงโตจึงสามารถไปร้องขอต่อศาลเพี่อให้ศาลสั่งให้นางกระต่ายเป็นคนสาบสูญได้

และเมื่อนางกระต่ายได้หายไปในกรณีพิเศษ จึงมีผลให้นายสิงโตสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ยานพาหนะ คือ เรือที่นางกระต่ายได้โดยสารอับปาง ซึ่งจากข้อเท็จจริงเมื่อเรืออับปางในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 จึงครบกำหนด 2 ปีในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 นายสิงโตจึงสามารถที่จะใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป

สรุป

นายสิงโตสามารถที่จะไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นางกระต่ายเป็นคนสาบสูญได้และสามารถเริ่มใช้สิทธิในการร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3. เมื่อนายไก่อายุย่างเข้า 15 ปี ปู่ให้เงินสดเป็นจำนวน 2 ล้านบาท ต่อมาเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ศาลสั่งให้นายไก่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งนางไข่มารดาเป็นผู้พิทักษ์ หลังจากนั้นนายไก่ก็ถอนเงินส่วนตัวในธนาคารให้เพื่อนยืมไป 5,000 บาท โดยนางไข่มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใด ต่อมาแพทย์ลงความเห็นว่านายไก่วิกลจริต

ต่อมานายไก่ไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์จากนายดำมา 1 คันในราคา 8 แสนบาท ในขณะที่กำลังวิกลจริต แต่นายดำไม่ทราบว่าวิกลจริต หลังจากนั้นศาลสั่งให้นายไก่เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งนางไข่เป็นผู้อนุบาล นางไข่เห็นนายไก่ชอบรถยนต์มาก จึงอนุญาตให้นายไก่ไปซื้อรถยนต์จากนายแดงมา 1 คัน ในราคา 1 ล้านบาท

การรับเงินที่ปู่ให้มา 2 ล้านบาท การให้เพื่อนยืมเงิน 5,000 บาท การซื้อรถมอเตอร์ไซค์และการซื้อรถยนต์ของนายไก่ มีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 22 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลงการนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(1)       โดยหลัก ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนมิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์สามารถทำเองได้โดยลำพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้โปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่งเป็นต้น

ตามปัญหา การที่ปู่ของนายไก่ผู้เยาว์ได้ให้เงินแก่นายไก่จำนวน 2 ล้านบาทนั้น เป็นการให้โดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่นายไก่รับเอาเงินนั้นไว้ ถือว่าเป็นกรณีที่นายไก่ผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรม ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งตามมาตรา 22 จึงเข้าข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ด้วยตนเอง และมีผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

(2)       โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเงินไป 5,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้พิทักษ์นั้น การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 34 (3) ประกอบวรรคท้าย

(3)       โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายไก่คนวิกลจริตได้ไปซื้อรถมอเตอร์ไซต์จากนายดำในขณะที่กำลังวิกลจริตนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดำไม่ทราบว่านายไก่เป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายรถมอเตอร์ไซต์ระหว่างนายไก่และนายดำจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

(4)       ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น(ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน) ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อรถยนต์จากนายแดงนั้น ถึงแม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของนายไก่จะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

การที่นายไก่รับเงินที่ปู่ให้มีผลสมบูรณ์

การที่นายไก่ให้เพื่อนยืมเงิน 5,000 บาท มีผลเป็นโมฆียะ

การที่นายไก่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์จากนายดำมีผลสมบูรณ์

การที่นายไก่ซื้อรถยนต์จากนายแดงมีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement