การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2105 ทฤษฎีการเมืองและจริยธรรม 2

Advertisement

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 100 ข้อ)

มาร์กซ์, เลนิน และเมา เซ ตุง

1 ชนชั้นที่จะมีความสนใจในด้านการเมืองมาก คือ

(1) ชนชั้นนํา

(2) ชนชั้นผู้ปกครอง

(3) ชนชั้นกลาง

(4) ชนชั้นล่าง

(5) สนใจอัตราใกล้เคียงกัน

ตอบ 3 หน้า 172 การขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมได้ทําให้มี “ชนชั้นกลาง” เกิดขึ้น ซึ่งชนชั้นกลางนี้ก็คือพวกพ่อค้า โดยพวกนี้ต่อมาได้ยกระดับจากการเป็นพ่อค้าไปเป็นนักอุตสาหกรรมที่มีความมั่งคั่งและเป็นผู้ที่มีความสนใจในด้านการเมืองอย่างมาก

2 นักคิดคนใดที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของ Kart Mark

(1) ฟรีดริช เฮเกล

(2) เซ็นต์ โธมัส อไควนัส

(3) โธมัส ฮอบส์

(4) มาเคียเวลลี่

(5) เจอเรมี เบนธัม

ตอบ 1 หน้า 173 – 175, 177 นักคิดที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของ Max ได้แก่ ซัง ซิมองต์ (Saint Simon),ฟรีดริช เฮเกล (Friedr ch Hegel), อดัม สมิธ (Adam Smith), เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo),ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) เป็นต้น

3 สิ่งที่ Kart Marx มองว่าเป็นเครื่องมือในการเกลี้ยกล่อมให้คนทุกคนยอมรับสภาพของตนเอง คือ

(1) การศึกษา

(2) สถานภาพทางเศรษฐกิจ

(3) ชนชั้นในสังคม

(4) วัฒนธรรม

(5) ศาสนา

ตอบ 5 หน้า 174 – 175 คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) มองว่า ศาสนาเป็นวิธีที่คนที่ถูกกดขี่แสดงความรู้สึกออกมา เมื่อหมดหวังที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นคนที่กดขี่จึงใช้ศาสนา เป็นเครื่องมือในการเกลี้ยกล่อมให้ทุกคนยอมรับสภาพของตนเอง โดย Marx จะเรียกศาสนาว่าเป็น “ฝิ่นของประชาชน” 4 Adam Smith และ David Ricardo เป็นนักคิดที่มีผลต่อแนวคิดในด้านใดของ Marx

(1) การศึกษาด้านการเมือง

(2) เศรษฐกิจการเมือง

(3) ศาสนาและการเมือง

(4) วัฒนธรรมทางการเมือง

(5) ทุกข้อที่กล่าวมา

ตอบ 2 หน้า 175, 182 พื้นฐานความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของ Marx ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ Adam Smith และ David Ricardo นักคิดแบบเสรีนิยม โดย Max ได้เขียนบทความเรื่อง “ข้อเขียนทางเศรษฐกิจและทางปรัชญา” ขึ้น เพื่อวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจการเมืองที่เป็นจริง

5 แนวคิดของ Kart Marx ที่มีผลมาจากการปฏิวัติในฝรั่งเศส คือ

(1) การกดขี่ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน

(2) ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคต่าง ๆ

(3) แนวคิดด้านวัตถุนิยม

(4) การต่อสู้ทางชนชั้น

(5) เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

ตอบ 4 หน้า 175 ในช่วงที่มีการปฏิวัติในฝรั่งเศสหลายครั้งนั้น Max และ Engels ได้ร่วมกันเขียนหนังสือเรื่อง คําประกาศคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto) ขึ้น โดย Marx ได้ใช้ความวุ่นวาย ทางการเมืองในช่วงนั้นส่งเสริม “ทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้น” จนเขาถูกรัฐบาลฝรั่งเศสเนรเทศ ออกจากกรุงบรัสเซล

6 สิ่งที่ “Marx” เห็นว่าเป็นตัวจัดระบบสังคม คือ

(1) ระบบการศึกษา

(2) ระบบการเมือง

(3) ระบบเศรษฐกิจ

(4) ระบบสาธารณสุข

(5) ระบบด้านศาสนา

ตอบ 3 หน้า 177 Marx เห็นว่า สิ่งที่เป็นตัวจัดระบบสังคมก็คือระบบเศรษฐกิจ โดยเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สําคัญที่สุดในการควบคุมสังคม การเมือง และความคิดของคน

7 ระบบเศรษฐกิจที่ “Marx” เห็นว่าเลวร้ายมากที่สุด คือ

(1) ระบบเศรษฐกิจแบบทาส

(2) ระบบเศรษฐกิจแบบศักดินา

(3) ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

(4) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

(5) ระบบเศรษฐกิจแบบยูโทเปีย

ตอบ 3 หน้า 177 Marx เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นตัวการที่ทําให้คนจนต้องทุกข์ยากลําบากเป็นระบบที่เลวร้ายมากที่สุด โดยดูได้จากประวัติศาสตร์การเกิดและวิธีการทํางานของ ระบบทุนนิยมที่ทําลายความเป็นมนุษย์ ซึ่งทั้งประวัติศาสตร์และวิธีการทํางานของระบบนี้ Marx ใช้เป็นพื้นฐานในการทํานายอนาคตของโลกคือ ผลสุดท้ายสังคมทุนนิยมจะทําลายตัวเอง และสุดท้ายสังคมจะพัฒนาเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมาชิกทุกคนเสมอภาคและมีเสรีภาพอย่างแท้จริง

8 แนวคิดที่ว่า “ทุกอย่างในโลกนี้มีความขัดแย้งกันในตัวมันเอง และความขัดแย้งนี้จะช่วยพัฒนาสังคมและประวัติศาสตร์ให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ” ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า

(1) กระบวนการวิภาษวิธี

(2) โครงสร้างส่วนบน

(3) โครงสร้างส่วนกลาง

(4) ความสัมพันธ์ทางการผลิต

(5) รูปแบบการผลิต

ตอบ 1 หน้า 178 Max ได้รับอิทธิพลทางความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสังคมมาจาก “กระบวนการวิภาษวิธี”หรือความเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งของ Friedrich Hegel โดยเขาเชื่อว่า ทุกอย่างในโลกนี้มีความขัดแย้งกันในตัวมันเอง และความขัดแย้งนี้จะช่วยพัฒนาสังคมและประวัติศาสตร์ให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ

9 “Marx” บอกว่าสังคมมีการพัฒนาโดยมีอะไรเป็นตัวกําหนด

(1) แนวคิด

(2) จิตใจ

(3) วัตถุ

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 178 – 180 Marx ได้นําเอาแนวความคิดที่ผสมระหว่างความเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้ง (Dialectic) ความคิดวัตถุนิยม (Materialism) และหลักเศรษฐกิจกําหนด (Economic Determinism) มาอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของสังคม โดยเขาพยายามชี้ให้เห็นว่า สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการพัฒนาโดยมีวัตถุหรือรูปแบบการผลิตเป็นเครื่องกําหนดรูปแบบของสังคมและชีวิตนั้นเรียกว่า วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism)

10 มูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) คือ

(1) กําไรของนายทุน

(2) การขาดทุนของกรรมกร

(3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม

(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 183 มูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) คือ ส่วนของผลตอบแทนหรือค่าแรงที่เกิดจากเวลาส่วนเกินที่กรรมกรควรจะได้รับแต่นายทุนโกงไป เช่น ในการผลิตสินค้า นายทุนจะให้ค่าจ้าง กรรมกรโดยให้ทํางาน 16 ชั่วโมง แต่เวลาที่กรรมกรต้องใช้ตามค่าจ้างจริง ๆ เพียง 9 ชั่วโมง ดังนั้นเวลาที่เหลืออีก 7 ชั่วโมง จึงเป็นเวลาส่วนเกินหรือมูลค่าส่วนเกินที่นายทุนเอาไปเป็น กําไรของตัวเอง

11 สังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ทางชนชั้น คือ สังคมทุนนิยมและยังเป็นสังคมที่

(1) เน้นเรื่องผลกําไรของกรรมกร

(2) ส่งเสริมคนทํางานมากกว่าเครื่องจักร

(3) ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์

(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1 และ 3

ตอบ 3 หน้า 184 185, (คําบรรยาย) Max อธิบายว่า ในสังคมทุนนิยมนั้น นอกจากจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ทางชนชั้นแล้ว ยังเป็นสังคมของการผลิตที่ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือ ที่เรียกว่า“ความรู้สึกแปลกแยก” (Alienation) ซึ่งดูได้จากความจริงที่ว่า ยิ่งกรรมกรผลิตมาก กรรมกรก็ยิ่งจนลง และกรรมกรยิ่งมีชีวิตที่คุณค่าความเป็นมนุษย์ลดลง เมื่อสินค้าที่กรรมกรผลิตมีค่ามากขึ้น จึงทําให้ผลงานมีค่ามากกว่าคน

12 เผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ คือ

(1) การปกครองแบบทาส

(2) การปกครองแบบศักดินา

(3) การปกครองแบบนายทุน

(4) การปกครองแบบสังคมนิยม

(5) การปกครองแบบทหาร

ตอบ 4 หน้า 186, (คําบรรยาย) ในแนวคิดของ Marx นั้น เผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพก็คือการปกครองแบบสังคมนิยมหรืออํานาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ 1กวาดล้างโครงสร้างระบบนายทุน 2 สร้างสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมาแทนที่

13 “ในสังคมที่รัฐจะค่อย ๆ สลายตัวไป กองทัพ ตํารวจ ระบบราชการ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครองก็จะสลายตัวไป ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น” คือ

(1) สังคมดึกดําบรรพ์หรือสังคมบุพกาล

(2) สังคมทาส

(3) สังคมศักดินา

(4) สังคมทุนนิยม

(5) สังคมคอมมิวนิสต์

ตอบ 5 หน้า 187 – 188 Marx เชื่อว่า ในสังคมคอมมิวนิสต์นั้นเมื่อชนชั้นกรรมาชีพปกครองไปได้ระยะหนึ่ง รัฐ กองทัพ ตํารวจ ระบบราชการ รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครอง จะค่อย ๆ สลายตัวไป ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น ทุกคนเสมอภาคกัน ไม่มีความแตกต่าง ระหว่างงานและรายได้ ไม่มีการใช้เงินตรา ทุกคนทํางานเต็มที่ตามความสามารถของตน และพอใจที่จะได้รับค่าตอบแทนตามความจําเป็นของตน ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคที่ให้เสรีภาพแก่ปัจเจกชนมากที่สุด หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ สังคมคอมมิวนิสต์เป็นสังคมที่ไร้รัฐนั่นเอง

14 Lenin บอกว่า “จํานวนต้องมีน้อยและต้องมีวินัยที่เข้มแข็ง” คือ

(1) ชนชั้นกรรมาชีพ

(2) ทรอส

(3) พรรคเมนเชวิค

(4) นักปฏิวัติอาชีพ

(5) พรรคบอลเชวิค

ตอบ 4 หน้า 203 ในทัศนะของเลนิน (Lenin) นั้น นักปฏิวัติอาชีพหรือชนชั้นปัญญาชนก็คือ ผู้ที่จะมาทําหน้าที่เป็นแกนกลางหรือผู้นําในการปฏิวัติและปลุกจิตสํานึกทางการเมือง ซึ่งนักปฏิวัติอาชีพนี้ ไม่จําเป็นต้องมาจากชนชั้นกรรมาชีพ แต่จะมาจากชนชั้นใดก็ได้ที่มีจิตสํานึกทางการเมือง มุ่งแสวงหาความรู้ในการปฏิวัติ และที่สําคัญคือ จะต้องมีจํานวนน้อยและต้องมีวินัยที่เข้มแข็ง

15 หน้าที่ของ “พรรค” ในแนวคิดของ Lenin

(1) จัดการปฏิวัติให้เป็นระบบ

(2) วางแผนการสู้รบกับพระมหากษัตริย์

(3) จัดการล้มล้างเจ้าของที่ดิน

(4) วางแผนพัฒนาเครื่องมือในการผลิต

(5) ชี้ทางให้ชนชั้นนายทุน

ตอบ 1 หน้า 203 ในแนวคิดของ Lenin นั้น พรรคจะมีหน้าที่จัดการปฏิวัติให้เป็นระบบ และชี้ทางให้ชนชั้นกรรมาชีพ รวมทั้งเป็นผู้นําเสนอแนะให้รู้จักใช้กลยุทธ์ในการปฏิวัติ เช่น การจู่โจม การฝึกอบรมทหารเพื่อการปฏิวัติ การรวบรวมข่าวสาร การสร้างขวัญและกําลังใจในการปฏิวัติ มีการบริหารแบบทหาร มีวินัยที่เข้มงวด และมีหลักการที่แข็งแรง

16 Lenin บอกว่า “สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” หากสังคมอยู่ใน

(1) ระบอบประชาธิปไตย

(2) ระบอบอํานาจนิยม

(3) ระบอบศักดินา

(4) ระบอบทุนนิยม

(5) ทุกระบอบ

ตอบ 4 หน้า 205 Lenin เชื่อว่า หากสังคมอยู่ในระบอบทุนนิยม สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสงครามเป็นผลมาจากการมีเครื่องมือการผลิตไว้ในครอบครอง นั่นคือ การพัฒนาที่ไม่เท่ากันของระบอบทุนนิยมจะทําให้เกิดสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

17 สงครามที่ทําโดยชนชั้นที่ถูกกดขี่ เพื่อต่อต้านผู้กดขี่ “Lenin” ถือว่าเป็น

(1) สงครามจักรวรรดินิยม

(2) สงครามเพื่อรุกรานผู้อื่น

(3) สงครามเพื่อกอบกู้อิสรภาพ

(4) สงครามเพื่อความยุติธรรม

(5) สงครามประกาศศักดา

ตอบ 4 หน้า 205, (คําบรรยาย) Lenin เห็นว่า “สงครามเพื่อความยุติธรรม” คือ สงครามที่เกิดขึ้นเพื่อการดําเนินการทางการเมืองของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ เพื่อต่อต้านผู้กดขี่ เช่น สงครามที่ทําโดยสปาร์ตาคัสในสมัยโรมโบราณ, สงครามกลางเมืองในอเมริกา เป็นต้น

18 Lenin กล่าวว่า “การปฏิวัติสังคมนิยม” จะสําเร็จได้ต้อง

(1) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในหลายประเทศ ต้องรุนแรงโดยการใช้อาวุธ

(2) เกิดขึ้นภายในประเทศเดียว ต้องรุนแรงโดยการใช้อาวุธ

(3) ใช้กําลังของชนชั้นปกครองอย่างจริงจัง ต้องรุนแรงโดยการใช้อาวุธ

(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 3

(5) ถูกทั้งข้อ 2 และ 3

ตอบ 2 หน้า 206 207, 211 Lenin กล่าวว่า “การปฏิวัติสังคมนิยม” จะสําเร็จได้ต้องมีเงื่อนไขดังนี้

1 เกิดขึ้นในประเทศเดียวก็ได้ ไม่จําเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในหลายประเทศ

2 ต้องเกิดด้วยความรุนแรงโดยการใช้กําลังอาวุธ โดยต้องมีเงื่อนไขคือสงครามภายใน

3 เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง ไม่จําเป็นต้องมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

19 พลังในการลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคมในแนวคิดของ Lenin คือ

(1) ชนชั้นกรรมกร

(2) ชนชั้นชาวนาชาวไร่

(3) ชนชั้นนายทุนน้อย

(4) ชนชั้นกรรมกร และชาวนาชาวไร่

(5) ชนชั้นกรรมาชีพ

ตอบ 4 หน้า 186, 200 Lenin เห็นว่า พลังในการที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคมเพื่อขจัดระบบทุนนิยมก็คือ ชนชั้นกรรมาชีพ (กรรมกร) และชาวนาชาวไร่เข้าร่วมด้วย ส่วน Marx มองว่าพลังในการที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคมนั้นจะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น

20 “จักรวรรดินิยม” ในแนวคิดของ Lenin คือ

(1) การขยายอาณาจักรโดยการใช้อาวุธ

(2) การขยายอาณาจักรโดยการใช้ปัญญาเทคโนโลยี

(3) การขยายอาณาจักรโดยการใช้การลงทุน

(4) การขยายอาณาจักรโดยการยึดครองพื้นที่

(5) การขยายอาณาจักรโดยการใช้การศึกษา

ตอบ 3 หน้า 210 211 Lenin เห็นว่า “จักรวรรดินิยม” เป็นการขยายของระบบทุนนิยม นั่นคือเป็นการขยายอาณาจักรโดยการใช้การลงทุน กล่าวคือ จะมีการรวมทุนการผลิตจนทําให้เกิดระบบผูกขาดทั้งทางการลงทุนและการธนาคาร แล้วก็ส่งทุนออกนอกประเทศ โดยมีการแบ่งโลก ระหว่างประเทศมหาอํานาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และขยายการลงทุนที่ประเทศอื่นต่อไป

21 “การทําลัทธิมาร์กซ์ให้เป็นแบบจีน” ในแนวคิดของ Mao คือ

(1) ยึดแนวคิดของ Karl Marx โดยเข้มงวด

(2) ไม่ยึดแนวคิดของ Karl Marx เลย

(3) ปรับแนวคิดของ Kart Marx ให้กับสถานการณ์ในรัสเซีย

(4) ปรับแนวคิดของ Kart Marx ให้คนจีนธรรมดาสามารถเข้าใจได้

(5) ยึดแนวคิดของ “Mao” เป็นหลักในการปรับแนวคิดของ Kart Marx มาใช้ในจีน

ตอบ 4 หน้า 223 “การทําลัทธิมาร์กซ์ให้เป็นแบบจีน” ในแนวคิดของเมา เซ ตุง (Mao Tse Tung)หมายถึง การนําเอาทฤษฎีของ Marx มาใช้โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริงในจีน หรือ การศึกษาลัทธิมาร์กซ์โดยไม่ละเลยเงื่อนไขประวัติศาสตร์และสังคมของจีน มิใช่นําลัทธิมาร์กซ์ที่เป็นรูปธรรมที่มองไม่เห็นมาใช้ แต่เป็นลัทธิมาร์กซ์แบบจีน ๆ ที่คนธรรมดาสามารถเข้าใจได้

22 “Mao” เชื่อว่า ประวัติศาสตร์ เป็น

(1) ตัวบ่งบอกถึงกําหนดทิศทางของอนาคต

(2) สิ่งที่บอกเล่าเรื่องเก่า ๆ ที่ควรศึกษา

(3) การพูดถึงการเมืองในอดีต

(4) การแสดงออกซึ่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้น

(5) การแสดงออกซึ่งความคิดเก่า ความคิดใหม่ และความคิดใหม่สุด

ตอบ 4 หน้า 224 Mao เชื่อว่า ประวัติศาสตร์เป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นผู้กดขี่กับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ และเป็นการแสดงถึงการต่อสู้ระหว่างจิตนิยมกับวัตถุนิยมอีกด้วย

23 “Mao” บอกว่า การแบ่งงานกันทําจะก่อให้เกิด

(1) ความมั่งคั่งส่วนบุคคล

(2) การกดขี่

(3) ชนชั้น

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 225 Mao เชื่อว่า เมื่อมีการพัฒนาการผลิตก็จะเกิดการแบ่งงานกันทําซึ่งเป็นงานที่ใช้สมองและงานที่ใช้แรงงาน ก่อให้เกิดชนชั้น ทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งส่วนบุคคล และการกดขี่เอาเปรียบ

24 “ความขัดแย้งระหว่างมวลประชาชนกับระบอบศักดินา” เมา บอกว่าต้องแก้ด้วย

(1) การปฏิวัติสังคมนิยม

(2) การปฏิวัติประชาธิปไตย

(3) การปฏิวัติประชาชาติ

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 227 Mao กล่าวว่า ความขัดแย้งที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ก็ต้องแก้ด้วยวิธีการที่มีคุณภาพแตกต่างกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นนายทุนแก้ด้วยการปฏิวัติ สังคมนิยม, ความขัดแย้งระหว่างมวลประชาชนกับระบอบศักดินาแก้ด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตย,ความขัดแย้งระหว่างเมืองขึ้นกับจักรวรรดินิยมแก้ด้วยการปฏิวัติประชาชาติ เป็นต้น

25 “พรรคจะมีการปกครองในลักษณะเผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน” เพราะ

(1) พรรคใหญ่ที่สุด

(2) พรรคมีการใช้ระบบประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์

(3) พรรคมีหน้าที่กําจัดความขัดแย้งต่าง ๆ

(4) พรรคเป็นตัวแทนของประชาชนทุกชนชั้น

(5) พรรคต้องป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก

ตอบ 4 หน้า 231 ในปี ค.ศ. 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะ Mao ก็พยายามปกครองประเทศจีนโดยใช้หลักการประชาธิปไตยแบบใหม่ตามที่ประกาศไว้ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นแกนนําที่สําคัญ และมีการปกครองในลักษณะเผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน เนื่องจากพรรคเป็นตัวแทนของประชาชนทุกชนชั้นนั่นเอง

 

มาเคียเวลลี่

26 สาเหตุที่นิคโคโล มาเคียเวลลี่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ที่สําคัญที่สุดของยุคนวสมัยเพราะเป็นผู้

(1) ศึกษาการเมืองอย่างมีอุดมการณ์

(2) ใฝ่ความเป็นประชาธิปไตย

(3) ศึกษาการเมืองตามสภาพที่เป็นจริง

(4) ฝักใฝ่ความทันสมัย

(5) ใช้สถิติประกอบการศึกษา

ตอบ 3 หน้า 2, (คําบรรยาย) มาเคียเวลลี่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ที่สําคัญที่สุดของยุคนวสมัย(Modern Time) โดยเขาเป็นเมธีคนแรกที่บุกเบิกการศึกษาวิชาปรัชญาการเมือง และได้เสนอ ทัศนะที่มีลักษณะผิดเผกไปจากลักษณะความคิดทางการเมือง (เชิงอุดมคติ) ในสมัยกลาง อย่างชัดเจน ซึ่งจะศึกษาและถ่ายทอดความคิดทางการเมืองในเชิงปรัชญาตามสภาพที่เป็นจริง นอกจากนี้งานเขียนทางการเมืองของเขาส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษสําหรับผู้ปกครองในการวิเคราะห์เพื่อแสวงหาวิธีการ (Means) ที่สามารถปฏิบัติในการที่จะได้มาซึ่งอํานาจ

27 “ธรรมชาติของมนุษย์

(1) ความเมตตา

(2) ชอบท้าทายอํานาจ

(3) ความเห็นแก่ตัว

(4) อยากอยู่ร่วมกัน

(5) เกรงกลัวต่ออํานาจ

ตอบ 3 หน้า 2 – 3, (คําบรรยาย) มาเคียเวลลี่ เห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัวก้าวร้าว แสวงหา พยายามที่จะหลีกเลี่ยงอันตราย และโลภในผลกําไร จึงทําให้มีชีวิตอยู่ในภาวะ ของการดิ้นรนและแข่งขันกันเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้คนยังปล่อยจิตให้ตกอยู่ภายใต้ การครอบงําของกิเลสตัณหา ดังนั้นสิ่งที่รัฐหรือสังคมการเมืองจะสามารถนํามาใช้เป็นมาตรการควบคุมความเห็นแก่ตัวอันเป็นธรรมชาติที่ชั่วร้ายของมนุษย์ก็คือ การใช้อํานาจบังคับ

28 ในทัศนะมาเคียเวลลี ผู้ปกครองควรมีขันติเพื่อ

(1) ทบทวนท่าทีของศัตรู

(2) ข่มความรู้สึกที่แท้จริง

(3) รับฟังคําวิจารณ์โดยสุจริตใจ

(4) ให้เกิดความยําเกรง

(5) แสดงความเป็นราชสีห์

ตอบ 3 หน้า 5 ในทัศนะของมาเคียเวลลี่นั้น ผู้ปกครองควรมีขันติเพื่อยอมรับฟังคําวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจของเหล่าขุนนาง เพราะจะทําให้ได้ทราบถึงความเป็นไปที่แท้จริงของสถานการณ์ต่าง ๆ

29 มาเคียเวลลี่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขียนงานของตนเองเพื่อประจบ

(1) ผู้นําตระกูลเมดิซี่

(2) กษัตริย์ของอิตาลี

(3) ผู้นําเมืองฟลอเรนซ์

(4) ผู้นํากรุงโรม

(5) ทรราช

ตอบ 1 หน้า 7 ในงานเขียนเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองนั้น มาเคียเวลลี่ เห็นว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดสําหรับอิตาลี แต่มิได้หมายความว่าระบบ การปกครองโดยคน ๆ เดียวที่มีอํานาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดซึ่งจากทัศนะ ดังกล่าวนี้ทําให้มาเคียเวลลี่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขียนงานของตนเองขึ้นมาเพราะต้องการประจบผู้นําตระกูลเมดิซี่ เพื่อขอตําแหน่งทางการเมืองเท่านั้นเอง

30 มาเคียเวลลี่ สอนว่าคนรอบข้างผู้ปกครองมักชอบ

(1) นินทาผู้ปกครอง

(2) เพ็ดทูลสิ่งที่ผู้ปกครองชอบได้ยิน

(3) แสดงความจงรักภักดีจนเกินเลย

(4) แสวงหาอามิสสินจ้าง

(5) มีนิสัยสุรุ่ยสุร่าย

ตอบ 2 หน้า 5 มาเคียเวลลี่ เห็นว่า คนรอบข้างผู้ปกครอง (มุขบุรุษหรือมุขชน) ทั้งพวกขุนนางหรือข้าราชการมักชอบประจบสอพลอ ชอบเพ็ดทูลสิ่งที่ผู้ปกครองชอบได้ยินมากกว่าสิ่งที่ควรจะฟังหรือ ชอบปิดกั้นความจริงที่ผู้ปกครองควรจะทราบ ซึ่งหากผู้ปกครองค้นพบคุณสมบัติดังกล่าวนี้ในตัวข้าราชการผู้ใด ก็ควรที่จะลงโทษหรือกําจัดโดยเร็ว เพราะพวกนี้เองที่จะเป็นผู้ทําลายเสถียรภาพของผู้ปกครอง

31 แนวความคิดที่สําคัญของมาเคียเวลลี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ

(1) ภาวะความเป็นผู้นํา

(2) เงื่อนไขระบอบประชาธิปไตย

(3) เผด็จการที่มีคุณธรรม

(4) ยุทธวิธีในการขยายดินแดน

(5) เป้าหมายแห่งรัฐ

ตอบ 1 หน้า 9 มาเคียเวลลี่ เห็นว่า คุณค่าของรัฐบาลแห่งประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐมีผู้นําที่เข้มแข็ง โดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอาจเป็นผู้วางรูปแบบหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ แต่เขาทั้งหลายจะต้องอยู่ภายใต้การนําของผู้นําที่เข้มแข็ง เสถียรภาพและความไพบูลย์แห่ง สาธารณรัฐจึงจะบังเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแนวความคิดที่สําคัญของเขาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นํานั่นเอง

32 สิ่งที่มุขบุรุษพึงมีเยี่ยงสุนัขจิ้งจอก คือ

(1) การมีพรรคพวก

(2) ความเฉลียวฉลาด

(3) ความเย่อหยิ่ง

(4) ความว่องไว

(5) ความเด็ดขาด

ตอบ 2 หน้า 7 มาเคียเวลลี่ เห็นว่า ผู้ปกครองหรือมุขบุรุษควรมีคุณสมบัติแห่งจิ้งจอกและราชสีห์รวมเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ ผู้ปกครองควรมีความเฉลียวฉลาดดุจดังสุนัขจิ้งจอก และมีความเข้มแข็งอย่างราชสีห์ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถผจญกับเล่ห์เหลี่ยมและปราบปรามผู้ที่ตนปกครองได้นั่นเอง

33 “ทหารเกณฑ์”

(1) การดุลอำนาจ

(2) สงครามระหว่างรัฐ

(3) ความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง

(4) ความขี้ขลาด

(5) ความกล้าหาญ

ตอบ 5 หน้า 4 มาเคียเวลลี่ เห็นว่า กองทัพที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยทหารประจําการหรือทหารเกณฑ์ไม่ใช่ทหารรับจ้าง เพราะทหารเกณฑ์เท่านั้นที่จะมีความกล้าหาญและพร้อมจะสละชีวิตในสมรภูมิ ส่วนทหารรับจ้างมักจะมีปัญหาเรื่องความสวามิภักดิ์เนื่องจากเห็นแก่อามิสสินจ้างมากกว่าหน้าที่ในสมรภูมิ ดังนั้นแทนที่จะส่งเสริมอํานาจผู้ปกครอง กลับจะทําลายอํานาจของผู้ปกครองในที่สุด

34 มาเคียเวลลี่ แนะนําว่าการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของผู้นําทําให้

(1) ผู้นําไม่ต้องรักษาสัจจะ

(2) ผู้นําต้องกล้าได้กล้าเสีย

(3) ผู้นําต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา

(4) ผู้นําต้องรักษาสัจจะ

(5) ถูกทั้งข้อ 2, 3 และ 4

ตอบ 1 หน้า 7 มาเคียเวลลี่ เห็นว่า ผู้ปกครองต้องเป็นคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมและไม่รักษาสัจจะ หากสัจจะนั้นจะทําลายผลประโยชน์ของตนเอง โดยเขาให้เหตุผลว่า “การรักษาสัจจะนั้น เป็นสิ่งดี หากคนทั้งหมดเป็นคนดี แต่คนตามธรรมชาตินั้นเลว และไม่รักษาสัจจะกับผู้ปกครอง ดังนั้นผู้ปกครองก็ไม่จําเป็นที่จะต้องรักษาสัจจะกับเขา”

35 สิ่งใดที่รัฐสามารถนํามาใช้เป็นมาตรการควบคุมความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

(1) ศาสนา

(2) การศึกษาอบรม

(3) อํานาจบังคับ

(4) การสถาปนาระบบกรรมสิทธิ์ร่วม

(5) การยกเลิกกรรมสิทธิ์

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 27. ประกอบ

36 ข้อใดคือรูปการปกครองที่นํามาซึ่งความวุ่นวายทางการเมือง

(1) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(2) สมบูรณาญาสิทธิราชย์

(3) ประชาธิปไตย

(4) อภิชนาธิปไตย

(5) สาธารณรัฐแบบผสม (ประชาธิปไตยกับอภิชนาธิปไตย)

ตอบ 3 หน้า 8 มาเคียเวลลี่พอใจในรูปการปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอภิชนาธิปไตยและประชาธิปไตย โดยเขาเห็นว่ารูปการปกครองแบบประชาธิปไตยจะก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายทางการเมืองได้ เพราะถ้าให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้พิทักษ์เสรีภาพแล้วพวกอภิชนจะไม่ไว้วางใจและอาจก่อการขัดขืนหรือปฏิวัติขึ้นได้

37 “อันตรายของผู้ปกครองอันเกิดจากขุนนางหรือข้าราชการ” เป็นผลของ

(1) การกดขี่รังแกประชาชน

(2) การใช้อภิสิทธิ์แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

(3) การปรารถนาอํานาจหรือความมักใหญ่ใฝ่สูง

(4) การปิดกั้นความจริงที่ผู้ปกครองควรทราบ

(5) การฉ้อราษฎร์บังหลวง

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 30. ประกอบ

38 “วิธีดําเนินการกับโชคชะตาของผู้ปกครอง”

(1) การใช้ความรักและความยําเกรง

(2) การยึดมั่นศรัทธาในศาสนา

(3) การทําความดี

(4) การวางแผนการไว้ล่วงหน้า

(5) ความกล้าหาญ

ตอบ 5 หน้า 6 มาเคียเวลลี่ เชื่อว่า โชคชะตา (Fortuna) นั้นเป็นผู้ควบคุมการกระทําของเราครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งให้อยู่ในความควบคุมของเรา ดังนั้นแม้ว่าโชคชะตาจะมีอิทธิพลต่อความเป็นไป และเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ก็ตาม แต่ถ้าผู้ปกครองหรือมุขบุรุษมีความกล้าหาญและมีสติปัญญารอบคอบเพียงพอแล้ว ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่กําหนดโดยโชคชะตาได้

 

ฮอบส์

39 ฮอบส์เป็นนักคิดที่สนับสนุนระบอบ

(1) ประชาธิปไตย

(2) ธนาธิปไตย

(3) อํามาตยาธิปไตย

(4) สมบูรณาญาสิทธิราชย์

(5) สังคมนิยม

ตอบ 4 หน้า 13, 25, 27 แม้ว่าฮอบส์จะสนับสนุนให้องค์อธิปัตย์หรือกษัตริย์หรือผู้ปกครองเป็นผู้ใช้อํานาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวตามหลักการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือ แบบเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ตาม แต่องค์อธิปัตย์ของฮอบส์นั้นจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล ที่ได้อํานาจมาจากการทําสัญญาระหว่างประชาชน โดยที่ทุกคนตกลงยินยอมพร้อมใจหรือ เห็นพ้องต้องกันด้วยเสียงข้างมากที่จะมอบอํานาจให้แก่ผู้ปกครอง ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย

40 ความเท่าเทียมกันทางร่างกาย หมายถึง

(1) ในด้านกําลังกาย

(2) ในด้านอวัยวะ

(3) ในด้านการต่อสู้ความคิดอ่าน

(4) ในด้านความอ่อนแอเหมือน ๆ กัน

(5) ในด้านการใช้อาวุธ

ตอบ 3 หน้า 16 ฮอบส์ เห็นว่า ความเท่าเทียมกันทางร่างกาย หมายถึง ความเท่าเทียมกันในด้านการต่อสู้ความคิดอ่าน โดยเขาอธิบายว่า แม้คนเราจะมีความแตกต่างกันในด้านกําลังกายและความคิดอ่านก็ตาม แต่เขาไม่อาจจะอาศัยเหตุผลแห่งความแตกต่างนี้เป็นข้ออ้างเพื่อประโยชน์ ของตนเหนือคนอื่นได้ตลอดไป ทั้งนี้เพราะว่าแม้คนที่อ่อนแอที่สุดก็มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะกําจัดคนที่แข็งแรงที่สุดได้ ซึ่งถ้าไม่กระทําการด้วยเล่ห์ก็โดยการร่วมมือกับผู้อื่น

41 สัญญาประชาคมเป็นสิ่งจําเป็น เพราะ

(1) มนุษย์ขาดวินัย

(2) ความอ่อนแอของพลังศาสนจักร

(3) มนุษย์รักและเคารพกติกา

(4) ธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบทําร้ายซึ่งกันและกัน

(5) มนุษย์ต้องการความหลุดพ้น

ตอบ 4 หน้า 21, 24 ฮอบส์ เห็นว่า การทําสัญญาประชาคมถือเป็นข้อตกลงระหว่างมนุษย์ที่จะยุติการกระทําอันตรายต่อกันและกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การทําสัญญาประชาคม ก็คือ การสละสิทธิตามธรรมชาติในส่วนที่จะทําร้ายผู้อื่นเพื่อปกป้องและรักษาตนเองให้ปลอดภัย ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่พึงกระทํา เพราะจะขัดแย้งกับกฎธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่ามนุษย์จะไม่ทําอะไรที่เป็นการทําร้ายตัวเอง

42 ฮอบส์เชื่อว่าสภาวะแห่งพันธะสัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อองค์อธิปัตย์

(1) ถูกโค่นล้มโดยปวงชน

(2) ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

(3) ตกลงกับปวงชนที่จะยกเลิกสัญญา

(4) ถูกโค่นล้มโดยขุนนางอํามาตย์

(5) ถูกรัฐอื่นรุกราน

ตอบ 2 หน้า 24 ฮอบส์ เห็นว่า ในกรณีที่องค์อธิปัตย์ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้ หรือไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองได้ ก็หมายความว่า เขาได้ สูญเสียอํานาจและหมดสภาพความเป็นองค์อธิปัตย์ไปโดยปริยาย สภาวะแห่งพันธะสัญญาก็จะสิ้นสุดลง แต่ละคนก็จะตกอยู่ในสภาวะธรรมชาติตามเดิม

43 ตามทฤษฎีสัญญาประชาคมนั้น “องค์อธิปัตย์ไม่มีวันที่จะกระทําผิด” ข้อความที่ขีดเส้นใต้อธิบายได้ จากเหตุผลใด

(1) การผูกมัดจากสัญญา

(2) การไม่ถูกผูกมัดโดยสัญญา

(3) การปฏิบัติไปตามตัวบทกฎหมาย

(4) การเป็นตัวแทนเจตจํานงทั่วไป

(5) การเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย

ตอบ 2 หน้า 24 ตามทฤษฎีสัญญาประชาคมของฮอบส์นั้น องค์อธิปัตย์จะทําหน้าที่เป็นเพียงผู้รับมอบอํานาจตามที่คู่สัญญาหรือประชาชนทั้งหลายได้ตกลงกันไว้ ดังนั้นองค์อธิปัตย์จึงไม่มีข้อผูกพัน ใด ๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามหรือรับผิดชอบต่อคู่สัญญา ซึ่งในเมื่อเป็นผู้ที่อยู่นอกเหนือสัญญาแล้ว ก็จะไม่มีการกระทําใด ๆ ขององค์อธิปัตย์ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดสัญญา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ว่าองค์อธิปัตย์ จะทําอะไรก็ไม่มีความผิดนั่นเอง

44 “อํานาจร่วม” (Common Power) ตามทฤษฎีสัญญาประชาคมมีต้นตอหรือที่มาจากกลุ่มหรือบุคคลใด

(1) องค์อธิปัตย์

(2) สภาผู้แทนราษฎร

(3) คณะรัฐมนตรี

(4) คู่สัญญา

(5) บุคคลสมมุติ

ตอบ 4 หน้า 21 – 22, 24 ฮอบส์ เห็นว่า อํานาจร่วม (Common Power) หรือการก่อตั้งรัฏฐาธิปัตย์นั้นเป็นผลมาจากการทําสัญญาประชาคมระหว่างคนทุกคนที่เป็นคู่สัญญากัน โดยเห็นพ้องต้องกัน ที่จะมอบอํานาจและสละสิทธิ์ตามธรรมชาติของตนให้แก่บุคคลที่สาม ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญา แต่จะอยู่ในฐานะเป็นองค์อธิปัตย์หรือรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ใช้อํานาจร่วมหรืออํานาจอธิปไตย โดยอํานาจอธิปไตยนี้ถือเป็นอํานาจเด็ดขาดขององค์อธิปัตย์

45 การได้มาซึ่งอํานาจขององค์อธิปัตย์สอดคล้องกับหลักการของแนวความคิดหรือทฤษฎีใด

(1) เทวสิทธิ์

(2) ปฏิวัติ

(3) เผด็จการ

(4) ประชาธิปไตย

(5) ข้อ 1 และ 3

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 39 ประกอบ

46 การใช้อํานาจขององค์อธิปัตย์สอดคล้องกับหลักการของแนวความคิดหรือทฤษฎีใด

(1) รัฐธรรมนูญ

(2) การกระจายอํานาจ

(3) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(4) ประชาธิปไตย

(5) นิติธรรม

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 39. ประกอบ

47 ข้อใดที่ถือว่าเป็นสาระสําคัญของการทําสัญญาประชาคม

(1) การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

(2) การไม่เปลี่ยนแปลงรัฐบาล

(3) การสละสิทธิธรรมชาติ

(4) การไม่สละสิทธิธรรมชาติ

(5) การหาหลักประกันการละเมิดสัญญา

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 41. ประกอบ

48 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ใช้อํานาจร่วมตามแนวความคิดของสัญญาประชาคม

(1) พระมหากษัตริย์

(2) ผู้แทนราษฎร

(3) คณะรัฐมนตรี

(4) ประชาชนทั้งหมด

(5) องค์อธิปัตย์

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 44. ประกอบ

49 ล็อคได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ในประเทศ

(1) สหรัฐอเมริกา

(2) อิตาลี

(3) ฝรั่งเศส

(4) ฮอลแลนด์

(5) เยอรมนี

ตอบ 4 หน้า 31 – 32 ล็อค เป็นนักปราชญ์ทางการเมืองชาวอังกฤษที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ในประเทศฮอลแลนด์ และถูกขนานนามว่าเป็นผู้ให้กําเนิดแนวความคิดเสรีนิยม นอกจากนี้แนวความคิดของเขายังมีอิทธิพลและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักคิด ทั้งมองเตสกิเออ, รุสโซ, เดอ ทอคเกอร์วิลล์ และนักคิดร่วมสมัยในฝรั่งเศสก็ได้ใช้ทฤษฎีของล็อคในการวิเคราะห์ระบบเก่าอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

50 ล็อคเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลเกิดจาก

(1) การถ่ายโอนเป็นมรดกตกทอด

(2) การประกาศความเป็นเจ้าของ

(3) การยอมรับความเป็นเจ้าของของผู้ใดผู้หนึ่งโดยผู้อื่น

(4) การใช้แรงงานต่อสิ่งของนั้น ๆ

(5) การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามกฎหมาย

ตอบ 4 หน้า 34 ล็อค เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ตามธรรมชาติในโลกนี้ทั้งหมดเป็นของทุกคน(ชาวโลกทั้งมวล) หรือทุกคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกัน โดยแต่ละคนสามารถมีกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินส่วนตัวหรือส่วนบุคคล (Private Property) ได้ก็ต่อเมื่อเขาได้ใช้แรงงานจาก ร่างกายเคลื่อนย้ายหรือเก็บเกี่ยวของสิ่งนั้น รวมทั้งในการสะสมทรัพย์สินก็จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นด้วย

51 ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะสูงสุดหรือ Supreme Power นั้นตรงกับข้อใด

(1) เป็นองค์อธิปัตย์

(2) เป็นที่มาของฝ่ายบริหาร

(3) เป็นองค์กรที่ใช้สิทธิพิเศษ

(4) เป็นองค์กรที่แสดงเจตจํานงของรัฐ

(5) เป็นผู้ออกกฎหมายควบคุมประชาชน

ตอบ 5 หน้า 39 – 40 ในทัศนะของล็อคนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นองค์กรที่ใช้อํานาจสูงสุดภายในรัฐเหนืออํานาจอื่นทั้งหมด (Supreme Power) ซึ่งทําหน้าที่เป็นผู้ออกกฎหมายควบคุมประชาชนเท่านั้นแต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่ใช้อํานาจอธิปไตยหรือเป็นองค์อธิปัตย์ภายในรัฐแต่อย่างใด

52 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ถือได้ว่าเป็นองค์อธิปัตย์แห่งรัฐที่แท้จริง

(1) ประชาชนทั้งหมด

(2) ประชาชนส่วนใหญ่

(3) ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

(4) ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐบาล

(5) ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด

ตอบ 1 หน้า 40 ล็อค เห็นว่า ประชาชนทั้งหมด (ประชาชนทั้งมวล) จะอยู่ในฐานะเป็นองค์อธิปัตย์แห่งรัฐที่แท้จริง แต่สามารถใช้อํานาจอธิปไตยได้เป็นครั้งคราวในกรณีที่รัฐบาลถูกยุบเท่านั้น

53 เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ถูกต้อง ปัจจัยอะไรที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินชี้ขาด

(1) การครอบครอง

(2) การใช้สอยส่วนตัว

(3) การรับรองโดยกฎหมาย

(4) การใช้แรงงาน การสะสมที่ไม่ก่อความเสียหายต่อผู้อื่น

(5) การใช้แรงงานของตนเอง

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 50 ประกอบ

54 ธรรมชาติของมนุษย์

(1) มีเมตตาธรรม

(2) มีเหตุผลและใฝ่สันติ

(3) มีความสุขุม

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 33 ล็อค เห็นว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีคุณสมบัติประจําตัว คือ ความมีเหตุผลอันเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้แก่มนุษย์ทุกคน ซึ่งนอกจากความมีเหตุผลแล้วมนุษย์ยังมีความเมตตาธรรม ใฝ่สันติ และสุขุมรอบคอบอีกด้วย

55 ผู้ที่อยู่ในฐานะ “องค์อธิปัตย์” ในทัศนะของล็อค

(1) รัฐบาล

(2) องค์กรนิติบัญญัติ

(3) ประชาชนทั้งมวล

(4) ตุลาการ

(5) ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 52 ประกอบ

56 สภาวะแห่งความเสมอภาคในสภาวะธรรมชาติ หมายถึง ความเท่าเทียมกันในด้านใด

(1) ความเป็นมนุษย์

(2) ร่างกายและจิตใจ

(3) ความดีงาม

(4) ความมีเหตุผล

(5) สิทธิและอํานาจ

ตอบ 5 หน้า 33 ในทัศนะของล็อคนั้น มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติมีลักษณะที่สําคัญอยู่ 2 ประการ คือ

1 สภาวะแห่งเสรีภาพอันสมบูรณ์ หมายถึง ทุกคนมีอิสระเสรีอย่างเต็มเปี่ยมที่จะกระทําสิ่งใด ๆไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพย์สินหรือร่างกายของเขาตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสมภายใต้กฎธรรมชาติ โดยไม่จําเป็นต้องขออนุญาตหรือขึ้นอยู่กับเจตจํานงของผู้อื่น

2 สภาวะแห่งความเสมอภาค หมายถึง ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในสิทธิและอํานาจ โดยที่อํานาจและสิทธิทั้งหมดอยู่ที่บุคคลแต่ละคน เพราะฉะนั้นในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกันจึงไม่มีผู้ใดมีอํานาจหรือสิทธิเหนือผู้อื่น

57 ล็อคถูกขนานนามว่าเป็นผู้ให้กําเนิดแนวความคิด

(1) อนุรักษนิยม

(2) ประชานิยม

(3) เสรีนิยม

(4) สังคมนิยม

(5) วัตถุนิยมวิภาษวิธี

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

 

รุสโซ

58 รุสโซ เชื่อว่าแม้ว่าสภาพธรรมชาติจะเป็นสภาพที่น่าอยู่ แต่สังคมการเมืองเกิดขึ้นเพราะ

(1) มนุษย์เราเป็นสัตว์การเมือง

(2) มนุษย์เราชอบทดลองสังคมรูปแบบใหม่

(3) มนุษย์เราต้องการความสมบูรณ์โดยการอยู่อาศัยร่วมกัน

(4) มนุษย์เราต้องการหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมที่ป่าเถื่อน

(5) มนุษย์เราไม่มีทางเลือกอื่น

ตอบ 3 หน้า 69 – 70, (คําบรรยาย) รุสโซ เห็นว่า การเกิดสังคมการเมืองเป็นผลมาจากสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องการความสมบูรณ์โดยการอาศัยอยู่ร่วมกัน แม้ว่าจะมีส่วนทําลายความบริสุทธิ์ และความดีงามของมนุษย์ก็ตาม แต่สิ่งที่มนุษย์ได้รับการทดแทนจากการสูญเสียความบริสุทธิ์ และความดีงามในสังคมการเมืองสมัยใหม่นั้นก็คือ ความสมบูรณ์ทางจิตใจ

59 “สิ่งที่มนุษย์ได้รับการทดแทนจากการเสียความบริสุทธิ์ในสังคมสมัยใหม่”

(1) ความเสมอภาคทางการเมือง

(2) ความเสมอภาคในกรรมสิทธิ์

(3) ความสมบูรณ์ในการดํารงชีพ

(4) ความปลอดภัยในชีวิต

(5) ความสมบูรณ์ทางจิตใจ

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 58. ประกอบ

60 “ผลอันเกิดจากที่มนุษย์ต้องการความสมบูรณ์”

(1) สภาวะสงคราม

(2) ความอิจฉาริษยา

(3) ความขยันขันแข็ง

(4) การร่วมมือกับผู้อื่น

(5) ความสุขในอนาคต

ตอบ 4 หน้า 69 รุสโซ อธิบายว่า ความสมบูรณ์นั้นมนุษย์หาได้จากการร่วมมือหรือการพึ่งพิงบุคคลอื่นดังนั้นผลอันเกิดจากการที่มนุษย์ต้องการความสมบูรณ์ก็คือ การร่วมมือกับผู้อื่นนั่นเอง

61 “รัฐบาล” ตามแนวคิดสัญญาประชาคม หมายถึงบุคคลหรือสถาบันใด

(1) นิติบัญญัติ

(2) บริหาร

(3) ตุลาการ

(4) องค์อธิปัตย์

(5) ข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 2 หน้า 79 ตามทฤษฎีสัญญาประชาคม รุสโซ อธิบายว่า “รัฐบาล” หมายถึงผู้ที่ใช้อํานาจบริหารซึ่งมีฐานะเป็นเพียงแค่องค์กรที่รับมอบอํานาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนเท่านั้น อีกทั้งรัฐบาล เป็นเพียงคณะบุคคลที่นําเอาเจตจํานงทั่วไปมาปฏิบัติ รัฐบาลไม่ใช่องค์อธิปัตย์ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลมาจากกฎหมายมิใช่เป็นการทําสัญญา

62 รุสโซ เชื่อว่ามนุษย์เราจะปราศจากเสรีภาพหากปราศจาก

(1) กฎหมายที่เป็นธรรม

(2) ผู้นําที่ทรงคุณธรรม

(3) ระบบการตรวจสอบที่ดี

(4) ความเสมอภาค

(5) หลักประกันทางกฎหมาย

ตอบ 4 หน้า 81 รุสโซ เชื่อว่า ถ้ามนุษย์ปราศจากเสียซึ่งความเสมอภาค การใช้เสรีภาพของมนุษย์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคน ๆ หนึ่งตกเป็นทาสของอีกคนหนึ่งนั้นหมายถึงว่า เขาได้สูญเสียความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ไปแล้ว เสรีภาพของเขาจึงขึ้นอยู่กับผู้เป็นนายเท่านั้น

63 “มนุษย์เกิดมาอย่างเสรี แต่ต้องตกอยู่ภายใต้พันธนาการทุกแห่งหน” คําว่า “พันธนาการ” หมายถึง

(1) การบีบบังคับโดยผู้ปกครอง

(2) การตกเป็นทาสแห่งอารมณ์ของตนเอง

(3) ขนบธรรมเนียมประเพณีและข้อบังคับต่าง ๆ

(4) สภาวะแห่งความเป็นทาส

(5) ความเชื่อในศาสนา

ตอบ 3 หน้า 67, 71 – 72 จากคํากล่าวข้างต้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของสังคมสมัยใหม่ซึ่งความเป็นอิสระหรือภาวะที่เป็นเสรีนั้นได้ถูกทําลายลงโดยสถาบันการปกครองและอารยธรรม ของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องพันธนาการหรือโซ่ตรวนบันทอนเสรีภาพของมนุษย์ในลักษณะที่แฝงมาในรูปอื่น เช่น กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ปทัสถานของสังคม ข้อบังคับต่าง ๆ เป็นต้น

64 สิ่งที่ถือว่าเป็นสาระสําคัญที่สุดของเจตจํานงทั่วไปนั้นคืออะไร

(1) เสียงข้างมาก

(2) เสียงเอกฉันท์

(3) ผลประโยชน์ของทุกคน

(4) ผลประโยชน์ของคนแต่ละคน

(5) ความสมบูรณ์ทางจิตใจ

ตอบ 3 หน้า 75, 77, (คําบรรยาย) รุสโซ เห็นว่า เจตจํานงทั่วไปเป็นเจตจํานงที่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือผลประโยชน์ของคนทุกคนเป็นหลัก ส่วนเจตจํานงเฉพาะส่วน เป็นเจตจํานงที่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของแต่ละคนเป็นหลัก

65 “ผู้ทรงอํานาจอธิปไตย”

(1) ประชาชนส่วนใหญ่

(2) ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

(3) ประชาชนทั้งมวล

(4) สภาผู้แทนราษฎร

(5) รัฐบาล ตอบ 3 หน้า 78 รุสโซ เห็นว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทั้งมวล และประชาชนสามารถใช้อํานาจอธิปไตยนี้ได้โดยการทําหน้าที่บัญญัติกฎหมาย เพราะว่าในการบัญญัติกฎหมายนั้นประชาชนมีอํานาจเต็มที่ไม่ต้องเชื่อฟังใคร

66 สิ่งที่นําไปสู่ความไม่เสมอภาคในทัศนะของรุสโซ คือ

(1) กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

(2) ระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล

(3) ระบบอภิสิทธิ์ชน

(4) สภาวะสงคราม

(5) การใช้เสรีภาพอย่างเกินขอบเขต

ตอบ 2 หน้า 69 70 รุสโซ เห็นว่า การเกิดระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวนั้นจะนําไปสู่ความไม่เสมอภาคในหมู่มนุษย์ ซึ่งเรียกว่า ความไม่เสมอภาคทางการเมืองหรือความไม่เสมอภาค ทางจิตใจ ตัวอย่างที่พอจะเห็นได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรวย ความจน มีเกียรติ ไร้เกียรติเกิดอภิสิทธิ์ชน สามัญชน เป็นต้น

 

เฮเกล

67 เหตุผลใดที่เฮเกลใช้ในการสนับสนุนความคิดที่ว่า รัฐควรเป็นสถาบันที่มีอํานาจสูงสุดในสังคม

(1) รัฐเป็นผู้ทําให้ความคิดทางจริยธรรมและเสรีภาพของพลเมืองเป็นจริงขึ้นมา

(2) การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบรุนแรงและถอนรากถอนโคน

(3) ความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล

(4) รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต

(5) รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้น

ตอบ 1 หน้า 116, 121 ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับ “รัฐ” ถือได้ว่าเป็นหัวใจของปรัชญาการเมืองของเฮเกลโดยเขาเห็นว่ารัฐควรเป็นสถาบันที่มีอํานาจสูงสุดในสังคม ทั้งนี้เพราะรัฐเป็นผู้ทําให้ความคิดทางจริยธรรมและเสรีภาพของพลเมืองปรากฏเป็นจริงขึ้นมาในสังคม

68 ตามแนวความคิดเรื่องจิตนิยม (Iclealism) เฮเกลแบ่งความเป็นจริงออกเป็น 2 ส่วน อะไรบ้าง

(1) สสารกับอสสาร

(2) จิตกับกาย

(3) จิตกับวัตถุ

(4) ตัวตนและไม่ใช่ตัวตน

(5) กายภาพกับชีวภาพ

ตอบ 1 หน้า 110 ในเรื่องจิตนิยม (Idealism) นั้น เฮเกล เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นจริงจะมีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ 1 สสาร คือ เป็นวัตถุ มองเห็น และจับต้องได้

2 อสสาร คือ ไม่เป็นวัตถุ มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้

69 ข้อใดเป็นการอธิบาย “การเปลี่ยนแปลง (Becoming)” ในทัศนะของเฮเกล

(1) ทุกสิ่งมีสภาวะที่เป็นอยู่ (Beirg) กับสภาวะที่ยังไม่ได้เป็น (Not Being) อยู่ในตัวของมันเอง

(2) ทุกสิ่งมีสภาวะที่ “ปฏิเสธ” (Negation) กับสภาวะธรรมชาติ

(3) ทุกสิ่งเป็น “สภาวะขัดแย้ง” กับประวัติศาสตร์

(4) ทุกสิ่งเป็นพลวัตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

(5) ทุกสิ่งมีเหตุผล แต่ขัดแย้งกันเองเสมอ

ตอบ 1 หน้า 111 เฮเกล อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลง (Becoming) หมายถึง การเปลี่ยนสภาพหรือสถานภาพของสรรพสิ่งทั้งหลายจากที่เคยเป็นอยู่ไปสู่สภาพอื่น ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ เขาเห็นว่าทุกสิ่งจะมีสภาวะที่เป็นอยู่ (Being) กับสภาวะที่ยังไม่ได้เป็น (Not Being) อยู่ภายในตัวของมันเองในเวลาเดียวกัน ดังนั้นจึงทําให้เกิดการขัดแย้งระหว่างลักษณะทั้งสองขึ้น ซึ่งการขัดแย้งนี้ก็จะนําไปสู่การผสมผสานเกิดเป็นสิ่งใหม่หรือสภาวะใหม่ที่ดีกว่าของเดิม

70 อะไรเป็นตัวแทนอํานาจของ “รัฐ” ในทัศนะของเฮเกล

(1) ครอบครัว

(2) สิทธิประชาชน

(3) กฎหมาย

(4) กลุ่มผลประโยชน์

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 3 หน้า 120 เฮเกล เห็นว่า ตัวแทนอํานาจของ “รัฐ” ได้แก่ 1 รัฐธรรมนูญหรือการบริหารภายในของแต่ละรัฐ 2 กฎหมายระหว่างประเทศ 3 ประวัติศาสตร์โลก

71 “จิต” (Idea)

(1) อสสาร

(2) มนุษย์

(3) ความขัดแย้ง

(4) การเปลี่ยนแปลง

(5) ความไม่เปลี่ยนแปลง

ตอบ 1 หน้า 110 111 ในทัศนะของเฮเกลนั้น จิตหรือความคิด (Idea) คือ ส่วนที่มีลักษณะเป็นอสสาร ซึ่งจะมีบทบาทในการกําหนดส่วนที่เป็นสสาร กล่าวคือ จิตจะทําหน้าที่เป็นประธานส่วนวัตถุหรือสรรพสิ่งทั้งหลายจะเป็นกรรมหรือผู้ถูกกระทํา

72 ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาประเทศได้แก่ข้อใด

(1) สงครามระหว่างรัฐ

(2) ความสงบภายใน

(3) แผนพัฒนาประเทศ

(4) การระดมทุนภายในประเทศ

(5) การระดมทุนภายนอกประเทศ

ตอบ 1 หน้า 130 เฮเกล เห็นว่า สงครามระหว่างรัฐคือปัจจัยที่ทําให้เกิดการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นเสมือนตัวเร่งไปสู่สภาวะใหม่ที่ดีกว่า โดยช่วยขจัดฝ่ายที่เก่าแก่และล้าสมัยให้หมดสิ้นไป แล้วเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแทนที่ นอกจากนี้การทําสงครามยังเป็นวิธีการที่สามารถแก้ไขความเสื่อมทราม (Corruption) อันเป็นผลจากการมีสันติภาพอันถาวรอีกด้วย

73 แนวความคิดเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ” มีอิทธิพลต่อลัทธิใด

(1) ประชาธิปไตย

(2) สังคมนิยม

(3) คอมมิวนิสต์

(4) ฟาสซิสต์

(5) เลเซแฟร์

ตอบ 4 หน้า 121, 132 แนวความคิดของเฮเกลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐในลักษณะที่รัฐเป็นสถาบันที่มีอํานาจสูงสุดเหนือเอกชนหรือบุคคล และบุคคลจะต้องเคารพบูชารัฐนั้น ได้มีอิทธิพลต่อลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี และลัทธินาซีในเยอรมนี้ในเวลาต่อมา โดยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์โลกอย่างยิ่งใหญ่และกว้างขวาง

 

ฟาสซิสต์

74 ความเชื่อที่ว่าอารยันเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่

(1) ชาติ

(2) เชื้อชาติ

(3) รัฐ

(4) ผู้นํา

(5) ประชาชน

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซีมีหลักการสําคัญที่แตกต่างกันก็คือ หลักชาตินิยม(Nationalism) โดยลัทธิฟาสซิสต์จะเป็นชาตินิยมแบบธรรมดาที่สนับสนุนให้ประชาชนเกิดความรู้สึก รักชาติอย่างไม่มีเหตุผล เช่น การสนับสนุนให้รัฐบาลเป็นจักรวรรดินิยม ส่วนลัทธินาซีนั้นเป็นชาตินิยมแบบเชื้อชาติ โดยมีความเชื่ออย่างฝังแน่นที่ว่าอารยันเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าชาติอื่น

75 ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผลเป็นแรงผลักให้ดําเนินการใด ๆ เพื่อส่วนรวม

(1) Irrationalism

(2) Nationalism

(3) Internationalism

(4) Social Darwinism

(5) Elitism

ตอบ 1 หน้า 301 302, (คําบรรยาย) หลักการพื้นฐานที่สําคัญของลัทธิฟาสซิสต์ มีดังนี้

1 หลักความไม่มีเหตุผล (Irrationalism) โดยเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผลเป็นแรงผลักให้ดําเนินการใด ๆ เพื่อส่วนรวม

2 หลักชาตินิยมหรือความรักชาติ (Nationalism) โดยสนับสนุนให้ประชาชนสร้างความรู้สึกรักชาติอย่างไม่มีเหตุผล

3 หลักทฤษฎีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของ Charles Darwin ซึ่งเรียกว่า Social Darwinism 4 หลักว่าด้วยรัฐ (State)

5 หลักว่าด้วยเรื่องผู้นํา (Elitism)

6 หลักว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ (Economic)

 

สํานักอนุรักษนิยม (Conservative)

76 สิ่งที่เป็นเงื่อนไขแรกของความ “สมบูรณ์ของมนุษย์” ในทัศนะของ Burke

(1) มนุษย์สมบูรณ์ได้ด้วยสติปัญญา

(2) มนุษย์สมบูรณ์ได้ด้วยการเรียนรู้

(3) มนุษย์สมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสังคมการเมือง

(4) มนุษย์สมบูรณ์ได้ด้วยกฎหมาย

(5) มนุษย์สมบูรณ์ได้ด้วยการพัฒนาตนเอง

ตอบ 3 หน้า 97 Burke มีทัศนะที่คล้ายกันกับ Aristotle บิดาทางรัฐศาสตร์ในเรื่องของมนุษย์กับสังคมการเมืองที่ว่า มนุษย์จะสมบูรณ์อยู่ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสังคมการเมืองหรืออยู่ใน Polis เท่านั้น

77 สิ่งที่ Burke ไม่ได้นําเสนอ

(1) ความสามารถของคนไม่เท่ากัน

(2) ประชาชนไม่มีสิทธิต่อต้านรัฐบาล

(3) คัดค้าน “หลักเหตุผลนิยม”

(4) คัดค้านสิทธิที่เป็นนามธรรม

(5) ชนชั้นสูงจะเป็นผู้พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ

ตอบ 2 หน้า 86, 96, 98, 100, (คําบรรยาย) ทัศนะของ Burke นอกจากตัวเลือกข้อ 1, 3, 4 และ 5 แล้ว Burke ยังกล่าวอีกว่า เมื่อใดที่รัฐบาลใช้อํานาจไปในทางที่ผิดและนําความเดือดร้อนยุ่งเหยิง มาให้ ประชาชนก็อาจปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลได้ นั่นคือ ประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านรัฐบาลที่กดขี่นั่นเอง

78 รากฐานที่มาของมาตรฐานทางศีลธรรมเกิดจาก

(1) กฎธรรมชาติ

(2) ศาสนา ความเชื่อ

(3) การเรียนรู้จากสังคมอื่น

(4) ความเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์

(5) ประสบการณ์ของมนุษย์ ตอบ 5 หน้า 88 89 Hume เห็นว่า มาตรฐานทางศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกําหนดขึ้นมาจากประสบการณ์ของมนุษย์เอง ซึ่งประสบการณ์นี้จะเป็นเครื่องกําหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรหลีกเลี่ยง อะไรควรรีบรับ ส่วนเหตุผลนั้นเป็นเรื่องที่นั่งคิดขึ้นมาและเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น

79 การก่อตั้งของรัฐหรือสถาบันต่าง ๆ ในทัศนะของ Burke

(1) เกิดจากหลักแห่งเสรีภาพ

(2) เกิดจากความสามารถในการคิดค้นของมนุษย์

(3) เกิดจากธรรมเนียมประเพณี

(4) เกิดจากหลักกฎหมาย

(5) เกิดจากการพัฒนาของสังคม

ตอบ 3 หน้า 97, (คําบรรยาย) Burke เห็นว่า รัฐหรือสถาบันต่าง ๆ ที่คนก่อตั้งขึ้นมานั้นเป็นการก่อตั้งขึ้นมาจากขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้า เป็นระเบียบที่ละเล็กทีละน้อยต่อเนื่องกับอดีต โดยที่มีผลประโยชน์ของคนส่วนรวมเป็นพลัง ผลักดันให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในการกําหนดโครงสร้างของสังคมการเมืองที่ซับซ้อน หรือโครงสร้างของประเพณีและสถาบันต่าง ๆ ขึ้นมา

80 การกําเนิดของสังคมการเมืองในทัศนะของ Hume

(1) ความก้าวร้าว

(2) ภาวะสงคราม

(3) มนุษย์มีเหตุผล

(4) คนมาอยู่รวมกันมาก ๆ

(5) ความโน้มเอียงตามธรรมชาติ

ตอบ 5 หน้า 89 – 90 ในทัศนะของ Hume นั้น สังคมการเมืองหรือรัฐมีรากเหง้าความเป็นมาจาก

1 “ความจําเป็น” ของมนุษย์ที่จะต้องชํารงรักษาสังคมให้มีอยู่เพื่อความยุติธรรม

2 “ความโน้มเอียงตามธรรมชาติ” ที่จะแสวงหาผลประโยชน์ของมนุษย์

3 “นิสัย” ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยทําให้เกิดความเคยชินต่อการเคารพเชื่อฟัง

81 Hume เสนอว่า “สิ่งที่บอกการกระทําของมนุษย์ว่าดีหรือไม่ดี” วัดได้จากอะไร

(1) คุณธรรม

(2) ความรู้สึก

(3) อารมณ์สงบ

(4) ภูมิปัญญา

(5) มาตรฐานทางศีลธรรม

ตอบ 2 หน้า 88, (คําบรรยาย) Hume เห็นว่า สิ่งที่เป็นตัวบอกหรือกําหนดคุณค่าการกระทําของมนุษย์ว่ามีคุณค่าแค่ไหน ดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็คือความรู้สึก ซึ่งแม้ว่าในบางครั้งเหตุผลอาจช่วยนําการกระทําให้บรรลุผลแห่งคุณค่าได้เช่นกัน แต่บทบาทของเหตุผลยังเป็นรองความรู้สึกเพราะ “เหตุผลเป็นทาสของอารมณ์” นั่นเอง

82 ที่มาของมาตรฐานทางศีลธรรม ในทัศนะของ Hume

(1) มนุษย์มีเหตุมีผล

(2) กฎหมาย คือ ส่วนสําคัญของศีลธรรม

(3) ความรู้สึกจะบอกมาตรฐานทางศีลธรรม

(4) มาตรฐานทางศีลธรรมมีอยู่ในภาวะธรรมชาติ

(5) ประสบการณ์ของมนุษย์จะกําหนดมาตรฐานทางศีลธรรม

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ  78 ประกอบ

83 ในทัศนะของ Hume สังคมการเมืองเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

(1) ความที่พึ่งพากัน

(2) ความหวาดกลัวอันตราย

(3) ความมีเหตุผลของมนุษย์

(4) การยึดครองและใช้กฎหมายที่ดี

(5) ความจําเป็น ความโน้มเอียงตามธรรมชาติ

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 80 ประกอบ

 

สํานักประโยชน์นิยม (The Utilitarians)

จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถามข้อ 84. – 88.

(1) Jeremy Bentham

(2) James Mill

(3) John Stuart Mill

(4) Jeremy Bentham & James Mill

(5) James Mill & John Stuart Mill

84 “ผู้แทนต้องมีสองสถานะ” เป็นทัศนะของใคร

ตอบ 2 หน้า 150 – 152, (คําบรรยาย) แนวความคิดที่สําคัญของ James Mitt ได้แก่

1 จุดหมายปลายทางของรัฐบาลก็คือ ความสุขมากที่สุดของประชากรจํานวนมากที่สุด

2 รูปแบบของรัฐบาลที่ต้องการคือ รัฐประชาธิปไตยหรือระบอบประชาธิปไตยทางรัฐสภา(ระบบผู้แทน)

3 การมีรัฐบาลที่ดีขึ้นอยู่กับการที่ประชาชนสามารถตรวจสอบผู้ปกครองได้

4 เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้แทน (ระบบรัฐสภา) เพื่อมาทําหน้าที่ตรวจสอบผู้ปกครอง

5 ผู้แทนราษฎรทุกคนต้องมีสองสถานะ คือ เป็นผู้แทนซึ่งต้องใช้อํานาจเหนือผู้อื่นและเป็นสมาชิกของชุมชน 6 นิยมการปกครองโดยชนชั้นกลางเช่นเดียวกับ Aristotle ฯลฯ

85 ผู้ให้ความสําคัญกับเสรีภาพ (Liberty) ของมนุษย์มากที่สุด

ตอบ 3 หน้า 152, 157 – 159, 161 – 163 แนวความคิดที่สําคัญของ John Stuart Mill ได้แก่

1 เสนอให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้เท่าเทียมกับบุรุษ

2 บุคคลที่ทรยศต่อเพื่อนที่ไว้วางใจเขาย่อมมีโทษผิด

3 ประโยชน์เป็นเครื่องวัดความดีความชั่วของการกระทํา

4 ให้ความสําคัญในเรื่องเสรีภาพ (Liberty) ส่วนบุคคลอย่างมาก โดยเชื่อว่า “การห้ามแสดงความคิดเห็นถือว่าเป็นการปล้นมนุษย์”

5 จุดหมายปลายทางของรัฐบาลก็คือ การทําให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

6 การปกครองควรมี 2 ขั้นตอน คือ การปกครองโดยผ่านผู้แทน และการปกครองโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ 7 ผลของการกระทําเป็นเครื่องตัดสินว่าการกระทํานั้นถูกหรือผิด

8 ให้ความสําคัญกับสิทธิของคนกลุ่มน้อย (Minority Right) โดยเสนอให้มีการเลือกตั้ง ยการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ฯลฯ

(ส่วนของ Bentham & James Mill นั้น จะเน้นการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก แม้จะต้องละเมิดสิทธิของคนกลุ่มน้อยก็ตาม)

86 ผู้ที่เน้นการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก แม้จะต้องละเมิดสิทธิของคนกลุ่มน้อยก็ตาม

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 35 ประกอบ

87 “การมีรัฐบาลที่ดีขึ้นอยู่กับการที่ประชาชนสามารถตรวจสอบผู้ปกครองได้” เป็นทัศนะของใคร

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 84 ประกอบ

88 “จุดหมายปลายทางของรัฐบาลคือ การทําให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น” เป็นทัศนะของใคร

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 85 ประกอบ

89 James Mill นิยมการปกครองโดย

(1) ชนชั้นสูง

(2) ชนชั้นกลาง

(3) ชนทุกหมู่เหล่า

(4) King

(5) นายทุน

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 84 ประกอบ

90 ในทัศนะของ Bentham คนเชื่อผู้ปกครอง เพราะ

(1) เกรงกลัว

(2) มีเหตุผล

(3) เห็นว่ารัฐบาลดี

(4) เป็นผู้เลือกรัฐบาลเอง

(5) ผลประโยชน์ของตน

ตอบ 5 หน้า 138 Bentham มีทัศนะตรงกับ Thomas Hobbes ที่ว่า “คนเราเชื่อฟังผู้ปกครองไม่ใช่เป็นเพราะพันธะข้อผูกพันทางกฎหมายหรือทางศีลธรรม หากเป็นเพราะว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ของตน”

91 รูปแบบรัฐบาลในความประสงค์ของ James Milt

(1) รัฐคณาธิปไตย

(2) รัฐประชาธิปไตย

(3) รัฐบาลโดยผู้เชี่ยวชาญ

(4) รัฐบาลที่ประชาชนสนับสนุน

(5) ปกครองโดยคนกลุ่มน้อยที่มีคุณภาพ

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 84 ประกอบ

 

มองเตสกิเออ (Montesquieu)

92 องค์กรที่ไม่เป็น “องค์กรประจํา” ในทัศนะของ Montesquieu

(1) นิติบัญญัติ

(2) บริหาร

(3) ตุลาการ

(4) พรรคการเมือง

(5) องค์กรอิสระ

ตอบ 3 หน้า 60 Montesquieu เห็นว่า องค์กรตุลาการไม่ควรเป็นองค์กรประจํา แต่ควรเป็นการใช้อํานาจในลักษณะชั่วคราว เมื่อตัดสินคดีเสร็จก็หมดหน้าที่ เมื่อเกิดข้อพิพาทก็ให้เลือกตั้งตุลาการเป็นคราว ๆ ไป โดยผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นก็ให้มาจากกลุ่มประชาชน

93 ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีหลักประกันในอิสรภาพทางการเมืองตามแนวคิดของรัฐบาลสายกลาง (1) การเลือกตั้ง

(2) หลักนิติธรรม

(3) การกระจายอํานาจ

(4) การทําสัญญาประชาคม

(5) การแบ่งแยกและถ่วงดุลอํานาจ

ตอบ 5 หน้า 58, 62, (คําบรรยาย) Montesquieu ได้เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลสายกลางเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีหลักประกันในอิสรภาพทางการเมือง โดยจัดให้มีระบบการแบ่งแยกอํานาจ (Separation of Power) และระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลแห่งอํานาจขององค์กรทั้ง 3 ฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ซึ่งทัศนะดังกล่าวนี้จะเป็นผลดีในด้าน การผ่อนปรนการใช้อํานาจปกครอง และยังถือเป็นรากฐานของระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดีและระบบกึ่งประธานาธิบดี-กึ่งรัฐสภาในปัจจุบัน

94 ความสํานึกต่อส่วนรวมและความรักชาติ คือ คุณธรรมที่ช่วยค้ําจุนรัฐบาลแบบใด

(1) กษัตริย์

(2) ทรราช

(3) สายกลาง

(4) สาธารณรัฐ

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 53 – 54 Montesquieu ได้แยกหลักการของรัฐบาลหรือสิ่งที่เป็นพลังช่วยค้ำจุนให้แก่รัฐบาลแบบต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1 หลักการของรัฐบาลแบบสาธารณรัฐ คือ คุณธรรม (Virtue) หรือความสํานึกต่อส่วนรวมและความรักชาติ 2 หลักการของรัฐบาลแบบกษัตริย์ คือ เกียรติยศ (Honour) 3หลักการของรัฐบาลแบบเผด็จการ คือ ความกลัว (Fear)

95 แนวความคิดของการแยกอํานาจเป็นผลจากการศึกษาระบบการเมืองของประเทศใด

(1) กรีก

(2) โรมัน

(3) อิตาลี

(4) อังกฤษ

(5) ฝรั่งเศส

ตอบ 4 หน้า 48 ความคิดทางการเมืองในเรื่องการแยกอํานาจที่ Montesquieu เสนอนั้น เป็นผลมาจากการศึกษาระบบการเมืองการปกครองของประเทศอังกฤษในขณะนั้น ซึ่ง Montesquieu เข้าใจว่าเป็นระบบการแบ่งแยกอํานาจ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า Montesquieu เข้าใจผิดในเรื่องนี้

96 เกียรติยศ (Honour) คือ คุณธรรมที่ช่วยค้ําจุนรัฐบาลแบบใดในความคิดของมองเตสกิเออ

(1) แบบกษัตริย์

(2) แบบทรราช

(3) แบบสายกลาง

(4) แบบสาธารณรัฐ

(5) แบบประชาธิปไตย

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 94 ประกอบ

  1. ระบบการเมืองใดที่มีลักษณะขัดแย้งกับทฤษฎีการแยกอํานาจ

(1) รัฐสภา

(2) สายกลาง

(3) กึ่งประธานาธิบดี

(4) ประธานาธิบดี

(5) อภิชนาธิปไตย

ตอบ 5 (ดูคําอธิบายข้อ 93. ประกอบ), (คําบรรยาย) ระบบอภิชนาธิปไตยหรือการปกครองโดยคณะบุคคลหมายถึง ระบบการปกครองที่บุคคลคณะหนึ่งสามารถกําหนดกฏเกณฑ์การบริหารประเทศได้ ตามที่กลุ่มของตนปรารถนา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบําบัดทุกข์บํารุงสุขให้กับราษฎรและเป็นการปกครองของชนชั้นสูงหรือโดยขุนนางหรือปัญญาชน

98 หลักการของรัฐบาลเผด็จการ คือ

(1) กฎหมายที่เคร่งครัด

(2) จริยธรรม

(3) เกียรติยศ

(4) เสรีภาพ

(5) ความกลัว

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 94 ประกอบ

99 กฎเกณฑ์ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน

(1) กฎหมายอาญา

(2) กฎหมายมหาชน

(3) กฎหมายการเมือง

(4) กฎหมายปกครอง

(5) กฎหมายเอกชน

ตอบ 5 หน้า 51 Montesquieu ได้จําแนกกฎหมายที่มนุษย์สร้างหรือบัญญัติขึ้นออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) คือ กฎเกณฑ์ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ

2 กฎหมายการเมือง (Political Law) คือ กฎเกณฑ์ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง (ประชาชน)

3 กฎหมายเอกชน (Civil Law) คือ กฏเกณฑ์ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน

100 องค์กรหรือสถาบันใดที่จะช่วยตรวจสอบและจํากัดอํานาจการบริหารที่ป้องกันการใช้อํานาจเกินขอบเขต

(1) กองทัพ

(2) ขุนนาง

(3) นิติบัญญัติ

(4) รัฐธรรมนูญ

(5) กฎหมายการเมือง

ตอบ 2 หน้า 53, 60 ในทัศนะของ Montesquieu นั้น สถาบันตัวกลางในรัฐบาลแบบกษัตริย์ หมายถึงสถาบันที่อยู่ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ซึ่งก็คือบรรดาขุนนางและข้าราชการ โดยจะเป็นผู้ทําหน้าที่ช่วยเหลือกษัตริย์ในการบริหารงาน รวมทั้งยังเป็นสถาบันที่ช่วยตรวจสอบและจํากัด อํานาจบริหารของกษัตริย์ไม่ให้กลายเป็นผู้เผด็จการหรือทรราชที่ใช้อํานาจนอกเหนือจากที่กฎหมายกําหนด

 

Advertisement