การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 4321 การบริหารร่วมสมัย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ นักศึกษาที่เข้าชั้นเรียนและทํารายงานให้เลือกตอบเพียง 2 ข้อ โดยระบุหัวข้อรายงานในสมุดคําตอบหน้าแรก ส่วนนักศึกษาที่ไม่ได้เข้าชั้นเรียนและไม่ได้ทํารายงานให้เลือกตอบ 3 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายการเปลี่ยนแปลงในองค์การ (Organizational Change) อีกทั้งยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์การในภาครัฐในด้านวิสัยทัศน์ ระบบการทํางาน และค่านิยมองค์การหรือวัฒนธรรม องค์การในภาครัฐมา 1 แห่ง และสภาวการณ์อะไรบ้างที่ทําให้องค์การต่าง ๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในองค์การ

แนวคําตอบ

สภาวการณ์เปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทาง เทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ การติดต่อสื่อสาร ค่านิยมใหม่ ๆ เป็นต้น ทําให้องค์การต่าง ๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุก่องค์การ โดยในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นมีมากมาย เช่น การปฏิรูประบบราชการ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์การ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การออกนอกระบบ การควบรวมกิจการ การนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในองค์การ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อปรับ องค์การให้เข้ากับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะทําให้องค์การอยู่รอดและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงองค์การ หมายถึง กระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์การโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาในองค์การ หรือพยายามปรับปรุงองค์การให้ก้าวหน้า โดยอาศัยการวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนและดําเนินการสร้างวัฒนธรรมองค์การที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการ เปลี่ยนแปลงองค์การจะใช้เทคนิคทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ สังคมวิทยา และการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสําคัญในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลง

ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงองค์การ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงองค์การ ทั้งหมดหรือบางส่วนขององค์การ เช่น การออกแบบโครงสร้างองค์การใหม่ การติดตั้งระบบสารสนเทศใหม่ การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ การออกแบบงาน กระบวนการทํางาน เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมองค์การ เป็นต้น

สภาวการณ์ที่ทําให้องค์การต่าง ๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในองค์การ

สภาวการณ์หรือปัจจัยที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ คือ ปัจจัยภายนอกองค์การ และปัจจัยภายในองค์การ ดังข้อเสนอของนักวิชาการต่อไปนี้

Patrick Dawson ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Understanding Organizational Change (2003) ว่า ประเภทของสิ่งกระตุ้น (A Range of Triggers) ที่นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์การ (Organizational Change) มีปัจจัยมาจาก 2 ปัจจัย คือ

1 ปัจจัยภายนอกองค์การ ประกอบด้วย 6 ปัจจัย คือ

1) กฎหมายและกฎระเบียบของรัฐบาล (Government Laws and Regulations) เช่น นโยบายระดับชาติ ข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับมลภาวะและสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีและการค้า

2) กระแสโลกาภิวัตน์ของการตลาดและการค้าระหว่างประเทศ (Globalization of Markets and The Internationalization of Business) เช่น แรงกดดันจากภาวะการแข่งขันทั้งจากตลาดภายใน และต่างประเทศ

3) เหตุการณ์สําคัญทางการเมืองและสังคม (Major Political and Social Events) เช่น การเกิดวินาศกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001

4) ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เช่น องค์การต่าง ๆ ได้นําเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ ในการผลิตสินค้า

5) ความเจริญเติบโตและการขยายตัวขององค์การ (Organizational Growth and Expansion) เช่น องค์การมีขนาดใหญ่ขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจําเป็นต้องพัฒนากลไกการประสานงาน ให้มีความเหมาะสม

6) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ (Fluctuations) เช่น การเปลี่ยนแปลงอันเนื่อง มาจากความผันแปรของภาวะเศรษฐกิจ

2 ปัจจัยภายในองค์การ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ

1) เรื่องของเทคโนโลยี เช่น การประชุมผ่าน Video Conferencing เทคโนโลยี หุ่นยนต์ (Robotic Technology) การนําคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานบัญชี (Computerization of Management Accounting) และระบบสารสนเทศ (Information System)

2) เรื่องที่เกี่ยวกับงานโดยตรง (Primary Task) เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต หรือการบริการ

3) ผู้รับบริการ (People) เช่น ในการพัฒนาและการปฏิบัติในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เกี่ยวกับการจัดโปรแกรมการฝึกอบรม (Programmer of Retraining) และการเพิ่มพูนทักษะที่หลากหลาย ( (Multi-Skilling) การทํางานเป็นทีม (Team-Based Work Arrangements)

4) เรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงาน (Administrative Structures) เช่น  การปรับปรุงโครงสร้างการทํางาน และการกําหนดความสัมพันธ์ของอํานาจหน้าที่ในองค์การใหม่ การจัดการ ความเป็นเลิศ (Best Practice Management)

kinicki and Kreitner ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Organizational Behavior : Key Concepts, Skills & Best Practices (2008) ว่า ปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Forces for Change) ในองค์การ ต่าง ๆ มาจากปัจจัย 2 ประการ คือ

1 ปัจจัยภายนอกองค์การ (External Forces) เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตและบริการ ซึ่งมี 4 ปัจจัยสําคัญ คือ

1) ลักษณะของประชากร (Demographic Characteristics) เนื่องจากปัจเจกบุคคล มีลักษณะที่แตกต่างกัน องค์การต่าง ๆ จึงต้องมีระบบการจัดการที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนอง ความต้องการของบุคลากร รวมทั้งทําให้บุคลากรเกิดความผูกพันต่อองค์การ นอกจากนี้สิ่งท้าทายขององค์การ คือ จะต้องกระตุ้นให้บุคลากรได้ใช้ศักยภาพที่เขามีให้เป็นประโยชน์ต่อองค์การมากที่สุด

2) ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Technological Advancements) องค์การ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การภาครัฐหรือองค์การภาคเอกชนล้วนแล้วแต่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงผลผลิต และการแข่งขันให้บริการกับลูกค้า

3) การเปลี่ยนแปลงลูกค้าและการตลาด (Customer and Market Changes) เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลายและต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ รวมทั้งการแข่งขันที่มีมากขึ้น จึงทําให้ องค์การต่าง ๆ ต้องปรับกลยุทธ์ในการผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ

4) แรงกดดันทางด้านสังคมและการเมือง เป็นปัจจัยที่มาจากเหตุการณ์ทางด้านสังคม และการเมือง เช่น กรณีปัญหาการทุจริตด้านการเงินในบริษัทใหญ่ ๆ ส่งผลให้องค์การนั้นมีปัญหาจนต้องปิดกิจการ นอกจากนี้เหตุการณ์การเมือง เช่น การเกิดสงครามทําให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าและบริการ

2 ปัจจัยภายในองค์การ (Internal Forces) เช่น ความพึงพอใจในการทํางานต่ำ ผลผลิตตกต่ำ การเข้าออกจากงานสูง มีปัญหาความขัดแย้งมาก ซึ่งโดยทั่วไปปัจจัยภายในองค์การที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มักจะมาจากปัญหาทรัพยากรมนุษย์และพฤติกรรมทางการบริหาร

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์การภาครัฐ

มหาวิทยาลัยรามคําแหง เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยรามคําแหง พ.ศ. 2514 โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบตลาดวิชา เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนสถานที่เรียนในระดับอุดมศึกษา จึงทําให้มหาวิทยาลัยรามคําแหงเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นมา เพื่อขยายโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นปรัชญาการดําเนินงาน ที่มหาวิทยาลัยยึดมั่นตลอดมานับตั้งแต่เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยรามคําแหงรับนักศึกษาโดยไม่มีการสอบคัดเลือกและรับโดยไม่จํากัดจํานวน จึงทําให้มีนักศึกษาจํานวนมากจนสถานที่เรียนที่หัวหมากไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยรามคําแหงจึงได้เปิดวิทยาเขต รามคําแหง 2 หรือวิทยาเขตบางนาในปี พ.ศ. 2527 เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มาจนถึงปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยรามคําแหงได้ปฏิบัติภารกิจหลักทั้ง 4 ประการของสถาบันอุดมศึกษา คือ ผลิต บัณฑิต การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัยรามคําแหงได้เพิ่มภารกิจที่ 5 คือ “มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม” โดยมีความเชื่อว่า การเรียนรู้ ด้านคุณธรรมจะช่วยปลูกฝังรากฐานอันดีงามของจิตใจ และช่วยเสริมคุณค่าให้นักศึกษาและบัณฑิตของ มหาวิทยาลัยรามคําแหงได้อย่างมีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตาม กระแสโลกาภิวัตน์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นมหาวิทยาลัยรามคําแหงจึงได้กําหนดนโยบายการจัดการเรียนการสอนวิชา “ความรู้คู่คุณธรรม” ในทุกระดับการศึกษา โดยกําหนดให้เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรและไม่เก็บค่าหน่วยกิตเพื่อ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านคุณธรรมและปลูกฝังจิตสํานึกให้นักศึกษานําไปประพฤติปฏิบัติ สําเร็จการศึกษาเป็น บัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นผู้ซึ่งรู้จักยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมนําชีวิต พร้อมอุทิศตนเพื่อประเทศชาติ ช่วยกันพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งและมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยนําพาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเจริญอย่าง มั่นคงต่อไป

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยรามคําแหงยังมีนโยบายขยายโอกาสการศึกษาสู่ภูมิภาค ให้คนไทย ทุกคนสามารถสมัครเข้าศึกษาในภูมิภาคของตนได้ โดยไม่ต้องไปศึกษาหรือสอบที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็น นโยบายจัดการศึกษาในลักษณะที่เรียกว่า “เรียนใกล้บ้านสอบใกล้บ้าน” จึงได้จัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2546 ได้ขยายการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศ โดยจัดตั้ง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ เพื่อให้โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทย ในต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยการตระหนักถึง ประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสําคัญ โดยยึดหลักที่ว่า “การศึกษาสร้างคน และคนสร้างชาติ”

 

ในปี พ.ศ. 2555 มหาวิทยาลัยรามคําแหงโดยความคิดริเริ่มของผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ได้มีนโยบายปรับระบบการวัดและประเมินผลของนักศึกษาจากเดิมระบบ G, P และ F เป็นระบบใหม่ A, B, C, และ D ตั้งแต่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการวัดและ ประเมินผลของมหาวิทยาลัยรามคําแหงไปสู่มาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ

นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ มหาวิทยาลัยรามคําแหงได้ปรับระบบบริการ ให้เป็นแบบ Super Service เช่น การรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีโดยนําระบบ One Stop Service มาใช้ใน การรับสมัคร อีกทั้งนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ และอํานวยความสะดวกแก่ผู้เรียน เช่น e-Book และ e-Testing รวมทั้งให้บริการทางอินเทอร์เน็ตแก่นักศึกษา โดย มีเว็บไซต์ เช่น

ww.ru.ac.th เป็นเว็บไซต์หลักที่มีรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง

– www.ram.edu เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับ e-Learning ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง

– www.e-ru.tv เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของมหาวิทยาลัยรามคําแหงรวมทั้งเป็นเว็บไซต์สําหรับถ่ายทอดสดการประชุม สัมมนา และการบรรยายพิเศษ

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคําแหงได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนจึงได้ปรับตัว สร้างวิสัยทัศน์ และเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เทียบเท่านานาประเทศ เน้นการสร้างคน สร้างนักศึกษาและผลิต บัณฑิตที่มีคุณภาพระดับสากล นอกจากนี้ยังได้กระตุ้นให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหง ตระหนักในการที่ประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และเตรียมความพร้อมด้านภาษาโดยเฉพาะ ภาษาอังกฤษที่จะต้องใช้สื่อสารในการทํางาน รวมทั้งต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงจัดฝึกอบรม หลักสูตรภาษาต่าง ๆ แก่บุคลากรและนักศึกษา และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง

 

ข้อ 2 คําว่า “กลยุทธ์” (Strategy) และคําว่า “ยุทธศาสตร์” มีความแตกต่างกันหรือไม่ จงอธิบายการนําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินไทยในปีใด และขั้นตอนการกําหนด กลยุทธ์มีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่างการใช้เทคนิค SWOT มาวิเคราะห์องค์การของหน่วยงานภาครัฐที่ใดที่หนึ่ง

แนวคําตอบ

คําว่า Strategy มาจากคําว่า “Strategos” ในภาษากรีก โดยเกิดจากศัพท์ 2 คํา คือ “Stratos” หมายถึง Army หรือ กองทัพ และ Agein หมายถึง Lead หรือ นําหน้า โดยเมื่อนําศัพท์ 2 คํานี้มารวมกันจะหมายถึง การนํากองทัพ หรือยุทธวิธีหลักในการรบเพื่อเอาชนะศัตรู

คําว่า Strategy ในภาษาไทยใช้คําว่า กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ดังนั้นคําว่า กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ จึงเป็นคํา ๆ เดียวกันและมีความหมายเหมือนกัน

แนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ได้ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 สําหรับประเทศไทยได้นํา แนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น การนําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มาประยุกต์ใช้ในการจัดทําแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2546 – 2550 การปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณมาเป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้น ผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ การให้หน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงจัดทํายุทธศาสตร์ระดับกระทรวง ระดับกรม เป็นต้น

ขั้นตอนการกําหนดกลยุทธ์ มี 7 ขั้นตอน คือ

1 การนิยามธุรกิจ (Define The Business) เป็นการกําหนดความหมายของธุรกิจ ได้แก่

1 ภาษา การกําหนดภารกิจ (Mission) วิสัยทัศน์ (Vision) ปรัชญา (Philosophy) ค่านิยม (Values) และเป้าหมาย (Goals) ขององค์การ เพื่อให้การดําเนินงานตอบสนองความต้องการของลูกค้า

2 การวิเคราะห์จุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อน (Weakness) ขององค์การ เป็นการ วิเคราะห์ว่าองค์การมีจุดแข็งอะไรบ้างที่องค์การสามารถทําได้ดี มีความชํานาญ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ว่าองค์การมีจุดอ่อน/จุดด้อย/ข้อบกพร่องอะไรบ้างเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไข

3 การวิเคราะห์โอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ขององค์การ เป็นการ วิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นโอกาสให้องค์การสามารถพัฒนา/เติบโต/ขยายกิจการได้ และมีอุปสรรค/ข้อจํากัด อะไรบ้างที่อาจทําให้องค์การสามารถทํางานได้ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบ สถานที่ตั้ง เป็นต้น

4 การนิยามประเด็นปัญหาหลักและประเด็นทางกลยุทธ์ เป็นการหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้น ในองค์การมาพิจารณา เช่น บุคลากรมาทํางานสาย ขาดความสามัคคี ได้รับคําตําหนิจากลูกค้า เป็นต้น ว่าปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งเทคนิคที่ใช้วิเคราะห์ปัญหาอาจจะใช้ แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) แผนภูมิพาเรโต้ (Pareto Diagram) เป็นต้น และจะต้องวิเคราะห์ต่อไป ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับใดขององค์การ เป็นปัญหาทางเทคนิค หรือเป็นปัญหาการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติ

5 การระบุกลยุทธ์ทางเลือกและคัดเลือกกลยุทธ์ เป็นการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละ กลยุทธ์แล้วทําการคัดเลือกกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่ง ซึ่งในการคัดเลือกกลยุทธ์อาจพิจารณาจากหลายหลักเกณฑ์ เช่น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับลูกค้า ความเป็นไปได้ในการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติ และความสอดคล้องกับแผนใน ระดับต่าง ๆ เป็นต้น

6 การบริหารกลยุทธ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สําคัญ เนื่องจากเป็นการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกลยุทธ์นั้น ทั้งนี้ความสําเร็จของการบริหารกลยุทธ์ย่อมขึ้นอยู่กับ ค่านิยมในการทํางานและการให้ความร่วมมือของบุคลากรในองค์การเป็นสําคัญ

7 การประเมินผลกลยุทธ์ เมื่อมีการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติแล้ว จําเป็นต้องมีการประเมินผล กลยุทธ์นั้นว่าประสบความสําเร็จมากน้อยเพียงใด มีปัญหาอะไรบ้างเพื่อนําผลการประเมินไปปรับปรุงต่อไป

การใช้เทคนิค SWOT ในการวิเคราะห์องค์การ ก่อนที่องค์การต่าง ๆ จะกําหนดกลยุทธ์จําเป็นต้องมีการวิเคราะห์องค์การโดยใช้เทคนิค SWOT เพื่อให้ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคขององค์การก่อน ซึ่งคําว่า SWOT ประกอบด้วย

1 S = Strengths คือ จุดแข็งขององค์การ เป็นการพิจารณาจุดแข็งของทรัพยากรภายใน องค์การหรือระบบย่อยขององค์การ เช่น อํานาจหน้าที่ เป้าประสงค์ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง บุคลากร ความรู้และข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยี เป็นต้น ว่ามีอะไรบ้างที่จะนํามาใช้ในการดําเนินงานขององค์การในการปฏิบัติการตามกลยุทธ์

2 W = Weakness คือ จุดอ่อนขององค์การ เป็นการพิจารณาอํานาจหน้าที่ เป้าประสงค์ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง บุคลากร ความรู้และข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีภายในองค์การว่ามีจุดอ่อนอย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นจุดแข็ง และนํามาใช้เป็นประโยชน์แก่องค์การ

3 O = Opportunities คือ โอกาสที่จะทําให้เกิดความได้เปรียบแก่องค์การ เป็นการ พิจารณาดูว่ามีปัจจัยภายนอกองค์การใดที่จะนํามาเป็นประโยชน์ในการดําเนินงานขององค์การได้บ้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น

1) สิ่งแวดล้อมของงาน ได้แก่ ลูกค้า คู่แข่ง ผู้ผลิต แรงงาน กฎระเบียบหรือหน่วยงานที่ควบคุม

2) สิ่งแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และต่างประเทศ

4 Is Threats คือ อุปสรรคหรืออันตรายที่จะทําให้เกิดหายนะแก่องค์การ เป็นการ พิจารณาสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมของงานและสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่ทําให้เกิดอันตรายหรือ หายนะต่อการดําเนินงานขององค์การ ทั้งนี้การวิเคราะห์องค์การโดยใช้เทคนิค SWOT

ตัวอย่างของการใช้เทคนิค SWOT ในการวิเคราะห์องค์การ เช่น

การใช้เทคนิค SWOT ในการวิเคราะห์กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อนําไปใช้กําหนดกลยุทธ์ การพัฒนาการท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร

จุดแข็งของ กทม. คือ

1 มีบุคลากรที่มีคุณภาพและมีอํานาจมากพอสมควร ทําให้สามารถนํามาใช้ดําเนินงานในโครงการได้

2 มีงบประมาณอยู่พอสมควรในการนํามาใช้ดําเนินงาน

3 มีสถานีวิทยุของตนเองสามารถที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาสนใจท่องเที่ยวใน กทม. ได้

4 มีสํานักงานเขต 50 เขต แต่ละเขตมีบุคลากรและเครื่องมือพร้อมในการทํางาน

5 มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งสามารถนํามาเป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์และการบริหารงานโครงการได้เป็นอย่างดี

6 คณะผู้บริหาร กทม. มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และได้รับการยอมรับจากประชาชนสูง จุดอ่อนของ กทม. คือ

1 บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะมาดําเนินการท่องเที่ยวยังมีน้อย

2 ฝ่ายบริหารระดับสูงมิได้จัดนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวว่าเป็นนโยบายสําคัญ ทําให้ไม่ได้ลงมากําชับและระดมทรัพยากรต่าง ๆ ให้นโยบายนี้มีผลสําเร็จในระดับสูง

โอกาสของ กทม. คือ

1 หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้หันมาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวใน กทม. มากขึ้น ทําให้ประชาชนตระหนักถึงความสําคัญของการท่องเที่ยวใน กทม. มากขึ้น

2 ประชากรที่อยู่อาศัยใน กทม. มีประมาณ 6 ล้านคน รวมกับประชากรบริเวณปริมณฑลประมาณ 4 ล้านคน และเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่สามารถจะมาท่องเที่ยวใน กทม. ได้เป็นจํานวนมาก

3 มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นจํานวนมาก ที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้  เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดอรุณราชวราราม วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น

4 เป็นแหล่งที่ตั้งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่ง กทม. จะสามารถขอความร่วมมือมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้

5 มีสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของส่วนราชการต่าง ๆ มาก ซึ่ง กทม. จะสามารถใช้วิทยุประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวใน กทม. ได้

6 เป็นที่ตั้งของที่ทําการหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ ซึ่งสามารถขอความร่วมมือจากหนังสือพิมพ์และวารสารเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในการท่องเที่ยวได้

อุปสรรคของ กทม. คือ

1 ในปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่ยังมีสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอยู่ เช่น น้ำมันยังราคาแพง กําลังซื้อของประชาชนลดลง ทําให้ประชาชนจะท่องเที่ยวน้อยลง เพราะประชาชนจะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในเรื่องจําเป็น หรือจะเก็บไว้ออมมากกว่าจะนํามาใช้ในการท่องเที่ยว

2 สถานที่ท่องเที่ยวที่สําคัญมิได้เป็นหน่วยงานสังกัด กทม. แต่เป็นหน่วยงานอื่น ๆ ทําให้ กทม. มิได้มีบทบาทในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น กทม. ต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

 

ข้อ 3 ปัจจัยอะไรบ้างที่ทําให้สถาบันอุดมศึกษาต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาใช้ ระบบการประกันคุณภาพการศึกษามีกระบบ อะไรบ้าง จงอธิบาย และหลักการประเมินคุณภาพภายนอกมีหลักการอะไรบ้าง มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอะไรบ้าง

แนวคําตอบ

ปัจจัยที่ทําให้สถาบันอุดมศึกษาต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาใช้เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในองค์การหลายประการที่ทําให้ สถาบันอุดมศึกษาจําเป็นต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาใช้ ซึ่งปัจจัยที่สําคัญมีดังนี้

1 ความแตกต่างด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา

2 ความท้าทายของปัจจัยโลกาภิวัตน์ที่มีต่อการอุดมศึกษา ทําให้การศึกษาไร้พรมแดน

3 สถาบันอุดมศึกษามีความจําเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจแก่สังคมว่าสามารถพัฒนา องค์ความรู้และผลิตบัณฑิตตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล การพัฒนาภาคการผลิตจริงทั้งอุตสาหกรรมและบริการ การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ระดับท้องถิ่นและชุมชน

4 สถาบันอุดมศึกษาจะต้องให้ข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักศึกษา ผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง รัฐบาล และประชาชนทั่วไป

5 สังคมต้องการระบบอุดมศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม (Participation) มีความโปร่งใส (Transparency) และมีความรับผิดชอบสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ตามหลักธรรมาภิบาล

6 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กําหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน รวมถึงให้มีสํานักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษาทําหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอก โดยการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

7 คณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศใช้มาตรฐานการอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นกลไกกํากับระดับมาตรฐานระดับกระทรวง ระดับคณะกรรมการการอุดมศึกษา และระดับ หน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานระดับอุดมศึกษาจะได้ใช้เป็นกรอบดําเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา

8 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและกํากับให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตาม ประเภทหรือกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา 4 กลุ่ม

9 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา แห่งชาติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศแนวทางการปฏิบัติตาม กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เพื่อให้การจัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาและเพื่อการประกันคุณภาพของบัณฑิตในแต่ละระดับคุณวุฒิ และสาขาวิชา

ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กําหนด ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา 2 ระบบ คือ

1 ระบบการประกันคุณภาพภายใน เป็นการประเมินการดําเนินงานของสถานศึกษาโดย บุคลากรของสถานศึกษานั้น ๆ และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา ที่ต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทํารายงานประจําปี รายงานประเมินคุณภาพภายในเสนอสภาสถาบัน หน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเผยแพร่ต่อสาธารณะ

2 ระบบการประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาโดย หน่วยงานภายนอก คือ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งจะทําการประเมิน อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกรอบ 5 ปี

หลักการประเมินคุณภาพภายนอก

สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาได้กําหนดหลักการประเมินคุณภาพ ภายนอกไว้ดังนี้

1 เป็นการประเมินการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่เป็นการประเมินเพื่อจับผิด หรือ การให้คุณให้โทษ

2 ยึดหลักความเที่ยงตรง เป็นธรรม โปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง (Evidence-Based) และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (Accountability)

3 มุ่งเน้นการประเมินแบบกัลยาณมิตร

4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพและการพัฒนาการจัดการศึกษาจาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

5 มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการศึกษากับจุดมุ่งหมายและหลักการศึกษา ของชาติตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้เอกภาพเชิงนโยบาย แต่ยังคงมี ความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยสถาบันสามารถกําหนดเป้าหมายเฉพาะและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เต็ม ตามศักยภาพของสถาบันและผู้เรียน

 

ข้อ 4 วัฒนธรรมองค์การ (Organizational Culture) คืออะไร ระดับของวัฒนธรรมองค์การมีกระดับอะไรบ้าง จงอธิบายพร้อมกับยกตัวอย่างประกอบในแต่ละระดับ

แนวคําตอบ

ความหมายของวัฒนธรรมองค์การ (Organizational Culture)

Handy อธิบายว่า วัฒนธรรมองค์การ เป็นรูปแบบหรือโมเดลที่เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับวิธีคิด และการเรียนรู้ของบุคคลซึ่งใช้เป็นแนวทางในการบริหารและการปฏิบัติงานในองค์การ ทั้งนี้ได้นําเทพเจ้าของ ชาวกรีก 4 องค์ ได้แก่ เทพเจ้าซีอุส เทพเจ้าอพอลโล เทพสตรีอาธีน่า และเทพเจ้าดิโอนีซุส มาอธิบายวัฒนธรรม องค์การที่แตกต่างกัน

Schein อธิบายว่า วัฒนธรรมองค์การ หมายถึง รูปแบบของสมมุติฐาน (Basic Assumptions) เกี่ยวกับวิธีการมอง การคิด และการสร้างความรู้สึกที่ดีที่ถูกต้องของบุคลากรในองค์การที่ได้สั่งสมมาในอดีตจาก ประสบการณ์ที่ได้มาจากการแก้ปัญหา การปรับตัวขององค์การต่อสภาพแวดล้อมภายนอก อีกทั้งการสร้างความเป็น อันหนึ่งอันเดียวกันภายในองค์การและการถ่ายทอดให้กับสมาชิกใหม่ในองค์การ

Robbins อธิบายว่า วัฒนธรรมองค์การ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจร่วมกันและความเชื่อของ สมาชิกในองค์การที่แสดงออกต่อบุคคลอื่น ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ในแต่ละองค์การจะแสดงออกมาในลักษณะ ที่เป็นค่านิยม สัญลักษณ์ พิธีกรรม ตํานาน และการปฏิบัติ

พิทยา บวรวัฒนา ให้ความหมายว่า วัฒนธรรมองค์การ หมายถึง ความเข้าใจร่วมกัน (Shared Meaning) ของบุคลากรในองค์การเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติซึ่งได้รับถ่ายทอดกันมาเป็นเวลานาน และแสดงออกมา ในลักษณะเป็นความเชื่อ (Beliefs) สัญลักษณ์ (Symbols) พิธีการ (Rituals) นิทาน (Myths) การเล่าเรื่อง และ แนวทางการปฏิบัติ

ติน ปรัชญพฤทธิ์ อธิบายว่า วัฒนธรรมองค์การ หมายถึง ชุดของค่านิยม ความเชื่อ และ ความเข้าใจที่บุคลากรขององค์การนั้นมีอยู่ร่วมกัน ซึ่ง Culture มาจาก “Cultura” แปลว่า เพาะปลูก เช่น เกษตรกร เพาะปลูกข้าว ส่วนนักมานุษยวิทยาจะเพาะปลูก 4 สิ่งด้วยกัน คือ ทัศนคติ (Attitude) ค่านิยม (Value) ความเชื่อ (Belief) และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่าง ๆ (Artifacts) หรือวัฒนธรรมทางกายภาพ

สรุป วัฒนธรรมองค์การ หมายถึง แนวทางการประพฤติปฏิบัติของบุคลากรในแต่ละองค์การที่ ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยแสดงออกมาในลักษณะของค่านิยม ความเชื่อ สัญลักษณ์ พิธีการ นิทาน และการเล่าเรื่อง เป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมองค์การสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมหรือ บุคลิกลักษณะเฉพาะขององค์การนั้น ๆ

ระดับของวัฒนธรรมองค์การ Schein ได้แบ่งระดับวัฒนธรรมองค์การออกเป็น 3 ระดับ คือ

1 วัฒนธรรมทางกายภาพ (Artifacts) เป็นระดับวัฒนธรรมองค์การที่บุคคลสามารถมองเห็น ได้ยินและรู้สึกได้ทันทีเมื่อเข้าไปในแต่ละองค์การ นอกจากนี้แล้วยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ และพฤติกรรมของ สมาชิก โดยวัฒนธรรมทางกายภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) ประเภทวัตถุ เช่น ศิลปะต่าง ๆ โลโก้ของหน่วยงาน รูปทรงหรือการออกแบบตึก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

2) ประเภทพฤติกรรม เช่น พิธีกรรมต่าง ๆ รูปแบบการติดต่อสื่อสาร ประเพณี การให้รางวัล หรือการลงโทษพนักงาน เป็นต้น

3) ประเภทภาษา เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับความยากลําบากในการก่อตั้งองค์การ เรื่องตลกในหน่วยงาน ชื่อจริงหรือชื่อเล่นที่ใช้เรียกในที่ทํางาน คําศัพท์เฉพาะที่ใช้กันในหน่วยงาน คําอธิบาย เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อุปมาอุปมัย หรือคําขวัญที่มักใช้กันในองค์การ เป็นต้น

2 ค่านิยม (Espoused Values) เป็นสิ่งที่บอกว่าสิ่งใดมีคุณค่าหรือสิ่งใดควรกระทํา ค่านิยม เป็นเป้าหมายและมาตรฐานของสังคมที่สมาชิกในองค์การควรเอาใจใส่ เช่น การทํางานให้มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบ และมีความโปร่งใส เป็นต้น . .

3 ฐานคติ (Basic Underlying Assumption) เป็นสิ่งที่สมาชิกในองค์การมีความเชื่อว่า สิ่งนั้นเป็นจริง เป็นวิธีที่ถูกต้องในการทําสิ่งนั้น (The right way to do things) เช่น มาตรฐานการทํางาน วิธีการ ทํางานที่คิดว่ามีประสิทธิภาพ เป็นต้น

 

Advertisement