การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบอัตนัยทั้งหมด 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ที่กล่าวว่า “แนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” มีลักษณะหรือรูปแบบ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทยปี พ.ศ. 2540 หรือไม่อย่างไร

แนวคําตอบ

การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจต่อการเมืองการปกครองของประเทศ

Samuel P. Huntington & Jorge I. Dominguez กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทําของประชาชนที่ต้องการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล โดยที่การกระทํานั้น เป็นไปทั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ใช้กําลังหรือไม่ใช้กําลัง ทั้งที่สําเร็จและล้มเหลว

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ตามความ สมัครใจของสมาชิกในสังคมการเมืองที่จะกระทํา โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องการมีอิทธิพลต่อ การกําหนดนโยบายหรือการทํางานของรัฐบาล ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นการกระทําของประชาชนเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ของรัฐบาล ซึ่งสามารถกระทําได้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิก พรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น การเข้าร่วมชุมนม เป็นต้น

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยบัญญัติไว้ในหมวด 5 แนวโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 76 ว่า “รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนา ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐทุกระดับ”

ดังนั้นในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 จึงมีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นหลายประการด้วยกัน เช่น

1 การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วม ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิก สภาท้องถิ่น โดยมาตรา 105 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ํากว่า 18 ปีบริบูรณ์ และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน

2 การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิก วุฒิสภา คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น เช่น

– มาตรา 107 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นสมาชิก เรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน เป็นต้น

3 การเข้าร่วมเสนอกฎหมาย

– มาตรา 170 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิ เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กําหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของ ชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

– มาตรา 287 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธาน สภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้

4 การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง

– มาตรา 304 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ที่มีพฤติการณ์ร่ํารวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทําผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ สอว่ากระทําผิด ต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

– มาตรา 286 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จํานวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่นผู้ใดไม่สมควรดํารงตําแหน่งต่อไป ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง ทั้งนี้ การลงคะแนนเสียงต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

5 การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

– มาตรา 59 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผลจาก หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดําเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใด ที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว

 

ข้อ 2 “หลักการกระจายอํานาจว่าด้วยความอิสระในการปกครองท้องถิ่นได้รับการรับรองไว้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา” ทั้งนี้ให้นักศึกษาอธิบายสาระสําคัญมาให้เข้าใจ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

การบัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ถือเป็นรากฐาน ของการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในปัจจุบัน โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ใน หมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 282 ถึงมาตรา 290 และในหมวด 5 มาตรา 78 การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องดังกล่าว อย่างเป็นหมวดหมู่นั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นถึงความสําคัญของการปกครอง ส่วนท้องถิ่นอันเป็นพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด การกระจายอํานาจ ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐบาลกลางได้มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและจัดทําบริการ สาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นเอง โดยการกระจายอํานาจดังกล่าว ได้คํานึงถึงหลักการที่สําคัญ 2 ประการ คือ หลักแห่งความเป็นอิสระของท้องถิ่น และหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้หลักแห่งความเป็นอิสระของท้องถิ่นมีรายละเอียดดังนี้

หลักการกระจายอํานาจว่าด้วยความเป็นอิสระของท้องถิ่น

ความเป็นอิสระของท้องถิ่นนั้นมีความสัมพันธ์กับหลักการควบคุมกํากับ กล่าวคือ ถ้าให้การควบคุมกํากับจากราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาคอยู่เหนือท้องถิ่นมากเกินไป ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นจะไม่สามารถกระทําการใด ๆ ได้เลย เช่น จะกระทําการใดต้องไปขออนุญาตจาก ราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาคอยู่เสมอ จะทําให้การปกครองและการบริหารท้องถิ่น รวมถึงความเป็นนิติบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเปล่าประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันถ้าไม่มีการควบคุม กํากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลยก็จะเป็นการทําลายหลักความเป็นเอกภาพของรัฐ ดังนั้นถ้ามีการควบคุมกํากับ เป็นไปตามกฎหมายหรือกติกาที่วางไว้ก็ย่อมทําให้การปกครองส่วนท้องถิ่นบรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ได้วางหลักแห่งความเป็นอิสระของท้องถิ่นไว้ 4 ประการ ดังนี้

1 ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล รัฐธรรมนูญกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีอํานาจปกครองและบังคับบัญชาพนักงานของตน กล่าวคือ มีอํานาจกําหนดตําแหน่ง สรรหาบุคคล มาดํารงตําแหน่ง จัดการเกี่ยวกับเงื่อนไขในการทํางาน ตลอดจนให้คุณให้โทษพนักงานรวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ เมื่อพ้นจากงาน

2 ความเป็นอิสระกับความเป็นนิติบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเป็น นิติบุคคลจะทําให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอํานาจในการบริหารและจัดทําบริการสาธารณะของตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นโดยไม่ต้องรอการวินิจฉัยสั่งการจากรัฐส่วนกลาง

3 ความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบาย ท้องถิ่นแต่ละแห่งย่อมมีความแตกต่างกัน ในลักษณะของภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม จารีตประเพณี การนับถือศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ดังนั้นท้องถิ่นจึงต้องมีอิสระในการกําหนดนโยบายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวใน การดําเนินงานและจัดทําบริการสาธารณะที่ดีและเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

4 ความเป็นอิสระทางการเงินและการคลัง ท้องถิ่นต้องมีความเป็นอิสระทางด้านการเงิน การคลังในการที่จะใช้จ่ายตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น หากท้องถิ่นขาดอิสระทางด้านการเงิน การคลังจะทําให้ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถ จัดหาบุคลากรที่มีขีดความสามารถมาทํางานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

 

ข้อ 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีโครงสร้างประกอบด้วยส่วนใดบ้าง ให้นักศึกษาอธิบาย

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาท้องถิ่น ทําหน้าที่ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบการทํางาน ของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองห์ทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทําหน้าที่บริหารกิจการภายใน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด

ต้องจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวนองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดใดมีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 24 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 30 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 36 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 42 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 48 คน

สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือกจากสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดํารงตําแหน่ง จนครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีจํานวน 1 คน โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่ง ประกอบด้วย

1) รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 48 คน แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 4 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 36 คน หรือ 42 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 3 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 24 คน หรือ 30 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

 

ข้อ 4 วิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นกี่ระยะ ให้นักศึกษาอธิบาย

แนวคําตอบ

วิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

– ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 – พ.ศ. 2475

– ระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2540

– ระยะที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน

 

ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 – พ.ศ. 2475

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) การปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกําหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 เพื่อจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ทําหน้าที่จัดระเบียบชุมชนและสุขอนามัยของประชาชน แม้สุขาภิบาลจะมีลักษณะ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่การบริหารงานกลับแต่งตั้งให้ข้าราชการประจําทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหาร มิได้มีการเลือกตั้งผู้แทนจากประชาชนภายในท้องถิ่น

ในปี พ.ศ. 2449 พระองค์ทรงมีพระราชดําริให้ขยายการบริหารท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลออกไปยัง หัวเมืองต่าง ๆ โดยเริ่มทดลองจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก และในปี พ.ศ. 2451 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 โดยสุขาภิบาลตามหัวเมืองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลสําหรับเมืองซึ่งจัดตั้งในชุมชนที่เป็นเมือง และสุขาภิบาลสําหรับตําบลซึ่งจัดตั้งในชุมชน ที่ประชาชนหนาแน่นตามตําบลตาง ๆ โดยเฉพาะตําบลในเขตที่ตั้งอําเภอ โดยสุขาภิบาลทั้ง 2 ประเภทมีหน้าที่ รักษาความสะอาดของชุมชน จุดโคมไฟสาธารณะ ป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ทะนุบํารุงถนนหนทางที่สัญจรไปมา และจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็ก

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายกิจการสุขาภิบาลให้เพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมให้สุขาภิบาลมีการบริหารงานที่คล่องตัว การแก้ไขปรับปรุงได้แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมืองและสุขาภิบาลท้องที่ โดยใช้ระบบคณะกรรมการบริหารเช่นเดิม

สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะจัดตั้ง “เทศบาล” เป็น องค์กรปกครองท้องถิ่น โดยให้ประชาชนภายในท้องถิ่นเลือกตั้งผู้แทนของตนมาเป็นสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี เพื่อให้เทศบาลเป็นโรงเรียนที่สอนให้ประชาชนได้เรียนรู้การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย โดยระบบรัฐสภา ดังนั้นในปี พ.ศ. 2469 พระองค์จึงทรงจัดให้มีการทดลองจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “สภาจัดบํารุงสถานที่ชายทะเลตะวันตก” ตั้งแต่ตําบลชะอําถึงตําบลหัวหิน แต่การทดลองดังกล่าว ไม่ประสบผลสําเร็จ จึงได้ระงับไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 พระองค์ต้องการให้ประชาชนเรียนรู้การควบคุมกิจการของท้องถิ่น ก่อนที่จะควบคุมกิจการของรัฐโดยผ่านทางรัฐสภา จึงทรงแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดการประชาภิบาล” (Municipality) เพื่อศึกษารูปแบบขององค์กรปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาล และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติ เทศบาล แต่พระราชบัญญัติยังไม่ทันถูกนํามาประกาศบังคับใช้ก็เกิดเหตุการณ์สําคัญคือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลง การปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

 

ระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2540

สมัยคณะราษฎร

การปกครองท้องถิ่นในระยะที่ 2 เริ่มหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดย คณะราษฎรมีเจตนารมณ์อย่างจริงจังที่จะกระจายอํานาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น โดยเห็นว่ารูปแบบองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทยคือ รูปแบบเทศบาล ซึ่งควรจะมีรูปแบบเดียวทั้งประเทศ จึงตรา พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ซึ่งแบ่งเทศบาลออกเป็น 3 ประเภท คือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตําบล โดยมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภาเทศบาล ซึ่งสมาชิกมาจาก การเลือกตั้งโดยประชาชนในเขตเทศบาล และฝ่ายบริหาร เรียกว่า คณะเทศมนตรี ซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาล

– เทศบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีงบประมาณ ทรัพย์สิน และบุคลากรของตนเอง และมีอํานาจ อิสระในการบริหารงาน รวมทั้งสามารถตรากฎหมายหรือเรียกว่า เทศบัญญัติ บังคับใช้ในเขตเทศบาลได้

สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคนานัปการของเทศบาล รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ รื้อฟื้นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาล เนื่องจากเห็นว่าสุขาภิบาลจัดตั้งได้ง่ายและประหยัดกว่าเทศบาล โดยการตราพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีทั้งข้าราชการประจําที่ดํารงตําแหน่ง กรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการสุขาภิบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในเขตสุขาภิบาล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด เพื่อจัดตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรับผิดชอบพื้นที่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล และในปี พ.ศ. 2499 ได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการตําบล เพื่อจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบล

สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

ในปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลจอมพลถนอม ได้ยกเลิกองค์การบริหารส่วนตําบล และจัดตั้ง คณะกรรมการสภาตําบลแทน

ในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลจากคณะปฏิวัติโดยจอมพลถนอมได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ให้รวมเทศบาลกรุงเทพฯ กับเทศบาลนครธนบุรีเข้าด้วยกันตั้งเป็น เทศบาลนครหลวง รวมทั้งให้รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรีเข้าเป็น องค์การเดียวกัน เรียกว่า “องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี”

และในปี พ.ศ. 2515 ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จัดระเบียบราชการบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยรวมองค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรีกับเทศบาล นครหลวงเป็นหน่วยงานเดียวกัน เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” เป็นหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาค

สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ในสมัยนี้ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร ให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีโครงสร้างประกอบด้วย ฝ่ายสภา เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร และฝ่ายบริหารประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน

สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

– ในสมัยนี้ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยกําหนดให้ราษฎรในเขตเลือกตั้งของกรุงเทพฯ เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ส่วนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะมีจํานวนตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นผู้เลือกและแต่งตั้ง ซึ่งระบบนี้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน

การปกครองท้องถิ่นในระยะที่ 3 เริ่มหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้กําหนดให้รัฐกระจายอํานาจการบริหารและการปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ โดยกําหนดไว้ในหมวดที่ 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 78 ว่า “รัฐต้องกระจายอํานาจให้ท้องถิ่น พึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มี ความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่”

และหมวด 9 ได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่มาตรา 282 290 โดยเน้น การให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองตามความต้องการของประชาชน ส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดตั้งองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายการปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอํานาจหน้าที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ นอกจากนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบจะต้องมี สภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จึงถือเป็นกฎหมายแม่บทของการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่น ดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติให้รัฐกระจายอํานาจ ให้ท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองเช่นกัน โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังคงใช้หลักการเดิมไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540

 

Advertisement