การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

ข้อ 1 อธิบายความหมายและหลักการสําคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย พร้อมยกตัวอย่าง

แนวคําตอบ

คําว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คํา คือ คําว่า “Demos” แปลว่า ประชาชน (People) ราษฎร หรือพลเมือง กับคําว่า “Kratos, Kratien” แปลว่า ปกครอง (to Rule) หรืออํานาจ ดังนั้นความหมายของประชาธิปไตยจึงหมายถึง การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรือ อํานาจอธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) แบบอิสรเสรี เสมอภาค และลงคะแนนลับ

หลักการสําคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มีดังนี้

1 หลักอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย (อํานาจสูงสุด) เป็นของประชาชน การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ถือว่า อํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีวิธีการปกครองที่แสดงออกให้เห็นว่า ประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สามารถควบคุมและตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลได้ ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาลได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีได้ทุก 4 ปี หรือประชาชนญี่ปุ่นที่สามารถเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลในเวลาไม่เกิน 4 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลักการอํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนนี้ประชาชนต้องมี “อํานาจการตัดสินใจขั้นสุดท้าย” คือ ประชาชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติและบริหารของรัฐ และการตัดสินใจของประชาชนถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด

2 หลักสิทธิ (Right) หน้าที่ (Duty) เสรีภาพ (Liberty) และความเสมอภาค (Equality) ของประชาชนเป็นหลักการที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพมาตั้งแต่เกิด และต่อมาถูกจํากัดโดยกฎหมายหรือ กฎเกณฑ์ของสังคมภายหลัง ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้มีกฎหมายเป็น หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ เช่น การบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นด้านความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา การรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิทางการเมือง ซึ่งในกรณีของสิทธิเสรีภาพนี้มีข้อสังเกตก็คือ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นมิใช่เป็นเสรีภาพ ที่จะทําอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต แต่เป็นเสรีภาพที่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายที่บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพ ของตนนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการจลาจล ซึ่งในหลักประกัน สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ นี้จะรวมทั้งความเสมอภาคทางการเมือง เพราะเสรีภาพที่ประชาชนมีเท่า ๆ กันก็จะก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการเมือง คือ การที่แต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเท่า ๆ กัน โดยในระบอบประชาธิปไตยถือว่าแต่ละคนมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้ปกครอง หรือผู้แทนประชาชนเท่ากันตามหลัก One Man One Vote และสําหรับหลักการนี้ยังจะต้องประกอบด้วย การที่ประชาชนจะต้องรู้จักหน้าที่ของพลเมืองในการดําเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยด้วย เช่น การมีหน้าที่ ในการเสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์รายได้และสถานภาพอื่นพอ ๆ กัน

3 หลักกฎหมายสูงสุด หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ หรือหลัก นิติธรรม (Rule of Law) การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ไม่ยึดตัวบุคคล แต่ยึดหลักการเป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งหลักการอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบนี้ก็คือ การยึดถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง ที่ถือว่าประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน หรือเรียกว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐหรือ หลักนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ ซึ่งหลักการสูงสุดของกฎหมายนี้ ยังรวมไปถึงการที่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีต่าง ๆ อันแสดงให้เห็นถึงว่า ศาลสามารถจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน หรือเป็นที่พึ่งของประชาชนภายในประเทศได้ นั่นคือ ในการตัดสินลงโทษจะใช้กระบวนการยุติธรรม มิใช่ตัดสินโดยบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ตลอดจนรวมถึงการ มีหลักกฎหมายที่มีการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้อาจจะเป็นองค์กรการเมือง ศาลยุติธรรมธรรมดาหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้สุดแล้วแต่แนวความคิดเห็นและประเพณีนิยมทางการเมืองของแต่ละประเทศ เพื่อให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งวางหลักแห่งกฎหมายและหลักบระกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้รับการปฏิบัติและเกิดผลอย่างจริงจัง

4 หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) โดยคํานึงถึงเสียงข้างน้อย (Minority Right) หมายความว่า พรรคเสียงข้างมากทําหน้าที่เป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาล และพรรคเสียงข้างน้อยทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านมีความสําคัญเท่ากัน เพราะต่างก็เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนเช่นเดียวกัน และกลุ่มฝ่ายค้านก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้คําว่าหลักเสียงข้างมาก ยังเป็นข้อยุติในปัญหาต่างๆ สําหรับระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ดังนั้นการตัดสินใจทั้งหลายของรัฐบาลใน ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องใช้หลักการเสียงข้างมาก เพราะถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัว และเสียงการตัดสินใจ โดยคนหมู่มากนั้นย่อมถูกต้องกว่าการตัดสินใจโดยคน ๆ เดียว แต่ในขณะเดียวกันการใช้เสียงข้างมากก็จะคํานึงถึงเสียงข้างน้อยด้วย โดยการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อย รวมทั้งยังยอมรับให้ฝ่ายเสียงข้างน้อย ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแสดงความต้องการของตนด้วย

5 หลักสันติวิธี เป็นหลักการที่เชื่อว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยรู้จักใช้เหตุผล ไม่ทําอะไรตามอารมณ์และความรู้สึก และไม่ทําอะไรเอาแต่ใจตนเองโดยไม่คํานึงถึงคนอื่น นอกจากนี้ยังยอมรับว่าคนเราจะเหมือนกันไม่ได้ อาจมีการขัดแย้ง ต้องมีการเจรจา และประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงดําเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธีด้วยการไม่ใช้กําลังความรุนแรง เช่น การเจรจา การประนีประนอม การใช้กลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุก ๆ กลุ่ม ป้องกันการสูญเสียเลือดเนื้อและบาดเจ็บล้มตาย

โดยสรุปแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ถือหลักการว่าประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยในการดําเนินการปกครองประเทศ โดยตั้งอยู่บนหลักการสําคัญพื้นฐานอย่างน้อย 5 ประการดังกล่าว

 

ข้อ 2 การเมืองระบบรัฐสภา (Parliamentary System) มีขั้นตอน หลักการ และวิธีการอย่างไร อธิบาย พร้อมยกตัวอย่าง

แนวคําตอบ

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือ การเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจผ่อนคลาย เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่อังกฤษเป็นแม่แบบ ที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก” ซึ่งในการเมืองการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองการปกครอง ที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้ว รัฐบาลที่ปกครองและบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงาน ด้วยความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั่นเอง

ขั้นตอน/กระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2 สภาผู้แทนราษฎรประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี

3 นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

4 คณะรัฐมนตรีเสนอนโยบายรัฐบาลให้รัฐสภาเห็นชอบ

5 ครบวาระเลือกตั้งใหม่ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 อํานาจอธิปไตยแยกตามหน้าที่ กล่าวคือ อํานาจรัฐไม่ได้รวมไว้ในองค์กรเดียว แต่มีการแยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ ได้แก่ อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล

2 การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่ายให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด

3 อํานาจที่แบ่งแยกนี้จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่าพระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่งประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่านายกรัฐมนตรี เป็นต้น

2 ประมุขของรัฐมีลักษณะสําคัญคือ มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐ ไม่อาจถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เองที่ทําให้กิจกรรมใด ๆ ของประมุขของรัฐต้องมีการลงนามกํากับหรือลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมนั้น ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร

3 ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) หรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้นจะต้องเสนอนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้

4 รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจทําให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องออกจากตําแหน่งได้โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรีก็ได้

5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล

6 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล

7 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล

8 ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นมาตรการในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ

9 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

10 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ

11 ศาลและผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาดังกล่าวนี้จะมีเสถียรภาพและดําเนิน ไปได้ด้วยดีก็ขึ้นอยู่กับการมีระบบพรรคการเมืองใหญ่และเป็นระบบ 2 พรรค จึงจะทําให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ และรัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระสมัย

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน กรีซ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น

 

ข้อ 3 เลือกอธิบายศัพท์โดยสังเขป 5 คําศัพท์

3.1 Sovereignty (อํานาจรัฏฐาธิปัตย์)

แนวคําตอบ

Sovereignty (อํานาจรัฏฐาธิปัตย์ หรืออํานาจอธิปไตย) หมายถึง อํานาจปกครองบังคับบัญชาสูงสุดภายใต้รัฐนั้น ไม่ว่าจะมีวิธีการได้มาโดยความชอบธรรมด้วยการเลือกตั้ง หรือได้มาโดยใช้กําลังในการยึดอํานาจรัฐ ได้สําเร็จด้วยการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหารก็ตาม เพราะผู้ที่ใช้อํานาจรัฐคือกลุ่มผู้ที่แข็งแรงที่สุด เพียงแต่ต่างกันในเรื่องที่มาของอํานาจ

คําว่า “อํานาจรัฏฐาธิปัตย์” (Sovereignty) “อํานาจรัฐ” (Power of State) และ “อํานาจ ทางการเมือง” (Political Power) นั้น คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่เรียกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าต้องการเน้นในเรื่องใด กล่าวคือ อํานาจรัฏฐาธิปัตย์เรียกเมื่อเน้นถึงความเป็นเอกราชของชาติ และเป็นอํานาจปกครองบังคับบัญชาสูงสุด ภายใต้ผืนแผ่นดินของรัฐ ส่วนอํานาจรัฐเรียกเมื่อเน้นถึงจักรกลแห่งการบังคับ การมีพลังทางวัตถุ และมีกฎหมาย และอํานาจทางการเมืองเรียกเมื่อเน้นถึงผู้มาใช้อํานาจ

3.2 Reformation (การปฏิรูป)

แนวคําตอบ

Reformation (การปฏิรูป) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่กําหนดขึ้น (Change for the better not radical with condition)

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 (ฉบับที่ 16) นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่อ้างว่า ออกแบบเพื่อปฏิรูปการเมือง ดังนั้นจึงมีหลักการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีภายใต้รัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมาทั้ง 15 ฉบับ เช่น การมีองค์กรอิสระทางการเมือง ได้แก่ กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาสําหรับผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมือง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฯลฯ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน เช่น การทําประชามติ การถอดถอนผู้ใช้อํานาจรัฐ การมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายจากประชาชน เป็นต้น

3.3 Rebellion (กบฏ)

แนวคําตอบ

Rebellion (กบฏ) หมายถึง การยึดอํานาจที่ไม่สําเร็จ จึงเป็นผู้แพ้ มีความผิดตามที่ผู้ชนะ (รัฐบาลเวลานั้น) จะสั่งการด้วยวิธีใดก็ย่อมทําได้ เช่น จับติดคุก ประหารชีวิต เนรเทศออกนอกประเทศ เป็นต้น กบฏถือเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย

ตัวอย่างเหตุการณ์กบฏในประเทศไทย เช่น

– ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เกิดกบฏ 3 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการต้องการกลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก ได้แก่

1 “กบฏบวรเดช” นําโดยพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช เกิดขึ้นวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476

2 “กบฏนายสิบ” นําโดยสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เกิดขึ้นวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478

3 “กบฎพระยาทรงสุรเดช” นําโดยพันเอกพระยาทรงสุรเดช เกิดขึ้นวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481

– ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดกบฏ 2 ครั้ง คือ

1 “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเตอร์ก” นําโดยพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา และกลุ่มทหารยังเตอร์ก เกิดขึ้นวันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ. 2524

2 “กบฏไอ้โม่ง นัดแล้วไยไม่มา” นําโดยพันเอกมนูญ รูปขจร เกิดขึ้นวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528

3.4 Emergency Power (มาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษ)

แนวคําตอบ

Emergency Power (มาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษ) หมายถึง การใช้อํานาจพิเศษ โดยผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นตําแหน่งประธานาธิบดีหรือตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ประเทศเกิดภาวะคับขัน หรือมีความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งการใช้อํานาจดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

การกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษไว้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติอย่างรอบคอบ เพื่อมิให้ผู้ใช้อํานาจลุแก่อํานาจ โดยจะต้องคํานึงถึงหลักการดังต่อไปนี้

1 นิยามคําว่า “สถานการณ์พิเศษ” ต้องชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

2 ต้องมีองค์กรทําหน้าที่ควบคุมผู้ใช้อํานาจพิเศษ

3 เมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ ต้องยุติการใช้อํานาจพิเศษโดยพลัน

4 ต้องมีเงื่อนไขของการใช้อํานาจพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแปรสภาพเป็นระบอบอื่น

ตัวอย่างของประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 ประเทศได้ระบุนิยามของคําว่า “สถานการณ์พิเศษ” ไว้อย่างชัดเจน ระบุขอบเขตการใช้อํานาจของผู้นําไว้ชัดเจน ตลอดจนมีองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมผู้ใช้อํานาจพิเศษไว้ด้วย

สําหรับประเทศไทย การกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษเคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ เช่น มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แต่แนวความคิดเรื่องการกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษไว้ภายใต้บทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญไทย เป็นเรื่องที่แทบจะยอมรับไม่ได้เลย เพราะได้ติดกับภาพลักษณ์เก่า ๆ ของมาตรา 17 ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดภาวะคับขันหรือความวุ่นวายทางการเมืองจึงมีเพียงแต่กองทัพเท่านั้นที่จะมาแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งเป็นภาพลบของบ้านเมือง โดยเฉพาะประชาคมโลกในปัจจุบันที่ต่อต้านการใช้วิธีการรุนแรงกับฝูงชนผู้มาชุมนุมประท้วง ในรูปแบบต่าง ๆ

3.5 Jury (คณะลูกขุน)

แนวคําตอบ

Jury (คณะลูกขุน) หมายถึง ประชาชนทั่วไป บุคคลธรรมดา หรือชาวบ้านธรรมดาที่ไม่จําเป็นต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมาย แต่เป็นวิญญูชนที่มีความคิดเป็นปกติแบบคนทั่วไป ซึ่งได้รับคัดเลือกเพื่อเข้ามาเป็นคณะลูกขุนพิจารณาคดีความ โดยใช้สามัญสํานึกหรือความรู้สึกในการพิจารณา ดังนั้นคณะลูกขุนจึงอาจเป็นวิศวกร กรรมกร นักศึกษา หรือใครก็ได้ การตัดสินคดีความโดยใช้คณะลูกขุนนี้เป็นวิธีการทางศาลของกรีกโบราณที่ใช้ในนครรัฐเอเธนส์ ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ใช้คณะลูกขุนตัดสินคดี เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สกอตแลนด์ เป็นต้น

กรณีสหรัฐอเมริกา จะมีการใช้คณะลูกขุนตัดสินคดีความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยจะมีการจัดทําบัญชีรายชื่อคณะลูกขุนจากผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลก็จะมีการคัดเลือกคณะลูกขุนจากบัญชีรายชื่อที่จัดทําไว้ ซึ่งจํานวนของคณะลูกขุนจะถูกกําหนดตามกฎหมายของแต่ละมลรัฐ โดยส่วนใหญ่จะมีจํานวน 12 คน และเมื่อคัดเลือกคณะลูกขุนได้แล้ว คณะลูกขุนทั้งหมดก็จะถูกเก็บตัวทันที ห้ามติดต่อกับโลกภายนอก โดยรัฐบาลจะจัดสถานที่พักให้จนกว่าจะพิจารณาคดีเสร็จสิ้นหรือจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

เมื่อได้คณะลูกขุนครบถ้วนแล้วจะมีการพิจารณาคดีสืบพยานทันที หลังจากสืบพยานทั้ง 2 ฝ่าย เรียบร้อยแล้ว คณะลูกขุนจะมีการประชุมลับเพื่อลงมติตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดโดยไม่มีการให้เหตุผลใด ๆ ซึ่งจะใช้ เสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์ การตัดสินของคณะลูกขุนถือว่าเป็นกฎหมาย เว้นแต่เป็นกรณีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างชัดเจน อาจมีการกลับคําตัดสินชี้ขาดได้โดยการร้องขออุทธรณ์

3.6 Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ)

แนวคําตอบ

Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) หมายถึง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับไปในระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไข หมายความว่า อาจจะยกเลิกบางมาตรา หรือใส่เพิ่มเติมเข้าไปในมาตราที่ไม่เคยมีก็ได้ โดยหลักการทั่วไปมีอยู่ว่าอาจแก้ไขบางส่วน หรือแก้ไขทั้งฉบับก็ย่อมทําได้ นั่นคือ สามารถแก้ไขก็มาตราก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่กําหนด ทั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของบ้านเมือง หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศและของโลกในเวลานั้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีไม่แตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายธรรมดา คือ กฏข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ หากสภาออกกฎหมายยกเลิกก็เท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรจะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอน เริ่มจากองค์กรที่มีอํานาจการเสนอญัตติขอแก้ไข องค์กรที่มีอํานาจในการพิจารณาในแต่ละวาระ และต้องใช้คะแนน เสียงข้างมากด้วย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญของไทยจะมีการจํากัดอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ห้ามแก้ไขในเรื่องรูปแบบรัฐซึ่งเป็นแบบรัฐเดี่ยว (Unitary State) และรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเด็ดขาด

สําหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 บัญญัติให้มติการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยจัดทําเป็น ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ ซึ่งมติให้ความเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 15 วันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติ เพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการ

3.7 Referendum (ประชามติ)

แนวคําตอบ

Referendum (ประชามติ) หมายถึง การให้ประชาชนมาออกเสียงลงคะแนนว่ารับหรือไม่รับกฎหมายฉบับนั้น ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเสียงประชามติไม่รับมีมากกว่ารับหรือเรียกว่า “ประชามติไม่ผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็ต้องตกไป แต่ถ้าเสียงประชามติรับมีมากกว่าไม่รับหรือเรียกว่า “ประชามติผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็จะถูก นําไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามมตินั้นเสมอไป เพราะมีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย เริ่มมีการจัดทําประชามติครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ แล้วได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18

สําหรับประเทศที่ให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติทุกฉบับ คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตย เกือบโดยตรง

3.8 Public Hearing (ประชาพิจารณ์)

แนวคําตอบ

Public Hearing (ประชาพิจารณ์) หมายถึง การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องที่จะออกกฎหมายก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชาพิจารณ์จะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐ ก็ไม่จําเป็นต้องปฏิบัติตามผลหรือข้อสรุปนั้นเสมอไป เพราะไม่มีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้กําหนดเรื่องการทําประชาพิจารณ์ไว้ 2 เรื่อง คือ

1 สิทธิชุมชน โดยกําหนดให้การดําเนินโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน

2 การทําหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

Advertisement