การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3313 การบริหารการพัฒนา

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทุกข้อ ๆ ละ 25 คะแนน

ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายการพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมยกตัวอย่างโครงการพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มา 1 โครงการ

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 103 – 107), (คําบรรยาย)

เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคํานึงถึงความพอเพียง ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจน ใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทํา ทั้งนี้ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจําเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอ สมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน

ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนําวิชาการ ต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดําเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสํานึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และ ให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดําเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

เศรษฐกิจพอเพียงมีองค์ประกอบ 5 ส่วน ดังนี้

1 กรอบแนวคิด คือ เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดํารงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวะตั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนํามาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคง และความยั่งยืนของการพัฒนา

2 คุณลักษณะ คือ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนํามาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ใน ทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

3 คํานิยาม คือ ความพอเพียงที่ประกอบกันขึ้นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะต้อง ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้

1) ความพอประมาณ หมายถึง ความเหมาะสมของการดําเนินงาน ทั้งในแง่ของ ขนาดที่ไม่เล็กเกินไปหรือไม่ใหญ่จนเกินตัว แต่เป็นไปตามอัตภาพและสภาพแวดล้อม และในแง่ของจังหวะเวลาที่ ไม่เร็วเกินไปหรือไม่ช้าจนเกินไป แต่รู้จักทําเป็นขั้นตอน เพื่อให้การดําเนินงานมีความก้าวหน้า โดยไม่ทําให้ตัวเอง และผู้อื่นเดือดร้อน เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ เป็นต้น

2) ความมีเหตุผล หมายถึง การพิจารณาที่จะดําเนินงานใด ๆ ด้วยความถี่ถ้วน รอบคอบ ไม่ย่อท้อ ได้อคติ คํานึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้การดําเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ดีงาม เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์และความสุข โดยปราศจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดังนั้นความมีเหตุผล จึงเป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัย ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคํานึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทํานั้น ๆ อย่างรอบคอบ

3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การจัดองค์ประกอบของการดําเนินงานให้มี สภาพพร้อมรองรับต่อผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกได้เป็นอย่างดี การ เตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคํานึงถึงความเป็นไปได้ของ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4 เงื่อนไข คือ การตัดสินใจและการดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

1) เงื่อนไขความรู้ หมายถึง องค์ประกอบของการดําเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่าง ถูกต้อง ประกอบด้วยความรอบรู้ ความระลึกรู้ (สติ) และความรู้ชัด (ปัญญา)

2) เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง องค์ประกอบของการดําเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่าง ดีงาม ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน/ความเพียร และความรอบคอบระมัดระวัง

5 แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ จากการนําปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

เศรษฐกิจพอเพียง จําแนกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

1 เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่ 1 เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานที่เน้นความพอเพียง ในระดับบุคคลและครอบครัว คือ การที่สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ความต้องการในปัจจัย 4 ของตนเองและครอบครัวได้ มีการช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกลมเกลียวและมีความพอเพียงในการดําเนินชีวิตด้วยการประหยัด และการลด ค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็น จนสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ

2 เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่ 2 เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าที่เน้นความพอเพียง ในระดับกลุ่มหรือองค์การ คือ เมื่อบุคคลหรือครอบครัวมีความพอเพียงในระดับที่หนึ่งแล้ว ก็จะรวมพลังกันในรูป กลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดําเนินงานในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน

3 เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่ 3 เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าที่เน้นความพอเพียง ในระดับเครือข่าย คือ เมื่อกลุ่มหรือองค์การมีความพอเพียงในระดับที่สองแล้ว ก็จะร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อการสร้างเครือข่าย มีการติดต่อร่วมมือกับธนาคาร และบริษัทต่าง ๆ ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การตลาด การจําหน่าย และการบริหารจัดการ เพื่อขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านสวัสดิการ การศึกษาสังคมและศาสนา ให้สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

จะเห็นได้ว่าการจําแนกเศรษฐกิจพอเพียงใน 3 ระดับข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่เริ่มต้น จากหลักของพึ่งตนเอง โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาตนเองไม่ได้หรือต้องคอยอาศัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา (Dependent) เป็นการพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ (Independent) แล้วจึงค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นการแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มช่วยเหลือกันจนนําไปสู่การพึ่งพิงกัน (Inter-Dependent) สงเคราะห์เกื้อกูล ร่วมมือกัน และประสาน กับโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษาอธิบายความหมายของการบริหารการพัฒนาและลักษณะสําคัญของการบริหารการพัฒนาประเทศไทย ตามหัวข้อต่อไปนี้

2.1 การบริหารงานภาครัฐ

แนวคําตอบ : (คําบรรยาย)

การบริหารรัฐกิจ (Public Administration) คือ การบริหารงานในภาครัฐ

การบริหารรัฐกิจ เป็นการดําเนินงานของทางราชการ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่วางไว้ เป็นกิจกรรมทั้งหลายของฝ่ายบริหารที่จะทําให้นโยบายแห่งรัฐบรรลุผล โดยไม่รวมเอาการใช้อํานาจนิติบัญญัติและตุลาการเข้าไว้ด้วย

2.2 การบริหารเพื่อการพัฒนา

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 43287 หน้า 95), (คําบรรยาย)

ความหมายของการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development : A of D)

การบริหารเพื่อการพัฒนา คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายและโครงการพัฒนาขึ้น และต้อง มีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาเพื่อให้การดําเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนา

การบริหารเพื่อการพัฒนา หมายถึง การนําเอาสมรรถนะหรือความสามารถที่มีอยู่ในระบบ การบริหารมาลงมือปฏิบัติตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมพัฒนาจริง ๆ เพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโต ทั้งทางการบริหาร การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมของประเทศ

2.3 การพัฒนาการบริหาร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 43287 หน้า 101), (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 31), (คําบรรยาย)

ความหมายของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration : D of A)

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การปรับปรุงกลไกส่วนต่าง ๆ ของการบริหารงานเพื่อให้ สามารถดําเนินการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วและประหยัด

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การเพิ่มพูนสมรรถนะของการบริหารที่จะรับมือโดยไม่หยุดยั้ง กับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางในการสร้างความก้าวหน้า ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม

การพัฒนาการบริหาร คือ การที่รัฐบาลเมื่อมีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาสามารถที่จะบริหารงาน ให้บรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนา

 

2.4 การมีวัตถุประสงค์หรือมีจุดหมายปลายทางเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 43287 หน้า 95, 101), (คําบรรยาย)

การบริหารเพื่อการพัฒนาและการพัฒนาการบริหารมีความแตกต่างกัน คือ ในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น สิ่งที่สําคัญคือ การมีนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การมีนโยบายและโครงการพัฒนา ขึ้นมานั้น รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารจะต้องมีการจัดองค์การขึ้นมาเพื่อที่จะให้ดําเนินงานให้บรรลุผลสําเร็จตามเป้าหมาย ในการพัฒนา การจัดองค์การขึ้นเพื่อทําหน้าที่นี้จึงเป็นเรื่องของการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development : A of D) โดยมีวัตถุประสงค์หรือมีจุดหมายปลายทางเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ

เมื่อองค์การได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว เรื่องที่สําคัญก็คือความสามารถในการบริหารงานให้ สําเร็จตามเป้าเหมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับปัจจัยทางด้านคน เงิน วัสดุ และการจัดการ หรืออื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องของ การพัฒนาการบริหาร (Development of Administration : D of A)

 

ข้อ 3 จงอธิบายองค์ประกอบของ “การพัฒนาการบริหาร (Development of Administration)” ด้านโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรมมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 51 – 58)

องค์ประกอบของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration) มีดังนี้

การพัฒนาโครงสร้างทางการบริหาร โครงสร้างจะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อพฤติกรรม การทํางานของคนในองค์การ คือ เป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของความไม่มีประสิทธิภาพของการบริหาร ซึ่งการที่ แต่ละองค์การมีโครงสร้างที่แตกต่างกันทําให้พฤติกรรมของคนในองค์การ ตลอดจนสัมฤทธิผลแตกต่างกันด้วย กล่าวคือ โดยรูปแบบทั่วไปแล้วองค์การส่วนใหญ่จะจัดรูปแบบการบริหารแบบพีระมิด คือ ผู้ที่อยู่บนสุดมีจํานวนน้อย แต่จะมีอํานาจในการตัดสินใจมากที่สุด

สําหรับแนวคิดในการจัดองค์กรยุคใหม่ คือ การจัดในรูปแบบองค์การแนวราบเป็นแบบแมทริกซ์ หรือหากสามารถใช้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยอาจจะสามารถก้าวเข้าสู่ยุคการจัดองค์กรยุคข้อมูล ข่าวสารแบบ Internal Market เช่น การตั้งผู้ว่า CEO มิใช่เป็นการลดอํานาจหรือก้าวก่ายการทํางานของท้องถิ่น ผู้ว่าฯ จะเป็นแกนประสานการพัฒนาระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติอย่างมี ประสิทธิภาพ เป็นต้น

การพัฒนากระบวนการทางการบริหาร องค์การแต่ละแห่งมักจะมีโครงสร้างที่ไม่แตกต่างกัน มากนัก แต่ระบบการทํางานหรือกระบวนการทํางานในองค์การจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งกระบวนการในการทํางานนี้ จะมีตัวแปรหลายตัวแปร ได้แก่ กระบวนการทํางานของผู้บริหาร คือ การวางแผนงาน วิธีการสั่งงาน การจัดกําลังคน การจัดงบประมาณ การมอบหมายงาน การกํากับควบคุมงาน วิธีการประสานงาน การตัดสินใจ และการสื่อข้อความ นอกจากนั้นในองค์การยังมีหน้าที่ที่ผู้ปฏิบัติงานในองค์การต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ในการบริหารงานด้านบุคคล หน้าที่ การบริหารงานด้านการเงินการคลัง ฯลฯ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการทํางาน ของคนในองค์การ เช่น องค์การใดใช้บุคคลเป็นผู้กํากับดูแลตรวจสอบการทํางานมากกว่าที่จะใช้กฎหมายแต่เพียง อย่างเดียว การเบี่ยงเบนจากเป้าหมายใหญ่จะลดน้อยลง เป็นต้น

การพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในระบบบริหาร การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือกระบวนการทํางาน และต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่ซับซ้อน กว่าการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลายตัวที่อยู่ในระดับที่ต่างกัน โดยเฉพาะตัวแปรเชิง จิตวิทยาสังคม) นับตั้งแต่ตัวแปรของปัจเจกชน เช่น ทัศนคติ การรับรู้ แรงจูงใจ ภูมิหลังของครอบครัว บุคลิกภาพ ส่วนตัว ตัวแปรกลุ่ม เช่น ผู้นําค่านิยมกลุ่ม ความขัดแย้ง การสื่อสารภายในกลุ่ม จนถึงตัวแปรขององค์การและ สังคมภายนอกองค์การ เช่น ระบบการให้รางวัลและระบบการลงโทษขององค์การ ความคาดหวังที่องค์การมีต่อบุคคล บรรยากาศการทํางาน ตลอดจนสถานการณ์ภายนอก ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนกําหนดพฤติกรรมการทํางานของมนุษย์ แทบทั้งสิ้น ดังนั้นในการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงตัวแปรแต่ละตัวจึงต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการเปลี่ยนแปลง ในด้านอื่น ๆ

 

ข้อ 4 จงอธิบายทฤษฎีการพัฒนาการบริหาร และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสําเร็จในการพัฒนาการบริหาร 10 ประการมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 31, 34 – 37, 51 – 58, 94 – 99),

(เอกสารหมายเลข 47 หน้า 57 – 63), (คําบรรยาย) ทฤษฎีการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration)

ระบบบริหารมีหน้าที่ที่สําคัญ คือ การนํากฎระเบียบของสังคมที่ได้บัญญัติไว้แล้วนั้นไป ดําเนินการให้เป็นจริงหรือเป็นรูปธรรม หรือการนํานโยบายไปปฏิบัติ การพัฒนาการบริหารในลักษณะเช่นนี้เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติตามนโยบายขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และองค์กรที่เกี่ยวข้องนํานโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์

นักวิชาการส่วนหนึ่งได้เสนอแนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารไว้เป็น 2 มิติ คือ มิติ ความสมดุลของการพัฒนา (Balanced Administration Growth) กับความไม่สมดุลของการพัฒนา (Unbalanced Administration Growth) และมิติการพัฒนาระบบบริหารแบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive) หรือแบบรวบยอด กับค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบสะสมทีละน้อย (Incremental) ดังนั้นหากพิจารณาจากแนวทางทั้ง 2 มิติ อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาการบริหารมี 4 แนวทาง ได้แก่

1 การพัฒนาระบบบริหารแบบสมดุลและเบ็ดเสร็จ (Balanced and Comprehensive) คือ การเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวกับการบริหารไปพร้อม ๆ กัน ระดมทรัพยากรจากทุกด้าน ปฏิรูป องค์ประกอบของระบบบริหารไปพร้อม ๆ กันภายในระยะเวลาอันสั้น และเป็นการวางแผนให้มีการเปลี่ยนแปลงจาก ส่วนราชการหรือหน่วยงานวางแผนกลาง

2 การพัฒนาระบบบริหารแบบสมดุลและค่อยเป็นค่อยไป (Balanced and Incremental) เป็นการพัฒนาระบบบริหารที่เน้นความเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ทุกกิจกรรมสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน อย่างมีเหตุผล และลดแรงกดดันจากพลังต่อต้านเนื่องจากบางส่วนได้รับทรัพยากรในการพัฒนาแต่บางส่วนไม่ได้รับ และต้องการรักษาสถานภาพเดิมไว้โดยไม่คํานึงถึงผลของการเปลี่ยนแปลง จึงใช้แนวทางการพัฒนาแบบให้มีการ เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ มีการพัฒนาในทุกส่วนพร้อม ๆ กันหรือในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ไม่ให้ส่วนใด เปลี่ยนแปลงไปมากจนส่วนอื่นตามไม่ทัน

3 การพัฒนาระบบบริหารแบบไม่สมดุลและเบ็ดเสร็จรวบยอด (Unbalanced and Comprehensive) เป็นการพัฒนาที่มีแนวคิดว่า ระบบราชการเป็นกลไกที่สําคัญที่สุดของการพัฒนา โดยจะให้ ความสําคัญกับองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของระบบบริหารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น รวมทั้ง เป็นการวางแผนหรือกําหนดนโยบายจากส่วนกลาง ซึ่งปกติมักเป็นนโยบายเกี่ยวกับการทุ่มงบประมาณหรือการ ให้เงินจํานวนมากไปพัฒนา

4 การพัฒนาระบบบริหารแบบไม่สมดุลและค่อยเป็นค่อยไป (Unbalanced and Incremental) เป็นการพัฒนาโดยให้ความสําคัญกับส่วนใดส่วนหนึ่งของการบริหารหรือการไม่เร่งรัดการเปลี่ยนแปลง ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสะสมทีละเล็กทีละน้อย เป็นการวางแผนระยะยาว

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสําเร็จในการพัฒนาการบริหาร

จากการศึกษาของวรเดช จันทรศร พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสําเร็จของการปฏิรูป การบริหาร หรือปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับและได้รับการนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลนั้น มีอย่างน้อย 10 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1 ขอบข่ายของการปฏิรูป ยิ่งขอบข่ายของการปฏิรูปมีความกว้างเพียงใด โอกาสที่ แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็ยิ่งจะมีน้อยลง ขณะเดียวกันโอกาสที่จะได้รับการนําไปปฏิบัติให้บรรลุ เป้าหมายก็มีน้อยลงด้วย เพราะขอบข่ายการปฏิรูปที่กว้างขวางจําเป็นต้องได้รับการยอมรับหรือได้รับการสนับสนุน ทางการเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นไปได้ยากในประเทศที่กําลังพัฒนา เว้นแต่ในกรณีที่ผู้นําใช้ อํานาจอย่างเบ็ดเสร็จ โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับและนําไปปฏิบัติก็จะมีมากขึ้นด้วย เช่น การปฏิรูป ระบบราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศนโยบายการปฏิรูประบบราชการเป็นนโยบายหนึ่ง ภายใต้นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินด้วย เป็นต้น

2 เวลาที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะบรรลุผล ยิ่งแผนการปฏิรูปมุ่งจะให้การเปลี่ยนแปลง บรรลุผลรวดเร็วเพียงใด โอกาสที่แผนหรือข้อเสนอนั้นจะได้รับการยอมรับก็จะมีน้อยลง (ยกเว้นในกรณีวิกฤติ) ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเท่าใดก็จะทําให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น เพราะเวลาที่จะสร้างความเข้าใจให้กับ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะน้อยลงด้วย ทําให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงหรือสูญเสียผลประโยชน์ จึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว เช่น กรณีการต่อต้าน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดในการนํา กฎหมายฉบับนี้มาใช้จึงขาดการสร้างความเข้าใจกับประชาชน หรือกรณีการนําวิธีตัดแต้มใบขับขี่มาใช้จัดระเบียบ การจราจรของตํารวจ ต้องเร่งการประชาสัมพันธ์ และการแก้ปัญหาของอุปกรณ์ที่ใช้ในการดําเนินการ –

แต่ถ้าแผนการปฏิรูปมุ่งจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบช้า เนิ่นนานมากขึ้น โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่ขณะเดียวกันโอกาสที่จะนําแผนการปฏิรูปไป ปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายก็จะมีน้อยลง เพราะเวลาที่เนิ่นนานออกไปจะทําให้ได้รับการมองจากฝ่ายปฏิบัติว่ามี ความสําคัญน้อยไม่เร่งด่วน เว้นเสียแต่ว่ามีผู้นําที่ตั้งใจจริง และสนับสนุนแผนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องก็จะทําให้ โอกาสที่แผนจะบรรลุผลมีมากขึ้นด้วย

3 ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ของการปฏิรูป การขาดความชัดเจนในวัตถุประสงค์ ของแผน ทําให้เกิดความยากลําบากในการปฏิบัติ ยากต่อการควบคุมตรวจสอบและประเมินความก้าวหน้าของแผน เช่น กรณีของแผนการบริหารเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เริ่มแผนการปฏิรูป ระบบบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ได้ระบุเป้าหมายไว้กว้าง ๆ ไม่ชัดเจน และที่มาของ นโยบายแผนงาน และโครงการที่ติดตามอีกหลายเรื่อง เช่น นโยบายการจัดตั้งองค์กรการบริหารเหนือระดับจังหวัด

คือ ศูนย์อํานวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพราะเหตุที่เป้าหมายในการปฏิรูปไม่ชัดเจนจึง ทําให้ไม่ได้รับการต่อต้าน แต่มีผลทําให้การปฏิบัติยากต่อการบรรลุเป้าหมาย เนื่องจากขาดการกําหนดตัวชี้วัด ความมีสัมฤทธิผลของแผนที่มีความชัดเจนด้วย

4 ความสอดคล้องของเป้าหมายย่อยในแผนการปฏิรูป ถ้าหากเป้าหมายย่อยในแผนการ ปฏิรูปมีความสอดคล้องหรือมุ่งไปสู่เป้าหมายหลักแล้ว โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็จะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันโอกาสที่แผนการปฏิรูปจะถูกนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลก็มีสูงขึ้นด้วย แต่ถ้าหากวัตถุประสงค์ย่อยใน แผนการปฏิรูปไม่มีความสอดคล้องหรือมุ่งไปสู่เป้าหมายหลักแล้ว โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับ และนําไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายก็จะลดลงด้วย เช่น แผนการปฏิรูประบบบริหารของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกิจกรรมย่อยมากมาย แต่ละกิจกรรมนั้นต่างก็มีวัตถุประสงค์ของตนเอง ซึ่งมีทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายหลัก และมีทั้งที่ห่างไกลจากเป้าหมายหลัก ฉะนั้นจึงยากต่อการนําไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตามแผน

5 เครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงาน หมายถึง การนําเครื่องใช้ หรือวิธีการใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในองค์การ เช่น การนําคอมพิวเตอร์มาใช้ หรือการพัฒนาองค์การให้เข้าใจในระบบ สารสนเทศ แต่เครื่องมือที่ซับซ้อนยากแก่ความเข้าใจทําให้การยอมรับน้อยลง และโอกาสที่จะได้รับการนํานโยบาย ไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายยิ่งน้อยลงด้วย และยิ่งเป็นวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมและพฤติกรรมดั้งเดิมของ ผู้ปฏิบัติงานก็ยิ่งไม่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น แผนการปฏิรูประบบการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัย ด้วย การเสนอให้มีการประเมินความรู้ความสามารถของอาจารย์เป็นช่วงเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี วิธีการเช่นนี้ขัดแย้งกับ พฤติกรรมของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน จึงไม่ได้รับการยอมรับและความพยายามของผู้บริหารระดับสูง ที่จะผลักดันนโยบายนี้ก็ยากที่จะสําเร็จลงได้

6 ทรัพยากรที่ใช้ในการปฏิรูป หากต้องใช้ทรัพยากรมากเท่าใด โอกาสที่แผนการปฏิรูป จะได้รับการยอมรับและนําไปปฏิบัติก็จะน้อยลงด้วย เพราะการที่ต้องแย่งชิงทรัพยากรระหว่างหน่วยงานอื่น ๆ จึง อาจเกิดการต่อต้านได้ แต่ถ้าหากรัฐบาลมีทรัพยากรมากเพียงพอไม่ต้องแย่งชิงกัน โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับ การยอมรับและนําไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย เช่น กรณีในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทําการ ปฏิรูปการคลังเป็นจุดเริ่มต้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับแผ่นดินจึงมีทรัพยากรที่มากเพียงพอที่จะนําไปใช้ในการวางแผน ปฏิรูประบบบริหารในส่วนอื่น ๆ ได้ เป็นต้น

7 กิจกรรมนําเข้าที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามและประเมินผลการปฏิรูป แผนการปฏิรูปที่มีกิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามประเมินผลมากเพียงใด โอกาสที่แผนนั้นจะได้รับ การยอมรับและถูกนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลก็จะมีมากขึ้น กิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม เช่น จํานวน หลักสูตรฝึกอบรมที่จัดให้ข้าราชการ จํานวนบุคคลที่ถูกสับเปลี่ยนตําแหน่ง จํานวนบุคคลที่ถูกคัดเลือกเข้ามา ทํางานใหม่ จํานวนเงินที่ใช้ จํานวนวัสดุอุปกรณ์ที่จัดซื้อใหม่ จํานวนกฎระเบียบที่ถูกยกเลิก

กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติตามแผนการปฏิรูปสามารถควบคุม และตรวจสอบความก้าวหน้าของแผนการปฏิรูปได้ และยิ่งมีกิจกรรมนําเข้าที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง มากเท่าใด โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงก็มีมากเท่านั้น เช่น ในองค์กรทหาร บุคคลที่เข้ารับราชการทหารจะต้องผ่าน การฝึกอบรมตั้งแต่ปีแรก และเป็นช่วง ๆ ตามหลักสูตรต่าง ๆ จนใกล้เกษียณอายุ หรือหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกัน ราชอาณาจักร เป็นต้น

8 ผลผลิตของกิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามและประเมินผลการ ปฏิรูป การพิจารณาแต่กิจกรรมการนําเข้าเพื่อวัดความสําเร็จของแผนนั้นอาจทําให้ผู้ปฏิบัติละเลยความสําเร็จ ตามวัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูป ฉะนั้นจําเป็นจะต้องกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของผลลัพธ์การดําเนินการ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และควรเป็นตัวชี้วัดที่หลากหลาย เช่น จํานวนคนมารับบริการ เวลาเฉลี่ยที่ประชาชน ต้องใช้ในการติดต่อราชการแต่ละเรื่อง ความพอใจของประชาชนผู้รับบริการ

ตัวชี้วัดผลผลิต Output ของแผนการปฏิรูปนี้เป็นเรื่องที่กําหนดยาก อาจถูกโต้แย้ง ได้ง่าย ฉะนั้นโอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็จะน้อยลง เพราะวัดสัมฤทธิผลยาก แต่หากได้รับการ ยอมรับแล้วโอกาสที่แผนจะถูกนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลก็จะสูงขึ้น การกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของแผนการปฏิรูป ในเชิงปริมาณเช่นนี้ เป็นปัจจัยสําคัญที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความเข้าใจในการนํานโยบายไปปฏิบัติ เช่น แผนการ ปฏิรูปการทํางานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.)

9 การสร้างการมีส่วนร่วม ในแผนการปฏิรูปจําเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในขั้นตอนการยอมรับแผนและในขั้นตอนของการนําไปปฏิบัติ การเปิดโอกาสให้ช่วยกันคิดกันทํา จะทําให้โอกาสที่แผนจะได้รับการยอมรับสูงขึ้น และการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันจะทําให้การนําแผนการปฏิรูป ไปปฏิบัติมีโอกาสบังเกิดผลสําเร็จสูงขึ้นด้วย เช่น กรณีตํารวจตระเวนชายแดนระดมสรรพกําลังหยุดยั้งยาเสพติด เป็นต้น

10 การทดลองหรือสาธิตข้อเสนอในแผนการปฏิรูป ยิ่งแผนการปฏิรูปได้มีโอกาสถูกทดลอง หรือสาธิตมากเพียงใด โอกาสที่แผนจะได้รับการยอมรับก็จะมีสูงขึ้น และโอกาสที่จะได้มีการนําไปปฏิบัติให้ บังเกิดผลก็จะมีสูงขึ้นด้วย เพราะการทดลองจะช่วยให้ทราบถึงผลกระทบของแผน ลดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทั้งในกระบวนการยอมรับและในกระบวนการของการนําไปปฏิบัติให้น้อยลงได้ เช่น กรณีการทดลองใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน กรณีการทดลองจัดตั้งสถานีตํารวจนครบาลจนขยายผลและนํามาใช้เต็มรูปแบบในปัจจุบัน

Advertisement