การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อ

ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายความหมายของ “ประชาธิปไตย” (Democracy) และประชาธิปไตยมีหลักการสําคัญ ๆ อย่างไร ยกมาอธิบาย 5 หลักการพร้อมยกตัวอย่าง

แนวคําตอบ

คําว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คํา คือ คําว่า “Demos” แปลว่า ประชาชน (People) ราษฎร หรือพลเมือง กับคําว่า “Kratos, Kratien” แปลว่า ปกครอง (to Rule) หรืออํานาจ ดังนั้นความหมายของประชาธิปไตยจึงหมายถึง การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรือ อํานาจอธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) แบบอิสรเสรี เสมอภาค และลงคะแนนลับ

หลักการสําคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มีดังนี้

1 หลักอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย (อํานาจสูงสุด) เป็นของประชาชน การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ถือว่า อํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีวิธีการปกครองที่แสดงออกให้เห็นว่า ประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สามารถควบคุมและตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลได้ ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาลได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีได้ทุก 4 ปี หรือประชาชนญี่ปุ่นที่สามารถเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลในเวลาไม่เกิน 4 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลักการอํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนนี้ประชาชนต้องมี “อํานาจการตัดสินใจ ขั้นสุดท้าย” คือ ประชาชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติและบริหารของรัฐ และการตัดสินใจของประชาชนถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด

2 หลักสิทธิ (Right) หน้าที่ (Duty) เสรีภาพ (Liberty) และความเสมอภาค (Equality) ของประชาชน เป็นหลักการที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพมาตั้งแต่เกิด และต่อมาถูกจํากัดโดยกฎหมายหรือ กฎเกณฑ์ของสังคมภายหลัง ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้มีกฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ เช่น การบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็น ด้านความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา การรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิทางการเมือง ซึ่งในกรณีของสิทธิเสรีภาพนี้มีข้อสังเกตก็คือ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นมิใช่เป็นเสรีภาพ ที่จะทําอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต แต่เป็นเสรีภาพที่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายที่บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพของตนนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการจลาจล ซึ่งในหลักประกัน สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ นี้จะรวมทั้งความเสมอภาคทางการเมือง เพราะเสรีภาพที่ประชาชนมีเท่าๆ กันก็จะก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการเมือง คือ การที่แต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเท่า ๆ กัน โดยในระบอบประชาธิปไตยถือว่าแต่ละคนมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้ปกครอง หรือผู้แทนประชาชน เท่ากันตามหลัก One Man One Vote และสําหรับหลักการนี้ยังจะต้องประกอบด้วย การที่ประชาชนจะต้องรู้จัก หน้าที่ของพลเมืองในการดําเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยด้วย เช่น การมีหน้าที่ในการ เสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์รายได้และสถานภาพอื่นพอ ๆ กัน

3 หลักกฎหมายสูงสุด หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ หรือหลัก นิติธรรม (Rule of law) การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ไม่ยึดตัวบุคคล แต่ยึดหลักการเป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งหลักการอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบนี้ก็คือ การยึดถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง ที่ถือว่าประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน หรือเรียกว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐหรอ หลักนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ ซึ่งหลักการสูงสุดของกฎหมายนี้ ยังรวมไปถึงการที่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีต่าง ๆ อันแสดงให้เห็นถึงว่า ศาลสามารถจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน หรือเป็นที่พึ่งของประชาชนภายในประเทศได้ นั่นคือ ในการตัดสินลงโทษจะใช้กระบวนการยุติธรรม มิใช่ตัดสินโดยบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ตลอดจนรวมถึงการมีหลักกฎหมายที่มีการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้อาจจะเป็นองค์กรการเมือง ศาลยุติธรรมธรรมดาหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้สุดแล้วแต่แนวความคิดเห็นและประเพณีนิยมทางการเมืองของแต่ละประเทศ เพื่อให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งวางหลักแห่งกฎหมายและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้รับการปฏิบัติและเกิดผลอย่างจริงจัง

4 หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) โดยคํานึงถึงเสียงข้างน้อย (Minority Right) หมายความว่า พรรคเสียงข้างมากทําหน้าที่เป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาล และพรรคเสียงข้างน้อยทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านมีความสําคัญเท่ากัน เพราะต่างก็เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนเช่นเดียวกัน และกลุ่มฝ่ายค้านก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้คําว่าหลักเสียงข้างมาก ยังเป็นข้อยุติในปัญหาต่างๆ สําหรับระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ดังนั้นการตัดสินใจทั้งหลายของรัฐบาลในระบอบ ประชาธิปไตยจึงต้องใช้หลักการเสียงข้างมาก เพราะถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัว และเสียงการตัดสินใจโดยคนหมู่มากนั้นย่อมถูกต้องกว่าการตัดสินใจโดยคน ๆ เดียว แต่ในขณะเดียวกันการใช้เสียงข้างมากก็จะคํานึงถึงเสียงข้างน้อยด้วย โดยการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อย รวมทั้งยังยอมรับให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแสดงความต้องการของตนด้วย

5 หลักสันติวิธี เป็นหลักการที่เชื่อว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยรู้จักใช้เหตุผล ไม่ทําอะไรตามอารมณ์และความรู้สึก และไม่ทําอะไรเอาแต่ใจตนเองโดยไม่คํานึงถึงคนอื่น นอกจากนี้ยังยอมรับว่าคนเรา จะเหมือนกันไม่ได้ อาจมีการขัดแย้ง ต้องมีการเจรจา และประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงดําเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธีด้วยการไม่ใช้กําลังความรุนแรง เช่น การเจรจา การประนีประนอม การใช้กลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทุก ๆ กลุ่ม ป้องกันการสูญเสียเลือดเนื้อและบาดเจ็บล้มตาย

โดยสรุปแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ถือหลักการว่าประชาชน เป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยในการดําเนินการปกครองประเทศ โดยตั้งอยู่บนหลักการสําคัญพื้นฐาน อย่างน้อย 5 ประการดังกล่าว

 

ข้อ 2 การเมืองระบบรัฐสภา (Parliamentary System) มีกระบวนการ หลักการ วิธีการ และการแก้ปัญหากรณีเกิดวิกฤติการณ์อย่างไร อธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

แนวคําตอบ

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือ การเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจผ่อนคลาย เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่อังกฤษเป็นแม่แบบ ที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก” ซึ่งในการเมืองการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองการปกครอง ที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้ว รัฐบาลที่ปกครองและบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงาน ด้วยความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั่นเอง

ขั้นตอน/กระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2 สภาผู้แทนราษฎรประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี

3 นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

4 คณะรัฐมนตรีเสนอนโยบายรัฐบาลให้รัฐสภาเห็นชอบ

5 ครบวาระเลือกตั้งใหม่ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 อํานาจอธิปไตยแยกตามหน้าที่ กล่าวคือ อํานาจรัฐไม่ได้รวมไว้ในองค์กรเดียว แต่มีการแยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ ได้แก่ อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล

2 การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่ายให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด

3 อํานาจที่แบ่งแยกนี้จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้ 1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่าพระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่งประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่านายกรัฐมนตรี เป็นต้น

2 ประมุขของรัฐมีลักษณะสําคัญคือ มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐ ไม่อาจถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เอง ที่ทําให้กิจกรรมใด ๆ ของประมุขของรัฐต้องมีการลงนามกํากับหรือลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมนั้น ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร

3 ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) หรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้นจะต้องเสนอนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้

4 รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจทําให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องออกจากตําแหน่งได้โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรีก็ได้

5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล

6 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล

7 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล

8 ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นมาตรการในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ

9 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

10 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ

11 ศาลและผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การแก้ปัญหาหรือทางออกของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา กรณีเกิดวิกฤติการณ์

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานั้น ถือว่าประชาชนคือเจ้าของอํานาจอธิปไตย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมือง รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนให้ทําหน้าที่บริหารประเทศ จึงต้องแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีการทางการเมือง ดังนี้

1 การลาออกจากตําแหน่งรัฐมนตรี เช่น กรณีเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เป็นต้น

2 การเปลี่ยนตําแหน่งรัฐมนตรี กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกําลังพัฒนา ซึ่งนักการเมืองมักจะยึดติดกับตําแหน่งเมื่อบริหารงานผิดพลาดมักจะไม่รับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตําแหน่ง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเปลี่ยนตําแหน่งรัฐมนตรี

3 การลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ครั้งเมื่อรัฐบาลบริหารงานผิดพลาด นายกรัฐมนตรีมักจะรับผิดชอบด้วยการลาออกเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

4 การปรับเปลี่ยนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับการเมืองการปกครองระบบรัฐสภาที่มีรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม เมื่อบริหารงานไปแล้วผลงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชน ก็ต้องใช้วิธีการเปลี่ยนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เพื่อให้ รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น

5 การยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอํานาจให้ประชาชนเลือกตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน กรีซ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

3.1 Uprising

แนวคําตอบ

Uprising (การจลาจลทางการเมือง) หมายถึง การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้าน (Standing up against) ผู้ปกครอง/ผู้ใช้อํานาจรัฐ หรือรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งจะนําโดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ จากนั้น ประชาชนบางกลุ่มก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในอุดมการณ์นั้น และเมื่อรัฐบาลยอมทําตามอุดมการณ์ที่กลุ่มต้องการแล้ว ก็จะยุติการจลาจลลง

ตัวอย่างเหตุการณ์การจลาจลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมี 2 ครั้ง คือ เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “วันมหาวิปโยค

เหตุการณ์วันที่ 17 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “ พฤษภาทมิฬ”

3.2 Revolution

แนวคําตอบ

Revolution (การปฏิวัติ) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมแบบใหม่ สร้างกฎหมายใหม่ และเพื่อสนองอุดมการณ์แบบใหม่ ซึ่งมีหลักการที่สั้นที่สุดก็คือ “สิ่งที่เคยถูกต้องและดีงามในอดีตหรือสิ่งที่ถูกต้องในวันนี้ ไม่จําเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นหลักสัจธรรมสําหรับปัจจุบันหรืออนาคต” แต่การปฏิวัติที่จะเกิดความชอบธรรม (Legitimacy) จะต้องมีประชาชนเข้าร่วมอยู่ด้วยพร้อมกับผู้นํา

ตัวอย่างของการปฏิวัติใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่อาจกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรม ได้แก่

การปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789

การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917

การปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1949

กรณีประเทศไทย การยึดอํานาจรัฐที่พอจะอนุโลมให้เรียกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมีเพียงครั้งเดียว คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คณะราษฎรได้ทําการ ยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองใหม่จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ในระบบรัฐสภา แบบอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าร่วมด้วย

สําหรับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นี้ ไม่ใช่การทํารัฐประหาร และก็ไม่ใช่การปฏิวัติ โดยสิ้นเชิง แต่ที่ถูกต้องทางรัฐศาสตร์ควรเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ซึ่ง 1 ในคณะราษฎร หรือผู้ก่อการคือ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “การอภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ. 2475”

3.3 Coup d’e’tat

แนวคําตอบ

Coup d’etat (การรัฐประหาร) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ โดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้อํานาจรัฐหรือผู้ใช้อํานาจปกครองหรือเปลี่ยน ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงถือว่าขาดหลักความชอบธรรม (Legitimacy)

จะเห็นได้ว่าประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนา ผู้นําของประเทศ นิยมแย่งชิงอํานาจกันเองด้วยวิธีการทํารัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ผู้ยึดอํานาจ มักเป็นทหาร และภายหลังยึดอํานาจเสร็จแล้ว ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทาง การเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้อํานาจรัฐเท่านั้น

กรณีประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า มีการยึดอํานาจรัฐด้วยกําลังบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งกระทําสําเร็จและไม่สําเร็จ การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จของไทยเกือบ ทุกครั้งเรียกว่า “รัฐประหาร” เพราะเป็นการแย่งชิงอํานาจกันเองในหมู่ผู้ปกครอง แต่ผู้ยึดอํานาจจะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ”

สําหรับการทํารัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนําของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอํานาจ รัฐบาลรักษาการของนายนิวัตน์ธํารง บุญทรงไพศาล และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550

3.4 Rebellion

แนวคําตอบ

Rebellion (กบฏ) หมายถึง การยึดอํานาจที่ไม่สําเร็จ จึงเป็นผู้แพ้ มีความผิดตามที่ผู้ชนะ (รัฐบาลเวลานั้น) จะสั่งการด้วยวิธีใดก็ย่อมทําได้ เช่น จับติดคุก ประหารชีวิต เนรเทศออกนอกประเทศ เป็นต้น กบฏถือเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย

ตัวอย่างเหตุการณ์กบฏในประเทศไทย เช่น

– ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เกิดกบฏ 3 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการต้องการ กลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก ได้แก่

1 “กบฏบวรเดช” นําโดยพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช เกิดขึ้นวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476

2 “กบฎนายสิบ” นําโดยสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เกิดขึ้นวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478

3 “กบฎพระยาทรงสุรเดช” นําโดยพันเอกพระยาทรงสุรเดช เกิดขึ้นวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481

– ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดกบฏ 2 ครั้ง คือ

1 “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฎยังเตอร์ก” นําโดยพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา และกลุ่มทหารยังเตอร์ก เกิดขึ้นวันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ. 2524

2 “กบฏไอ้โม่ง นัดแล้วใยไม่มา” นําโดยพันเอกมนูญ รูปขจร เกิดขึ้นวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528

3.5 Public Hearing

แนวคําตอบ

Public Hearing (ประชาพิจารณ์) หมายถึง การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องที่จะออกกฎหมายก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชาพิจารณ์จะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐ ก็ไม่จําเป็นต้องปฏิบัติตามผลหรือข้อสรุปนั้นเสมอไป เพราะไม่มีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้กําหนด เรื่องการทําประชาพิจารณ์ไว้ 2 เรื่อง คือ

1 สิทธิชุมชน โดยกําหนดให้การดําเนินโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน

2 การทําหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

Advertisement