การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3316 การบริหารงานรัฐวิสาหกิจ

Advertisement

คําสั่ง

1 ข้อสอบมี 6 ข้อ ให้นักศึกษาทําข้อที่ 1 ทุกคน

2 เลือกทําในข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 6 อีก 2 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมาย ขอบเขต และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ

แนวคําตอบ

เกศินี หงสนันทน์ อธิบายว่า รัฐวิสาหกิจ หมายถึง องค์การซึ่งรัฐบาลกลางควบคุมและเป็นเจ้าของ ทั้งนี้เพื่อที่จะปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงและยกฐานะของประชาชนในประเทศให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ขอบเขตของรัฐวิสาหกิจ มีดังนี้

1 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการและการดําเนินงานทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านอุตสาหกรรม กสิกรรม และธุรกิจการค้า

2 ผู้รับผิดชอบในการควบคุมดําเนินงานเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม

3 รัฐทําหน้าที่ในการริเริ่ม กระตุ้น และส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจแก่ภาคเอกชนและเป็นประโยชน์ต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ

4 รัฐทําหน้าที่ในการนําเสนอการบริการแก่ประชาชนและยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน

5 ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนนําไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ก่อให้เกิดความสงบสุขและเป็นระเบียบของสังคมในท้ายที่สุด

6 รัฐอาจเข้าไปดําเนินการเองทั้งหมดหรือบางส่วน หรืออาจร่วมลงทุนกับเอกชน

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ มีดังนี้

1 เป็นการกระตุ้นวิสาหกิจเอกชนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

2 เพื่อเข้ามาดําเนินงานแทนวิสาหกิจเอกชนโดยวิธีการโอนกิจการเข้าเป็นของรัฐ หรือโดยการที่รัฐใช้สิทธิที่จะซื้อกิจการใด ๆ ในสาขาต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจได้ก่อนเอกชนอื่น ๆในฐานะที่เป็นกิจการที่อยู่ภายในขอบเขตที่สงวนไว้เฉพาะรัฐบาล

3 เป็นการช่วยเสริมวิสาหกิจเอกชนโดยการทําให้ข้อบกพร่องหรือช่องโหว่บางประการซึ่งวิสาหกิจเอกชนอาจมีอยู่ให้หมดสิ้น

4 เพื่อเข้าร่วมกับวิสาหกิจเอกชน (Joint Enterprise) ในการดําเนินโครงการต่าง ๆ

5 เพื่อบริการด้านสาธารณะ รวมทั้งการรักษาประโยชน์ ป้องกันการเสียหายและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของประชาชนส่วนรวม เช่น การไฟฟ้า การประปา เป็นต้น

6 เพื่อเตรียมพร้อมแก้ไขวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และเชื้อเพลิง เป็นต้น

7 เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและเกียรติคุณของประเทศชาติ เช่น การส่งเสริมกีฬาการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

8 การผูกขาดเพื่อหากําไร เช่น การผลิตและจําหน่ายสุรา ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น

9 เพื่อเผยแพร่วิชาการใหม่ ๆ และวิธีประกอบกิจการด้านต่าง ๆ

 

ข้อ 2 จงอธิบายแนวคิด ความหมายและวัตถุประสงค์ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และรูปแบบของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

แนวคําตอบ

แนวคิดของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ในช่วงทศวรรษ 1950s และ 1960s รัฐบาลของหลายประเทศต่างเห็นว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือ ที่ดีที่จะช่วยให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลบรรลุผลตามเป้าหมาย แต่ความเติบโตของรัฐวิสาหกิจในระยะต่อมา กลับส่งผลในเชิงลบ เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ อย่างมาก จนนําไปสู่การประเมินบทบาท ของรัฐวิสาหกิจกันใหม่

ในช่วงทศวรรษ 1970s กระแสความคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาดําเนินงานแทนรัฐวิสาหกิจ ได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ในบางประเทศได้มีการดึงภาคเอกชนเข้ามาถือหุ้น หรือแม้กระทั่งขายกิจการ รัฐวิสาหกิจ กระแสความคิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีความชัดเจนมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1980s โดยเฉพาะใน ประเทศอังกฤษที่มีการดําเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สําหรับประเทศไทย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 นับแต่นั้นมาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่ง ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยมาโดยตลอด แต่ก็ไม่เป็นรูปธรรมมากเท่าที่ควร

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งประเทศไทยต้องขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF โดย IMF ได้กําหนดเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย ซึ่งเงื่อนไขที่สําคัญประการหนึ่งก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ความหมายของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ Yair Aharoni อธิบายว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีความหมายครอบคลุมถึงนโยบายต่าง ๆ ดังนี้

1 การโอนความเป็นเจ้าของ คือ การขายทรัพย์สินและกิจกรรมของรัฐวิสาหกิจให้ผู้ถือหุ้นเอกชน

2 การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันหรือเพิ่มการแข่งขันให้มากขึ้น หรือลดอุปสรรคที่มีต่อการแข่งขันให้น้อยลงในการประกอบกิจการธุรกิจต่าง ๆ

3 การส่งเสริมธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับงานบริการต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นการดําเนินงานร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชน

วัตถุประสงค์ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีดังนี้

1 เพื่อเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการของภาครัฐ

2 เพื่อดึงดูดเงินลงทุน ความรู้ด้านการจัดการ และเทคโนโลยีจากภาคเอกชนหรือนักลงทุนทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ

3 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ

4 เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของภาครัฐ

5 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

6 เพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนโดยมีค่าบริการที่เหมาะสม

 

รูปแบบของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มี 6 รูปแบบ ดังนี้

1 การทําสัญญาจ้างเอกชนให้บริหารงาน โดยรัฐจ่ายค่าจ้างตามผลงานหรือเหมาจ่าย ให้เอกชนที่ทําหน้าที่บริหารงาน ขณะที่รัฐยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินและมีหน้าที่ในการกําหนดนโยบายบริหารและ รับภาระด้านการลงทุน

2 การให้เอกชนทําสัญญาเช่าดําเนินการ คือ การให้เอกชนเป็นผู้เช่าดําเนินการใน โครงการของรัฐและจ่ายเงินตอบแทนให้รัฐบาลตามอัตราที่ทําสัญญากัน โดยรัฐยังคงเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเป็นผู้กําหนดอัตราค่าบริการ ส่วนเอกชนมีหน้าที่ในการดําเนินงานและลงทุน

3 การให้สัมปทานเอกชน คือ การที่รัฐให้สิทธิผูกขาดกับเอกชนในการผลิตสินค้าหรือ ให้บริการบางอย่างภายใต้การกํากับดูแลของรัฐ โดยเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบด้านการลงทุน การจัดการ และการ ปฏิบัติงานในทรัพย์สินที่รัฐให้สัมปทาน ทั้งนี้เอกชนที่ได้สัมปทานจะได้รับค่าตอบแทนจากประชาชนผู้ใช้บริการ โดยตรง ขณะที่รัฐจะเก็บค่าสิทธิหรือส่วนแบ่งตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาการให้สัมปทาน ซึ่งหากคุณภาพการบริการ ไม่ดีหรือไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ รัฐมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งรูปแบบการให้สัมปทานมีหลายวิธี เช่น

1) Build-operate-Transfer (BOT) คือ เอกชนผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้ลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการ และเมื่อครบสัญญาสัมปทานเอกชนจะทําการโอนคืนกิจการทั้งหมดให้กับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ

2) Build-Own-Operate (BOO) คือ การให้เอกชนลงทุนดําเนินการและเป็นเจ้าของกิจการ แต่รัฐรับซื้อผลผลิต โดยเปิดโอกาสให้เอกชนประมูลแข่งขันเพื่อดําเนินกิจกรรมของรัฐวิสาหกิจ

3) Build-Transfer-Operate (BTO) คือ เอกชนผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้ลงทุนออกแบบและดําเนินการก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ผู้รับสิทธิจะต้อง โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่รัฐก่อนการบริหาร โดยเอกชนจะเป็นผู้บริหารกิจการตลอดอายุสัมปทาน

4 การกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มี 3 วิธี ได้แก่

1) ลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐในบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจลงบางส่วน แต่รัฐยังคงถือหุ้นอยู่เกินร้อยละ 50 กรณีนี้บริษัทฯ ยังคงสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่

2) ลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐในบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจลงบางส่วน โดยรัฐยังคงถือหุ้นอยู่ไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งมีผลให้บริษัทฯ พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ

3) รัฐวิสาหกิจตั้งบริษัทลูกเพื่อดําเนินกิจกรรม โดยรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทลูกทั้งหมดในขั้นแรก แล้วดําเนินการเพิ่มทุนในบริษัทลูกหรือกระจายหุ้นเดิมในบริษัทลูกด้วยการนําเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 51

5 การร่วมทุนกับภาคเอกชน คือ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจกับบริษัทเอกชนที่มี ประสบการณ์ในกิจการนั้น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งรัฐจะถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 50 โดยการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนสามารถ กระทําได้ 2 วิธี คือ

1) รัฐวิสาหกิจร่วมลงทุนในภาคเอกชนโดยจัดตั้งบริษัทขึ้นดําเนินการบางกิจกรรมที่เคยทําอยู่และบริษัทเอกชนเป็นผู้บริหารในกิจกรรมนั้น

2) รัฐวิสาหกิจประเมินทรัพย์สินของตนแล้วนําไปลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งกิจการส่วนใหญ่จะเป็นกิจการที่ภาคเอกชนทําได้ดีอยู่แล้วหรือมีการแข่งขันสูง

6 การยุบเลิกและจําหน่ายจ่ายโอนกิจการ คือ การที่รัฐบาลมีมติยุบเลิกกิจการรัฐวิสาหกิจ โดยจําหน่ายจ่ายโอนกิจการหลังชําระบัญชีเพื่อให้ภาคเอกชนมาซื้อกิจการนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการที่รัฐ หมดความจําเป็นในการดําเนินการและภาคเอกชนทํากิจการประเภทนี้ได้ดีกว่า

 

ข้อ 3 จงอธิบายนโยบายรัฐวิสาหกิจของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแต่ละแผนระบุไว้ว่าอย่างไร

แนวคําตอบ

นโยบายรัฐวิสาหกิจของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่าง ๆ มีดังนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 2509)

1 สาขาอุตสาหกรรม รัฐจะไม่ประกอบกิจการขึ้นใหม่อันเป็นการแข่งขันกับเอกชน ส่วนกิจการที่รัฐอํานวยการอยู่แล้วจะจัดการให้บังเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น

2 สาขาการคมนาคม ปรับปรุงกิจการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งปรับปรุงกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมให้มีบริการสะดวกและรวดเร็ว

3 สาขาการพลังงาน ดําเนินงานพลังงานต่าง ๆ เพื่อความต้องการของประเทศ

4 สาขาการสาธารณูปโภค ให้ท้องถิ่นหรือจังหวัดเป็นผู้ดําเนินกิจการด้านสาธารณูปโภค

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 – 2514)

1 ดําเนินกิจการรัฐวิสาหกิจเฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวม ความมั่นคงของชาติ และเพื่อหารายได้ของประเทศเท่านั้น

2 รัฐจะไม่จัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นใหม่ เว้นแต่ที่จําเป็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้จริงเท่านั้น

3 ส่งเสริมและปรับปรุงรัฐวิสาหกิจที่จําเป็นจะต้องรักษาไว้ โดยการปรับปรุงสมรรถภาพในการบริหารงานให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถดําเนินการได้โดยไม่ต้องขอความอุดหนุนด้านการเงินจากรัฐ

4 ควบคุมการขยายงานของรัฐวิสาหกิจให้ดําเนินการเฉพาะโครงการที่แน่นอนและเหมาะสมเท่านั้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 – 2519) มีนโยบายในการพัฒนารัฐวิสาหกิจโดยมุ่งสนับสนุนเฉพาะรัฐวิสาหกิจประเภทต่อไปนี้

1 รัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคและสาธารณูปการขนาดใหญ่ซึ่งจัดทําเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและการพัฒนาประเทศ

2 รัฐวิสาหกิจประเภทยุทธปัจจัยเพื่อการทหารและความมั่นคงของประเทศ

3 รัฐวิสาหกิจประเภทผูกขาดเพื่อหารายได้ให้แก่รัฐ

4 รัฐวิสาหกิจบระเภทส่งเสริมอาชีพของคนไทยหรือเศรษฐกิจของประเทศ

5 รัฐวิสาหกิจประเภทที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจํานวนมากเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแต่ได้ผลตอบแทนน้อย

6 รัฐวิสาหกิจประเภทที่รัฐมีนโยบายเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือเพื่อรักษาระดับราคา ทั้งนี้รัฐจะไม่ก่อตั้งรัฐวิสาหกิจประเภทอุตสาหกรรมหรือการค้าขึ้นใหม่เพื่อทําการแข่งขันกับเอกชน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524)

1 รัฐสนับสนุนและคงไว้ให้ดําเนินการต่อไปในรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมที่มีลักษณะผูกขาดเพื่อการควบคุมคุณภาพ ราคา และหารายได้เป็นพิเศษ เช่น โรงงานยาสูบ โรงงานสุราโรงงานเภสัชกรรม เป็นต้น

2 รัฐสนับสนุนและคงไว้ให้ดําเนินการต่อไปในรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธปัจจัยที่จําเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น โรงงานผลิตวัตถุระเบิด เป็นต้น

3 รัฐมุ่งสนับสนุนรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่

1) จําเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในเรื่องปัจจัยขั้นพื้นฐานสูง

2) มีการลงทุนสูงและเอกชนไม่สามารถดําเนินการได้โดยลําพัง

3) มีกระบวนการดําเนินงานซับซ้อนที่เอกชนยังไม่สามารถดําเนินการได้

4) ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและมีปัญหาในเรื่องการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะการให้สัมปทาน

4 รัฐมีนโยบายยกเลิกหรือจําหน่ายจ่ายโอนรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เดิมเพื่อเป็นผู้ริเริ่มแต่ปัจจุบันยังคงดําเนินการอยู่อย่างขาดประสิทธิภาพ

5 ในกิจการที่รัฐวิสาหกิจและเอกชนดําเนินกิจการควบคู่กันไป รัฐจะใช้มาตรการในการควบคุมในลักษณะคล้ายคลึงกัน

6 รัฐจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้การดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529)

1 ปรับปรุงกลไกในการควบคุมการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้น ดังนี้

1) พิจารณานําระบบข้อมูลเพื่อการบริหารงานมาใช้ใน 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสํานักงบประมาณ และสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

2) พิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่ทําหน้าที่ในการประสานงานกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจให้เป็นแนวทางเดียวกัน

2 ปรับปรุงการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

1) วางหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง พร้อมทั้งกําหนดเป้าหมายและระยะเวลาการทํางานให้ชัดเจน

2) กําหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องมีแผนหลักเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3) รัฐจะลดการให้เงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจจากงบประมาณแผ่นดิน

4) รัฐจะดูแลให้รัฐวิสาหกิจใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

3 การปรับราคาสินค้าหรือค่าบริการของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนอกจากจะต้องมีรายได้มากพอสําหรับจ่ายค่าดอกเบี้ยและชําระคืนต้นเงินกู้แล้ว จะต้องมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลด้วย

4 วางหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาฐานะและกิจการของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

1) กําหนดระยะเวลาให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงกิจการตนเอง

2) รัฐวิสาหกิจใดที่มีผลการดําเนินการไม่ดีเท่าที่ควร รัฐจะพิจารณาดําเนินการยุบเลิก แปรสภาพ หรือจําหน่ายต่อไป

3) กิจการสาธารณูปโภคหากไม่ปรับปรุงการบริหารงาน ก็จะพิจารณาโอนกิจการให้เป็นของเอกชน

4) รัฐจะคงรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) 1 มุ่งการเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจไปสู่เชิงธุรกิจให้มากขึ้น โดย

1) ยกระดับคุณภาพบริการให้ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสม

2) หาลู่ทางเพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต

3) ลงทุนในกิจการที่ผลตอบแทนดี และจํากัดขนาดการลงทุน

2 กําหนดนโยบายการกําหนดราคาสินค้าและค่าบริการของรัฐวิสาหกิจให้คุ้มกับต้นทุน

3 กําหนดแนวนโยบายการบริหารบุคคล โดยกําหนดให้มีการจัดทําแผนอัตรากําลังรวมอยู่ในแผนรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนให้มีการว่าจ้างใช้บริการเอกชน และส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมบริหารงาน

4 กําหนดแนวนโยบายให้มีการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ โดยพิจารณาให้มีการร่วมทุนกับภาคเอกชน ดําเนินการจําหน่ายจ่ายโอนหรือยุบเลิกกิจการที่ดําเนินการไม่ได้ผลติดต่อกันมาโดยไม่มีสาเหตุอันสมควร

5 ทบทวนบทบาทและปรับปรุงระบบการกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งระดับชาติ ระดับกระทรวงให้เข้าเป้าที่กําหนดไว้ในแผนวิสาหกิจแต่ละแห่ง และจัดให้มีการปรับปรุงกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้รัฐวิสาหกิจสามารถบริหารงานได้คล่องตัวในเชิงธุรกิจมากขึ้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539)

1 ลดบทบาทการกํากับดูแลของรัฐ

2 ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ให้รัฐวิสาหกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น

3 รัฐวิสาหกิจต้องดําเนินงานเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น

4 เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมดําเนินงานกับรัฐวิสาหกิจในรูปแบบต่าง ๆ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) 1 เพิ่มบทบาทภาคเอกชน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

2 สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้สามารถระดมทุนจากประชาชนได้อย่างกว้างขวาง

3 จัดตั้งองค์กรกลางเป็นการถาวร เพื่อบริหารนโยบายการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน

4 นําระบบประเมินผลการดําเนินงานมาใช้แทนการกํากับดูแล

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549)

1 ส่งเสริมให้มีการแปลงทุนในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็นทุนเรือนหุ้นและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

2 เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการของภาครัฐ โดยคํานึงถึงประสิทธิภาพการดําเนินงานมาตรฐานและคุณภาพของการผลิตและบริการ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554)

1 พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีการดําเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักการบริหารจัดการที่ดี

2 ปรับบทบาท โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ลดการบังคับควบคุม

3 เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการของรัฐ และลดภาระการลงทุนภาครัฐ

4 พัฒนากลไกการกํากับดูแลที่เข้มแข็งเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม

 

ข้อ 4 จงอธิบายแนวทางการควบคุมและการประเมินผลรัฐวิสาหกิจของไทย

แนวคําตอบ

แนวทางการควบคุมรัฐวิสาหกิจของไทย แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ

1 การควบคุมภายใน หมายถึง การควบคุมโดยองค์กรภายในของแต่ละรัฐวิสาหกิจเอง ได้แก่

1) ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เป็นองค์กรที่มีเฉพาะรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจํากัดและธนาคารพาณิชย์ โดยจะมีอํานาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องสําคัญต่าง ๆ เช่น การเลือกตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ การพิจารณาอนุมัติ เกี่ยวกับงบดุล บัญชีกําไรขาดทุน การจ่ายเงินปันผลและบําเหน็จรางวัลอื่น ๆเป็นต้น

2) คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ มีอํานาจหน้าที่ในการวางนโยบายและระเบียบหรือข้อบังคับต่าง ๆ และควบคุมดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจโดยทั่ว ๆ ไป

3) หน่วยควบคุมภายในของรัฐวิสาหกิจ ในบางรัฐวิสาหกิจจะมีหน่วยควบคุมภายในของตนเองทําหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆภายในรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

2 การควบคุมภายนอก หมายถึง การควบคุมจากภายนอกรัฐวิสาหกิจ โดยองค์กรต่าง ๆของรัฐ ได้แก่

1 สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ในการควบคุมรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

(1) เรียกให้รัฐวิสาหกิจเสนอแผนงานและโครงการพัฒนา รวมทั้งเสนอข้อเท็จจริงที่จําเป็นเพื่อพิจารณาผลงานของโครงการพัฒนาที่กําลังดําเนินการอยู่

(2) พิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาร่วมกับรัฐวิสาหกิจ

(3) พิจารณาให้คําแนะนําและกําหนดหลักการเพื่อให้รัฐวิสาหกิจจัดทําแผนงานและโครงการพัฒนาที่จะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

(4) ติดตามและประเมินผลงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ

2) สํานักงบประมาณ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณมีอํานาจหน้าที่ในการควบคุม รัฐวิสาหกิจ ดังนี้

(1) เรียกให้รัฐวิสาหกิจเสนอประมาณการรายรับและรายจ่าย

(2) วิเคราะห์งบประมาณและการจ่ายเงินของรัฐวิสาหกิจ

(3) เรียกให้รัฐวิสาหกิจเสนอข้อเท็จจริงตามที่เห็นสมควร

(4) ในกรณีรัฐวิสาหกิจขอเงินจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้ดําเนินกิจการ

(5) ในกรณีรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่นิติบุคคล ถ้ามีความจําเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้ดําเนินกิจการ กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ มีอํานาจกู้ยืมให้ได้แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ

(6) กําหนดให้รัฐวิสาหกิจนําเงินกําไรหรือเงินอื่นใดส่งเป็นรายได้แผ่นดินเป็นงวด ๆ

3) สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีอํานาจหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีและรับรองงบดุลรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง

4) กระทรวงการคลัง มีอํานาจหน้าที่ในการควบคุมรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

(1) ตรวจสอบบัญชี เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ

(2) กําหนดหลักเกณฑ์การทําบัญชีแสดงผลการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

(3) อนุมัติการกําหนดหรือเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเสื่อมราคา

(4) อนุมัติการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคํานวณต้นทุนการผลิต และการตีราคาของคงเหลือ

(5) อนุมัติการจัดสรรกําไรสะสมของรัฐวิสาหกิจ

(6) อนุมัติการจัดสรรกําไรสุทธิประจําปีของรัฐวิสาหกิจเพื่อจ่ายเป็นโบนัสกรรมการและพนักงาน และจ่ายเงินปันผลหรือเงินรายได้นําส่งคลัง

(7) วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่รัฐวิสาหกิจไม่เห็นด้วยกับความเห็นของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินในเรื่องการสอบบัญชี

(8) ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจจะฝากเงินกับธนาคารที่ไม่ใช่ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังก่อน

(9) กําหนดให้รัฐวิสาหกิจนําเงินกําไรหรือเงินอื่นใดส่งเป็นรายได้แผ่นดินเป็นงวด ๆ

(10) การจ่ายเงินยืมทดรองแก่พนักงานที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจกําหนดขึ้นนั้นต้องได้รับความตกลงจากกระทรวงการคลังก่อน

(11) ในกรณีรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่นิติบุคคล ถ้ามีความจําเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้ดําเนินกิจการ กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ มีอํานาจกู้ยืมให้ได้แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน

(12) รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องมีผู้แทนกระทรวงการคลังซึ่งเป็นข้าราชการประจําเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ

5) กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ มีอํานาจหน้าที่กํากับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสังกัด

6) คณะรัฐมนตรี มีอํานาจหน้าที่ในการควบคุมรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

(1) อนุมัติการเพิ่มหรือลดทุนของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง

(2) อนุมัติงบลงทุนหรือการลงทุนเพื่อขยายโครงการเดิมหรือริเริ่มโครงการใหม่

(3) อนุมัติการกู้ยืมเงิน

(4) อนุมัติการจําหน่ายอสังหาริมทรัพย์

(5) อนุมัติการจําหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นศูนย์

(6) อนุมัติการกําหนดราคาสินค้าหรือบริการ

(7) อนุมัติการออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(8) อนุมัติการจําหน่ายกิจการหรือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ

(9) อนุมัติการเข้าถือหุ้นส่วนหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่น

(10) อนุมัติการจัดตั้งบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัด

7) รัฐสภา มีอํานาจหน้าที่ในการควบคุมรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

(1) พิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี

(2) ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ

(3) เสนอญัตติในสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

(4) ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบ

(5) อภิปรายไม่ไว้วางใจ

แนวทางการประเมินผลรัฐวิสาหกิจของไทย มีดังนี้

1 จัดทําบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดําเนินงานรัฐวิสาหกิจก่อนเริ่มปีงบประมาณ เพื่อกําหนดตัวแปรและเป้าหมายในการดําเนินงานในแต่ละปี โดยบันทึกข้อตกลงจะต้องลงนามโดยปลัดกระทรวง เจ้าสังกัด ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ

2 คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้กํากับดูแลให้รัฐวิสาหกิจดําเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย ที่กําหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง โดยรัฐจะผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจบริหารงานได้คล่องตัวมากขึ้น

3 การกําหนดตัวแปรและเป้าหมายในการดําเนินงานจะต้องคํานึงถึงลักษณะของแต่ละรัฐวิสาหกิจ และกําหนดตัวแปรซึ่งครอบคลุมด้านสําคัญทุกด้านรวมถึงคุณภาพในการบริการ และเป็นผลงานที่รัฐ ต้องการจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการพิจารณากําหนดตัวแปรและเป้าหมายจะคํานึงถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ

4 การประเมินผลงานจะแบ่งผลงานออกเป็น 5 ระดับ และมีการกําหนดระบบผลตอบแทน ที่สะท้อนระดับผลการดําเนินงาน รัฐวิสาหกิจใดดําเนินการได้ดีกว่าเป้าหมายที่กําหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงจะได้รับ ผลตอบแทนมากกว่า

5 การประเมินผลงานคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะต้องใช้ตัวแปรชุดเดียวกับ การประเมินผลงานของรัฐวิสาหกิจ

 

ข้อ 5 A Public Development Program for Thailand เป็นผลการวิจัยของคณะทํางานธนาคารโลกเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจของไทย ได้วิจารณ์รัฐวิสาหกิจไทยไว้ว่าอย่างไร และมีข้อเสนอแนะสําหรับรัฐวิสาหกิจของไทยอย่างไร

แนวคําตอบ

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ดําเนินนโยบายชาตินิยมทาง เศรษฐกิจ เพื่อให้คนไทยมีงานทําและขจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของคนต่างชาติ รวมทั้งลดบทบาทการผูกขาดทาง เศรษฐกิจของชาติตะวันตกและชาวจีน โดยรัฐบาลได้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาหลายแห่ง และเข้าไปควบคุมภาคการผลิต สําคัญ ๆ เช่น การผลิตแป้ง โรงสี น้ำแข็ง น้ำตาลทราย สุรา เบียร์ บุหรี่ เป็นต้น แต่บุคคลที่เข้ามาดํารงตําแหน่ง ระดับสูงในรัฐวิสาหกิจเป็นข้าราชการซึ่งไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการและวางแผนในการ ดําเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบกับการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในสมัยนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันทางการเมือง และกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีอํานาจทางการเมือง คือ กลุ่มสี่เสาเทเวศร์และกลุ่มราชครู จึงทําให้ รัฐวิสาหกิจสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มผู้มีอํานาจทางการเมืองทั้งสองกลุ่มมากกว่าจะสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ให้แก่ประเทศ

ในระหว่างปี พ.ศ. 2530 – 2501 คณะทํางานธนาคารโลกได้เข้ามาศึกษาวิจัยสภาวะเศรษฐกิจไทย และได้เสนอผลการศึกษาวิจัยไว้ในรายงานชื่อ A Public Development Program for Thailand ซึ่งได้วิจารณ์ รัฐวิสาหกิจไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามไว้ 3 ประการ คือ

1 ปราศจากการวางแผนที่ดี

2 การจัดการไม่มีประสิทธิภาพ

3 ไม่ก่อให้เกิดผลกําไรเท่าที่ควร

คณะทํางานธนาคารโลกได้ให้ข้อเสนอแนะสําหรับรัฐวิสาหกิจของไทย ดังนี้

1 ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรม

2 รัฐบาลควรทําหน้าที่ในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสาธารณูปการเท่านั้น ” ส่วนกิจการด้านอื่น ๆ ควรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดําเนินการ

 

ข้อ 6 จงอธิบายความคิดเห็นทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจตามแนวความคิดของสํานักต่าง ๆ ดังนี้

1 สํานักพาณิชย์นิยม (Mercantilism)

2 สํานักเสรีนิยม (Liberalism) และ

3 สํานักสังคมนิยม (Socialism)

แนวคําตอบ

นักเศรษฐศาสตร์สํานักต่าง ๆ มีความคิดเห็นทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

1 สํานักพาณิชย์นิยม (Mercantilism) เป็นสํานักที่มองเห็นความสําคัญของรัฐบาลใน การดําเนินการทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการดําเนินการทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าเอกชนมักจะ ดําเนินการทางเศรษฐกิจโดยคํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ และผลประโยชน์ส่วนตัวก็มักจะขัดกับ ผลประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นสํานักพาณิชย์นิยมจึงเห็นว่า

1) ในทางการค้านั้น รัฐควรกระทําอย่างเต็มความสามารถเพื่อนําผลประโยชน์เข้าสู่ประเทศ โดยรัฐจะต้องนําความมั่งคั่งมาสู่ประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

2) ควรเพิ่มอํานาจของรัฐด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น การออกกฎหมายตั้งกําแพงภาษี การจํากัดการนําสินค้าเข้า การห้ามนําเงินและทองแท่งออกนอกประเทศ เป็นต้น

2 สํานักเสรีนิยม (Liberalism) ได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจากนักคิดสํานักคลาสสิก ที่ให้ความสําคัญกับเสรีภาพของมนุษย์ในทางการเมืองและเศรษฐกิจ การให้สิทธิและความรับผิดชอบแก่ปัจเจกชน และปฏิเสธการบังคับการจํากัดการค้าและการไม่ให้เสรีภาพในการประกอบการ ซึ่งนักคิดคนสําคัญของสํานัก คลาสสิก ได้แก่ John Locke และ Adain Smith John Locke ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “Two Treatises of Government” ว่า

1) อิสรภาพและเสรีภาพเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นส่วนตัวได้ หรือควรได้สิทธิในการครอบครองกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน

2) หน้าที่ของรัฐและรัฐบาล คือ การรักษาสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ ได้แก่ ชีวิตเสรีภาพ และทรัพย์สิน

3) รัฐควรเป็นรัฐเสรี มีอํานาจจํากัด ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องบังคับในกิจการของปัจเจกชนนอกจากในกรณีจําเป็นเพื่อรักษาเสรีภาพและทรัพย์สินของสมาชิกนอกเหนือจากนั้นควรปล่อยให้สมาชิกจัดการเอง

Adam Smith ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “The Wealth of Nations” ว่า การจัดตัวของ ระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นโดยกระบวนการที่เสรีของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจเอง มิต้องมีการแทรกแซงโดยรัฐและรัฐบาล เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมี “มือที่มองไม่เห็น” (The Invisible Hand) ซึ่งเป็นธรรมชาติของการแลกเปลี่ยนและ ผสานผลประโยชน์ของมนุษย์คอยกํากับให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายดําเนินไปได้โดยเป็นประโยชน์ทั้งแก่ ปัจเจกชนและสังคม ดังนั้นบทบาทของรัฐบาลควรมีจํากัด เพราะการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลมากเกินไปจะเป็น การทําลายธรรมชาติของการติดต่อแลกเปลี่ยนของมนุษย์ โดยรัฐบาลควรมีหน้าที่จํากัดเพียง 3 ประการ คือ

1) การป้องกันประเทศ

2) การคุ้มครองสมาชิกของสังคมจากความอยุติธรรม

3) การก่อตั้งและบํารุงรักษาสถาบันสาธารณะและกิจการสาธารณะซึ่งเป็นประโยชน์แก่สังคม แต่มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย

จากอิทธิพลแนวความคิดของนักคิดสํานักคลาสสิกทําให้นักเศรษฐศาสตร์สํานักเสรีนิยม เห็นว่า รัฐที่เจริญมั่นคงได้นั้นไม่ใช่เป็นรัฐที่ทําการผูกขาดตัดตอนทางการค้าหรือเลี้ยงตัวโดยกระทําเฉพาะแต่หา วัตถุแร่ธาตุที่มีค่าเข้ามาภายในประเทศอย่างเดียว ยังจําเป็นที่จะต้องให้มีเสรีภาพในการประกอบการที่จะทําการ แลกเปลี่ยนโภคทรัพย์ซึ่งกันและกันระหว่างประเทศได้ และถือว่าชีวิตเศรษฐกิจของประชาชนนั้นควรจะปล่อยให้ เป็นอิสระถูกต้องตามระเบียบธรรมชาติ โดยปล่อยให้เอกชนมีเสรีในการประกอบการ ฉะนั้นบทบาทของรัฐที่จะ เข้าไปแทรกแซงในชีวิตเศรษฐกิจของประชาชนก็ควรที่จะลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จําเป็น โดยถือว่าเอกชน เท่านั้นที่จะเป็นผู้ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ และควรให้เอกชนมีเสรีภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยกเว้นแต่ในบางกรณีซึ่งจําเป็นต้องอาศัยรัฐเป็นผู้ช่วยเหลือ

3 สํานักสังคมนิยม (Socialism) สํานักนี้มีอยู่หลายสํานักด้วยกัน ซึ่งมีความคิดเห็น แตกต่างกันในเรื่องเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามอาจสรุปรวบรวมหลักการสําคัญของสํานักสังคมนิยมสํานักต่าง ๆ ที่ ถือแนวทางร่วมกันได้ดังนี้

1) ถือว่าการจัดการเศรษฐกิจตามแบบของสํานักเสรีนิยมเป็นการก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วนทรัพย์สิน คือทําให้มีคนรวยและคนจน ซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างในด้านชนชั้นระหว่างมนุษย์

2) ผลของเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนและการแข่งขันก่อให้เกิดชนชั้นกรรมกร ซึ่งนับเป็นเหตุอันสําคัญที่ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคและอยุติธรรมทางสังคม

3) ต้องการที่จะยกเลิกกรรมสิทธิ์ของเอกชน และให้กรรมสิทธิ์ของเอกชนกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ นอกจากนั้นยังต้องการที่จะให้การประกอบกิจกรรมทั้งหลาย ของเอกชนกลายเป็นของรัฐอีกด้วย

Advertisement