การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย
ธงคำตอบ
หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสำคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ
2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรม
3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร
4 การใช้อำนาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทำบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม
หลักทศพิธราชธรรม คือ หลักธรรมอันสำคัญยิ่งสำหรับกษัตริย์หรือผู้ปกครอง 10 ประการ ดังนี้
1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและวิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น
2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย
3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
4 อาชชวะ คือ ความซื่อตรง
5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน
6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสำเร็จโดยไม่ลดละ
7 อักโกธะ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใครๆ
8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์ร้อน
9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลำบาก ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม
10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทำนองคลองธรรม
หลักธรรมทั้ง 10 ประการนี้ อาจกล่าวว่าเป็นหลักธรรมทางกฎหมายในแง่พื้นฐานของการใช้อำนาจทางกฎหมาย ถึงแม้โดยเนื้อหา ทศพิธราชธรรมจะมีลักษณะเป็นจริยธรรมส่วนตัวของผู้ปกครองก็ตาม เพราะหากเมื่อจริยธรรมนี้เป็นสิ่งที่ถือว่าควรอยู่เบื้องหลังกำกับการใช้อำนาจรัฐ โดยบทบาทหน้าที่ของธรรมมะแล้ว บทบาทดังกล่าวย่อมอยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจทางกฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการนิติบัญญัติหรือการบังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน มองที่จุดนี้ ทศพิธราชธรรมย่อมดำรงอยู่ในฐานะหลักธรรมสำคัญในปรัชญากฎหมายของไทยอีกฐานะหนึ่งด้วย
เกี่ยวกับหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้ ก็คงจัดได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญากฎหมายในพระธรรมศาสตร์ อันเปรียบได้กับกฎหมายธรรมชาติของตะวันตกและสามารถเรียกได้ว่าเป็นประหนึ่งหลักนิติกรรม ในอุดมการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยโบราณภายใต้ปรัชญาแบบพุทธธรรมนิยม หลัก 4 ประการนี้ย่อมจัดเป็นรูปธรรมอันเด่นชัดที่สะท้อนความคิด รากเหง้าแห่งปรัชญากฎหมายไทย
หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย เป็นปรัชญากฎหมายที่มีอิทธิพลความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญากฎหมายที่จำกัดอิทธิพลหรือจำกัดวงแห่งการรับรู้เฉพาะกลุ่มนักคิด หรือสำนักคิดทางปรัชญากฎหมายหนึ่งเท่านั้น แม้การยึดถือหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยจะปรากฏมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเรื่อยมาก็ตาม
แต่ในทางปฏิบัติ การยึดถือดังกล่าวจะเป็นไปอย่างจริงจังเพียงใดก็คงเป็นอีกเรื่องเช่นกัน เพราะแม้ในทางทฤษฎีหรือปรัชญากฎหมายไทยจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้อง “คำนึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์” ทุกคราวที่ตรากฎหมายก็ตาม แต่หากในทางปฏิบัติเกิดมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงสนพระทัยต่อคัมภีร์ดังกล่าว หรือกระทั่งตรากฎหมายโดยขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ผลลัพธ์จะถือเป็นอย่างไรจะถือเป็นโมฆะหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งจะถือว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมายหรือไม่
เพราะในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตรากฎหมายหรือราชศาสตร์โดยไม่คำนึงถึงพระธรรมศาสตร์หรือกระทั่งขัดแย้งกับ “หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย” ก็ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ในทางปฏิบัติจะมีการดึงดันให้กฎหมายนั้นยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่ แต่ก็ย่อมมีผู้ถือว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรมหรือเป็นกฎหมายที่เลวอยู่บ้างอย่างเงียบๆ และคาดเดาไปว่าจะเป็นกฎหมายที่อยู่ไม่ได้นาน ทั้งไม่สมควรเป็นเรื่องที่ควรเคารพเชื่อฟัง หากแต่ในทางปฏิบัติคงหาคนที่จะกล้าออกมาคัดค้านกฎหมายหรือดื้อแพ่งกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้แบบเผชิญหน้าโดยตรงไม่ได้เพราะพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่เป็นเทวราชาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครออกมาท้าทายอาจถูกประหารชีวิตได้ง่ายๆ
สรุป การยึดมั่นในหลักจตุรธรรมทางปรัชญากฎหมายของพระมหากษัตริย์ จึงดูเป็นเรื่องศีลธรรมหรือคุณธรรมส่วนตัวของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์มากกว่าสิ่งอื่น โดยมีปัจจัยด้านความมั่นคงในการใช้อำนาจของพระองค์เป็นตัวกำหนดภายนอก ทำนองเดียวกับที่ ร.แลงกาต์ เคยสรุปไว้ว่า ถ้าราชวงศ์ใดมั่นคงแข็งแกร่งการพิสูจน์พระบรมราชโองการว่าสอดคล้องกับบทบัญญัติในพระธรรมศาสตร์หรือไม่ก็จะทำพอเป็นพิธีเท่านั้น ในทางปฏิบัติ เจตจำนงหรือความประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่มีต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินดูจะเป็นกฎหมายหรือแหล่งที่มาอันสำคัญของกฎหมายเหนือสิ่งอื่นใด กฎหมายตามสภาพที่เป็นจริงจึงกลายเป็นภาพสะท้อนแห่งเจตจำนงขององค์รัฏฐาธิปัตย์หรือพระมหากษัตริย์ ที่มีต่อผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง แน่นอนว่าสิ่งที่พบก็คือช่องว่างระหว่างอุดมคติทางกฎหมายกับความเป็นจริง