การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อ

ข้อ 1 ให้นักศึกษาเลือกอธิบายการเมืองระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือการเมืองระบบประธานาธิบดี (Presidential System) เพียง 1 ระบบการเมือง

แนวคําตอบ

การเมืองระบบรัฐสภา (Parliamentary System)

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือการเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจผ่อนคลาย เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่อังกฤษเป็นแม่แบบ ที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก” ซึ่งในการเมืองการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองการปกครอง ที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้ว รัฐบาลที่ปกครองและบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงาน ด้วยความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั้นเอง

ขั้นตอน/กระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2 สภาผู้แทนราษฎรประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี

3 นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

4 คณะรัฐมนตรีเสนอนโยบายรัฐบาลให้รัฐสภาเห็นชอบ

5 ครบวาระเลือกตั้งใหม่ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 อํานาจอธิปไตยแยกตามหน้าที่ กล่าวคือ อํานาจรัฐไม่ได้รวมไว้ในองค์กรเดียว แต่มีการแยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ ได้แก่ อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล

2 การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่ายให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด

3 อํานาจที่แบ่งแยกนี้จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้ มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้ 1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่าพระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่งประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่านายกรัฐมนตรี เป็นต้น

2 ประมุขของรัฐมีลักษณะสําคัญคือ มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐ ไม่อาจถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เองที่ทําให้กิจกรรมใด ๆ ของประมุขของรัฐต้องมีการลงนามกํากับหรือลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมนั้น ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร

3 ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) หรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้น จะต้องเสนอนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้

4 รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจทําให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องออกจากตําแหน่งได้ โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรีก็ได้

5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล

6 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล

7 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล

8 ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นมาตรการในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ

9 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

10 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ

11 ศาลและผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาดังกล่าวนี้จะมีเสถียรภาพและดําเนินไปได้ด้วยดีก็ขึ้นอยู่กับการมีระบบพรรคการเมืองใหญ่และเป็นระบบ 2 พรรค จึงจะทําให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ และรัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระสมัย

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน กรีซ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น

การเมืองระบบประธานาธิบดี (Presidential System)

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี (Presidential System) หรือการเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจเด็ดขาด เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่สหรัฐอเมริกา เป็นแม่แบบที่เรียกว่า “ระบบประธานาธิบดีคลาสสิก” ซึ่งเกิดมาจากความคิดของผู้เริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการจะกําหนดรูปแบบการปกครองของประเทศให้เหมาะสมกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งประเทศ

ขั้นตอน/กระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดีมีดังนี้

1 การเลือกตั้งประธานาธิบดี

2 การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

3 ครบวาระเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐถูกมอบหมายให้แต่ละองค์กรนําไปปฏิบัติโดยไม่รวมอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กล่าวคือ อํานาจบริหารจะใช้โดยฝ่ายบริหารที่เรียกว่าประธานาธิบดี หรือคณะรัฐบาล อํานาจนิติบัญญัติจะใช้โดยฝ่ายรัฐสภา และอํานาจตุลาการจะใช้โดยฝ่ายศาล

2 การแยกอํานาจแยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายอํานาจหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติจะเป็นอิสระต่อกันโดยเด็ดขาด แต่ละองค์กรจะทําหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยไม่ก้าวก่ายตรวจสอบหรือควบคุมซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจใน การยุบสภา ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มีอํานาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายบริหาร เป็นต้น และแต่ละฝ่ายก็จะมีที่มาเป็นอิสระต่อกัน เช่น ประธานาธิบดีหรือสมาชิกรัฐสภาก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแยกแต่ละฝ่ายกัน

3 ฝ่ายต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่จะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็จะอยู่จนครบ 4 ปี หรือฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็จะอยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะเป็นบุคคลเดียวกัน และมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมก็ได้ โดยไม่ผ่านทางรัฐสภา ซึ่งตําแหน่งดังกล่าวนี้เรียกว่าประธานาธิบดี

2 ประมุขฝ่ายบริหารสามารถตั้งรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ ประธานาธิบดีสามารถเลือกรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้โดยไม่ต้องขอความ เห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีของสหรัฐอเมริกาต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน

3 ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอํานาจในเรื่องการไม่ให้ความไว้วางใจแก่ฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีและรัฐมนตรีไม่ได้

4 ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจรเริ่มเสนอกฎหมาย การเสนอกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

5 ฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีไม่มีอํานาจยุบสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ

6 ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจเรียกประชุมรัฐสภา กล่าวคือ ประธานาธิบดีไม่มีอํานาจเรียกประชุมสภา การประชุมสภาเป็นอํานาจหรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภา

7 ประธานาธิบดีสามารถเสนอนโยบาย โดยสภาผู้แทนราษฎรทําหน้าที่อนุมัติงบประมาณ

8 ประธานาธิบดีเป็นผู้แทนประเทศในการทําสนธิสัญญากับต่างชาติ โดยวุฒิสภา ทําหน้าที่ให้สัตยาบัน

9 ทุกฝ่ายจะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็อยู่จนครบ 4 ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็อยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

10 ฝ่ายตุลาการมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เพื่อมิต้องตกอยู่ภายใต้อํานาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยมีกฎหมายเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม แม้ในหลักการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี จะไม่ก้าวก่ายและตรวจสอบควบคุมซึ่งกันและกัน แต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีการผ่อนคลายบ้างในกรณีที่เกิดปัญหา วิกฤติในการเมืองการปกครอง เช่น การให้ประธานาธิบดีมีอํานาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาตามกลไกทางการเมืองที่ เรียกว่า Veto หรือการให้อํานาจฝ่ายนิติบัญญัติทําหน้าที่กล่าวหาประธานาธิบดีในกรณีที่มีการกระทําที่ไม่เหมาะสม ที่จะนําไปสู่ความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของประเทศหรือเสื่อมเสียกับตําแหน่งตามกลไกทางการเมืองที่เรียกว่า Impeachment

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดีจะมีเสถียรภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระบบพรรคการเมืองที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัยของพรรค เพราะถ้าประธานาธิบดีอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงข้างมากในสภาจะได้ไม่มีปัญหา และการมีนักการเมืองที่มีวุฒิภาวะที่เห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติเป็นส่วนรวมด้วย จึงจะทําให้การปกครองระบบประธานาธิบดีนี้ดําเนินไปได้ด้วยดี

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ซิลี อุรุกวัย เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษายกประเด็นสําคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มา 15 ประเด็น โดยเขียนเป็นข้อ ๆ โดยสังเขป  แนวคําตอบ

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น 19 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งจัดทําขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สาระสําคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีทั้งสิ้น 48 มาตรา แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกประเด็นหรือสาระสําคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเพียง 15 ประเด็น ดังนี้

1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3 อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

4 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคําแนะนํา ทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

5 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจํานวนไม่เกิน 35 คน ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดําเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

6 การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

7 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตําแหน่งปลัดกระทรวงอธิบดีและเทียบเท่า ผู้พิพากษาและตุลาการ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ และทรงให้พ้นจากตําแหน่ง

8 ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

9 ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การเมือง

2) การบริหารราชการแผ่นดิน

3) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

4) การปกครองท้องถิ่น

5) การศึกษา

6) เศรษฐกิจ

7) พลังงาน

8) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

9) สื่อสารมวลชน

10) สังคม

11) อื่น ๆ

10 สภาปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคําแนะนํา

11 ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะหนึ่งเพื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยกรรมาธิการจํานวน 36 คน ซึ่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้ง

12 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบ เรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้งหรือ กระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้วให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

13 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กระทําโดยคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติร่วมกัน และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

14 บรรดาประกาศและคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคําสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ เป็นประกาศหรือคําสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด

15 บรรดาการกระทําทั้งหลายของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หากการกระทํานั้นผิด ต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

 

ข้อ 3 เลือกอธิบายศัพท์โดยสังเขป 5 คําศัพท์

3.1 Sovereignty (อํานาจอธิปไตย)

แนวคําตอบ

Sovereignty (อํานาจอธิปไตย หรืออํานาจรัฏฐาธิปัตย์) หมายถึง อํานาจปกครองบังคับบัญชา สูงสุดภายใต้รัฐนั้น ไม่ว่าจะมีวิธีการได้มาโดยความชอบธรรมด้วยการเลือกตั้ง หรือได้มาโดยใช้กําลังในการยึดอํานาจรัฐ ได้สําเร็จด้วยการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหารก็ตามเพราะผู้ที่ใช้อํานาจรัฐคือกลุ่มผู้ที่แข็งแรงที่สุด เพียงแต่ต่างกันในเรื่องที่มาของอํานาจ

คําว่า “อํานาจอธิปไตย” (Sovereignty) “อํานาจรัฐ” (Power of State) และ “อํานาจทาง การเมือง” (Political Power) นั้น คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่เรียกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าต้องการเน้นในเรื่องใด กล่าวคือ อํานาจอธิปไตยเรียกเมื่อเน้นถึงความเป็นเอกราชของชาติ และเป็นอํานาจปกครองบังคับบัญชาสูงสุดภายใต้ผืนแผ่นดินของรัฐ ส่วนอํานาจรัฐเรียกเมื่อเน้นถึงจักรกลแห่งการบังคับ การมีพลังทางวัตถุ และมีกฎหมาย และอํานาจทางการเมืองเรียกเมื่อเน้นถึงผู้มาใช้อํานาจ

3.2 Constitution (รัฐธรรมนูญ)

แนวคําตอบ

Constitution (รัฐธรรมนูญ) หมายถึง กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ หรือกฎหมายหลักหรือกฎหมายแม่บทที่จัดระเบียบในการปกครองประเทศ กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กําหนด

1 กฎเกณฑ์หรือกติกาที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล

2 กฎเกณฑ์หรือกติกาที่เกี่ยวกับการกําหนดขอบเขตอํานาจรัฐบาล

3 กฏเกณฑ์หรือกติกาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ในทางรัฐศาสตร์ถือว่าทุกประเทศมีรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ไทย ญี่ปุ่น เป็นต้น หรือมีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แบบอํานาจนิยมหรือเผด็จการ อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นต้น เพียงแต่เป็นรัฐธรรมนูญในรูปแบบจารีตประเพณีหรือรัฐธรรมนูญแบบ ลายลักษณ์อักษร หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแบบเสรีประชาธิปไตยหรือแบบเผด็จการ

สําหรับประเทศไทย บรรดากฏข้อบังคับการจัดระเบียบอํานาจรัฐในสมัยโบราณ (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) ที่อยู่ในรูปของกฎมณเฑียรบาล ประเพณีการปกครอง หลักทศพิธราชธรรม และพระบรมราชโองการต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือ “รัฐธรรมนูญ” นั่นเอง เพียงแต่ในเวลานั้นยังไม่มีการบัญญัติศัพท์คําว่ารัฐธรรมนูญ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 ต่อมาคณะราษฎรจึงได้มอบหมายให้นายกราชบัณฑิตยสภาในขณะนั้น คือ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร) เป็นผู้บัญญัติศัพท์คําว่า “รัฐธรรมนูญ” โดยแปลมาจากคําว่า “Constitution” และต่อมา ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรกของประเทศไทย ดังนั้นจึงถือว่าวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญของไทย

3.3 Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ)

แนวคําตอบ

Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) หมายถึง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับไปในระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไข หมายความว่า อาจจะยกเลิกบางมาตรา หรือใส่เพิ่มเติมเข้าไปในมาตราที่ไม่เคยมีก็ได้ โดยหลักการทั่วไปมีอยู่ว่าอาจแก้ไขบางส่วน หรือแก้ไขทั้งฉบับก็ย่อมทําได้ นั่นคือ สามารถแก้ไขก็มาตราก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่กําหนด ทั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของบ้านเมือง หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศและของโลกในเวลานั้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีไม่แตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายธรรมดา คือ กฎข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ หากสภาออกกฎหมายยกเลิกก็เท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรจะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอน เริ่มจากองค์กร ที่มีอํานาจการเสนอญัตติขอแก้ไข องค์กรที่มีอํานาจในการพิจารณาในแต่ละวาระ และต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากด้วย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญของไทยจะมีการจํากัดอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ห้ามแก้ไขในเรื่องรูปแบบรัฐซึ่งเป็นแบบรัฐเดียว (Unitary State) และรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเด็ดขาด

สําหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 บัญญัติให้มติการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยจัดทําเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ ซึ่งมติให้ความเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 15 วันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติ เพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการ

3.4 Emergency Power (มาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษ)

แนวคําตอบ

Emergency Power (มาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษ) หมายถึง การใช้อํานาจพิเศษ โดยผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นตําแหน่งประธานาธิบดีหรือตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ประเทศเกิดภาวะคับขัน หรือมีความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งการใช้อํานาจดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

การกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษไว้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติอย่างรอบคอบ เพื่อมิให้ผู้ใช้อํานาจลุแก่อํานาจ โดยจะต้องคํานึงถึงหลักการดังต่อไปนี้

1 นิยามคําว่า “สถานการณ์พิเศษ” ต้องชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

2 ต้องมีองค์กรทําหน้าที่ควบคุมผู้ใช้อํานาจพิเศษ

3 เมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ ต้องยุติการใช้อํานาจพิเศษโดยพลัน

4 ต้องมีเงื่อนไขของการใช้อํานาจพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแปรสภาพเป็นระบอบอื่น

ตัวอย่างของประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 ประเทศได้ระบุนิยามของคําว่า “สถานการณ์พิเศษ” ไว้อย่างชัดเจน ระบุขอบเขตการใช้อํานาจของผู้นําไว้ชัดเจน ตลอดจนมีองค์กรที่ทําหน้าที่ ควบคุมผู้ใช้อํานาจพิเศษไว้ด้วย

สําหรับประเทศไทย การกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษเคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ เช่น มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แต่แนวความคิดเรื่องการกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษไว้ภายใต้บทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญไทย เป็นเรื่องที่แทบจะยอมรับไม่ได้เลย เพราะได้ติดกับภาพลักษณ์เก่า ๆ ของมาตรา 17 ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดภาวะคับขันหรือความวุ่นวายทางการเมืองจึงมีเพียงแต่กองทัพเท่านั้นที่จะมาแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งเป็นภาพลบของบ้านเมือง โดยเฉพาะประชาคมโลกในปัจจุบันที่ต่อต้านการใช้วิธีการรุนแรงกับฝูงชนผู้มาชุมนุมประท้วง ในรูปแบบต่าง ๆ

3.5 Uprising (การจลาจลทางการเมือง)

แนวคําตอบ

Uprising (การจลาจลทางการเมือง) หมายถึง การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้าน (Standing up against) ผู้ปกครอง/ผู้ใช้อํานาจรัฐ หรือรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งจะนําโดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ จากนั้น ประชาชนบางกลุ่มก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในอุดมการณ์นั้น และเมื่อรัฐบาลยอมทําตามอุดมการณ์ที่กลุ่มต้องการแล้ว ก็จะยุติการจลาจลลง

ตัวอย่างเหตุการณ์การจลาจลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมี 2 ครั้ง คือ

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเรียกว่า “วันมหาวิปโยค”

เหตุการณ์วันที่ 17 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “ พฤษภาทมิฬ”

3.6 Referendum (ประชามติ)

แนวคําตอบ

Referendum (ประชามติ) หมายถึง การให้ประชาชนมาออกเสียงลงคะแนนว่ารับหรือไม่รับ กฎหมายฉบับนั้น ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเสียงประชามติไม่รับมีมากกว่ารับหรือเรียกว่า “ประชามติไม่ผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็ต้องตกไป แต่ถ้าเสียงประชามติรับมีมากกว่าไม่รับหรือเรียกว่า “ประชามติผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็จะถูกนําไป ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติตามมตินั้นเสมอไป เพราะมีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย เริ่มมีการจัดทําประชามติครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ แล้วได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18

สําหรับประเทศที่ให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับพระราชบัญญัติหรือ กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติทุกฉบับ คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตย เกือบโดยตรง

FORROR

3.7 Rebellion (กบฏ)

แนวคำตอบ

Rebellion (กบฏ) หมายถึง การยึดอํานาจที่ไม่สําเร็จ จึงเป็นผู้แพ้ มีความผิดตามที่ผู้ชนะ (รัฐบาลเวลานั้น) จะสั่งการด้วยวิธีใดก็ย่อมทําได้ เช่น จับติดคุก ประหารชีวิต เนรเทศออกนอกประเทศ เป็นต้น กบฏถือเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย

ตัวอย่างเหตุการณ์กบฏในประเทศไทย เช่น

– ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เกิดกบฎ 3 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการต้องการกลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก ได้แก่

1 “กบฏบวรเดช” นําโดยพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช เกิดขึ้นวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476

2 “กบฎนายสิบ” นําโดยสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เกิดขึ้นวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478

3 “กบฎพระยาทรงสุรเดช” นําโดยพันเอกพระยาทรงสุรเดช เกิดขึ้นวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481

ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดกบฏ 2 ครั้ง คือ

1 “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเตอร์ก” นําโดยพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา และกลุ่มทหารยังเตอร์ก เกิดขึ้นวันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ. 2524

2 “กบฏไอ้โม่ง นัดแล้วใยไม่มา” นําโดยพันเอกมนูญ รูปขจร เกิดขึ้นวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528

Advertisement