การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยมีทั้งหมด 2 ข้อๆ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายของแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐและอํานาจต่อไปนี้

1.1ลัทธิชินโต

แนวคําตอบ

สัทธิชินโต เชื่อว่าจักรพรรดิ (มิกาโดหรือเทนโน) เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากสุริยเทพหรือ พระอาทิตย์โดยไม่ขาดสาย พระจักรพรรดิเป็นผู้ที่ทรงอวตารมาจากพระอาทิตย์ พระราชอํานาจของพระจักรพรรดิ เป็นพระราชอํานาจที่ได้รับมอบหมายมาจากพระอาทิตย์ ชาวญี่ปุ่นถือว่าพระจักรพรรดิเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ และถือว่าคนญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด คือเป็นลูกพระอาทิตย์ ซึ่งความเคารพพระจักรพรรดิ ดังกล่าวเรียกว่า “ลัทธิมิกาโด” (Mikadoism)

ความที่ว่าพระจักรพรรดิมาจากสุริยเทพนี้เอง ทําให้การเมืองกับศาสนาแยกจากกันไม่ออก ดังนั้นระบบการปกครองของญี่ปุ่นจึงเป็นระบบที่เรียกว่า “ไซเซอิ-อิทชิ” ซึ่งแปลว่า “การรวมกันแห่งศาสนา และการปกครอง” โดยมีพระจักรพรรดิหรือเทนโนเป็นศูนย์รวม เป็นสัญลักษณ์ของชาติและความสามัคคีของ ประชาชน

 

1.2 รัฐอิสลาม

แนวคําตอบ

รัฐอิสลาม เป็นรัฐในอุดมคติ ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดําเนินงานด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอิสลาม ใช้รูปแบบการปกครองของอิสลาม และสร้างวิถีชีวิตของคนในรัฐ ให้ศรัทธาในความเป็นเอกภาพของพระอัลเลาะห์ ซึ่งรัฐที่พอจะอนุโลมได้ว่าเป็นรัฐอิสลาม คือ รัฐภายใต้การปกครอง สมัยพระนบีมุฮัมหมัดและคอลีฟะฮ์ทั้งสี่ ได้แก่ อาบูบัคร์ อมาร์ อุธมาน และอาลี

 

1.3 ลัทธิป้าเจ่ง

แนวคําตอบ

ลัทธิป้าเจ่ง (การปกครองแบบเดชานุภาพ) คือ การใช้อิทธิพลทางทหารและกําลังในการปกครอง ซึ่งการปกครองแบบนี้จะทําให้เกิดการเสียเลือดเนื้ออันเนื่องมาจากการรบพุ่งแย่งชิงอํานาจ

 

1.4 ลัทธิเซียวคัง

แนวคําตอบ

ลัทธิเซียวคัง เป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน โดยเสนอว่าถ้ายังไม่สามารถสร้างรัฐบาลโลกได้ ก็ให้มีรัฐบาลของแต่ละชาติ แต่ละประเทศ แต่ละรัฐไปพลาง ๆ ก่อน จุดสําคัญก็คือกษัตริย์หรือ เจ้าผู้ครองนครต้องทําหน้าที่ดุจพ่อเมืองอย่างแท้จริง และปกครองแบบพ่อปกครองลูกรัฐบาลต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทําให้เกิดความสงบสุขในแต่ละแว่นแคว้นได้ ซึ่งสันติสุขที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่ในวงแคบเฉพาะชาติเฉพาะรัฐ เรียกว่า “จุลสันติสุข” (เซ็งเพ้ง)

 

1.5 ลัทธิเต๋า

แนวคําตอบ

ลัทธิเต๋า (เหลาจื้อ) มีหลักการสําคัญดังนี้

1 เป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ดีกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น

2 รัฐบาลชอบใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทดลองนโยบายใหม่ ๆ ที่ตนเชื่อว่าจะได้ผลดีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองนํามาใช้ไม่ได้ช่วยประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า ไม่จําเป็นต้องมาสร้างกฎเกณฑ์กฎหมายต่าง ๆ

3 ความเฉลียวฉลาดและสติปัญญาของมนุษย์เป็นภัยต่อสังคม เพราะมนุษย์ที่ยังไม่เข้าถึงเต๋าชอบใช้ความเฉลียวฉลาดของตนไปในทางกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเอง ทุจริต และเบียดเบียนผู้อื่น

4 ไม่จําเป็นต้องมีโรงเรียน เพราะถ้ามนุษย์เรียนรู้กว้างขวางมาก ก็ยากที่จะห้ามคนเหล่านี้ให้ใช้สติปัญญาผลิตสิ่งแปลกใหม่หรือต่อสู้แข่งขันกันได้ โดยคนฉลาดนั้นย่อมรู้วิธีเลี่ยงกฎหมาย รัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมไม่มีที่สิ้นสุด และรัฐบาลก็อาจทําผิดกฎหมายเสียเอง

5 การปกครองควรทําให้เป็นรัฐเล็ก ๆ มีพลเมืองน้อย ๆ เพื่อให้ปกครองง่าย เพราะการมีคนมากเรื่องก็ยุ่งมาก มีคนน้อยเรื่องก็ยุ่งน้อย

6 นักปกครองที่ดีจะต้องปกครองแบบแม่ปกครองลูก ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น และมีคุณธรรม

7 การปกครองที่ดีที่สุดเรียกว่า “บ้ออุ้ยยื่อตี่” คือ การปกครองโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับ

ประชาชนมากเกินไป ให้ทุกคนมีอิสระเสรีเต็มที่

8 ควรใช้ความนุ่มนวลในการปกครองประเทศ โดยกล่าวว่า “เมื่อปกครองประเทศด้วยความนุ่มนวล ประชาชนก็จะซื่อสัตย์และจริงใจ เมื่อปกครองประเทศด้วยความรุนแรง ประชาชนก็จะใช้เล่ห์กลและหลอกลวง

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษาทําข้อสอบทั้งข้อ ก. และ ข.

ก ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองประเทศอินเดียอย่างไร

แนวคําตอบ

ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ได้แบ่งสังคมอินเดียออกเป็น 4 วรรณะ คือ

1 พราหมณ์ (ชนชั้นนักบวช/ผู้ประกอบพิธี) เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องพระพรหมอันเป็น หลักการสูงสุด โดยจะทําหน้าที่เป็นครู (Guru) คือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในด้านการให้ความรู้และปัญญาแก่สังคม ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเองและเพื่อผู้อื่น โดยเชื่อกันว่าพราหมณ์เกิดจากปากของพระพรหม และมีสีขาวเป็นสีประจําวรรณะ

2 กษัตริย์หรือขัตติยะหรือราชันย์ (ชนชั้นนักรบ) ซึ่งเป็นชนชั้นสูง มีหน้าที่รักษาความมั่นคง ของประเทศทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในชั้นสูง ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเอง และทําบุญให้ทาน โดยเชื่อกันว่ากษัตริย์เกิดจากแขนของพระพรหม และมีสีแดงเป็นสีประจําวรรณะ

3 แพศย์หรือไวศยะ (ชนชั้นกสิกร/พ่อค้า) เป็นวรรณะที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจของอินเดียอย่างยิ่ง คือจะมีบทบาทสําคัญในเรื่องเศรษฐกิจ มีหน้าที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย การประกอบอาชีพกสิกรรมและการค้าขาย โดยเชื่อกันว่าแพศย์เกิดจากตะโพกของพระพรหม และมีสีเหลือง เป็นสีประจําวรรณะ

4 ศูทร (ชนชั้นกรรมกร/ทาส) เป็นผู้ทําหน้าที่ในด้านการใช้แรงงานและการให้บริการ เป็นพวกที่ทํางานเป็นคนงาน นายช่าง คนเลี้ยงวัวควาย คนไถนา ซึ่งต้องรับใช้ 3 ชนชั้นแรก เป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านพระเวทและใช้อาวุธ โดยเชื่อกันว่าศูทรเกิดจากเท้าของพระพรหม และมีสีดําเป็นสีประจําวรรณะ

อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่มีต่อสังคมอินเดีย ได้แก่

1 ทําให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นสังคมปิด คือ เมื่อเกิดวรรณะใด วรรณะหนึ่งแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนหรือย้ายวรรณะได้ จึงทําให้เปลี่ยนแปลงชีวิตไม่ได้

2 การทําหน้าที่ตามวรรณะทั้ง 4 นั้นถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการทําตามพระประสงค์ ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทําตามความจําเป็นของสังคม และไม่ได้อยู่ภายใต้อํานาจของสังคม รัฐ หรือผู้ปกครอง

3 วรรณะจะเป็นตัวกําหนดหน้าที่ของมนุษย์ ว่าใครทําหน้าที่อะไร และแต่ละหน้าที่ก็จะไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งสามารถลดความขัดแย้งและลดการฆ่าฟันกันเพราะแย่งชิงหน้าที่กัน

4 การแบ่งวรรณะถือเป็นการจัดระเบียบของสังคมที่ยอมรับว่ามนุษย์นั้นมีสถานะทาง สังคมสูง-ต่ำ ลดหลั่นกันตามลําดับ ทําให้มีการดูหมิ่นคนที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่า

5 ระบบวรรณะนี้จะก่อให้เกิดความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ อาชีพ ภาษา เผ่าพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัย สังคม และศักดิ์ศรีของมนุษย์

6 ประชาชนจะผูกพันกับครอบครัว วรรณะ กลุ่มอาชีพ และหมู่บ้านมากกว่ารัฐ

7 มีกลุ่มประชาชนที่มิได้อยู่ในระบบสังคม คือ พวก “จัณฑาล” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูถูกเหยียดหยามหรือถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทางศาสนาของชุมชน ไม่สามารถจะสนทนาหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนในระบบได้ เป็นต้น

 

ข อคติ 4 ใช้แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของข้าราชการไทยอย่างไรในปัจจุบัน

แนวคําตอบ

หลักอคติ 4

อคติ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับความลําเอียง 4 ประการ ซึ่งมีผลกับการปกครองและผู้ปกครอง ไม่ควรประพฤติเป็นอย่างยิ่ง และสามารถนํามาใช้แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของข้าราชการไทยได้ดังนี้

1 ฉันทาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะชอบหรือความรักใคร่ กล่าวคือ แม้ความรักจะเป็นสิ่งที่ทําให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยปกติสุข แต่หากความรักทําให้จิตใจของเราไม่ตรง คิดเอนเอียง ความรักก็จะนําผลร้ายเข้ามาสู่ตัวเองได้ ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจะต้องไม่อ้างเอาความรักใคร่หรือความชอบพอส่วนตัวของตนเองไป สร้างประโยชน์ให้ญาติพี่น้อง พวกพ้องและคนสนิท เมื่อมีความอคติ ใจไม่เป็นกลางก็จะมีการปฏิบัติต่อทุกคนไม่เหมาะสม เช่น การตัดสินความผิดทั้งที่รู้ว่าพรรคพวกของตนเองผิด แต่มิได้กระทําการลงโทษตามระเบียบวินัย ขององค์กร เป็นต้น

2 โทสาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะชังหรือความโกรธเกลียด กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาที่มีความลําเอียงเพราะความโกรธ ไม่ชอบหรือเกลียดชังนั้นมักจะทําการกลั่นแกล้ง ทําร้ายคนที่ตัวเองเกลียดชังโดยไม่แยกแยะเรื่องความถูกต้อง ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่พึงปฏิบัติ หากตัดสินใจเพียงเพราะความโกรธเกลียดแล้ว ย่อมมีผลกระทบถึงผู้ที่ทําการตัดสินใจได้ เช่น ผู้บังคับบัญชาทําการกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่ตนไม่ชอบเป็นการส่วนตัว เพียงเพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทําให้มีอคติต่อกัน เมื่อถึงคราวพิจารณาความดีความชอบ กลับมองข้ามไป ทั้งที่เป็นสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาคนนั้นควรจะได้ เป็นต้น ดังนั้นการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้บริหารของผู้บังคับบัญชา ควรระมัดระวังในเรื่องการใช้อารมณ์ ต้องระงับอารมณ์โกรธและอารมณ์ไม่พอใจให้ได้

3 โมหาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะหลงหรือความโง่เขลา กล่าวคือ หาก ผู้บังคับบัญชามีความหลงผิด ความไม่รู้หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความสะเพร่า ไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดมิควร หลงไปตามคําพูดที่กล่าวอ้าง ขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ทันทีที่ผู้บังคับบัญชาได้รับข้อมูลในทางที่ไม่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชาก็หลงเชื่อในสิ่งนั้น และเรียกมาลงโทษว่ากล่าวตักเตือน โดยมิได้มีการสอบสวนให้แน่ชัดถึงความถูกต้องของข้อมูล เป็นต้น ดังนั้นการกระทําทุกอย่างไม่ว่าจะแสดงออก ทางกาย วาจา ใจ ผู้บังคับบัญชาควรใช้สติปัญญาในการไตร่ตรอง รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่แท้จริง ใจต้องหนักแน่น มิหลงเชื่อในสิ่งที่งมงายที่คอยขัดขวางความเจริญขององค์กร

4 ภยาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะกลัวหรือเกรงใจ เกรงอิทธิพล กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเด็ดขาดในการตัดสินใจ ไม่เกรงกลัวต่ออํานาจอิทธิพล ตั้งมั่นในความถูกต้อง เช่น หากผู้บังคับบัญชาใช้ระบบการปกครองแบบเสรี ขาดการควบคุมในการทํางาน เพียงเพราะเกรงว่า ลูกน้องจะไม่รัก หรือในกรณีที่ลูกน้องทําผิดก็ไม่กล้าลงโทษ เพราะกลัวว่าภัยจะมาถึงตัวเอง เป็นต้น ซึ่งความลําเอียงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อถือ ความศรัทธาในการปกครองคนของผู้นํา หากเกิดขึ้นในตัวผู้นําเมื่อใดแล้ว ความเดือดร้อนก็จะตามมาอย่างแน่นอน

Advertisement