การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) หมายถึงอะไร มีรูปแบบอะไรบ้าง และมีความสําคัญอย่างไรต่อการปกครองท้องถิ่น จงอธิบายและยกตัวอย่างการเมืองไทย

แนวคําตอบ

ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) นั้นมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถ พิจารณาได้ดังนี้

1 หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

2 หมายถึง การให้การสนับสนุนและเรียกร้องต่อผู้นํารัฐบาล

3 หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

4 หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อํานาจแทนตนเอง

5 หมายถึง กิจกรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

6 หมายถึง กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง

รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง รวมกันอยู่ จึงมีลักษณะหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้

Verba เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 4 รูปแบบ คือ

1 การใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อํานาจในการปกครอง

2 กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งแต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง

3 กิจกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ประชาชนร่วมกันดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง

4 การติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยรูปแบบกิจกรรมที่มีการติดต่อปัญหาใดเฉพาะตัวหรือ ของครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก

Huntington & Nelson เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่

1 กิจกรรมการเลือกตั้ง

2 การล็อบบี้

3 กิจกรรมองค์กร

4 การติดต่อ

5 การใช้กําลังรุนแรง

 

Almond & Powell เห็นว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1 Conventional Forms ได้แก่

1) การออกเสียงเลือกตั้ง

2) การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง

3) กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

4) การจัดตั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก

5) การติดต่อส่วนตัว

 

2 Unconventional Forms ได้แก่

1) การยื่นข้อเสนอ

2) การเดินขบวน

3) การประจันหน้า

4) การละเมิดกฎของสังคม

5) การใช้ความรุนแรง

6) สงครามกองโจรและการปฏิวัติ

ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองท้องถิ่น

การปกครองท้องถิ่น คือ การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ประชาชนในท้องถิ่นจัดการ ปกครองและดําเนินกิจการบางอย่างโดยดําเนินการกันเองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจึงเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองท้องถิ่น เพราะถ้าประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นจะทําให้การบริการ สาธารณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้การเปิดโอกาส ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผล ให้การดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีความเป็นธรรม ลดการทุจริต และความขัดแย้ง ในการทํางาน รวมทั้งเป็นวิธีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ความเป็นเจ้าของชุมชน และเสริมสร้าง ประชาธิปไตยในท้องถิ่น

ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการปกครองท้องถิ่นของไทย เช่น การเข้าร่วมออกเสียง เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าร่วมเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การเข้าร่วมถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น

 

ข้อ 2 ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์มีลักษณะอย่างไร เป็นปัญหาต่อการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

ความหมายและลักษณะของผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์

ผู้นําท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่น หมายถึง บุคคลที่มีคนในท้องถิ่นนับถือไว้วางใจ หรือมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและการตัดสินใจของคนในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จากส่วนกลาง แต่งตั้งไปประจํายังส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล กรรมการหมู่บ้าน ครู พัฒนากร เป็นต้น

2 ผู้นําท้องถิ่นที่ไม่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่มีบารมี มีอิทธิพล หรือมีความรู้ความชํานาญ เป็นพิเศษเกี่ยวกับอาชีพหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้นําท้องถิ่น ที่เป็นทางการในการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านและตําบลของตน เช่น ผู้นํากลุ่มอาชีพ ผู้นํากลุ่มสตรี ผู้นํากลุ่มสันทนาการ ผู้นํากลุ่มเยาวชน ผู้นําทางศาสนา เป็นต้น

พรรคการเมือง

พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน รวมถึงมีอุดมการณ์ และแนวปฏิบัติที่ตกลงกันแน่นอน โดยพรรคการเมืองต้องมีลักษณะสําคัญดังนี้

1 อุดมการณ์หรือหลักการ คือ คณะบุคคลที่รวมกันเป็นพรรคการเมืองจะต้องมีอุดมการณ์ หรือหลักการปกครองร่วมกันเพื่อเป็นแรงจูงใจในการจัดตั้งพรรคการเมือง

2 การจัดตั้งเป็นองค์กร คือ มีการจัดตั้งเป็นหน่วยงาน มีพนักงานประจํา มีระเบียบข้อบังคับ ในการดําเนินงาน มีการแบ่งงานกันทํา เละมีผู้รับผิดชอบงานชัดเจน

3 ความเชื่อมโยงกับประชาชน คือ พรรคการเมืองต้องทําหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ประชาชนกับรัฐบาล เช่น สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน การดําเนินการต่าง ๆ หรือผลักดัน ให้รัฐบาลนําความคิดเห็นนั้นไปปฏิบัติ

วิสุทธิ์ โพธิแท่น กล่าวว่า พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มคนที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างเดียวกัน รวมกันจัดตั้งเป็นรากฐานที่มีการจัดองค์กรที่แน่นอนชัดเจน มีการกําหนดทางเลือกเกี่ยวกับนโยบาย ที่สําคัญในการปกครองและบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ มีการคัดเลือกคนเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมือง พยายาม เข้าไปมีส่วนร่วมในอํานาจรัฐจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ โดยพรรคการเมืองมีองค์ประกอบที่จําเป็น เช่น คน สถานที่และอุปกรณ์ โครงสร้างของพรรคการเมือง และระเบียบข้อบังคับ

กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง การรวมกลุ่มของผู้ที่มีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน เพื่อให้สามารถ ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มตนหรือเพื่อผลประโยชน์ ของส่วนรวมก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1 กลุ่มทางเศรษฐกิจ คือ กลุ่มผลประโยชน์ด้านอาชีพไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคเอกชนหรือภาครัฐ โดยจะมีบทบาททางการเมืองสูง และมีอํานาจในการต่อรองกับรัฐบาลมาก เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มหอการค้าจังหวัด เป็นต้น

2 กลุ่มทางเกษตรกรรม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาวนาชาวไร่ผู้เป็น เจ้าของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจํานวนมาก และมีบทบาทในการต่อรองกับรัฐบาล เช่น สหพันธ์ ชาวนาชาวไร่ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

3 กลุ่มทางสังคม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ปฏิบัติงานทางด้านสังคมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ ของกลุ่มและเพื่อสวัสดิการทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น เช่น สมาคม ภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

4 กลุ่มโลกทัศน์ คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ของกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อมหาชนให้คล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาล กระทําตาม เช่น กลุ่มทางการเมือง กลุ่มสื่อสารมวลชน เป็นต้น

ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์กับปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์นั้นสามารถนําไปสู่การเกิดเป็นปัญหาต่อ การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยได้ กล่าวคือ

ผู้นําท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่นเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า ผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่น เกิดการพัฒนา แต่ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นําชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้ง ในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามา เป็นผู้นําในการเรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการ พัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน

พรรคการเมือง

พรรคการเมืองเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า พรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคล ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์ และฐานอํานาจที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัย ระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชน ในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ที่สังกัดพรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้ พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และ แสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่น จึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็น ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก

กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์เป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า กลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมาย ในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์ เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการชี้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามา มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาอธิบายความหมายและลักษณะสําคัญของ “การปกครองส่วนท้องถิ่น” มาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือสํานวนและรายละเอียด ปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจหรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นเล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและ เพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น

วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

แฮรีส จี. มอนตากู (Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด

วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครอง ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย และควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน

อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัด ความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น

ลักษณะสําคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 เป็นการปกครองของชุมชนหนึ่ง ซึ่งอาจมีรูปแบบหน่วยการปกครองท้องถิ่นหลายรูปแบบ ตามความแตกต่างของความเจริญ จํานวนประชากร หรือขนาดพื้นที่ เช่น การจัดหน่วยการปกครองท้องถิ่นของ ประเทศไทยเป็นกรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตําบล และเมืองพัทยา

2 หน่วยการปกครองท้องถิ่นต้องมีอํานาจอิสระ (Autonomy) ในการปฏิบัติหน้าที่ ตามความเหมาะสม กล่าวคือ อํานาจของหน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีขอบเขตพอสมควรเพื่อให้เกิด ประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากมีอํานาจมากเกินไปไม่มีขอบเขต หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นก็จะกลายสภาพเป็นรัฐอธิปไตยเอง เป็นผลเสียต่อความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งอํานาจ ของท้องถิ่นนี้จะมีขอบเขตที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะความเจริญและความสามารถของประชาชนใน ท้องถิ่นนั้นเป็นสําคัญ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลในการพิจารณาการกระจายอํานาจให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ระดับใดจึงจะเหมาะสม

3 หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) ที่จะดําเนิน การปกครองตนเอง โดยสิทธินี้แบ่งเป็น 2 ประการ คือ

1) สิทธิที่จะตรากฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการบริหารตามหน้าที่และเพื่อใช้บังคับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น เทศบัญญัติ เป็นต้น

2) สิทธิที่เป็นหลักในการดําเนินการบริหารท้องถิ่น คือ อํานาจในการกําหนดงบประมาณเพื่อบริหารกิจการตามอํานาจหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

4 มีองค์กรที่จําเป็นในการบริหารและการปกครองตนเอง ซึ่งองค์กรที่จําเป็นของท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลจะมีคณะเทศมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร และสภาเทศบาลเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือในแบบมหานครคือ กรุงเทพมหานคร จะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายบริหาร และสภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น

5 ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น เกิดจากแนวคิดที่ว่าประชาชน ในท้องถิ่นเท่านั้นที่จะรู้ปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็น ต้องมีคนในท้องถิ่นมาบริหารงานเพื่อให้สมเจตนารมณ์และความต้องการของชุมชน และอยู่ภายใต้การควบคุมของ ประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าใจในระบบและกลไกของประชาธิปไตย อย่างแท้จริงอีกด้วย

 

ข้อ 4 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วยส่วนใดบ้าง ให้นักศึกษาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหาร ส่วนตําบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้าง ประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 สภาท้องถิ่น เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบ การทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้

– อบต. เรียกว่า สภา อบต.

– เทศบาลเรียกว่า สภาเทศบาล

– อบจ. เรียกว่า สภา อบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นฝ่ายบริหาร ทําหน้าที่ในการบริหาร กิจการภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้

– อบต. เรียกว่า นายก อบต.

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– อบจ. เรียกว่า นายก อบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้ อบจ. ต้องจัดตั้งขึ้น ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวน อบจ. จึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างของ อบจ. ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมี จํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– ถ้ามีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 24 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 30 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้36 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้42 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 48 คน

สภา อบจ. จะมีประธานสภา อบจ. 1 คน และรองประธานสภา อบจ. 2 คน ซึ่งสภา อบจ. เลือกจากสมาชิกสภา อบจ. โดยประธานสภา อบจ. และรองประธานสภา อบจ. จะดํารงตําแหน่งจนครบอายุ ของสภา อบจ.

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มีจํานวน 1 คน โดยนายก อบจ. สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย

1) รองนายก อบจ. ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 48 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 4 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 36 คน หรือ 42 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 3 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 24 คน หรือ 30 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายก อบจ. และที่ปรึกษานายก อบจ. ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

Advertisement