การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม
คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)

1. “ความรู้สึกตระหนักถึงส่วนรวม’’ คือความหมายของแนวคิดใด
(1) การพัฒนาสังคม
(2) ความผูกพันสังคม
(3) ความเมตตา
(4) จิตสาธารณะ
ตอบ 4 จิตสาธารณะ (Public Mind) คือ ความรู้สึกตระหนักถึงส่วนรวม หรือ เป็นการตระหนักรู้ตนที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

Advertisement

2. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีเกี่ยวข้องกับเรื่องใดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
(1) การประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า
(2) ความพอประมาณ
(3) ความมีเหตุผล
(4) ความรับผิดชอบ
ตอบ 1 การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่จะเกิดขึ้น โดยต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้และประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที

3. ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดคุณธรรมจริยธรรม คือข้อใด
(1) การสร้างในตนเอง
(2) การอบรม
(3) การได้รับรางวัล
(4) การลงโทษ
ตอบ 1 คุณธรรมจริยธรรมในมนุษย์แต่ละคนอาจเกิดจากลักษณะดังนี้
1. การเลียบแบบ 2. การสร้างในตนเอง
3. การบำเพ็ญประโยชน์และพันธสัญญาประชาคม

4. ขั้นที่สองของทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวข้องกับการกระทำในข้อใด
(1) การแบ่งสรรทรัพยากรของชุมชน
(2) ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิต
(3) การรวมพลังคนในชุมชนในการผลิต
(4) แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ตอบ 3 ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริขั้นที่ 2 หลังจากที่เกษตรกรได้ปฏิบัติตาม หลักการในขั้นที่ 1 จนได้ผลแล้ว ก็จะเริ่มพัฒนาไปสู่ขั้นของการรวมพลังเกษตรกรในชุมชน ให้เป็นกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ ได้แก่
1. การผลิต 2. การตลาด 3. ความเป็นอยู่ของครอบครัว 4. สวัสดิการ
5. การศึกษา 6. สังคมและศาสนา

5. คำสำคัญของแนวคิดจิตสาธารณะคืออะไร
(1) ส่วนต่าง
(2) ส่วนได้เสีย
(3) ส่วนลึกของจิตใจ
(4) ส่วนรวม
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 1. ประกอบ

6. การศึกษาแบบใดที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
(1) การศึกษาเปลี่ยนระบบ
(2) การศึกษาตามท้องถิ่น
(3) การศึกษานอกระบบ
(4) การศึกษาเพื่อการพัฒนา
ตอบ 3 การศึกษาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศมีหลักภารพื้นฐานว่า มนุษย์ที่มีคุณภาพต้องได้รับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต

7. ในการใช้สถานที่จัดตั้งแรกเริ่ม มหาวิทยาลัยรามคำแหงใช้สถานที่ร่วมกับหน่วยงานใด
(1) กรมเศรษฐสัมพันธ์
(2) กรมสามัญศึกษา
(3) กรมวิเทศสัมพันธ์
(4) สภาการศึกษาแห่งชาติ
ตอบ 1
สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในคราวประชุมเมื่อ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 เป็นมติให้ใช้เป็นสถานที่ชั่วคราว โดยเป็นการใช้สถานที่ร่วมกันกับกรมเศรษฐสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ดูแลสถานที่แสดงสินค้าในขณะนั้น

8. ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยแหล่งใดหรือประสบการณใดที่เป็นเหตุการณตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บุคคลในสังคมขาดคุณธรรม
(1) การเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน
(2) การซื้อของในห้างสรรพสินค้า
(3) อุบัติเหตุในท้องถนน
(4) หนังสือพิมพ์รายวันหน้าแรก
ตอบ 4 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลในสังคมขาดคุณธรรม คือ หนังสือพิมพ์รายวัน หน้าแรกที่มีแต่ข่าวฆาตกรรม ข่มขืน จี้ปล้น ฉ้อโกง ฯลฯ ซึ่งหากคนในสังคมมีคุณธรรมและ จริยธรรมในการดำเนินชีวิต เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น สังคมก็จะมีแต่ความสงบสุข

9. กรณีใดต่อไปนี้คือ บุคคลที่นำหลักคุณธรรมมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต
(1) ชาติชายอดทนทุกอย่างเพื่อให้เพื่อนได้ดี
(2) ดำรงทำดีเฉพาะคนที่ทำดีกับเขาเท่านั้น
(3) สมสมรทำดีเมื่ออยู่ต่อหน้าคน
(4) สายสมรเข้าใจธรรมชาติของตนเองและผู้อื่น
ตอบ 4 บุคคลในตัวเลือกข้อ 4 นำหลักคุณธรรมมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ดังนี้
1. หลักการครองตน คือ การรู้จักตนเองและทำตามที่ตนเองต้องการ เข้าใจธรรมชาติของตนเอง และสามารถควบคุมตนเองได้ เป็นผู้ที่มีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอน
2. หลักการครองคน คือ การรู้จักและเข้าใจธรรมชาติผู้อื่น โดยการมองคนอื่นในแง่ดีอยู่เสมอ และพร้อมให้โอกาส

10. สิ่งใดใช้เป็นหลักยึดในจิตใจหรือความคิดของผู้มีคุณธรรม
(1) ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
(2) สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ
(3) บุญและบาปมีจริง
(4) เขาดีเราดีตอบ เขาร้ายเราร้ายตอบ
ตอบ 3 สิ่งที่ใช้เป็นหลักยึดในจิตใจหรือความคิดของผู้มีคุณธรรมที่ครอบคลุมมากที่สุด คือ บุญและบาปมีจริง ซึ่งตามทัศนะของพุทธศาสนาถือว่า “บุญ” และ “บาป” เกิดจากจิต หากจิตคิดดีย่อมแสดงพฤติกรรมที่ดีออกมาทางกายและวาจา เรียกว่า “บุญ” แต่ถ้าจิตคิดชั่ว ย่อมแสดงพฤติกรรมที่ชั่วออกมาทางกายและวาจา เรียกว่า “บาป”

11. การคิดวิเคราะห์ พิจารณาตัดสินคุณค่าและความดีงาม เป็นปัจจัยใดที่ทำให้เกิดจิตสาธารณะ
(1) ปัจจัยสภาพแวดล้อม
(2) ปัจจัยภายนอก
(3) ปัจจัยภายใน
(4) เอกตปัจจัย
ตอบ 3 ไพบูลย์ วัฒนสิริธรรม และสังคม สัญจน กล่าวถึงปัจจัยแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกที่ก่อให้เกิดจิตสาธารณะไว้ดังนี้
1. ปัจจัยภายนอก หมายถึง ปัจจัยที่เกี่ยวกับภาวะทางสัมพันธภาพของมนุษย์ ภาวะทางสังคม
2. ปัจจัยภายใน หมายถึง การคิดวิเคราะห์ของแต่ละบุคคลในการพิจารณาตัดสินคุณค่าและ ความดีงาม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติทางจิตใจ

12. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดใดเป็นผู้เสนอชื่อมหาวิทยาลัย “รามคำแหง”
(1) สมุทรสาคร
(2) หนองคาย
(3) ขอนแก่น
(4) พัทลุง
ตอบ 3 ในวาระที่ 2 มีประเด็นที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชื่อร่างพระราชบัญญัติ” เกี่ยวกับ ประเด็นนี้ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลายคนอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และมีการ เสนอชื่ออื่นอีก ได้แก่ มหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยราษฎร มหาวิทยาลัยประชาชน มหาวิทยาลัยของปวงชนชาวไทย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง สำหรับชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นชื่อที่นายแคล้ว นรปติ ส.ส จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้เสนอ

13. ข้อใดคือความหมายของจิตสาธารณะ
(1) ความรู้สึกตระหนักถึงส่วนรวม
(2) สัมพันธภาพในครอบครัว
(3) เอกลักษณ์แห่งตน
(4) การดูแลสิ่งแวดล้อม
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 1. ประกอบ

14. ความหมายของ “จิตสาธารณะ” เป็นลักษณะใกล้เคียงกับสิ่งใดในจิตใจของมนุษย์
(1) จิตแฝงเร้น
(2) จิตภายนอก
(3) จิตส่วนบุคคล
(4) จิตสำนึก
ตอบ 4 คำว่า “จิตสาธารณะ” เป็นคำที่มีผู้ให้ความหมายไว้ต่าง ๆ นานา เนื่องจากยังเป็น คำใหม่ที่สังคมไทยเริ่มใช้กัน โดยภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Public Mind” และมีคำใกล้เคียงกัน คือ คำว่า “จิตสำนึกสาธารณะ” หรือ “Public Consciousness”

15. ชื่อใดที่เคยได้รับการเสนอก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจเลือกชื่อ “มหาวิทยาลัยรามคำแหง”
(1) มหาวิทยาลัยประชาชน
(2) มหาวิทยาลัยตลาดวิชา
(3) มหาวิทยาลัยเปิดนอกระบบ
(4) มหาวิทยาลัยชาติไทย
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 12. ประกอบ

16. กลุ่มนักการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนใหญ่สังกัดพรรคการเมืองใด
(1) เสรีมนังคศิลา
(2) ก้าวหน้า
(3) ประชาธิปัตย์
(4) สหประชาไทย
ตอบ 4 ในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากทุกภาคของประเทศ ที่สังกัดพรรคสหประชาไทยได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ (มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ได้แก่
1. นายประมวล กุลมาตย์ ส.ส. จังหวัดชุมพร เป็นผู้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย…..พ.ศ…..
2. นายสวัสดิ์ คำประกอบ ส.ส. จังหวัดนครสวรรค์
3. นายญวง เอี่ยมศิลา ส.ส. จังหวัดอุดรธานี
4. นายยศ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส. จังหวัดนครราชสีมา
5. นายประสิทธิ์ ชูพินิจ ส.ส. จังหวัดกำแพงเพชร ฯลฯ

17. ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปจนขาดแคลนและไม่มากเกินศักยภาพ คืออะไร
(1) ความสมดุล
(2) ความสมถะ
(3) ความยืดหยุ่น
(4) ความพอประมาณ
ตอบ 4 ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปจนขาดแคลน และไม่มากเกินศักยภาพ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นความพอดีในการผลิตและการ บริโภคที่พิจารณาแล้วว่าจำเป็นและเหมาะสมกับสถานะของตนเอง สิ่งแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

18. เนื่องจากจิตใจของคนเราอ่อนไหวผันแปรได้ง่าย จำเป็นต้องมีสิ่งใดเป็นตัวกำกับ
(1) ปัญหา
(2) ปัญญา
(3) ทัศนคติ
(4) ความเชื่อ
ตอบ 2 เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปแล้ว จิตใจของคนเราย่อมอ่อนไหวผันแปรได้ง่าย หากไม่มีปัญญาเป็นตัวกำกับ อาจมีสิ่งจูงใจให้จิตใจอ่อนไหวไปตามโลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ แต่ถาหากบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในความเป็นจริงของโลกและชีวิตปัญญาก็จะเป็นตัวชี้นำไม่ให้จิตใจอ่อนไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ จิตใจก็จะเข้มแข็งไม่อ่อนไหวปรวนแปร

19. กรรมาธิการในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย…..พ.ศ…..ประกอบด้วยกรรมาธิการฝ่ายผู้แทนจำนวนกี่คน
(1) 6 คน
(2) 7 คน
(3) 8 คน
(4) 9 คน
ตอบ 3 นายประมวล กุลมาตย์ เจ้าของร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย…..พ.ศ…..เสนอแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งที่ประชุมลงมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 15 คน ประกอบด้วย กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลจำนวน 7 คน และกรรมาธิการฝ่ายผู้แทนจำนวน 8 คน

20. สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ เราควรนำหลักคุณธรรมข้อใดมาใช้ในการดำเนินชีวิต
(1) ความรอบคอบ
(2) ความอดทน
(3) ความกล้าหาญ
(4) ความเมตตา
ตอบ 2 หลักคุณธรรมที่ควรนำมาใช้ดำเนินชีวิตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ได้แก่
1. ความอดทน (ขันติ) คือ อดทนอดกลั้นต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อการทำหน้าที่ การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน
2. การประหยัด คือ ใช้จ่ายแต่พอควรแก่ฐานะ ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเพ้อ ไม่ฟุ้มเฟือย ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง

21. การศึกษาวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม คือกระบวนการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับอะไร
(1) ความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(2) วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(3) พันธกิจของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(4) อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ตอบ 4 วัตถุประสงค์ของการเปิดสอนและการศึกษาวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม ก็เพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ มุ่งผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งเป็นคุณลักษณะของบัณฑิตที่ทำให้สังคมยอมรับ

22. วัตถุประสงค์การเปิดสอนวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม เพื่อให้การผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นไปตามอะไร
(1) อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(2) วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(3) พันธกิจของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(4) เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 21. ประกอบ

23. ข้อใดคือเป้าประสงค์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(1) สมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนนปลง
(2) ทางสายกลาง
(3) ความพอเพียง
(4) หลักวิชา
ตอบ 1 เป้าประสงค์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจาก โลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

24. คณะกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งอธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้นคือใคร
(1) นายก่อ สวัสดิพาณิชย์
(2) นายบุญสม มาร์ติน
(3) นายสุขุม นวพันธ์
(4) นายเรณู สุวรรณสิทธิ์
ตอบ 2 กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิชุดแรกในการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีรายนามและตำแหน่งในขณะนั้น คือ
1. นายเรณู สุวรรณสิทธิ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
2. นายบุญสม มาร์ติน อธิบดีกรมพลศึกษา
3. นายสุขุม นวพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย
4. นายก่อ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา

25. “คน” จัดว่าเป็นทรัพยากรประเภทใดที่ต้องพัฒนา
(1) ทรัพยากรมนุษย์
(2) ทรัพยากรธรรมชาติ
(3) ทรัพยากรคุณธรรม
(4) ทรัพยากรชีวิต
ตอบ 1 คนจัดเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าและสำคัญต่อการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยมนุษย์ ที่ได้รับการพัฒนาควบคู่ทั้งด้านความรู้และจิตใจ (สุขภาวะจิต) ถือได้ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อย่างมีคุณภาพ

26. เมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดทำการสอนมา 4 ปีเศษแล้ว มีผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี คณะที่มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนน้อยที่สุดในวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือคณะใด
(1) คณะรัฐศาสตร์
(2) คณะบริหารธุรกิจ
(3) คณะวิทยาศาสตร์
(4) คณะมนุษยศาสตร์
ตอบ 3 เมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดทำการสอนมา 4 ปีเศษ ในปีการศึกษา 2517 มีผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจำนวน 1,256 คน ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยคณะที่มีผู้สำเร็จ การศึกษาจำนวนน้อยที่สุด คือ คณะวิทยาศาสตร์ มี 10 คน ส่วนคณะที่มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวนมากที่สุด คือ คณะนิติศาสตร์ มี 473 คน

27. การวางแผนเพื่อให้เกิดโอกาสความสำเร็จสูง ต้องใช้เงื่อนไขใดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
(1) เงื่อนไขคุณธรรม
(2) เงื่อนไขหลักวิชา
(3) เงื่อนไขชีวิต
(4) เงื่อนไขพื้นฐาน
ตอบ 2 เงื่อนไขหลักวิชาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำเนินกิจกรรมใดต้องอาศัย ความรอบรู้เชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาวางแผนและปฏิบัติการตามแผน ด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในภารดำเนินการ เพราะการวางแผนที่อาศัยความรู้ที่เป็นหลักวิชาย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง และหากได้ปฏิบัติตามแผนอย่างระมัดระวัง โอกาสผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นน้อยมาก

28. เหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในปี พ.ศ. 2540
(1) การไม่ปฏิบัติตามแผนพัฒนาของประเทศ
(2) การพัฒนาประเทศไม่สมดุล
(3) การวางแผนอย่างไม่มีวิสัยทัศน์
(4) การใช้ทรัพยากรไม่ทั่วถึง
ตอบ 2 สาเหตุที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติการเงินที่เรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี พ.ศ. 2540 คือ การพัฒนาประเทศไม่สมดุล เพราะไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของการพัฒนาที่หวังพึ่งองค์ความรู้และเงินทุนจากต่างประเทศ กับศักยภาพภายในประเทศทั้งในเรื่องของโครงสร้าง พื้นฐาน ความพร้อมของระบบและคน ทำให้การพัฒนาดำเนินไปอย่างไม่มีเสถียรภาพ

29. กรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ท่านใดที่เป็นผู้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย…..พ.ศ…..
(1) นายญวง เอี่ยมศิลา
(2) นายสุรินทร์ เทพกาญจนา
(3) นายสวัสดิ์ คำประกอบ
(4) นายประมวล กุลมาตย์
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 16. ประกอบ

30. ตามหลักจิตวิทยา การเกิดจิตสำนึกของเด็กจากการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุประมาณเท่าใด
(1) 6 ปี
(2) 4 ปี
(3) 3 ปี
(4) 2 ปี
ตอบ 1 การปลูกฝังจิตสาธารณะควรเริ่มทำก่อนอายุ 6 ปี เพราะตามหลักการทางจิตวิทยา การเกิดจิตสำนึกของเด็กจะถูกพัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดูในช่วงแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 6 ปี ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตและความเสียสละจะเกิดขึ้นตั้งแต่การอบรมบ่มเพาะในครอบครัว โดยพ่อแม่และบุคคลในครอบครัวจะเป็นตัวแบบในการดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม

31. กล่าวโดยสรุป คำว่า “คุณธรรม’’ และ “จริยธรรม” เกี่ยวข้องกับอะไร
(1) พลวัตรของวัฒนธรรม
(2) การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม
(3) คุณงามความดี
(4) การหล่อหลอมค่านิยมของโลก
ตอบ 3 ความหมายของคำว่า “คุณธรรม” และ “จริยธรรม” เป็นเรื่องที่ เกี่ยวพันกันในด้านคุณงามความดี แต่จะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ
1. คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดีที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคล เช่น ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจ เสียสละ อดทน ฯลฯ
2. จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติที่ถูกต้องดีงามทั้งกายและวาจา สมควรที่บุคคลจะประพฤติปฏิบัติเป็นพฤติกรรมภายนอก ดังนั้นจริยธรรมจึงเป็นเรื่องของการแสดงออก ให้เห็นเป็นประจักษ์

32. ความมีเหตุผล จัดอยู่ในข้อคิดใดของหลักเศรษฐกิจพอเพียง
(1) เป้าประสงค์
(2) แนวคิดหลัก
(3) เงื่อนไข
(4) หลักการ
ตอบ 4
หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอเพียง ซึ่งหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก

33. สุภาษิตสอนหญิง เป็นตัวอย่างของวรรณคดีที่ผู้อ่านพัฒนาสิ่งใด
(1) ความงาม
(2) การแสดงออกทางอารมณ์
(3) คุณธรรมจริยธรรม
(4) จิตสาธารณะ
ตอบ 3 แหล่งที่มาของคุณธรรมและจริยธรรม ได้แก่
1. ปรัชญาต่าง ๆ 2. ศาสนาต่าง ๆ 3. วรรณคดี ซึ่งจะมีแนวคิดคำสอนที่เป็นแนวปฏิบัติได้ เช่น สุภาษิตพระร่วง โคลงโลกนิติ และสุภาษิตสอนหญิง 4. สังคม ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี 5. การเมืองการปกครอง

34. ข้อใดคือหลักคุณธรรมสำหรับการทำหน้าที่ได้ถูกต้องเหมาะสม
(1) ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
(2) ทำหน้าที่เกินสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
(3) ทำหน้าที่เมื่อได้รับมอบหมายเท่านั้น
(4) ทำหน้าที่เมื่อมีคนสั่ง
ตอบ 1 หลักคุณธรรมจริยธรรมสำหรับการทำหน้าที่ได้ถูกต้องเหมาะสม คือ การทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ หรือเต็มศักยภาพที่ตนเองมี โดยต้องเป็นการกระทำที่ เหมาะสมตามหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เว้นสิ่งที่ควรเว้น และทำสิ่งที่ควรทำด้วยความฉลาดรอบคอบ รู้เหตุรู้ผลถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล

35. ข้อใดไม่ใช่ลักษณะของบุคคลที่มีจิตสาธารณะ
(1) ความเฉลียวฉลาด
(2) มีความเชื่อใจ ไว้ใจผู้อื่น
(3) ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล
(4) มีความรัก เอื้ออาทร
ตอบ 1 คุณลักษณะของบุคคลทีมีจิตสาธารณะ มีดังนี้
1. มีความรัก ความเอื้ออาหร
2. มีความเชื่อใจ ไว้ใจผู้อื่น
3. มีการเรียนรู้ร่วมกันและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
4. สามารถยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล
5. มีปฏิสัมพันธ์ผ่านทางเครือข่ายและการมีส่วนร่วม

36. ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันต์ เคยดำรงตำแหน่งทางการบริหารมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยใด
(1) มหาวิทยาลัยศิลปากร
(2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(4) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ตอบ 3 ประวัติของศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ, ผาสุขนิรันต์มีดังนี้
1. สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนที่จะไป ศึกษาปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ
2. เคยดำรงตำแหน่งทางการบริหารโดยเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. ทำงานด้านการเมืองในตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาลในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร
4. เป็นประธานกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหง
5. ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

37. ข้อใดไม่ใช่แหล่งที่มาของคุณธรรม
(1) ปรัชญาต่าง ๆ
(2) ศาสนาต่าง ๆ
(3) ขนบธรรมเนียมประเพณี
(4) ภัยพิบัติ
ตอบ 4 .ดูคำอธิบายข้อ 33. ประกอบ

38. การรักษาวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม คือคุณสมบัติที่ดีของใครตามหลักการความพอเพียงระดับครอบครัว
(1) บุตรชาย
(2) แม่บ้าน
(3) หัวหน้าครอบครัว
(4) ปู่ย่าตายาย
ตอบ 3 หน้า 68 คุณสมบัติของหัวหน้าครอบครัว มีดังนี้
1. รับผิดชอบดูแลครอบครัวด้วยการประกอบอาชีพสุจริต
2. บริหารจัดการรายรับและรายจ่ายให้เกิดความสมดุล
3. รู้จักประหยัดด้วยการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า
4. มีการออมเงิน แต่ไม่ตระหนี่
5. มีการแบ่งปันตามสมควร
6. ลดละเลิกอบายมุข
7. รักษาวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ฯลฯ

39. หลักการในข้อใดที่ใช้ในการพัฒนาจิตสาธารณะ
(1) หลักจริยธรรม
(2) หลักคุณธรรม
(3) หลักศีลธรรม
(4) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ตอบ 4 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นหลักการที่ใช้พัฒนาจิตสาธารณะของบุคคลได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะหากเรานำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างจริงจัง เชื่อว่าทุกคนในชาติหรือในระดับโลกจะเป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะที่มองเห็นแต่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างแน่นอน

40. “การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึก และยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัด และ มีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” คิอนิยามของแนวคิดหรือหลักการใด
(1) คุณธรรม
(2) จิตสาธารณะ
(3) จิตสำนึก
(4) จริยธรรม
ตอบ 2 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ความหมายของจิตสาธารณะว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึก และยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัด และมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

41. ข้อใดกล่าวถูกต้อง
(1) คุณธรรมเกี่ยวข้องกับความประพฤติ และจริยธรรมเกี่ยวข้องกับจิตใจ
(2) คุณธรรมเกี่ยวข้องกับจินตนาการ และจริยธรรมเกี่ยวชข้องกับความประพฤติ
(3) คุณธรรมเกี่ยวข้องกับจิตใจ และจริยธรรมเกี่ยวข้องกับความประพฤติ
(4) คุณธรรมเกี่ยวช้องกับจิตใจ และจริยธรรมเกี่ยวข้องกับจินตนาการ
ตอบ 3 ดูคำอธิบายข้อ 31. ประกอบ

42. ตามแนวคิดจิตสาธารณะ ถ้าบุคคลมองว่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เป็นของตนเอง อะไรจะเกิดขึ้นในสังคม
(1) ความขัดแย้ง
(2) สังคมมีแต่ความเพ้อผัน
(3) บุคคลในสังคมขาดจินตนาการ
(4) สังคมมีขนาดเล็กลง
ตอบ 1 จิตสาธารณะเป็นแนวทางหนึ่งที่สังคมเริ่มมาให้ความสนใจ เพราะหากเราไม่มีจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน คิดว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง เป็นของตนเอง จนมองข้ามประโยชน์ส่วนรวมไป คงอีกไม่นานประเทศชาติก็คงถึงจุดที่มีแต่ความขัดแย้ง มีการสูญเสียทรัพยากรและสมบัติที่เป็นของชาติไป

43. การวัดระดับคุณธรรมทำได้สองระดับคืออะไร
(1) ด้านดี และด้านชั่ว
(2) ด้านสุข และด้านทุกข์
(3) ด้านโลกียธรรม และด้านโลกุตรธรรม
(4) ด้านตนเอง และด้านผู้อื่น
ตอบ 3 การวัดระดับของคุณธรรมจริยธรรมทำได้ 2 ระดับ ดังนี้
1. ระดับโลกียธรรม ได้แก่ ธรรมอันเป็นวิสัยของมนุษยโลก สภาวะเนื่องกับโลก เช่น ศีล 5
2. ระดับโลกุตรธรรม ได้แก่ ธรรมอันมิใช่โลก สภาวะพ้นโลก เช่น มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1

44. นายยศ อินทรโกมาลย์สุต เป็นสมาชิกสภาผู้แทนคนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัย รามคำแหง ขณะนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดใด
(1) หนองคาย
(2) ขอนแก่น
(3) อุดรธานี
(4) นครราชสีมา
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 16. ประกอบ

45. ความหมายของคำว่า “จิตสาธารณะ (Public Mind)” กับ “จิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness)” เมื่อพิจารณาทั้งภาษาไทยร่วมกับภาษาอังกฤษนั้นเป็นอย่างไร
(1) แตกต่างกันทั้งหมดไม่สามารถใช้แทนกันได้
(2) เกี่ยวข้องกันในบางกรณี
(3) คำว่า“จิตสาธารณะ”ใช้ในประเทศไทยเท่านั้น
(4) ใกล้เคียงกัน
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 14. ประกอบ

46. การช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มใจ ไม่หวังผลตอบแทน คือลักษณะใดของบุคคล
(1) ความหวังดี
(2) ความกรุณา
(3) จิตสาธารณะ
(4) ความซื่อสัตย์
ตอบ 3 ทิพมาศ เศวตวรโชติ กล่าวว่า การดำรงชีวิตในสังคมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น อย่างเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน ถึงแม้ว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรา หรือเราไม่ได้เดือดร้อนด้วย แต่ก็เต็มใจที่จะแบ่งปันให้การช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน นั่นคือ การแสดงความมีจิตสาธารณะ

47. คุณธรรมจริยธรรมใช้เป็นอะไรในการพัฒนาคนด้านจิตใจและการกระทำ
(1) รางวัล
(2) แนวทางการลงโทษ
(3) การให้ความรู้
(4) บรรทัดฐาน
ตอบ 4 คุณธรรมจริยธรรมได้ถูกหยิบยกมาเป็นบรรทัดฐานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาคน ในด้านจิตใจและการประพฤติปฏิบัติ (การกระทำ) เพราะคนหรือมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน มีข้อตกลงและมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นสุดท้ายกับสังคมที่คนส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรมก็คือ ความสงบสุขและมีสันติอย่างยั่งยืน

48. ข้อใดคือความเสี่ยงที่มักเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย
(1) การหาพันธุ์พืช
(2) การเสื่อมของปุ๋ย
(3) ขาดประสบการณ์
(4) การขาดแคลนแรงงาน
ตอบ 4 ความเสี่ยงที่เกษตรกรไทยมักพบอยู่เป็นประจำ ได้แก่
1. การขาดแคลนน้ำ ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง 2. ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
3. สภาพดินที่ไม่เหมาะสม 4. โรคระบาดและศัตรูพืช
5. การพึ่งพาปัจจัยการผลิตสมัยใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูง
6. การขาดแคลนแรงงาน
7. มีหนี้สินจนต้องสุญเสียที่ดินทำกิน

49. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ขอพระราชทานวโรกาสเข้าทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านใด
(1) การพัฒนามนุษย์
(2) ประวัติศาสตร์
(3) ภูมิศาสตร์
(4) ศึกษาศาสตร์
ตอบ 1 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 นายโคฟี่ อันนัน ซึ่งเป็นเลขาธิการองค์) สหประชาชาติ (UN) ในขณะนั้นได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN) แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

50. วิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องใด
(1) การเมือง
(2) การเงิน
(3) การปกครอง
(4) การพัฒนา
ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 28. ประกอบ

51. ระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะใดหรือภาควิชาใดมีหน้าที่เกี่ยวกับสาขาวิชาใด ก็อำนวยการศึกษาและวิจัยในสาขาวิชานั้น ๆ แก่นักศึกษาทุกคนทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เรียกว่าระบบการเรียนการสอนแบบใด
(1) Intermediate Program
(2) Interdivision Program
(3) International Program
(4) Interdisplinery Program
ตอบ 4 ร่างข้อบังคับฯ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2514 ได้กำหนดระบบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งอำนวยการศึกษาด้วยวิธีประสานงาน ด้านวิชาการระหว่างสาขาวิชา (Interdisplinery Program) กล่าวคือ คณะใดหรือภาควิชาใด มีหน้าที่เกี่ยวกับสาขาวิชาใดก็อำนวยการศึกษาและวิจัยในสาขาวิชานั้น ๆ แก่นักศึกษา ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย

52. การแก้ปัญหาของมนุษย์ควรใช้อะไรเป็นหลัก
(1) ข่าวสาร
(2) จิตสำนึก
(3) เหตุผล
(4) ความกรุณา
ตอบ 3 ตามหลักพุทธศาสนา การแก้ปัญหาของมนุษย์ควรมุ่งเน้นถึงการแก้ปัญหาที่เหตุปัจจัยด้วยปัญญาและเหตุผลอย่างเป็นระบบ เพื่อความพ้นทุกข์อย่างยั่งยืน เรียกว่า อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงหรือสัจธรรมอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ (ปัญหา) สมุทัย (สาเหตุของปัญหา) นิโรธ (หนทางดับทุกข์) และมรรค (วิธีการแก้ทุกข์)

53. ใครคือผู้ประพันธ์คำกลอนข้างล่างนี้
เมื่อความรู้ยอดเยี่ยมสูงเทียมเมฆ แต่คุณธรรมต่ำเฉกยอดหญ้านั่น
อาจเสกสร้างมิจฉาสารพัน ด้วยจิตอันไร้อายในโลกา
แม้คุณธรรมเยี่ยมถึงเทียมเมฆ แต่ความรู้ต่ำเฉกเพียงยอดหญ้า
ย่อมเป็นเหยื่อทรชนจนระอา ด้วยปัญญาอ่อนด้อยน่าน้อยใจ
หากความรู้สูงล้ำคุณธรรมเลิศ แสนประเสริฐกอปรกิจวินิจฉัย
จะพัฒนาประชาราษฎร์ทั้งชาติไทย ต้องฝึกให้ความรู้คู่คุณธรรม
(1) วศิน อินทสระ
(2) พระพุทธทาสภิกขุ
(3) ร.อ.ไพบูลย์ ดีคง (4) อำไพ สุจริตกุล
ตอบ 4 จากคำกลอนของอำไพ สุจริตกุล ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การจัดการศึกษาจะต้องยึดหลักที่สำคัญ คือ การให้ความรู้ควบคู่คุณธรรม สังคมไทยจึงจะมีสมาชิกของสังคมที่เป็น ทั้งคนเก่งและคนดี

54. การเป็นสมาชิกของสังคมไทย ท่านสามารถแสดงออกว่าท่านมีจิตสาธารณะได้อย่างไร
(1) ไม่ยอมรับความไม่ทัดเทียม เอารัดเอาเปรียบในสังคม
(2) ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า
(3) ไปทำงานทุกวันโดยไม่หยุดงาน และไม่ใช้สิทธิในวันหยุดพักร้อน
(4) ขับรถโดยปฏิบัติตามกฎจราจร
ตอบ 2 ในฐานะสมาชิกของสังคมไทย เราสามารถนำจิตสาธารณะไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเริ่มจากตนเองในกิจกรรมเล็ก ๆ ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำ น้ำมัน หรือไฟฟ้าอย่างประหยัด และคุ้มค่า ฯลฯ จนไปถึงกิจกรรมใหญ่ ๆ ในระดับชุมชน ได้แก่ การพัฒนาชุมชน, การรักษา สิ่งแวดล้อมในชุมชน (เช่น การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง) ฯลฯ หรือจนถึงระดับประเทศชาติ เช่น การสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ต่าง ๆ ฯลฯ

55. ข้อใดคือเหตุผลในการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) กระจายนักศึกษาจากการกระจุกตัวไปเรียนในคณะที่จัดตั้งเพิ่ม
(2) สนองตอบความต้องการของรัฐ
(3) การขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักสถิติ
(4) ให้โอกาสนักศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่
ตอบ 3 เหตุผลในการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถิติได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่อง การขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักสถิติของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

56. นายแดงเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหงไม่เคยทุจริตในการสอบ ถึงแม้จะทราบดีว่าเขาคงสอบไม่ผ่านหลายวิชา การตัดสินใจของนายแดงอยู่ในเงื่อนไขใด
(1) เงื่อนไขชีวิต
(2) เงื่อนไขความดี
(3) เงื่อนไขคุณธรรม
(4) เงื่อนไขหลักวิชา
ตอบ 3 หน้า 66 เงื่อนไขคุณธรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของตนให้เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้รักสามัคคี ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ และรู้จักแบ่งปันให้กับผู้อื่น เช่น การที่นักศึกษาแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อน ไม่ทุจริตในการสอบ และพึงพอใจในผลสอบที่ตนเองได้รับ เป็นต้น

57. ข้อใดไม่ใช่องค์ประกอบหลักของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
(1) แนวคิดหลัก
(2) หลักการ
(3) เงื่อนไข
(4) อุปสงค์
ตอบ 4 สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมวลหลักแนวคิดการพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 โดยจําแนกออกเป็น 4 องค์ประกอบหลัก ดังนี้ 1. แนวคิดหลัก 2. เป้าประสงค์ 3. หลักการ 4. เงื่อนไขพื้นฐาน

58. วิชาใดที่เปิดสอนเป็นวิชาแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) LS 103
(2) PS 110
(3) LW 103
(4) EN 101
ตอบ 1 กระบวนวิชาแรกที่สอนในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นวันเปิดเรียนครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ LS 103 วิชาการใช้ห้องสมุด สอนโดย อ.อัมพร วีระวัฒน์ และคาบต่อมาก็คือ กระบวนวิชา PS 110 วิชาการปกครองของไทย สอนโดยศาสตราจารย์ ดรศักดิ์ ผาสุขนิรันต์

59. ข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับประวัติของศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์
(1) อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(2) ประธานกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(3) สําเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
(4) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 36.

60. “หากคน ๆ หนึ่งมีจิตใจเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่มักจะถูกสังคมเอาเปรียบอยู่เสมอ ในที่สุดเขาอาจจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว” ความเห็นแก่ตัวของบุคคลดังกล่าวเกิดจากปัจจัยใดเป็นเหตุ
(1) ปัจจัยภายในตัวบุคคลเองที่ขาดการวิเคราะห์
(2) ปัจจัยบังเอิญที่บุคคลนั้นตกในสถานะต้องไปคบหาสมาคมกับคนรอบข้างที่เห็นแก่ตัว
(3) ปัจจัยการเลี้ยงดูและปลูกฝังความเสียสละโดยครอบครัว และสถานศึกษาไม่เพียงพอ
(4) ปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสังคม
ตอบ 4 (ดูคําอธิบายข้อ 11. ประกอบ) การพัฒนาจิตสํานึกสาธารณะจะต้องกระทําควบคู่กันไปทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เพราะหากคน ๆ หนึ่งเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คนรอบข้างมีจิตสาธารณะ แต่ตัวเขาเองขาดปัจจัยภายใน คือ ขาดการคิดวิเคราะห์ที่เหมาะสมเขาก็จะไม่นําเอาแบบอย่างที่ดีในสังคมมาปฏิบัติ ในทางตรงกันข้าม หากคน ๆ หนึ่งมีจิตใจที่ เสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสังคมที่เขามักจะถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ ในที่สุดเขาอาจจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวได้

61. การศึกษาของใครและได้มาซึ่งข้อสรุปว่า จริยธรรมพัฒนาการตามวุฒิภาวะและสัมพันธ์กับระดับการศึกษา
(1) เพียเจต์ (Piaget)
(2) Stumpf
(3) โคลเบิร์ก (Kohlberg)
(4) มาสโลว์
ตอบ 3 โคลเบิร์ก (Kohlberg) กล่าวว่า การพัฒนาทางสติปัญญาและอารมณ์เป็นรากฐานของการพัฒนาทางจริยธรรม โดยจริยธรรมของมนุษย์มีพัฒนาการตามระดับวุฒิภาวะเพราะ เกิดจากกระบวนการทางปัญญาเมื่อมีการเรียนรู้มากขึ้น และจริยธรรมยังมีความสัมพันธ์กับระดับการศึกษา

62. ในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ภาคส่วนใดในสังคมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากร
(1) ครอบครัว
(2) ประเทศ
(3) ชุมชน
(4) องค์การธุรกิจ
ตอบ 4 ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมที่มีความสําคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะองค์การธุรกิจ คือ ภาคส่วนที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากร ดังนั้น จึงต้องคํานึงถึงความพอเพียงระดับธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจควรมองถึงผลในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น 2. แสวงหาผลกําไรบนพื้นฐานของการแบ่งปันประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม 3. พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างคุณค่าตราสินค้าให้มีความน่าเชื่อถือ 4. แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

63. ข้อใดกล่าวถูกต้องที่สุด
(1) จริยธรรมสําคัญสําหรับทุกคน
(2) จริยธรรมนําไปสู่ความสําเร็จในชีวิต
(3) จริยธรรมเป็นรากฐานของความรุ่งเรือง
(4) จริยธรรมทําให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ
ตอบ 3 วศิน อินทสระ ได้กล่าวไว้ว่า จริยธรรมเป็นรากฐานอันสําคัญแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคง และความสงบสุขของปัจเจกชน สังคมและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นรัฐควรส่งเสริมประชาชนให้มีจริยธรรมเป็นอันดับแรก เพื่อให้เป็นแกนกลางในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองการปกครอง ฯลฯ

64. ข้อใดคือหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(1) สมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
(2) ทางสายกลาง
(3) ความพอเพียง
(4) หลักวิชา
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 32 ประกอบ

65. “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interest) เป็นรูปแบบหนึ่งของอะไร
(1) การทุจริต
(2) จิตสาธารณะ
(3) ความพอเพียง
(4) จริยธรรม
ตอบ 1 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ถือว่าเป็นมะเร็งร้ายแรงที่สุดในสังคมไทยปัจจุบันเพราะเป็นบ่อนทําลายกัดกร่อนสังคมไปสู่ความพินาศย่อยยับ และเป็นอุปสรรคสําคัญฉุดรั้ง การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการโกงบ้านกินเมือง และหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) จากตําแหน่งในหมู่ข้าราชการและนักการเมือง

66. ปัญหาส่วนใหญ่ของมนุษย์เกิดจากอะไร
(1) การใช้คําพูด
(2) การลักทรัพย์
(3) การดื่มสุรา
(4) การนิ่งเฉย ๆ
ตอบ 1 จากผลงานวิจัยระบุว่า โดยส่วนใหญ่ที่มาปัญหาของมนุษย์นั้นจะมาจากการใช้คําพูด (วาจา) ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ได้มากที่สุด เพราะมนุษย์เราจะได้สิ่งที่ต้องการหรือไม่ต้องการก็ขึ้นอยู่กับการใช้คําพูดหรือมธุรสวาจาทั้งสิ้น

67. การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ในอัตรา 30 : 30 : 30 : 10 นั้น พื้นที่อัตราส่วน 30 นั้นใช้ทําอะไร
(1) ขุดเป็นสระ
(2) ปลูกป่า
(3) เลี้ยงปลา
(4) ปลูกที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์
ตอบ 1 ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 1 คือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ด้วยอัตรา 30 : 30: 30 : 10 โดยบริหารจัดการดังนี้
1 ขุดเป็นสระสําหรับใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน 30 %
2. ปลูกข้าวในฤดูฝน 30%
3. ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ 30%
4. ปลูกเป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนทางเดิน และโรงเรือนอื่น ๆ 10%

68. การวางแผนและปฏิบัติตามแผนด้วยความรอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยง เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขใด
(1) เงื่อนไขจําเป็น
(2) เงื่อนไขชีวิต
(3) เงื่อนไขอนุมาน
(4) เงื่อนไขหลักวิชาการ
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 27. ประกอบ

69. การมองคนอื่นในแง่ดี เป็นหลักการคุณธรรมข้อใด
(1) เข้าใจธรรมชาติตนเอง
(2) เข้าใจธรรมชาติผู้อื่น
(3) เข้าใจธรรมชาติโลก
(4) เข้าใจการอยู่ร่วมกัน
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 9. ประกอบ

70. ข้อใดเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามทฤษฎีของเพียเจต์ (Piaget)
(1) การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากไร้สติและปัญญา และพัฒนาจนเกิดสติและปัญญา
(2) การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการปรับตัว และการสร้างสมดุลระหว่างสติปัญญาและสภาพแวดล้อม
(3) การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างต่อเนื่องภายในโครงข่ายใกล้ชิด
(4) การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กและวัยรุ่น และปลูกฝังไปตลอดชีวิต
ตอบ 2 หน้า 50 เพียเจต์ (Piaget) เชื่อว่า การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการปรับตัว และการสร้างสมดุลระหว่างสติปัญญาและสภาพแวดล้อมที่จะทําให้มนุษย์ดํารงชีวิตอยู่ โดยพัฒนาการของ มนุษย์มีความต่อเนื่อง เละเจริญขึ้นตามวุฒิภาวะ

71. ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้กับสิ่งใด
(1) ร่างกาย
(2) วัตถุ
(3) ความเสื่อม
(4) การสื่อสาร
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 2. และ 23. ประกอบ

72.ก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง การที่นักเรียนไม่มีที่เรียนต้องไปศึกษาต่างประเทศผลที่เกิดขึ้นคืออะไร
(1) การครอบงําทางวัฒนธรรม
(2) การสูญเสียเงินตราต่างประเทศ
(3) ความเท่าเทียมในคุณภาพการศึกษา
(4) การสูญเสียทรัพยากร
ตอบ 2 ส่วนหนึ่งของข้อความในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัย ….. (รามคําแหง) พ.ศ. ….. คือ เป็นการให้การศึกษาแก่ชนทุกชั้นเพื่อสร้างคุณภาพความรู้ความสามารถของประชาชนคนไทยให้สูงทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นการสกัดกั้นมิให้นักศึกษาไปหาที่เล่าเรียนในต่างประเทศ อันเป็นการสูญเสียเงินตรา ต่างประเทศปีหนึ่ง ๆ มิใช่น้อย และเป็นการแก้ปัญหานักศึกษาไม่มีที่เล่าเรียนให้หมดสิ้นไป

73. ข้อใดอธิบายความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกต้อง
(1) ทําอะไรให้เหมาะสมกับฐานะ
(2) เพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจให้ทัดเทียมกัน
(3) การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
(4) การพัฒนาชนบท
ตอบ 1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดํารัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ความว่า “ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือ ทําอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือ ทําจากรายได้ 200 – 300 บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท

74. การกระทําในข้อใดแสดงให้เห็นถึงการมีคุณธรรมจริยธรรม
(1) การถือศีล
(2) การประกอบศาสนกิจ ณ ศาสนสถาน
(3) การกระทําที่เหมาะสมตามหน้าที่การงาน
(4) การไม่รับประทานเนื้อสัตว์
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 34. ประกอบ

75. คุณธรรมหมายถึงข้อใด
(1) ความสมบูรณ์ทางร่างกายและมโนทัศน์
(2) ความสุขทางกาย
(3) สภาพคุณงามความดี
(4) สภาพจิตใจ
ตอบ 3 คุณธรรม (Morality) หมายถึง สภาพคุณงามความดี ซึ่งเป็นสภาพของคุณงามความดีทั้งทางความประพฤติและจิตใจ

76. พื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงที่บุคคลต้องคํานึงถึงคือสิ่งใด
(1) การใช้จ่ายให้น้อย และออมให้มาก
(2) การใช้จ่ายตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
(3) ความมั่งมี และการอยู่รอดของครอบครัว
(4) ทางสายกลาง และความไม่ประมาท
ตอบ 4 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสําคัญเด่นชัดในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา เพราะเป็นแนวคิดเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ ซึ่งคนไทยสามารถเลี้ยงชีพด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ ในการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่ง “ทางสายกลาง และความไม่ประมาท”

77. การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของคนเราต้องมุ่งการพัฒนาสิ่งใดเป็นอันดับแรก
(1) โครงสร้างสังคม
(2) สภาพเศรษฐกิจ
(3) จิตใจ
(4) สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม
ตอบ 3 หน้า 39 การเรียนรู้ตามหลักวิชาการหรือตามทฤษฎีมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมทักษะผู้เรียนให้นําความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานและประกอบอาชีพ ส่วนการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมจะทําให้ผู้เรียนรู้เกิดการพัฒนาด้านจิตใจเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญยิ่งกว่า ดังนั้นแนวคิดความรู้คู่คุณธรรมจึงถูกนํามาใช้ในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย

78. สององค์ประกอบของหลักการพัฒนามนุษย์ คือ ต้องพัฒนาให้มีความรู้ และอะไรคือองค์ประกอบที่สอง
(1) ระเบียบวินัย
(2) สุขอนามัย
(3) สุขภาวะจิต
(4) ประชาธิปไตย
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 25. ประกอบ

79. นายกสภามหาวิทยาลัยรามคําแหงคนแรก คือใคร
(1) จอมพลถนอม กิตติขจร
(2) นายสง่า ลีนะสมิต
(3) นายอภิรมย์ ณ นคร
(4) นายธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์
ตอบ 1 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2514 เป็นวันประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคําแหงครั้งแรก ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทําเนียบรัฐบาล โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในฐานะนายก สภามหาวิทยาลัยรามคําแหงคนแรก เป็นประธาน

80. ข้อใดคือส่วนหนึ่งของข้อความที่ปรากฏในหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ….. (รามคําแหง) พ.ศ…..
(1) เป็นการให้การศึกษาแก่ชนทุกชั้น
(2) เนื่องจากที่เรียนของคนไทยมีจํานวนลดลง
(3) นักศึกษาไม่จําเป็นต้องซื้อคําสอนเอง
(4) เพื่อให้เป็นการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 72. ประกอบ

81. ลักษณะใดของบุคคลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีจิตสาธารณะ
(1) ชอบคุยโม้โอ้อวด
(2) ปลีกตัว ชอบอยู่ตามลําพัง
(3) เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม
(4) รักพวกพ้องในทางที่ผิด
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 42. ประกอบ

82. คณะใดไม่ใช่คณะที่จัดตั้งขึ้นในวาระเริ่มแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) คณะนิติศาสตร์
(2) คณะศึกษาศาสตร์
(3) คณะบริหารธุรกิจ
(4) คณะรัฐศาสตร์
ตอบ 4 ในวาระเริ่มแรก (พ.ศ. 2514) มหาวิทยาลัยรามคําแหงได้จัดตั้งคณะวิชา4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ต่อมามหาวิทยาลัยได้ขอจัดตั้งเพิ่มอีก 3 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และ คณะเศรษฐศาสตร์ แต่สภาการศึกษาแห่งชาติไม่ให้จัดตั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2516 จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามโครงการจัดตั้งคณะใหม่ ทําให้ในปีการศึกษาพ.ศ. 2516 มหาวิทยาลัยรามคําแหงมีคณะวิชาที่จัดการเรียนการสอนทั้งหมด 7 คณะ

83. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2515 ใครคือผู้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยรามคําแหงใช้ที่ดินที่ใช้ในการแสดงสินค้านานาชาติเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
(1) สภามหาวิทยาลัยรามคําแหง
(2) สภาการศึกษาแห่งชาติ
(3) สภาผู้แทนราษฎร
(4) สภาบริหารคณะปฏิวัติ
ตอบ 4 หน้า 23 สําหรับเรื่องสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงเป็นการถาวร ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลในเวลาต่อมา โดยสภาบริหารคณะปฏิวัติได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2515ให้มหาวิทยาลัยรามคําแหงใช้ที่ดินที่ใช้ในการแสดงสินค้านานาชาติที่หัวหมากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

84. การเผยแพร่สาระความรู้ไปยังกลุ่มเยาวชนจํานวนมากพร้อม ๆ กัน เพื่อการสร้างจิตสาธารณะ เป็นหน้าที่หลักของใคร
(1) ผู้นําหมู่บ้าน และชุมชน
(2) โรงเรียนและสถาบันการศึกษา
(3) สื่อมวลชน
(4) กระทรวงวัฒนธรรม
ตอบ 3 สื่อมวลชนจัดเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการเผยแพร่สาระความรู้ไปยังกลุ่มเยาวชนจํานวนมากพร้อม ๆ กัน เพื่อการสร้างจิตสาธารณะ โดยสื่อมวลชนควรใช้บทบาทของตนเองที่มีในการส่งเสริมให้เด็กเป็นคนดี รู้จักสิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ รู้ถูกรู้ผิด ด้วยวิธีการที่หลากหลาย

85. กรรมาธิการในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลกี่คน
(1) 8 คน
(2) 7 คน
(3) 6 คน
(4) 5 คน
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 19. ประกอบ

86. อาคารเรียนกึ่งถาวรที่ก่อสร้างขึ้นในช่วงแรกของการเปิดสอนของมหาวิทยาลัยรามคําแหง เรียกว่าอะไร
(1) Educational Building (EB)
(2) Ramkhamhaeng Building (RB)
(3) New Building (NB)
(4) Opened Building (OB)
ตอบ 3 หน้า 28 ในช่วงแรกของการเปิดสอนของมหาวิทยาลัยรามคําแหง การก่อสร้างอาคารเรียนกึ่งถาวรและอาคารห้องสมุด รวมทั้งหมด 8 หลัง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทันเปิดเรียนในภาค 1 ปีการศึกษา 2514 ซึ่งมหาวิทยาลัยรามคําแหงได้ตั้งชื่ออาคารเรียนกึ่งถาวรชั้นเดียวเหล่านี้ว่า อาคาร NB (New Bulding)

87. ข้อใดไม่ใช่คุณลักษณะของผู้มีจิตสาธารณะ
(1) อุทิศตน
(2) คํานึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
(3) มีเมตตา
(4) เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล
ตอบ 3 ยุทธนา วรุณปิติกุล กล่าวถึง บุคคลที่มีจิตสาธารณะต้องมีคุณลักษณะดังนี้
1. การทุ่มเทและอุทิศตน 2. เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล 3. คํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม 4. การลงมือกระทํา

88. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภายนอกชุมชน อยู่ในขั้นใดเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริ
(1) ขั้นที่ 1
(2) ขั้นที่ 2
(3) ขั้นที่ 3
(4) ขั้นที่ 4
ตอบ 3 ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 3 คือ การตระหนักถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภายนอกชุมชนด้วยการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ 1. หน่วยงานที่สนับสนุนด้านการวิจัย เพื่อการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง
2. ธนาคารที่จะให้การสนับสนุนเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไปนัก
3. บริษัทเอกชนที่รับซื้อผลผลิตโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง

89. ใครคือผู้กล่าวว่า “การพัฒนาบ้านเมืองต้องพัฒนาจิตใจคนก่อน หรืออย่างน้อยก็ให้พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาวิชาการอื่น ๆ เพราะการพัฒนาที่ไม่มีจริยธรรมเป็นแกนนํานั้น จะสูญเปล่า และเกิดผลเสียเป็นอันมาก ทําให้บุคคลลุ่มหลงในวัตถุและอบายมุข การที่เศรษฐกิจต้อง เสื่อมโทรม ประชาชนทุกข์ยาก เพราะคนในสังคมละเลยจริยธรรม กอบโกยทรัพย์สินเป็นประโยชน์ ส่วนตัวมากเกินไป ขาดความเมตตาปราณี แล้งน้ำใจในการดําเนินชีวิต”
(1) วศิน อินทสระ
(2) พระราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต)
(3) อริสโตเติล
(4) มหาตมะ คานธี
ตอบ 1
ข้อความข้างต้นเป็นของวศิน อินทสระ ซึ่งได้กล่าวถึงความสําคัญและประโยชน์ของจริยธรรมไว้ในหนังสือพุทธจริยศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2541

90. การมีสวัสดิการชุมชน ช่วยกันดูแลความสะอาด ความสงบปลอดภัย และช่วยเสริมสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นผลทําให้เกิดสิ่งใด
(1) ชุมชนมีชื่อเสียง
(2) ชุมชนเข้มแข็ง
(3) ชุมชนตัวอย่าง
(4) ชุมชนกว้างไกล
ตอบ 2 หน้า 69 ความพอเพียงระดับชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ประกอบด้วย 1. สวัสดิการชุมชน 2. การช่วยกันดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบของสภาพแวดล้อมโดยรอบ 3. การช่วยกันดูแลความสงบและความปลอดภัย 4. การให้ความร่วมมือสร้างเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม

91. สถานที่ใดที่ใช้เป็นที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคําแหงครั้งแรก
(1) สนามศุภชลาศัย
(2) กระทรวงศึกษาธิการ
(3) ตึกไทยคู่ฟ้า
(4) ทบวงมหาวิทยาลัย
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 79. ประกอบ

92. ลักษณะใดบ่งบอกถึงผู้มีปัญญาในการประกอบอาชีพได้ถูกต้องที่สุด
(1) นายดําทํานาโดยการลองผิดลองถูก
(2) นายแดงทําสวนตามที่อ่านในตํารา
(3) นายขางปลูกมะม่วงแล้วออกผลตามฤดูกาล
(4) นายเขียวนําหลักทฤษฎีการเกษตรมาปรับใช้ในการปลูกถั่วได้สําเร็จ
ตอบ 4 (คําบรรยาย) ผู้มีปัญญาในการประกอบอาชีพต้องถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทํางาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักค้นคว้าหาความรู้และนํามาประยุกต์ใช้ในการทํางาน ตลอดจนรู้จักดําเนินการด้านเศรษฐกิจ เพื่อทําการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

93. ใครคือผู้มีคุณธรรมจริยธรรมในการดําเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
(1) อํานวยออกจากห้องเรียนก่อนเวลาเพื่อไปรอเพื่อนกลับบ้าน
(2) แดงตั้งใจสังเกตพฤติกรรมเพื่อนที่มาเรียนอย่างสม่ำเสมอ
(3) สีมักขึ้นรถประจําทางเป็นคนสุดท้ายเพื่อจะได้ยืนใกล้ทางลง
(4) ดําเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง
ตอบ 4 บุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรมในจิตใจจะมีการดําเนินชีวิตที่เป็นไปอย่างเป็นระบบมีระเบียบแบบแผนว่าอะไรคือหน้าที่ อะไรไม่ใช่หน้าที่ อะไรควรทํา อะไรไม่ควรทํา อะไรคือ สิ่งที่ถูกต้อง และอะไรคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

94. ข้อใดกล่าวถึงความซื่อสัตย์ได้
(1) สมหญิงเก็บสร้อยคอทองคําได้ที่ตลาดแล้วนํามาส่งคืนให้ครู
(2) สมนึกเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ในห้องสอบวิชา RAM 1000 แล้วนําไปให้หัวหน้าตึกสอบ
(3) สมศรีทํางานได้เงินเดือนแล้วแบ่งส่วนหนึ่งให้บิดามารดาทุกเดือน
(4) สมสนุกทํางานทุกอย่างเมื่อมีคนว่าจ้าง
ตอบ 2 (คําบรรยาย) ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมและตรงต่อความเป็นจริง ไม่คิดทรยศ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ทําทุกอย่างถูกต้องตามทํานองคลองธรรม เช่น เมื่อเราเก็บของมีค่าได้ควรติดตามหาเจ้าของและคืนของให้ หากไม่รู้ว่าเจ้าของอยู่ที่ไหน ให้นําส่งคืนแก่เจ้าพนักงานตํารวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นภายใน 3 วัน ซึ่งในตัวเลือกข้อ 2 การนําไปให้หัวหน้าตึกสอบจะทําให้ติดตามหาตัวเจ้าของได้ง่ายกว่า เพราะกระเป๋าสตางค์ดังกล่าวหายในห้องสอบ เป็นต้น

95. จากกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงเพื่อสอน ทําการวิจัย ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มหาวิทยาลัยรามคําแหงยังมีหน้าที่ใดนอกเหนือจากหน้าที่ที่กล่าวมาข้างต้น
(1) ทะนุบํารุงวัฒนธรรม
(2) ส่งเสริมประชาธิปไตย
(3) พัฒนาชุมชน
(4) ดํารงไว้ซึ่งค่านิยมทางการศึกษาชั้นสูง
ตอบ 1 จากกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้กําหนดให้มหาวิทยาลัยรามคําแหงเป็นสถาบันการศึกษาเละวิจัยแบบตลาดวิชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และทะนุบํารุงวัฒนธรรม

96. ข้อใดกล่าวผิด
(1) พฤติกรรมที่ดีงามที่สั่งสมในจิตใจ คือ อุปนิสัย
(2) อุเบกขา คือ การวางตัววางใจเป็นกลาง
(3) ความรู้ทําให้คนมีความสุจริต
(4) คนทุกคนเป็นทรัพยากร
ตอบ 3 จากพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 9 ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2525 ความว่า “…การจะทํางานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ให้เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้ แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จําเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรม (คุณธรรม) ประกอบด้วย”

97. องค์การใดที่มีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย เช่น จัดวางระเบียบและข้อบังคับเสนอจัดตั้ง พิจารณาหลักสูตร ยุบรวมและเลิกคณะ และอนุมัติปริญญา
(1) กระทรวงศึกษาธิการ
(2) คณะ
(3) สภามหาวิทยาลัย
(4) คณะรัฐมนตรี
ตอบ 3 หน้า 21 จากกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้กําหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์การที่มีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และมีอํานาจหน้าที่สําคัญ โดยเฉพาะ เช่น จัดวางระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย พิจารณาหลักสูตร เสนอจัดตั้ง ยุบรวมและเลิกคณะ อนุมัติให้ปริญญา พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี รองอธิการบดี

98. ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ดํารงตําแหน่งใดในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร
(1) รองโฆษกรัฐบาล
(2) รองโฆษกสภาผู้แทนราษฎร
(3) โฆษกสภาผู้แทนราษฎร
(4) โฆษกรัฐบาล
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 36. ประกอบ

99. การปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย คือหลักการในข้อใดของหลักธรรมาภิบาล
(1) หลักการกระจายอํานาจ
(2) หลักมุ่งเน้นฉันทามติ
(3) หลักความโปร่งใส
(4) หลักประสิทธิผล
ตอบ 4 (คําบรรยาย) หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ประการหนึ่ง ได้แก่ หลักประสิทธิผล (Effectiveness) คือ ในการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ จะต้องประกอบด้วย 1. ผลเป็นไปตามที่คาดมุ่งหวัง 2. ผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์ 3. ผลบรรลุตามเป้าหมายทั้งด้านเป้าหมายเชิงปริมาณ และเป้าหมายเชิงคุณภาพ

100. ในสังคมที่พัฒนา สมาชิกขององค์การทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และเอกชน สมาชิกขององค์การควรมีความรู้ ความเข้าใจในความเป็นมาขององค์การหรือหน่วยงาน เพื่อเข้าใจในหลักการ เหตุผลของการก่อตั้ง วัฒนธรรม องค์การ และเพื่อให้เกียรติแก่ผู้จัดตั้ง และผู้มีส่วนในการจัดตั้งองค์การ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม ความคิดดังกล่าวเป็นเหตุผลที่นักศึกษาต้องศึกษาในเรื่องใดของวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม
(1) จิตสาธารณะ
(2) เศรษฐกิจพอเพียง
(3) คุณธรรมจริยธรรม
(4) มหาวิทยาลัยรามคําแหงยุคก่อตั้ง
ตอบ 4 ความคิดดังกล่าวเป็นเหตุผลที่นักศึกษาต้องศึกษาเรื่องมหาวิทยาลัยรามคําแหงยุคก่อตั้ง ซึ่งอยู่ในบทที่ 1 ของตําราเรียนวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ถึงที่มาของมหาวิทยาลัยรามคําแหงเมื่อแรกตั้ง และให้นักศึกษาได้ตระหนักถึงการเปิดโอกาสทางการศึกษาในลักษณะมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง

101. รูปธรรมของการแสดงความมีจิตสาธารณะคือข้อใด
(1) ปล้นคนรวยมาช่วยคนจน
(2) ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลําคลอง
(3) ต่อต้านคนทุจริต
(4) เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก และเพื่อนบ้าน
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 54. ประกอบ

102. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิชุดแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง ในขณะนั้นดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษาคือใคร
(1) นายสุขุม นวพันธ์
(2) นายบุญสม มาร์ติน
(3) นายเรณ สุวรรณสิทธิ์
(4) นายก่อ สวัสดิพาณิชย์
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 24. ประกอบ

103. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงมาจากวิธีการใด
(1) การแต่งตั้งทั้งหมด
(2) การเลือกตั้งและแต่งตั้งผสมกัน
(3) การแต่งตั้งมากกว่าการเลือกตั้ง
(4) การเลือกตั้ง
ตอบ 4 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง เป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2511

104. ในเรื่องของความพอเพียงระดับชุมชน การช่วยเหลือดูแลความสงบ ความปลอดภัย และความสะอาด เป็นตัวอย่างของอะไร
(1) โครงสร้างความมั่นคงของชุมชน
(2) กลยุทธ์ในการพัฒนาการมีส่วนร่วม
(3) เครือข่ายเพื่อการพัฒนา
(4) ความพร้อมเพรียงของชุมชน
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 90. ประกอบ

105. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้อง
(1) จริยธรรม หมายถึง การถือศีล กินเพล ฟังธรรม จําศีลภาวนา
(2) จริยธรรมเป็นตัวกําหนดความประพฤติถูก ผิด
(3) จริยธรรมเป็นเรื่องของการฝึกให้เป็นนิสัย
(4) จริยธรรมมีความหมายกว้างกว่าศีลธรรม
ตอบ 1 หน้า 42 – 43, 45 ข้อสังเกตเกี่ยวกับจริยธรรม มีดังนี้
1. ในปัจจุบันจริยธรรมไม่แยกเด็ดขาดจากศีลธรรม แต่มีความหมายกว้างกว่าศีลธรรม 2. Stumpf อธิบายว่า จริยธรรมเป็นเครื่องกําหนดความประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าถูกหรือผิด ดีหรือเลว พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ มีคุณค่าหรือไร้คุณค่า 3. จริยธรรมเป็นเรื่องของการฝึกนิสัยที่ดี โดยกระทําอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย 4. จริยธรรม มิได้หมายถึง การถือศีล กินเพล เข้าวัดฟังธรรม จําศีลภาวนา โดยไม่ช่วยเหลือทําประโยชน์ให้แก่สังคม ฯลฯ

106. คุณธรรมจริยธรรมเกิดจากสิ่งใด
(1) การเลียนแบบ
(2) การตั้งสติ
(3) การนั่งสมาธิ
(4) การเรียนรู้ผลประโยชน์
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 3. ประกอบ

107. ลักษณะตลาดวิชาของมหาวิทยาลัยรามคําแหงคือข้อใด
(1) เปิดรับนักศึกษาที่อายุไม่เกิน 30 ปี
(2) เปิดรับเฉพาะผู้สมัครสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์
(3) เปิดรับเฉพาะผู้สมัครที่จบการศึกษามัธยมปลาย
(4) เปิดรับไม่จํากัดจํานวน ไม่ต้องสอบคัดเลือก
ตอบ 4 ลักษณะตลาดวิชาของมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ การกําหนดคุณวุฒิและคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าเป็นนักศึกษาโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก และยังเปิดรับไม่จํากัด จํานวน ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคําแหงได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และยังเป็นการให้ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง

108. บุคคลที่มีการดําเนินชีวิตได้อย่างเป็นแบบแผน ทราบว่าอะไรควรทํา อะไรไม่ควรทํา อะไรถูก อะไรผิดบุคคลนั้นมีสิ่งใดในจิตใจ
(1) จรรยาบรรณ
(2) วัฒนธรรม
(3) คุณธรรมจริยธรรม
(4) ความสงบ
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 93. ประกอบ

109. ในการริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ปัญหาที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องพิจารณาคืออะไร
(1) ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดี และคณบดี
(2) สถานที่ตั้ง อาจารย์ผู้สอน และงบประมาณ
(3) ประเภทของมหาวิทยาลัย
(4) จํานวนนักศึกษาที่สามารถรับได้ในแต่ละปี
ตอบ 2 หน้า 3 ในการริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอร่างฯ ได้ประสานกับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลแล้ว พบว่า มีปัญหาสําคัญที่จะต้องร่วมกันพิจารณา ก่อนที่กระบวนการทางนิติบัญญัติจะดําเนินการต่อไป กล่าวคือ ปัญหาสถานที่ตั้ง อาจารย์ ผู้สอน และเงินงบประมาณ

110. คุณธรรมจริยธรรมอาจใช้เป็นตัวชี้วัดสิ่งใด
(1) ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
(2) ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ
(3) การขยายตัวและย้ายถิ่นของประชากร
(4) การลดความแตกต่างของชนชั้นของคนในสังคม
ตอบ 2 หน้า 38 การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นรากฐานของความเข้มแข็งของประชาชนและเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติที่บ่งบอกถึงคุณภาพทางด้านจิตใจและ พฤติกรรมของผู้คนที่แสดงออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

111. ข้อใดคือหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(1) สมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
(2) ทางสายกลาง
(3) ความพอเพียง
(4) หลักวิชา
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 32. ประกอบ

112. มหาวิทยาลัยรามคําแหงเปิดรับนักศึกษาโดยไม่จํากัดจํานวน โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก หมายถึงหลักการใด
(1) การขยายชั้นเรียนให้กับนักเรียนและนักศึกษา
(2) การเพิ่มคุณวุฒิให้ปวงชนชาวไทย
(3) การเพิ่มช่องว่างทางการศึกษา
(4) การเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชน
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 107. ประกอบ

113. ความหมายของคุณธรรมที่ถูกต้องและตรงประเด็นมากที่สุดคือข้อใด
(1) สภาพความดีและความไม่ดี
(2) สภาพความมุ่งมั่นของจิตใจ
(3) สภาพของคุณงามความดี
(4) สภาพความกดดันตนเองเพื่อให้ได้ดี
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 75. ประกอบ

114. การดําเนินชีวิตที่ดีในสังคมของบุคคลควรคํานึงถึงอะไรเป็นแนวทาง
(1) คุณธรรมจริยธรรม
(2) คติพจน์
(3) ความตระหนักรู้และจริงใจในตนเอง
(4) ความสุข
ตอบ 1 หน้า 39 คุณธรรมจริยธรรมสามารถนํามาเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิตที่ดีในสังคมของบุคคล เพราะทําให้บุคคลทราบข้อปฏิบัติและสามารถแสดงพฤติกรรมได้อย่างถูกต้อง หากเกิดปัญหาต่าง ๆ หลักแนวคิดคุณธรรมจริยธรรมยังสามารถนํามาใช้เพื่อเป็นวิธีคิดในการตัดสินใจ
เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างยุติธรรม

115. ปัญหานักเรียนที่จบมัธยมปลายและผู้ต้องการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐจํานวนมากไม่มีที่เรียน เริ่มจากเมื่อใด
(1) พ.ศ. 2503
(2) พ.ศ. 2523
(3) พ.ศ. 2533 8
(4) พ.ศ. 2513
ตอบ 1 ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ก่อนที่จะมีมหาวิทยาลัยรามคําแหงมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งรับนักศึกษาเข้าเรียนจํากัดจํานวนและต้องสอบคัดเลือก ทําให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และผู้ต้องการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐจํานวนมากไม่มีที่เรียน เมื่อสอบคัดเลือกเข้าเรียนไม่ได้ นักเรียนจํานวนมากต้องตกค้าง ไม่ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งมีอยู่จํานวนน้อยในขณะนั้น

116. ผลที่เกิดขึ้นสุดท้ายกับสังคมที่คนส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรมคืออะไร (1) การมีเศรษฐกิจดี
(2) การเอื้อเฟื้อ เห็นอกเห็นใจของคนในสังคม
(3) เกิดความรักชาติ
(4) ความสงบสุขและมีสันติอย่างยั่งยืน
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 47. ประกอบ

117. คณะใดที่ได้เสนอให้พิจารณาเปิดสอนในร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคําแหง พ.ศ. 2514 แต่ได้ถูกยับยั้งให้เปิดสอนในภายหลัง
(1) คณะศึกษาศาสตร์
(2) คณะเศรษฐศาสตร์
(3) คณะวิศวกรรมศาสตร์
(4) คณะทัศมาตรศาสตร์
ตอบ 2 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคําแหงพ.ศ. 2514 นั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้เสนอให้เปิดคณะเศรษฐศาสตร์ด้วย แต่กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ชี้แจงแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ขอให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนเพียง 4 คณะ ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ภายหลัง ซึ่งเข้าใจว่าคงตั้งได้ภายใน 2 – 3 ปี

118. ในปีการศึกษา 2517 เมื่อมหาวิทยาลัยรามคําแหงเปิดสอนมา 4 ปีเศษแล้ว จํานวนผู้สําเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจํานวนเท่าใด
(1) 120 คน
(2) 120,000 คน
(3) 12,000 คน
(4) 1,200 คน
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 26. ประกอบ

119. สถาบันใดมีความสําคัญเป็นอันดับแรกในบทบาทการสร้างจิตสํานึกต่อส่วนรวม
(1) สถาบันการศึกษา
(2) สื่อมวลชน
(3) สถาบันศาสนา
(4) ครอบครัว
ตอบ 4 ความอบอุ่นของสถาบันครอบครัวมีความสําคัญเป็นอันดับแรก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ทารกเกิดจิตสํานึกเห็นความสําคัญของส่วนรวม ดังนั้นสถาบันครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานของสังคม เพื่อปูพื้นฐานหรือฝังรากให้เด็กมีจิตสํานึกที่เป็นสัมมาทิฐิตั้งแต่ยังเด็ก และเด็กจะได้เป็นกําลังในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุขต่อไป

120. หลักศาสนาเป็นพื้นฐานของสิ่งใด
(1) ความแน่นิ่งของจิต
(2) ความล้ำเลิศ
(3) คุณธรรม
(4) ความประเสริฐ
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 33. ประกอบ

Advertisement