การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก

Advertisement

คําสั่ง

ข้อสอบเป็นอัตนัยมีทั้งหมด 2 ข้อ ๆ ละ 50 คะแนน

ข้อ 1. จงอธิบายความแตกต่างของแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐและอํานาจดังต่อไปนี้โดยสังเขป

1.1 ลัทธิเซียวคังกับลัทธิบูชิโด

แนวคําตอบ

ลัทธิเซียวดัง เป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน โดยเสนอว่าถ้ายังไม่สามารถสร้างรัฐบาลโลกได้ ก็ให้มีรัฐบาลของแต่ละชาติ แต่ละประเทศ แต่ละรัฐไปพลาง ๆ ก่อน จุดสําคัญก็คือกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต้องทําหน้าที่ดุจพ่อเมืองอย่างแท้จริง และปกครองแบบพ่อปกครองลูกรัฐบาลต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทําให้เกิดความสงบสุขในแต่ละแว่นแคว้นได้ ซึ่งสันติสุขที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่ในวงแคบเฉพาะชาติเฉพาะรัฐ เรียกว่า “จุลสันติสุข” (เซ็งเพ้ง)

ลัทธิบูชิโด เป็นลัทธิชาตินิยมอย่างแรงกล้าของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหลักจรรยาของชนชาติทหาร และเป็นหลักจริยธรรมของนักรบ โดยจะมีหน้าที่สําคัญดังนี้

1 ให้จงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ

2 ทหารทุกคนต้องยอมตายแทนพระจักรพรรดิ

3 ทหารต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น

4 ชายญี่ปุ่นทุกคนต้องเป็นทหาร

5 ชาวญี่ปุ่นถือว่าพระจักรพรรดิเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ และถือว่าคนญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด คือเป็นลูกพระอาทิตย์

6 ประชาชนต้องเชื่อฟังทหาร ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ภักดีต่อพระจักรพรรดิ ใครทําร้ายทหารเท่ากับทําร้ายพระจักรพรรดิ

ในปี พ.ศ. 2447 – 2448 ปรากฏว่าทหารของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิสามารถทําสงครามชนะ ประเทศรัสเซียได้ ทําให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอํานาจ และเกิดความรู้สึกว่าญี่ปุ่นก็สามารถเป็นมหาอํานาจ ทางตะวันออกได้เช่นเดียวกับมหาอํานาจทางตะวันตก ทําให้ชาวญี่ปุ่นต้องการเป็นมหาอํานาจแห่งเอเชียบูรพา ซึ่งความรักชาติได้กลายเป็นความหลงชาติ และทําให้บูชิโดกลายเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์

 

1.2 ลัทธิป้าเจ่งกับลัทธิยิ้นเจ่ง

เม่งจื้อ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1 การปกครองแบบเดชานุภาพ (ลัทธิป้าเจ่ง) คือ การใช้อิทธิพลทางทหารและกําลัง ในการปกครอง ซึ่งการปกครองแบบนี้จะทําให้เกิดการเสียเลือดเนื้ออันเนื่องมาจากการรบพุ่งแย่งชิงอํานาจ

2 การปกครองแบบธรรมานุภาพ (ลัทธิยิ้นเจ่ง) คือ การใช้คุณธรรมและความเมตตา กรุณาในการปกครอง เพราะสามารถทําให้บรรลุความสําเร็จได้ดีกว่า แม้จะมีเขตแดนเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองที่ดูแลประชาชนเป็นอย่างดีเท่านั้น จึงจะได้รับการสนับสนุนและความจงรักภักดีจากประชาชน พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อผู้ปกครองของตนในสงครามได้

 

1.3 รัฐอิสลามกับรัฐมุสลิม

แนวคําตอบ

รัฐอิสลาม เป็นรัฐในอุดมคติ ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดําเนินงานด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอิสลาม ใช้รูปแบบการปกครองของอิสลาม และสร้างวิถีชีวิตของคนในรัฐ ให้ศรัทธาในความเป็นเอกภาพของพระอัลเลาะห์ ซึ่งรัฐที่พอจะอนุโลมได้ว่าเป็นรัฐอิสลาม คือ รัฐภายใต้การปกครอง สมัยพระนบีมุฮัมหมัดและคอลีฟะฮ์ทั้งสี่ ได้แก่ อาบูบัคร์ อุมาร์ อุธมาน และอาลี

รัฐมุสลิม เป็นรัฐที่เป็นจริงในโลก ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับรัฐอิสลาม แต่จะอนุโลมให้ใช้รูปแบบการปกครองแบบสากลได้ มีสภาปกติเหมือนทั่ว ๆ ไปที่เป็น ไม่ได้เคร่งครัดแบบรัฐอิสลาม แต่เนื้อหาอาจจะต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม จะได้ไม่ขัดแย้งกัน เช่น ระบอบรัฐสภา (มาเลเซีย) ระบอบประธานาธิบดี (อียิปต์, ลิเบีย, อินโดนีเซีย) และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น

 

1.4 ลัทธิขงจือกับลัทธิเต๋า

แนวคําตอบ

ลัทธิขงจื้อ มีหลักการสําคัญดังนี้

1 ชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการเมือง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอุดมคติทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการเมือง ต่างก็มีจุดศูนย์กลางที่ศีลธรรมเช่นเดียวกัน

2 ต่อต้านการปกครองที่กดขี่ทารุณ โดยกล่าวว่า “รัฐบาลที่กดขี่ทารุณนั้นร้ายยิ่งกว่าเสือเสียอีก”

3 กองทัพไม่สามารถสู้รบอย่างมีประสิทธิผลได้ถ้าทหารไม่รู้ว่าพวกเขาจะสู้ไปทําไม โดยกล่าวว่า “การนําประชาชนที่ไม่ได้รับการศึกษาไปสู่สงคราม ก็เท่ากับว่านําพวกเขาไปทิ้ง”

4 ให้ความสําคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก

5 การปกครองนั้นควรมีจุดมุ่งหมายในการนําสวัสดิการและความสุขมาสู่ประชาชนทั้งมวล โดยต้องมีผู้ปกครองที่มีความสามารถในการบริหารซึ่งไม่ใช่มาจากชาติกําเนิด ความร่ำรวยหรือตําแหน่ง แต่มาจากการได้รับการศึกษาที่เหมาะสม

  1. การปกครองที่ดีคือการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และจะต้องมีลักษณะ “คุ้มครองมากกว่าปกครอง”

7 การใช้อํานาจนั้นจะต้องคํานึงถึงคุณธรรม โดยกล่าวว่า “เมื่อผู้ปกครองเองทําถูกต้องเขาย่อมมีอํานาจเหนือประชาชนโดยมิต้องออกคําสั่ง แต่เมื่อผู้ปกครองเองไม่ทําสิ่งที่ถูกต้อง คําสั่งทั้งปวงของเขาก็ใช้ไม่ได้เลย”

8 รากฐานของอาณาจักรคือรัฐ รากฐานของรัฐคือครอบครัว รากฐานของครอบครัวคือตัวเอง

 

ลัทธิเต๋า (เหลาจื้อ) มีหลักการสําคัญดังนี้

1 มีแนวคิดทางการเมืองการปกครองแบบเสรีนิยมและธรรมชาตินิยม โดยเชื่อว่า กฎธรรมชาติเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ดีกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น

2 รัฐบาลชอบใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทดลองนโยบายใหม่ ๆ ที่ตนเชื่อว่าจะได้ผลดีกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองนํามาใช้ไม่ได้ช่วยประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า ไม่จําเป็นต้องมาสร้างกฎเกณฑ์กฎหมายต่าง ๆ

3 ความเฉลียวฉลาดและสติปัญญาของมนุษย์เป็นภัยต่อสังคม เพราะมนุษย์ที่ยังไม่เข้าถึงเต๋าชอบใช้ความเฉลียวฉลาดของตนไปในทางกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเอง ทุจริต และเบียดเบียนผู้อื่น

4 ไม่จําเป็นต้องมีโรงเรียน เพราะถ้ามนุษย์เรียนรู้กว้างขวางมาก ก็ยากที่จะห้ามคนเหล่านี้ให้ใช้สติปัญญาผลิตสิ่งแปลกใหม่หรือต่อสู้แข่งขันกันได้ โดยคนฉลาดนั้นย่อมรู้วิธีเลี่ยงกฎหมาย รัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมไม่มีที่สิ้นสุด และรัฐบาลก็อาจทําผิดกฎหมายเสียเอง

5 การปกครองควรทําให้เป็นรัฐเล็ก ๆ มีพลเมืองน้อย ๆ เพื่อให้ปกครองง่าย เพราะการมีคนมากเรื่องก็ยุ่งมาก มีคนน้อยเรื่องก็ยังน้อย

6 นักปกครองที่ดีจะต้องปกครองแบบแม่ปกครองลูก ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น และมีคุณธรรม

7 การปกครองที่ดีที่สุดเรียกว่า “บ้ออุ้ยยื่อตี่” คือ การปกครองโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประชาชนมากเกินไป ให้ทุกคนมีอิสระเสรีเต็มที่

8 ควรใช้ความนุ่มนวลในการปกครองประเทศ โดยกล่าวว่า “เมื่อปกครองประเทศด้วยความนุ่มนวล ประชาชนก็จะซื่อสัตย์และจริงใจ เมื่อปกครองประเทศด้วยความรุนแรง ประชาชนก็จะใช้เล่ห์กลและหลอกลวง

 

 

1.5 ลัทธิธรรมชาตินิยมและลัทธิเสรีนิยมตามแนวคิดของเหลาจื้อ

แนวคําตอบ

ลัทธิธรรมชาตินิยมและลัทธิเสรีนิยม ตามแนวคิดของเหลาจื้อ

1 การพยายามทําสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ เปรียบเสมือนกับการแกว่งเท้าหาเสี้ยน หาเหาใส่หัวตนเอง และสอนให้มนุษย์ปรับตนเข้ากับสภาพแวดล้อมได้โดยไม่สูญเสียอุดมคติของตนไป ดุจดังน้ำที่อยู่ในขวดก็ มีรูปดังขวด อยู่ในโอ่งก็มีรูปทรงดังโอ่ง แต่ความเป็นน้ำก็มิได้สูญหายไป

2 สังคมนั้นมีปัญหาก็เพราะมนุษย์ผืนธรรมชาติและเปรียบเทียบแข่งขันกัน ถ้าทุกคน ครองชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่เปรียบเทียบแข่งขันกัน ก็จะระงับปัญหาสังคมได้ คนในสังคมมักนิยมความร่ำรวย ชิงชังความยากจน แต่คนยิ่งรวยก็ยิ่งทุกข์เพราะความรวยไม่สามารถใช้ซื้อความทุกข์ใจได้ ยิ่งรวยยิ่งรู้สึกหวงแหน ทรัพย์สมบัติมากขึ้น เมื่อถึงคราววิบัติก็ทุกข์โศกมากกว่าคนที่ยากจน ดังนั้นสังคมจะสงบสุขได้ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักพอ

3 กฎธรรมชาติเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ดีกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติ โดยเหลาจื้อเห็นว่า สันติภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากมนุษย์ชอบฝืนธรรมชาติ โดยพยายามกําหนดระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง

4 การปกครองเน้นเสรีนิยม คือการปกครองโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับประชาชนมากเกินไป ให้ ทุกคนมีอิสรเสรีเต็มที่ รัฐบาลอย่าไปก้าวก่ายเสรีภาพของประชาชน ประชาชนก็อย่าก้าวก่ายเสรีภาพซึ่งกันและกัน

5 เน้นการปกครองที่เรียกว่า “เซียวก๊กกั้วมิ้น” คือ การทําให้เป็นรัฐเล็ก ๆ มีพลเมือง น้อย ๆ เพื่อให้ปกครองง่าย เพราะการมีคนมากเรื่องก็ยุ่งมาก มีคนน้อยเรื่องก็ยุ่งน้อย ประเทศใหญ่ย่อมสิ้นเปลืองเศรษฐกิจมาก ประเทศเล็กย่อมสิ้นเปลืองเศรษฐกิจน้อย

6 รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง เพราะใช้การปกครอง แบบเสรีนิยมและธรรมชาตินิยม วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการปกครองที่ดีที่สุด ส่วนรัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดย ใช้อํานาจกดขี่และยุ่งเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน จนทําให้ประชาชนไม่เป็นตัวของตัวเอง ถือว่า เป็นวิธีการปกครองที่เลวที่สุด

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษาทําข้อสอบทั้งข้อ ก. และ ข.

ก จงวิเคราะห์ถึงผลของระบบวรรณะที่มีต่อการเมืองการปกครองของประเทศอินเดียมาอย่างชัดเจน

แนวคําตอบ

ผลของระบบวรรณะที่มีต่อการเมืองการปกครองของประเทศอินเดีย

ระบบวรรณะจะเป็นตัวกําหนดหน้าที่ของคนอินเดีย ว่าใครทําหน้าที่อะไร และแต่ละหน้าที่ก็จะไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งทําให้สามารถลดความขัดแย้งและลดการฆ่าฟันกันเพราะแย่งชิงหน้าที่กัน โดยศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูได้แบ่งสังคมออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่ นั

1 พราหมณ์ (ชนชั้นนักบวช/ผู้ประกอบพิธี) เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องพระพรหมอันเป็น หลักการสูงสุด โดยจะทําหน้าที่เป็นครู (Guru) คือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในด้านการให้ความรู้และปัญญาแก่สังคม ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเองและเพื่อผู้อื่น

2 กษัตริย์หรือขัตติยะหรือราชันย์ (ชนชั้นนักรบ) ซึ่งเป็นชนชั้นสูง มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในชั้นสูง ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเอง และทําบุญให้ทาน

3 แพศย์หรือไวศยะ (ชนชั้นกสิกร/พ่อค้า) เป็นวรรณะที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจของอินเดียอย่างยิ่ง คือจะมีบทบาทสําคัญในเรื่องเศรษฐกิจ มีหน้าที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการประกอบอาชีพกสิกรรมและการค้าขาย

4 ศูทร (ชนชั้นกรรมกร/ทาส) เป็นผู้ทําหน้าที่ในด้านการใช้แรงงานและการให้บริการ เป็นพวกที่ทํางานเป็นคนงาน นายช่าง คนเลี้ยงวัวควาย คนไถนา ซึ่งต้องรับใช้ 3 ชนชั้นแรก เป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านพระเวทและใช้อาวุธ

การทําหน้าที่ตามวรรณะทั้ง 4 นี้ถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการทําตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทําตามความจําเป็นของสังคม และไม่ได้อยู่ภายใต้อํานาจของสังคม รัฐ หรือผู้ปกครอง

ระบบวรรณะดังกล่าวนั้นทําให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นสังคมปิด คือ เมื่อเกิดวรรณะใดวรรณะหนึ่งแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนหรือย้ายวรรณะได้ จึงทําให้เปลี่ยนแปลงชีวิตไม่ได้

ความเชื่อในเรื่องระบบวรรณะนี้มีอิทธิพลไม่เพียงแต่กําหนดความแตกต่างในด้านเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังทําให้เกิดความแตกต่างในด้านอาชีพ ภาษา เผ่าพันธุ์ และแหล่งที่อยู่อาศัยด้วย กล่าวคือ ประชากรอินเดียไม่เกิน ร้อยละ 10 อยู่ใน 3 วรรณะแรก คือ วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ ซึ่งมีอํานาจในสังคมและได้ทํางานราชการ มากกว่าร้อยละ 50

นอกจากนี้ยังมีวรรณะย่อยอีกประมาณ 3,000 วรรณะ เรียกว่า “โฌติ” (Jotis) ซึ่งทําให้เกิดความแตกแยกในสังคมฮินดู ความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายนี้เองเป็นปัจจัยสําคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองในประเทศอินเดีย และมีผลต่อแนวคิดของนักการเมืองอินเดียที่สําคัญหลายคน เช่น มหาตมะ คานธี (Mahatma Grandhi) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการใช้หลักอหิงสาและสัจจะในการปกครองหรือการ ต่อสู้ทางการเมือง เป็นต้น

 

ข คุณธรรม จริยธรรมของศาสนาพุทธ ถูกกําหนดให้มีผลต่อแนวคิดของชนชั้นต่ำที่จะนํามาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองบ้านเมือง ให้นักศึกษายกคุณธรรมและจริยธรรมเหล่านั้นมาอธิบาย อย่างน้อยให้ยกมา 3 เรื่อง

แนวคําตอบ

คุณธรรมและจริยธรรมของศาสนาพุทธที่นํามาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองบ้านเมือง ได้แก่

1 พรหมวิหาร 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักธรรมประจําใจของผู้เป็นใหญ่ ประกอบด้วย

1) เมตตา หมายถึง ความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

2) กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3) มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข ไม่ริษยา

4) อุเบกขา หมายถึง ความวางใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงด้วยความรักและความชัง

2 สังคหวัตถุ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักการสงเคราะห์ ประกอบด้วย

1) ทาน หมายถึง การให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

2) ปิยวาจา หมายถึง การมีวาจาสุภาพ ไพเราะ ซาบซึ้ง จริงใจ

3) อัตถจริยา หมายถึง การบําเพ็ญประโยชน์หรือทําในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

4) สมานัตตตา หมายถึง การทําตนเสมอต้นเสมอปลาย หรือการวางตนให้เหมาะสม

3 ราชสังคหวัตถุ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ครองแผ่นดิน ประกอบด้วย

1) สัสสาเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบํารุงรักษาพืชพันธุ์ธัญญาหาร และส่งเสริมการเกษตร

2) ปุริสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบํารุงรักษาข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ

3) สัมมาปาสะ หมายถึง ความรู้จักผูกน้ำใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ

4) วาชเปยะ วาจาเปยะ) หมายถึง ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย วาจาไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผลมีประโยชน์ในทางสามัคคี ทําให้เกิดความเข้าใจอันดี และเกิดความนิยมเชื่อถือ

 

 

Advertisement