การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3313 การบริหารการพัฒนา

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทุกข้อ ๆ ละ 25 คะแนน

ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายถึงการบริหารรัฐกิจในฐานะที่เป็นฐานความรู้ทางการบริหารการพัฒนาตามหัวข้อ

ที่กําหนดพอสังเขป ดังนี้

1.1สภาพทางวิชาการของการบริหารรัฐกิจในปัจจุบัน

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข 7 หน้า 1 – 2)

สถานการณ์ของการบริหารรัฐกิจในปัจจุบัน

จากปฏิทินการบริหารรัฐกิจที่เสนอในหนังสือ Classic of Public Administration, 2005 จะพบว่า สถานภาพของการบริหารรัฐกิจได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ เริ่มจากปี ค.ศ. 1776 ประเทศ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศเอกราชจนกระทั่งก่อนปี ค.ศ. 1887 การบริหารรัฐกิจของอเมริกายังอยู่ในขั้นของการ วางรากฐานของกระบวนทัศน์เท่านั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 เป็นต้นมา การบริหารรัฐกิจของอเมริกาเริ่มปรับตัวเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแบบเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศในยุโรป การบริหารรัฐกิจ จึงค่อย ๆ แยกตัวออกจากรัฐศาสตร์หรือการเมือง สถานภาพของการบริหารรัฐกิจในช่วงนี้อยู่ระหว่างการสร้าง เอกลักษณ์กระบวนทัศน์ แนวคิดและทฤษฎีของตน ต่อมาได้มีการพบว่า ยิ่งการบริหารรัฐกิจแสวงหาความเป็น เอกลักษณ์ของตนเท่าใดก็ยิ่งถอยห่างออกจากความเป็นเอกลักษณ์เท่านั้น เพราะการบริหารรัฐกิจมีลักษณะ เป็นวิชาชีพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐศาสตร์

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 – 1968 การบริหารรัฐกิจได้พัฒนาวิชาชีพของตน เพื่อรับใช้ระบบราชการ ได้อย่างกว้างขวาง ขอบข่ายของการบริหารรัฐกิจได้พัฒนาและขยายตัวออกจากขอบข่ายดั้งเดิมที่เป็นการบริหารงาน บุคคล งานคลังและงานองค์การ โดยขยายเป็นการบริหารนโยบายการบริหารพัฒนา การบริหารงบประมาณ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารแรงงานสัมพันธ์ การบริหารงานองค์การปกครองท้องถิ่น การบริหารงาน ตุลาการ การบริหารรัฐสภา การบริหารงานรัฐบาล และการบริหารความมั่นคงสาธารณะ

และในปี ค.ศ. 1968 ได้เกิดคลื่นลูกใหม่ในวงวิชาการบริหารรัฐกิจ หรือเกิดปรากฏการณ์ที่ เรียกว่า การบริหารรัฐกิจแนวใหม่ (New Public Administration) โดยนักวิชาการในกลุ่มนี้ได้มุ่งเน้นความสนใจ ไปที่ความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากการเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา สถานภาพของการบริหารรัฐกิจก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการหลังนวยุค (Postmodern) ซึ่งคําว่า หลังนวยุคหรือหลังสมัยใหม่นี้ หมายความว่า ความจริงย่อมแตกต่างไปตามกาลเทศะ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีชุดความเป็นจริงของตนเอง ด้วยกันทั้งนั้น และไม่มีระบบความเชื่อชุดใดชุดหนึ่งที่สามารถอธิบายความจริงได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรา จะทําอะไรก็แล้วแต่เราต้องอาศัยความหลากหลายจากหลายฝ่าย การมีส่วนร่วม การเสริมพลังอํานาจ และการยอม ให้มีทางเลือกต่าง ๆ ในการพิจารณาความเชื่อต่าง ๆ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การผูกขาดวิธีคิด การใช้ระบบเหตุผล และการสร้างมาตรฐานสากล โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น ไม่สามารถเข้าถึงความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรยึดวัฒนธรรมใด วัฒนธรรมหนึ่งเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจทุกเรื่อง แต่ต้องทําความเข้าใจร่วมกันในวัฒนธรรมที่ต่างกัน รวมตลอดถึงไม่ควรมีการจัดรูปแบบความคิดหรือสร้างกฎเกณฑ์สากลมาครอบงํา แต่ควรจะยอมรับความแตกต่างและ ความขัดแย้งตามข้อเท็จจริง

แม้ว่าการบริหารรัฐกิจจะได้รับผลกระทบจากแนวคิดหลังนวยุค แต่สถานภาพของการบริหารรัฐกิจ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางหรือมุมมองของตนแต่อย่างใด ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาความรู้ทางการจัดการผลิตภาพและ คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้มีการดึงการจัดการ (Management) ให้เข้าสู่สถานภาพการจัดการภาครัฐ (Public Management) เพื่อเสริมสร้างหลักการบริหารพัฒนาของวิชาการบริหารรัฐกิจซึ่งเห็นเด่นชัดขึ้นนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา โดยเฉพาะที่โดดเด่นมากก็คือ ผลงาน Reinventing Government ของ Osborne และ Gaebler ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1992 และผลงาน Productivity and Quality Management ของ Holzer ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1995

1.2 การแปลงความรู้ทางการบริหารรัฐกิจให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจ

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข 7 หน้า 5 – 7)

การแปลงความรู้ทางการบริหารรัฐกิจให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจ

ความรู้ คือ สินทรัพย์ที่สําคัญขององค์การ ที่รัฐบาลจะต้องตระหนักถึงให้มากและสนใจที่จะ นําไปใช้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเครือข่ายการวิจัยทางการบริหารแล้วก็เท่ากับว่ารัฐบาล ได้ลงทุนทําวิจัย เมื่อลงทุนก็ต้องก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาฐานความรู้ทางการบริหารรัฐกิจ ที่ได้ลงทุนไปแล้วจะต้องมีวิธีการที่จะแปลงฐานความรู้ทางการบริหารรัฐกิจให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจให้ได้ โดยการประกาศให้หน่วยราชการระดับกระทรวง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงฐานความรู้ทางการบริหารรัฐกิจให้เป็น ฐานความรู้ทางเศรษฐกิจของกระทรวง โดยวิธีการดังนี้

1 การสร้างพฤติกรรมแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการบริหาร ฐานความรู้ทาง การบริหารที่กระทรวงได้รับ จะต้องสามารถกระจายไปทั้งกระทรวง ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้าราชการในกระทรวงให้มีความเต็มใจที่จะแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ทางการบริหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างสูงและกินเวลานานพอสมควรกว่าที่ กระทรวงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ที่สําคัญกว่านั้นก็คือว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะต้องทําอย่าง ต่อเนื่อง เพื่อให้พฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นค่านิยมของข้าราชการในกระทรวง ปัจจัยที่สําคัญต่อการอํานวยการ ในเรื่องนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ

1) ผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นแบบอย่างของการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการบริหาร

2) ต้องสร้างสภาพแวดล้อมของกระทรวงให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการบริหาร

โดยแก้ไขระเบียบ กฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นการแลกเปลี่ยนและเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนในรูปแบบต่าง ๆ

2 การสื่อสารภายในกระทรวง การสื่อสารถือเป็นหัวใจสําคัญที่ทําให้ข้าราชการทุกคน ในกระทรวง เข้าใจถึงสิ่งที่กําลังจะเกิดขึ้นว่า กระทรวงกําลังจะทําอะไร ทําไปเพื่ออะไร จะทําเมื่อไหร่และจะทําอย่างไร ถ้ากระทรวงสามารถสื่อสารความรู้ทางการบริหารให้ข้าราชการทุกคนรับทราบได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็จะเป็นก้าวแรก ที่ทําให้ข้าราชการสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง กระทรวงต้องมีการ วางแผนการสื่อสารอย่างเป็นระบบและทําการสื่อสารอย่างสม่ําเสมอและต่อเนื่อง ตราบใดที่กระทรวงต้องการให้ ฐานความรู้ทางการบริหารสามารถแปลงเป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจ

3 กระบวนการส่งผ่านความรู้ทางการบริหาร จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและ สะดวกยิ่งขึ้น ก็จะต้องเข้าใจในรูปแบบของการส่งผ่านความรู้ทางการบริหาร รูปแบบที่ว่านี้มี 2 ส่วน คือ

1) ความรู้ส่วนบุคคล (Tacit Knowledge) ความรู้ทางการบริหารที่อยู่ในตัว ข้าราชการจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ดีที่สุดก็โดยผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการระดับสูงกับระดับล่าง ด้วยการสัมมนาบ้าง สับเปลี่ยนงานบ้าง หรือการยืมตัวมาช่วยราชการบ้าง

2) ความรู้ขององค์การ (Explicit Knowledge) ความรู้ทางการบริหารขององค์การ ส่วนใหญ่ ได้มีการสรุปเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ คู่มือหรือข้อบังคับ ข้อควรปฏิบัติ ตารางข้อมูลและอื่น ๆ ซึ่งจัดเก็บอยู่ ในเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้าราชการสามารถเรียกมาศึกษาได้ กระทรวงจึงต้องจัดทํา Knowledge Portal ซึ่งเป็น อินทราเน็ตของกระทรวง เพื่อให้สามารถส่งผ่านความรู้ทางการบริหารได้อย่างรวดเร็วทุกคน

4 การฝึกอบรมและการเรียนรู้ กระทรวงจะต้องจัดให้มีการเรียนรู้ทั้งนอกรูปแบบโดย ผ่านทางอินทราเน็ตของกระทรวง และการเรียนรู้ในรูปแบบโดยผ่านทางการฝึกอบรมโดยเฉพาะกระทรวงต้องจัด ให้มีการฝึกอบรมการแปลงฐานความรู้ทางการบริหารให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจว่าจะทําได้อย่างไร การอบรมนี้ จะช่วยให้ข้าราชการมองเห็นสิ่งที่พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากการแปลงฐานความรู้ทางการบริหารให้เป็น ฐานความรู้ทางเศรษฐกิจ

5 การวัดผลฐานความรู้ทางการบริหาร การวัดผลถือเป็นสิ่งที่สําคัญมากที่จะช่วยบอก ถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการแปลงฐานความรู้ทางการบริหารให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะช่วย ให้กระทรวงสามารถทบทวนปรับปรุงข้อบกพร่องต่าง ๆ และเชิดชูส่วนที่ได้ผลสําเร็จแล้ว ทั้งนี้ผู้บริหารของกระทรวง ย่อมต้องการที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ของการแปลงฐานความรู้ทางการบริหารให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจ เพื่อการ ตัดสินใจในการลงทุนสําหรับการแปลงฐานเหล่านี้ให้เหมาะสมกับผลประโยชน์ที่ได้รับ อย่างไรก็ดี การวัดผลตอบแทน ที่ได้จากการแปลงฐานความรู้ทางการบริหารให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ละเอียดและซับซ้อนมาก เพราะการทําธุรกิจของกระทรวงส่วนใหญ่เป็นภาพรวมมากกว่าภาพย่อย จึงยากแก่การวัดผลตอบแทนของการบริหาร ในส่วนย่อยได้ แต่การวัดผลตอบแทนอย่างเป็นรูปธรรมก็ทําได้อย่างแน่นอนเพียงแต่ต้องใช้ผู้ชํานาญการเท่านั้น มิใช่คนในกระทรวงวัดผลกันเอง

6 การให้เกียรติยศและรางวัล การสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการแปลงฐานความรู้ทางการ บริหารเป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องกระทํา ตั้งแต่ช่วงแรกของการดําเนินการ เพื่อโน้มน้าวข้าราชการ ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางการบริหาร โดยเฉพาะแรงจูงใจที่เป็น “ประโยชน์” จะสามารถโน้มน้าวให้ข้าราชการในกระทรวงสนใจการแปลงฐานความรู้ โดยการแลกเปลี่ยนฐานความรู้ได้ถ้า ข้าราชการสามารถปฏิบัติได้ผลลัพธ์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนําสู่การประกาศเกียรติคุณและการให้รางวัลต่าง ๆ เมื่อชูภาษิต “ใครทําใครได้” จะทําให้ข้าราชการมีกําลังใจที่จะทําเพราะได้ผลตอบแทนที่เด่นชัด นอกจากนั้นควรที่จะบูรณาการ แรงจูงใจนี้เข้ากับระบบประเมินผลและการให้ค่าตอบแทน

การแปลงฐานความรู้ทางการบริหารรัฐกิจให้เป็นฐานความรู้ทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะพัฒนาระบบราชการให้เกิดรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน คือการที่ระบบราชการสามารถ เป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ไปสู่เป้าหมายอย่างทันสถานการณ์ ประหยัด และครอบคลุม รอบด้าน

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษาอธิบายถึงแนวคิดหลักของการสร้างเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกาตามหัวข้อที่กําหนดพอสังเขป ดังนี้

2.1 การนําองค์กรของผู้นําระดับสูง

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข 246 หน้า 4)

การนําองค์กร

เป็นวิธีการบริหารที่ผู้นําระดับสูงนํามาใช้อย่างเป็นทางการ และอย่างไม่เป็นทางการทั่วทั้งองค์กร ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานและวิธีการใช้ในการตัดสินใจเรื่องที่สําคัญ การสื่อสารและการนําไปปฏิบัติ รวมถึงโครงสร้าง และกลไกในการตัดสินใจ การเลือกสรรและการพัฒนาผู้นํา รวมทั้งกระแสโครงสร้างค่านิยม พฤติกรรมที่มีจริยธรรม ทิศทางและความคาดหวังด้านผลการดําเนินการ แนวคิดเกี่ยวกับการนําองค์กรนี้ มีลักษณะที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

1 ผู้นําระดับสูงขององค์กรสามารถกําหนดทิศทางและสร้างองค์กรที่มุ่งเน้นลูกค้า ค่านิยมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งกําหนดความคาดหวังขององค์กรให้มีความสมดุล

2 ผู้นําสามารถทําให้มั่นใจว่ามีการจัดทํากลยุทธ์และวิธีการต่าง ๆ ในเรื่องการกระตุ้นให้มีนวัตกรรมสําหรับความรู้และความสามารถ

3 ผู้นําควรสร้างแรงบันดาลใจ จูงใจและกระตุ้นให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการทําให้องค์กรประสบความสําเร็จ มีการพัฒนา มีการเรียนรู้ มีนวัตกรรม และมีความคิดสร้างสรรค์

4 ผู้นําควรมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการและผลการดําเนินการ

5 ผู้นําและผู้ตามปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยมุ่งเน้นพฤติกรรมที่มีจริยธรรมในการทํางาน

6 ผู้นําสามารถเสริมสร้างจริยธรรม ค่านิยม และความคาดหวังขององค์กรไปพร้อม ๆ กับการสร้างภาวะผู้นํา ความมุ่งมั่นและความคิดริเริ่มให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร

2.2 บรรทัดฐานของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข 246 หน้า 3)

บรรทัดฐานของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มี 7 ประการ ดังนี้

1 ภาวะความเป็นผู้นํา เป็นการศึกษาว่าผู้บริหารอาวุโสขององค์กรนําพาองค์กรไปใน ทิศทางใดและบริษัทได้กล่าวถึงภาระความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และความเป็นพลเมืองที่ดีไว้อย่างไรบ้าง

2 การวางแผนกลยุทธ์ เป็นการศึกษาทิศทางกลยุทธ์ที่บริษัทวางแผนไว้ และวิธีการหรือ แผนการดําเนินงานเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล

3 การให้ความสําคัญที่ลูกค้าและตลาด ศึกษาว่าบริษัทกําหนดวิธีดําเนินงานเพื่อ ตอบสนองต่อความต้องการ ความคาดหวังของลูกค้าและตลาดอย่างไร

4 การวิเคราะห์และเตรียมข้อมูล เป็นการศึกษาวิธีการจัดการการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนรายละเอียดเพื่อสนับสนุนส่งเสริมกระบวนการดําเนินงานที่สําคัญ ๆ ของบริษัทรวมถึงระบบการจัดการด้านการดําเนินงานของบริษัท

5 การให้ความสําคัญแก่ทรัพยากรมนุษย์ เป็นการศึกษาดูว่าบริษัทสามารถนํากําลังคน มาใช้พัฒนาศักยภาพของบริษัทได้อย่างเต็มกําลังความสามารถหรือไม่ และแรงงานที่มีได้รับการมอบหมายการ ดําเนินงานให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของบริษัทหรือไม่

6 การจัดการกระบวนการ เป็นการศึกษาแง่มุมการดําเนินงานต่าง ๆ เช่น การผลิต การส่งสินค้า กระบวนการสนับสนุนว่า ได้รับการออกแบบหรือการจัดการ และได้รับการปรับปรุงพัฒนาวิธีการ อย่างไร

7 ผลการดําเนินงานทางธุรกิจ เป็นการศึกษาผลการดําเนินงาน และการปรับปรุง บริษัทในแง่มุมดังนี้ ได้แก่ ความพึงพอใจของลูกค้า ผลการดําเนินงานด้านการเงิน การตลาด และทรัพยากรบุคคล ผลการดําเนินงานของบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบ (Supplier) และหุ้นส่วนธุรกิจ ผลการดําเนินงานในระดับปฏิบัติการ โดยเป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับวิธีการของคู่แข่ง

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development : A of D) และการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration : D of A) มาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 43287 หน้า 95, 101), (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 17 – 20, 31),

(คําบรรยาย) ความหมายของการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development : A of D) การบริหารเพื่อการพัฒนา คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายและโครงการพัฒนาขึ้น และต้องมีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาเพื่อให้การดําเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนา

การบริหารเพื่อการพัฒนา หมายถึง การนําเอาสมรรถนะหรือความสามารถที่มีอยู่ในระบบ การบริหารมาลงมือปฏิบัติตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมพัฒนาจริง ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในการเจริญเติบโต ทั้งทางการบริหาร การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมของประเทศ

ความหมายของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration : D of A)

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การปรับปรุงกลไกส่วนต่าง ๆ ของการบริหารงานเพื่อให้สามารถ ดําเนินการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วและประหยัด

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การเพิ่มพูนสมรรถนะของการบริหารที่จะรับมือโดยไม่หยุดยั้ง กับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางในการสร้างความก้าวหน้า ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม

การพัฒนาการบริหาร คือ การที่รัฐบาลเมื่อมีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาสามารถที่จะบริหารงาน ให้บรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนา

 

ข้อ 4 จงอธิบายมาพอสังเขป ดังนี้

4.1 องค์ประกอบของการพัฒนาการบริหาร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 43287 หน้า 101), (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 31, 51 – 58),

(คําบรรยาย) องค์ประกอบของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration)

ได้แก่การพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบขององค์กร ซึ่งครอบคลุมถึงโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรม โดยมีสาระสําคัญพอสรุปได้ ดังนี้

การพัฒนาโครงสร้างทางการบริหาร

โครงสร้างจะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อพฤติกรรมการทํางานของคนในองค์การ คือ เป็นทั้ง สาเหตุและผลลัพธ์ของความไม่มีประสิทธิภาพของการบริหาร ซึ่งการที่แต่ละองค์การมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน ทําให้พฤติกรรมของคนในองค์การ ตลอดจนสัมฤทธิผลแตกต่างกันด้วย กล่าวคือ โดยรูปแบบทั่วไปแล้วองค์การ ส่วนใหญ่จะจัดรูปแบบการบริหารแบบพีระมิด คือ ผู้ที่อยู่บนสุดมีจํานวนน้อยแต่จะมีอํานาจในการตัดสินใจมากที่สุด

สําหรับแนวคิดในการจัดองค์กรยุคใหม่ คือ การจัดในรูปแบบองค์การแนวราบเป็นแบบแมทริกซ์ หรือหากสามารถใช้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยอาจจะสามารถก้าวเข้าสู่ยุคการจัดองค์กรยุคข้อมูล ข่าวสารแบบ Internal Market เช่น การตั้งผู้ว่า CEO มิใช่เป็นการลดอํานาจหรือก้าวก่ายการทํางานของท้องถิ่น ผู้ว่าฯ จะเป็นแกนประสานการพัฒนาระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาโครงสร้างทางการบริหาร

1 การจัดโครงสร้างองค์การใหม่ให้มีความคล่องตัวต่อภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

2 การจัดโครงสร้างองค์การที่มีการประสานงานในแนวนอนหรือแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง

โดยอาศัยหลาย ๆ วิธีการ เช่น การประสานความคิดความเข้าใจให้ตรงกันระหว่าง

ผู้ปฏิบัติงานด้วยกันเอง เป็นต้น 3. การจัดโครงสร้างให้มีการกระจายงาน การกระจายภารกิจให้องค์กรระดับท้องถิ่นได้มี

ส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย

4 การกําหนดให้มีมาตรฐานของงาน เช่น การกําหนดปริมาณและคุณภาพของการผลิตและการบริการ

5 การกําหนดขอบข่ายของอํานาจหน้าที่ และการกําหนดความรับผิดชอบอย่างชัดเจน

6 กําหนดสายการบังคับบัญชาและระดับการบังคับบัญชาว่ามีบุคคลใดอยู่ในสายการบังคับบัญชาใด และในหน่วยงานหนึ่ง ๆ มีระดับการบังคับบัญชากี่ระดับ การพัฒนากระบวนการทางการบริหาร

องค์การแต่ละแห่งมักจะมีโครงสร้างที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ระบบการทํางานหรือ กระบวนการทํางานในองค์การจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งกระบวนการในการทํางานนี้จะมีตัวแปรหลายตัวแปร ได้แก่ กระบวนการทํางานของผู้บริหาร คือ การวางแผนงาน วิธีการสั่งงาน การจัดกําลังคน การจัดงบประมาณ การมอบหมายงาน การกํากับควบคุมงาน วิธีการประสานงาน การตัดสินใจ และการสื่อข้อความ นอกจากนั้น ในองค์การยังมีหน้าที่ที่ผู้ปฏิบัติงานในองค์การต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ในการบริหารงานด้านบุคคล หน้าที่การ

บริหารงานด้านการเงินการคลัง ฯลฯ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการทํางานของคนในองค์การ เช่น องค์การใดใช้บุคคลเป็นผู้กํากับดูแลตรวจสอบการทํางานมากกว่าที่จะใช้กฎหมายแต่เพียง อย่างเดียว การเบี่ยงเบนจากเป้าหมายใหญ่จะลดน้อยลง เป็นต้น

แนวทางการพัฒนากระบวนการทางการบริหาร

1 หากมีการวิเคราะห์เส้นทางเดินของงาน (Work Flow) แล้วพบว่ายังมีขั้นตอนที่ไม่จําเป็นก็ให้ลดขั้นตอนนั้นลง เช่น การลดขั้นตอนการให้บริการเป็นแบบ One Stop Service เป็นต้น

2 พยายามทําให้งานง่ายขึ้น (Work Simplification) ด้วยการกําหนดเป้าหมายของการทํางานให้ชัดเจน หรือในเรื่องอื่น ๆ เช่น การสื่อสารหากผู้ปฏิบัติมีช่องทางการสื่อสารหลายช่องทาง คือมีวิธีการที่จะติดต่อกับผู้สั่งการได้มากขึ้นก็จะช่วยให้การทํางานมีข้อบกพร่องน้อยลง

3 นอกจากการกระจายอํานาจที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทํางานแล้ว ก็จําเป็นต้องมีหลักการรวมอํานาจในการประเมินผลไว้ที่ส่วนกลางด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการประเมินผลกันเอง และเพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับทั้งในทางบวกและทางลบด้วยนั่นเอง

4 กําหนดตัวชี้วัดผลการทํางานให้เห็นชัดทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อเป็นมาตรฐานของการปฏิบัติงาน การพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในระบบบริหาร

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือกระบวนการทํางาน และต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่ซับซ้อนกว่าการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับ ตัวแปรหลายตัวที่อยู่ในระดับที่ต่างกัน (โดยเฉพาะตัวแปรเชิงจิตวิทยาสังคม) นับตั้งแต่ตัวแปรของปัจเจกชน เช่น ทัศนคติ การรับรู้ แรงจูงใจ ภูมิหลังของครอบครัว บุคลิกภาพส่วนตัว ตัวแปรกลุ่ม เช่น ผู้นําค่านิยมกลุ่ม ความขัดแย้ง การสื่อสารภายในกลุ่ม จนถึงตัวแปรขององค์การและสังคมภายนอกองค์การ เช่น ระบบการให้รางวัลและระบบ การลงโทษขององค์การ ความคาดหวังที่องค์การมีต่อบุคคล บรรยากาศการทํางาน ตลอดจนสถานการณ์ภายนอก ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนกําหนดพฤติกรรมการทํางานของมนุษย์แทบทั้งสิ้น ดังนั้นในการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลง ตัวแปรแต่ละตัวจึงต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ

แนวทางในการพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในระบบบริหาร

1 การเสริมความสามารถในการตัดสินใจให้กับผู้บริหาร ได้แก่ การจัดให้มีแหล่งข้อมูลแหล่งข่าวสารให้กับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารสามารถเรียกข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจได้ทันการณ์

2 การเสริมทักษะให้กับผู้บริหาร ได้แก่ การจัดให้มีการฝึกอบรมระดับผู้บริหาร โดยเน้นการอบรมความรู้ทั่ว ๆ ไป ไม่เน้นความรู้เฉพาะด้าน

3 การส่งเสริมการประสานงานให้กับผู้บริหาร โดยเน้นที่การประสานงานกับองค์การภายนอก

4 การกําหนดคุณลักษณะของผู้ทําหน้าที่เป็นตัวกลางการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) หรือผู้ที่ทําหน้าที่เป็นนักบริหารการพัฒนา ได้แก่

1) ต้องเป็นคนกระตือรือร้นและมองโลกในแง่ดี (Active and optimist)

2) ต้องเป็นนักการสื่อสารที่ดี พูดเข้าใจง่าย พร้อมที่จะรับฟังข่าวสารจากภายนอก

3) ต้องเป็นนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดี สามารถระดมความร่วมมือได้ จูงใจคนได้

4) ต้องมีบุคลิกภาพการเป็นผู้นํา

5) ต้องเป็นผู้ที่สนใจใฝ่หาข้อเท็จจริงและข่าวสารข้อมูล

6) ต้องเป็นนักประสานงานที่ดี

7) ควรเป็นผู้ที่มีค่านิยมหรือมีจิตมุ่งมั่นในการพัฒนา

 

4.2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสําเร็จในการปฏิรูปการบริหาร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 94), (เอกสารหมายเลข 47 หน้า 57)

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสําเร็จในการปฏิรูปการบริหาร มีดังนี้

1 ขอบข่ายของการปฏิรูป

2 เวลาที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะบรรลุ

3 ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ในการปฏิรูป

4 ความสอดคล้องของเป้าหมายย่อยในแผนการปฏิรูป

5 เครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงาน

6 ทรัพยากรที่ใช้ในการปฏิรูป

7 กิจกรรมนําเข้าที่เป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการปฏิรูป

8 ผลผลิตของกิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการปฏิรูป

9 การสร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิรูป

10 การทดลองหรือสาธิตข้อเสนอในแผนการปฏิรูป

4.3 ทฤษฎีการพัฒนาการบริหาร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 34 – 37), (เอกสารหมายเลข 74 หน้า 23 – 27)

ทฤษฎีการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration)

ระบบบริหารมีหน้าที่ที่สําคัญ คือ การนํากฎระเบียบของสังคมที่ได้บัญญัติไว้แล้วนั้นไป ดําเนินการให้เป็นจริงหรือเป็นรูปธรรม หรือการนํานโยบายไปปฏิบัติ การพัฒนาการบริหารในลักษณะเช่นนี้เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติตามนโยบายขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และองค์กรที่เกี่ยวข้องนํานโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์

นักวิชาการส่วนหนึ่งได้เสนอแนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารไว้เป็น 2 มิติ คือ มิติ ความสมดุลของการพัฒนา (Balanced Administration Growth) กับความไม่สมดุลของการพัฒนา (Unbalanced Administration Growth) และมิติการพัฒนาระบบบริหารแบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive) หรือแบบรวบยอด กับค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบสะสมที่ละน้อย (Incremental) ดังนั้นหากพิจารณาจากแนวทางทั้ง 2 มิติ อาจกล่าว ได้ว่าการพัฒนาการบริหารมี 4 แนวทาง ได้แก่

1 การพัฒนาระบบบริหารแบบสมดุลและเบ็ดเสร็จ (Balanced and Comprehensive) คือ การเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวกับการบริหารไปพร้อม ๆ กัน ระดมทรัพยากรจากทุกด้าน ปฏิรูป องค์ประกอบของระบบบริหารไปพร้อม ๆ กันภายในระยะเวลาอันสั้น และเป็นการวางแผนให้มีการเปลี่ยนแปลงจาก ส่วนราชการหรือหน่วยงานวางแผนกลาง เช่น จากสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ การวางแผนจากคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ เป็นต้น มิใช่การวางแผนจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

แนวความคิดนี้มีความเชื่อว่าไม่ควรที่จะให้ระบบราชการมีอํานาจมากเกินไป เพราะ จะทําให้ระบบอื่น ๆ เช่น ระบบนิติบัญญัติ ระบบตุลาการ พรรคการเมือง ระบบความเชื่อทางสังคม (ศาสนา) อ่อนแอ และถูกครอบงําได้โดยง่าย จึงควรมีการพัฒนาทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน

2 การพัฒนาระบบบริหารแบบสมดุลและค่อยเป็นค่อยไป (Balanced and Incremental) เป็นการพัฒนาระบบบริหารที่เน้นความเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ทุกกิจกรรมสามารถสนับสนุนซึ่งกันและ กันอย่างมีเหตุผล และลดแรงกดดันจากพลังต่อต้านเนื่องจากบางส่วนได้รับทรัพยากรในการพัฒนาแต่บางส่วน ไม่ได้รับ และต้องการรักษาสถานภาพเดิมไว้โดยไม่คํานึงถึงผลของการเปลี่ยนแปลง จึงใช้แนวทางการพัฒนาแบบ ให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ มีการพัฒนาในทุกส่วนพร้อม ๆ กันหรือในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ไม่ให้ส่วนใดเปลี่ยนแปลงไปมากจนส่วนอื่นตามไม่ทัน เช่น การพัฒนาระบบการบริหารในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มจาก การพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีอากรก่อน และตามมาด้วยการพัฒนาระบบการคลัง งบประมาณ การจัดตั้งหน่วยงาน ระดับกรม กระทรวง นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาสังคม เช่น การเลิกทาส และการพัฒนาด้านการทหาร การเกษตร และการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กันตลอดรัชสมัยของพระองค์

3 การพัฒนาระบบบริหารแบบไม่สมดุลและเบ็ดเสร็จรวบยอด (Unbalanced and Comprehensive) เป็นการพัฒนาโดยให้ความสําคัญกับองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของระบบบริหาร ตาม แนวคิดนี้ยอมให้มีความเหลื่อมล้ําในการพัฒนาระหว่างสาขาต่าง ๆ ของสังคม โดยเห็นว่าวิธีการพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่ง ก่อนมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะพัฒนาไปทุก ๆ ด้านพร้อมกัน โดยเฉพาะประเทศที่มีทรัพยากรจํากัด ขาดผู้นํา ที่มีความสามารถในการพัฒนา แนวทางนี้ยังนิยมการวางแผนจากส่วนกลางและเน้นให้มีการปฏิบัติตามแผนพัฒนา ระบบบริหารในวาระการดํารงตําแหน่งของผู้กําหนดนโยบาย เพราะเป็นยุทธวิธีที่จะสร้างคะแนนนิยมให้ฝ่ายตน เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งคราวต่อไป

แนวทางการพัฒนาระบบนี้ อยู่ภายใต้ความเชื่อที่ว่าองค์การราชการเป็นกลไกสําคัญที่สุด ของระบบการบริหาร เพราะว่าองค์การราชการจะเป็นกลไกที่จะเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาระบบอื่น ๆ ด้วยนั่นเอง

4 การพัฒนาระบบบริหารแบบไม่สมดุลและค่อยเป็นค่อยไป (Unbalanced and Incremental) เป็นการพัฒนาโดยให้ความสําคัญกับส่วนใดส่วนหนึ่งของการบริหารหรือการไม่เร่งรัดการเปลี่ยนแปลง ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสะสมทีละเล็กทีละน้อย เป็นการวางแผนระยะยาว เช่น การวางแผนพัฒนาประเทศไทยซึ่งเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 และแผนพัฒนาฉบับ ต่อ ๆ มาได้ละเลยเรื่องการพัฒนาระบบบริหาร เพิ่งจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการการวางแผนการกระจายอํานาจ สู่ท้องถิ่นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 นอกจากนั้นการแก้ไขปัญหาระบบราชการไทย เป็นการพิจารณาจากส่วนย่อยของระบบบริหารทั้งหมด และดําเนินการไปอย่างเชื่องช้า

Advertisement