การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อ

ข้อ 1 อธิบายความหมายของประชาธิปไตย (Democracy) และหลักการสําคัญ ๆ ของประชาธิปไตยอย่างน้อย 4 ประการ พร้อมยกตัวอย่างประกอบคําอธิบาย

แนวคําตอบ

คําว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คํา คือ คําว่า “Demos” แปลว่า ประชาชน (People) ราษฎร หรือพลเมือง กับคําว่า “Kratos, Kratien” แปลว่า ปกครอง (to Rule) หรืออํานาจ ดังนั้นความหมายของประชาธิปไตยจึงหมายถึง การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรือ อํานาจอธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) แบบอิสรเสรี เสมอภาค และลงคะแนนลับ

หลักการสําคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มีดังนี้

1 หลักอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย (อํานาจสูงสุด) เป็นของประชาชน การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ถือว่า อํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย เป็นของประชาชน โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีวิธีการปกครองที่แสดงออกให้เห็นว่า ประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สามารถควบคุมและตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลได้ ตลอดจนสามารถ เปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาลได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือ เปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีได้ทุก 4 ปี หรือประชาชนญี่ปุ่นที่สามารถเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลใน เวลาไม่เกิน 4 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลักการอํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนนี้ประชาชนต้องมี “อํานาจการตัดสินใจ ขั้นสุดท้าย” คือ ประชาชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติและบริหารของรัฐ และการตัดสินใจของประชาชนถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด

2 หลักสิทธิ (Right) หน้าที่ (Duty) เสรีภาพ (Liberty) และความเสมอภาค (Equality) ของประชาชนเป็นหลักการที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพมาตั้งแต่เกิด และต่อมาถูกจํากัดโดยกฎหมายหรือ กฎเกณฑ์ของสังคมภายหลัง ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้มีกฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ เช่น การบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นด้านความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา การรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิ ทางการเมือง ซึ่งในกรณีของสิทธิเสรีภาพนี้มีข้อสังเกตก็คือ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นมิใช่เป็นเสรีภาพ ที่จะทําอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต แต่เป็นเสรีภาพที่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายที่บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพ ของตนนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการจลาจล ซึ่งในหลักประกัน สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ นี้จะรวมทั้งความเสมอภาคทางการเมือง เพราะเสรีภาพที่ประชาชนมีเท่าๆ กันก็จะก่อให้เกิด ความเสมอภาคทางการเมือง คือ การที่แต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเท่า ๆ กัน โดยในระบอบประชาธิปไตยถือว่าแต่ละคนมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้ปกครอง หรือผู้แทนประชาชน เท่ากันตามหลัก One Man One Vote และสําหรับหลักการนี้ยังจะต้องประกอบด้วย การที่ประชาชนจะต้องรู้จัก หน้าที่ของพลเมืองในการดําเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยด้วย เช่น การมีหน้าที่ในการ เสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์รายได้และสถานภาพอื่นพอ ๆ กัน

3 หลักกฎหมายสูงสุด หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ หรือหลัก นิติธรรม (Rule of Law) การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ไม่ยึดตัวบุคคล แต่ยึดหลักการเป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งหลักการอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบนี้ก็คือ การยึดถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง ที่ถือว่าประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน หรือเรียกว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐหรือ หลักนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ ซึ่งหลักการสูงสุดของกฎหมายนี้ ยังรวมไปถึงการที่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีต่าง ๆ อันแสดงให้เห็นถึงว่า ศาลสามารถจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน หรือเป็นที่พึ่งของประชาชนภายในประเทศได้ นั่นคือ ในการตัดสินลงโทษจะใช้กระบวนการยุติธรรม มิใช่ตัดสินโดยบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ตลอดจนรวมถึงการมีหลักกฎหมายที่มีการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้อาจจะเป็นองค์กรการเมือง ศาลยุติธรรมธรรมดาหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้สุดแล้วแต่แนวความคิดเห็นและประเพณีนิยมทางการเมืองของแต่ละประเทศ เพื่อให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งวางหลักแห่งกฎหมายและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้รับการปฏิบัติและเกิดผลอย่างจริงจัง

4 หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) โดยคํานึงถึงเสียงข้างน้อย (Minority Right) หมายความว่า พรรคเสียงข้างมากทําหน้าที่เป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาล และพรรคเสียงข้างน้อยทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านมีความสําคัญเท่ากัน เพราะต่างก็เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนเช่นเดียวกัน และกลุ่มฝ่ายค้านก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้คําว่าหลักเสียงข้างมาก ยังเป็นข้อยุติในปัญหาต่างๆ สําหรับระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ดังนั้นการตัดสินใจทั้งหลายของรัฐบาลในระบอบ ประชาธิปไตยจึงต้องใช้หลักการเสียงข้างมาก เพราะถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัว และเสียงการตัดสินใจ โดยคนหมู่มากนั้นย่อมถูกต้องกว่าการตัดสินใจโดยคน ๆ เดียว แต่ในขณะเดียวกันการใช้เสียงข้างมากก็จะคํานึงถึง เสียงข้างน้อยด้วย โดยการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อย รวมทั้งยังยอมรับให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้มีโอกาส แสดงความคิดเห็นและแสดงความต้องการของตนด้วย

5 หลักสันติวิธี เป็นหลักการที่เชื่อว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยรู้จักใช้เหตุผล ไม่ทําอะไรตามอารมณ์และความรู้สึก และไม่ทําอะไรเอาแต่ใจตนเองโดยไม่คํานึงถึงคนอื่น นอกจากนี้ยังยอมรับว่าคนเรา จะเหมือนกันไม่ได้ อาจมีการขัดแย้ง ต้องมีการเจรจาและประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงดําเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธีด้วยการไม่ใช้กําลังความรุนแรง เช่น การเจรจา การประนีประนอม การใช้กลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทุกๆ กลุ่ม ป้องกันการสูญเสียเลือดเนื้อและบาดเจ็บล้มตาย

โดยสรุปแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ถือหลักการว่าประชาชน เป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยในการดําเนินการปกครองประเทศ โดยตั้งอยู่บนหลักการสําคัญพื้นฐานอย่างน้อย 5 ประการดังกล่าว

 

ข้อ 2 การเมืองการปกครอง “ระบบรัฐสภา” (Parliamentary System) มีขั้นตอน หลักการ และวิธีการรวมทั้งการแก้ปัญหาหรือทางออกของการเมืองดังกล่าวอย่างไร อธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

แนวคําตอบ

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือการเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจผ่อนคลาย เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่อังกฤษเป็นแม่แบบ ที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก” ซึ่งในการเมืองการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองการปกครองที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้ว รัฐบาลที่ปกครองและบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงาน ด้วยความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั้นเอง

ขั้นตอนกระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2 สภาผู้แทนราษฎรประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี

3 นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

4 คณะรัฐมนตรีเสนอนโยบายรัฐบาลให้รัฐสภาเห็นชอบ

5 ครบวาระเลือกตั้งใหม่ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 อํานาจอธิปไตยแยกตามหน้าที่ กล่าวคือ อํานาจรัฐไม่ได้รวมไว้ในองค์กรเดียว แต่มีการแยก เอกสารประกอบ ให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ ได้แก่ อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล

2 การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่ายให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด

3 อํานาจที่แบ่งแยกนี้จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้ 1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่าพระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่งประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่านายกรัฐมนตรี เป็นต้น

2 ประมุขของรัฐมีลักษณะสําคัญคือ มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐ ไม่อาจถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เองที่ทําให้กิจกรรมใด ๆ ของประมุขของรัฐต้องมีการลงนามกํากับหรือลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบใน กิจกรรมนั้น ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร

3 ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) หรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้นจะต้องเสนอนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้

4 รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจทําให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องออกจากตําแหน่งได้ โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรีก็ได้

5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล

6 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน ประจายจนของรัฐบาล

7 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล

8 ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นมาตรการในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ

9 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

10 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ

11 ศาลและผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การแก้ปัญหาหรือทางออกของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 การลาออกจากตําแหน่งรัฐมนตรี

2 การเปลี่ยนตําแหน่งรัฐมนตรี

3 การลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

4 การปรับเปลี่ยนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

5 การยุบสภาผู้แทนราษฎร

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาดังกล่าวนี้จะมีเสถียรภาพและดําเนินไปได้ด้วยดีก็ขึ้นอยู่กับการมีระบบพรรคการเมืองใหญ่และเป็นระบบ 2 พรรค จึงจะทําให้การเมืองของประเทศ มีเสถียรภาพ และรัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระสมัย

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน กรีซ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น

 

ข้อ 3 จงอธิบายคําศัพท์ต่อไปนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

3.1 Emergency Power

แนวคําตอบ

Emergency Power (มาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษ) หมายถึง การใช้อํานาจพิเศษ โดยผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นตําแหน่งประธานาธิบดีหรือตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ประเทศเกิดภาวะคับขัน หรือมีความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งการใช้อํานาจดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

การกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษไว้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติอย่างรอบคอบ เพื่อมิให้ผู้ใช้อํานาจลุแก่อํานาจ โดยจะต้องคํานึงถึงหลักการดังต่อไปนี้

1 นิยามคําว่า “สถานการณ์พิเศษ” ต้องชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

2 ต้องมีองค์กรทําหน้าที่ควบคุมผู้ใช้อํานาจพิเศษ

3 เมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ ต้องยุติการใช้อํานาจพิเศษโดยพลัน 4 ต้องมีเงื่อนไขของการใช้อํานาจพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแปรสภาพเป็นระบอบอื่น

ตัวอย่างของประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 ประเทศได้ระบุนิยามของคําว่า “สถานการณ์พิเศษ” ไว้อย่างชัดเจน ระบุขอบเขตการใช้อํานาจของผู้นําไว้ชัดเจน ตลอดจนมีองค์กรที่ทําหน้าที่ ควบคุมผู้ใช้อํานาจพิเศษไว้ด้วย

สําหรับประเทศไทย การกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษเคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ เช่น มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แต่แนวความคิดเรื่องการกําหนดมาตราพิเศษในสถานการณ์พิเศษไว้ภายใต้บทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญไทย เป็นเรื่องที่แทบจะยอมรับไม่ได้เลย เพราะได้ติดกับภาพลักษณ์เก่า ๆ ของมาตรา 17 ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดภาวะคับขันหรือความวุ่นวายทางการเมืองจึงมีเพียงแต่กองทัพเท่านั้นที่จะมาแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งเป็นภาพลบของบ้านเมือง โดยเฉพาะประชาคมโลกในปัจจุบันที่ต่อต้านการใช้วิธีการรุนแรงกับฝูงชนผู้มาชุมนุมประท้วง ในรูปแบบต่าง ๆ

3.2 Sovereignty

แนวคําตอบ

Sovereignty (อํานาจอธิปไตย หรืออํานาจรัฏฐาธิปัตย์) หมายถึง อํานาจปกครองบังคับบัญชาสูงสุดภายใต้รัฐนั้น ไม่ว่าจะมีวิธีการได้มาโดยความชอบธรรมด้วยการเลือกตั้ง หรือได้มาโดยใช้กําลังในการยึดอํานาจรัฐ ได้สําเร็จด้วยการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหารก็ตาม เพราะผู้ที่ใช้อํานาจรัฐคือกลุ่มผู้ที่แข็งแรงที่สุด เพียงแต่ต่างกัน ในเรื่องที่มาของอํานาจ

อํานาจอธิปไตยถือเป็นองค์ประกอบที่สําคัญองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ โดยอํานาจอธิปไตยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระบอบการปกครอง เช่น ถ้าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อํานาจ อธิปไตยจะเป็นของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนคือผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยผ่านตัวแทน คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อํานาจอธิปไตยจะเป็นของ พระมหากษัตริย์ กล่าวคือ กษัตริย์เป็นผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และเป็นผู้เดียวที่ใช้อํานาจดังกล่าว

ลักษณะสําคัญของอํานาจอธิปไตย มี 4 ประการ คือ

1 มีลักษณะเป็นการทั่วไป (Universality) หมายถึง มีอํานาจครอบคลุมทั่วทั้งรัฐ และอยู่เหนือทุก ๆ อํานาจ

2 มีความสมบูรณ์ (Absoluteness) หมายถึง อํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดภายในรัฐจะไม่มีอํานาจอื่นใดภายในรัฐที่อยู่เหนือกว่าอํานาจอธิปไตย

3 มีความถาวร (Permanence) หมายถึง อํานาจอธิปไตยจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐยังคงอยู่

4 แบ่งแยกไม่ได้ (Indivisibility) หมายถึง ในรัฐหนึ่ง ๆ จะต้องมีอํานาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียว จะมีการแบ่งแยกอํานาจอธิปไตยไปให้ส่วนต่าง ๆ ภายในรัฐมิได้

อํานาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ทําหน้าที่ในการตรากฎหมายขึ้นมาใช้ภายในประเทศ

2 ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล ทําหน้าที่ในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย

3 ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ทําหน้าที่ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของทุก ๆ คนภายในรัฐ รวมทั้งทําหน้าที่ในการควบคุมทุก ๆ อํานาจให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

 

3.3 Constitution

แนวคําตอบ

Constitution (รัฐธรรมนูญ) หมายถึง กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ หรือกฎหมายหลักหรือกฎหมายแม่บทที่จัดระเบียบในการปกครองประเทศ กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กําหนด

1 กฎเกณฑ์หรือกติกาที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล

2 กฏเกณฑ์หรือกติกาที่เกี่ยวกับการกําหนดขอบเขตอํานาจรัฐบาล

3 กฎเกณฑ์หรือกติกาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ในทางรัฐศาสตร์ถือว่าทุกประเทศมีรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ไทย ญี่ปุ่น เป็นต้น หรือมีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แบบอํานาจนิยมหรือเผด็จการ อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นต้น เพียงแต่เป็นรัฐธรรมนูญในรูปแบบจารีตประเพณีหรือรัฐธรรมนูญแบบ ลายลักษณ์อักษร หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแบบเสรีประชาธิปไตยหรือแบบเผด็จการ

สําหรับประเทศไทย บรรดากฏข้อบังคับการจัดระเบียบอํานาจรัฐในสมัยโบราณ (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) ที่อยู่ในรูปของกฎมณเฑียรบาล ประเพณีการปกครอง หลักทศพิธราชธรรม และพระบรมราชโองการต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือ “รัฐธรรมนูญ” นั่นเอง เพียงแต่ในเวลานั้นยังไม่มีการ บัญญัติศัพท์คําว่ารัฐธรรมนูญ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แบบลายลักษณ์อักษรฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 ต่อมาคณะราษฎรจึงได้มอบหมายให้นายกราชบัณฑิตยสภาในขณะนั้น คือ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร) เป็นผู้บัญญัติศัพท์คําว่า “รัฐธรรมนูญ” โดยแปลมาจากคําว่า “Constitution” และต่อมา ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรกของประเทศไทย ดังนั้นจึงถือว่าวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญของไทย

3.4 Martial Law

แนวคําตอบ

Martial Law (กฎอัยการศึก) หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นไว้สําหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจําเป็น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง เช่น ในกรณีเกิดการจลาจลหรือเกิดสงคราม ภายใต้กฎอัยการศึกนั้น ฝ่ายปกครองจะจํากัดเสรีภาพส่วนบุคคลในบางเรื่อง เช่น ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในยามวิกาล หรือห้าม มีการชุมนุมเกินกว่า 5 คน เป็นต้น

กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในเวลาปกติ แต่ไม่ได้บังคับใช้ โดยเมื่อจะบังคับใช้จะต้องประกาศและกําหนดพื้นที่ที่จะบังคับใช้ ซึ่งในประเทศไทยนั้นจะมีการตรากฎอัยการศึกเป็นกฎหมายชัดเจน ขณะที่บางประเทศจะไม่มีการตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น

กฎอัยการศึกของประเทศไทยมีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ตราขึ้นครั้งแรกในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2450 ซึ่งเรียกว่า กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 มีทั้งสิ้น 9 มาตรา โดย ถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าอํานาจของทหารตามกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 นั้นยึดตามแบบฝรั่งเศส แต่ไทยใช้ตําราพิชัยสงครามตาม แบบอินเดียซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตรากฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา และยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง

3.5 State

แนวคําตอบ

State (รัฐ) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Status เดิมที่มีความหมายว่าเป็นสถานะของวัตถุ หรือลําดับชั้น ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 15 คําว่า State ก็มีความหมายในทางการเมืองว่าเป็นรูปแบบเฉพาะ อย่างหนึ่งของชุมชนทางการเมือง

นักวิชาการได้ให้นิยามความหมายของรัฐไว้มากมาย แต่ความหมายโดยสรุป รัฐ หมายถึง ประชาคมมนุษย์ที่มีอํานาจทางการเมืองเป็นพื้นฐาน ซึ่งประชาคมมนุษย์ ได้แก่ พรรคการเมือง สมาคม ชมรม กลุ่มต่าง ๆ องค์กรต่าง ๆ ที่รวมตัวกันโดยมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เดียวกัน และมีกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็น ข้อบังคับสมาชิก รวมทั้งอาจมีบทลงโทษสมาชิกที่ไม่ทําตามระเบียบของกลุ่มนั้น เช่น ให้พ้นจากตําแหน่ง หรือ ให้ออกจากการเป็นสมาชิก เป็นต้น โดยรัฐจะมีความแตกต่างจากกลุ่มประชาคมมนุษย์อื่น ๆ ตรงที่รัฐจะมีจักรกล แห่งการบังคับ เช่น มีกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา มีคุกตาราง มีทหาร มีตํารวจ ฯลฯ ตลอดจนมีความสมบูรณ์ ของการจัดระเบียบในทุก ๆ ด้านมากกว่า และสิ่งที่สําคัญก็คือ ทุกประชาคมมนุษย์จะต้องอยู่ภายใต้อํานาจรัฐ

รัฐแต่ละรัฐจะมีองค์ประกอบที่สําคัญอยู่ 4 ประการ คือ

1 ประชากร (Population)

2 ดินแดน (Territory)

3 รัฐบาล (Government)

4 อํานาจอธิปไตย (Sovereignty)

ในรัฐธรรมนูญของทุกประเทศได้กําหนดรูปแบบของรัฐไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทาง รัฐศาสตร์ได้แบ่งรูปแบบของรัฐออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รัฐเดี่ยว (Unitary State) และรัฐรวม (Compound State) สําหรับประเทศไทยนั้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ทั้งสิ้น 19 ฉบับ ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับกําหนดให้ใช้รูปแบบรัฐเป็นแบบรัฐเดี่ยว (Unitary State) โดย บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ยกเว้นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง แผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ที่มิได้กําหนดเรื่องรูปแบบของรัฐไว้ และรัฐธรรมนูญทุกฉบับยังกําหนดห้ามเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบของรัฐ โดยเด็ดขาด

Advertisement