การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อ

ข้อ 1 นักศึกษามีความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี (Presidential System) อย่างไร โดยอธิบายถึงขั้นตอน หลักการ และวิธีการ พร้อมยกตัวอย่าง

แนวคําตอบ

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี (Presidential System) หรือการเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจเด็ดขาด เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่สหรัฐอเมริกา เป็นแม่แบบที่เรียกว่า “ระบบประธานาธิบดีคลาสสิก” ซึ่งเกิดมาจากความคิดของผู้เริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการจะกําหนดรูปแบบการปกครองของประเทศให้เหมาะสมกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งประเทศ

ขั้นตอน/กระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 การเลือกตั้งประธานาธิบดี

2 การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

3 ครบวาระเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐถูกมอบหมายให้แต่ละองค์กรนําไปปฏิบัติโดยไม่รวมอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กล่าวคือ อํานาจบริหารจะใช้โดยฝ่ายบริหารที่เรียกว่าประธานาธิบดี หรือคณะรัฐบาล อํานาจนิติบัญญัติจะใช้โดยฝ่ายรัฐสภา และอํานาจตุลาการจะใช้โดยฝ่ายศาล

2 การแยกอํานาจแยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายอํานาจหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติจะเป็นอิสระต่อกันโดยเด็ดขาด แต่ละองค์กรจะทําหน้าที่ของแต่ละฝ่ายโดยไม่ก้าวก่าย ตรวจสอบหรือควบคุมซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจในการยุบสภา ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มีอํานาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร เป็นต้น และแต่ละฝ่ายก็จะมีที่มาเป็นอิสระต่อกัน เช่น ประธานาธิบดีหรือสมาชิกรัฐสภาก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแยกแต่ละฝ่ายกัน

3 ฝ่ายต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่จะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็จะอยู่จนครบ 4 ปี หรือฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็จะอยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะเป็นบุคคลเดียวกัน และมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมก็ได้ โดยไม่ผ่านทางรัฐสภา ซึ่งตําแหน่งดังกล่าวนี้เรียกว่า ประธานาธิบดี

2 ประมุขฝ่ายบริหารสามารถตั้งรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ ประธานาธิบดีสามารถเลือกรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีของสหรัฐอเมริกาต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน

3 ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอํานาจในเรื่องการไม่ให้ความไว้วางใจแก่ฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีและรัฐมนตรีไม่ได้

  1. ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจรเริ่มเสนอกฎหมาย การเสนอกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

5 ฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีไม่มีอํานาจยุบสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ

6 ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจเรียกประชุมรัฐสภา กล่าวคือ ประธานาธิบดีไม่มีอํานาจเรียกประชุมสภา การประชุมสภาเป็นอํานาจหรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภา

7 ประธานาธิบดีสามารถเสนอนโยบาย โดยสภาผู้แทนราษฎรทําหน้าที่อนุมัติงบประมาณ

8 ประธานาธิบดีเป็นผู้แทนประเทศในการทําสนธิสัญญากับต่างชาติ โดยวุฒิสภาทําหน้าที่ให้สัตยาบัน

9 ทุกฝ่ายจะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็อยู่จนครบ 4 ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็อยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

10 ฝ่ายตุลาการมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เพื่อมิต้องตกอยู่ภายใต้อํานาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยมีกฎหมายเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม แม้ในหลักการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี จะไม่ก้าวก่ายและตรวจสอบควบคุมซึ่งกันและกัน แต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีการผ่อนคลายบ้างในกรณีที่เกิดปัญหา วิกฤติในการเมืองการปกครอง เช่น การให้ประธานาธิบดีมีอํานาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาตามกลไกทางการเมืองที่ เรียกว่า Veto หรือการให้อํานาจฝ่ายนิติบัญญัติทําหน้าที่กล่าวหาประธานาธิบดีในกรณีที่มีการกระทําที่ไม่เหมาะสม ที่จะนําไปสู่ความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของประเทศหรือเสื่อมเสียกับตําแหน่งตามกลไกทางการเมืองที่เรียกว่า Impeachment

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดีจะมีเสถียรภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระบบพรรคการเมืองที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัยของพรรค เพราะถ้าประธานาธิบดีอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงข้างมากในสภาจะได้ไม่มีปัญหา และการมีนักการเมืองที่มีวุฒิภาวะที่เห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติเป็น ส่วนรวมด้วย จึงจะทําให้การปกครองระบบประธานาธิบดีนี้ดําเนินไปได้ด้วยดี

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี อุรุกวัย เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษายกประเด็นสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มา 10 ประเด็น โดยให้ยกเป็นข้อ ๆ

แนวคําตอบ

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น 19 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งจัดทําขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สาระสําคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีทั้งสิ้น 48 มาตรา แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกประเด็นหรือสาระสําคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเพียง 10 ประเด็น ดังนี้

1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3 อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

4 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคําแนะนํา ทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

5 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจํานวนไม่เกิน 35 คน ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดําเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

6 การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

7 ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

8 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบ เรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้งหรือ กระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้วให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว 9 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กระทําโดยคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติร่วมกัน และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

10 บรรดาการกระทําทั้งหลายของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

3.1 Referendum

แนวคําตอบ

Referendum (ประชามติ) หมายถึง การให้ประชาชนมาออกเสียงลงคะแนนว่ารับหรือไม่รับกฎหมายฉบับนั้น ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเสียงประชามติไม่รับมีมากกว่ารับหรือเรียกว่า “ประชามติไม่ผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้น ก็ต้องตกไป แต่ถ้าเสียงประชามติรับมีมากกว่าไม่รับหรือเรียกว่า “ประชามติผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็จะถูกนําไป ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติตามมตินั้นเสมอไป เพราะมีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย เริ่มมีการจัดทําประชามติครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ แล้วได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18

สําหรับประเทศที่ให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับพระราชบัญญัติหรือกฎหมาย ที่ออกโดยรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติทุกฉบับ คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยเกือบโดยตรง

3.2 Amendment

แนวคําตอบ

Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) หมายถึง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับไปในระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไข หมายความว่า อาจจะยกเลิกบางมาตรา หรือใส่เพิ่มเติมเข้าไป ในมาตราที่ไม่เคยมีก็ได้ โดยหลักการทั่วไปมีอยู่ว่าอาจแก้ไขบางส่วน หรือแก้ไขทั้งฉบับก็ย่อมทําได้ นั่นคือ สามารถแก้ไขกมาตราก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่กําหนด ทั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัย เหมาะสมกับ สภาพความเป็นจริงของบ้านเมือง หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศและของโลกในเวลานั้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีไม่แตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายธรรมดา คือ กฏข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ หากสภาออกกฎหมายยกเลิกก็เท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรจะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอน เริ่มจากองค์กร ที่มีอํานาจการเสนอญัตติขอแก้ไข องค์กรที่มีอํานาจในการพิจารณาในแต่ละวาระ และต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากด้วย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญของไทยจะมีการจํากัดอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ห้ามแก้ไขในเรื่องรูปแบบรัฐซึ่งเป็นแบบรัฐเดียว (Unitary State) และรูปแบบ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเด็ดขาด

สําหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 บัญญัติให้มติการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยจัดทําเป็น ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ ซึ่งมติให้ความเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 15 วันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติ เพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการ

3.3 Public Hearing

แนวคําตอบ

Public Hearing (ประชาพิจารณ์) หมายถึง การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องที่จะออกกฎหมายก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชาพิจารณ์จะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐก็ไม่จําเป็นต้องปฏิบัติตามผลหรือข้อสรุปนั้นเสมอไป เพราะไม่มีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้กําหนด เรื่องการทําประชาพิจารณ์ไว้ 2 เรื่อง คือ

1 สิทธิชุมชน โดยกําหนดให้การดําเนินโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน

2 การทําหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

3.4 Uprising

แนวคําตอบ

Uprising (การจลาจลทางการเมือง) หมายถึง การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้าน (Standing up against) ผู้ปกครอง/ผู้ใช้อํานาจรัฐ หรือรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งจะนําโดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ จากนั้น ประชาชนบางกลุ่มก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในอุดมการณ์นั้น และเมื่อรัฐบาลยอมทําตามอุดมการณ์ที่กลุ่มต้องการแล้ว ก็จะยุติการจลาจลลง

ตัวอย่างเหตุการณ์การจลาจลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมี 2 ครั้ง คือ

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “วันมหาวิปโยค”

เหตุการณ์วันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “ พฤษภาทมิฬ”

3.5 Jury

แนวคําตอบ

Jury (คณะลูกขุน) หมายถึง ประชาชนทั่วไป บุคคลธรรมดา หรือชาวบ้านธรรมดาที่ไม่จําเป็นต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมาย แต่เป็นวิญญูชนที่มีความคิดเป็นปกติแบบคนทั่วไป ซึ่งได้รับคัดเลือกเพื่อเข้ามาเป็น คณะลูกขุนพิจารณาคดีความ โดยใช้สามัญสํานึกหรือความรู้สึกในการพิจารณา ดังนั้นคณะลูกขุนจึงอาจเป็นวิศวกร กรรมกร นักศึกษา หรือใครก็ได้ การตัดสินคดีความโดยใช้คณะลูกขุนนี้เป็นวิธีการทางศาลของกรีกโบราณที่ใช้ในนครรัฐเอเธนส์ ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ใช้คณะลูกขุนตัดสินคดี เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สกอตแลนด์ เป็นต้น

กรณีสหรัฐอเมริกา จะมีการใช้คณะลูกขุนตัดสินคดีความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยจะมีการจัดทําบัญชีรายชื่อคณะลูกขุนจากผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลก็จะมีการคัดเลือกคณะลูกขุนจากบัญชีรายชื่อที่จัดทําไว้ ซึ่งจํานวนของคณะลูกขุนจะถูกกําหนดตามกฎหมายของแต่ละมลรัฐ โดยส่วนใหญ่จะมีจํานวน 12 คน และเมื่อคัดเลือกคณะลูกขุนได้แล้ว คณะลูกขุนทั้งหมดก็จะถูกเก็บตัวทันที ห้ามติดต่อกับโลกภายนอก โดยรัฐบาลจะจัดสถานที่พักให้จนกว่าจะพิจารณาคดีเสร็จสิ้นหรือจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

เมื่อได้คณะลูกขุนครบถ้วนแล้วจะมีการพิจารณาคดีสืบพยานทันที หลังจากสืบพยานทั้ง 2 ฝ่าย เรียบร้อยแล้ว คณะลูกขุนจะมีการประชุมลับเพื่อลงมติตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดโดยไม่มีการให้เหตุผลใด ๆ ซึ่งจะใช้เสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์ การตัดสินของคณะลูกขุนถือว่าเป็นกฎหมาย เว้นแต่เป็นกรณีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อย่างชัดเจน อาจมีการกลับคําตัดสินชี้ขาดได้โดยการร้องขออุทธรณ์

Advertisement