การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบอัตนัยทั้งหมด 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 “การเปลี่ยนแปลงและการปรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาล การเกิดขึ้นขององค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร ทั้งจากการกําหนดให้ส่วนหนึ่งของสมาชิกและฝ่ายบริหารมาจากเจ้าหน้าที่ ของรัฐ/ข้าราชการ การเลือกฝ่ายบริหารจากสมาชิกสภาฯ และการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในปัจจุบัน”

จากข้อความดังกล่าวข้างต้น จงอธิบายพร้อมวิเคราะห์แนวคิด หลักการและเหตุผล ในการเปลี่ยนแปลงและดําเนินการให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ มาโดยสังเขป

แนวคําตอบ

แนวคิด หลักการและเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นจากรูปแบบ สุขาภิบาลมาเป็นเทศบาล

– ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งใหญ่ เพื่อทําสยามประเทศให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ จึงเกิดหน่วยการปกครองท้องถิ่น รูปแบบ “สุขาภิบาล” ซึ่งบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสยามประเทศในยุคสมัยนี้ อยู่ในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คณะกรรมการสุขาภิบาลทั้งในกรุงเทพมหานครและ หัวเมืองต่าง ๆ ก็ยังเป็นขุนนางหรือข้าราชการที่พระมหากษัตริย์ เสนาบดี หรือผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้แต่งตั้ง ไม่มีตัวแทนภาคประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่น จึงทําให้ประชาชนเข้าใจว่าสุขาภิบาล ก็คือหน่วยราชการของรัฐบาลที่มาทําหน้าที่รักษาความสะอาดของชุมชน กําจัดขยะ จัดให้มีไฟฟ้า น้ำสะอาด เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการใช้อํานาจอธิปไตยเพื่อปกครองประเทศ คณะราษฎร มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะกระจายอํานาจการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นให้แก่ประชาชน โดยมุ่งหวังให้เป็น โรงเรียนฝึกหัดการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ยุบเลิก การปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลและจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบ “เทศบาล” ซึ่งมีการจัดโครงสร้าง การบริหารราชการออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภาเทศบาล มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และฝ่ายบริหาร เรียกว่า คณะเทศมนตรี มาจากการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาล

แม้เจตนารมณ์ของคณะราษฎรจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลก็ไม่ได้ เป็นไปตามที่คณะราษฎรคาดหวัง เนื่องจากประชาชนในสมัยนี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองตนเอง ที่แท้จริง เพราะไม่มีพื้นฐานของการได้รับสิทธิเลือกตั้งผู้ปกครองมาแต่อดีต ทําให้การจัดตั้งเทศบาลดําเนินไป ด้วยความยากลําบาก รวมทั้งเทศบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วก็เกิดปัญหาและอุปสรรคนานัปการ เช่น ปัญหารายได้ ของท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อํานาจของเทศบาลมีอยู่น้อยกว่าหน้าที่ ประชาชนขาดความรู้ถึงหลักการ ปกครองตนเองและยังคงมีความเข้าใจว่าเทศบาลเป็นหน่วยงานของรัฐบาล รวมทั้งทัศนคติของประชาชนที่เคยชิน กับการรอรับความช่วยเหลือจากทางราชการมากกว่าที่จะพึ่งพาตนเอง จากปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทําให้พระราชบัญญัติเทศบาลถูกยกเลิกและประกาศใช้ในรัฐบาลระยะต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงรูปแบบและโครงสร้างเทศบาลให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองตามความต้องการ ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงส่งผลให้ในปัจจุบันเทศบาลมีอิสระในการกําหนดนโยบายการปกครอง มีอิสระในการบริหารงานบุคคล มีอิสระในด้านการเงินและการคลัง มีอํานาจหน้าที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ รวมทั้งมีโครงสร้างการบริหารราชการซึ่งประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภาเทศบาล และ ฝ่ายบริหาร เรียกว่า นายกเทศมนตรี โดยทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ส่วนการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบสุขาภิบาลนั้น หลังจากที่ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2476 ได้ถูกนํากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การปกครองในรูปแบบสุขาภิบาลถูกพิจารณาว่ามีโครงสร้างไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และไม่เหมาะสมที่จะรองรับการกระจายอํานาจที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 เพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะของ สุขาภิบาลที่มีอยู่เดิมให้เป็นเทศบาลตําบล พร้อมทั้งยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบสุขาภิบาลเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

– แนวคิด หลักการและเหตุผลของการเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีลักษณะหรือ องค์ประกอบบางประการแตกต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่ว ๆ ไป ความแตกต่างนี้สืบเนื่องมาจาก ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้น ๆ เอง เช่น เป็นท้องถิ่นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก เป็นท้องถิ่นที่มีประชากร อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หรือเป็นท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีนักท่องเที่ยวจํานวนมาก เป็นต้น โดยลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นทําให้การใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป ไม่เหมาะสม ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมี การคิดค้นหารูปแบบการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว ซึ่งในกรณีของประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพียง 2 รูปแบบ คือ เมืองพัทยา และ กรุงเทพมหานคร ในกรณีของเมืองพัทยาได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้วยเหตุที่ เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการทดลองการปกครองท้องถิ่นรูปแบบผู้จัดการเมือง (City Manager) ส่วนกรุงเทพมหานครได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้วยเหตุที่กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางทุกด้าน และเป็นมหานครที่สําคัญที่สุดในประเทศไทย

เมืองพัทยา

เมืองพัทยาเดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงอยู่ในเขตสุขาภิบาลนาเกลือ อําเภอบางละมุง จังหวัด ชลบุรี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของเมืองพัทยามีความสวยงามจึงทําให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาเกินขีดความสามารถของสุขาภิบาลนาเกลือ จะจัดการได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะมูลฝอย น้ําเสีย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เมืองเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทาง เพราะขาดการวางผังเมือง ฯลฯ ปัญหาต่าง ๆ มิได้ส่งผลกระทบเฉพาะประชาชนภายในท้องถิ่น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างประเทศ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก กระทรวงมหาดไทยจึงเห็นความจําเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมืองพัทยา รวมทั้งหารูปแบบของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเมืองพัทยา ในขณะนั้นรูปแบบการปกครอง แบบผู้จัดการเมืองซึ่งใช้ได้ผลดีกับการบริหารงานท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีอิทธิพลต่อแนวความคิด ในการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2521 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ยุบเลิกสุขาภิบาลนาเกลือและจัดตั้งเมืองพัทยาเป็นการปกครองท้องถิ่น รูปแบบพิเศษโดยใช้การบริหารรูปแบบสภาและผู้จัดการเมือง ภายหลังต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ระบบการจ้างผู้จัดการเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารขัดแย้งกับบทบัญญัติการปกครอง ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญจึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ซึ่ง ใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน โดยยกเลิกระบบการจ้างผู้จัดการเมืองและใช้ระบบสภาเมืองพัทยากับนายกเมืองพัทยา ซึ่งทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

กรุงเทพมหานคร

การเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพมหานครเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างเต็มรูปแบบ เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2518 โดยรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่ง มีสาระสําคัญ คือ เปลี่ยนการปกครองกรุงเทพมหานครจากราชการส่วนภูมิภาคถึงท้องถิ่น มาเป็นราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว โดยกําหนดให้โครงสร้างของกรุงเทพมหานครประกอบด้วยฝ่ายสภานิติบัญญัติ คือ สภากรุงเทพมหานคร และฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

ครั้นในปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แทนพระราชบัญญัติเดิม โดยเปลี่ยนแปลงในส่วนฝ่ายบริหาร กําหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ส่วนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครได้ใช้ระบบดังกล่าว มาจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อ 2 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 มีผลทําให้เกิดการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องใดบ้าง

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันเป็นการจัดรูปการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ ปกครองซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 นับเป็น กฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอํานาจปกครองจากรัฐบาลกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ใน รัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยยังคงใช้หลักการเดิมไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา 78 โดยบัญญัติว่า “รัฐต้องกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและ ตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้ง โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคํานึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติหลักการกระจายอํานาจ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 282 – 290 ซึ่งสรุปสาระสําคัญได้ 7 ข้อ ดังนี้

1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น คือ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการกําหนด นโยบายการปกครอง การบริหารงานบุคคล และการเงินการคลัง

2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบ ของสภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอํานาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษา ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่างเป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่จําเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกตรองตนเองตามเจตนารมณ์ของ ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากกฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

 

ข้อ 3 “การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองระดับประเทศจะเกิดขึ้นและยั่งยืนก็ต่อเมื่อเกิดการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง” จากคํากล่าวข้างต้นให้นักศึกษาจงอธิบายมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นถือเป็นรากฐานที่สําคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นตัวกําหนดเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองในระดับประเทศ ดังนั้นหากจะพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ให้มีเสถียรภาพและมันคงจะต้องเริ่มจากการปกครองในระดับท้องถิ่นก่อน

การปกครองท้องถิ่นมาจากแนวคิดในการกระจายอํานาจปกครอง เป็นวิธีที่รัฐบาลกลางได้ มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและการบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณ และบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นเอง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครอง ตนเองและดําเนินกิจการในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นตามที่ได้รับมอบหมาย

การปกครองท้องถิ่นมีอิสระจากการปกครองส่วนกลางเพื่อให้การบริหารงานของท้องถิ่น มีความคล่องตัวและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนภายในท้องถิ่นภายในขอบเขตกฎหมาย ซึ่งท้องถิ่น สามารถกําหนดนโยบายการตัดสินใจ งบประมาณ และการดําเนินการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ มีคณะบุคคล ที่ประชาชนภายในท้องถิ่นเป็นผู้เลือกตั้ง ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเปรียบเสมือนภาพจําลองของการปกครอง ระดับประเทศ คือ มีดินแดนและขอบเขตของตนเอง มีประชากร มีอํานาจอิสระในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง และมีการจัดระเบียบการปกครองภายในองค์กร

การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

1 การปกครองท้องถิ่นเปรียบเสมือนโรงเรียนสอนประชาธิปไตยให้ประชาชน กล่าวคือ การปกครองท้องถิ่นเป็นการปกครองที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทําหน้าที่เป็นสมาชิกสภาและผู้บริหาร โดยตรง การปกครองท้องถิ่นจึงเป็นการฝึกหัดให้ประชาชนได้เลือกคนดี คนมีความรู้ คนชื่อสัตย์สุจริตเข้าไปทําหน้าที่บริหารงานในท้องถิ่น และสามารถถอดถอนบุคคลเหล่านั้นออกจากตําแหน่งได้หากการบริหารงาน ผิดพลาดหรือทําให้ท้องถิ่นเกิดความเสียหาย

2 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจะทําให้ประชาชนเกิดสํานึกในความสําคัญของตนเองต่อท้องถิ่น ประชาชน จะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรค ปัญหา และช่วยกันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นของตน

3 การปกครองท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต

4 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง

5 การปกครองท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์ โดยมิชอบ

ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้กับประชาชนในระดับพื้นฐาน ทําให้ประชาชนเรียนรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง รู้ถึงวิธีการ เลือกตั้ง การตัดสินใจทางการเมือง การต่อสู้ทางการเมือง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนาการเมืองและการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และส่งผลต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองในระดับประเทศให้มีเสถียรภาพ และมั่นคงต่อไป

 

ข้อ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองปรากฏในกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยเป็นฉบับแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ต้องการวางรากฐานตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังกล่าวมีหลักการสําคัญอย่างไร และมีแนวคิด/ทฤษฎีใดที่ให้การสนับสนุนการเมืองและการปกครอง ระดับท้องถิ่น

แนวคําตอบ

แนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมืองถือเป็นองค์ประกอบสําคัญในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย ให้ไปสู่แก่นแท้ของระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น โดยกําหนดไว้ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 76 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วม ของประชาชนในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐทุกระดับ” ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยมิใช่เพียงแค่ระบอบการปกครองที่ประชาชนได้ทําการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปใช้ อํานาจในรัฐสภาแทนเท่านั้น แต่ประชาชนต้องมีโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตยได้ด้วย

นักวิชาการได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้หลากหลาย ดังนี้

Samuel P. Huntington & Jorge I. Dominguez กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทําของประชาชนที่ต้องการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล โดยที่การกระทํานั้น เป็นไปทั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ใช้กําลังหรือไม่ใช้กําลัง ทั้งที่สําเร็จและล้มเหลว

– พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ตามความ สมัครใจของสมาชิกในสังคมการเมืองที่จะกระทํา โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องการมีอิทธิพลต่อ การกําหนดนโยบายหรือการทํางานของรัฐบาล ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นการกระทําของประชาชนโดยสมัครใจเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งสามารถกระทําได้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วม เป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นการเข้าร่วมชุมนุม เป็นต้น

แนวคิด/ทฤษฎีที่สนับสนุนการเมืองการปกครองในระดับท้องถิ่น

การปกครองท้องถิ่นมาจากแนวคิดในการกระจายอํานาจปกครอง เป็นวิธีที่รัฐบาลกลาง ได้มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและการบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณ และบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นเอง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการปกครองตนเองและดําเนินกิจการในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นการมีส่วนร่วม ทางการเมืองการปกครองของประชาชนในท้องถิ่นจึงมีความสําคัญต่อการปกครองท้องถิ่นเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นให้มีความเข็มแข็งอันจะส่งผลต่อการพัฒนา ประชาธิปไตยในระดับประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง ในระดับท้องถิ่น ดังนี้

1 การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 285 ซึ่งระบุว่า “สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชนในท้องถิ่น”

2 การเข้าร่วมถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญมาตรา 286 ซึ่งระบุว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจํานวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดไม่สมควร ดํารงตําแหน่งต่อไปให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง ทั้งนี้การลงคะแนนเสียง ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด”

3 การเข้าร่วมเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 287 ซึ่งระบุว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณา ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้”

Advertisement