การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System)

แนวคําตอบ

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือการเมืองการปกครองระบอบแบ่งแยกอํานาจผ่อนคลาย เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่อังกฤษเป็นแม่แบบที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก” ซึ่งในการเมืองการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็น องค์กรการเมืองที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้น โดยหลักการแล้วรัฐบาลที่ปกครองและบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงานด้วยความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั่นเอง

หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 อํานาจรัฐไม่รวมในองค์กรเดียว แต่มีการแยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ เช่น อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติใช้โดยรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล เป็นต้น

2 อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่ายให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด

3 องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น

วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่าพระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่งประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่านายกรัฐมนตรี เป็นต้น

2 ประมุขของรัฐมีลักษณะสําคัญ คือ ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐไม่อาจถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เองที่ทําให้กิจกรรมใดๆ ของประมุขของรัฐ ต้องมีการลงนามกํากับหรือลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมนั้น ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร

3 ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้น จะต้องเสนอนโยบายเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้

4 รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจทําให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องออกจากตําแหน่งได้ โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้

5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล

6 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล

7 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล

8 ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นมาตรการในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ

9 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

10 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ

11 ศาลและผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานี้จะมีเสถียรภาพและดําเนินไปได้ ด้วยดีก็ขึ้นอยู่กับการมีระบบพรรคการเมืองใหญ่และเป็นระบบ 2 พรรค จึงจะทําให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ และรัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระสมัย

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน กรีซ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษายกประเด็นสาระสําคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มา 15 ประเด็น

แนวคําตอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) นับเป็นรัฐธรรมนูญ แบบลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่ได้ผ่านการออกเสียงประชามติ (Referendum) จากประชาชนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วได้มีการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18

สาระสําคัญของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นี้จะแบ่งออกเป็น 15 หมวด ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 309 มาตรา และมีบทเฉพาะกาล แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกประเด็นหรือสาระสําคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกลาง มาเพียง 15 ประเด็น ดังนี้

1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ นั่นหมายความว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นแบบรัฐเดียว (มาตรา 1)

2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(มาตรา 2)

3 อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม (มาตรา 3)

4 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ (มาตรา 6)

5 พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ (มาตรา 8)

6 ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่น เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดําเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือ ทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทํานองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว (มาตรา 48)

7 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (มาตรา 49)

8 ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา 51)

9 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 72)

10 รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา (มาตรา 88 และ 89)

11 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวน 375 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อจํานวน 125 คน (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 93)

12 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดจังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาเท่ากับจํานวนรวมข้างต้นหักด้วยจํานวนสมาชิก วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดจังหวัดในระหว่างวาระของสมาชิก วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ (มาตรา 11.1)

13 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในหมวดสิทธิและเสรีภาพ และหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 163)

14 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลผู้ใช้อํานาจรัฐซึ่งได้แก่ ผู้ดํารงตําแหน่งทาง การเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ฯลฯ ออกจากตําแหน่งได้ (มาตรา 164 และ 270)

15 ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมาจาก (มาตรา 291 (1)

1) คณะรัฐมนตรี

2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (สมาชิกรัฐสภา) จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน

 

ข้อ 3 เลือกอธิบายศัพท์ 5 คําศัพท์การศึกษาวิชาหลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองนั้น มีศัพท์ทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับวิชานี้ที่ นักศึกษาควรทราบตามหลักวิชารัฐศาสตร์ ดังต่อไปนี้

3.1 Revolution

แนวคําตอบ

Revolution (การปฏิวัติ) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมแบบใหม่ สร้าง กฎหมายใหม่ และเพื่อสนองอุดมการณ์แบบใหม่ ซึ่งมีหลักการที่สั้นที่สุดก็คือ “สิ่งที่เคยถูกต้องและดีงามในอดีต หรือสิ่งที่ถูกต้องในวันนี้ ไม่จําเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นหลักสัจธรรมสําหรับปัจจุบันหรืออนาคต” แต่การปฏิวัติที่ จะเกิดความชอบธรรม (Legitimacy) จะต้องมีประชาชนเข้าร่วมอยู่ด้วยพร้อมกับผู้นํา

ตัวอย่างของการปฏิวัติใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่อาจกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรม ได้แก่

– การปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789

– การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917

– การปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1949

กรณีประเทศไทย การยึดอํานาจรัฐที่พอจะอนุโลมให้เรียกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมีเพียงครั้งเดียว คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คณะราษฎรได้ทําการ ยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองใหม่จากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ในระบบรัฐสภา แบบอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าร่วมด้วย

สําหรับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นี้ ไม่ใช่การทํารัฐประหาร และก็ไม่ใช่การปฏิวัติโดยสิ้นเชิง แต่ที่ถูกต้องทางรัฐศาสตร์ควรเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ซึ่ง 1 ในคณะราษฎร หรือผู้ก่อการณ์คือ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “การอภิวัตน์การปกครอง พ.ศ. 2475”

3.2 Coup d’e’tat

แนวคําตอบ

Coup d’e tat (การทํารัฐประหาร) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ โดยบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้อํานาจรัฐหรือผู้ใช้อํานาจปกครองหรือเปลี่ยนตัวบุคคล เท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงถือว่าขาดหลักความชอบธรรม (Legitimacy)

จะเห็นได้ว่าประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนา ผู้นําของประเทศ นิยมแย่งชิงอํานาจกันเองด้วยวิธีการทํารัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ผู้ยึดอํานาจมักเป็น ทหาร และภายหลังยึดอํานาจเสร็จแล้ว ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมืองก็ยังคง เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้อํานาจรัฐเท่านั้น

กรณีประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า มีการยึดอํานาจรัฐด้วยกําลังบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งกระทําสําเร็จและไม่สําเร็จ การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จของไทยเกือบทุกครั้งเรียกว่า “รัฐประหาร” เพราะเป็นการแย่งชิงอํานาจกันเองในหมู่ผู้ปกครอง แต่ผู้ยึดอํานาจจะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ”

สําหรับการทํารัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายใต้การนําของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้ทําการยึดอํานาจจากรัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540

3.3 Referendum

แนวคําตอบ

Referendum (ประชามติ) หมายถึง การให้ประชาชนมาออกเสียงลงคะแนนว่ารับหรือไม่รับ กฎหมายฉบับนั้น ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเสียงประชามติไม่รับมีมากกว่ารับหรือเรียกว่า “ประชามติไม่ผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้น ก็ต้องตกไป แต่ถ้าเสียงประชามติรับมีมากกว่าไม่รับหรือเรียกว่า “ประชามติผ่าน” ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็จะถูกนําไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร หน่วยงาน ของรัฐต้องปฏิบัติตามมตินั้นเสมอไป เพราะมีผลทางนิตินัย

ในกรณีประเทศไทย เริ่มมีการจัดทําประชามติครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 เสิงหาคม พ.ศ. 2550 เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ แล้วได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ซึ่ง มีความยาวทั้งหมด 309 มาตรา

สําหรับประเทศที่ให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับพระราชบัญญัติหรือกฎหมาย ที่ออกโดยรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติทุกฉบับ คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยเกือบโดยตรง

3.4 Amendment

แนวคําตอบ

Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) หมายถึง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับไปใน ระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไข หมายความว่า อาจจะยกเลิกบางมาตรา หรือใส่เพิ่มเติมเข้าไป ในมาตราที่ไม่เคยมีก็ได้ โดยหลักการทั่วไปมีอยู่ว่าอาจแก้ไขบางส่วน หรือแก้ไขทั้งฉบับก็ย่อมทําได้ นั่นคือ สามารถ แก้ไขที่มาตราก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่กําหนด ทั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพ ความเป็นจริงของบ้านเมือง หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศและของโลกในเวลานั้น

โดยทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรเกือบทุกประเทศในโลกจะมีหมวดว่าด้วยการ แก้ไขบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีรัฐธรรมนูญไทย จะมีการจํากัดอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับที่ห้ามแก้ไขในเรื่องรูปแบบรัฐซึ่งเป็นแบบรัฐเดี่ยว (Unitary State) และรูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ยังได้กําหนดเงื่อนไขของเวลาการห้ามแก้ไขก่อน 5 ปี หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

อนึ่ง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีปรากฏ ภายใต้รัฐธรรมนูญในอดีตทั้ง 17 ฉบับ เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แก่ การบัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อขอเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพนอกเหนือจาก ญัตติการขอแก้ไขจะมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว ให้เป็นอํานาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ ดังนี้

วาระที่ 1 เรียกว่าขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียง เห็นขอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

วาระที่ 2 เรียกว่าขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขด้วยและการออกเสียงลงคะแนนในวาระนี้ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

วาระที่ 3 เรียกว่าขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียง เห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ของไทยในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งได้มีการแก้ไขในเรื่องของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการทําหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

3.5 Organic Law

แนวคําตอบ

Organic Law กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) โดยคําว่า “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” และ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” นั้น คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ ใช้ต่างกัน กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นคําราชาศัพท์ที่ใช้กับประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็น พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระจักรพรรดิ ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นคําที่ใช้กับประเทศที่มีประมุข ของรัฐเป็นบุคคลธรรมดา

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมาย ธรรมดาที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา แต่มีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับตัวบทแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องของสถาบันทาง รัฐธรรมนูญ ประมุขของรัฐ รัฐสภา ฝ่ายบริหาร และศาล โดยเป็นการกําหนดรายละเอียดซึ่งเป็นเกณฑ์สําคัญเพิ่มเติม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบางมาตราที่บัญญัติหลักการไว้อย่างกว้าง ๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้มีความกระจ่างแจ้ง ชัดเจน และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องบัญญัติไว้ในตัวบทแห่งรัฐธรรมนูญให้มีความยาวมากเกินไป และเพื่อที่จะได้ สะดวกแก่การแก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ต้องดําเนินการตามวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ทําได้ยากกว่าการแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติ

ศาสตราจารย์ยอร์ช เบอร์โด (George Burdeau) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ได้จัดให้กฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญมีลําดับชั้นกลางระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญกับกฎหมายธรรมดา (ต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่สูงกว่ากฎหมายธรรมดา) ดังนี้คือ

– กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitution Law)

– กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Organic Law)

– กฎหมายธรรมดา (Bill Law)

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนญฉบับ พ.ศ. 2540 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไว้มากมายในหลาย ๆ มาตรา แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นอกจากจะบัญญัติเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไว้มากมายแล้ว ยังได้บัญญัติสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีปรากฏภายใต้ รัฐธรรมนูญในอดีตทั้ง 17 ฉบับ เกี่ยวกับเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การกําหนดเงื่อนไขของเวลา การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี หรือ 2 ปี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติด้วย

อนึ่ง การเรียกชื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของไทย ต้องเรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วย … พ.ศ. ….” เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 เป็นต้น

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บังคับ ให้ตราขึ้นมี 9 ฉบับ ดังต่อไปนี้

1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

3 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

5 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

6 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

7 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

8 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

9 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

3.6 Recall

แนวคําตอบ

Recall (การถอดถอนผู้ใช้อํานาจรัฐ) หมายถึง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการถอดถอน ผู้ใช้อํานาจรัฐ โดยจะมีรายละเอียดกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีเสียงอย่างต่ำกี่เสียง

กรณีประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอนผู้ใช้อํานาจรัฐไว้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้ลดจํานวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการ เข้าชื่อถอดถอนผู้ใช้อํานาจรัฐจาก 50,000 คน เหลือเพียง 20,000 คน นั่นคือ กําหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จํานวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลผู้ใช้ อํานาจรัฐซึ่งได้แก่ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือ ผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อันมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทําผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ สอว่ากระทําผิด ต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออกจากตําแหน่งได้

3.7 Public Hearing

แนวคําตอบ

Public Hearing (ประชาพิจารณ์) หมายถึง การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องที่จะออกกฎหมายก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือ พระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าผลประชาพิจารณ์จะออกมาอย่างไร หน่วยงานของรัฐ ไม่จําเป็นต้องปฏิบัติตามผลหรือข้อสรุปนั้นเสมอไป เพราะไม่มีผลทางนิตินัย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้กําหนดเรื่องการทําประชาพิจารณ์ไว้ 2 เรื่อง คือ

1 สิทธิชุมชน โดยกําหนดให้การดําเนินโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน

2 การทําหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

3.8 Poll

แนวคําตอบ

Poll (การสํารวจประชามติ) หมายถึง การสํารวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปมักจะใช้แบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่สุ่ม จากประชากร ซึ่งผลการสํารวจดังกล่าวจะสะท้อนความคิดเห็น ทัศนคติ และแนวโน้มของประชาชนส่วนใหญ่ต่อเรื่อง นั้น ๆ ณ ช่วงเวลาที่ทําการสํารวจเท่านั้น เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป ความคิดเห็นดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

สําหรับสํานักโพลล์ในประเทศไทยนั้น ได้มีหลายสํานักที่ทําการสํารวจความคิดเห็นของประชาชน ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การเมือง การเลือกตั้ง เศรษฐกิจ สังคม ได้แก่ เอแบคโพลล์ กรุงเทพโพลล์ สวนดุสิตโพลล์ รามคําแหงโพลล์ เป็นต้น

ตัวอย่างของสวนดุสิตโพลล์ที่ได้ทําการสํารวจการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นั้น โดยภาพรวมของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ก็พบว่า ประชาชนลงมติรับหรือเห็นชอบร้อยละ 67.94 และไม่รับหรือไม่เห็นชอบร้อยละ 32.06

Advertisement