การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ความหมายและหลักการสําคัญ “การรวมอํานาจ การแบ่งอํานาจ และการกระจายอํานาจ” เป็นอย่างไรและมีความสัมพันธ์อย่างไรต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย จงอธิบายโดยการวิเคราะห์จุดเด่นและจุดอ่อน (ข้อเสีย) พร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

หลักการปกครองประเทศไทยปัจจุบันมี 3 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) และหลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization)

1 การรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หมายถึง การจัดวางระเบียบบริหาร ราชการแผ่นดินโดยรวมอํานาจในการปกครองไว้ให้แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง อันได้แก่ กระทรวง กรม และมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางซึ่งขึ้นต่อกันตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา เป็น ผู้ดําเนินการปกครองตลอดทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ

หลักการสําคัญของการรวมอํานาจปกครอง

1) มีการรวมกําลังทหารและกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เพื่อให้การบังคับบัญชาเป็นไปอย่างเด็ดขาดและทันท่วงที

2) มีการรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการไว้ในส่วนกลาง

3) มีการลําดับชั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป (Hierarchy)

จุดเด่นหรือจุดแข็งของการรวมอํานาจปกครอง

1) การที่รัฐบาลมีอํานาจแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาเขต ทําให้นโยบาย แผน หรือคําสั่งเกิดผลได้ทั่วประเทศอย่างทันที

2) ให้บริการและประโยชน์แก่ประชาชนโดยเสมอหน้าทั่วประเทศ ไม่ได้ทําเพื่อท้องถิ่นใดโดยเฉพาะ

3) ทําให้เกิดการประหยัด เพราะสามารถหมุนเวียนเจ้าหน้าที่และเครื่องมือเครื่องใช้ไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดหาประจําทุกจุด

4) มีความเป็นเอกภาพในการปกครองและการบริหารงาน การปกครองในท้องถิ่นเป็นไปแนวเดียวกัน

5) มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ทําให้บริการสาธารณะดําเนินการไปโดยสม่ำเสมอ และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของการรวมอํานาจปกครอง

1) ไม่สามารถดําเนินกิจการทุกอย่างให้ได้ผลดีทั่วทุกท้องที่ในเวลาเดียวกัน เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ทั่วถึง

2) การปฏิบัติงานมีความล่าช้า เพราะมีแบบแผนและขั้นตอนมากมายตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา

3) ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

4) ไม่อาจตอบสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง เพราะความหลากหลายของความแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น

2 การแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) หมายถึง การที่การบริหารราชการ ส่วนกลางได้จัดแบ่งอํานาจวินิจฉัยและสั่งการบางส่วนไปให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาค โดยให้มีอํานาจในการใช้ ดุลยพินิจตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ตลอดจนริเริ่มได้ในกรอบแห่งนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางไว้

หลักการสําคัญของการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นการบริหารโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งไปจากส่วนกลางไปประจําตามเขตการปกครองในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง ได้แก่ จังหวัด อําเภอ ตําบล และหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็อยู่ในระบบการบริหารงานบุคคลของรัฐบาลกลางอันเดียวกัน

2) เป็นการบริหารโดยใช้งบประมาณซึ่งส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติและควบคุมให้เป็นไปตามวิธีการงบประมาณแผ่นดิน

3) เป็นการบริหารภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง

จุดเด่นหรือจุดแข็งของการแบ่งอํานาจปกครอง

1) หลักการนี้เป็นก้าวแรกที่จะนําพาไปสู่การกระจายอํานาจการปกครอง

2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นในการมาติดต่อในเรื่องที่ราชการส่วนภูมิภาคมีอํานาจวินิจฉัยสั่งการ เพราะไม่ต้องรอให้ส่วนกลางมาวินิจฉัยสั่งการ

3) เป็นจุดเชื่อมระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทําให้การติดต่อประสานงานระหว่างทั้ง 2 ส่วนดีขึ้น

4) มีประโยชน์ต่อประเทศที่ประชาชนยังไม่รู้จักการปกครองตนเอง

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการที่ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปบริหารงานในท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่เชื่อในความสามารถของท้องถิ่น

2) เกิดความล่าช้าในการบริหารงาน เพราะต้องผ่านระเบียบแบบแผนถึง 2 ระดับ คือ ระดับส่วนกลาง และระดับส่วนภูมิภาค

3) ทําให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่โต เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ

4) ทําให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าบางอย่างในท้องถิ่นไม่เกิดประโยชน์ เช่น บุคลากรเจ้าหน้าที่ เพราะถูกส่งมาจากที่อื่น

5) บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในท้องถิ่น ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่อาจจะเนื่องมาจากไม่ใช่คนในพื้นที่จึงไม่เข้าใจพื้นที่ และอาจเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่

3 การกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง การที่รัฐมอบอํานาจ ปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการ สาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่องที่ ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

หลักการสําคัญของการกระจายอํานาจปกครอง

1) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงมีหน้าที่ งบประมาณ และทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ขึ้นตรง ต่อหน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

2) มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3) มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4) มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ

จุดเด่นหรือจุดแข็งของการกระจายอํานาจปกครอง

1) ทําให้มีการสนองตอบความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่า

2) เป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง

3) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตย เพราะการกระจายอํานาจทําให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) อาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจมุ่งแต่ประโยชน์ของท้องถิ่นตน ไม่ให้ความสําคัญกับส่วนรวม

2) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอาจใช้อํานาจบังคับกดขี่คู่แข่งหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนเอง

3) ทําให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และบุคลากรประจําอยู่ทุกหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือนการบริหารราชการส่วนกลาง

ความสัมพันธ์ระหว่างการรวมอํานาจ การแบ่งอํานาจ และการกระจายอํานาจ ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การรวมอํานาจและการแบ่งอํานาจปกครองเป็นหลักการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง ส่วนการกระจาย อํานาจปกครองเป็นหลักการที่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการปกครองที่รัฐ มอบอํานาจให้ประชาชนในท้องถิ่นจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่างได้เองโดยมีอิสระพอสมควร เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น จึงทําให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงานด้วยงบประมาณและ เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นเอง รวมทั้งทําให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอํานาจในการกําหนดผู้บริหารของท้องถิ่นโดยผ่าน กระบวนการเลือกตั้ง และควบคุมตรวจสอบการทํางานของผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง ดังนั้นการกระจายอํานาจ ปกครองจึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

 

ข้อ 2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีองค์ประกอบสําคัญอะไร

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบการ ทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการบริหารกิจการ ภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้องค์กรบริหารส่วนจังหวัดต้องจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวนองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดใดมีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 24 คน

– จังหวัดใดมิราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 30 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 36 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 42 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 48 คน

สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือกจากสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดํารงตําแหน่ง จนครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีจํานวน 1 คน โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่ง ประกอบด้วย

1) รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 48 คน แต่งตั้งรองนายก

องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 4 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 36 คน หรือ 42 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 3 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 24 คน หรือ 30 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

 

ข้อ 3 แนวคิดในเรื่องการกระจายอํานาจเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอยากทราบสาระสําคัญในหมวดที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นได้กล่าวไว้อย่างไร

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันเป็นการจัดรูปการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ ปกครองซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 นับเป็น กฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอํานาจปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่น ดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา คือ รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจปกครองให้ท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยยังคงใช้หลักการเดิมไม่ต่างจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่น ไว้ในมาตรา 78 โดยบัญญัติว่า “รัฐต้องกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคํานึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

ส่วนสาระสําคัญเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 282 – 290 โดยมีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้

1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น คือ การให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นในการกําหนดนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็นอิสระ ด้านการเงินและการคลัง

2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของ สภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งเวดล้อม

4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิใน การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่าง เป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่ จําเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกตรองตนเองตามเจตนารมณ์ของ ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

 

ข้อ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสําคัญหรือไม่อย่างไร และมีแรงจูงใจใดที่เป็นองค์ประกอบสําคัญในการขับเคลื่อนของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย

แนวคําตอบ

ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่มีความสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการแสดงบทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการบริหารงาน ของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตย ในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ําสามารถพิจารณาได้จากระดับ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย

ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นต้น

แรงจูงใจของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

แรงจูงใจที่เป็นองค์ประกอบสําคัญในการขับเคลื่อนของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยของไทยสามารถพิจารณาได้จากแนวคิดของ Kaufman ซึ่งเห็นว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงจูงใจทางการเมือง โดยแรงจูงใจทางการเมืองหมายถึง รางวัล (Rewards) และสิ่งตอบแทนต่าง ๆ (Incentive) ทั้งที่เป็นวัตถุ ได้แก่ ระบบผลประโยชน์ต่าง ๆ ทางการเมือง และไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ การบรรลุถึงอุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) และเจตนารมณ์ทางการเมือง

นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

1 ปัจจัยด้านสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม หมายถึง ลักษณะของระบบสังคมและสภาพทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ ขอบเขตปทัสถาน และทางเลือกต่าง ๆ ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง บุคคลแต่ละคนแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อม เดียวกันก็จะรับสิ่งเร้าจากระบบการเมืองและสังคมได้ไม่เท่ากัน เพราะเขาจะเลือกรับรู้และเลือกสภาพเฉพาะสิ่งเร้า ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตนเท่านั้น

2 ปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะของบุคคล ได้แก่ ระดับการศึกษา อาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความต้องการทางบุคลิกภาพ ความต้องการทางจิตใจและร่างกาย และความเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งทัศนคติทางการเมือง ของแต่ละคน

 

Advertisement