การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้เลือกทําเพียง 2 ข้อ

ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายความหมายของ “ประชาธิปไตย” (Democracy) และหลักการสําคัญของประชาธิปไตยอย่างน้อย 4 ประการ พร้อมยกตัวอย่างประกอบคําอธิบาย

แนวคําตอบ

คําว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คํา คือ คําว่า “Demos” แปลว่า ประชาชน (People) ราษฎร หรือพลเมือง กับคําว่า “Kratos, Kratien” แปลว่า ปกครอง (to Rule) หรืออํานาจ ดังนั้นความหมายของประชาธิปไตยจึงหมายถึง การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรือ อํานาจอธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) แบบอิสรเสรี เสมอภาค และลงคะแนนลับ

หลักการสําคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มีดังนี้

1 หลักอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย (อํานาจสูงสุด) เป็นของประชาชน

การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ถือว่า อํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย เป็นของประชาชน โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีวิธีการปกครองที่แสดงออกให้เห็นว่า ประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สามารถควบคุมและตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลได้ ตลอดจนสามารถ เปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาลได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีได้ทุก 4 ปี หรือประชาชนญี่ปุ่นที่สามารถเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลใน เวลาไม่เกิน 4 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลักการอํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนนี้ประชาชนต้องมี “อํานาจการตัดสินใจ ขั้นสุดท้าย” คือ ประชาชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติและบริหารของรัฐ และการตัดสินใจของ ประชาชนถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด

2 หลักสิทธิ (Right) หน้าที่ (Duty) เสรีภาพ (Liberty) และความเสมอภาค (Equality) ของประชาชน เป็นหลักการที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพมาตั้งแต่เกิด และต่อมาถูกจํากัดโดยกฎหมายหรือ กฎเกณฑ์ของสังคมภายหลัง ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้มีกฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ เช่น การบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็น ด้านความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา การรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิ ทางการเมือง ซึ่งในกรณีของสิทธิเสรีภาพนี้มีข้อสังเกตก็คือ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นมิใช่เป็นเสรีภาพ ที่จะทําอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต แต่เป็นเสรีภาพที่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายที่บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพ ของตนนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการจลาจล ซึ่งในหลักประกัน สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ นี้จะรวมทั้งความเสมอภาคทางการเมือง เพราะเสรีภาพที่ประชาชนมีเท่า ๆ กันก็จะก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการเมือง คือ การที่แต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเท่า ๆ กัน โดยในระบอบประชาธิปไตยถือว่าแต่ละคนมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้ปกครอง หรือผู้แทนประชาชน เท่ากันตามหลัก One Man One Vote และสําหรับหลักการนี้ยังจะต้องประกอบด้วย การที่ประชาชนจะต้องรู้จักหน้าที่ของพลเมืองในการดําเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยด้วย เช่น การมีหน้าที่ในการ เสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์รายได้และสถานภาพอื่นพอ ๆ กัน

3 หลักกฎหมายสูงสุด หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ หรือหลัก นิติธรรม (Rule of law) การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ไม่ยึดตัวบุคคล แต่ยึดหลักการ เป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งหลักการอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบนี้ก็คือ การยึดถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง ที่ถือว่าประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน หรือเรียกว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐหรือ หลักนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ ซึ่งหลักการสูงสุดของกฎหมายนี้ ยังรวมไปถึงการที่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีต่าง ๆ อันแสดงให้เห็นถึงว่า ศาลสามารถจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน หรือเป็นที่พึ่งของประชาชนภายในประเทศได้ นั่นคือ ในการตัดสินลงโทษจะใช้กระบวนการยุติธรรม มิใช่ตัดสินโดยบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ตลอดจนรวมถึงการ มีหลักกฎหมายที่มีการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัด ต่อรัฐธรรมนูญนี้อาจจะเป็นองค์กรการเมือง ศาลยุติธรรมธรรมดาหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้สุดแล้วแต่แนวความคิดเห็นและประเพณีนิยมทางการเมืองของแต่ละประเทศ เพื่อให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งวางหลักแห่งกฎหมายและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้รับการปฏิบัติและเกิดผลอย่างจริงจัง

4 หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) โดยคํานึงถึงเสียงข้างน้อย (Minority Right) หมายความว่า พรรคเสียงข้างมากทําหน้าที่เป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาล และพรรคเสียงข้างน้อยทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านมีความสําคัญเท่ากัน เพราะต่างก็เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนเช่นเดียวกัน และกลุ่มฝ่ายค้านก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้คําว่าหลักเสียงข้างมาก ยังเป็นข้อยุติในปัญหาต่างๆ สําหรับระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ดังนั้นการตัดสินใจทั้งหลายของรัฐบาลในระบอบ ประชาธิปไตยจึงต้องใช้หลักการเสียงข้างมาก เพราะถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัว และเสียงการตัดสินใจ โดยคนหมู่มากนั้นย่อมถูกต้องกว่าการตัดสินใจโดยคนๆ เดียว แต่ในขณะเดียวกันการใช้เสียงข้างมากก็จะคํานึงถึง เสียงข้างน้อยด้วย โดยการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อย รวมทั้งยังยอมรับให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้มีโอกาส แสดงความคิดเห็นและแสดงความต้องการของตนด้วย

5 หลักสันติวิธี เป็นหลักการที่เชื่อว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยรู้จักใช้เหตุผล ไม่ทําอะไรตามอารมณ์และความรู้สึก และไม่ทําอะไรเอาแต่ใจตนเองโดยไม่คํานึงถึงคนอื่น นอกจากนี้ยังยอมรับว่าคนเรา จะเหมือนกันไม่ได้ อาจมีการขัดแย้ง ต้องมีการเจรจา และประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงดําเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธีด้วยการไม่ใช้กําลังความรุนแรง เช่น การเจรจา การประนีประนอม การใช้กลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทุก ๆ กลุ่ม ป้องกันการสูญเสียเลือดเนื้อและบาดเจ็บล้มตาย

โดยสรุปแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ถือหลักการว่าประชาชน เป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยในการดําเนินการปกครองประเทศ โดยตั้งอยู่บนหลักการสําคัญพื้นฐาน 5 ประการดังกล่าว

 

ข้อ 2 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กําหนดการเมืองการปกครองของประเทศนั้น ให้นักศึกษาอธิบายขั้นตอน หลักการ และวิธีการการเมืองการปกครอง “ระบบประธานาธิบดี” (Presidential System) พร้อมยกตัวอย่างประกอบคําอธิบาย

แนวคําตอบ

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี (Presidential System) หรือการเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจเด็ดขาด เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่สหรัฐอเมริกา เป็นแม่แบบที่เรียกว่า “ระบบประธานาธิบดีคลาสสิก” ซึ่งเกิดมาจากความคิดของผู้เริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการจะกําหนดรูปแบบการปกครองของประเทศให้เหมาะสมกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งประเทศ

ขั้นตอน/กระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 การเลือกตั้งประธานาธิบดี

2 การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

3 ครบวาระเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐถูกมอบหมายให้แต่ละองค์กรนําไปปฏิบัติโดยไม่รวมอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กล่าวคือ อํานาจบริหารจะใช้โดยฝ่ายบริหารที่เรียกว่าประธานาธิบดี หรือคณะรัฐบาล อํานาจนิติบัญญัติจะใช้โดยฝ่ายรัฐสภา และอํานาจตุลาการจะใช้โดยฝ่ายศาล

2 การแยกอํานาจแยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายอํานาจหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติจะเป็นอิสระต่อกันโดยเด็ดขาด แต่ละองค์กรจะทําหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยไม่ก้าวก่าย ตรวจสอบหรือควบคุมซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจในการยุบสภา ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มีอํานาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายบริหาร เป็นต้น และแต่ละฝ่ายก็จะมีที่มาเป็นอิสระต่อกัน เช่น ประธานาธิบดีหรือสมาชิกรัฐสภาก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแยกแต่ละฝ่ายกัน

3 ฝ่ายต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่จะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็จะอยู่จนครบ 4 ปี หรือฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็จะอยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะเป็นบุคคลเดียวกัน และมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมก็ได้ โดยไม่ผ่านทางรัฐสภา ซึ่งตําแหน่งดังกล่าวนี้เรียกว่า ประธานาธิบดี

2 ประมุขฝ่ายบริหารสามารถตั้งรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ ประธานาธิบดีสามารถเลือกรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีของสหรัฐอเมริกาต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน

2 ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอํานาจในเรื่องการไม่ให้ความไว้วางใจแก่ฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีและรัฐมนตรีไม่ได้

4 ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจรเริ่มเสนอกฎหมาย การเสนอกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

5 ฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีไม่มีอํานาจยุบสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ

6 ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจเรียกประชุมรัฐสภา กล่าวคือ ประธานาธิบดีไม่มีอํานาจเรียกประชุมสภา การประชุมสภาเป็นอํานาจหรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภา

7 ประธานาธิบดีสามารถเสนอนโยบาย โดยสภาผู้แทนราษฎรทําหน้าที่อนุมัติงบประมาณ

8 ประธานาธิบดีเป็นผู้แทนประเทศในการทําสนธิสัญญากับต่างชาติ โดยวุฒิสภาทําหน้าที่ให้สัตยาบัน

9 ทุกฝ่ายจะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็อยู่จนครบ 4 ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็อยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

10 ฝ่ายตุลาการมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เพื่อมิต้องตกอยู่ภายใต้อํานาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยมีกฎหมายเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม แม้ในหลักการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี จะไม่ก้าวก่ายและตรวจสอบควบคุมซึ่งกันและกัน แต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีการผ่อนคลายบ้างในกรณีที่เกิดปัญหา วิกฤติในการเมืองการปกครอง เช่น การให้ประธานาธิบดีมีอํานาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาตามกลไกทางการเมืองที่ เรียกว่า Veto หรือการให้อํานาจฝ่ายนิติบัญญัติทําหน้าที่กล่าวหาประธานาธิบดีในกรณีที่มีการกระทําที่ไม่เหมาะสม ที่จะนําไปสู่ความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของประเทศหรือเสื่อมเสียกับตําแหน่งตามกลไกทางการเมืองที่เรียกว่า Impeachment

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดีจะมีเสถียรภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระบบพรรคการเมืองที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัยของพรรค เพราะถ้าประธานาธิบดีอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงข้างมากในสภาจะได้ไม่มีปัญหา และการมีนักการเมืองที่มีวุฒิภาวะที่เห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติเป็น ส่วนรวมด้วย จึงจะทําให้การปกครองระบบประธานาธิบดีนี้ดําเนินไปได้ด้วยดี

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี อุรุกวัย เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาอธิบายศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ต่อไปนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบคําอธิบาย

3.1 Sovereignty

แนวคําตอบ

Sovereignty (อํานาจอธิปไตย หรืออํานาจรัฏฐาธิปัตย์) หมายถึง อํานาจปกครองบังคับบัญชาสูงสุดภายใต้รัฐนั้น ไม่ว่าจะมีวิธีการได้มาโดยความชอบธรรมด้วยการเลือกตั้ง หรือได้มาโดยใช้กําลังในการยึดอํานาจรัฐ ได้สําเร็จด้วยการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหารก็ตาม เพราะผู้ที่ใช้อํานาจรัฐคือกลุ่มผู้ที่แข็งแรงที่สุด เพียงแต่ต่างกัน ในเรื่องที่มาของอํานาจ

อํานาจอธิปไตยถือเป็นองค์ประกอบที่สําคัญองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ โดยอํานาจอธิปไตยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระบอบการปกครอง เช่น ถ้าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อํานาจ อธิปไตยจะเป็นของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนคือผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยผ่านตัวแทน คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อํานาจอธิปไตยจะเป็นของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ กษัตริย์เป็นผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และเป็นผู้เดียวที่ใช้อํานาจดังกล่าว

ลักษณะสําคัญของอํานาจอธิปไตย มี 4 ประการ คือ

1 มีลักษณะเป็นการทั่วไป (Universality) หมายถึง มีอํานาจครอบคลุมทั่วทั้งรัฐ และอยู่เหนือทุก ๆ อํานาจ

2 มีความสมบูรณ์ (Absoluteness) หมายถึง อํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดภายในรัฐจะไม่มีอํานาจอื่นใดภายในรัฐที่อยู่เหนือกว่าอํานาจอธิปไตย

  1. มีความถาวร (Permanence) หมายถึง อํานาจอธิปไตยจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐยังคงอยู่

4 แบ่งแยกไม่ได้ (Indivisibility) หมายถึง ในรัฐหนึ่ง ๆ จะต้องมีอํานาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียวจะมีการแบ่งแยกอํานาจอธิปไตยไปให้ส่วนต่าง ๆ ภายในรัฐมิได้

อํานาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ทําหน้าที่ในการตรากฎหมายขึ้นมาใช้ภายในประเทศ

2 ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล ทําหน้าที่ในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย

3 ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ทําหน้าที่ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของทุก ๆ คนภายในรัฐ รวมทั้งทําหน้าที่ในการควบคุมทุก ๆ อํานาจให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

3.2 Uprising

แนวคําตอบ

Uprising (การจลาจลทางการเมือง) หมายถึง การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้าน (Standing up against) ผู้ปกครอง/ผู้ใช้อํานาจรัฐ หรือรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งจะนําโดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ จากนั้น ประชาชนบางกลุ่มก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในอุดมการณ์นั้น และเมื่อรัฐบาลยอมทําตามอุดมการณ์ที่กลุ่มต้องการแล้ว ก็จะยุติการจลาจลลง

ตัวอย่างเหตุการณ์การจลาจลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมี 2 ครั้ง คือ

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “วันมหาวิปโยค”

เหตุการณ์วันที่ 17 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “ พฤษภาทมิฬ”

3.3 Revolution

แนวคําตอบ

Revolution (การปฏิวัติ) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมแบบใหม่ สร้างกฎหมายใหม่ และเพื่อสนองอุดมการณ์แบบใหม่ ซึ่งมีหลักการที่สั้นที่สุดก็คือ “สิ่งที่เคยถูกต้องและดีงามในอดีตหรือสิ่งที่ถูกต้องในวันนี้ ไม่จําเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นหลักสัจธรรมสําหรับปัจจุบันหรืออนาคต” แต่การปฏิวัติที่จะเกิดความชอบธรรม (Legitimacy) จะต้องมีประชาชนเข้าร่วมอยู่ด้วยพร้อมกับผู้นํา

ตัวอย่างของการปฏิวัติใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่อาจกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรม ได้แก่

– การปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789

– การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917

– การปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1949

กรณีประเทศไทย การยึดอํานาจรัฐที่พอจะอนุโลมให้เรียกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมีเพียงครั้งเดียว คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คณะราษฎรได้ทําการ ยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองใหม่จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ในระบบรัฐสภา แบบอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าร่วมด้วย

สําหรับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นี้ไม่ใช่การทํารัฐประหาร และก็ไม่ใช่การปฏิวัติ โดยสิ้นเชิง แต่ที่ถูกต้องทางรัฐศาสตร์ควรเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ซึ่ง 1 ในคณะราษฎร หรือผู้ก่อการคือ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “การอภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ. 2475”

3.4 Coup d’e’tat

แนวคําตอบ

Coup d’etat (การรัฐประหาร) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ โดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้อํานาจรัฐหรือผู้ใช้อํานาจปกครองหรือเปลี่ยนตัวบุคคลเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงถือว่าขาดหลักความชอบธรรม (Legitimacy)

จะเห็นได้ว่าประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนาผู้นําของประเทศ นิยมแย่งชิงอํานาจกันเองด้วยวิธีการทํารัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ผู้ยึดอํานาจ มักเป็นทหาร และภายหลังยึดอํานาจเสร็จแล้ว ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้อํานาจรัฐเท่านั้น

กรณีประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า มีการยึดอํานาจรัฐด้วยกําลังบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งกระทําสําเร็จและไม่สําเร็จ การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จของไทยเกือบ ทุกครั้งเรียกว่า “รัฐประหาร” เพราะเป็นการแย่งชิงอํานาจกันเองในหมู่ผู้ปกครอง แต่ผู้ยึดอํานาจจะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ”

สําหรับการทํารัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนําของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอํานาจ รัฐบาลรักษาการของนายนิวัตน์ธํารง บุญทรงไพศาล และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550

 

3.5 Election

แนวคําตอบ

Election (การเลือกตั้ง) เป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยที่จะมอบความไว้วางใจ ในตัวแทนของปวงชนให้มาใช้อํานาจแทนตน ดังนั้นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยผู้ปกครองหรือผู้บริหาร ประเทศจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นไปอย่างอิสรเสรี เสมอภาค และลงคะแนนลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากการออกเสียงเลือกตั้งจะเป็นผู้เข้ามาใช้อํานาจรัฐแทนประชาชน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาผู้ที่จะเข้ามาใช้อํานาจรัฐก็คือ นายกรัฐมนตรี ส่วนในระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีผู้ที่จะเข้ามาใช้อํานาจรัฐก็คือ ประธานาธิบดี

กรณีประเทศไทย การเลือกตั้งของไทยนั้นมีทั้งการเลือกตั้งในระดับชาติ คือ การเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2559 มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 25 ครั้ง โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็น “การเลือกตั้งทางอ้อม ครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศไทย” คือ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนตําบลก่อน แล้วผู้แทนตําบลเป็นผู้เลือก ผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ส่วนการเลือกตั้งในครั้งต่อ ๆ มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นการเลือกตั้งทางตรง คือ การให้ราษฎรผู้มีสิทธิ เลือกตั้งได้ทําการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงไม่ผ่านตัวแทนอื่นใด

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า พฤฒสภา เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือ ให้ประชาชนเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาทําหน้าที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา สําหรับรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และอีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา

สําหรับองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมและบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความบริสุทธิ์ และยุติธรรม หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” นั้น มีครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกจนกระทั่งก่อนการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การควบคุมและบริหารจัดการการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย

Advertisement