การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อเท่านั้น

ข้อ 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตราที่ 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ให้อธิบายประเด็นดังกล่าวพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตราที่ 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็น ราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” หมายความว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นแบบ “รัฐเดี่ยว” (Unitary State) ทั้งนี้นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญสายลักษณ์อักษรมาแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับกําหนดให้ใช้รูปแบบของรัฐ เป็นแบบรัฐเดี่ยว ยกเว้นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ที่มิได้กําหนดเรื่องรูปแบบของรัฐไว้ และรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับยังกําหนดห้ามเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบของรัฐโดยเด็ดขาด

ลักษณะสําคัญของรัฐเดี่ยว มีดังนี้

1 เป็นรัฐที่มีการรวมศูนย์อํานาจทางการเมืองการปกครองอยู่ที่ส่วนกลางหรือเมืองหลวง หรือรัฐบาลของประเทศเพียงแห่งเดียว โดยมีการรวมเอาคําสั่ง คําบังคับบัญชา และคําวินิจฉัยไว้ที่ส่วนกลาง หรืออํานาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของหน่วยงานที่สําคัญ (เช่น กระทรวงต่าง ๆ) กําลังทหารและตํารวจจะอยู่ที่ส่วนกลาง

2 พระราชบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาจะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้กับพลเมืองหรือประชาชนทั้งประเทศ กล่าวคือ ทุกจังหวัดทั่วประเทศจะใช้กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาเหมือนกันหมด เพราะการออกกฎหมายโดยผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งไม่ใช่กฎหมายที่นํามาใช้บังคับแต่ในจังหวัดของผู้แทนนั้น ๆ แต่ถือว่าร่วมกันเสนอกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

3 การปกครองส่วนภูมิภาคอันหมายถึงจังหวัดต่าง ๆ นั้น อํานาจยังขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ดังจะเห็นได้จากตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย

4 การปกครองส่วนท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน อาจได้รับการกระจายอํานาจจากส่วนกลางมากขึ้น แต่ก็ยังขึ้นต่อส่วนกลาง กล่าวคือ ในรัฐเดี่ยวอาจมีการกระจายอํานาจ แต่การกระจายอํานาจจะไม่มาก จนทําให้ท้องถิ่นเป็นอิสระ

ตัวอย่างประเทศที่ใช้รูปแบบรัฐเดี่ยวในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี อียิปต์ เป็นต้น

 

ข้อ 2 ให้อธิบายศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ดังต่อไปนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

2.1 Amendment

แนวคําตอบ

Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) หมายถึง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับไปในระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไข หมายความว่า อาจจะยกเลิกบางมาตรา หรือใส่เพิ่มเติมเข้าไป ในมาตราที่ไม่เคยมีก็ได้ โดยหลักการทั่วไปมีอยู่ว่าอาจแก้ไขบางส่วน หรือแก้ไขทั้งฉบับก็ย่อมทําได้ นั่นคือ สามารถแก้ไขกี่มาตราก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่กําหนด ทั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของบ้านเมือง หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศและของโลกในเวลานั้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีไม่แตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายธรรมดา คือ กฏข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ หากสภาออกกฎหมายยกเลิกก็เท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรจะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอน เริ่มจากองค์กรที่มีอํานาจในการเสนอญัตติขอแก้ไข องค์กรที่มีอํานาจในการพิจารณาในแต่ละวาระ และต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากด้วย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญของไทยจะมีการจํากัดอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็น ได้จากรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ห้ามแก้ไขในเรื่องรูปแบบรัฐซึ่งเป็นแบบรัฐเดี่ยว (Unitary State) และรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเด็ดขาด

สําหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ ดังนี้

– วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

– ในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา การออกเสียงในวาระนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่ เข้าชื่อกันได้เสนอความคิดเห็นด้วย

– ในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

เมื่อมีการลงมติเห็นชอบแล้วให้รอไว้ 15 วัน เล้วให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย

สําหรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

 

2.2 Public Hearing

แนวคําตอบ

Public Hearing (ประชาพิจารณ์) หมายถึง การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องที่จะออกกฎหมายก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชาพิจารณ์จะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐ ก็ไม่จําเป็นต้องปฏิบัติตามผลหรือข้อสรุปนั้นเสมอไป เพราะไม่มีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กําหนดให้มีการทําประชาพิจารณ์ในเรื่องดังต่อไปนี้

1 การตรากฎหมายทุกฉบับ

2 การดําเนินกิจการของรัฐหรือที่รัฐอนุญาตให้ดําเนินการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

3 การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ

4 การทําหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การค้า หรือการลงทุนของประเทศ ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทําให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ

 

2.3 Uprising

แนวคําตอบ

Uprising (การจลาจลทางการเมือง) หมายถึง การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้าน (Standing up against) ผู้ปกครอง/ผู้ใช้อํานาจรัฐ หรือรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งจะนําโดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ จากนั้นประชาชนบางกลุ่มก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในอุดมการณ์นั้น และเมื่อรัฐบาลยอมทําตามอุดมการณ์ที่กลุ่มต้องการแล้ว ก็จะยุติการจลาจลลง

ตัวอย่างเหตุการณ์การจลาจลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมี 2 ครั้ง คือ

– เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเรียกว่า “วันมหาวิปโยค”

– เหตุการณ์วันที่ 17 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “ พฤษภาทมิฬ”

 

2.4 Coup d’e’tat

แนวคําตอบ

Coup d’etat (การรัฐประหาร) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ โดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้อํานาจรัฐหรือผู้ใช้อํานาจปกครองหรือเปลี่ยนตัวบุคคลเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงถือว่าขาดหลักความชอบธรรม (Legitimacy)

จะเห็นได้ว่าประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนา ผู้นําของประเทศ นิยมแย่งชิงอํานาจกันเองด้วยวิธีการทํารัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ผู้ยึดอํานาจ มักเป็นทหาร และภายหลังยึดอํานาจเสร็จแล้ว ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้อํานาจรัฐเท่านั้น

กรณีประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า มีการยึดอํานาจรัฐด้วยกําลังบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งกระทําสําเร็จและไม่สําเร็จ การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จของไทยเกือบ ทุกครั้งเรียกว่า “รัฐประหาร” เพราะเป็นการแย่งชิงอํานาจกันเองในหมู่ผู้ปกครอง แต่ผู้ยึดอํานาจจะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ”

อนึ่ง ประเทศไทยมีการทํารัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยการทํารัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนําของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอํานาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัตน์ธํารง บุญทรงไพศาล และประกาศ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550

 

2.5 Sovereignty

แนวคําตอบ

Sovereignty (อํานาจอธิปไตย หรืออํานาจรัฏฐาธิปัตย์) หมายถึง อํานาจปกครองบังคับบัญชา สูงสุดภายใต้รัฐนั้น ไม่ว่าจะมีวิธีการได้มาโดยความชอบธรรมด้วยการเลือกตั้ง หรือได้มาโดยใช้กําลังในการยึดอํานาจรัฐ ได้สําเร็จด้วยการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหารก็ตาม เพราะผู้ที่ใช้อํานาจรัฐคือกลุ่มผู้ที่แข็งแรงที่สุด เพียงแต่ต่างกัน ในเรื่องที่มาของอํานาจ

อํานาจอธิปไตยถือเป็นองค์ประกอบที่สําคัญองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ โดยอํานาจอธิปไตยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระบอบการปกครอง เช่น ถ้าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อํานาจอธิปไตย จะเป็นของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนคือผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยผ่านตัวแทนคือสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อํานาจอธิปไตยจะเป็นของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ กษัตริย์เป็นผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และเป็นผู้เดียวที่ใช้อํานาจดังกล่าว

ลักษณะสําคัญของอํานาจอธิปไตย มี 4 ประการ คือ

1 มีลักษณะเป็นการทั่วไป (Universality) หมายถึง มีอํานาจครอบคลุมทั่วทั้งรัฐ และอยู่เหนือทุก ๆ อํานาจ

2 มีความสมบูรณ์ (Absoluteness) หมายถึง อํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดภายในรัฐ จะไม่มีอํานาจอื่นใดภายในรัฐที่อยู่เหนือกว่าอํานาจอธิปไตย

3 มีความถาวร (Permanence) หมายถึง อํานาจอธิปไตยจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐยังคงอยู่

4 แบ่งแยกไม่ได้ (Indivisibility) หมายถึง ในรัฐหนึ่ง ๆ จะต้องมีอํานาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียว จะมีการแบ่งแยกอํานาจอธิปไตยไปให้ส่วนต่าง ๆ ภายในรัฐมิได้

อํานาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ทําหน้าที่ในการตรากฎหมายขึ้นมาใช้ภายในประเทศ

2 ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล ทําหน้าที่ในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย

3 ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ทําหน้าที่ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของทุก ๆ คนภายในรัฐ รวมทั้งทําหน้าที่ในการควบคุมทุก ๆ อํานาจให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

 

ข้อ 3 “ความเป็นสถาบัน” ของสถาบันทางการเมืองเป็นปัจจัยสําคัญของเสถียรภาพและการพัฒนาทางการเมือง จากข้อความดังกล่าวให้วิเคราะห์สาเหตุของความไม่เป็นสถาบันทางการเมืองของไทย และอภิปรายถึงผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย โดยให้ยกตัวอย่างสถาบันทาง การเมืองสถาบันใดสถาบันหนึ่งขึ้นมาอธิบายเป็นตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

สาเหตุของความไม่เป็นสถาบันทางการเมืองของไทย

สถาบันทางการเมืองของไทยยังขาดความเป็นสถาบัน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสถาบันทางการเมืองที่สร้างขึ้นมายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง คือ ยังไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ความต้องการ ตลอดจนการประนีประนอมอํานาจและผลประโยชน์ของฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมไทยได้ทั้งในระดับของชนชั้นนําและระดับของประชาชนโดยทั่วไป สถาบันทางการเมืองไทยจึงถูกล้มลงและสร้างขึ้นใหม่บ่อยครั้ง ในระบบการเมืองไทย

ตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองไทย มักมีปัญหาในเรื่องความเป็นสถาบัน หรือก็คือความสามารถของพรรคการเมืองในการปรับตัวเมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีความคงทน การมีโครงสร้างที่ สลับซับซ้อน การแยกตัวบุคคลออกจากการครองอํานาจของใครคนใดคนหนึ่งภายในพรรค เป็นต้น

บูฆอรี ยีหมะ เห็นว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดของความอ่อนแอในเชิงสถาบันของพรรคการเมือง ในประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น เกิดขึ้นจากต้นเหตุสําคัญคือการยึดติดกับตัวบุคคลมากเกินไป หรือก็คือการที่พรรคถูกครอบงําจากผู้นําภายในพรรคนั่นเอง จนทําให้พรรคดํารงอยู่ได้ด้วยอํานาจของบุคคล ไม่ใช่เพราะความเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง และง่ายต่อการล่มสลายหากผู้นําพรรคหลุดพ้นจากอํานาจทางการเมือง

นอกจากนี้ ความไม่เป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคการเมืองไทยยังมีสาเหตุมาจาก

1 ความขัดแย้งทางอุดมคติเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งพรรคการเมือง ปัญหานี้เกิดขึ้น เนื่องจากแนวคิดการจัดตั้งพรรคการเมืองไปขัดแย้งกับอุดมคติดั้งเดิมซึ่งเน้นความเป็นรัฐที่มีความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน จึงปฏิเสธการแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ภายในรัฐ ดังนั้นอุดมคตินี้จึงมักถูกใช้เป็นข้ออ้างของฝ่ายอํานาจใน การปราบปรามฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด

2 ลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีความเป็นปัจเจกชนนิยมสูง ทําให้เป็นอุปสรรคต่อการทํางานร่วมกัน และเป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไทย

3 ระบบอาวุโสทําให้สมาชิกมีความผูกพันต่อพรรคในระดับต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากผู้อาวุโสในพรรคมีบทบาทอํานาจในพรรคมาก ทําให้ผู้น้อยไม่อาจเข้าไปมีบทบาทในพรรคได้มากนัก จึงทําให้สมาชิกส่วนใหญ่ ของพรรคไม่รู้สึกถึงความผูกพันต่อพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไทย

4 โครงสร้างทางสังคมของไทยเป็นโครงสร้างแบบหลวม ๆ ส่งผลให้การรวมกลุ่มต่าง ๆ ไม่มีความเข้มแข็ง รวมถึงการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมือง

5 ความคิดเจ้าผู้ปกครองเป็นเจ้าเหนือแผ่นดินและทรัพย์สินทั้งปวง ทําให้ประชาชนไม่รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของประเทศ ส่งผลให้การรวมกลุ่มทางการเมืองขาดความเข้มแข็ง

6 การตั้งพรรคการเมืองของไทยเริ่มต้นมาจากฐานความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ คือ การตั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้มีอํานาจตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อให้เป็นฐานอํานาจทางการเมืองของกลุ่มตน แต่เมื่อผู้นําพรรคหมดอํานาจ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็มักสลายตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกัน กับกรณีพรรคการเมืองของไทยมักยึดติดกับตัวผู้นําหรือหัวหน้าพรรคมากเกินไป จึงทําให้พรรคการเมืองของไทย ขาดความเป็นสถาบัน

ผลกระทบของความไม่เป็นสถาบันของพรรคการเมืองต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

1 พรรคการเมืองไม่สามารถแสดงบทบาทและทําหน้าที่ที่ควรจะเป็นตามการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

2 พรรคการเมืองมิได้เป็นสถาบันของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นพรรคการเมืองของกลุ่มผู้มีอํานาจหรือชนชั้นนําซึ่งต้องการที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองโดยใช้ชื่อประชาชนมากล่าวอ้าง เพื่อความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

3 การจัดตั้งพรรคการเมืองมิได้อยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์ทางการเมืองหรือการเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์และตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนจึงไม่ตระหนักในการเป็นสมาชิก และมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง การบริหารและนโยบายของพรรคการเมืองจึงไม่สะท้อนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศชาติและประชาชน

4 การรวมศูนย์อํานาจการตัดสินใจภายในพรรคการเมืองไว้ที่ผู้นําหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพรรคการเมือง ทําให้สมาชิกพรรคไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือร่วมตัดสินใจในการดําเนินการต่าง ๆ ของพรรคการเมืองได้ เช่น การคัดสรรบุคคลเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งและดํารงตําแหน่งสําคัญทางการเมือง เป็นต้น

5 การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองเป็นการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เท่านั้น มิได้ให้ความสําคัญกับการตั้งสาขาพรรคให้กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้สาขาพรรคเป็นกลไกในการเชื่อมโยงพรรคกับประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ

Advertisement