การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา THA1001 ลักษณะและการใช้ภาษาไทย

Advertisement

คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)

ลักษณะภาษา

1 เมื่อเรียนภาษาไทยทำไมจึงมีการเปรียบเทียบภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ

(1) ทำให้เรียนภาษาต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น

(2) ทำให้ฟังและพูดภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น

(3) ทำให้เขียนและอ่านภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น

(4) ทำให้เข้าใจลักษณะของภาษาไทยมากยิ่งขึ้น

ตอบ (4) ทำให้เข้าใจลักษณะของภาษาไทยมากยิ่งขึ้น

จุดมุ่งหมายในการเรียนเรื่องลักษณะภาษาไทยประการหนึ่ง คือ เพื่อให้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับภาษาอื่น โดยเฉพาะภาษาที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร และอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะทำให้เข้าใจลักษณะภาษาอื่นแต่ละภาษาแล้ว ก็ยังทำให้เห็นและเข้าใจลักษณะภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้นด้วย

2 ภาษาซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็น “แม่ภาษาไทย”ควรมีลักษณะอย่างไร

(1) เป็นภาษาที่คนไทยยืมคำมาใช้มาก

(2) เป็นภาษาในสังคมที่มีวัฒนธรรมสูงกว่าวัฒนธรรมไทย

(3) เป็นภาษาในสังคมที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทย

(4) เป็นภาษาที่มีลักษณะภาษาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับภาษาไทย

ตอบ (4) เป็นภาษาที่มีลักษณะภาษาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับภาษาไทย

ภาษาที่ถือเป็น “แม่ภาษาไทย” คือ ภาษาที่มีลักษณะภาษาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับภาษาไทย ซึ่งถึงแม้ว่าภาษาไทยจะมีความเกี่ยวข้องกับภาษาต่างๆแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภาษาไทยจะมีลักษณะเช่นเดียวกับภาษาเหล่านั้น และก็ไม่ถือว่าภาษาเหล่านั้นเป็นแม่ของภาษาไทยด้วย เพราะภาษาแต่ละภาษาก็มีลักษณะเฉพาะตนเอง

3 ทำไมภาษาไทยจึงมีคำยืมจากภาษาต่างประเทศมาก

(1) เพราะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับสังคมต่างภาษา (2) เพราะภาษาไทยมีคำน้อยจึงไม่พอใช้

(3) เพราะคนไทยนิยมวัฒนธรรมต่างชาติ (4) เพราะสังคมไทยยังด้อยพัฒนา

ตอบ (2) เพราะภาษาไทยมีคำน้อยจึงไม่พอใช้

ในปัจจุบันสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความจำเป็นในการใช้คำใหม่ให้เพียงพอแก่การพูดจามีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับภาษาไทยมีพัฒนาการทางด้านคำน้อย ทำให้คำเดิมของไทยซึ่งเป็นคำโดดไม่พอใช้ในภาษา จึงต้องยืมคำภาษาอื่นมาใช้ สร้างคำใหม่ขึ้น หรืออาจจะเกิดคำใหม่ เพราะความเปลี่ยนแปลงทางภาษาบางประการ

4 ข้อใดแสดงวิธีการบอกเพศตามแบบภาษาคำโดด

(1) เด็กหนุ่ม (2) น้ำพริกหนุ่ม (3) หนุ่มเมืองจันท์ (4) ทุกข้อ

ตอบ (1) เด็กหนุ่ม

คำนามในภาษาไทยบางคำก็แสดงเพศได้ในตัวของมันเอง เช่น คำที่บอกเพศชาย ได้แก่ พ่อ พระ ลูกเขย ชาย หนุ่ม ฯลฯ และคำที่บอกเพศหญิง ได้แก่ แม่ ชี ลูกสะใภ้ หญิง สาว นางพยาบาล แม่พิมพ์ของชาติ ฯลฯ แต่คำในภาษาคำโดดบางคำที่เป็นคำรวมทั้งสองเพศ เช่น พี่ น้อง เด็ก น้า ฯลฯ เมื่อต้องการแสดงเพศจะต้องใช้คำบ่งเพศมาประกอบเข้าข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือประสมกันตามแบบคำประสมบ้าง เช่น พี่สาว น้องชาย เด็กหนุ่ม เด็กสาว น้าชาย ฯลฯ

5 ข้อใดมีหลักฐานแสดงว่าภาษามีระบบสูงต่ำ

(1) อย่าเอากล่องไปคั่นไว้ที่ขั้นบันได (2) นี่คือขันใส่น้ำอย่างธรรมดา คุณขันอะไร

(3) ในขั้นนี้ ต้องขันน็อตก่อน (4) พอไก่ตัวผู้ขัน ไก่ตัวเมียก็ขานรับ

ตอบ (3) ในขั้นนี้ ต้องขันน็อตก่อน

ระบบสูงต่ำ (เสียงวรรณยุกต์)ในภาษาไทย คือ การกำหนดเสียงสูงต่ำไว้ตายตัวในแต่ละคำ เพื่อต้องการแยกความหมายโดยให้เสียงหนึ่งมีความหมายอย่างหนึ่ง หากเปลี่ยนเสียงความหมายก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย เช่น ขั้น (เสียงโท) = ชั้นที่ทำลดหลั่นกันเป็นลำดับ ขัน (เสียงจัตวา) = ทำให้ตึงหรือแน่นด้วยวิธีหมุนกวดเร่งเข้าไป เป็นต้น

6 สระเดี่ยวปรากฏอยู่ในข้อใด

(1) บ่อน (2) บ่อย (3) เบี้ยว (4) เบา

ตอบ (1) บ่อน

เสียงสระในภาษาไทยมี 28 เสียง แบ่งออกเป็น

1 สระเดี่ยว 18 เสียง ได้แก่ อะ อา อึ อื เออะ เออ (สระกลาง) อิ อี เอะ เอ แอะ แอ (สระหน้า) อุ อู โอะ โอ เอาะ ออ (สระหลัง)

2 สระผสม 10 เสียง ได้แก่ เอือะ เอือ เอา อาว ไอ อาย (สระกลาง) เอียะ เอีย (สระหน้า) อัวะ อัว (สระหลัง) (ส่วน “บ่อย” ถึงแม้จะมีสระเดี่ยว ออ แต่ลงท้ายด้วย ย ซึ่งเป็นพยัญชนะกึ่งสระ จึงถือเป็นสระผสม 2 เสียง คือ ออ+ย (ออ+อี) = บ่อย

7 สระผสมปรากฏอยู่ในข้อใด

(1) หมี (2) เหมา (3) โหมด (4) หมู

ตอบ (2) เหมา

ดูคำอธิบายข้อ 6 ประกอบ

8 พยัญชนะต้นในข้อใดมีกลุ่มลมตามออกมาด้วย

(1) หนี (2) สี (3) พี่ (4) จี๋

ตอบ (3) พี่

พยัญชนะเสียงหนัก คือ พยัญชนะต้นที่เวลาออกเสียงจะมีกลุ่มลมตามออกมาด้วย หรือมีลมหายใจพุ่งออกมาจากหลอดลมโดยแรง (แรงกว่าพยัญชนะเสียงอื่น) และไม่ถูกขัดขวาง ได้แก่ ห (ฮ) รวมทั้งพยัญชนะที่มีเสียง ห ผสมอยู่ด้วย ได้แก่ ค (ข) ช (ฉ) ท (ถ) พ (ผ) เป็นต้น (ส่วน “หนี” เสียง ห จะหายไป เพราะพยัญชนะเสียงต่ำเดี่ยว (ง น ม ย ร ล ว ) ที่มี ห หรือ อ นำหน้า จะไม่ออกเสียง ห หรือ อ)

9 หากอุดจมูก จะออกเสียงคำใดได้ยาก

(1) สอง (2) ของ (3) ตอง (4) น้อง

ตอบ (4) น้อง

พยัญชนะนาสิก คือ พยัญชนะระเบิดที่เสียงออกทางจมูกซึ่งเกิดจากอวัยวะในการออกเสียงปิดสนิท ณ จุดใดจุดหนึ่งในปาก แต่เพดานอ่อนลดต่ำลงทำให้ลมเปลี่ยนทางไปออกทางจมูกทันทีที่คลายการปิดกั้น ดังนั้นหากอุดจมูกก็จะออกเสียงได้ยาก ได้แก่ พยัญชนะต้น ง น ม

10 คำว่า “ลาว” ออกเสียงใกล้เคียงกับข้อใด

(1) อา+อี (2) อา+อู (3) อี+อา (4) อู+อา

ตอบ (2) อา+อู

ถ้าออกเสียง อา ไม่ให้ขาดเสียง และแทนที่จะให้ลิ้นทอดราบกับปาก กลับค่อยๆกระดกลิ้นขึ้นจนเกือบจดเพดานในระดับของ อู เสียงนั้นก็จะเป็นสระผสม อา + อู เช่น ลาว ราว สาว ชาว ฯลฯ แต่ถ้าออกเสียง อา แล้วกระดกลิ้นสูงไป จดเพดานอ่อนเข้า ก็จะกลายเป็นเสียง อา มี ว สะกด หรือ อา+ว = อาว เช่นกัน

11 แม่กด ปรากฏอยู่ในข้อใด

(1) เพศ

(2) เกตุ

(3) เศษ

(4) ทุกข้อ

ตอบ (4) ทุกข้อ

พยัญชนะท้ายคำที่ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดในภาษาไทยมีได้เพียงเสียงเดียว แม้ในคำที่ยืมจากภาษาอื่นจะมีพยัญชนะท้ายคำเรียงกันมามากกว่าเสียงเดียวก็ตาม โดยพยัญชนะตัวสะกดของไทยจะมีทั้งหมด 8 เสียงดังนี้

1 แม่กก ได้แก่ ก ข ค ฆ

2 แม่กด ได้แก่ จ ฉ ช ซ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ถ ท ธ ศ ษ ส

3 แม่กบ ได้แก่ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ

4 แม่กน ได้แก่ น ณ ร ล ฬ ญ

5 แม่กง ได้แก่ ง

6 แม่กม ได้แก่ ม

7 แม่เกย ได้แก่ ย

8 แม่เกอว ได้แก่ ว

12 พยางค์ที่สองของคำว่า “สมานฉันท์” ถ้าออกเสียงแบบเคียงกันจะมีวรรณยุกต์ใด

(1) สามัญ

(2) เอก

(3) โท

(4) จัตวา

ตอบ (1) สามัญ

การออกเสียงแบบตามกันมา หรือเคียงกันมา (การออกเสียงแบบเรียงพยางค์) คือ การออกเสียงแต่ละเสียงเต็มเสียง และเสียงทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เช่น คำว่า สมานฉันท์ (สะ-มา-นะ-ฉัน) มีพยางค์ที่ 2 คือ มา ซึ่งเป็นพยัญชนะเสียงต่ำเดี่ยว (ง น ม ย ร ล ว) ที่ไม่มีตัวสะกด และสระเสียงยาว (สระอา) จึงผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทั้ง 5 เสียง แต่เวลาเขียนต้องมีอักษรเสียงกลาง (เสียง อ) หรือเสียงสูง (เสียง ห) ช่วยนำ ได้แก่ มา (เสียงสามัญ) หม่า (เสียงเอก) ม่า (เสียงโท) ม้า (เสียงตรี) และหมา (เสียงจัตวา) เป็นต้น

13 พยางค์ที่สองของคำว่า “สมานฉันท์” ถ้าออกเสียงแบบนำกันมาจะมีเสียงวรรณยุกต์ใด

(1) สามัญ (2) เอก (3) โท (4) จัตวา

ตอบ (4) จัตวา

การออกเสียงแบบนำกันมา (อักษรนำ) คือ พยัญชนะคู่ที่พยัญชนะตัวหน้ามีอำนาจเหนือพยัญชนะตัวหลังก็จะเปลี่ยนเสียงตาม ซึ่งจะออกเสียงเหมือนกับเสียงที่มี ห นำ เช่น คำว่า สมานฉันท์ (สะ-หมาน-นะ-ฉัน) มีพยางค์ที่ 2 คือ หมาน ซึ่งเป็นพยัญชนะเสียงต่ำเดี่ยว ( ง น ม ย ร ล ว ) ที่มีตัวสะกดคำเป็น (แม่กน) และสระเสียงยาว (สระอา) จึงผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทั้ง 5 เสียง แต่เวลาเขียนต้องมีอักษรเสียงกลาง (เสียง อ ) หรือเสียงสูง (เสียง ห ) ช่วยนำ เช่น มาน (เสียงสามัญ) หม่าน (เสียงเอก) ม่าน (เสียงโท) ม้าน (เสียงตรี) และหมาน (เสียงจัตวา)

14 ข้อใดมีการออกเสียงพยางค์ทั้งแบบคำเป็นและคำตาย

(1) นายจ้าง (2) นายตรวจ (3) นายทุน (4) นายเวร

ตอบ (2) นายตรวจ

คำเป็น คือ คำที่สะกดด้วยแม่กง แม่กน แม่กม แม่เกย และ แม่เกอว ส่วนคำตาย คือ คำที่สะกดด้วยแม่กก แม่กด และแม่กบ (ดูคำอธิบายข้อ 11 ประกอบ)

15 ข้อใดใช้วรรณยุกต์ผิด

(1) ไปนะคะ (2) ไปละค่ะ (3) ไปนะค่ะ (4) ไปไหมค๊ะ

ตอบ (4) ไปไหมค๊ะ

เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมี 5 เสียง 4 รูป คือ เสียงสามัญ เอก โท ตรี และจัตวา ซึ่งในคำบางคำรูปและเสียงวรรณยุกต์อาจไม่ตรงกัน เช่นคำว่า คะ ในตัวเลือกข้างต้นใช้รูปวรรณยุกต์ผิด เพราะค๊ะ เป็นพยัญชนะเสียงคู่ (ค ฆ ช ฌ ท ฑ ฒ ธ พ ภ ฟ ซ ฮ ) ที่ไม่มีตัวสะกด และสระเสียงสั้น (สระอะ) จึงผันได้ 2 เสียง คือ เสียงโท (ใช้ไม้เอก) และเสียงตรี (ไม่ใช้รูปวรรณยุกต์) ดังนั้นจึงควรแก้ไขเป็น ไปไหมคะ

16 ในภาษามาตรฐาน คำว่า “น้ำมัน” ในข้อใดออกเสียงสั้นกว่าข้ออื่น

(1) น้ำมันหมดแล้ว รถวิ่งต่อไปไม่ได้ (2) น้ำมันหมดแล้ว คอแห้งจริงๆ

(3) น้ำมันไปหมดแล้ว คงเอามาดื่มไม่ได้ (4) ออกเสียงเท่ากันทุกข้อ

ตอบ (1) น้ำมันหมดแล้ว รถวิ่งต่อไปไม่ได้

อัตราการออกเสียงสั้น ยาวตามภาษามาตรฐานจะใช้มาตราในการวัดความยาวของเสียง คือ สระเสียงสั้นจะมีความยาวในการออกเสียง 1 มาตรา ส่วนสระเสียงยาวนั้นจะมีความยาว 2 มาตรา ทั้งนี้การลงเสียงเน้นในคำจำทำให้คำแต่ละคำมีอัตราเสียงสั้นยาวต่างกัน นั่นคือ คำหรือพยางค์ ที่ลงเสียงเน้นจะออกเสียงยาว 2 มาตรา แต่ส่วนที่ไม่ได้ลงเสียงเน้นจะออกเสียงสั้นเพียง 1 มาตรา โดยถ้าเป็นคำหลายพยางค์หรือคำประสม มักจะเน้นที่พยางค์หรือคำท้าย ส่วนคำที่ไม่เน้นก็มักจะสั้นลง เช่นคำว่า “น้ำมัน” ในตัวเลือกข้อ 1 เป็นคำประสมจึงออกเสียงพยางค์หลัง 2 มาตรา และพยางค์หน้าเพียง 1 มาตรา (ส่วน “น้ำ / มัน” ในตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำดี่ยวที่แยกกันจึงออกเสียงยาวเท่ากัน พยางค์ละ 2 มาตรา

17 ในภาษาพูด คำว่า “ระ” ในข้อใดลงเสียงเน้น

(1) ปีระกา (2) ระงมไพร (3) ลูกระนาด (4) ตึกระฟ้า

ตอบ (4) ตึกระฟ้า

(ดูคำอธิบายข้อ 16 ประกอบ) การลงเสียงเน้นในภาษาพูด นอกจากจะออกเสียงสั้นยาวตามแบบแผนที่กำหนดไว้แล้ว บางครั้งอาจสังเกตได้จากการเว้นจังหวะระหว่างคำ เช่น คำว่า ตึกระฟ้า จะลงเสียงเน้นที่ “ระ” กับ “ฟ้า” เสมอกัน เพราะระหว่างคำทั้งสองมีจังหวะเว้นระหว่างคำ ส่วนตัวเลือกข้ออื่นมักลงเสียงเน้นที่พยางค์หรือคำท้าย

18 ข้อใดมีคำที่มีความหมายแฝง

(1) ปูหลน (2) ปูอัด (3) ปูดำ (4) ปูจ๋า

ตอบ (2) ปูอัด

ความหมายแฝง คือ ความหมายย่อยที่แฝงอยู่ในความหมายใหญ่ ซึ่งแนะรายละเอียดบางอย่างไว้ในความหมายนั้นๆ เช่น ความหมายแฝงที่บอกทิศทางเข้าใน หรือเข้าข้างใน เช่น ฉีด (เอายาฉีดเข้าไปในร่างกาย) บุกรุก (ล่วงล้ำเข้าไป) อัด ยัด (ดันเข้าไปให้แน่น) ฯลฯ

19 ข้อใดใช้คำในเชิงอุปมา

(1) หมอใช้ปลิงเกาะแผลเพื่อดูดพิษ (2) เขาช่วยดึงปลิงที่เกาะขาเธอทิ้ง

(3) เขาเกาะเธอเหมือนปลิง (4) ทุกข้อ

ตอบ (3) เขาเกาะเธอเหมือนปลิง

คำอุปมาคือ คำที่ใช้เปรียบเทียบเพื่อพรรณนาบอกลักษณะให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความหมายใหม่เกิดขึ้นอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1 คำอุปมาที่ได้มาจากคำที่มีใช้อยู่แล้ว เช่น เต่า (ช้า งุ่มง่าม) ปลิง (เกาะไม่ยอมปล่อย เพื่อถือประโยชน์จากคนอื่น โดยที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไร) ฯลฯ

2 คำอุปมาที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น กินน้ำเห็นปลิง (รู้สึกตะขิดตะขวงใจ เหมือนจะกินน้ำเห็นปลิงอยู่ในน้ำก็กินไม่ลง) ฯลฯ

20 ข้อใดใช้คำอุปมาได้อย่างถูกต้องที่สุด

(1) กินน้ำเห็นลิง (2) กินน้ำเห็นปลิง (3) กินน้ำเห็นสิงห์ (4) กินน้ำเห็นจริง

ตอบ (2) กินน้ำเห็นปลิง

ดูคำอธิบายข้อ 19 ประกอบ

21 ข้อใดใช้คำแยกเสียงแยกความหมาย

(1) คุณพจีมีวจีอันไพเราะ

(2) เขาช่วยบอกวิธีทำพิธีให้เรา

(3) คุณวัชราเป็นเพื่อนกับคุณพัชรา

(4) เขาตั้งชื่อลูกสาวฝาแฝดว่าพนาลีกับวนาลี

ตอบ (2) เขาช่วยบอกวิธีทำพิธีให้เรา

การแยกเสียงแยกความหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเสียงในคำบางคำที่มีความหมายหลายอย่างให้แตกต่างกันบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่าคำนั้นมีความหมายว่าอย่างไรในที่นั้นๆ โดยความหมายย่อยและที่ใช้อาจจะแตกต่างกัน เช่น คำว่า “วิธี” กับ “พิธี” (มีพยัญชนะต้นบางเสียงต่างกัน) หมายถึง ทำให้ถูกตามแบบอย่าง ธรรมเนียม แต่ “วิธี” เป็นการทำให้ถูกตามทำนอง กฎเกณฑ์ หรือหนทางที่จะทำ ส่วน “พิธี” เป็นการทำให้ถูกตามลัทธิ หรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อความขลังหรือสิริมงคล

22 ข้อใดมีคำที่ใช้แม่กดกับแม่กนเพื่อแยกความหมาย

(1) เสียงออด เสียงอ่อย (2) เสียงอ่อย เสียงอ้อน

(3) เสียงออด เสียงอ้อน (4) เสียงอ่อน เสียงอ้อน

ตอบ (3) เสียงออด เสียงอ้อน

(ดูคำอธิบายข้อ 21 ประกอบ) คำว่า “ออด” กับ “อ้อน” (มีพยัญชนะ ตัวสะกดต่างกัน คือ แม่กด กับแม่กน) หมายถึง ทำอาการพร่ำร้องขอคล้ายกัน แต่ “ออด” เป็นอาการพร่ำอ้อนวอนเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ส่วน “อ้อน” เป็นอาการพร่ำรำพันในลักษณะงอแงอย่างเด็ก

23 ข้อใดมีคำซ้อน

(1) ปลาแก้มช้ำรูปร่างคล้ายปลาตะเพียน (2) แก้มคางเปื้อนหมด

(3) เขาชอบกินชมพู่แก้มแหม่ม (4) เธอเคยเห็นมะม่วงแก้มแดงไหม

ตอบ (2) แก้มคางเปื้อนหมด

คำซ้อน คือ คำเดี่ยว 2 , 4 หรือ 6 คำ ที่มีความหมายหรือมีเสียงใกล้เคียงกัน หรือไปในทำนองเดียวกัน ซ้อนเข้าด้วยกันเพื่อทำให้เกิดคำใหม่ที่มีความหมายใหม่ขึ้น เช่น คำซ้อนที่ความหมายจะปรากฏที่คำต้นหรือคำท้ายคำใดคำเดียวตรงตามความหมายนั้นๆ ส่วนอีกคำหนึ่งไม่มีความหมายปรากฏ เช่น แก้มคาง (ในความแก้มคางเปื้อนหมด) เป็นการพูดแบบไม่จำเพาะเจาะจง ซึ่งความหมายจะอยู่ที่คำต้น (ส่วน “แก้ม” ในตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำประสม)

24 ข้อใดมีคำเดี่ยวเรียงกัน

(1) อยู่กินข้าวกันก่อนนะ อย่าเพิ่งไป (2) เขาและเธออยู่กินกันมานาน

(3) ที่นี่ไม่ค่อยสะดวกนะกินอยู่ลำบาก (4) ทุกข้อ

ตอบ (1) อยู่กินข้าวกันก่อนนะ อย่าเพิ่งไป

คำบางคำเป็นคำเดี่ยว แต่มีลักษณะเหมือนคำซ้อน คำซ้ำ และคำประสม ซึ่งในภาษาเขียนเราไม่อาจทราบได้ ถ้าไม่มีข้อความแวดล้อมเข้ามาช่วย แต่ในภาษาพูดเราใช้วิธีลงเสียงเน้น เช่น คำว่า “อยู่ / กิน” มนตัวเลือกข้อ 1 เป็นคำเดี่ยวเรียงกันมีความหมายเพียงอยู่และกิน (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำซ้อนเพื่อความหมายที่สับคำกันโดยคำว่า “อยู่กิน” หมายถึง การดำเนินชีวิตฉันสามีภรรยา ส่วน “กินอยู่” หมายถึง พักอาศัย)

25 ข้อใดมีคำซ้ำ (ในที่นี่ไม่ใช้ไม้ยมกแสดง)

(1) เขามีที่ที่สุวรรณภูมิ (2) เขามีที่ที่สวยมาก (3) กินอาหารเป็นที่ที่สิ (4) ทุกข้อ

ตอบ (3) กินอาหารเป็นที่ที่สิ

คำซ้ำ คือ คำคำเดียวกันที่นำมากล่าว 2 ครั้ง เพื่อให้มีความหมายเน้นหนักขึ้น หรือเพื่อให้มีความหมายต่างจากคำเดี่ยว ซึ่งวิธีการสร้างคำซ้ำก็เหมือนกับการสร้างคำซ้อนแต่ใช้คำคำเดียวมาซ้อนกันโดยมีเครื่องหมายไม้ยมกกำกับ เช่น กินอาหารเป็นที่ๆสิ เป็นต้น (ส่วน “ที่ที่” ในตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำเดี่ยว เพราะ “ที่” คำแรกเป็นคำนาม ส่วน “ที่” คำหลังเป็นคำบุรพบท)

26 ข้อใดแสดงจำนวนมากกว่าหนึ่ง (ในที่นี้ไม่ใช้ไม้ยมกแสดง)

(1) หน้าตาออกจะบ้านบ้าน (2) ตรวจเป็นบ้านบ้านไปซิ (3) บ้านบ้านนี้แพงมาก (4) ทุกข้อ

ตอบ (2) ตรวจเป็นบ้านบ้านไปซิ

คำซ้ำที่ซ้ำคำนามหรือคำบอกจำนวนนับ ถ้ามีคำว่า “เป็น” มาข้างหน้า นอกจากจะบอกว่าจำนวนนั้นมีมากกว่าหนึ่งแล้ว ยังแยกความหมายออกไปเป็นทีละหนึ่งด้วย เช่น ตรวจเป็นบ้านๆไปซิ (ตรวจทีละบ้าน แต่มีหลายบ้าน) ฯลฯ (ส่วน “บ้านๆ” ในตัวเลือกข้อ 1 หมายถึง ธรรมดาๆ ชาวบ้านทั่วไป ซึ่งเป็นคำซ้ำที่ซ้ำคำนามแล้วความหมายต่างออกไปจากความหมายเดิม เราจึงใช้เป็นคำขยาย และ “บ้าน” ในตัวเลือกข้อ 3 ไม่ใช่คำซ้ำ แต่เป็นคำเดี่ยว เพราะ “บ้าน” คำแรกเป็นคำนาม ส่วน “บ้าน” คำหลังเป็นคำลักษณะนาม ซึ่งควรแก้ไขเป็น บ้านหลังนี้แพงมาก จึงจะถูกต้อง)

27 คำในข้อใดเป็นคำที่มีโครงสร้างเหมือนกับคำว่า “แก้วเก้าเนาวรัตน์”

(1) รูปเขียน (2) รูปภาพ (3) รูปถ่าย (4) รูปสี

ตอบ (2) รูปภาพ

คำว่า “แก้วเก้าเนาวรัตน์” “อิทธิฤทธิ์ และรูปภาพ เป็นคำซ้อนเพื่อความหมายที่มีโครงสร้างเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นการนำคำที่คนยังไม่สู้เข้าใจความหมายดีนัก เช่น เนาวรัตน์ (แก้ว 9 อย่าง ) อิทธิ (ฤทธิ์) ภาพ (รูป) ฯลฯ มาซ้อนกับคำที่มีความหมายเป็นที่เข้าใจและคุ้นเคยดีอยู่แล้วเป็นแก้วเก้าเนาวรัตน์ อิทธิฤทธิ์ รูปภาพ จึงทำให้เข้าใจความหมายของคำที่ไม่รู้ได้ทันที เพราะคำที่นำมาซ้อนกันต้องมีความหมายคล้ายกัน

28 ข้อใดไม่ใช่คำประสม

(1) ปลุกใจ (2) ปลุกลูก (3) ปลุกระดม (4) ปลุกผี

ตอบ (2) ปลุกลูก

คำประสม คือ คำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป มาประสมเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้คำใหม่ที่มีความหมายใหม่มาใช้ในภาษา ซึ่งความหมายสำคัญจะอยู่ที่คำต้น (คำตัวตั้ง) ส่วนที่ตามมาเป็นคำขยาย ซึ่งไม่ใช่คำที่ขยายคำต้นจริงๆ แต่จะช่วยให้คำทั้งคำมีความหมายจำกัดเป็นนัยเดียว เช่น คำประสมที่ใช้เป็นคำกริยา โดยคำตัวตั้งเป็นคำกริยา มีคำอื่นๆตามมีความหมายไปในเชิงอุปมา และมีที่ใช้เฉพาะ ได้แก่ ปลุกใจ (เร้าใจให้กล้าหาญหรือกระตือรือร้น) ปลุกระดม (เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น) ปลุกผี (รื้อฟื้นเรื่องที่ยุติแล้วขึ้นมาใหม่) ฯลฯ (ส่วนตัวเลือกที่ 2 เป็นคำเดี่ยวเรียงกันมา

29 คำประสมในข้อใดมีลักษณะเดียวกับคำว่า “เรียงเบอร์”

(1) เข้าวิน (2) รถซิ่ง (3) เช็กบิล (4) โกอินเตอร์

ตอบ (2) รถซิ่ง

คำสร้างใหม่นอกจากจะสร้างจากคำไทยด้วยกันแล้ว ก็ยังมีคำอีกจำนวนมากที่สร้างขึ้นโดยอาศัยคำต่างประเทศมาประสมกัน หรือใช้คำไทยประสมกับคำต่างประเทศ เช่น เรียงเบอร์ ประกอบด้วยคำไทย (เรียง) + คำอังกฤษ (เบอร์ มาจากพยางค์หลังของ Number) รถซิ่ง ประกอบด้วยคำไทย (รถ) + คำอังกฤษ (ซิ่ง มาจากพยางหลังของ Racing ) ฯลฯ

30 คำประสมในข้อใดประกอบด้วยคำกริยา 2 คำ

(1) คิดเลข (2 ) เผาขน (3) วาดเขียน (4) กำลังเขียน

ตอบ (3) วาดเขียน

คำประสมที่ใช้เป็นคำกริยา โดยมีคำตัวตั้งและมีคำขยายเป็นคำกริยามีความสำคัญเท่ากันเหมือนเชื่อด้วย “และ” อาจสับหน้าสับหลังกันได้ ซึ่งคำใดอยู่ต้นถือเป็น ตัวตั้ง ส่วนคำท้ายเป็นคำขยาย เช่น เที่ยวเดิน – เดินเที่ยว พิมพ์ดีด – ดีดพิมพ์ ติดต่อ – ต่อติด ให้หา – หาให้ วาดเขียน – เขียนวาด เป็นต้น

ตั้งแต่ข้อ 31 – 34 จงพิจารณาคำเกิดใหม่ต่อไปนี้ แล้วตอบคำถาม 4 ข้อต่อไป

(1) มะขาม ตะวัน สะดือ

(2) จักกะจั่น กะปู กระโฉม

(3) กระโดกกระเดก กระโตกกระตาก กระแทกกระทั้น

(4) กระจู๋กระจี๋ กระชุ่มกระชวย กระซุบกระซิบ

31 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเพิ่มเสียงไม่ให้คอนกัน

ตอบ (3) กระโดกกระเดก กระโตกกระตาก กระแทกกระทั้น

อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเพิ่มเสียงเพื่อไม่ให้คอนกัน คือ การเพิ่มเสียง “กะ” (ปัจจุบันใช้ “กระ”) เข้าไปในคำซ้อนเพื่อเสียงที่หน้าพยางค์ต้นและหน้าพยางค์ท้าย ซึ่งมีเสียงเสมอกันและสะกดด้วย “ก” เหมือนกัน เช่น โดกเดก กระโดกกระเดก โตกตาก กระโตกกระตาก แทกทั้น กระแทกกระทั้น

32 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการกร่อนเสียง

ตอบ (1) มะขาม ตะวัน สะดือ

อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการกร่อนเสียง เป็นการกร่อนเสียงพยางค์ต้นให้เป็นเสีย “อะ” ได้แก่

1 “มะ” ที่นำหน้าชื่อผลไม้ ไม่ใช่ไม้ผล และหน้าคำบอกกำหนดวัน เช่น

หมากปราง มะปราง หมากขาม มะขาม หมากค่า มะค่า เมื่อรืน มะรืน

2 “ตะ” นำหน้าชื่อสัตว์ ต้นไม้ และคำที่มีลักษณะคล้ายตา เช่น

ตัวขาบ ตะขาบ ต้นขบ ตะขบ ตาวัน ตะวัน

3 “สะ” เช่น สายดือ สะดือ สาวใภ้ สะใภ้

4 “ฉะ” เช่น ฉันนั้น ฉะนั้น ฉาดๆ ฉะฉาด เฉื่อยๆ ฉะเฉื่อย

5 “ยะ / ระ / ละ” เช่น รื่นๆ ระรื่น ยิบๆยับๆ ยะยิบยะยับ เลาะๆ ละเลาะ

6 “อะ” เช่น อันไร / อันใด อะไร ส่วนคำอื่นๆที่ไม่ได้เป็นไปตามนี้ ได้แก่

ผู้ญาณ พยาน ช้าพลู ชะพลู เฌอเอม ชะเอม เป็นต้น

33 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเทียบแนวเทียบผิด

ตอบ (4) กระจู๋กระจี๋ กระชุ่มกระชวย กระซุบกระซิบ

อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเทียบแนวเทียบผิด เป็นการเพิ่มเสียง “กะ” (หรือ “กระ”) เข้าไปในคำซ้อนเพื่อเสียงที่พยางค์ต้นและพยางค์ท้ายไม่ได้สะกดด้วย “ก” ซึ่งยึดการใช้อุปสรรคเทียมที่เพิ่มเสียงเพื่อไม่ให้เสียงคอนกันมาเป็นแนวเทียบ แต่เป็นการเทียบแนวเทียบผิด เช่น จู๋จี๋ กระจู๋กระจี๋ ชุ่มชวย กระชุ่มกระชวย ซุบซิบ กระซุบกระซิบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดอุปสรรคเทียมไว้แน่นอนแล้วแต่คำที่มาข้างหน้า เช่น ขโมยโจร ขโมยขโจร จมูกปาก จมูกจปาก ฯลฯ

34 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการแบ่งคำผิด

ตอบ (2) จักกะจั่น กะปู กระโฉม

อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการแบ่งคำผิด เกิดจากการพูดเพื่อให้เสียงต่อเนื่องกัน โดยการเพิ่มเสียง “กะ” (ปัจจุบันใช้ “กระ”) ในคำที่พยางค์แรกสะกดด้วย เสียง “กะ” เช่น จักจั่น จักกะจั่น ตกใจ ตกกะใจ ฯลฯ หรือหน้าคำที่เป็นชื่อนก เช่น นกปูด กะปูด นกจิบ กะจิบ ฯลฯ ชื่อผัก เช่น ผักโฉม กระโฉม ผักสัง กะสัง ฯลฯ

และชื่อสิ่งที่มีลักษณนามคำว่า “ลูก” นำหน้า เช่น ลูกดุม กะดุม ฯลฯ

35 ข้อใดไม่ใช่คำอุปสรรคเทียมที่เลียนแบบภาษาเขมร

(1) สะสวย (2) ประเดี๋ยว ประท้วง

(3) ปะติดปะต่อ พะรุงพะรัง (4) ฉะฉาน ละเลาะ

ตอบ (4) ฉะฉาน ละเลาะ (ดูคำอธิบายข้อ 32 ประกอบ)

อุปสรรคเทียมเลียนแบบภาษาเขมร เป็นวิธีการแผลงคำของเขมรที่ใช้นำหน้าคำเพื่อประโยชน์ทางไวยากรณ์ ซึ่งจะทำให้ความหมายและหน้าที่ของคำเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ได้แก่

1 “ชะ / ระ / ปะ / พะ / สม / สะ” เช่น ชะดีชะร้าย ระคน ระคาย ระย่อ ปะปน ปะติดปะต่อ ประเดี๋ยว ประท้วง พะรุงพะรัง พะเยิบ สมยอม สะสาง สะพรั่ง สะสวย ฯลฯ

2 ใช้ “ข ค ป ผ พ” มานำหน้าคำนามและกริยาวิเศษณ์ เพื่อให้มีความหมายว่า “ทำให้” เช่น ขยิบ ขยี้ ขยำ ปลุก ปลด ปละ ปรุ ฯลฯ

ตั้งแต่ข้อ 36 – 39 จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 4 ข้อต่อไป

(1) ทนายคนเก่ง (2) นายดำปรึกษาทนาย

(3) เขาไม่ชอบอาชีพทนาย (4) ทนายแดงว่าความชนะ

36 คำว่าทนายในข้อใดเป็นกรรมของประโยค

ตอบ (2) นายดำปรึกษาทนาย

ภาคผู้ถูกกระทำ เรียกว่า กรรมของประโยค มักจะมีตำแหน่งอยู่หลังกริยา และอาจมีคำขยายกรรมหรือไม่ก็ได้ เช่น นายดำ (ประธาน) ปรึกษา (กริยา) ทนาย (กรรม) ฯลฯ แต่กรรมก็สามารถอยู่หน้ากริยาได้ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายประธานแต่ไม่ใช่ประธาน เช่น เสื้อตัวนี้ (กรรม + ขยายกรรม) ใคร (ประธาน) ตัด (กริยา) ฯลฯ

37 คำว่าทนายในข้อใด เป็นส่วนขยายกรรมของประโยค

ตอบ (3) เขาไม่ชอบอาชีพทนาย

ภาคขยายแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่

1 คุณศัพท์ขยายผู้กระทำกริยา (ประธาน) หรือขยายผู้ถูกกระทำ (กรรม) เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (ประธาน+ขยายประธาน) เขา (ประธาน) ไม่ชอบ (กริยา) อาชีพทนาย (กรรม+ขยายกรรม)

2 กริยาวิเศษณ์ขยายกริยา เช่น ทนายแดง (ประธาน) ว่าความชนะ (กริยา+ขยายกริยา) ฯลฯ

38 ข้อใดมีส่วนขยายกริยา

ตอบ (4) ทนายแดงว่าความชนะ (ดูคำอธิบายข้อ 37 ประกอบ)

39 ข้อใดมีเฉพาะส่วนประธาน

ตอบ (1) ทนายคนเก่ง

ภาคผู้แสดงหรือผู้กระทำกริยา เรียกว่า ประธานของประโยค มักจะมีตำแหน่งอยู่หน้ากริยา ส่วนจะอยู่ที่ใดของประโยคไม่จำกัด และอาจมีคำขยายประธานหรือไม่ก็ได้ เช่น ทนายคนเก่ง (ประธาน+ขยายประธาน) ฯลฯ

ตั้งแต่ข้อ 40 – 42 จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 3 ข้อต่อไป

(1) ฟังทางนี้ (2) โปรดฟังอีกครั้ง (3) ฟังอยู่รึเปล่า (4) ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด

40 ข้อใดเป็นประโยคบอกเล่า

ตอบ (4) ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด

ประโยคบอกเล่า หมายถึง ประโยคที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวตามธรรมดา ซึ่งอาจใช้ไปในทางตอบรับ หรือตอบปฏิเสธก็ได้

41 ข้อใดเป็นประโยคคำสั่ง

ตอบ (1) ฟังทางนี้

ประโยคคำสั่ง หมายถึง ประโยคที่ต้องการให้ผู้ฟังทำตามความประสงค์ของผู้พูดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง มักเป็นประโยคที่ละประธานหรือผู้ทำไว้ในฐานที่เข้าใจและขึ้นต้นด้วยคำกริยา บางครั้งอาจจะมีกริยาช่วย “อย่า ห้าม จง ต้อง” มานำหน้ากริยาแท้เพื่อแสดงการสั่งไม่ให้ทำหรือให้ทำก็ได้ แต่ถ้ามีประธานก็จะเป็นการระบุชื่อหรือเน้นตัวบุคคลเพื่อให้คนที่ถูกสั่งรู้ตัว

42 ข้อใดเป็นประโยคคำถาม

ตอบ (3) ฟังอยู่รึเปล่า

ประโยคคำถามหมายถึง ประโยคที่มีคำวิเศษณ์แสดงคำถามอยู่ด้วย เช่น ใคร อะไร ที่ไหน ทำไม เมื่อไร อย่างไร หรือ หรือเปล่า หรือไม่ ไหม ฯลฯ ซึ่งตำแหน่งของคำแสดงคำถามนี้อาจอยู่ต้นหรือท้ายประโยคก็ได้

43 “นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงชอบออกกำลังกาย” คำนาม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่ใดของประโยค

(1) ผู้ทำกริยา (2) ผู้ถูกกระทำ (3) ขยายผู้ทำกริยา (4) ขยายผู้ถูกกระทำ

ตอบ (3) ขยายผู้ทำกริยา ดูคำอธิบายข้อ 37 ประกอบ

44 คำนามในข้อใดแสดงเพศไม่ชัดเจนทั้ง 2 คำ

(1) ลูกเขย กำนัน (2) ผู้ใหญ่บ้าน สะใภ้

(3) แม่พิมพ์ของชาติ นางพยาบาล (4) นายทะเบียน คนขับรถประจำทาง

ตอบ (4) นายทะเบียน คนขับรถประจำทาง ดูคำอธิบายข้อ 4 ประกอบ

45 คำนามแสดงพจน์ข้อใดขัดกับความหมายของประโยค

(1) เด็กๆนั่งเล่นอยู่คนเดียว (2) แดงกับดำมาคู่กัน

(3) นักศึกษาหลายคนจับกลุ่มคุยกัน (4) ผึ้งบินมาเป็นฝูง

ตอบ (1) เด็กๆนั่งเล่นอยู่คนเดียว

การแสดงพจน์ (จำนวน) มีดังนี้

1 ใช้คำบอกจำนวนหนึ่ง (เอกพจน์) เช่น โสด เดียว หนึ่ง ฯลฯ

2 ใช้คำบอกจำนวนสอง (พหูพจน์ ) เช่น สอง คู่ ฯลฯ

3 ใช้คำบอกจำนวนมากกว่าสอง (พหูพจน์) เช่น กลุ่ม หมู่ ฝูง พวก โขลง ครอก ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีต่างๆเพื่อบอกพหูพจน์ ได้แก่ ใช้คำขยาย เช่น มาก มากมาย หลาย ฯลฯ ใช้คำบอกจำนวนนับ เช่น สาม สี่ ฯลฯ และใช้คำซ้ำ เช่น เด็กๆ หนุ่มๆ ฯลฯ ดังนั้นคำว่า เด็กๆ (หลายคน) จึงขัดกับคำว่า คนเดียว

46 ข้อใดเป็นสรรพนามแทนตัวผู้พูด

(1) ติ๋วมาโน่นแล้ว (2) ติ๋วอยากพบเธอ (3) ติ๋วขอกลับก่อนนะ (4) ฝากบอกติ๋วด้วยนะ

ตอบ (3) ติ๋วขอกลับก่อนนะ

สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ คำที่ใช้แทนตัวผู้พูด เช่น ฉัน ดิฉัน อิฉัน กระผม ข้าพเจ้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังอาจใช้คำนามอื่นๆ แทนตัวผู้พูด เพื่อแสดงความสนิทสนมรักใคร่ ได้แก่

1 ใช้ตำแหน่งเครือญาติแทนตัวผู้พูด เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก ฯลฯ

2 ใช้ตำแหน่งในการงานแทนตัวผู้พูด เช่น ครู อาจารย์ หัวหน้า ฯลฯ

3 ใช้ชื่อผู้พูดทั้งชื่อเล่นชื่อจริงแทนตัวผู้พูด เช่น ติ๋ว ต๋อย นุช ฯลฯ (ส่วน “ติ๋ว” ในตัวเลือกข้ออื่นเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนผู้ที่พูดถึง)

47 ข้อใดใช้สรรพนามไม่เหมาะสมกับฐานะขอบุคคล

(1) ศรรามเขาเป็นนักแสดง (2) อาจารย์ท่านไม่สบาย

(3) ยายแจ๋วแกไม่อยากเป็นคนใช้ (4) นายกรัฐมนตรีสมัครแกชอบทำกับข้าว

ตอบ (4) นายกรัฐมนตรีสมัครแกชอบทำกับข้าว

สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนผู้ที่พูดถึง มีที่ใช้ต่างๆกันดังนี้

1 เขา ใช้ได้ทั้งชายและหญิง อาจใช้ขยายนามข้างหน้าเพื่อให้ฟังสนิทเป็นกันเอง

2 มัน ใช้แทนผู้ที่พูดถึงต่ำกว่าผู้พูด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ถูกใจ หรืออาจใช้ด้วยความถือสนิทเมื่อผู้นั้นเป็นลูกศิษย์ ลูกน้อง คนสนิท

3 แก ใช้แทนบุคคลน่าเวทนาที่ไม่เคารพนับถือนักแต่ถ้าใช้กับเด็กเล็กๆจะแสดงความเอ็นดูรักใคร่

4 ท่าน ใช้แทนผู้ที่พูดถึงที่เคารพนับถือ

48 ข้อใดเป็นสรรพนามแสดงความไม่เฉพาะเจาะจง

(1) อะไรที่เธอถือมา (2) อันไหนเป็นของเธอ (3) ใครๆก็ไม่รักผม (4) ผู้ใดยังไม่ได้รับของขวัญ

ตอบ (3) ใครๆก็ไม่รักผม

สรรพนามที่บอกความไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ ใคร อะไร ใด ไหน ซึ่งเป็นคำกลุ่มเดียวกันกับสรรพนามที่แสดงคำถาม แต่สรรพนามที่บอกความไม่เฉพาะเจาะจงจะกล่าวถึงบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่แบบลอยๆ ไม่ชี้เฉพาะว่าเป็นใคร อะไร หรือที่ไหน (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นสรรพนามที่แสดงคำถาม ซึ่งต้องการคำตอบ)

49 ข้อใดใช้คำกริยาซ้อนคำกริยา

(1) ถวายพระพร (2) ถวายอาลัย (3) ถวายของที่ระลึก (4) ถวายความจงรักภักดี

ตอบ (2) ถวายอาลัย

คำกริยา คือ คำที่กล่าวถึงการกระทำหรือกิริยาอาการของคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งคำกริยาบางคำจะมีความหมายสมบูรณ์ในตัว เมื่อพูดก็เข้าใจความหมายได้ครบถ้วน แต่บางคำก็ต้องอาศัยกรรมหรือส่วนขยายมาช่วย เช่น คำว่า “ถวายอาลัย” (แสดงความระลึกถึงด้วยความเสียดาย) เป็นคำกริยาซ้อนคำกริยา คือ ถวาย (มอบให้) + อาลัย (ห่วงใย ระลึกถึง) (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำกริยา + คำนาม)

50 ข้อใดเป็นกริยาเดี่ยว

(1) เขาวิ่งราวกับจรวด (2) โจรวิ่งราวกระเป๋าถือ

(3) หนังสือเล่มนี้กินใจผู้อ่าน (4) แดงกับดำกินใจกัน

ตอบ (1) เขาวิ่งราวกับจรวด

ประโยค “เขาวิ่ง / ราวกับจรวด” ในตัวเลือกข้อ 1 เป็นคำเดี่ยวเรียงกันโดยมีคำว่า “วิ่ง” (ก้าวไปโดยเร็วยิ่งกว่าเดิน) เป็นคำกริยาเดี่ยวๆ และมีคำว่า “ราวกับ” เป็นคำสันธานเชื่อมความเปรียบเทียบกัน (ส่วน “วิ่งราว” และ “กินใจ” ในตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำประสมที่ทำหน้าที่ได้อย่างกริยา)

51 ข้อใดเป็นคำลงท้ายคำกริยา

(1) กินเข้าไปได้

(2) กินเข้าไปเถอะ

(3) กินได้แล้ว

(4) กำลังกินอยู่

ตอบ (2) กินเข้าไปเถอะ

คำอื่นๆที่ไม่ใช่กริยาช่วย แต่เป็นคำลงท้ายประโยคหรือเป็นคำลงท้ายคำกริยา ได้แก่ เถอะ เถิด นะ น่ะ น่า เถอะนะ เถอะน่า นา ละ ล่ะ ซิ ซี ซิน่ะ หรอก ดอก ฯลฯ

52 ข้อใดมีทั้งคำคุณศัพท์และคำกริยาวิเศษณ์

(1) รถเก่าวิ่งช้า (2) เด็กอ้วนชอบกิน (3) น้ำน้อยแพ้ไฟ (4) วันใสวัยสวย

ตอบ (1) รถเก่าวิ่งช้า

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายความให้ชัดเจนสมบูรณ์ขึ้น แบ่งเป็น 2 ประเภทดังนี้

1 คำวิเศษณ์ขยายนาม เรียกว่า คำคุณศัพท์ เช่น รถเก่า เด็กอ้วน น้ำน้อย วันใสวัยสวย ฯลฯ

2 คำวิเศษณ์ขยายกริยา ขยายคุณศัพท์ หรือขยายกริยาวิเศษณ์ เรียกว่า คำกริยาวิเศษณ์ ซึ่งบางทีก็เป็นคำๆเดียวกับคุณศัพท์ จึงต้องสังเกตตำแหน่งและดูความในประโยค เช่น วิ่งช้า กินมูมมาม ฯลฯ

53 “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นคำคุณศัพท์ประเภทใด

(1) บอกภาวะ (2) บอกจำนวนนับ (3) บอกจำนวนนับไม่ได้ (4) บอกจำนวนแบ่งแยก

ตอบ (3) บอกจำนวนนับไม่ได้

คำคุณศัพท์บอกจำนวนนับไม่ได้ (ประมาณคุณศัพท์) ได้แก่ มาก น้อย นิด หน่อย ครบ พอ เกิน เหลือ ขาด ถ้วน ครบถ้วน หมด หลาย ทั้งหลาย ทั้งหมด ทั้งสิ้น ทั้งนั้น ทั้ง ฯลฯ

54 “ของของใคร ของใครก็ห่วง ของใครใครก็ต้องหวง”

ประโยคที่ยกมานี้ปรากฏคำบุรพบทกี่แห่ง

(1) 1 แห่ง (2) 2 แห่ง (3) 3 แห่ง (4) 4 แห่ง

ตอบ (1) 1 แห่ง

คำว่า “ของ” ที่เป็นคำ บุรพบทใช้นำหน้าคำแสดงความเป็นเจ้าของ จะมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “แห่ง” แต่ในภาษไทยไม่สู้จะได้ใช้คำนี้แสดงความเป็นเจ้าของนัก เพราะถ้าพูดโดยละ “ของ” เสีย ความหมายก็จะไม่ผิดไปจากเดิม (ยกเว้นแต่ในกรณีที่ละไม่ได้) เช่น ประโยค “ของของใคร ของใครก็ห่วง ของใครใครก็ต้องหวง” มีคำว่า “ของ” เป็นคำบุรพบทเพียง 1 แห่ง นอกจากนั้น “ของ” จะเป็นคำนาม หมายถึง สิ่งต่างๆ (โดยละ “ของ” ที่เป็นคำบุรพบทออกเสีย)

55 ข้อใดสามารถละบุรพบทได้

(1) ณ ราตรีหนึ่ง (2) คืนหนังสือโดยด่วน

(3) เป็นกำลังใจให้แก่เธอ (4) โทรศัพท์คุยกับเพื่อน

ตอบ (3) เป็นกำลังใจให้แก่เธอ

คำบุรพบทไม่สำคัญมากเท่ากับคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ ดังนั้นบางแห่งไม่ใช้บุรพบทเลยก็ยังฟังเข้าใจได้ ซึ่งบุรพบทที่อาจละได้แล้วความหมายยังเหมือนเดิม ได้แก่ ของ แก่ ต่อ สู่ ยัง ที่ บน ฯลฯ เช่น เป็นกำลังใจให้แก่เธอ (เป็นกำลังใจให้เธอ) เป็นต้น แต่บุรพบทบางคำก็ละไม่ได้ จะละได้ก็ต้องดูความในประโยคว่าความหมายต้องไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

ตั้งแต่ข้อ 56 – 57 จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 2 ข้อต่อไป

(1) เขาไม่ได้เข้าเรียนเพราะต้องทำงาน (2) เขาอาจจะเรียนไปทำงานไป

(2) เขาเรียนเก่งแต่หางานทำไม่ได้ (4) พอเรียนจบเขาก็ได้งานทำ

56 ข้อใดใช้คำสันธานเชื่อมความเป็นเหตุเป็นผลกัน

ตอบ (1) เขาไม่ได้เข้าเรียนเพราะต้องทำงาน

คำสันธานที่เชื่อมความเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่ เพราะ เพราะว่า ด้วย ด้วยว่า เหตุว่า อาศัยที่ ค่าที่ เพราะฉะนั้น ดังนั้น จึง เลย เหตุฉะนี้ ฯลฯ

57 ข้อใดใช้คำสันธานเชื่อมความคล้อยตามกัน

ตอบ (4) พอเรียนจบเขาก็ได้งานทำ

คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน ทำนองเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน โดยทำหน้าที่เชื่อมความที่เกี่ยวกับเวลา ได้แก่ ก็ แล้ว แล้ว…ก็ แล้ว…จึง ครั้น…ก็ เมื่อ…..ก็ ครั้น…จึง เมื่อ…จึง พอ….ก็

58 คำอุทานในข้อใดแสดงความตกใจ

(1) ตายจริงๆหรือ (2) ตายจริงเป็นผู้หญิงหรือนี่

(3) ตายจริงลืมของไว้ที่บ้าน (4) ตายจริง ดูเปลี่ยนไปมากเลยนะ

ตอบ (3) ตายจริงลืมของไว้ที่บ้าน

คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาด้วยอารมณ์สะเทือนใจเมื่อตกใจ ดีใจ เสียใจ หรือแปลกใจ ซึ่งคำอุทานแต่ละคำจะกำหนดได้ยากว่าใช้แสดงอารมณ์อะไร จึงต้องดูข้อความแวดล้อมประกอบด้วย เช่น คำว่า “ตายจริง” อาจอุทานแสดงความตกใจ เช่น ตายจริงลืมของไว้ที่บ้าน ฯลฯ หรือแสดงความแปลกใจก็ได้ เช่น ตายจริงเป็นผู้หญิงหรือนี่ ตายจริง ดูเปลี่ยนไปมากเลยนะ ฯลฯ

59 ข้อใดคือคำลักษณนามของพระเมรุ

(1) องค์ (2) หลัง (3) แท่น (4) ชุด

ตอบ (1) องค์

คำลักษณนาม คือ คำที่ตามหลังคำบอกจำนวนเพื่อบอกรูปลักษณะและชนิดของคำนามที่อยู่ข้างหน้าคำบอกจำนวนนับ มักจะเป็นคำพยางค์เดียว แต่เป็นคำที่สร้างขึ้นใหม่โดยอาศัยการอุปมาเปรียบเทียบ การเลียนเสียงธรรมชาติ และ การเทียบแนวเทียบ เช่น พระเมรุ (องค์) เทวดา (องค์) เทวสถาน (หลัง / แห่ง) ธำมรงค์ (วง)

ธรรมจักร (วง) บายศรี (สำรับ) บาตร (ใบ / ลูก) นกหวีด (ตัว) นางไม้ (ตน) ฯลฯ

60 ข้อใดใช้คำลักษณนามเดียวกันทั้ง 2 คำ

(1) เทวดา เทวสถาน

(2) ธำมรงค์ ธรรมจักร

(3) บายศรี

(4) นกหวีด นางไม้

ตอบ (2) ธำมรงค์ ธรรมจักร ดูคำอธิบายข้อ 59 ประกอบ

การใช้ภาษา

ตั้งแต่ข้อ 61 – 70 อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามโดยให้สัมพันธ์กับข้อความที่ให้อ่าน

มะเขือพวงแก้เบาหวาน วิจัยพบสรรพคุณเจ๋ง เตือนอย่ากินมากเกินไป

ผ.ศ.ดร. ไชยวัฒน์ ไชยสุต อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สถาบันนวัตกรรมสุขภาพก้าวหน้า เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับมะเขือพวงว่า มะเขือพวงเป็นพืชที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแกงเขียวหวาน แกงเนื้อ แกงป่า น้ำพริกกะปิ หรือผัดเผ็ดบางชนิด ซึ่งตำรับอาหารที่เราได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณกาลนั้น บรรพบุรุษของเรามิได้คำนึงถึงรสชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงทางด้านสรรพคุณของเครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้ไว้อีกด้วย

ทั้งนี้มะเขือพวงมีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทยหลายประการ คือ ช่วยเจริญอาหารและย่อยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ปวด ฟกช้ำ ปวดกระเพาะ ฝีบวมหนอง อาการบวมอักเสบ ขับปัสสาวะ

มะเขือพะวงมีสารจำพวกไฟโตนิวเทรียนท์ที่จะช่วยร่างกายในสภาวะขาดแคลนสารอาหารให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ และกลุ่มสารทอร์โวไซด์ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเทอรอลในกระแสเลือดได้และกระตุ้นให้ตับนำคอเลสเทอรอลในเลือดไปใช้ได้มากขึ้น รวมทั้งยับยั้งการดูดซึมกลับของคอเลสเทอรอลในลำไส้ด้วย จึงอาจช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกทางหนึ่ง สารอีกตัวหนึ่งที่ค้นพบในมะเขือพะวงคือซาโปนิน ทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ

จากการศึกษาพบว่า มะเขือพวงนั้นเป็นพืชที่มีเส้นใยสูงมาก โดยมีเส้นใยมากกว่ามะเขือยาว 3 เท่า และมากกว่ามะเขือเปราะถึง 65 เท่า แม้ว่าจะมีผักหลายชนิดที่มีสารเส้นใยสูง แต่มะเขือพวง ก็ยังได้รับสมญานามเป็น “ราชาแห่งผักพื้นบ้านในเรื่องของสารเส้นใย” เนื่องจากมะเขือพวงมีสารเส้นใยมากที่สุดเมื่อเทียบกับผักพื้นบ้านของไทยเกือบทั้งหมด เส้นใยในมะเขือพวงมีชื่อเรียกว่า เพกติน เป็นสารที่ละลายน้ำได้ สารนี้จะสามารถเปลี่ยนเป็นวุ้นไปเคลือบที่ผิวของลำไส้ ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อีกด้วย

“เพกตินในมะเขือพวงนั้น ยังช่วยในการดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหารได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งของบรรพบุรุษของไทย มักจะทำแกงกะทิใส่มะเขือพวง ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจได้”

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักเกิดโรคแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ และโดยมากมักจะเป็นโรคไตร่วมด้วยในภายหลัง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะต้องมีการคุมพฤติกรรมการกินการอยู่อย่างเคร่งครัด เพื่อจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเป็นปกติ แต่จากที่พบมานั้นค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยาก เพราะผู้ป่วยยังติดนิสัยการกินการอยู่แบบเดิมๆ จึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นมา และในบางรายอาการลุกลามจนถึงต้องตัดอวัยวะต่างๆ เรื่องเหล่านี้มีผลกระทบต่อทางจิตใจของผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างยิ่ง (จากผลวิจัยในหนูที่เป็นเบาหวาน พบว่า น้ำตาลและอนุมูลอิสระในเลือดของหนูลดลง ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีเพราะอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน)

ผ.ศ.ดร.ไชยวัฒน์กล่าวเตือนด้วยว่า แม้ว่ามะเขือพวงจะมีฤทธิ์ช่วยลดอนุมูลอิสระได้จริงและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่เป็นเบาหวานได้ แต่จากการวิจัยของเรายังค้นพบสารที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่มาก นั่นคือ สารอัลคาลอยด์ในมะเขือพวงเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้บริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ในปัจจุบันมีการศึกษาพัฒนามะเขือพวงโดยนำมาอบแห้งและผ่านกรรมวิธีลดปริมาณสารอัลคาลอยด์ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ในรูปแบบของชามะเขือพวง จากการทดสอบกับอาสาสมัครที่เป็นเบาหวาน โดยให้ดื่มชามะเขือพวงในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน พบว่า ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เมื่อร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะโรคแทรกซ้อนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณของมะเขือพวงขอรายละเอียดได้ที่สถาบันนวัตกรรมสุขภาพก้าวหน้า โทร. 0-2251-8008

(ตัดจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 1 และ 2)

61 ข้อความที่ให้อ่านจัดเป็นวรรณกรรมประเภทใด

(1) ข่าว (2) บทความ (3) บทวิจัย (4) บทวิเคราะห์

ตอบ (1) ข่าว

ข่าว คือ เหตุการณ์ ความรู้ หรือความเห็น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญน่าสนใจและได้รับการเผยแพร่ไปสู่ผู้อ่าน โดยมีการอ้างอิงที่มาของผู้ให้ข้อมูล (แหล่งข่าว) และมีโปรยหัว (พาดหัวข่าว) ประกอบอยู่ด้วยทุกครั้ง (ในหนังสือพิมพ์รายวัน หน้า 1 และ 2 โดยทั่วไปจะเป็นข่าว)

62 จุดประสงค์ในการนำเสนอคืออะไร

(1) แสดงทัศนะ (2) ให้ข้อมูล (3) วิเคราะห์อาการ (4) วิจารณ์โรคภัย

ตอบ (2) ให้ข้อมูล

ผู้เขียนมีจุดประสงค์ในการนำเสนอ คือ ต้องการให้ข้อมูล เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของมะเขือพวง และโทษที่ผู้บริโภคจะได้รับหากบริโภคมากเกินไป

63 โวหารที่ใช้คืออะไร

(1) บรรยาย (2) อธิบาย (3) บรรยายและอธิบาย (4) อภิปราย

ตอบ (3) บรรยายและอธิบาย

โวหารที่ใช้ในการเขียนข้อความนี้ ได้แก่

1 โวหารเชิงบรรยาย เป็นโวหารที่ใช้ในการเล่าเรื่องตามที่ผู้เขียนได้รู้ได้เห็นมา ซึ่งเป็นการสื่อสารในแนวกว้าง คือ ให้ข้อมูลอย่างกว้างๆ และมีหลายประเด็น

2 โวหารเชิงอธิบาย เป็นโวหารที่ใช้ชี้แจงเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน โดยมีการชี้แจงแสดงเหตุผล การยกตัวอย่างประกอบ การเปรียบเทียบ และการจำแนกแจกแจง

64 ท่วงทำนองเขียนเป็นแบบใด

(1) ภาษาแบบแผน (2) ภาษากึ่งแบบแผน

(3) เรียบง่ายมีคำสแลงปน (4) มีทั้งภาษาพูดและภาษาปาก

ตอบ (3) เรียบง่ายมีคำสแลงปน

ผู้เขียนใช้ท่วงทำนองเขียนแบบเรียบง่าย คือ ท่วงทำนองเขียนที่ใช้คำง่ายๆ ชัดเจน การผูกประโยคไม่ซับซ้อน ทำให้อ่านง่ายและเข้าใจได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาขบคิดมากนัก แต่จะมีคำสแลงปนในส่วนของโปรยหัว (พาดหัวข่าว) เช่น คำว่า เจ๋ง (ดีมาก) เป็นต้น

65 สารัตถะสำคัญของข้อความคืออะไร

(1) สิ่งใดมีคุณก็ย่อมมีโทษ (2) สมุนไพรไทยให้คุณมากกว่าโทษ

(3) ประโยชน์และโทษของมะเขือพวง (4) มะเขือพวงสามรถบริโภคได้ทั้งสดๆและเป็นสินค้าแปรรูป

ตอบ (3) ประโยชน์และโทษของมะเขือพวง

แนวคิด (Theme) คือ สารัตถะ แก่นเรื่อง หรือสาระสำคัญของเรื่องที่ผู้เขียนมุ่งจะสื่อถึงผู้อ่าน เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อเรื่อง โดยจะมีใจความครอบคลุมรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งแนวคิดหลักหรือสารัตถะของเรื่องนี้ ได้แก่ ประโยชน์และโทษของมะเขือพวง

66 “มะเขือพวงอยู่คู่ครอบครัวไทยมาช้านาน” แสดงถึงอะไร

(1) วัฒนธรรมการกินของไทย (2) ความสามารถของบรรพบุรุษไทย

(3) ภูมิปัญญาของคนไทยในอดีต (4) คุณประโยชน์ของสมุนไพรไทย

ตอบ (4) คุณประโยชน์ของสมุนไพรไทย

จากข้อความ มะเขือพวงเป็นพืชที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแกงเขียวหวาน แกงเนื้อ แกงป่า น้ำพริกกะปิ หรือผัดเผ็ดบางชนิด ซึ่งตำรับอาหารที่เราได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณกาลนั้น บรรพบุรุษของเรามิได้คำนึงถึงรสชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงทางด้านสรรพคุณของเครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้ไว้อีกด้วย

67 สารใดให้ผลแตกต่างจากสารอื่นๆ

(1) เพกติน (2) อัลคาลอยด์ (3) ทอร์โวไซด์ (4) ไฟโตนิวเทรียนท์

ตอบ (2) อัลคาลอยด์

จากข้อความ (มะเขือพะวงมีสารจำพวกไฟโตนิวเทรียนท์ที่จะช่วยร่างกายในสภาวะขาดแคลนสารอาหารให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ และกลุ่มสารทอร์โวไซด์ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเทอรอลในกระแสเลือดได้)

(เพกตินในมะเขือพวงนั้น ยังช่วยในการดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหารได้ )

(แต่จากการวิจัยของเรายังค้นพบสารที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่มาก นั่นคือ สารอัลคาลอยด์ในมะเขือพวงเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้บริโภคในปริมาณที่มากเกินไป )

68 เหตุใดจึงต้องใส่มะเขือพวงลงในอาหารไทยหลายชนิด

(1) เป็นพืชสวนครัวปลูกริมรั้วได้

(2) เพิ่มความสวยงามเพราะมีสีและขนาดที่เหมาะสม

(3) สามารถลดทอนสิ่งที่จะให้ผลเสียจากเครื่องปรุงนั้นๆ

(4) มีเส้นใยมากกว่ามะเขือยาวและมะเขือเปราะ

ตอบ (3) สามารถลดทอนสิ่งที่จะให้ผลเสียจากเครื่องปรุงนั้นๆ

จากข้อความ (เพกตินในมะเขือพวงนั้น ยังช่วยในการดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหารได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งของบรรพบุรุษของไทย มักจะทำแกงกะทิใส่มะเขือพวง ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจได้)

69 สิ่งที่ผู้บริโภคควรระวังคืออะไร

(1) เครื่องปรุง (2) รสชาติ (3) ความสะอาด (4) ปริมาณ

ตอบ (4) ปริมาณ ดูคำอธิบายข้อ 67 ประกอบ

70 ข้อความในวงเล็บสื่อความหมายใด

(1) นำมาจากหนังสือพิมพ์รายวัน (2) นำบางตอนมาจากสื่ออื่น

(3) นำข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มาเขียนใหม่ (4) แต่งข้อความจากเรื่องที่อ่านมา

ตอบ (2) นำบางตอนมาจากสื่ออื่น

ข้อความในวงเล็บท้ายสุดมีคำว่า (ตัดจาก) หมายถึง นำบางตอนมาจาก…. โดยจะนำเรื่องของผู้เขียนเดิมมาตัดออกบางส่วน แต่ไม่ได้ปรับแต่งถ้อยคำหรือดัดแปลงสำนวนภาษาของผู้เขียนเดิม

ตั้งแต่ข้อ 71 – 80 จงเลือกราชาศัพท์ที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดในแต่ละข้อ เพื่อเติมลงในช่องว่างระหว่างข้อความต่อไปนี้

แม้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (71) ของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ได้ (72) แล้ว แต่ (73) และ (74) ในด้านต่างๆ ยังเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรทั้งปวง นอกจาก (75) จะได้ทรงสืบสาน (76) ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้านการแพทย์และสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคแล้ว ยังได้ (77) ความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์เพื่อการส่งเสริมวิชาการทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาษา และดนตรี (78) มีจำนวนไม่น้อยทั้งด้านประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว และเรื่องของ (79) และ (80) ทั้งสองพระองค์ ได้แก่ เรื่องเวลาเป็นของมีค่า และเจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์

71 (1) พระพี่นาง

(2) พระภคินี

(3) พระกนิษฐภคินี

(4) พระเชษฐภคินี

ตอบ (4) พระเชษฐภคินี

พระเชษฐภคินี หมายถึง พี่สาว ซึ่งในที่นี้จะเหมาะสมที่สุดกับความหมายของคำว่า (4) พระเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ส่วนพระพี่นาง หมายถึง พี่สาว พระภคินี หมายถึง พี่หญิง น้องหญิง พระกนิษฐภคินี หมายถึง น้องสะใภ้)

72 (1) สวรรคต (2) ทิวงคต (3) สิ้นพระชนม์ (4) สิ้นชีพิตักษัย

ตอบ (3) สิ้นพระชนม์

สิ้นพระชนม์ หมายถึง ตาย มักใช้กับเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช (ส่วนตัวเลือกอื่นหมายถึงตายเช่นกัน แต่สวรรคตใช้กับพระมหากษัตริย์ ทิวงคตใช้กับพระยุพราช และสิ้นชีพิตักษัยใช้กับหม่อมเจ้า)

73 (1) พระกรณียกิจ (2) พระราชกรณียกิจ (3) พระปณิธาน (4) พระราชปณิธาน

ตอบ (1) พระกรณียกิจ

พระกรณียกิจ หมายถึง กิจที่พึงทำ ซึ่งในที่นี้จะเหมาะสมที่สุด เพราะราชาศัพท์ที่มีคำว่า “ราช” จะใช้กับเจ้านาย 5 พระองค์ในรัชกาลปัจจุบัน คือ

1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

3 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

4 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร

5 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

(ส่วนพระปณิธาน หมายถึง ตั้งความปรารถนา)

74 (1) พระอัจฉริยภาพ (2) พระราชภารกิจ (3) พระราชกรณียกิจ (4) พระราชดำรัส

ตอบ (1) พระอัจฉริยภาพ

พระอัจฉริยภาพ หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญาความสามารถเกินกว่าระดับปกติมาก (ส่วน พระราชภารกิจ / พระราชกรณียกิจ หมายถึง กิจที่พึงทำ พระราชดำรัส หมายถึง พูด ) ดูคำอธิบายข้อ 73 ประกอบ

75 (1) ท่าน (2) พระองค์ (3) พระองค์ท่าน (4) องค์ท่าน

ตอบ (2) พระองค์

คำสรรพนามราชาศัพท์ ที่ใช้แทนผู้ที่พูดถึง (บุรุษที่ 3) ได้แก่

1 พระองค์ ใช้แทนพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้า เจ้าฟ้า และเหนือขึ้นไป

2 ทูลกระหม่อม ใช้แทนเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าที่มีราชชนนีเป็นอัครมเหสี

3 เสด็จ ใช้แทนเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าที่เป็นลูกเธอและหลานเธอ ซึ่งมีพระอัยกาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

4 ท่าน ใช้แทนเจ้านายทั่วไป ขุนนาง พระสงฆ์ ฯลฯ

76 (1) พระดำรัส (2) พระปณิธาน (3) พระราชดำริ (4) พระราชปณิธาน

ตอบ (4) พระราชปณิธาน

พระราชปณิธาน หมายถึง ตั้งความปรารถนา ซึ่งในที่นี้จะเหมาะสมที่สุด เพราะข้อความกล่าวถึง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงควรใช้ราชาศัพท์ที่มีคำว่า “ราช” (ส่วนพระราชดำริหมายถึง คิด) ดูคำอธิบายข้อ 73 ประกอบ

77 (1) ประทาน (2) ทรงประทาน (3) พระราชทาน (4) ทรงพระราชทาน

ตอบ (1) ประทาน

ประทาน หมายถึง ให้ ซึ่งในที่นี้จะเหมาะสมที่สุด เพราะห้ามเติม “ทรง” :ซ้อนคำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น ทรงประทาน ทรงพระราชทาน ฯลฯ แต่ให้เติม “ทรง” เฉพาะหน้าคำกริยาสามัญเพื่อทำให้คำนั้นเป็นราชาศัพท์ เช่น ทรงวิ่ง ทรงเป็นประธาน ฯลฯ คำอธิบายข้อ 73 ประกอบ

78 (1) นิพนธ์ (2) พระนิพนธ์ (3) พระราชนิพนธ์ (4) พระราชดำรัส

ตอบ (2) พระนิพนธ์

พระนิพนธ์ หมายถึง แต่งหนังสือ (ดูคำอธิบายข้อ 73 ประกอบ)

79 (1) เสด็จแม่ (2) สมเด็จแม่ (3) ทูลกระหม่อมแม่ (4)พระองค์แม่

ตอบ (2) สมเด็จแม่

สมเด็จ หมายถึง คำยกย่องหน้าฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดหรือแต่งตั้ง ใช้นำหน้าคำนามสามัญที่เป็นคำไทยและบอกตำแหน่งพระญาติ ซึ่งเป็นเจ้านายด้วยกัน เช่น สมเด็จแม่ (ใช้กับสมเด็จพระบรมราชชนนี) เป็นต้น

80 (1) พระเชษฐา (2) พระอนุชา (3) พระชามาดา (4) พระปิตุลา

ตอบ (2) พระอนุชา

พระอนุชา หมายถึง น้องชาย (ส่วนพระเชษฐา หมายถึง พี่ชาย พระชามาดา หมายถึง ลูกเขย พระปิตุลา หมายถึง ลุง ซึ่งเป็นพี่ของพ่อ)

ตั้งแต่ข้อ 81 – 85 จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 5 ข้อต่อไป

(1) ข้าวก้นบาตร ข้าวแดงแกงร้อน ไข่ในหิน

(2) ข้าวใหม่ปลามัน ข้าวยากหมากแพง ข้าวเหลือเกลืออิ่ม

(3) เสียการเสียงาน เสียกำช้ำกอบ ก่อแล้วต้องสาน

(4) สามใบเถา สามวันดีสี่วันไข้ สามเพลงตกม้าตาย

81 ข้อใดเป็นสำนวนทั้งหมด

ตอบ (4) สามใบเถา สามวันดีสี่วันไข้ สามเพลงตกม้าตาย

ข้อแตกต่างของสำนวน คำพังเพย และสุภาษิตมีดังนี้

1 สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นอย่างกะทัดรัด ใช้คำน้อยแต่กินความหมายมาก และเป็นความหมายโดยนัยหรือโดยเปรียบเทียบ เช่น สามใบเถา (เรียกพี่น้องผู้หญิง 3 คนว่าสามใบเถา) สามวันดีสี่วันไข้ (เจ็บออดๆแอดๆอยู่เสมอ) สามเพลงตกม้าตาย (แพ้ ยุติเร็ว) เสียการเสียงาน (ทำให้งานที่มุ่งหวังไว้บกพร่องหรือเสียหาย) ข้าวแดงแกงร้อน (บุญคุณ) ไข่ในหิน (ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง) ฯลฯ

2 คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อตีความ สรุปเหตุการณ์ สภาวการณ์ บุคลิกและอารมณ์ให้เข้ากับเรื่อง มีความหมายกลางๆ ไม่เน้นการสั่งสอน แต่แฝงคติเตือนใจให้นำไปปฏิบัติหรือไม่ให้นำไปปฏิบัติ เช่น ข้าวใหม่ปลามัน (อะไรที่เป็นของใหม่ก็ถือว่าดี) ข้าวยากหมากแพง (ภาวะขาดแคลนอาหาร) ข้าวเหลือเกลืออิ่ม (บ้านเมืองที่บริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร) เสียกำช้ำกอบ (เสียน้อยแล้วยังต้องเสียมากอีก) ฯลฯ

3 สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อสั่งสอนโดยตรง ซึ่งอาจเป็นคติ ข้อติติง คำจูงใจ หรือคำห้าม และเนื้อความที่สั่งสอนก็เป็นความจริง เป็นความดีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เช่น ก่อแล้วต้องสาน (เริ่มอะไรแล้วต้องทำต่อให้เสร็จ) ฯลฯ

82 ข้อใดมีแต่คำพังเพย

ตอบ (2) ข้าวใหม่ปลามัน ข้าวยากหมากแพง ข้าวเหลือเกลืออิ่ม

ดูคำอธิบายข้อ 81 ประกอบ

83 ข้อใดเรียงลำดับถูกต้องตั้งแต่สำนวน คำพังเพย และสุภาษิต

ตอบ (3) เสียการเสียงาน เสียกำช้ำกอบ ก่อแล้วต้องสาน

ดูคำอธิบายข้อ 81 ประกอบ

84 ข้อใดมีข้อความที่ไม่ใช่สำนวน คำพังเพย หรือสุภาษิตปรากฏอยู่ด้วย

ตอบ (1) ข้าวก้นบาตร ข้าวแดงแกงร้อน ไข่ในหิน

ข้าวก้นบาตร หมายถึง อาหารที่เหลือจากพระฉันแล้วที่ศิษย์วัดได้อาศัยกิน (ดูคำอธิบายข้อ 81 ประกอบ)

85 ข้อใดมีความหมายที่สื่อสภาวะตรงกันข้ามอยู่ในข้อเดียวกัน

ตอบ (2) ข้าวใหม่ปลามัน ข้าวยากหมากแพง ข้าวเหลือเกลืออิ่ม

ดูคำอธิบายข้อ 81 ประกอบ ข้าวยากหมากแพง ตรงข้ามกับ ข้าวเหลือเกลืออิ่ม

86 ข้อใดมีคำที่สะกดถูกขนาบคำที่สะกดผิด

(1) รณรงค์ รกร้าง ลายรดน้ำ (2) ระเห็จ รกราก ละเลียด

(3) ร่องแร่ง รกเลี้ยว รองเง็ง (4) ร่อนทอง ร้อนรน รกชัฏ

ตอบ (3) ร่องแร่ง รกเลี้ยว รองเง็ง

คำที่สะกดผิด ได้แก่ รกเลี้ยว ซึ่งที่ถูกต้องคือ รกเรี้ยว

87 ข้อใดมีคำที่สะกดผิดขนาบคำที่สะกดถูก

(1) ลำเลิก หาลำไผ่ เสื่อลำแพน

(2) ล็อกเกต ลองกอง ละหมาด

(3) ลัคนา ลังถึง ลัดเลาะ

(4) ลักกะปิดลักกะเปิด ละลาบละล้วง ผลลัพท์

ตอบ (4) ลักกะปิดลักกะเปิด ละลาบละล้วง ผลลัพท์

คำที่สะกดผิด ได้แก่ ลักกะปิดลักกะเปิด ผลลัพท์ ซึ่งที่ถูกต้องคือ ลักปิดลักเปิด ผลลัพธ์

88 ข้อใดสะกดถูกทุกคำ

(1) โพล้เพล้ แตกโพละ โพนทะนา

(2) พิศวาส พิรี้พิไร พินาส

(3) พิษสง พุทธมามกะ เพชฆาต

(4) เพียบพร้อม แพขนานยนตร์ แพร่งพราย

ตอบ (1) โพล้เพล้ แตกโพละ โพนทะนา

คำที่สะกดผิด ได้แก่ พินาส เพชฆาต แพขนานยนตร์ ซึ่งที่ถูกต้องคือ พินาศ เพชฌฆาต แพขนานยนต์

89 ข้อใดสะกดผิดทุกคำ

(1) ปล้องไผ่ จอมปลวก ปลดเกษียณ

(2) นาฏดนตรี เนรเทศ เนรมิต

(3) ต้นปามล์ ปลาปั๊กเป้า หวานปะแหล่มๆ

(4) ปลาบปลื้ม ปลั๊กไฟ ปลอมแปลง

ตอบ (3) ต้นปามล์ ปลาปั๊กเป้า หวานปะแหล่มๆ

คำที่สะกดผิดได้แก่ ต้นปามล์ ปลาปั๊กเป้า หวานปะแหล่มๆ ซึ่งที่ถูกต้องคือ ต้นปาล์ม ปลาปักเป้า หวานปะแล่มๆ

90 ข้อใดสะกดถูกทุกคำ

(1) ลอตเตอรี่ ล้างสต๊อก ส่งแฟ๊กซ์

(2) มอร์ฟีน มักกะโรนี คัท – เอ๊าท์

(3) โคม่า เคาน์เตอร์ เซรามิค

(4) อินเทอร์เน็ต ฮ็อตไลน์ เว็บไซต์

ตอบ (4) อินเทอร์เน็ต ฮ็อตไลน์ เว็บไซต์

คำที่สะกดผิด ได้แก่ ส่งแฟ๊กซ์ คัท – เอ๊าท์ เซรามิค ซึ่งที่ถูกต้องคือ ส่งแฟกซ์ คัตเอาท์ เซรามิก

91 วันภาษาไทยแห่งชาติคือวันที่ 29 เดือนใด

(1) กรกฎาคม

(2) กันยายน

(3) สิงหาคม

(4) ธันวาคม

ตอบ (1) กรกฎาคม

วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี โดยรัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่องภาษาไทยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

92 วันภาษาไทยแห่งชาติกำหนดขึ้นเนื่องมาจากพระองค์ใด

(1) พระเจ้าอยู่หัว (2) สมเด็จพระนางเจ้าฯ (3) สมเด็จพระเทพรัตนฯ (4) ทุกข้อ

ตอบ (1) พระเจ้าอยู่หัว ดูคำอธิบายข้อ 91 ประกอบ

93 สิ่งใดเกิดขึ้นหลังสุดในประเทศไทย

(1) ภาษา (2) ตัวอักษร (3) ตัวเลข (4) วรรณคดี

ตอบ (4) วรรณคดี

ประเทศไทยเรามีภาษาใช้ที่เป็นของเราเองมาช้านานแล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงทรงเริ่มประดิษฐ์ตัวอักษรและตัวเลขไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1826 จากนั้นก็พัฒนามาเป็นภาษาเขียน และมีการเรียบเรียงให้สละสลวย มีศิลปะของการนิพนธ์จนกลายเป็นหนังสือที่เรียกว่า วรรณคดี

94 ประสิทธิภาพของการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับสิ่งใด

(1) ผู้รับภาษา (2) ผู้ส่งภาษา (3) ลักษณะของภาษา (4) ทุกข้อ

ตอบ (4) ทุกข้อ

ประสิทธิภาพของการใช้ภาษาย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่อไปนี้

1 ผู้ส่งภาษา ซึ่งจะใช้ภาษาโดยการพูดและการเขียน

2 สาร (ลักษณะของภาษา)

3 ผู้รับภาษา ซึ่งจะใช้ภาษาโดยการฟังและการอ่าน

95 ผู้รับภาษาใช้ภาษาลักษณะใด

(1) พูดและฟัง (2) ฟังและเขียน (3) อ่านและฟัง (4) เขียนและอ่าน

ตอบ (3) อ่านและฟัง ดูคำอธิบายข้อ 94 ประกอบ

96 การใช้ภาษาหมายถึงการใช้สิ่งใด

(1) เสียง (2) ตัวหนังสือ (3) ระบบสัญลักษณ์ (4) ทุกข้อ

ตอบ (3) ระบบสัญลักษณ์

การใช้ภาษา หมายถึง การสื่อสารทำความเข้าใจกันโดยใช้ภาษาพูดหรือภาษาเขียนอันเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อหรือเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารถึงกัน ดังนั้นการใช้ภาษาจึงหมายถึงการใช้ระบบสัญลักษณ์ ซึ่งก็คือ หลักภาษา ลักษณะภาษา หรือไวยากรณ์ต่างๆที่จัดขึ้นมาอย่างมีระบบระเบียบ

97 ผู้ส่งภาษาใช้ภาษาในลักษณะใด

(1) เขียนและพูด (2) พูดและฟัง (3) อ่านและฟัง (4) เขียนและอ่าน

ตอบ (1) เขียนและพูด ดูคำอธิบายข้อ 94 ประกอบ

98 ปัญหาการใช้ภาษาลักษณะใดที่สามารถเห็นได้ชัดเจน

(1) อ่านและเขียน (2) พูดและเขียน (3) อ่านและฟัง (4) เขียนและอ่าน

ตอบ (2) พูดและเขียน

ปัญหาการใช้ภาษาที่สามารถเห็นได้ชัดเจน คือ การพูดและเขียนซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการภายนอก เพราะเป็นการใช้ภาษาที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ส่วนการฟังและอ่านถือเป็นกระบวนการภายใน เพราะเป็นการใช้ภาษาที่สังเกตเห็นได้ยาก กล่าวคือ ผู้พูดและผู้เขียนมิอาจทราบได้ว่าผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจสารที่ตนส่งหรือสื่อออกไปหรือไม่ เพียงไร

99 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ใด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

(1) 2525 (2) 2542 (3) 2545 (4) 2551

ตอบ (2) 2542

พจนานุกรมที่ใช้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย โดยให้ความรู้และกำหนดในเรื่องอักขรวิธี (คำเขียน) การออกเสียงอ่านและนิยามความหมาย ตลอดจนบอกประวัติของคำเท่าที่จำเป็น

100 การใช้ภาษาลักษณะใดที่ทำให้เกิดความรู้ความคิด

(1) อ่านและฟัง (2) เขียนและพูด (3) ฟังและเขียน (4) พูดและอ่าน

ตอบ (1) อ่านและฟัง

การอ่านและการฟังเป็นการใช้ภาษาในการรับรู้เรื่องราวเพื่อจะได้เกิดความจำ ความเข้าใจ ความรู้ ความคิด และความบันเทิง ส่วนการพูดและการเขียนนั้นเป็นการใช้ภาษาในการนำความรู้ ความคิด หรือความต้องการของเราถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ

101 การศึกษาระดับของคำเกี่ยวข้องกับเรื่องใด

(1) ความคิด

(2) สังคม

(3) สัญลักษณ์

(4) ทุกข้อ

ตอบ (2) สังคม

คำในภาษาไทยมีระดับต่างกัน นั่นคือ มีการกำหนดคำให้ใช้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมแก่บุคคลและกาลเทศะ ซึ่งจะต้องรู้ว่าในโอกาสใด สถานที่เช่นไร และกับบุคคลใดจะใช้คำหรือข้อความใดจึงจะเหมาะสม ดังนั้นจึงมีการแบ่งคำเพื่อนำไปใช้ในที่สูงต่ำต่างกันตามความเหมาะสมหรือตามการยอมรับของสังคมเป็น 2 ระดับ คือ

1 คำที่ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ ได้แก่ คำราชาศัพท์ คำสุภาพ และคำเฉพาะวิชาหรือศัพท์บัญญัติ

2 คำที่ใช้ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ สามารถใช้คำได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคำปากหรือคำตลาด คำสแลง คำเฉพาะอาชีพ คำโฆษณา ฯลฯ และคำที่ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ

102 หน้าที่ของคำในประโยคเกี่ยวข้องกับเรื่องใด

(1) น้ำหนัก

(2) ระดับ

(3) ความหมาย

(4) ทุกข้อ

ตอบ (3) ความหมาย

หน้าที่ของคำในประโยคจะเกี่ยวข้องกับความหมายของคำ เพราะตามปกติคำจะมีความหมายอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือหน้าที่ของคำในข้อความที่เรียบเรียงขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความเข้าใจหรือการแปลความหมายของผู้ใช้อีกด้วย

103 การใช้ภาษาให้ถูกระดับเกี่ยวข้องกับสิ่งใด

(1) กาละ (2) เทศะ (3) บุคคล (4) ทุกข้อ

ตอบ (4) ทุกข้อ ดูคำอธิบายข้อ 101 ประกอบ

104 คำประเภทใดที่ใช้ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการได้

(1) คำปาก (2) คำสุภาพ (3) คำเฉพาะวิชา (4) ทุกข้อ

ตอบ (4) ทุกข้อ ดูคำอธิบายข้อ 101 ประกอบ

105 คำสแลงเป็นคำที่ใช้ในภาษาระดับใด

(1) ทางการ (2) กึ่งทางการ (3) ไม่เป็นทางการ (4) ทุกข้อ

ตอบ (3) ไม่เป็นทางการ ดูคำอธิบายข้อ 101 ประกอบ

106 ความหมายของคำสแลงมีลักษณะอย่างไร

(1) ชัดเจน (2) ไม่ชัดเจน (3) มีน้ำหนัก (4) มีภาพพจน์

ตอบ (2) ไม่ชัดเจน

คำสแลง คือ คำที่ใช้กันในหมู่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความหมายของคำจะไม่ชัดเจนและไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เพราะเป็นความหมายที่กลุ่มกำหนดขึ้นใช้กันเองภายในกลุ่ม โดยมักจะได้รับความนิยมเป็นครั้งคราวแล้วก็เลิกใช้กันไปจึงถือเป็นคำภาษาปากที่ไม่สุภาพ ซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในการพูดหรือเขียนอย่างเป็นทางการและกึ่งทางการเด็ดขาด เช่น กิ๊ก ซ่า โจ๋ ฯลฯ

107 คำโฆษณาสามารถนำไปใช้อย่างไร

(1) ใช้พูด (2) ใช้เขียน (3) ใช้เป็นทางการ (3) ใช้อย่างไม่เป็นทางการ

ตอบ (3) ใช้อย่างไม่เป็นทางการ ดูคำอธิบายข้อ 101 ประกอบ

108 การใช้คำเปรียบเทียบมุ่งให้เกิดผลอย่างไร

(1) ชัดเจน (2) ถูกต้อง (3) เหมาะสม (4) มีน้ำหนัก

ตอบ (4) มีน้ำหนัก

การใช้คำเปรียบเทียบ คำพังเพย และสุภาษิต จะช่วยให้ข้อความกะทัดรัดและมีน้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากคำประเภทนี้เป็นคำหรือข้อความที่มีความหมายหนักแน่นและเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับข้อความนั้นๆ ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องรู้จักและเข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นให้ดีเสียก่อน

109 คำชนิดใดความหมายขึ้นอยู่กับการออกเสียง

(1) คำพ้อง (2) คำพ้องรูป (2) คำพ้องเสียง (4) คำเปรียบเทียบ

ตอบ (2) คำพ้องรูป

คำพ้องรูป คือ คำที่เขียนเหมือนกัน แต่ความหมายและการออกเสียงจะต่างกัน ดังนั้นจึงต้องออกเสียงให้ถูกต้อง เพราะหากออกเสียงผิด ความหมายก็จะผิดไปด้วย เช่น “เพลา” อาจจะอ่านว่า “เพ-ลา” (กาล คราว) หรือ “เพลา” (แกนสำหรับสอดในดุมรถหรือดุมเกวียน) ฯลฯ

110 คำชนิดใดที่ความหมายขึ้ยอยู่กับการเขียน

(1) คำพ้อง (2) คำพ้องรูป (2) คำพ้องเสียง (4) คำเปรียบเทียบ

ตอบ (2) คำพ้องเสียง

คำพ้องเสียง คือ คำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่ความหมายและการเขียน (รูป) ไม่เหมือนกัน เช่น กันย์ (สาวรุ่น) กัน (กีดขวาง โกนให้เป็นเขตเสมอกัน) กรรณ (หู) ฯลฯ ดังนั้นเวลาเขียนจึงต้องเขียนให้ถูกต้อง เพราะถ้าเขียนผิด ความหมายก็จะผิดไปด้วย

111 การใช้คำตามแบบภาษาไทยทำให้ประโยคมีลักษณะอย่างไร

(1) มีน้ำหนัก

(2) ถูกต้อง

(3) กระชับ

(4) ทุกข้อ

ตอบ (2) ถูกต้อง

การผูกประโยคให้ถูกต้องชัดเจนขึ้นอยู่กับการกระทำดังนี้คือ

1 การเรียงคำให้ถูกที่ 2 การขยายความให้ถูกที่ 3 การใช้คำตามแบบภาษาไทย

4 การใช้คำให้สิ้นกระแสความ 5 การเว้นวรรคตอนให้ถูกต้อง

112 การเขียนประโยคควรคำนึงถึงข้อใดมากที่สุด

(1) ความรัดกุม

(2) ความถูกต้อง

(2) ความมีน้ำหนัก

(4) ความมีภาพพจน์

ตอบ (2) ความถูกต้อง

สิง่ที่ควนเพ่งเล็งและคำนึงถึงมากที่สุดในการใช้ประโยคทั้งในการพูดและเขียน คือ ความถูกต้องชัดเจน เพราะถ้าหากใช้คำหรือประโยคไม่ถูกต้องจะทำให้ไม่สามารถสื่อความหมายตามที่ต้องการได้ รวมทั้งยังทำให้ผู้ฟังและผู้อ่านไม่เข้าใจหรือเข้าในไม่ตรงกันกับผู้พูดและผู้เขียนอีกด้วย

113 ประโยคที่มีน้ำหนักควรนำไปใช้อย่างไร

(1) ใช้พูด (2) ใช้เขียน (3) ใช่ได้ทั่วไป (4) ใช่เท่าที่จำเป็น

ตอบ (4) ใช่เท่าที่จำเป็น

ประโยคที่มีน้ำหนักและภาพพจน์นั้น มักนำไปใช้กับข้อเขียนประเภทบทความ โดยควรนำไปใช้ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าจะทำให้เรื่องราวดีขึ้น และควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะถ้านำไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อและใช้อย่างไม่พิจารณาแล้ว จะทำให้เฝือและรู้สึกขัดเขิน

114 การรวบความทำให้ประโยคมีลักษณะอย่างไร

(1) รัดกุม (2) มีน้ำหนัก (3) มีความหมาย (4) มีภาพพจน์

ตอบ (1) รัดกุม

การผูกประโยคให้กระชับรัดกุมมีสิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ

1 การรวบความให้กระชับ 2 การลำดับความให้รัดกุม 3 การจำกัดความ

115 การเขียนประโยคให้กระชับทำได้ด้วยวิธีใด

(1) ถ่วงความ (2) เล่นความ (3) จำกัดความ (4) ทุกข้อ

ตอบ (3) จำกัดความ ดูคำอธิบายข้อ 114 ประกอบ

116 การเขียนแบบใดที่ควรใช้ประโยคที่มีน้ำหนักและมีภาพพจน์

(1) ข่าว (2) ตำรา (3) บทความ (4) หนังสือราชการ

ตอบ (3) บทความ ดูคำอธิบายข้อ 113 ประกอบ

117 การเว้นวรรคไม่ถูกต้องทำให้ประโยคมีลักษณะอย่างไร

(1) ไม่ชัดเจน (2) ไม่รัดกุม (3) ไม่มีน้ำหนัก (4) ไม่มีภาพพจน์

ตอบ (1) ไม่ชัดเจน ดูคำอธิบายข้อ 111 ประกอบ

118 การเขียนตอบข้อสอบควรใช้ภาษาระดับใด

(1) ทางการ (2) กึ่งทางการ (3) ไม่เป็นทางการ (4) ทุกข้อ

ตอบ (2) กึ่งทางการ

ในโอกาสกึ่งทางการ เช่น การเขียนตอบข้อสอบอัตนัย การใช้คำจะไม่เคร่งครัดเหมือนโอกาสที่เป็นทางการ แต่ก็ไม่ปล่อยปละเหมือนการใช้คำในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งควรจะต้องพิจารณาใช้คำให้เหมาะสม เช่น อาจใช้คำเฉพาะวิชา (ศัพท์บัญญัติ) และคำเฉพาะอาชีพได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำปากหรือคำตลาด คำสแลง คำต่ำหรือคำหยาบ คำหนังสือพิมพ์ คำโฆษณา คำภาษาถิ่น และคำโบราณ

119 บุคคลระดับใดที่ต้องใช้ราชาศัพท์ด้วย

(1) หม่อมเจ้า (2) หม่อมหลวง (3) หม่อมราชวงศ์ (4) ทุกข้อ

ตอบ (1) หม่อมเจ้า

ราชาศัพท์ คือ ศัพท์หรือถ้อยคำสุภาพที่ใช้เพื่อแสดงความเคารพนับถือ โดยจะใช้กับพระพุทธเจ้า พระราชวงศ์ไทยในระดับหม่อมเจ้าและเหนือขึ้นไป (พระองค์เจ้า เจ้าฟ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ) พระภิกษุสงฆ์ในระดับสมเด็จพระสังฆราช (เจ้า) เจ้านายในราชวงศ์ต่างประเทศ และตังละครที่สมมุติว่าเป็นเจ้านาย

120 คำประเภทใดที่ไม่ควรใช้ในการตอบข้อสอบ

(1) คำเฉพาะวิชา (2) คำเฉพาะอาชีพ (3) คำสแลง (4) ทุกข้อ

ตอบ (3) คำสแลง ดูคำอธิบายข้อ 106 และ 118 ประกอบ

 

Advertisement