การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 สาระสําคัญของหลักการปกครองประเทศในรูปแบบหลักการกระจายอํานาจมีอะไรบ้าง และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะใด ให้นักศึกษาอธิบายมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง หลักการที่รัฐมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการ สาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่องที่ท้องถิ่น มีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

สาระสําคัญของหลักการกระจายอํานาจปกครอง มีดังนี้

1 ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงมีหน้าที่ งบประมาณและทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

2 มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3 มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4 มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะของการกระจายอํานาจการ ปกครอง(Decentralization) กล่าวคือ รัฐบาลกลางได้มอบอํานาจการปกครองบางส่วนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจัดทําบริการสาธารณะบางอย่าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรม และวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง และไม่ต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง รัฐบาลกลางทําได้เพียงแค่ควบคุมกํากับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตที่ กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น )

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่

1 ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดภารกิจระหว่างภารกิจของรัฐบาลกลางกับภารกิจของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ

ภารกิจของรัฐบาลกลาง จําแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) ภารกิจทางปกครอง ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การอํานวยความยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้เป็นภารกิจโดยแท้ของ รัฐบาลกลางที่รัฐบาลกลางจะเป็นผู้ดําเนินการเอง

2) ภารกิจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม เช่น การขนส่ง การเดินรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข การไฟฟ้า การประปา ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลกลางอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลกลางก็ได้

3) ภารกิจทางสังคม ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางสังคม เช่น การให้บริการ การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การกีฬา การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลกลางอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลกลางก็ได้

ภารกิจของท้องถิ่น จะเกิดขึ้นจากลักษณะของสภาพชุมชนเอง โดยภารกิจดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลกลางไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้โดยทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโดยลักษณะของภารกิจ ก็เป็นเรื่องของความต้องการเฉพาะแต่ละชุมชน เช่น การรักษาความสะอาด การกําจัดขยะมูลฝอย การให้มีน้ําสะอาด ตลาด โรงฆ่าสัตว์ สุสาน ฌาปนสถาน ฯลฯ

2 ความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล

แม้รัฐบาลกลางจะกระจายอํานาจการปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระ ในการบริหารงาน แต่รัฐบาลกลางยังคงมีอํานาจในการควบคุมกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอ ซึ่งการควบคุมกํากับดูแลนั้นจะต้องกระทําเท่าที่จําเป็นตามที่กฎหมายกําหนด และต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม

วิธีการควบคุมกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) การควบคุมกํากับดูแลโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การควบคุมกํากับดูแลตัวบุคคลหรือองค์กร เป็นการควบคุมสถานภาพ ทางกฎหมายของคณะบุคคลหรือบุคคลคนเดียวที่อยู่ในรูปของคณะบุคคล (เช่น คณะเทศมนตรี สภาเทศบาล นายกเทศมนตรี) อย่างเช่นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ ตําแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอํานาจเสนอความเห็น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตําแหน่งได้

(2) การควบคุมกํากับดูแลการกระทํา โดยการกระทําที่สําคัญขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกํากับดูแลของรัฐบาลกลาง ได้แก่ การให้ความเห็นชอบต่อ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง

2) การควบคุมกํากับดูแลโดยอ้อม แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การให้เงินอุดหนุน นับเป็นมาตรการในการควบคุมกํากับดูแลโดยทางอ้อม ประการหนึ่ง โดยทุกปีรัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(2) การใช้สัญญามาตรฐาน ในการจัดทําสัญญาต่าง ๆ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกําหนดว่าจะต้อง ทําตามแบบที่อยู่ในส่วนที่แนบท้ายระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากอัยการจังหวัด

 

ข้อ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กําหนดโครงสร้างของการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยไว้เป็นอย่างไร ให้นักศึกษายกตัวอย่างมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยไว้ในหมวด 14 ตั้งแต่มาตรา 281 – 290 ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น ยังคงใช้ซึ่งหลักการเดิมไม่แตกต่างจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 อันถือเป็นกฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจาย อํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชน ในท้องถิ่น

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กําหนดให้โครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่น ของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรียผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 รูปแบบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 สภาท้องถิ่น เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบ การทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

-อบต. เรียกว่า สภา อบต.

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– อบจ. เรียกว่า สภาอบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นฝ่ายบริหาร ทําหน้าที่ในการบริหาร กิจการภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้

– อบต. เรียกว่า นายก อบต.

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– อบจ. เรียกว่า นายก อบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองทัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้ อบจ. ต้องจัดตั้งขึ้น ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวน อบจ. จึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างของ อบจ.   ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมี จํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– ถ้ามีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 24 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้30 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 36 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 42 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 48 คน

สภา อบจ. จะมีประธานสภา อบจ. 1 คน และรองประธานสภา อบจ. 2 คน ซึ่งสภา อบจ. เลือกจากสมาชิกสภา อบจ. โดยประธานสภา อบจ. และรองประธานสภา อบจ. จะดํารงตําแหน่งจนครบอายุ ของสภา อบจ.

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มีจํานวน 1 คน โดยนายก อบจ. สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย

1) รองนายก อบจ. ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 48 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 4 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 36 คน หรือ 42 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 3 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 24 คน หรือ 30 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายก อบจ. และที่ปรึกษานายก อบจ. ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

 

ข้อ 3 การมีส่วนร่วมทางการเมืองหมายถึงอะไร มีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายมาโดยละเอียด แนวคําตอบ

ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) นั้นมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถ พิจารณาได้ดังนี้

1 หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

2 หมายถึง การให้การสนับสนุนและเรียกร้องต่อผู้นํารัฐบาล

3 หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

4 หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อํานาจแทนตนเอง

5 หมายถึง กิจกรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

6 หมายถึง กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง

รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง รวมกันอยู่ จึงมีลักษณะหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้

Verba เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 4 รูปแบบ คือ

1 การใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อํานาจในการปกครอง

2 กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง

3 กิจกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ประชาชนร่วมกันดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง

4 การติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยรูปแบบกิจกรรมที่มีการติดต่อปัญหาใดเฉพาะตัวหรือของครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก

Huntington & Nelson เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่

1 กิจกรรมการเลือกตั้ง

2 การล็อบบี้

3 กิจกรรมองค์กร

4 การติดต่อ

5 การใช้กําลังรุนแรง

Almond & Powell เห็นว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1 Conventional Forms ได้แก่

1) การออกเสียงเลือกตั้ง

2) การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง

3) กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

4) การจัดตั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก

5) การติดต่อส่วนตัว

2 Unconventional Forms ได้แก่

1) การยื่นข้อเสนอ

2) การเดินขบวน

3) การประจันหน้า

4) การละเมิดกฎของสังคม

5) การใช้ความรุนแรง

6) สงครามกองโจรและการปฏิวัติ

การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับหลักการประชาธิปไตย

เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของ การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการ แสดงบทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตย ในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ําสามารถพิจารณาได้จากระดับ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย

 

ข้อ 4 หลักธรรมาภิบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่ อย่างไร

แนวคําตอบ

ธรรมาภิบาล (Governance) ตามแนวคิดของนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด หมายถึง การใช้ อํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง รวมถึงกลไก กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อน

ธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หมายถึง แนวทางสําคัญในการจัดระเบียบ ให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมไปถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทา ป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤต ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็นคุณลักษณะสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน

องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล

ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ ภารประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดังนี้

1 การมีส่วนร่วม (Participation) กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องของผู้นําที่มี อํานาจแล้วใช้อํานาจควบคุมหรือกระทําต่อประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น การเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ การเข้าร่วมประชุมในเรื่องต่าง ๆ การ ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้แทน การประท้วงหรือกดดันในบางกรณีที่เห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง เป็นต้น

2 การเปิดกว้าง (Openness) กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็น ระบบเปิด คือ การเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารท้องถิ่นจะทําแบบชัดเจน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเท่าไร และนําไปใช้อะไรบ้าง เป็นต้น

3 ความโปร่งใส (Transparency) หรือความซื่อสัตย์ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เช่น เอกสาร เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วารสาร ป้าย/บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการประชุมสภาท้องถิ่น เป็นต้น

4 ความรับผิดชอบ (Responsibility) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบในการแสดงการกระทําของผู้นําต่อประชาชน โดยการเคารพและยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทําของตน ซึ่งเป็นความชอบธรรมและความรับผิดชอบทาง การเมืองที่ตัวแทนผู้มาจากการเลือกตั้งมีต่อประชาชนผู้เลือกตั้งในแง่ที่ว่า ตัวเขาเข้าไปทํางานอะไร ผลงานเป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องอธิบายได้ว่าทําไมต้องทําเช่นนั้น

5 การตรวจสอบได้ (Accountability) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีพันธะ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ นั่นคือ การสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบได้ว่า การทํางานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสจริง ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการดําเนินการจึงสามารถ ให้รายละเอียดของข้อมูลต่อสาธารณะได้

 

 

Advertisement