การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4008 กฎหมายที่ดิน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายทวีได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2542 ต่อมาใน พ.ศ. 2547 นายทวีได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายอาทิตย์โดยมอบใบจองและที่ดินให้นายอาทิตย์ครอบครอง ใน พ.ศ. 2550 นายอาทิตย์ได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการ ขณะนี้นายอาทิตย์ต้องการจะโอนที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายศุกร์บุตรชาย ดังนี้ อยากทราบว่านายอาทิตย์จะโอนที่ดินในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 58 ทวิ วรรคแรก วรรคสองและวรรคห้า เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้
บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก
วินิจฉัย
นายทวีเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง โดยทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วนายทวีผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง
เมื่อได้ความว่า ในปี พ.ศ. 2547 นายทวีได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวตีใช้หนี้ให้แก่นายอาทิตย์ ซึ่งการยกให้ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง ทั้งก็มิใช่เป็นการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด ในกรณีดังกล่าวนี้ แม้นายอาทิตย์จะได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก็ไม่ทำให้นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน
แต่อย่างไรก็ดี การยกที่ดินตีใช้หนี้โดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น มีผลทำให้นายอาทิตย์เป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (หลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) ซึ่งการที่นายอาทิตย์ครอบครองและทำประโยชน์มาจนได้รับโฉนดจากทางราชการ ใน พ.ศ. 2550 ถือว่านายอาทิตย์เป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 วรรคสอง (3) นายอาทิตย์จึงอยู่ในบังคับห้ามโอนที่ดินภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้าตอนท้าย
ดังนั้น การที่นายอาทิตย์ประสงค์จะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายศุกร์จึงไม่สามารถโอนได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เพราะเป็นการโอนภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ได้รับโฉนดทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย เพราะไม่ใช่การโอนโดยตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด
สรุป นายอาทิตย์ไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายศุกร์บุตรชายได้