การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 4321 การบริหารร่วมสมัย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาตอบทุกข้อ ๆ ละ 33 คะแนน

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายของการเปลี่ยนแปลงในองค์การ (Organizational Change) แนวคิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การเป็นอย่างไร สภาวการณ์อะไรบ้างที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การและกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์การมีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง ยกตัวอย่างประกอบ (อ้างอิงนักคิด)

แนวคําตอบ

ความหมายของการเปลี่ยนแปลงในองค์การ (Organizational Change)

ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงองค์การ หมายถึง กระบวนการสร้างการ เปลี่ยนแปลงในองค์การโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาในองค์การ หรือพยายามปรับปรุงองค์การให้ก้าวหน้า โดยอาศัยการวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนและดําเนินการสร้างวัฒนธรรมองค์การที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการ เปลี่ยนแปลงองค์การจะใช้เทคนิคทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ สังคมวิทยา และการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสําคัญในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลง

ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงองค์การ หมายถึง การเปลี่ยนแปลง องค์การทั้งหมดหรือบางส่วนขององค์การ เช่น การออกแบบโครงสร้างองค์การใหม่ การติดตั้งระบบสารสนเทศใหม่ การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ การออกแบบงาน กระบวนการทํางาน เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมองค์การ เป็นต้น

แนวคิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การ

เนื่องจากสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ การติดต่อสื่อสาร ค่านิยมใหม่ ๆ เป็นต้น ทําให้องค์การต่าง ๆ ต้องมีการ เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกองค์การ โดยในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีมากมาย เช่น การปฏิรูประบบราชการ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์การ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การออกนอกระบบ การควบรวมกิจการ การนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในองค์การ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อ ปรับองค์การให้เข้ากับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะทําให้องค์การอยู่รอดและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

สภาวการณ์ที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การ

สภาวการณ์หรือปัจจัยที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ปัจจัยภายนอกองค์การ และปัจจัยภายในองค์การ ดังข้อเสนอของนักวิชาการต่อไปนี้

Patrick Dawson ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Understanding Organizational Change (2003) ว่า ประเภทของสิ่งกระตุ้นที่นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์การมีปัจจัยมาจาก 2 ปัจจัย คือ

1 ปัจจัยภายนอกองค์การ ประกอบด้วย 6 ปัจจัย คือ

1) กฎหมายและกฎระเบียบของรัฐบาล เช่น นโยบายระดับชาติ ข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับมลภาวะและสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีและการค้า

2) กระแสโลกาภิวัตน์ของการตลาดและการค้าระหว่างประเทศ เช่น แรงกดดันจากภาวะการแข่งขันทั้งจากตลาดภายในและต่างประเทศ

3) เหตุการณ์สําคัญทางการเมืองและสังคม เช่น การเกิดวินาศกรรมที่ประเทศ สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001

4) ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เช่น องค์การต่าง ๆ ได้นําเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการผลิตสินค้า

5) ความเจริญเติบโตและการขยายตัวขององค์การ เช่น องค์การมีขนาดใหญ่ขึ้นมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจําเป็นต้องพัฒนากลไกการประสานงานให้มีความเหมาะสม

6) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากความผันแปรของภาวะเศรษฐกิจ

2 ปัจจัยภายในองค์การ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ

1) เรื่องของเทคโนโลยี เช่น การประชุมผ่าน Video-Conferencing การนําคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานบัญชีและระบบสารสนเทศ

2) เรื่องเกี่ยวกับงานโดยตรง เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตหรือการบริการ

3) เรื่องเกี่ยวกับผู้รับบริการ เช่น ในการพัฒนาและการปฏิบัติในเรื่องทรัพยากรมนุษย์เกี่ยวกับการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมและการเพิ่มพูนทักษะที่หลากหลายการทํางานเป็นทีม

4) เรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงาน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างการทํางานและการกําหนดความสัมพันธ์ของอํานาจหน้าที่ในองค์การใหม่

Kinicki and Kreitner กล่าวไว้ในหนังสือ Organizational Behavior : Key Concepts, Skills & Best Practices (2008) ว่า ปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การต่าง ๆ มาจากปัจจัย 2 ประการ คือ

1 ปัจจัยภายนอกองค์การ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตและบริการ ซึ่งมี 4 ปัจจัยสําคัญ คือ

1) ลักษณะของประชากร เนื่องจากปัจเจกบุคคลมีลักษณะที่แตกต่างกัน องค์การ ต่าง ๆ จึงต้องมีระบบการจัดการที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากร รวมทั้ง ทําให้บุคลากรเกิดความผูกพันต่อองค์การ นอกจากนี้สิ่งท้าทายขององค์การ คือ จะต้องกระตุ้นให้บุคลากรได้ใช้ ศักยภาพที่เขามีให้เป็นประโยชน์ต่อองค์การมากที่สุด

2) ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี องค์การต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การภาครัฐหรือ องค์การภาคเอกชนล้วนแล้วแต่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงผลผลิตและการแข่งขันให้บริการกับลูกค้า

3) การเปลี่ยนแปลงลูกค้าและการตลาด เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ รวมทั้งการแข่งขันที่มีมากขึ้น จึงทําให้องค์การต่าง ๆ ต้องปรับกลยุทธ์ในการผลิตสินค้า และบริการให้มีคุณภาพ

4) แรงกดดันทางด้านสังคมและการเมือง เป็นปัจจัยที่มาจากเหตุการณ์ทางด้าน สังคมและการเมือง เช่น กรณีปัญหาการทุจริตด้านการเงินในบริษัทใหญ่ ๆ ส่งผลให้องค์การนั้นมีปัญหาจนต้อง ปิดกิจการ นอกจากนี้เหตุการณ์การเมือง เช่น การเกิดสงครามทําให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าและบริการ

2 ปัจจัยภายในองค์การ เช่น ความพึงพอใจในการทํางานต่ำ ผลผลิตตกต่ำ การเข้าออก จากงานสูง มีปัญหาความขัดแย้งมาก ซึ่งโดยทั่วไปปัจจัยภายในองค์การที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมักจะมาจาก ปัญหาทรัพยากรมนุษย์และพฤติกรรมทางการบริหาร

กระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์การ Kurt Lewin ได้เสนอกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์การไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้

1 การละลายพฤติกรรม (Unfreezing) เป็นการเตรียมการไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดย การเพิ่มแรงขับเคลื่อน สร้างแรงจูงใจให้พนักงานเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมใหม่ตามที่ฝ่ายบริหารต้องการ เป็น ความพยายามลดแรงต้านของพนักงานที่จะทํางานตามแบบเดิมไม่ยอมเปลี่ยนแปลง โดยการให้ข้อมูลแสดงให้เห็นถึง ปัญหาที่องค์การเผชิญอยู่และประโยชน์ที่องค์การจะได้รับในระยะยาวเพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความจําเป็น ขององค์การที่ต้องเปลี่ยนแปลง

2 การเปลี่ยนแปลง (Changing) ด้วยการออกแบบโครงสร้างองค์การใหม่ การให้ความ ช่วยเหลือผู้รับบริการในเรื่องต่าง ๆ การมอง การแสดงความรู้สึกและปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ การจัดระบบสารสนเทศใหม่ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

3 การสร้างพฤติกรรมใหม่ (Refreezing) คือ การช่วยให้บุคลากรรวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมและทัศนคติในการกระทําสิ่งต่าง ๆ การใช้วิธีการเสริมแรงในการสนับสนุนเพื่อให้การเปลี่ยนแปลง ดําเนินไปอย่างสม่ําเสมอหรือเป็นไปอย่างถาวร เช่น การให้รางวัล การให้คําชมเชย การสนับสนุนให้มีความก้าวหน้า ในหน้าที่การงาน การมอบหมายงานที่สําคัญให้ทํา เป็นต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายแนวคิดการประกันคุณภาพการศึกษา (Educational Quality Assurance) สาเหตุอะไรบ้างที่ทําให้สถาบันอุดมศึกษาต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษามาใช้ (อย่างน้อย 5 ประการ) การประกันคุณภาพการศึกษามีกระบบ อะไรบ้าง จงอธิบาย และการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหงมีระบบ อะไรบ้าง จงอธิบาย

แนวคําตอบ

แนวคิดการประกันคุณภาพการศึกษา

เนื่องจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ทําให้องค์การต่าง ๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและ พัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อทําให้องค์การอยู่รอดและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในส่วนของสถาบันการศึกษา ก็เช่นกัน ซึ่งสถาบันการศึกษามีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์/ทุนมนุษย์ จําเป็นต้อง เป็นผู้จัดการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพสูง ด้วยเหตุนี้สถาบันการศึกษาจึงต้องมี “การประกันคุณภาพการศึกษา” เพื่อให้สังคมมั่นใจว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณภาพสู่สังคมต่อไป

ดังนั้นสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติจึงได้ออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กําหนดให้สถานศึกษาทาระดับมีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและ มาตรฐานการศึกษาทุกระดับ โดยให้มี “ระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก”

รวมทั้งให้มี “สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)” ซึ่งมีฐานะเป็นองค์การมหาชน ทําหน้าที่พัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพภายนอกและทําการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการ ตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาโดยคํานึงถึงความมุ่งหมาย หลักการและแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ อีกทั้งให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปีนับตั้งแต่การประเมิน ครั้งสุดท้าย และรายงานผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

สาเหตุที่ทําให้สถาบันอุดมศึกษาต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษามาใช้

1 ความแตกต่างด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา

2 ความท้าทายของปัจจัยโลกาภิวัตน์ที่มีต่อการอุดมศึกษา ทําให้การศึกษาไร้พรมแดน

3 สถาบันอุดมศึกษามีความจําเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจแก่สังคมว่าสามารถพัฒนา องค์ความรู้และผลิตบัณฑิตตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล การพัฒนาภาคการผลิตจริงทั้งอุตสาหกรรมและบริการ การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ระดับท้องถิ่นและชุมชน

4 สถาบันอุดมศึกษาจะต้องให้ข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักศึกษา ผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง รัฐบาล และประชาชนทั่วไป

5 สังคมต้องการระบบอุดมศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม (Participation) มีความโปร่งใส (Transparency) และมีความรับผิดชอบสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ตามหลัก ธรรมาภิบาล

6 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กําหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน รวมถึงให้มีสํานักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษาทําหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอก โดยการประเมินผลการจัดการศึกษาของ สถานศึกษา

7 คณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศใช้มาตรฐานการอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นกลไกกํากับระดับมาตรฐานระดับกระทรวง ระดับคณะกรรมการการอุดมศึกษา และระดับ หน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานระดับอุดมศึกษาจะได้ใช้เป็นกรอบดําเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา

8 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาเมื่อวันที่  12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและกํากับให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตาม ประเภทหรือกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา 4 กลุ่ม

9 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา แห่งชาติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศแนวทางการปฏิบัติตาม กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เพื่อให้การจัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาและเพื่อการประกันคุณภาพของบัณฑิตในแต่ละระดับคุณวุฒิ เเละสาขาวิชา

ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กําหนด ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา 2 ระบบ คือ

1 ระบบการประกันคุณภาพภายใน เป็นการประเมินการดําเนินงานของสถานศึกษา โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้น ๆ และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร การศึกษาที่ต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทํารายงานประจําปี รายงานประเมินคุณภาพภายในเสนอ สภาสถาบัน หน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเผยแพร่ต่อสาธารณะ

2 ระบบการประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาโดย หน่วยงานภายนอก คือ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะทําการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกรอบ 5 ปี

ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคําแหงใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา 3 ระบบ คือ

1 ระบบ ISO 9001 : 2008 ใช้ในคณะ/สํานักที่เน้นงานด้านการบริการให้แก่นักศึกษา เช่น สํานักหอสมุดกลาง สํานักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล (สวป.) สํานักงานอธิการบดี สํานักเทคโนโลยี การศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2 ระบบ OA (Quality Assurance) ใช้ในคณะ/สํานัก/สาขาวิทยบริการฯ โดยอิงองค์ประกอบ ทั้ง 9 ข้อของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

3 ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ใช้ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคําแหง (มัธยมศึกษาและประถมศึกษา) โดยอิงมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษากําหนด

 

ข้อ 3 เทคนิคการบริหารสมัยใหม่ อาทิ QC., 5 S., การรื้อปรับระบบ (Reengineering), ระบบมาตรฐานคุณภาพสากล (ISO), ไคเซ็น (Kaizen) และระบบซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma) เป็นต้น จงเลือกตอบมา 1 เทคนิค หรือหลักการบริหารสมัยใหม่ อาทิ ทฤษฎี 7 S’s, หลักการ 5 G’s, หลักการ 4 VIPs และหลักธรรมาภิบาล เป็นต้น เลือกมา 1 หลักการพร้อมกับอธิบายความเป็นมา แนวคิด หลักการ ชื่อนักคิด (ถ้ามี) เทคนิคฯ นั้นเหมาะสมกับการนํามาใช้ในระบบราชการไทยหรือไม่ อย่างไร ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทําให้การนําเทคนิคฯ นั้นมาใช้ให้ประสบความสําเร็จ (อย่างน้อย 4 ประการ)

แนวคําตอบ

หลักธรรมาภิบาล (Good Governance)

คําว่า Good Governance มีคําเรียกภาษาไทยหลายคํา เช่น ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่ดี ธรรมรัฐ ประชารัฐ บรรษัทภิบาล วิธีการปกครองที่ดี การกํากับดูแลกิจการที่ดี การบริหารกิจการบ้านเมืองและ สังคมที่ดี เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานจะใช้คําเรียกที่แตกต่างกันไป ดังนี้

– ราชบัณฑิตยสถาน ใช้คําว่า วิธีการปกครองที่ดี

– การไฟฟ้านครหลวง ใช้คําว่า การกํากับดูแลกิจการที่ดี

– ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีฯ ใช้คําว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

– ภาคเอกชน ใช้คําว่า บรรษัทภิบาลหรือการกํากับดูแลที่ดี

ที่มาและลักษณะของธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาลเป็นแนวคิดของธนาคารโลก (World Bank) ที่กําหนดเป็นเงื่อนไขในการให้กู้เงิน กับประเทศในซีกโลกใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและความไม่มีประสิทธิภาพ ในการบริหารของประเทศกําลังพัฒนา ด้วยเหตุนี้ธนาคารโลกและองค์การระหว่างประเทศ (UNDP) จึงได้กําหนด ลักษณะและองค์ประกอบของธรรมาภิบาลไว้ 7 ประการ คือ

1 การมีความชอบธรรมและความรับผิดชอบทางการเมือง (Political Legitimacy and Accountab lity)

2 ความมีอิสระในการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ (Freedom of Association and Participation)

3 การมีระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมและน่าเชื่อถือ (A Fair and Reliable Judicial System)

4 การมีพันธะความรับผิดชอบและการถูกตรวจสอบของระบบราชการ (Bureaucratic Accountab lity)

5 การมีเสรีภาพในการแสดงออกและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสังคม (Freedom of  Information and Expression)

6 ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการภาครัฐ (Effective and Efficient Public Sector Management)

7 การแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรประชาสังคม (Cooperation with Civil Society Organization) สําหรับประเทศไทย สํานักนายกรัฐมนตรีได้ออกระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้าง ระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีหลักการสําคัญ 6 ประการ คือ

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมาย กฎข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการ ปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของตัวบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุง กลไกการทํางานของทุกองค์การให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้อง ชัดเจนได้

4 หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลยั่งยืน

หลักธรรมาภิบาลเหมาะสมกับการนํามาใช้ในระบบราชการไทย เนื่องจาก

1 ช่วยส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความตระหนักถึงความสํานึกรับผิดชอบ ต่อประชาชนและองค์กรมากขึ้น ซึ่งความสํานึกรับผิดชอบมีส่วนทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระมัดระวังการกระทําที่มีผล ต่อสาธารณะหรือประชาชนมากขึ้น และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็ต้องพร้อมที่จะรับผลของการกระทํานั้นโดย ไม่หลบเลี่ยงหรือโยนความผิดให้บุคคลอื่น

2 ช่วยทําให้ระบบราชการเป็นระบบเปิด โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางมีส่วนร่วม ในการบริหารภาครัฐอย่างหลากหลายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ระบบการบริหารภาครัฐในอดีตมักเป็นระบบปิด ทําให้ประชาชนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารในการบริหารงานของภาครัฐมากนักและข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกเก็บเป็นความลับหรือไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ แต่เมื่อมีการนําหลักธรรมาภิบาลมาใช้ทําให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ข่าวสารของภาครัฐ และให้สิทธิแก่ประชาชนในการยื่นขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐได้ นอกจากนี้ยังมี การกําหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จําเป็นต่อสาธารณะผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เอกสารหรือ เว็บไซต์ของหน่วยงาน เป็นต้น และประชาชนยังมีช่องทางในการร้องเรียนหรือเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ของรัฐอีกด้วย

3 ช่วยส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐยึดกฎหมายเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ มากกว่าการใช้ดุลยพินิจหรือตามอําเภอใจ โดยมีการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานในแต่ละภารกิจหรือแต่ละงานไว้ชัด ทําให้การใช้กฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอาจลดลงได้

4 ช่วยให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักถึงความสําคัญของคุณธรรม จริยธรรมใน การปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะเป็นผู้ให้บริการประชาชนมิใช่เจ้านายของประชาชนหรือผู้ที่มีสถานภาพที่เหนือกว่า ประชาชน

5 ทําให้ภาครัฐให้ความสําคัญกับประสิทธิภาพในการทํางานมากขึ้น โดยการปรับปรุง กระบวนการทํางานให้มีความรวดเร็ว และประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ

ปัจจัยที่จะทําให้การนําหลักธรรมาภิบาลมาใช้ประสบความสําเร็จ มีดังนี้

1 ผู้บริหารและบุคลากรภาครัฐจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลเป็นอย่างดี

2 ผู้บริหารจะต้องสนับสนุนให้มีการนําหลักธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ในองค์การ และต้องจูงใจให้บุคลากรภาครัฐปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเต็มใจและมีส่วนร่วม

3 บุคลากรภาครัฐจะต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล

4 ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทํางานของภาครัฐ รวมทั้งการเสนอความคิดเห็นหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารภาครัฐได้อย่างแท้จริง

5 โครงสร้างขององค์การจะต้องเอื้อต่อการนําหลักธรรมาภิบาลมาใช้ เช่น มีการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม มีการลดขั้นตอนการปฏิบัติงานลงมีการกระจายอํานาจการตัดสินใจ เป็นต้น

 

Advertisement