การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 4321 การบริหารร่วมสมัย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาตอบทุกข้อ

ข้อ 1 การเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern) ทฤษฎีองค์การในยุคนี้มีจุดเน้นในเรื่องอะไรบ้าง พร้อมกับยกตัวอย่างนักคิดและอธิบายทฤษฎีองค์การยุคดังกล่าวมา 1 ทฤษฎี

แนวคําตอบ

จุดเน้นของทฤษฎีองค์การยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern)

ทฤษฎีองค์การยุคหลังสมัยใหม่เกิดขึ้นประมาณปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 เป็นทฤษฎีที่ให้ความสําคัญกับข้อมูลสารสนเทศ (Information) เนื่องจากมองว่าการบริหารองค์การในศตวรรษที่ 21 มีความซับซ้อนและคาดการณ์เรื่องต่าง ๆ ได้ยากมากขึ้น ดังนั้นข้อมูลสารสนเทศจึงมีความสําคัญต่อการบริหารองค์การ

ข้อมูลสารสนเทศถือเป็นเครื่องมือสําคัญของผู้บริหารที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจใน การดําเนินการเรื่องต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อหาจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์การ และใช้เป็น ข้อมูลในการวางแผนกลยุทธ์ขององค์การทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ ดังนั้นหากองค์การใดมีข้อมูลสารสนเทศ ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว จะทําให้การทํางานมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้ และทําให้องค์การนั้นได้เปรียบองค์การอื่น ๆ ในเชิงการแข่งขัน ดังนั้นรูปแบบขององค์การในยุคหลังสมัยใหม่จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีลักษณะ สําคัญ เช่น องค์การเป็นแบบเครือข่าย (Network) มีโครงสร้างองค์การแบบพึ่งพากัน (Interdependency) เน้นการทํางานเป็นทีม (Teamwork) แข่งขันกับเวลา (Time) และมีทรัพยากรการบริหารที่สําคัญ คือ ข้อมูล สารสนเทศ (Information)

นักคิดที่สําคัญในยุคหลังสมัยใหม่

นักคิดที่สําคัญในยุคหลังสมัยใหม่ ได้แก่ William Bergquist, Michael Hammer และ James Champy

Michael Hammer และ James Champy ได้เสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงองค์การ ในองค์การเอกชน (Business Reengineering) ไว้ในหนังสือชื่อ “Reengineering the Corporation” (1993)

“Reengineering” หรือ “การรื้อปรับระบบ” หมายถึง การพิจารณาหลักการพื้นฐาน ของธุรกิจ (Fundamental) และการคิดออกแบบกระบวนการ (Redesign) ขึ้นมาใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างสิ้นเชิง (Radical) เพื่อปรับกระบวนการธุรกิจใหม่ (Process) และเพื่อให้บรรลุถึงผลลัพธ์ คือ เป้าหมาย ขององค์การ โดยใช้ตัวชี้วัดจากผลการปฏิบัติงาน 4 ด้าน คือ ต้นทุน (Cost) คุณภาพ (Quality) การบริการ (Service) และความรวดเร็ว (Speed)

หลักการพื้นฐานในการซื้อปรับระบบ คือ การทบทวนการทํางานที่ทําอยู่ใหม่ทั้งหมด และ ออกแบบกระบวนการทํางานใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมแบบถอนรากถอนโคน เน้นกระบวนการเปลี่ยนแปลง โดยการนําคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ และนําเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปปฏิรูปการทํางาน รวมทั้งมีกําหนดตัวชี้วัด ผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์การเป็นแบบแบนราบ (Flat Organization) ปรับเปลี่ยนบทบาท ของผู้บังคับบัญชาจากการควบคุมสั่งการมาเป็นผู้ให้คําปรึกษาแนะนํา (Coaching & Counseling) เน้นการทํางานเป็นทีม มีค่านิยมเชิงรุก (Proactive) และให้ความสําคัญกับลูกค้าหรือผู้รับบริการ (Customer-Oriented) การให้บริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service) เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

การรื้อปรับระบบจึงเป็นการรื้อปรับระบบโครงสร้างของกระบวนการเดิมทั้งหมดอย่างถอนราก ถอนโคน แล้วออกแบบระบบขึ้นมาใหม่ขึ้นมาใช้แทน เมื่อทําการซื้อปรับระบบแล้วก็จะวัดผลโดยดูที่ผลกําไรของ องค์การ การลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ วัดความพึงพอใจของลูกค้า และจะมีการปรับปรุงวัดผลการทํางานอย่างต่อเนื่อง การสื่อปรับระบบจะมุ่งเน้นคุณภาพงาน และผลประโยชน์ให้กับลูกค้าที่มาติดต่อ โดยทําการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา และทําอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปในด้านรูปแบบและการมีส่วนร่วม

 

ข้อ 2 จงอธิบายความหมายของคําว่ากลยุทธ์ (Strategy) กับยุทธศาสตร์ สองคํานี้มีความแตกต่างกันหรือไม่แนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มีความเป็นมาอย่างไร นักคิดที่มีชื่อเสียงเป็นใคร และอธิบายเทคนิค ที่ใช้วิเคราะห์องค์การที่เรียกว่า “SWOT Analysis” พร้อมกับยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

ความหมายของกลยุทธ์และยุทธศาสตร์

คําว่า “กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์ ภาษาอังกฤษใช้คําว่า “Strategy” โดยมีรากศัพท์มาจาก คําว่า “Strategos” ในภาษากรีก ซึ่งเกิดจากศัพท์ 2 คํา คือ “Stratos” หมายถึง Army หรือ กองทัพ และ Agein หมายถึง Lead หรือ นําหน้า โดยเมื่อนําศัพท์ 2 คํานี้มารวมกันจะหมายถึง การนํากองทัพ หรือยุทธวิธีหลักในการรบ เพื่อเอาชนะศัตรู ดังนั้นคําว่ากลยุทธ์กับยุทธศาสตร์จึงเป็นคํา ๆ เดียวกันและมีความหมายเหมือนกัน

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่า กลยุทธ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ภายนอกขององค์การ เพื่อพิจารณาหาโอกาส (Opportunity) และภยันตราย (Threat) ตลอดจนการวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายในขององค์การเพื่อหาจุดอ่อน (Weakness) และจุดแข็ง (Strength)

ความเป็นมาของแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์

แนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ถูกนํามาใช้กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 โดยคําว่า กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ เป็นคําที่ใช้ในวงการทหารมาก่อน เช่น ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช หรือใน ตําราพิชัยสงครามของซุนวูมีคํากล่าวว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ต่อมาวงการธุรกิจได้หยิบยืม กลยุทธ์ทางทหารมาใช้ในการประกอบการทางธุรกิจ เช่น กลยุทธ์การขาย กลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้า กลยุทธ์การ ส่งมอบสินค้าให้ผู้บริโภคถึงที่บ้านแบบ Delivery ของร้านพิซซ่า เป็นต้น

 

 

 

ในวิชารัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจก็มีการกล่าวถึงกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์เช่นกัน แต่ใช้คําว่าการวางแผน (Planning) ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่สําคัญของผู้บริหาร เช่น Guick & Urwick ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POSDCORB”, Henri Fayol ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POCCC” และ Robbins ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POLC” โดยตัวอักษร P ตามแนวคิดของนักวิชาการทั้งสามท่านก็คือ การวางแผน (Planning) นั่นเอง

สําหรับประเทศไทยได้นําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินไทย เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น การนําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ มาประยุกต์ใช้ในการจัดทําแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2546 – 2550 การปรับเปลี่ยน ระบบงบประมาณมาเป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ การให้หน่วยงานภาครัฐ ทุกกระทรวงจัดทํายุทธศาสตร์ระดับกระทรวง ระดับกรม เป็นต้น

นักคิดที่มีชื่อเสียงด้านกลยุทธ์

นักคิดที่มีชื่อเสียงด้านกลยุทธ์มีหลายท่าน เช่น Michael E, Porter, Bracker, Chandler และ Ansoff

เทคนิค “SWOT Analysis”

SWOT Analysis เป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์องค์การเพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรคขององค์การ ซึ่งคําว่า SWOT ประกอบด้วย

1 S = Strengths คือ จุดแข็งขององค์การ เป็นการพิจารณาทรัพยากรภายในองค์การ หรือระบบย่อยขององค์การ เช่น อํานาจหน้าที่ เป้าประสงค์ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง บุคลากร ความรู้และข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี เป็นต้น ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง/จุดเด่นขององค์การ องค์การสามารถทําได้ดี มีความชํานาญ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง เป็นต้น

2 W = Weakness คือ จุดอ่อนขององค์การ เป็นการพิจารณาอํานาจหน้าที่ เป้าประสงค์ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง บุคลากร ความรู้และข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีภายในองค์การว่ามีจุดอ่อนอย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไข

3 O = Opportunities คือ โอกาสที่จะทําให้เกิดความได้เปรียบแก่องค์การ เป็นการ พิจารณาดูว่ามีปัจจัยภายนอกองค์การใดที่จะนํามาเป็นประโยชน์ในการดําเนินงานขององค์การได้บ้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น

1) สิ่งแวดล้อมของงาน ได้แก่ ลูกค้า คู่แข่ง ผู้ผลิต แรงงาน กฎระเบียบหรือหน่วยงานที่ควบคุม

2) สิ่งแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และต่างประเทศ

4 T = Threats คือ อุปสรรคหรือภยันตรายที่จะทําให้เกิดหายนะแก่องค์การ เป็นการ พิจารณาสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมของงานและสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่ทําให้เกิดภยันตรายหรือ หายนะต่อการดําเนินงานขององค์การ

ตัวอย่างของการใช้เทคนิค SWOT Analysis วิเคราะห์องค์การ เช่น

การใช้เทคนิค SWOT Analysis ในการวิเคราะห์กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อนําไปใช้กําหนด กลยุทธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร

 

จุดแข็งของกรุงเทพมหานคร

1 มีบุคลากรที่มีคุณภาพและมีความรู้ความสามารถ

2 มีงบประมาณจํานวนมาก

3 มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย

4 มีสํานักงานเขต 50 เขต แต่ละเขตมีบุคลากรและเครื่องมือพร้อมในการทํางาน

5 คณะผู้บริหารมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และได้รับการยอมรับจากประชาชนสูง

 

จุดอ่อนของกรุงเทพมหานคร

1 การบริหารราชการยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่ดําเนินภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

2 การบริหารราชการขาดความโปร่งใส เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

3 ระบบการตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

4 ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง ทําให้บางครั้งการดําเนินนโยบายต่าง ๆ ขาดความต่อเนื่อง

5 ขาดอํานาจต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาล ทําให้ไม่สามารถริเริ่มภารกิจใหม่ ๆ หรือขยายเขตอํานาจตามกฎหมายให้กว้างขวางมากขึ้นได้

 

โอกาสของกรุงเทพมหานคร

1 เป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจของประเทศ

2 เป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและต่อเนื่อง

3 เป็นสถานที่ตั้งของสถานที่สําคัญ ๆ เช่น กระทรวง กรมต่าง ๆ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงที่ทําการหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จํานวนมาก เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดอรุณราชวราราม วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น

4 มีระบบโครงข่ายการสื่อสารสมัยใหม่ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงเครือข่ายได้ถ้วนหน้า

5 ประชากรมีระดับการศึกษาสูงกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศ

 

อุปสรรคของกรุงเทพมหานคร

1 การอพยพของคนเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นจํานวนมากส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ความแออัด การขาดแคลนที่อยู่อาศัย การเกิดปัญหาอาชญากรรม เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดต่อต่าง ๆ

2 ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลต่อระดับรายได้ของประชากร การจ้างงาน และการลงทุนต่าง ๆ

3 การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนส่งผลให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา หลั่งไหลเข้ามาทํางานในกรุงเทพมหานครเป็นจํานวนมาก

4 การเมืองที่ขาดเสถียรภาพส่งผลให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการชุมนุมประท้วง หรือการก่อเหตุความรุนแรงต่าง ๆ อันเนื่องมาจากปัญหาการเมือง

5 การมีความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายหรือการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ

 

ข้อ 3 จากการที่ท่านได้ศึกษาเรื่องหลักการบริหารสมัยใหม่ เช่น หลักการ 5 Gs, หลักการ 4 VIPs, หลักธรรมาภิบาล, ทฤษฎี 7 S’s Model เป็นต้น อีกทั้งเทคนิคการบริหารสมัยใหม่ เช่น คิว.ซี. (Quality Control), 5 S., ไคเซ็น (Kaizen), การยกเครื่ององค์การ (Reengineering), การบริหาร คุณภาพทั้งองค์การ (Total Quality Management) และระบบซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma) เป็นต้น จงเลือกอธิบายมา 1 แนวคิด พร้อมกับอธิบายความเป็นมา แนวคิด/หลักการ ชื่อนักคิด (ถ้ามี) และแสดงความคิดเห็นว่าแนวคิดนั้นเหมาะสมกับการนํามาปรับใช้ในองค์การภาครัฐไทยหรือไม่ อย่างไร

แนวคําตอบ

หลักธรรมาภิบาล (Good Governance)

คําว่า Good Governance มีคําเรียกภาษาไทยหลายคํา เช่น ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่ดี ธรรมรัฐ ประชารัฐ บรรษัทภิบาล วิธีการปกครองที่ดี การกํากับดูแลกิจการที่ดี การบริหารกิจการบ้านเมืองและ สังคมที่ดี เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานจะใช้คําเรียกที่แตกต่างกันไป ดังนี้

– ราชบัณฑิตยสถาน ใช้คําว่า วิธีการปกครองที่ดี

– การไฟฟ้านครหลวง ใช้คําว่า การกํากับดูแลกิจการที่ดี

– ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีฯ ใช้คําว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

– ภาคเอกชน ใช้คําว่า บรรษัทภิบาลหรือการกํากับดูแลที่ดี ที่มาและหลักการของธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาลเป็นแนวคิดของธนาคารโลก (World Bank) ที่กําหนดเป็นเงื่อนไขในการให้กู้เงิน กับประเทศในซีกโลกใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและความไม่มีประสิทธิภาพ ในการบริหารของประเทศกําลังพัฒนา ด้วยเหตุนี้ธนาคารโลกและองค์การระหว่างประเทศ (UNDP) จึงได้กําหนด ลักษณะและองค์ประกอบของธรรมาภิบาลไว้ 7 ประการ คือ

1 การมีความชอบธรรมและความรับผิดชอบทางการเมือง (Political Legitimacy and Accountability)

2 ความมีอิสระในการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ (Freedom of · Association and Participation)

3 การมีระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมและน่าเชื่อถือ (A Fair and Reliable Judicial System)

4 การมีพันธะความรับผิดชอบและการถูกตรวจสอบของระบบราชการ (Bureaucratic Accountability)

5 การมีเสรีภาพในการแสดงออกและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสังคม (Freedom of Information and Expression)

6 ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการภาครัฐ (Effective and Efficient Public Sector Management)

7 การแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรประชาสังคม (Cooperation with Civil Society Organization) สําหรับประเทศไทย สํานักนายกรัฐมนตรีได้ออกระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้าง ระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีหลักการสําคัญ 6 ประการ คือ

 

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมาย กฎข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการ ปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของตัวบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุง กลไกการทํางานของทุกองค์การให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้อง ชัดเจนได้

4 หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดง ประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพใน ความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลยั่งยืน

จะเห็นได้ว่าหลักธรรมาภิบาลของ UNDP กับประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกันใน 5 ด้าน ส่วนหลักคุณธรรมของ UNDP ไม่ได้กล่าวถึงแต่สําหรับประเทศไทยได้ให้ความสําคัญในเรื่องนี้

หลักธรรมาภิบาลเหมาะสมกับการนํามาปรับใช้ในองค์การภาครัฐไทย เนื่องจาก

1 ช่วยส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความตระหนักถึงความสํานึกรับผิดชอบ ต่อประชาชนและองค์การมากขึ้น ซึ่งความสํานึกรับผิดชอบมีส่วนทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระมัดระวังการกระทําที่ มีผลต่อสาธารณะหรือประชาชนมากขึ้น และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็ต้องพร้อมที่จะรับผลของการกระทํานั้น โดยไม่หลบเลี่ยงหรือโยนความผิดให้บุคคลอื่น

2 ช่วยทําให้ระบบราชการเป็นระบบเปิด โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางมีส่วนร่วม ในการบริหารภาครัฐอย่างหลากหลายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ระบบการบริหารภาครัฐในอดีตมักเป็นระบบปิด ทําให้ประชาชนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารในการบริหารงานขององค์การภาครัฐมากนักและข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกเก็บ เป็นความลับหรือไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ แต่เมื่อมีการนําหลักธรรมาภิบาลมาใช้ทําให้มีกฎหมายเกี่ยวกับ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารขององค์การภาครัฐ และให้สิทธิแก่ประชาชนในการยื่นขอข้อมูลข่าวสารจากองค์การ ภาครัฐได้ นอกจากนี้ยังมีการกําหนดให้องค์การภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จําเป็นต่อสาธารณะผ่าน ช่องทางต่าง ๆ เช่น เอกสารหรือเว็บไซต์ของหน่วยงาน เป็นต้น และประชาชนยังมีช่องทางในการร้องเรียนหรือ เสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ขององค์การภาครัฐอีกด้วย

3 ช่วยส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐยึดกฎหมายเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าการใช้ดุลยพินิจหรือตามอําเภอจ โดยมีการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานในแต่ละภารกิจหรือแต่ละงาน ไว้ชัดเจน ทําให้การใช้กฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอาจลดลงได้

4 ช่วยให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักถึงความสําคัญของคุณธรรมและจริยธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะเป็นผู้ให้บริการประชาชนมิใช่เจ้านายของประชาชนหรือผู้ที่มีสถานภาพที่เหนือกว่า ประชาชน

5 ทําให้องค์การภาครัฐให้ความสําคัญกับประสิทธิภาพในการทํางานมากขึ้น โดยการ ปรับปรุงกระบวนการทํางานให้มีความรวดเร็ว และประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ

Advertisement