การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา PHI 1003 ปรัชญาเบื้องต้น

Advertisement

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 100 ข้อ)

1 ข้อใดคือท่าทีของ “ปรัชญา” ตามความหมายในวิชา PHI 1003

(1) การศึกษาเรื่องความรู้อันประเสริฐ

(2) การสงสัยและหาคําตอบ

(3) การหาหลักการให้กับองค์กร

(4) การศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์

ตอบ 2 หน้า 1 ปรัชญาเป็นเรื่องราวของการใช้ปัญญาเพื่อไตร่ตรองในสิ่งที่ตนยังสงสัยหรือคิดว่าเป็นปัญหาอยู่ และเป็นการพยายามใช้ปัญญาไตร่ตรองถึงคําตอบที่เป็นไปได้สําหรับปัญหา ที่ตนยังติดใจสงสัย ดังนั้นปรัชญาจึงเป็นเรื่องของผู้ใช้ปัญญา หรือผู้มีความปรารถนาจะรู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ปรัชญาจึงเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้มีปัญญา

2 สิ่งที่ “ปรัชญา” ไม่สามารถช่วยได้คือข้อใด

(1) ความสามารถคิดอย่างมีเหตุผล

(2) การมีทัศนะกว้างขึ้น

(3) การมีใจกว้างขึ้น

(4) การหางานทําได้ง่ายขึ้น

ตอบ 4 หน้า 1 – 2, (คําบรรยาย) ปรัชญาเป็นสิ่งที่ทําให้มนุษย์สามารถคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ยอมรับสิ่งใดโดยง่ายดาย แต่ก็มีใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จึงทําให้มีทัศนะกว้างขวางขึ้นและพยายามแสวงหาคําตอบสําหรับปัญหาของตนตลอดเวลา แต่ไม่ได้ทําให้หางานได้ง่ายขึ้น

3 ข้อใดสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง

(1) เทพประจําธรรมชาติ – ปฐมธาตุ

(2) เทพประจําธรรมชาติ – ระเบียบของปรากฏการณ์ธรรมชาติ

(3) ปฐมธาตุ – ความไร้ระเบียบของปรากฏการณ์ธรรมชาติ

(4) ปฐบธาตุ – ระเบียบของปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ตอบ 2 หน้า 2 ปรัชญายุคดึกดําบรรพ์ เชื่อว่า จักรวาลหรือเอกภพมีกฎเกณฑ์ที่ไม่แน่นอนตายตัวดังนั้นปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลายจึงเกิดขึ้นตามน้ำพระทัยของเทพเจ้า หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เทพเจ้าเป็นผู้กําหนดระเบียบของปรากฏการณ์ธรรมชาตินั่นเอง

4 ข้อใดสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง

(1) โซฟิสต์ – ความรู้เชิงปรนัย

(2) โซเครตีส – ความรู้เชิงอัตนัย

(3) โซฟิสต์ ปัญญา

(4) โซเครตีส – ปัญญา

ตอบ 4 หน้า 8, (คําบรรยาย) โซเครตีส เพลโต และอริสโตเติล เชื่อว่า มนุษย์มีสมรรถภาพพอที่จะรู้ความเป็นจริงได้ (ความรู้เชิงปรนัย) ถ้ามนุษย์ใช้ปัญญาหรือเหตุผลที่เป็นสมรรถภาพเหนือผัสสะ ส่วนโซฟิสต์ เห็นว่า มนุษย์ไม่มีความสามารถที่จะรู้ว่าอะไรคือสารเบื้องต้นของธรรมชาติที่แท้จริงนักปรัชญาแต่ละคนจึงได้ตอบไปตามความเห็นของตนเท่านั้น

5 ทําไม “ปรัชญา” จึงเกี่ยวข้องกับมนุษย์

(1) เพราะมนุษย์มีปัญหา

(2) เพราะมนุษย์มีปัญญา

(3) เพราะมนุษย์มีปรัชญา

(4) เพราะมนุษย์รู้ปรัชญา

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 1 ประกอบ

6 ข้อใดกล่าวได้ถูกต้อง

(1) คําว่า “ปรัชญา” บัญญัติแทน “Philosophy” และมีความหมายตรงกัน

(2) คําว่า “ปรัชญา” บัญญัติแทน “Philosophy” แต่มีความหมายไม่ตรงกัน

(3) คําว่า “ปรัชญา” ไม่ได้บัญญัติแทน “Philosophy” แต่มีความหมายตรงกัน

(4) คําว่า “ปรัชญา” ไม่ได้บัญญัติแทน “Philosophy” จึงมีความหมายไม่ตรงกัน

ตอบ 1 หน้า 1 คําว่า “ปรัชญา” เป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ซึ่งใช้แปลคําว่า Philosophy ในภาษาอังกฤษ ดังนั้นคําว่าปรัชญาจึงมีความหมายที่สอดคล้อง หรือเหมือนกันทุกประการกับ Philosophy ซึ่งหมายถึง ผู้รักความปราดเปรื่อง หรือผู้ปรารถนาจะเป็นปราชญ์ หรือผู้ปรารถนาจะฉลาด หรือผู้ที่ยังไม่รู้และปรารถนาจะรู้มากขึ้น

7 ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับคานท์

(1) ประนีประนอมเหตุผลนิยมกับประสบการณ์นิยม

(2) ประนีประนอมสุขนิยมกับอสุขนิยม

(3) ประนีประนอมสสารนิยมกับจิตนิยม

(4) ประนีประนอมสัมพัทธ์นิยมกับสัมบูรณ์นิยม

ตอบ 1 หน้า 8 – 9, (คําบรรยาย) ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 15จนมาสิ้นสุดที่คานท์ (Kant) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเหตุผลนิยม และกลุ่มประสบการณ์นิยม(ประจักษนิยม) โดยคานท์เป็นผู้ประนีประนอมความคิด/ความเชื่อของทั้ง 2 กลุ่มเข้าด้วยกัน

8 ข้อใดคือท่าทีของนักปรัชญาตะวันตกสมัยกลางต่อเพลโต

(1) ปรัชญาของเพลโตเป็นปฏิปักษ์กับคําสอนของศาสนาคริสต์

(2) ปรัชญาของเพลโตเข้ากันได้กับคําสอนของศาสนาคริสต์

(3) เพลโตเป็นศิษย์คนหนึ่งของพระเยซู

(4) เพลโตเป็นนักปรัชญาที่เชื่อเรื่องพระเจ้า

ตอบ 2 หน้า 28, (คําบรรยาย) ปรัชญาของเพลโตเป็นจิตนิยม ซึ่งถือว่า ค่าทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกของวัตถุและโลกของมนุษย์มีต้นตออยู่ที่อสสารด้วย เช่น ความดี ความงาม ความยุติธรรม หรือคุณธรรมที่มีอยู่ในโลก ดังนั้นจึงสอดคล้องกับทัศนะของนักปรัชญาตะวันตกสมัยกลางที่เห็นว่าคุณค่าต่าง ๆ ในโลกเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น มิใช่สิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นหรือตั้งขึ้นมา

9 ข้อใดคือท่าทีของนักเหตุผลนิยมเกี่ยวกับประสบการณ์

(1) มนุษย์สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้บางเรื่อง

(2) มนุษย์สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้ทุกเรื่อง

(3) มนุษย์ไม่สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้เลย

(4) มนุษย์ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นข้อมูลสําหรับคิด

ตอบ 1 หน้า 106 107, (คําบรรยาย) พวกเหตุผลนิยม เห็นว่า ความรู้ที่แท้จริงแน่นอนไม่อาจจะได้รับจากประสาทสัมผัส แต่ได้จากความคิดหรือเหตุผล แต่ยอมรับว่าประสบการณ์ทางผัสสะ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ หรือเป็นสิ่งที่มาจุดประกายให้สติปัญญาเริ่มทํางานเท่านั้น ดังนั้นจึงถือได้ว่ามนุษย์สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้ในบางเรื่องเท่านั้น

10 ที่ว่าสสารนิยมเป็น “เอกนิยม” (Monism) มีความหมายอย่างไร

(1) โลกเป็นปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้น

(2) โลกเป็นปรากฏการณ์ของสสารชนิดเดียว

(3) โลกมีเพียงโลกเดียว

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 31 สสารนิยมเป็นเอกนิยม ถือว่าปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้นที่เป็นจริง เป็นความจริงประเภทเดียว และเป็นปรากฏการณ์ของสสารชนิดเดียว โดยสสารจะเป็นสิ่งที่ครองที่ คือ แผ่ไปในที่ว่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่และเกิดขึ้นในที่ว่าง ถ้าวัตถุชิ้นหนึ่งครองที่อยู่ ณ ที่หนึ่งแล้ว วัตถุชิ้นอื่นจะครองที่นั้นในเวลาเดียวกันนั้นไม่ได้

11 ปัญหาเรื่องปฐมธาตุของนักปรัชญากรีกโบราณจัดเป็นปัญหาปรัชญาสาขาใด

(1) อภิปรัชญา

(2) ญาณวิทยา

(3) จริยศาสตร์

(4) ปรัชญาประยุกต์

ตอบ 1 หน้า 17, 21 – 23 อภิปรัชญา เป็นศาสตร์ที่มุ่งศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง“ความเป็นจริงคืออะไร” โดยมุ่งที่จะสืบค้นไปถึงสิ่งที่จริงที่สุด ซึ่งอาจซ่อนอยู่เบื้องหลัง ปรากฏการณ์ของโลกที่ปรากฏต่อผัสสะของมนุษย์ หรือสิ่งที่อยู่ล่วงเลยขอบเขตของสสาร (อสสาร) ซึ่งแยกออกได้เป็น 3 ปัญหา คือ

1 ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลก เช่น ปฐมธาตุหรือแก่นแท้ของจักรวาลคืออะไร

2 ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของจิต เช่น จิตหรือวิญญาณของมนุษย์มีจริงหรือไม่

3 ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของพระเจ้า เช่น พระเจ้ามีอยู่และเกี่ยวข้องกับโลกอย่างไร

12 นักปรัชญากรีกโบราณคนใดที่สนใจปัญหาเรื่องจริยศาสตร์เป็นพิเศษ

(1) Thales

(2) Empedocles

(3) Sophists

(4) Epicurus

ตอบ 3 หน้า 7 – 8, 16, 149 – 153 ปัญหาทางจริยศาสตร์ หมายถึง ปัญหาทางปรัชญาที่เกี่ยวกับเรื่องความประพฤติและคุณค่าหรือสิ่งที่สูงสุดที่มนุษย์ควรแสวงหาในชีวิต รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับอุดมการณ์หรืออุดมคติของชีวิตและแนวทางที่มนุษย์พึงปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งนักปรัชญากรีกโบราณที่สนใจปัญหานี้เป็นพิเศษ คือ นักปรัชญากรีกโบราณสมัยรุ่งเรือง ได้แก่โซพิสต์ (Sophists), โซเครตีส (Socrates), เพลโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle) ฯลฯ

13 ใคร คือ นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่

(1) Plato

(2) St. Augustine

(3) John Locke

(4) Karl Marx

ตอบ 3 หน้า 8, 251 – 255, คําบรรยาย) ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ หมายถึง ปรัชญาตะวันตกที่นับตั้งแต่ปรัชญาตะวันตกสมัยกลางสิ้นสุดลง (ประมาณศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา) ซึ่งปรัชญาในยุคนี้ จะได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยมีนักปรัชญาที่สําคัญ ได้แก่ เดส์การ์ต (Descartes), สปิโนซ่า (Spinoza), ไลบ์นิตซ์ (Leibnitz), จอห์น ล็อค (John Locke),เดวิด ฮูม (David Hume), โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เป็นต้น

14 ปรัชญาตะวันตกยุคใดที่ได้รับฉายาว่า สาวใช้ของศาสนา

(1) ยุคดึกดําบรรพ์

(2) ยุคโบราณ

(3) ยุคกลาง

(4) ยุคใหม่

ตอบ 3 หน้า 8, 249 ปรัชญาตะวันตกยุคกลาง เป็นช่วงสมัยที่ศาสนาคริสต์ได้รับการยอมรับนับถือกันทั่วไป ดังนั้นปรัชญาตะวันตกยุคกลางจึงได้รับฉายาว่า “สาวใช้ของศาสนา” เนื่องจากปรัชญา ถูกดึงไปเป็นเครื่องมือสําหรับอธิบายและส่งเสริมคําสอนของศาสนาคริสต์ให้ดูมีเหตุมีผลยิ่งขึ้นถือเป็นการประนีประนอมระหว่างปรัชญากรีกกับคริสต์ศาสนา

15 ปรัชญาตะวันตกยุคใดที่ได้ชื่อว่า ได้รับอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

(1) ยุคดึกดําบรรพ์

(2) ยุคโบราณ

(3) ยุคกลาง

(4) ยุคใหม่

ตอบ 4 ดูค่าอธิบายข้อ 13 ประกอบ

16 ข้อใดจัดเป็นปัญหาอภิปรัชญา

(1) โลกเป็นปรากฏการณ์ของอะไร

(2) มนุษย์มีวิญญาณหรือไม่

(3) พระเจ้าเกี่ยวข้องกับโลกอย่างไร

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 11 ประกอบ

17 ในฐานะเป็นแนวคิดทางอภิปรัชญา “จิตนิยม” (Idealism) มีความหมายอย่างไร

(1) คนชอบคิดถึงสิ่งเหนือจริง

(2) คนเชื่อว่าสสารเป็นจริงที่สุด

(3) คนเชื่อว่าอสสารจริงกว่าสสาร

(4) คนเชื่อว่าสสารเป็นสิ่งธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ตอบ 3 หน้า 25 – 27 จิตนิยม เห็นว่า สสาร วัตถุ หรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดนั้นมีอยู่จริงแต่ยังมีสิ่งที่จริงกว่าวัตถุและสสาร กล่าวคือ ยังมี “ของจริง” อีกอย่างหนึ่งที่จับต้องหรือ สัมผัสไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ ไม่มีตัวตน (ไร้รูปร่าง) มีอยู่เป็นนิรันดรหรือมีสภาวะเป็นอมตะ (ไร้อายุขัย) และไม่อยู่ในระบบของอวกาศและเวลา ซึ่งมีลักษณะเป็นอสสาร (Immaterial) สิ่งนั้นคือ “จิต” เช่น แบบ วิญญาณ และพระเจ้า ฯลฯ อันเป็นต้นกําเนิดหรือต้นแบบของวัตถุดังนั้นสิ่งที่มนุษย์มองเห็นอยู่บนโลกนี้ จึงเป็นเพียงสภาพที่ปรากฏของสิ่งที่เป็นจริงเท่านั้น

18 ในฐานะเป็นแนวคิดทางอภิปรัชญา “สสารนิยม” มีความหมายอย่างไร (1) คนชอบคิดถึงสิ่งเหนือจริง

(2) คนเชื่อว่าสสารเป็นจริงที่สุด

(3) คนเชื่อว่าอสสารจริงกว่าสสาร

(4) คนเชื่อว่าสสารเป็นสิ่งธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ตอบ 2 หน้า 25, 31 – 32 ล้ทธิสสารนิยม เห็นว่า สสารหรือวัตถุเท่านั้นที่เป็นจริง ซึ่งแนวความคิดทั่วไปของลัทธินี้ได้แก่

1 สสารนิยมเป็นเอกนิยม

2 สสารนิยมยอมรับทฤษฎีหน่วยย่อย

3 สสารนิยมยอมรับแนวความคิดเรื่องการทอนลง

4 สสารนิยมเห็นว่าค่าเป็นสิ่งสมมุติ

5 สสารนิยมถือว่าจักรวาลอยู่ในระบบจักรกล

19 ในฐานะเป็นแนวคิดทางอภิปรัชญา “ธรรมชาตินิยม” มีความหมายอย่างไร

(1) คนชอบคิดถึงสิ่งเหนือจริง

(2) คนเชื่อว่าสสารเป็นจริงที่สุด

(3) คนเชื่อว่าอสสารจริงกว่าสสาร

(4) คนเชื่อว่าสสารเป็นสิ่งธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ตอบ 4 หน้า 33 – 34 ธรรมชาตินิยม เห็นว่า สสารเป็นสิ่งธรรมชาติที่มีลักษณะ 2 ประการ คือ

1 เป็นสิ่งที่ดํารงอยู่ในระบบของอวกาศ

2 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดับลงด้วยสาเหตุธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเห็นว่า สิ่งธรรมชาติมีความจรอยู่ในตัวมันเอง ไม่สามารถตัดทอนลงเป็นอะตอมได้

20 นักจิตนิยม มีความเห็นเกี่ยวกับโลกมนุษย์อย่างไร

(1) โลกเป็นสถานที่แห่งเดียวของมนุษย์

(2) โลกเป็นสถานที่ชั่วคราวที่มนุษย์ใช้ชีวิตเป็นทางผ่านไปสู่โลกหลังการตายที่ประเสริฐกว่า

(3) โลกเป็นมายา

(4) โลกมีแต่สิ่งชั่วร้าย

ตอบ 2 (คําบรรยาย) นักจิตนิยม เห็นว่า โลกเป็นสถานที่ชั่วคราวสําหรับมนุษย์ที่ใช้เป็นทางผ่านไปสู่โลกหลังความตายที่ประเสริฐกว่า ซึ่งเป็นโลกที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสหรือโลกของแบบที่แท้จริง

21 นักธรรมชาตินิยม มีความเห็นเกี่ยวกับโลกมนุษย์อย่างไร

(1) โลกเป็นสถานที่แห่งเดียวของมนุษย์

(2) โลกเป็นสถานที่ชั่วคราวที่มนุษย์ใช้ชีวิตเป็นทางผ่านไปสู่โลกหลังการตายที่ประเสริฐกว่า

(3) โลกเป็นมายา

(4) โลกมีแต่สิ่งชั่วร้าย

ตอบ 1 (คําบรรยาย) พวกธรรมชาตินิยมหรือสัจนิยมนั้น มีทัศนะว่า โลกหรือวัตถุทั้งหลายมีความแท้จริงตามสภาพของมันโดยไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจะมีมนุษย์รับรู้มันหรือไม่ และมีอยู่ก่อนที่จะมีผู้ใด มารับรู้มัน ดังนั้นโลกจึงเป็นสถานที่แห่งเดียวของมนุษย์

22 ก้อนหินและพืชต่างกันอย่างไร ในทัศนะของเพลโต

(1) มีองค์ประกอบต่างกัน

(2) มีปริมาณขององค์ประกอบต่างกัน

(3) มีปริมาณขององค์ประกอบและคุณภาพต่างกัน

(4) มีแบบต่างกัน

ตอบ 4 หน้า 26 – 27 เพลโต อธิบายว่า โลกของแบบเท่านั้นที่เป็นจริง เป็นสิ่งเที่ยงแท้ และเป็นต้นแบบของโลกแห่งประสาทสัมผัส เช่น ทอง ขมิ้น และดอกดาวเรือง แม้วัตถุทั้งสามมีความ ต่างกัน แต่ก็จําลองมาจากแบบเดียวกัน คือ “สีเหลือง” กล่าวโดยสรุปแล้ว วัตถุทุกชิ้นในโลกล้วนเป็นสิ่งที่จําลองมาจาก “แบบ” ทั้งสิ้น

23 ข้อใดมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง

(1) สสารนิยม – จักรกลนิยม

(2) จิตนิยม – จันตนิยม

(3) ธรรมชาตินิยม – นวนิยม

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ลัทธิอันตนิยมเป็นลัทธิที่สืบเนื่องมาจากปรัชญาจิตนียม ซึ่งเชื่อว่า ทุกสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาลมีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง ดับสลาย โดยมีจุดมุ่งหมายเหมือนกับมนุษย์และสัตว์ ส่วนลัทธินวนิยมเป็นสัทธิที่สืบเนื่องมาจากปรัชญาธรรมชาตินิยม ซึ่งเชื่อเรื่องกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาล (ดูคําอธิบายข้อ 18 ประกอบ)

24 ข้อใดมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง

(1) สสารนิยม – เอกนิยม

(2) จิตนิยม – ทวินิยม

(3) ธรรมชาตินิยม – พหุนิยม

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 34, (คําบรรยาย) สสารนิยมเป็นเอกนิยม เชื่อว่า ทุกสิ่งทอนลงได้เป็นปฐมธาตุประเภทเดียว ส่วนจิตนิยมเป็นทวินิยม เชื่อว่า สารเบื้องต้นมี 2 ประเภท คือ จิตและสสาร และธรรมชาตินิยมเป็นพหุนิยม เชื่อว่า ในจักรวาลมีสิ่งซึ่งเป็นจริงมากมายหลายสิ่ง แต่ละสิ่งเป็นจริงอยู่ในตัวมันเอง และไม่สามารถตัดทอนลงเป็นเพียงปรากฏการณ์ของอีกสิ่งหนึ่งได้

25 อสสารมีลักษณะอย่างไร

(1) มีรูปร่าง จับต้องได้ แต่ไร้อายุขัย

(2) มีรูปร่าง จับต้องได้ มีอายุขัย

(3) ไร้รูปร่าง จับต้องไม่ได้ แต่มีอายุขัย

(4) ไร้รูปร่าง จับต้องไม่ได้ ไร้อายุขัย

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 17 ประกอบ

26 ลัทธิจิตนิยม มีทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร

(1) ปัจจุบันเป็นผลของอดีต

(2) ปัจจุบันเป็นผลของอนาคต

(3) ปัจจุบันเป็นผลของการก้าวกระโดดของอดีต

(4) ปัจจุบันคือสิ่งใหม่ที่เกิดโดยบังเอิญ

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ลัทธิจิตนิยมมีความเชื่อในเรื่องของพระเจ้า หรือในเรื่องของอํานาจบุญและบาปดังนั้นจึงมีทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกว่า ปัจจุบันเป็นผลของอดีต นั่นคือ การกระทําใด ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จะต้องส่งผลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในปัจจุบันหรือในอนาคตอย่างแน่นอน

27 ลัทธิธรรมชาตินิยม มีทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร

(1) ปัจจุบันเป็นผลของอดีต

(2) ปัจจุบันเป็นผลของอนาคต

(3) ปัจจุบันเป็นผลของการก้าวกระโดดของอดีต

(4) ปัจจุบันคือสิ่งใหม่ที่เกิดโดยบังเอิญ

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ลัทธิธรรมชาตินิยมมีทัศนะบางอย่างคล้ายกับลัทธิสสารนิยมเป็นอย่างมากตัวอย่างเช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบ “ก้าวกระโดด” ที่เห็นว่า เป็นการเรียงตัวของหน่วย ย่อยในรูปแบบใหม่ ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรสูญ สามารถเข้าใจได้ และเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ไปสู่จุดมุ่งหมายเร็วขึ้น

28 นักจิตนิยม มีทัศนะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายของมนุษย์อย่างไร

(1) จิตคือกาย ร่างกายตายจิตก็สูญสิ้น

(2) จิตไม่ใช่กาย จิตไม่สูญสิ้นไปพร้อมกับร่างกาย

(3) จิตเป็นคุณภาพของร่างกาย ร่างกายตายจิตก็สูญสิ้น

(4) จิตเป็นคุณภาพของร่างกาย จิตไม่สูญสิ้นไปพร้อมกับร่างกาย

ตอบ 2 หน้า 34 – 35 จิตนิยม เชื่อว่า วิถีชีวิตของแต่ละคนนั้น ย่อมเป็นไปตามการบังคับบัญชาของจิตแต่ละคน ร่างกายเป็นเพียงการตอบสนองต่อเจตจํานงของจิตเท่านั้น ดังนั้นจิตจึงมีธรรมชาติ ที่ต่างไปจากร่างกายและมีสภาวะเป็นนิรันดร์ ไม่สูญสลายไปตามร่างกาย ซึ่งตรงกับสุภาษิตที่ว่า“ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว”

29 นักธรรมชาตินิยม มีทัศนะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายของมนุษย์อย่างไร

(1) จิตคือกาย ร่างกายตายจิตก็สูญสิ้น

(2) จิตไม่ใช่กาย จิตไม่สูญสิ้นไปพร้อมกับร่างกาย

(3) จิตเป็นคุณภาพของร่างกาย ร่างกายตายจิตก็สูญสิ้น

(4) จิตเป็นคุณภาพของร่างกาย จิตไม่สูญสิ้นไปพร้อมกับร่างกาย

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ธรรมชาตินิยม เชื่อว่า ร่างกายเป็นผลิตผลเชิงวิวัฒนาการของการจัดระบบของสสารขั้นที่หนึ่ง ส่วนจิตจะถือกําเนิดจากร่างกายในอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าจิตเป็นคุณภาพของร่างกาย ร่างกายตายจิตก็สูญสิ้น

30 คนที่ยอมทํางานหนักเพื่อแลกกับเงินเดือนที่สามารถช่วยให้ชีวิตสุขสบาย เป็นคนมีจิตแบบใดในทัศนะ ของเพลโต

(1) มีจิตภาคตัณหาเด่น

(2) มีจิตภาคน้ำใจเด่น

(3) มีจิตภาคตัณหาและน้ำใจเด่น

(4) มีจิตภาคเหตุผลเด่น

ตอบ 1 หน้า 35 – 36, 245 246 จิตในทัศนะของเพลโต แบ่งเป็น 3 ภาค คือ

1 ภาคตัณหา คือ ความต้องการความสุขทางกาย โดยจะพยายามทําทุกอย่างเพื่อแสวงหาเงินมาสนองความสุขแบบโลก ๆ จึงเป็นบุคคลที่ลุ่มหลงในโลกียสุข

2 ภาคน้ำใจ คือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยึดถือเกียรติและสัจจะเป็นสําคัญ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยากทุกเมื่อ

3 ภาคเหตุผลหรือภาคปัญญา เป็นจิตภาคที่พัฒนาขึ้นมาสูงสุดแล้ว คือ มีความใฝ่ในสัจจะโดยจะทุ่มเทชีวิตเพื่อแสวงหาความรู้ ความจริง ความดี ความงาม และคุณธรรม

31 คนที่ยอมทิ้งความสุขสบายทางกาย มุ่งแสวงหาความเข้าใจเรื่องความจริง ความดี ความงาม เป็นคนมีจิต แบบใดในทัศนะของเพลโต

(1) มีจิตภาคตัณหาเด่น

(2) มีจิตภาคน้ำใจเด่น

(3) มีจิตภาคตัณหาและน้ำใจเด่น

(4) มีจิตภาคเหตุผลเด่น

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 30 ประกอบ

32 คนที่สามารถหักห้ามใจไม่รับสินบนก้อนโตจากพ่อค้า ถึงแม้ว่าเงินนั้นจะทําให้ชีวิตของตนสบายขึ้น เป็นคนมีจิตใจแบบใดในทัศนะของเพลโต

(1) มีจิตภาคตัณหาเด่น

(2) มีจิตภาคน้ำใจเด่น

(3) มีจิตภาคตัณหาและน้ำใจเด่น

(4) มีจิตภาคเหตุผลเด่น

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 30 ประกอบ

33 “ทุกขนิโรธ” มีความหมายอย่างไร ในอริยสัจ 4

(1) การโกรธเป็นทุกข์

(2) การดับความโกรธ คือการพ้นทุกข์

(3) การดับโดยไม่เหลือของความทุกข์

(4) การโกรธทําให้สภาวทุกข์เพิ่มขึ้น

ตอบ 3 หน้า 85 ตามหลักอริยสัจ 4 นั้น คําว่า “นิโรธ” หรือ “ทุกขนิโรธ” หมายถึง ความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความดับได้อย่างเด็ดขาดด้วยการกระทําของผู้ปฏิบัติ ซึ่งจัดเป็นผลอันสูงสุดตามที่มุ่งหมายในทางพระพุทธศาสนา

34 ข้อใดจัดเป็น “สภาวทุกข์” ตามคําสอนของอริยสัจ 4

(1) ความแก่

(2) ความเศร้าใจจากความแก่

(3) ความพลัดพรากจากของรักเพราะความแก่

(4) ความคับแค้นใจเพราะความแก่

ตอบ 1 หน้า 82 สภาวทุกข์ หมายถึง ทุกข์โดยสภาพหรือทุกข์ประจํา ได้แก่ ความเกิด ความแก่และความตาย (ส่วนทุกข์จรนั้น เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว เช่น ความเศร้าใจความระทมใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพราก เป็นต้น

35 ตามคําสอนของอริยสัจ 4 สิ่งที่คนฉลาดควรกลัวเป็นอย่างยิ่ง คืออะไร

(1) การเกิด

(2) การแก่

(3) การตาย

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 83 ตามคําสอนของอริยสัจ 4 นั้น ถือว่า ความเกิดเป็นประตูแห่งความทุกข์ทั้งปวงดังนั้นคนฉลาดจึงกลัวความเกิดไม่ใช่กลัวความตาย เพราะความเกิดนั้นเองเป็นเหตุให้ต้องตายถ้าไม่เกิดเสียอย่างเดียวก็ไม่ต้องตาย และไม่ต้องลําบากจนกว่าตัวเองจะแก่ตาย

36 คุณสมบัติที่อะตอมของนักปรัชญากรีกยุคโบราณไม่มี คือ คุณสมบัติข้อใด

(1) การหยุดนิ่ง

(2) การเคลื่อนไหว

(3) สี เสียง กลิ่น รส

(4) ถูกข้อ 1 และ 3

ตอบ 4 หน้า 57 – 58 ปรัชญากรีกยุคโบราณ ถือว่า ปรมาณู (อะตอม) เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ไม่แตกดับโดยทุก ๆ ปรมาณูจะมีแต่คุณสมบัติปฐมภูมิเท่านั้น จะไม่มีคุณสมบัติทุติยภูมิ (สี เสียง กลิ่น รส) แต่ละปรมาณูจะมีทั้งกัมมันตภาพและจลนภาพอยู่ในตัวเอง ไม่มีการหยุดนิ่ง หากมีแต่การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา)

37 คุณสมบัติที่ปรมาณูของลัทธิไวเศษกะไม่มี คือ คุณสมบัติข้อใด

(1) การหยุดนิ่ง

(2) การเคลื่อนไหว

(3) สี เสียง กลิ่น รส

(4) ถูกข้อ 1 และ 3

ตอบ 2 หน้า 57 – 58 ปรัชญาไวเศษกะ เชื่อว่า ปรมาณูมีทั้งคุณสมบัติปฐมภูมิ (รูปร่าง ขนาด น้ำหนัก)และคุณสมบัติทุติยภูมิ (สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ซึ่งแต่ละปรมาณูจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ แต่โดยธรรมชาติแล้วปรมาณูเป็นสิ่งไร้กัมมันตภาพและไร้จลนภาพ(เคลื่อนไหวไม่ได้ด้วยตัวเอง) จึงอยู่ในภาวะที่หยุดนิ่งตลอดเวลา

38 ลัทธิไวเศษกะมีความเชื่อในเรื่องความเที่ยงแท้ของปรมาณูอย่างไร

(1) ปรมาณูเที่ยงแท้ แต่คุณสมบัติของมันไม่เที่ยงแท้

(2) ปรมาณูเที่ยงแท้ และคุณสมบัติปฐมภูมิของมันก็เที่ยงแท้

(3) ปรมาณูเที่ยงแท้ และคุณสมบัติทุติยภูมิของมันก็เที่ยงแท้

(4) ปรมาณูเที่ยงแท้ และคุณสมบัติของมันก็เที่ยงแท้

ตอบ 4 หน้า 57 ปรัชญาลัทธิไวเศษกะนั้น นอกจากจะถือว่าปรมาณูแต่ละปรมาณูเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้และไม่แตกดับแล้ว ยังถือว่าคุณสมบัติของปรมาณูแต่ละอย่างก็เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้เช่นเดียวกัน

39 พุทธปรัชญาฝ่ายเถรวาทสนใจปัญหา “อภิปรัชญา” ในความหมายใด

(1) Metaphysics

(2) อตินทรีย์วิทยา

(3) ปรมัตถ์

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 21, 79, (คําบรรยาย) ท่าทีของพุทธปรัชญาฝ่ายเถรวาทต่อปัญหาอภิปรัชญาจะสนใจปัญหาอภิปรัชญาในความหมาย “ปรมัตถ์” (ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่) เช่น อริยสัจ 4,ปฏิจจสมุปบาท, สามัญลักษณะ, กฎแห่งกรรม และนิพพาน ฯลฯ

40 บุคคลใดต่อไปนี้มีจิตภาคน้ำใจเด่นในทัศนะของเพลโต

(1) แจน มีงานทําสองแห่ง เธอใช้เงินทั้งหมดกับการ กิน ดื่ม เที่ยว ในวันหยุด (2) เจน ยับยั้งชั่งใจที่จะรักษาเกียรติของเธอไว้ โดยไม่ยอมเป็นภรรยาน้อยใคร

(3) แจ้น ใช้ชีวิตสมถะ เพื่อนําเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับการเรียนชั้นปริญญาเอก ซึ่งเธอคงได้รับเงินเดือนมากพอที่จะสะดวกสบายไปตลอดชาติ (4) แจง ใช้ชีวิตสมถะ และพยายามไตร่ตรองเพื่อเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 30 ประกอบ

41 จากคําตอบข้อ 40 บุคคลใดมีจิตภาคเหตุผลเด่นในทัศนะของเพลโต

(1) แจน

(2) เจน

(3) แจน

(4) แจง

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 30 ประกอบ

42 “แบบ” ของเพลโตกับ “พระเจ้า” ของศาสนาคริสต์ มีลักษณะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

(1) เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถพูดคุยได้เหมือนกัน

(2) มีสถานภาพเป็นอสสารเหมือนกัน

(3) เป็นแหล่งกําเนิดของโลกเหมือนกัน

(4) ถูกข้อ 2 และ 3

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 8 ประกอบ

43 ตามข้อพิสูจน์ของทฤษฎีภววิทยา พระเจ้าต้องมีอยู่ในฐานะอะไร

(1) ผู้สร้างระเบียบให้กับโลก

(2) ผู้ที่โลกต้องพึ่งพา

(3) ผู้กํากับให้คนดีได้ผลดีตอบแทน

(4) ผู้ฝังความคิดความเข้าใจเรื่องพระเจ้าให้มนุษย์

ตอบ 4 หน้า 43 ทฤษฎีเชิงมววิทยา ถือว่า พระเจ้าเป็นสิ่งสัมบูรณ์และเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจํากัดส่วนมนุษย์เป็นสิ่งสัมพัทธ์และเป็นสิ่งจํากัด ซึ่งการที่มนุษย์มีความคิดในเรื่องพระเจ้าได้นั้นเกิดจากพระเจ้าเป็นต้นเหตุให้มนุษย์คิดถึงสิ่งที่ไร้ขอบเขตนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้นพระเจ้าจึงมีอยู่

44 ตามข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าของทฤษฎีเชิงเอกภพ พระเจ้าต้องมีอยู่ในฐานะอะไร

(1) ผู้สร้างระเบียบให้กับโลก

(2) ผู้ที่โลกต้องพึ่งพา

(3) ผู้กํากับให้คนดีได้ผลดีตอบแทน

(4) ผู้ฝังความคิดความเข้าใจเรื่องพระเจ้าให้มนุษย์

ตอบ 2 หน้า 43 ทฤษฎีเชิงเอกภพ ถือว่า โลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอิสระ เป็นสิ่งสัมพัทธ์ เป็นสิ่งจํากัดและเป็นสิ่งที่เป็นผล ด้วยเหตุนี้จึงต้องพึ่งพาอาศัยพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นอิสระ เป็นสิ่งสัมบูณ เป็นสิ่งที่ไม่จํากัด และเป็นสิ่งที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงมีอยู่

45 เทวสิทธิ์” (Divine Right) หมายถึงอะไร

(1) การอ้างว่าพระเจ้าเป็นเจ้าของชีวิตมนุษย์ทุกคน

(2) การอ้างอํานาจของพระเจ้าเพื่อสนับสนุนอํานาจในการปกครอง

(3) การอ้างอํานาจของพระเจ้าเพื่อการควบคุมปรากฏการณ์ธรรมชาติ

(4) การอ้างอํานาจพระเจ้าในพิธีบูชาพระเจ้า

ตอบ 2 หน้า 44 – 45 ทฤษฎีการอ้างเทวสิทธิ์ (Divine Right) หมายถึง การที่ผู้ปกครองอ้างอํานาจของพระเจ้าเพื่อสนับสนุนอํานาจในการปกครองของตน โดยอ้างว่าตนเป็นสมมติเทพหรือเป็น เทพผู้ยิ่งใหญ่ที่เทพบดีคัดเลือกส่งมาปกครอง ถือตนว่าเป็นบุตรแห่งสวรรค์หรือเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพ จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะปกครอง

46 “อัชญัตติกญาน” (Intuition) เป็นวิธีมีความรู้แบบใด

(1) การพิสูจน์โดยอาศัยประสบการณ์เป็นข้อมูล

(2) การพิสูจน์โดยอาศัยความรู้ติดตัวเป็นข้อมูล

(3) การหยั่งรู้โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยสื่อใด ๆ ทั้งสิ้น

(4) การเปิดเผยของพระเจ้าให้มนุษย์รู้โดยตรง

ตอบ 3 หน้า 104, 115 – 115 อัชญัตติกญาณ (Intuition) ตามทัศนะของพวกเหตุผลนิยมหมายถึง การหยั่งรู้โดยตรงด้วยจิตใจ หรือแสงสว่างแห่งเหตุผล/แสงสว่างแห่งปัญญา ส่วนพวก ประจักษนิยม หมายถึง การมีความรู้และเข้าใจโดยตรงในความจริงที่ง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ที่สุดของประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส

47 “นิรนัย” (Deduction) เป็นวิธีมีความรู้แบบใด

(1) การพิสูจน์โดยอาศัยประสบการณ์เป็นข้อมูล

(2) การพิสูจน์โดยอาศัยความรู้ติดตัวเป็นข้อมูล

(3) การหยังรู้โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยสื่อใด ๆ ทั้งสิ้น

(4) การเปิดเผยของพระเจ้าให้มนุษย์รู้โดยตรง

ตอบ 2 หน้า 105 106 วิธีการคิดหาเหตุผลแบบนิรนัย (Deduction) คือ การพิสูจน์ความเชื่อใด ๆโดยอาศัยความจริงพื้นฐานที่มีอยู่ก่อนหรือที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเป็นหลัก แล้วก็ใช้ความคิดสืบสาว จากความรู้นั้นไปเพื่อที่จะรู้ในสิ่งอื่น โดยที่ข้อสรุปต้องได้มาจากข้ออ้าง ถ้าหากข้ออ้างเป็นจริง ข้อสรุปก็ต้องเป็นจริงด้วย ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์ เรขาคณิต และพีชคณิตก็ใช้วิธีการคิดหาเหตุผลแบบนิรนัยนี้ในการแสวงหาความจริงโดยไม่อาศัยการพิสูจน์หรือยืนยันจากประสบการณ์ด้วย

48 “Necessary Truth” หมายถึงความรู้ประเภทใด

(1) ความรู้ที่ถูกต้องตลอดกาล

(2) ความรู้ที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่แรกเกิด

(3) ความรู้ที่มนุษย์สามารถหยั่งรู้โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยหลักฐาน

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 104 105, 115 – 116 นักปรัชญาเหตุผลนิยมที่สําคัญ เช่น เดส์การ์ต (Descartes) สิโนซา (Spinoza) เละไลบ์นิตซ์ (Leibnitz) เชื่อว่า ความรู้ก่อนประสบการณ์เป็นความจริงที่ จําต้องเป็น (Necessary Truth) คือ ต้องจริงในทุกที่และทุกเวลา โดยไม่ต้องมีสิ่งใดมายืนยัน และจิตของมนุษย์ก็สามารถรู้ความจริงชนิดนี้ได้โดยอัชญัตติกญาณ (หยั่งรู้ด้วยจิตใจหรือแสงสว่างด้วยปัญญาทันทีทันใด) เช่น ข้อความว่า “เส้นตรงที่ขนานกันจะไม่มีวันมาบรรจบกันได้” ฯลฯ

49 วิธีแสวงหาความรู้ที่เดส์การ์ต (Descartes) ใช้เป็นแม่แบบในการพิสูจน์ความจริงของโลกและพระเจ้า คืออะไร

(1) คณิตศาสตร์

(2) พีชคณิต

(3) เรขาคณิต

(4) วิทยาศาสตร์

ตอบ 3 หน้า 8, 107, (คําบรรยาย) เดส์การ์ต (Descartes) ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ โดยเขาเป็นผู้ที่ฟื้นฟูแนวคิดเหตุผลนิยมขึ้นมาอย่างจริงจังในศตวรรษที่ 17 และได้นําวิธีการของเรขาคณิตมาใช้ในความคิดทางปรัชญาด้วย

50 นักปรัชญาที่เรียกว่านักเหตุผลนิยมจะปฏิเสธวิธีแสวงหาความรู้วิธีใด

(1) คณิตศาสตร์

(2) พีชคณิต

(3) เรขาคณิต

(4) วิทยาศาสตร์

ตอบ 4 หน้า 105 นักเหตุผลนิยมจะแสวงหาความรู้โดยวิธีนิรนัย (ดูคําอธิบายข้อ 47 ประกอบ)

51 “Tabula Rasa” สัมพันธ์กับนักปรัชญาคนใด

(1) Descartes

(2) Locke

(3) Berkley

(4) Hume

ตอบ 2 หน้า 117, (คําบรรยาย) ล็อค (Locke) ถือว่า สภาพจิตของมนุษย์ในตอนเริ่มแรกนั้นมีแต่ความว่างเปล่าเหมือนกระดาษขาวบริสุทธิ์ ปราศจากความคิดและความรู้ใด ๆ ทั้งสิ้นเรียกว่า “Tabula Rata” ที่หมายถึง สมุดบันทึกที่ว่างเปล่าปราศจากข้อความใด ๆ ทั้งสิ้น

52 ส่วนใดของวัตถุที่ผัสสะของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ในทัศนะของ Locke

(1) คุณสมบัติปฐมภูมิ

(2) คุณสมบัติทุติยภูมิ

(3) สารรองรับคุณสมบัติของวัตถุ

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 119 ล็อค เชื่อว่า สารเป็นสิ่งแท้จริงที่อยู่ภายในตัววัตถุ แต่มนุษย์ไม่อาจจะรู้จักสารได้เพราะไม่อาจเป็นประสบการณ์ของใคร จึงเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งต้องมีสาร เพราะสารเป็นพื้นฐานที่รองรับคุณสมบัติปฐมภูมิของวัตถุซึ่งก่อให้เกิดความคิดเชิงเดี่ยว

53 ตามทัศนะของชุม “ความคิด” ในจิตมนุษย์หมายถึงอะไร

(1) ข้อมูลที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดของจิต

(2) ข้อมูลที่จิตรับรู้จากประสบการณ์โดยทั่วไป

(3) ข้อมูลที่จิตรับรู้จากประสบการณ์ที่ชัดเจนจึงชัดเจนเท่าประสบการณ์

(4) ข้อมูลที่จิตรับรู้จากประสบการณ์ที่ชัดเจนแต่ลางเลือนแล้ว

ตอบ 4 หน้า 122 123 ฮูม เห็นว่า ความรู้ของมนุษย์แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ความประทับใจ(Impression) ซึ่งเป็นการรับรู้ในผัสสะ กับความคิด (Idea) ซึ่งเป็นการรับรู้ในสิ่งที่เกิดจาก จินตนาการหรือความจํา เช่น เมื่อเอามือไปแตะน้ําแข็ง จะเกิดสัมผัสของความเย็น ผัสสะนี้มี ความแจ่มชัดในทันทีทันใด ซึ่งเรียกว่า “ความประทับใจ” พอเหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้ว แต่เรายังจดจําภาพของความเย็นได้อย่างลาง ๆ นั้น เราเรียกว่า “ความคิด” หรือ “จิตภาพ”

54 ตามทัศนะของฮูม “ความประทับใจ” (Impression) หมายถึงอะไร

(1) ข้อมูลที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดของจิต

(2) ข้อมูลขณะมีประสบการณ์โดยทั่วไป

(3) ข้อมูลขณะมีประสบการณ์ที่ชัดเจน

(4) ภาพลางเลือนของประสบการณ์

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 53 ประกอบ

55 จอห์น ล็อค เป็นนักปรัชญาที่เป็นเจ้าของทฤษฎีใด

(1) สัจนิยมโดยตรง

(2) สัจนิยมแบบตัวแทน

(3) สัจนิยมวิจารณ์

(4) จิตนิยมแบบอัตนัย

ตอบ 2 หน้า 138 139 สัจนิยมแบบตัวแทน เห็นว่า วัตถุทั้งหลายที่อยู่ภายนอกตัวคนเป็นสสารที่มีแต่คุณสมบัติปฐมภูมิ (ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก) และคุณสมบัติปฐมภูมิเท่านั้นที่มีอยู่อย่างแท้จริง ส่วนคุณสมบัติทุติยภูมิ (สี กลิ่น รส อุณหภูมิ) นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัววัตถุเพราะมันเป็นสิ่งที่ จิตของคนเป็นผู้สร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงถือได้ว่าวัตถุก่อนการรับรู้กับหลังการรับรู้มีความต่างกันที่คุณสมบัติทุติยภูมิ ซึ่งนักปรัชญาที่สําคัญของทฤษฎีนี้ คือ จอห์น ล็อค

56 เบอร์คเลย์ เป็นนักปรัชญาที่เป็นเจ้าของทฤษฎีใด

(1) สัจนิยมโดยตรง

(2) สัจนิยมแบบตัวแทน

(3) สัจนิยมวิจารณ์

(4) จิตนิยมแบบอัตนัย

ตอบ 4 หน้า 129, 131 เบอร์คเลย์ เป็นนักปรัชญาลัทธิจิตนิยมแบบอัตนัยที่มีทัศนะว่า วัตถุทั้งหลายหรือโลกภายนอกเป็นเพียงภาพสะท้อนของจิตมนุษย์ โดยสิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นหรือรู้นั้นก็คือความคิด ของจิตของเรานั่นเอง เพราะว่าสิ่งที่เรารู้หรือความรู้ของเรา ได้แก่ วัตถุและสิ่งทั้งหลายภายในโลก สิ่งเหล่านี้มีแก่นแท้คือการรับรู้ด้วยจิตของมนุษย์ ดังนั้นการมีอยู่ของมันจึงเป็นอิสระจากจิตไม่ได้

57 ข้อใดจัดเป็นทัศนะทางจริยศาสตร์

(1) จากการสํารวจพบว่าเด็กในวัยเรียนทําแท้งกันมากขึ้น

(2) บางคนเชื่อว่าการทําแท้งในขณะตั้งครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ทําได้

(3) แพทย์ยืนยันว่าการทําแท้งอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการไม่เป็นอันตรายต่อหญิง

(4) การทําแท้งเป็นเรื่องผิดเพราะเป็นการฆ่าคน

ตอบ 4 หน้า 147, (คําบรรยาย) จริยศาสตร์ (Ethics) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยความประพฤติโดยจะศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์ควรกระทํา ไม่ควรกระทํา สิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิด ความดี ความชั่ว และหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้พื้นฐานอันดีงามของจริยศาสตร์ ก็คือ ศาสนาในขณะที่ศาสนาก็ต้องอาศัยจริยศาสตร์ เพราะจริยศาสตร์ทําให้ศาสนามีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

58 Socrates คิดว่าคุณธรรมจะเกิดกับคนชนิดใด

(1) คนที่มีความสุขทางกาย

(2) คนที่มีความสุขทางใจ

(3) คนที่เข้าใจความดี

(4) คนที่มีชีวิตอย่างสุนัข

ตอบ 3 หน้า 150 โซเครตีส (Socrates) กล่าวว่า “คุณธรรมคือความรู้” โดยความดี/ความมีคุณธรรมจะต้องเกิดจากความรู้ ถ้าบุคคลรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของความดีจริง ๆ เขาก็จะไม่กระทําความชั่วหรือความผิด แต่เนื่องจากบุคคลไม่รู้/ไม่เข้าใจจึงต้องกระทําชั่ว

59 นักปรัชญาคนใดถือว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของความถูกใจ

(1) โซฟิสต์

(2) เวสเตอร์มาร์ค

(3) มิลล์

(4) คานท์

ตอบ 1 หน้า 149 โซฟิสต์ (Sophist) ถือว่า การตัดสินสิ่งใดก็ตามขึ้นอยู่กับมนุษย์แต่ละคนเป็นผู้ตัดสินความดี/ความชั่วก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ความถูกคือสิ่งที่จะพาไปสู่ความสําเร็จ ความผิด คือ สิ่งที่เป็นอุปสรรค ความยุติธรรม/ศีลธรรมเป็นเรื่องของความพอใจ/ถูกใจ ดังนั้นศีลธรรม/ความยุติธรรม/ความดีจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องแสวงหา และต้องเป็นสิ่งที่ได้รับเมื่อกระทําไปแล้ว

60 นักปรัชญาคนใดถือว่าศีลธรรมกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน

(1) โซฟิสต์

(2) เวสเตอร์มาร์ค

(3) มิลล์

(4) คานท์

ตอบ 3 หน้า 165, 168 มิลล์ (Mitt) เป็นนักประโยชน์นิยมที่ถือว่าศีลธรรมกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกันความสุขของมหาชนเป็นสิ่งสําคัญที่สุด การละเมิดหลักศีลธรรม/ประเพณีหรือกฎหมายย่อม สามารถทําได้ถ้าเราคํานวณแล้วพบว่าการกระทํานั้นก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากกว่า เช่น หมออาจโกหกคนไข้ได้ เพื่อไม่ให้คนไข้ตกใจจนหัวใจวายตาย ฯลฯ

61 นักปรัชญาคนใดถือว่าคนดีไม่จําเป็นต้องมีความสุข

(1) โซฟิสต์

(2) เวสเตอร์มาร์ค

(3) มิลล์

(4) คานท์

ตอบ 4 หน้า 169 คานท์ (Kant) เห็นว่าความสุขไม่ใช่สิ่งดีที่สุดในชีวิต ดังนั้นความสุขจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินศีลธรรมไม่ได้ แต่ศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง เช่นเดียวกันกับคนดีก็คือคนทําสิ่งที่ดีโดยไม่หวังผลตอบแทน และคนดีก็ไม่จําเป็นต้องสุขสบายหรือทําให้ผู้อื่นมีความสุข

62 “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” เป็นสุภาษิตเตือนใจที่เข้ากับหลักธรรมข้อใด

(1) ขันติ

(2) โสรัจจะ

(3) สัจจะ

(4) อิทธิบาท 4

ตอบ 1 หน้า 189 – 191 ขันติ หมายถึง ความอดทนซึ่งเป็นหลักธรรมที่แสดงถึงความเข้มแข็งของจิตใจสามารถทนทานต่อเหตุร้ายต่าง ๆ ได้ และสามารถบังคับกายกับวาจาให้อยู่ในอํานาจได้ด้วย เช่น ความอดทนต่อความทุกข์เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข, ความอดทนต่อความลําบากเพื่อให้ได้มา ซึ่งความสบาย ความอดทนต่อความเจ็บใจตัวเองเพื่อให้คนในสังคมมีความสุข, ความอดทนต่อสิ่งที่กวนใจเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นคนดี เป็นต้น

63 “ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา” เป็นคนชนิดใด

(1) มีโสรัจจะ แต่ขาดสัจจะ

(2) มีโสรัจจะ แต่ขาดขันติ

(3) ขาดโสรัจจะและสัจจะ

(4) ขาดโสรัจจะและขันติ

ตอบ 4 หน้า 192 193 โสรัจจะ หมายถึง ความสงบเสงี่ยมซึ่งมีลักษณะเป็นความมีปกติอันดีของกาย วาจา และใจ ไม่แสดงอาการไม่ดีหรือไม่งามผิดปกติ เมื่อได้รับความตรากตรําลําบากหรือได้รับความเจ็บใจ โดยโสรัจจะเป็นธรรมคู่กับขันติ (ความอดทน)

64 “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ” เป็นคนชนิดใด

(1) มีโสรัจจะ แต่ขาดสัจจะ

(2) มีโสรัจจะ แต่ขาดขันติ

(3) ขาดโสรัจจะและสัจจะ

(4) ขาดโสรัจจะและขันติ

ตอบ 1 หน้า 194, (ดูคําอธิบายข้อ 63. ประกอบ) สัจจะ หมายถึง ความจริงใจซึ่งเป็นลักษณะของความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ทั้งต่อบุคคล กาลเวลา และหน้าที่การงาน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

65 หลักธรรมที่แสดงถึงความเข้มแข็งของกายและใจ คืออะไร

(1) ขันติ

(2) โสรัจจะ

(3) สัจจะ

(4) วุฒิธรรม

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 62 ประกอบ

66 หลักธรรมที่แสดงถึงความปกติอันดีของกาย วาจา ใจ คืออะไร

(1) ขันติ

(2) โสรัจจะ

(3) สัจจะ

(4) วุฒิธรรม

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 63 ประกอบ

67 หลักธรรมที่นําไปสู่ความงอกงามของปัญญา คืออะไร

(1) ขันติ

(2) โสรัจจะ

(3) สัจจะ

(4) วุฒิธรรม

ตอบ 4 หน้า 207 หลักวุฒิธรรม คือ หลักการสร้างความเจริญงอกงามแห่งปัญญา ซึ่งมีข้อพึงปฏิบัติ 4 ประการ คือ

1 หมั่นเสวนาคบหากับท่านผู้รู้ ผู้มีภูมิธรรม

2 เอาใจใส่สดับตรับฟังแสวงหาความรู้จริง

3 ได้รู้ได้เห็นได้ฟังสิ่งใดแล้ว รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง

4 นําสิ่งที่ได้เล่าเรียน รับฟัง และตริตรองแล้วไปใช้หรือปฏิบัติด้วยตนเอง

68 “เสียงเท่าฟ้า หน้าเท่ากลอง” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

(2) ความเป็นผู้รู้จักผล

(3) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

(4) ความเป็นผู้รู้จักตน

ตอบ 3 หน้า 198 ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง ความรู้จักกําหนดคาดคะเนได้อย่างเหมาะสมพอเหมาะพอควรและพอดีในทุกเรื่อง ซึ่งผู้ที่ขาดหลักธรรมข้อนี้จะมีลักษณะตามสุภาษิตที่ว่า“เสียงเท่าฟ้า หน้าเท่ากลอง” หมายถึง เสียงดังมาก (ดังเกินไป ไม่พอดี)

69 “ใฝ่สูงจนเกินศักดิ์” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

(2) ความเป็นผู้รู้จักผล

(3) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

(4) ความเป็นผู้รู้จักตน

ตอบ 4 หน้า 197 198 ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง ความพิจารณาตนเองให้เข้าใจว่าตนเป็นจุดกําเนิดของทุกข์ สุข ความเสื่อม และความเจริญ ซึ่งการรู้จักตนเองนั้นต้องรู้ถึงชาติตระกูล วัย ฐานะ ตําแหน่ง สมบัติ บริวาร หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง

70 “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักกาล

(2) ความเป็นผู้รู้จักชุมชน

(3) ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล

(4) ความเป็นผู้รู้จักผล

ตอบ 2 หน้า 199 – 200 ความเป็นผู้รู้จักขุมชน หมายถึง การรู้จักปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสังคมหรือชุมชนต่าง ๆ และวางตนให้เหมาะสมกับสังคมนั้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับ สุภาษิตที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิว ต้องหลิ่วตาตาม” ส่วนคนที่ขาดหลักธรรมข้อนี้จะมีลักษณะตามสุภาษิตที่ว่า “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” หรือ “ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาวาง”

71 “ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาวาง” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักกาล

(2) ความเป็นผู้รู้จักชุมชน

(3) ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล

(4) ความเป็นผู้รู้จักผล

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 70 ประกอบ

72 “การพยายามทํางานของตน” ตรงกับหลักธรรมข้อใดของอิทธิบาท 4

(1) ฉันทะ

(2) วิริยะ

(3) จิตตะ

(4) วิมังสา

ตอบ 2 หน้า 201 – 203 อิทธิบาท 4 คือ คุณธรรมที่นําไปสู่ความสําเร็จ 4 ประการ ดังนี้

1 ฉันทะ (ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น) ทําให้ไม่เบื่องาน ไม่รู้สึกท้อแท้ในการทํางาน

2 วิริยะ (ความเพียรพยายามในสิ่งนั้น) ทําให้มุ่งมั่นในการทํางานของตนให้สําเร็จ

3 จิตตะ (ความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น) ทําให้หมั่นตรวจตราเอาใจจดจ่อในงานที่ตนทํา

4 วิมังสา (ความหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้น) ช่วยให้ทํางานไม่ผิดพลาด

73 “ความรู้สึกไม่เบื่องาน ไม่รู้สึกท้อแท้ในการงาน” มีผลจากหลักธรรมข้อใดของอิทธิบาท 4

(1) ฉันทะ

(2) วิริยะ

(3) จิตตะ

(4) วิมังสา

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 72 ประกอบ

74 สิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคืออะไรในทัศนะของเพลโต

(1) ความร่ำรวย

(2) ความปลอดภัย

(3) ความยุติธรรม

(4) การพัฒนาตนให้สมบูรณ์

ตอบ 3 หน้า 247, 270 เพลโต เห็นว่า จิตของมนุษย์มี 3 ประเภท หากสังคมใดสามารถกําหนดให้มนุษย์ทําหน้าที่ที่เหมาะสมกับจิตของตนเองแล้ว เมื่อนั้นความยุติธรรมก็จะปรากฏขึ้น ในสังคม และสังคมดังกล่าวย่อมเป็นสังคมที่ดีที่สุดสําหรับชีวิตที่ดีที่สุดของมนุษย์ผู้จําเป็นต้องอยู่ในสังคม ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคือความยุติธรรม

75 สิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคืออะไรในทัศนะของ Aristotle

(1) ความร่ำรวย

(2) ความปลอดภัย

(3) ความยุติธรรม

(4) การพัฒนาตนให้สมบูรณ์

ตอบ 4 หน้า 248 249 อริสโตเติล เห็นว่า สังคมและรัฐที่ดี คือสังคมและรัฐที่สามารถทําให้มนุษย์มีชีวิตที่ดี ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ

1 ช่วยพัฒนาชีวิตให้มีเหตุผล คือ ชีวิตที่สามารถ ประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมมีคุณธรรมทางศีลธรรม

2 ช่วยพัฒนาให้ใช้ชีวิต ที่ตริตรองถึงสัจจะได้ คือ การใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาสัจจะหรือที่เรียกว่า คุณธรรมทางปัญญา ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคือการพัฒนาตนให้สมบูรณ์

76 ท่าทีของประชาชนต่อรัฐควรจะเป็นอย่างไรในทัศนะของล็อค

(1) ยอมปฏิบัติตามคําสั่งของรัฐอย่างเต็มที่

(2) คอยจับตาดูว่ารัฐทําหน้าที่เหมาะสมหรือไม่

(3) ควบคุมให้คนฉลาดได้เป็นผู้ปกครอง

(4) ต้องต่อต้านรัฐที่กดขี่ขูดรีด

ตอบ 2 หน้า 255 ล็อค เห็นว่า อํานาจการปกครองสูงสุดแท้จริงแล้วเป็นของประชาชน ดังนั้นถ้าความไว้วางใจหมดสิ้นไปเนื่องจากรัฐไม่ป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชน ย่อมมีสิทธิที่จะโอนอํานาจนั้นให้คนที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ล็อคยังคัดค้านทฤษฎีเทวสิทธิ์ ซึ่งอ้างว่าพระเจ้าได้มอบอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศให้กับกษัตริย์

77 คุณสมบัติที่สมาชิกของรัฐควรมีคืออะไรในทัศนะของรุสโซ

(1) ความจงรักภักดี

(2) การเชื่อฟัง

(3) การคํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

(4) ความใสซื่อตามสัญชาตญาณ

ตอบ 3 หน้า 256 257 ในทัศนะของรุสโซนั้น อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคนเพราะสังคมเกิดจากเจตจํานงร่วม (General Will) ของมนุษย์ ดังนั้นผู้ปกครองกับพลเมืองก็คือ คน ๆ เดียวกัน แต่มองคนละด้านเท่านั้น เมื่อสังคมเกิดเป็นองค์กรร่วมหรือเป็นเอกภาพ เจตจํานงเพื่อผลประโยชน์ของแต่ละคนต้องหมดไป เหลือแต่เจตจํานงทั่วไปอันเป็นเจตจํานงเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเท่านั้น

78 สังคมที่มีคุณค่าในทัศนะของ Godwin มีลักษณะอย่างไร

(1) มีแต่ความรักและความเข้าใจ

(2) ปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม

(3) ไม่มีการขูดรีดกดขี่

(4) สามารถให้ความปลอดภัย

ตอบ 1 หน้า 260 ก๊อดวิน (Godwin) นักคิดในกลุ่มอนาธิปไตย เห็นว่า สังคมที่ดีที่สุดควรเป็นสังคมที่ไร้รัฐและได้องค์กรใด ๆ ทั้งสิ้น และปล่อยให้แต่ละคนร่วมมือกันจากความรู้สึกเป็นเพื่อนจากความรักและจากความเข้าใจที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการบังคับ

79 สังคมที่มีคุณค่าในทัศนะของมาร์กซ์ มีลักษณะอย่างไร

(1) มีแต่ความรักและความเข้าใจ

(2) ปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม

(3) ไม่มีการขูดรีดกดขี่

(4) สามารถให้ความปลอดภัย

ตอบ 3 หน้า 259 สังคมในอุดมคติของมาร์กซ์ คือ สังคมที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีการขูดรีดกดขี่ เพราะพื้นฐานการผลิตเป็นแบบคอมมูน กล่าวคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หรือปัจจัย การผลิตเป็นของส่วนรวมเท่านั้น และรัฐเป็นสิ่งที่ไม่จําเป็นเลยสําหรับสังคม เพราะสมาชิกของสังคมสามารถปกครองดูแลตนเองและควบคุมความประพฤติของตนเองได้

80 โดยทั่วไปทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาของนักปรัชญา สัมพันธ์กับเรื่องใด

(1) ทัศนะทางอภิปรัชญา

(2) ทัศนะทางญาณวิทยา

(3) ทัศนะทางศาสนา

(4) ทัศนะทางด้านรัฐ

ตอบ 1, 2 หน้า 266 เป้าหมายของการศึกษาหรือผลที่พึงประสงค์ของการศึกษา คือ การพยายามตอบคําถามที่ว่า เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนนั้นควรเป็นอย่างไร และมีความเหมาะสม หรือไม่ โดยคําตอบของคําถามเหล่านี้จะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับทัศนะความเชื่อของนักปรัชญาทางด้านอภิปรัชญาและญาณวิทยาเป็นอย่างมาก

81 ทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาของเพลโต สัมพันธ์กับเรื่องใดมากที่สุด

(1) ทัศนะทางอภิปรัชญา

(2) ทัศนะทางญาณวิทยา

(3) ทัศนะทางศาสนา

(4) ทัศนะทางด้านรัฐ

ตอบ 4 หน้า 269 เพลโตเป็นคนแรกที่กล่าวถึงทฤษฎีการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเขาเห็นว่าการศึกษาเป็นวิธีที่จะนําไปสู่ความยุติธรรม คือการที่รัฐสามารถจัดให้คนในรัฐได้ทําหน้าที่ตา ความเหมาะสมกับความสามารถของตนเอง ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาของเพลโตจึงสอดคล้อง และสัมพันธ์กับทัศนะทางการเมืองหรือทัศนะทางด้านรัฐมากที่สุด

82 ทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาของ ST. Augustine สัมพันธ์กับเรื่องใดมากที่สุด

(1) ทัศนะทางอภิปรัชญา

(2) ทัศนะทางญาณวิทยา

(3) ทัศนะทางศาสนา

(4) ทัศนะทางด้านรัฐ

ตอบ 3 หน้า 272, 283 เป้าหมายการศึกษาของเซนต์ ออกัสติน (St. Augustine) จะสัมพันธ์กับทัศนะทางศาสนามากที่สุด กล่าวคือ เขาเห็นว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาก็คือ การกลับใจ (Conversion) ไปรักพระเจ้า และการสํานึกในบาป (Repentance) ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทําให้มนุษย์พบกับความสุขที่แท้จริงได้

83 นักปรัชญาแรก ๆ ที่ทําหน้าที่ทางการศึกษาด้านค้นคว้าองค์ความรู้คือใคร

(1) นักปรัชญายุคก่อนโซฟิสต์

(2) ยุคโซฟิสต์

(3) โซเครตีส

(4) ยุคหลังอริสโตเติล

ตอบ 1 หน้า 267 แม้นักปรัชญายุคก่อนโซฟิสต์จะไม่ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาเอาไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ถือได้ว่านักปรัชญากลุ่มนี้เป็นพวกแรกที่ทําการค้นคว้าเกี่ยวกับ องค์ความรู้นั่นคือ การค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขความเชื่อของมนุษย์ในยุคก่อนให้ดียิ่งขึ้นและมีเหตุผลยิ่งขึ้น

84 นักปรัชญากลุ่มแรกที่จัดว่าเป็นนักปรัชญาการศึกษาคือใคร

(1) นักปรัชญายุคก่อนโซฟิสต์

(2) ยุคโซฟิสต์

(3) โซเครตีส

(4) ยุคหลังอริสโตเติล

ตอบ 2 หน้า 268 โซฟิสต์ (Sophists) เป็นนักปรัชญาการศึกษากลุ่มแรกที่กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาไว้ว่า การศึกษาควรมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รับความสําเร็จในชีวิต และสามารถได้รับผลประโยชน์ตอบแทน มิใช่เป็นเพียงการถ่ายทอดวัฒนธรรมเท่านั้นโดยวิชาที่กลุ่มโซฟิสต์ส่งเสริมให้เรียน ก็คือ ศิลปะการพูดในที่ชุมชนหรือวาทศิลป์

85 นักปรัชญาคนใดที่ไม่ศึกษา การรู้ความจริงเป็นหัวใจของการศึกษา

(1) นักปรัชญายุคก่อนโฟิสต์

(2) ยุคโซฟิสต์

(3) โซเครตีส

(4) ยุคหลังอริสโตเติล

ตอบ 3 หน้า 268 269 โซเครตีส (Socrates) มีทัศนะว่า การศึกษามิใช่กระบวนการที่มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์และความสําเร็จเฉพาะตนเท่านั้น แต่การศึกษา ต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อการค้นพบสัจธรรมหรือความจริงเกี่ยวกับคุณธรรม โดยวิธีการศึกษาที่จะนำไปสู่การค้นพบดังกล่าวได้ก็คือ การสนทนาถกเถียง และการซักถาม

86 นักปรัชญาคนดที่ยึดหลักการว่า เป้าหมายของการศึกษาคือคุณธรรม

(1) นักปรัชญายุคก่อนโซฟิสต์

(2) ยุคโซฟิสต์

(3) โซเครตีส

(4) ยุคหลังอริสโตเติล

ตอบ 3 ดูค่าอธิบายข้อ 85 ประกอบ

87 ข้อใดเป็นวิธีการศึกษาในระดับเริ่มแรกตามแนวคิดของรุสโซ

(1) การเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง

(2) การใช้การสนทนาถกเถียงเพื่อขจัดความสับสนทางความคิด

(3) การมีศรัทธาอย่างสุดจิตใจ

(4) การใช้เหตุผลพิสูจน์ความศรัทธา

ตอบ 1 หน้า 275 รุสโซ เห็นว่า การศึกษาในขั้นเริ่มแรกสําหรับเด็กเล็ก ๆ คือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีประสบการณ์เป็นของตัวเอง หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง มิใช่การเรียนรู้โดยการอ่านหนังสือ ยกเว้นหนังสืออย่างเรื่องการผจญภัยของโรบินสัน ครูโซ ซึ่งเป็นหนังสือที่เน้นถึงประสบการณ์และการแก้ปัญหาด้วยตัวเองของโรบินสัน ครูโซ

88 ข้อใดเป็นวิธีการศึกษา ในระดับก้าวหน้าของ ST. Augustine

(1) การใช้ประสบการณ์ตรงทําความรู้จักสิ่งแวดล้อม

(2) การใช้การสนทนาถกเถียงเพื่อขจัดความสับสนทางความคิด

(3) การมีศรัทธาอย่างสุดจิตใจ

(4) การใช้เหตุผลพิสูจน์ความศรัทธา

ตอบ 4 หน้า 273 เซนต์ ออกัสติน ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระดับ คือ

1 ระดับเริ่มแรก ซึ่งเป็นการศึกษาที่อ่านจากคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นหลัก มีลักษณะเข้มงวดและบังคับให้เชื่อโดยยังไม่ใช้เหตุผล

2 ระดับก้าวหน้า ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีลักษณะของการใช้เหตุผลและพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตนเองว่าทําไมความเชื่อและศรัทธาในขั้นเริ่มแรกจึงถูกต้อง

89 ข้อใดคือหลักการจัดการศึกษาของเพลโต

(1) จัดให้ลูกคนมีฐานะเท่านั้น

(2) จัดให้เฉพาะลูกผู้ดีมีตระกูล

(3) จัดให้กับลูกกรรมกรเท่านั้น

(4) จัดให้กับคนทุกคนอย่างทั่วถึง

ตอบ 4 หน้า 270, (คําบรรยาย) เพลโต (Plato) เห็นว่า การศึกษามีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมด้วยการปฏิรูปคนและการปฏิรูปรัฐ โดยรัฐต้องจัดการศึกษาแบบทั่วถึง กล่าวคือ เป็นการศึกษาที่สามารถให้กับทุกคนในสังคมและเป็นการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ เด็กทุกคนมีโอกาสศึกษาเพื่อทดสอบความสามารถของตนเอง ก่อนที่เขาจะไปปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสมของตนให้กับรัฐและสังคม

90 คนที่เป็นผู้ปกครองควรเรียนวิชาใดจนสําเร็จ ในทัศนะของเพลโต

(1) วิชาเศรษฐศาสตร์

(2) วิชาทหาร

(3) วิชาพลศึกษา

(4) วิชาอภิปรัชญา

ตอบ 4 หน้า 246, 270 บุคคลที่เหมาะสมที่สุดและดีที่สุดสําหรับการเป็นผู้ปกครองในทัศนะของเพลโตคือ ราชาปราชญ์ ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ควรจะเรียนวิชาอภิปรัชญาจนสําเร็จ

91 หากจําเป็นต้องอ่านหนังสือ ควรอ่านเรื่องอะไรในทัศนะของรุสโซ

(1) อ่านเรื่องการผจญภัยของโรบินสัน ครูโซ

(2) อ่านคัมภีร์ไบเบิล

(3) เรียนพลศึกษา

(4) เรียนอภิปรัชญา

ตอบ 1 หน้า 275 รุสโซ เห็นว่า การศึกษาในขั้นเริ่มแรกสําหรับเด็กก็คือ การเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์หรือได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง มิใช่การเรียนรู้โดยการอ่านหนังสือ ยกเว้นการอ่านหนังสือเรื่องการผจญภัยของโรบินสัน ครูโซ ซึ่งเป็นหนังสือที่เน้นถึงประสบการณ์และการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

92 สิ่งที่แสดงความสําเร็จของการศึกษาในทัศนะของรุสโซ คืออะไร

(1) การเป็นตัวของตัวเอง

(2) การรู้จักแก้ปัญหา

(3) การมีคุณธรรมทางสังคม

(4) การเข้าใจอุดมการณ์ของรัฐ

ตอบ 3 หน้า 275 276 การศึกษาในขั้นสุดท้ายหรือระดับก้าวหน้าของรุสโซ คือ การพัฒนาตัวเองของผู้เรียนให้รู้จักหน้าที่ของตนต่อบุคคลอื่น ๆ และจะทิ้งความเป็นปัจเจกบุคคลให้หมดสิ้นไป เหลือแต่สังคมซึ่งเป็นองค์กรรวมหรือเป็นสิ่งทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การมีคุณธรรมทางสังคม

93 สิ่งที่แสดงความสําเร็จของการศึกษาในทัศนะของลัทธิปฏิบัตินิยม คืออะไร

(1) การเป็นตัวของตัวเอง

(2) การรู้จักแก้ปัญหา

(3) การมีคุณธรรมทางสังคม

(4) การเข้าใจอุดมการณ์ของรัฐ

ตอบ 2 หน้า 277 – 278 ลัทธิปฏิบัตินิยม เป็นปรัชญาที่ยึดถือในประสิทธิภาพทางการปฏิบัติหรือผลทางการปฏิบัติเป็นมาตรฐานสําหรับวัดความถูกต้อง ซึ่งมีเป้าหมายของการศึกษา คือ การสร้างให้ผู้เรียนเป็นผู้พร้อมจะแก้ปัญหาของตนด้วยตนเอง ดังนั้นในการศึกษาจะต้องมีการทดลองปฏิบัติ มิใช่มุ่งที่การเรียนรู้ทางทฤษฎีเท่านั้น

94 ผู้ที่มีความเห็นว่าคนขาพิการ แต่อยากเป็นนักฟุตบอลเป็นคนไม่มีเสรีภาพเพราะเหตุใด

(1) เพราะไม่มีวันสมปรารถนาเนื่องจากไม่มีขา

(2) เพราะเป็นแค่การจินตนาการและความเพ้อเจ้อ

(3) เพราะไม่สามารถเลือกอย่างอื่นได้

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 317 เสรีภาพ หมายถึง การไม่มีอุปสรรคกีดขวางความปรารถนาของบุคคล โดยนักคิดหลายคนเห็นว่าสิ่งสุดวิสัยตามธรรมชาติก็จัดว่าเป็นอุปสรรคของเสรีภาพเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งสุดวิสัยเหล่านี้ทําให้บุคคลไม่มีวันสมหวังในสิ่งที่เขาปรารถนาอย่างแน่นอน เช่น บุคคลไม่สามารถบินได้อย่างนกหรือว่ายน้ำได้อย่างปลาเพราะมนุษย์ไม่ใช่นกและปลา เป็นต้น

95 ถ้าไม่มีการควบคุมการใช้เสรีภาพ จะเกิดสิ่งใดขึ้น

(1) คนน้อยคนที่ไม่มีเสรีภาพ

(2) คนน้อยคนที่มีเสรีภาพ

(3) คนทุกคนอาจไม่มีเสรีภาพในที่สุด

(4) คนทุกคนมีเสรีภาพเท่ากัน

ตอบ 2 หน้า 320 321 การใช้เสรีภาพอย่างไร้ขอบเขตจะทําให้เกิดการใช้เสรีภาพรุกรานและทําร้ายซึ่งกันและกัน และเมื่อนั้นเสรีภาพก็จะกลายเป็นเรื่องของผู้ที่แข็งแรงหรือผู้ที่มีอํานาจมากกว่า ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคม ในขณะที่คนอ่อนแอหรือผู้ที่มีอํานาจน้อยกว่าซึ่งเป็นคนส่วนมากในสังคมก็จะกลายเป็นผู้ไร้เสรีภาพใด ๆ ทั้งสิ้น

96 เหตุใดจึงสมควรสนับสนุนเสรีภาพ

(1) ความสมปรารถนาทําให้คนมีความสุข

(2) การรู้จักตัดสินใจด้วยตนเองทําให้มีการพัฒนาตน

(3) ทําให้คนกล้าทําจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้น

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 316, 319 320 การมีเสรีภาพนั้นจะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ใช้เสรีภาพ เช่น ทําให้คนมีโอกาสที่จะสมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนาซึ่งจะทําให้บุคคลนั้นรู้สึกมีความสุขไปด้วย ทําให้คนรู้จักตัดสินใจด้วยตนเองและมีการพัฒนาตน, ทําให้คนกล้าคิดกล้าทํามากขึ้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้น เป็นต้น

97 ตามหลักการควบคุมเสรีภาพด้วยความหวังดี เปรียบรัฐกับบทบาทใด (1) บิดา – มารดา

(2) ครูบาอาจารย์

(3) พระในศาสนา

(4) กรมประชาสงเคราะห์

ตอบ 1 หน้า 325 – 327 หลักการควบคุมการใช้เสรีภาพของบุคคลเพื่อป้องกันผลร้ายต่อตัวเองหรือหลักการควบคุมเสรีภาพด้วยความหวังดีนั้น เปรียบได้กับความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร ซึ่งหลักการนี้จะสนับสนุนให้รัฐทําหน้าที่ดุจบิดามารดา โดยเข้าไปควบคุมการใช้ เสรีภาพของบุคคลในบางกรณีเพื่อป้องกันมิให้บุคคลกระทําในสิ่งที่อาจเกิดผลร้ายต่อตนเอง

98 คุณลักษณะของมนุษย์ตามหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ตามความเหมาะสม คืออะไร

(1) ความรู้กับความดี

(2) ทักษะกับความพยายาม

(3) ความพยายามกับแรงงาน

(4) ความสามารถกับความดี

ตอบ 4 หน้า 334 335 หลักการแบ่งปันผลประโยชน์ตามความเหมาะสมของบุคคลนั้นจะพิจารณาจากลักษณะของบุคคล 2 ประการดังนี้

1 ความสามารถ เป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ตามความสามารถของแต่ละคน ซึ่งความสามารถบางอย่างเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กําเนิด ไม่มีโอกาสที่จะเลือกได้ หรือไม่สามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาเองได้

2 คุณธรรม เป็นการเบ่งปันผลประโยชน์ที่ยุติธรรมตามความดีของบุคคล

99 หลักการใดถือว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน

(1) หลักการแบ่งปันแบบเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์

(2) หลักการแบ่งปันตามความเหมาะสม

(3) หลักการแบ่งปันตามแรงงาน

(4) หลักการแบ่งปันตามความพากเพียร

ตอบ 1 หน้า 332 – 334 หลักการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ เห็นว่า มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันคือการเป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นการแบ่งปันผลประโยชน์จึงจะต้องแบ่ง ให้กับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องคํานึงถึงความสามารถ อายุ เพศ ความมานะ พยายามหรือความเหมาะสมใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหลักการนี้ย่อมไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่สร้างความร่ำรวยให้กับสังคม เพราะในที่สุดความร่ำรวยที่เขาสร้างขึ้นก็จะถูกฉกไปแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ

100 หลักการใดไม่ยุติธรรมกับคนขยัน

(1) หลักการแบ่งปันแบบเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์

(2) หลักการแบ่งปันตามความเหมาะสม

(3) หลักการแบ่งปันตามแรงงาน

(4) หลักการแบ่งปันตามความพากเพียร

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 99 ประกอบ

Advertisement