LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1

(ก)   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  905  “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง  ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม  ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย”  อยากทราบว่าการสลักหลังไม่ขาดสายนั้นมีลักษณะอย่างไร

(ข)  จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินจำนวน  500,000  บาท  ระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า  ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น ต่อมาพุธได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าการโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้น  ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

(ก)    อธิบาย

ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  905  คำว่า  “การสลักหลังไม่ขาดสาย”  หมายถึง  การสลักหลังโอนตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ  โดยมีการโอนติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน  กล่าวคือ  เป็นการโอนตั๋วเงินที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  และมาตรา  920  นั่นเอง

ตัวอย่างการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย

หนึ่งได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินแก่สาม  ต่อมาสามได้สลักหลังและส่งมอบให้สี่  และสี่ได้สลักหลังและส่งมอบให้ห้า  ดังนี้  เมื่อตั๋วเงินได้มาอยู่ในความครอบครองของห้า  ห้าย่อมเป็นผู้ทรงในฐานะผู้รับสลักหลัง  และเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เพราะห้าได้ตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย

และตามตัวอย่างข้างต้น  หากการที่สามสลักหลังโอนให้สี่นั้น  เป็นการสลักหลังลอย  (เป็นการสลักหลังที่ไม่มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง)  และสี่ได้ส่งมอบตั๋วเงินต่อให้ห้า  ดังนี้  ก็ถือว่าห้าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน  และให้ถือว่าห้าได้ตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังลอยของสาม

หมายเหตุ  บุคคลที่ได้ตั๋วเงินมาจากการสลักหลังลอยนั้น  มีสิทธิโอนตั๋วเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ  หรืออาจจะส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้  (ตามมาตรา  920)  แต่ถ้าได้ตั๋วมาจากการสลักหลังเฉพาะ  (มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง)  หากโอนตั๋วด้วยการส่งมอบ  จะทำให้การสลักหลังขาดสายทันที  เพราะ ป.พ.พ. มาตรา  917  วรรคแรก  นั้น  กำหนดให้โอนกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  917  วรรคแรก  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม  ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา  918  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา  919  คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ  และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์  แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ  ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน  การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า  สลักหลังลอย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  การที่จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินโดยระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงิน  และได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า  ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ย่อมเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ  ดังนั้น  การโอนต่อไปจึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา  917  วรรคแรก  และมาตรา  919  คือ  สลักหลังและส่งมอบ  จะโอนตั๋วแลกเงินโดยการส่งมอบให้แก่กันเพียงอย่างเดียวเท่านั้นตามมาตรา  918  ไม่ได้ เพราะกรณีมิใช่ตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ

และสำหรับการที่ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น  ถือเป็นการโอนตั๋วแลกเงินโดยการสลักหลังเฉพาะตามมาตรา  917  วรรคแรก  ซึ่งการโอนต่อไปจะต้องสลักหลังและส่งมอบเช่นเดียวกันตามมาตรา  917  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าต่อมาพุธเพียงแต่ส่งมอบตั๋วแลกเงินชำระหนี้ให้แก่พฤหัสเท่านั้น  หาได้มีการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยไม่  ทั้งกรณีก็ไม่ใช่การโอนตั๋วแลกเงินต่อจากผู้สลักหลังลอยแต่อย่างใด  ดังนั้น  การโอนตั๋วแลกเงินจากพุธไปยังพฤหัสจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

สรุป  การโอนตั๋วแลกเงินจากทองไทยไปยังพุธเป็นการโอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย  แต่การโอนตั๋วแลกเงินจากพุธไปยังพฤหัสเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)   การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้นจะต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย  และใครบ้างที่อาวัลตั๋วแลกเงินได้

(ข)  บางเขนเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีบางบัวทองเป็นผู้จ่าย  บางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  บางเขนจะสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้หลักสี่  แต่หลักสี่ให้บางเขนนำตั๋วไปให้บางบัวทองรับรองก่อน  บางเขนจึงเอาตั๋วไปให้บางบัวทองเขียนข้อความว่า  “ยินดีเป็นประกันผู้สั่งจ่าย”  และลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าของตั๋ว  หลักสี่จึงยอมรับชำระหนี้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วจากบางเขน  เมื่อถึงกำหนดใช้เงินหลักสี่ได้นำตั๋วไปให้บางบัวทองใช้เงินแต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเห็นว่าตนได้ชำระหนี้บางขวางผู้สั่งจ่ายไปแล้ว  อนึ่งหลักสี่ได้ทำคำคัดค้านไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าหลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

(ก)    อธิบาย

“การอาวัลตั๋วแลกเงิน”  (การค้ำประกันหรือรับประกันการใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน)  นั้น  จะถือว่าเป็นการรับอาวัลที่ถูกต้องตามกฎหมาย  จะต้องปฏิบัติตามที่  ป.พ.พ. มาตรา  939  ได้บัญญัติไว้  กล่าวคือ  จะต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้  คือ

1       เขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อด้วยถ้อยคำสำนวนว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกัน  และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล  ซึ่งอาจจะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วแลกเงินก็ได้

2       ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  โดยไม่ต้องเขียนข้อความใดๆลงไว้ก็ได้  ก็ถือว่าเป็นการรับอาวัลแล้ว  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

สำหรับบุคคลที่สามารถเข้ามารับอาวัลตั๋วแลกเงินได้นั้น  อาจจะเป็นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งหรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วแลกเงินนั้นคนใดคนหนึ่งก็ได้  (ป.พ.พ. มาตรา 938  วรรคสอง)

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  938  ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ซึ่งท่านเรียกว่า  “อาวัล”

อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ  หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้

มาตรา  939  อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง  หรือที่ใบประจำต่อ  ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้นและลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง  เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว  เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด  หากมิได้ระบุ  ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  วรรคแรก  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

ตามกฎหมาย  ในกรณีที่มีการรับอาวัลผู้เป็นคู่สัญญาตามตั๋วแลกเงิน  ผู้รับอาวัลจะต้องเขียนข้อความว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน  และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงิน  หรือผู้รับอาวัลอาจจะลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินก็ได้  และบุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลจะเป็นบุคคลภายนอกหรือคู่สัญญาเดิมในตั๋วแลกเงินก็ได้  (มาตรา 938  และมาตรา  939)

กรณีตามอุทาหรณ์  หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่  เห็นว่า  ตั๋วแลกเงินที่บางขวางออกให้แก่บางเขนนั้น  เมื่อได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  จึงเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชิ่  และเมื่อบางเขนได้เอาตั๋วไปให้บางบัวทองผู้จ่ายเขียนข้อความว่า  “ยินดีเป็นประกันผู้สั่งจ่าย”  ซึ่งถือเป็นข้อความที่มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  และลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าของตั๋ว  จึงถือเป็นการอาวัลแล้ว  และเป็นการอาวัลบางขวางผู้สั่งจ่ายตามมาตรา  938  และมาตรา  939

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน  หลักสี่ได้นำตั๋วไปให้บางบัวทองใช้เงินแต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเห็นว่าตนได้ชำระหนี้บางขวางผู้สั่งจ่ายไปแล้ว  ดังนั้น  หลักสี่ผู้ทรงจึงสามารถฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ในฐานะผู้รับอาวัลบางขวางผู้สั่งจ่ายตามมาตรา  900  วรรคแรก  และมาตรา  940  วรรคแรก

สรุป  หลักสี่ผู้ทรงฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ในฐานะผู้รับอาวัล

 

ข้อ  3 

(ก)   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารผู้จ่าย  จ่ายเงินตามเช็คไว้อย่างไรบ้าง

(ข)  ห้วยยอดมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง  สั่งจ่ายเช็คระบุชื่อสิเกาเป็นผู้รับเงินแต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  ซึ่งเป็นเช็คของธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ต  ระบุจำนวนเงินลงไว้ในเช็ค  500,000  บาท  ลงวันที่  10  สิงหาคม  2553  มอบให้กับสิเกาเพื่อชำระหนี้  ต่อมาสิเกาสลักหลังลอยแล้วมอบเช็คชำระหนี้ให้แก่บินหลา  บินหลานำเช็คนั้นไปส่งมอบให้แก่หัวไทรที่มีภูมิลำเนาที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อชำระหนี้  วันที่  10  ธันวาคม  2553  หัวไทรนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ต  แต่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเงินในบัญชีของห้วยยอดมีไม่พอจ่าย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าบุคคลใดต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทรเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)     อธิบาย

ตามกฎหมาย  การนำเช็คไปยื่นให้ธนาคารผู้จ่ายใช้เงินตามเช็คนั้น  ผู้ทรงเช็คจะต้องนำไปยื่นในวันที่เช็คถึงกำหนดซึ่งก็คือ  วันออกเช็คอันเป็นวันที่ผู้สั่งจ่ายระบุลงไว้ในเช็คนั่นเอง  หรืออย่างช้าต้องนำไปยื่นภายในกำหนดเวลาตามหลักเกณฑ์ที่ 

ป.พ.พ. มาตรา  990  ได้กำหนดไว้  ดังนี้คือ

1       ถ้าเป็นเช็คที่ออกให้ใช้เงินในเมือง  (จังหวัด)  เดียวกับที่ออกเช็ค  ผู้ทรงต้องยื่นเช็คต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้ใช้เงินภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันที่เช็คออก

2       ถ้าเป็นเช็คที่ออกให้ใช้เงินที่อื่น  (ในจังหวัดอื่น)  ผู้ทรงต้องยื่นเช็คต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้ใช้เงินภายในกำหนด  3  เดือน  นับแต่วันที่ออกเช็ค

ในกรณีที่ผู้ทรงไม่ยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ผู้ทรงย่อมได้รับผลดังนี้  คือ

1       ผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลังทั้งปวง  (โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้สลักหลังเหล่านั้นจะได้รับความเสียหายหรือไม่)

2       ผู้ทรงย่อมเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเท่าที่ผู้สั่งจ่ายได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด  เพราะการที่ผู้ทรงละเลยไม่ยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนดเวลานั้น

และตาม  ป.พ.พ. มาตรา  991(2)  ยังได้วางหลักไว้อีกว่า  ผู้ทรงจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารจ่ายเงินภายใน  6  เดือนนับแต่วันออกเช็ค  (วันที่ลงเช็ค) ด้วย  หากยื่นเช็คเกินกว่านั้น  ธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910  914  ถึง  923  925  926  938  ถึง 940  945  946  959  967  971

มาตรา  990  วรรคแรก  ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น  ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน  ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง  ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วย  เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  บุคคลใดต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทร  เห็นว่า  การที่ห้วยยอดมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรังได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ตเพื่อใช้เงินตามเช็คนั้น  เช็คดังกล่าวจึงเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น  (จังหวัดอื่น)  ดังนั้น ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คให้ธนาคารผู้ใช้เงินตามเช็คใช้เงินภายในกำหนด  3  เดือน  นับแต่วันที่  10  สิงหาคม  2553  ซึ่งเป็นวันที่ออกเช็ค (วันที่ลงในเช็ค)  ตามมาตรา  990  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าหัวไทรผู้ทรงเช็คนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ตในวันที่  10  ธันวาคม  2553  ซึ่งพ้นกำหนด  3  เดือน  นับแต่วันที่ออกเช็คแล้ว  ดังนั้น  เมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเงินในบัญชีของห้วยยอดมีไม่พอจ่าย  หัวไทรผู้ทรงเช็คย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อเช็คดังกล่าวเป็นเช็คผู้ถือ  เนื่องจากมิได้มีการขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือออก”  การที่สิเกาสลักหลังลอยแล้วมอบเช็คชำระหนี้ให้แก่บินหลานั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย  ตามมาตรา  921  สิเกาจึงต้องรับผิดในเช็คฉบับนี้ในฐานะเป็นผู้รับอาวัลห้วยยอดผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  900  921  940  วรรคแรก  และมาตรา  989)  ส่วนบินหลา  เมื่อไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คจึงไม่ต้องรับผิดต่อหัวไทร  (มาตรา  900)

และในกรณีของห้วยยอดผู้สั่งจ่ายนั้น  เมื่อมิได้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ห้วยยอด  เพราะการที่หัวไทรละเลยไม่ยื่นเช็คนั้น  ห้วยยอดผู้สั่งจ่ายจึงยังคงต้องรับผิดต่อหัวไทรในฐานะผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  900  914  989  และมาตรา  990)

สรุป  สิเกาต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทรในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย  และห้วยยอดยังคงต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทรในฐานะผู้สั่งจ่าย  ส่วนบินหลาไม่ต้องรับผิดต่อหัวไทรเพราะมิได้ลงลายมือชื่อในเช็ค

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  การรับรองและการอาวัลตั๋วแลกเงินจะต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย  อนึ่ง  ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินจะอาวัลตั๋วได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

การรับรองตั๋วแลกเงิน  คือ  การที่ผู้จ่าย  ได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ทรง  (หรือผู้รับเงิน)  ตามจำนวนเงินที่ได้ให้คำรับรองไว้

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงิน  ที่ถูกต้องตามกำหมายนั้น  ผู้จ่ายจะต้องปฏิบัติตามแบบหรือวิธีการรับรองตามที่บัญญัติไว้ใน  ป.พ.พ. มาตรา  931  ดังนี้  คือ

1  ให้ผู้จ่ายเขียนข้อความว่า  “รับรองแล้ว”  หรือข้อความอื่นทำนองเดียวกันนั้น  และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  โดยอาจจะลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้  หรือ

2  ผู้จ่ายลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน  โดยไม่เขียนข้อความดังกล่าวไว้เลยก็ได้  กฎหมายก็ให้จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว

อนึ่ง  ถ้าผู้จ่ายได้ทำการรับรองโดยการลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินนั้น  ย่อมเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด  จึงไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผลนั่นเอง

การอาวัลตั๋วแลกเงิน  คือ  การค้ำประกันหรือรับประกันการใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน  ซึ่งอาจจะเป็นการค้ำประกันทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และบุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลคู่สัญญาในตั๋วแลกเงินนั้น  อาจจะเป็นบุคคลภายนอก  หรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วแลกเงินนั้นก็ได้  (ป.พ.พ. มาตรา  938)  ดังนั้นผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินจึงสามารถเข้ามารับอาวัลผู้เป็นคู่สัญญาคนอื่นๆในตั๋วแลกเงินนั้นได้

สำหรับวิธีการอาวัลตั๋วแลกเงิน  ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น  ป.พ.พ  มาตรา  939  ได้กำหนดแบบหรือวิธีการอาวัลไว้ดังนี้  คือ

1       บุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลคู่สัญญาในตั๋วเงิน  ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลภายนอกหรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วเงินนั้น (มาตรา 938)  จะต้องเขียนข้อความว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน  เช่น  “รับประกัน”  หรือ  “ค้ำประกัน”  และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วเงิน  (หรือในใบประจำต่อ)  ทั้งนี้ต้องระบุไว้ด้วยว่ารับอาวัลให้แก่ผู้ใด  หากไม่ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลแก่ผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  939  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสี่)  หรือ

2        เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วเงินนั้น กฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลแล้ว  (เป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย)    เว้นแต่กรณีที่เป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายเท่านั้นที่จะลงแต่ลายมือชื่อเพียงอย่างเดียวไม่ได้  ถ้าจะเข้ารับอาวัลผู้ใดจะต้องเขียนข้อความ  และลงลายมือชื่อของตนตามวิธีที่  1  เสมอ (มาตรา  939 วรรคสาม)

อนึ่ง  ในกรณีที่มีการสลักหลังตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ  กฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย  และต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย (มาตรา 921 และ 940 วรรคแรก)

 

ข้อ  2 

(ก)    กรณีที่มีบุคคลนำเช็คขีดคร่อมไปให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมให้นั้น  ธนาคารผู้จ่ายจะต้องกระทำการอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการจ่ายเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย

(ข)   ปทุมวันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คผู้ถือธนาคารกรุงสยาม  พร้อมทั้งทำการขีดคร่อมทั่วไปไว้ที่ด้านหน้าเช็ค  แล้วมอบให้แก่สาทรเพื่อชำระราคาสินค้า  หลังจากนั้นสาทรได้ทำเช็คฉบับดังกล่าวหล่นหายโดยไม่รู้ตัว  วัฒนาเก็บได้  แล้วนำไปให้ธนาคารนครไทยเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของวัฒนาแล้วถอนเงินจากบัญชีไปใช้ทั้งหมด  ต่อมาสาทรพึ่งทราบว่าเช็คของตนหล่นหาย  จึงมาเรียกให้ปทุมวันชำระหนี้ตามเช็ค  หรือชำระหนี้ราคาสินค้าให้แก่ตน  ดังนี้  ปทุมวันจะต้องชำระหนี้ตามที่สาทรเรียกมาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)     อธิบาย

กรณีที่มีบุคคลนำเช็คขีดคร่อมไปให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมให้นั้น  การที่ธนาคารผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมนั้นไป  จะถือว่าเป็นการจ่ายเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย  ธนาคารผู้จ่ายจะต้องได้จ่ายเงินไปโดยถูกต้องตามวิธีการหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ดังนี้  คือ

1        กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมทั่วไป

ธนาคารผู้จ่ายเงินต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็คนั้น  จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างเช่นเช็คธรรมดาที่มิได้ขีดคร่อมมิได้ (มาตรา 994 วรรคแรก)

2        กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะ

ธนาคารผู้จ่ายเงินต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ถูกระบุชื่อไว้โดยเฉพาะ  จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างเช่นเช็คธรรมดาหรือจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นนอกจากที่ระบุไว้มิได้  (มาตรา 994 วรรคท้าย)

3        กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารมากกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป

ธนาคารผู้จ่ายเงินต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งจะอยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเพื่อเรียกเก็บเงิน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายเงินให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ (มาตรา 997 วรรคแรก)

 อนึ่ง  ธนาคารผู้จ่ายหากได้จ่ายเงินไปภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ  ทั้งได้จ่ายเงินไปตามทางการค้าปกติ (ในระหว่างวันและเวลาที่เปิดทำการตามนัย มาตรา 1009)  กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น  (ปกติได้แก่ผู้ทรงเดิม) และชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายนั้นได้ (มาตรา 998)

ตรงกันข้าม  หากธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คขีดคร่อมเป็นอย่างอื่น  เช่น  ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คแทนที่จะโอนเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ทรงเช็ค  หรือใช้เงินสดให้แก่พนักงานธนาคารอื่นผู้ยื่นเช็ค  หรือใช้เงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อไว้โดยเฉพาะ  หรือมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินกรณีที่มีการขีดคร่อมเฉพาะเกินกว่า 1 ธนาคาร  หรือใช้เงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามหลักเกณฑ์ (1)(2) และ (3)  ดังกล่าวข้างต้น  กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายยังจะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาต้องเสียหายจากการที่มิได้ใช้ประโยชน์จากเช็คขีดคร่อมนั้น (มาตรา 997 วรรคสองตอนท้าย)  อีกทั้งไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่าย  เพราะถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ (มาตรา 1009)

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  998  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง  ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ  หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง  กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว  ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน  และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา 321 วรรคสาม  ถ้าชำระหนี้ด้วย ออก – ด้วยโอน – หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงิน  หรือประทวนสินค้าท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ถือว่าเช็คผู้ถือเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปที่ตกไปถึงมือผู้รับเงิน  คือ  สาทรแล้ว  และการที่เช็คหล่นหายวัฒนาเก็บได้แล้วนำไปให้ธนาคารนครไทยเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของวัฒนา  และวัฒนาได้ถอนเงินจากบัญชีไปใช้นั้น  ก็มิได้มีเหตุบ่งชี้ว่า  ธนาคารกรุงสยามซึ่งเป็นธนาคารผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด  ดังนั้นจึงถือว่าธนาคารกรุงสยามได้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวไปโดยชอบด้วยกฎหมาย  และให้ถือเสมือนว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่เจ้าของที่แท้จริงคือสาทรแล้วตามมาตรา  998  ซึ่งมีผลทำให้มูลหนี้ระหว่างปทุมวันกับสาทรระงับลง  ทั้งมูลหนี้ตามเช็คและมูลหนี้เดิมคือหนี้ค่าราคาสินค้าตามมาตรา  321 วรรคสาม  ดังนั้นเมื่อสาทรมาเรียกให้ปทุมวันชำระหนี้ตามเช็ค  หรือชำระหนี้ค่าราคาสินค้าให้แก่ตน  ปทุมวันจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามที่สาทรเรียกมาแต่อย่างใด

สรุป  ปทุมวันไม่ต้องชำระหนี้ตามที่สาทรเรียกมาทั้งมูลหนี้ตามเช็ค และมูลหนี้ค่าราคาสินค้า 

 

ข้อ  3 

(ก)    การที่ผู้ทรงเช็คนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายเงินหรือให้ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินเกิน  6  เดือน  นับแต่วันเดือนปีที่ออกเช็ค  จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไรกับผู้ทรงเช็ค

(ข)   จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายธนาคารสินไทย  จำนวน  50,000  บาท  ชำระหนี้อังคารหรือผู้ถือ  อังคารสลักหลังขายลดเช็คให้แก่พุธ  ซึ่งรับซื้อลดเช็คนั้นไว้ในราคา  45,000  บาท  แต่ได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินเกินกว่า  6  เดือนนับแต่วันออกเช็คเป็นผลให้ธนาคารกรุงทองไม่รับและคืนเช็คให้แก่พุธ  ต่อมาพุธได้นำเช็คนั้นคืนให้แก่อังคาร  อังคารได้คืนเงินให้แก่พุธ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าอังคารจะบังคับไล่เบี้ยจันทร์ให้รับผิดในมูลหนี้เช็คดังกล่าวได้เพียงใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก)    อธิบาย 

การที่ผู้ทรงเช็คนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายจ่ายเงิน  หรือให้ธนาคารผู้เรียกเก็บเกิน 6 เดือน นับแต่วันเดือนปีที่ออกเช็ค (ที่ลงในเช็ค) จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายกับผู้ทรงเช็ค ดังนี้คือ

1  ธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) มีสิทธิใช้ดุลพินิจปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นได้ ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 991(2)  และธนาคารผู้เรียกเก็บ (Collecting Bank)  ก็จะปฏิเสธเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นให้แก่ผู้ทรงเช็ค

2       ผู้ทรงเช็คย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังเช็ค  ทั้งเสียสิทธิไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายเช็คด้วย  เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้นภายในกำหนด 1 เดือน  (ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน)  หรือ 3 เดือน (ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น)  แล้วแต่กรณี ตามนับ ป.พ.พ. มาตรา 990 วรรคแรก

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  959  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้  คือ

(ก)    ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  …..  959  ……

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ผู้ทรงเช็คจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และบุคคลผู้เป็นคู่สัญญาคนอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามเช็คนั้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารผู้จ่ายจ่ายเงินตามเช็คโดยชอบแล้ว  แต่ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นตามมาตรา  959(ก)  ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก

แต่กรณีตามอุทาหรณ์  ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าได้มีการนำเช็คดังกล่าวนั้นไปยื่นให้ธนาคารสินไทยจ่ายเงินตามเช็คและธนาคารสินไทยได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว  ดังนั้นอังคารจึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จันทร์ผู้สั่งจ่ายได้แต่อย่างใด

สรุป  อังคารจะบังคับไล่เบี้ยจันทร์ให้รับผิดในมูลหนี้เช็คดังกล่าวไม่ได้

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย สอบซ่อม 1/2548

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  สมชายมีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง  เขาจึงได้นำไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทประกันภัยจำกัดจำนวนเงินที่เอาประกัน  5  แสนบาท  สัญญากำหนด  1  ปี  ระหว่างอายุสัญญา  สมชายกับสมศรีภริยาได้ขับรถไปเที่ยวชายทะเลหัวหิน  ระหว่างขับรถกลับกรุงเทพฯ  ทั้งคู่มีปากเสียงทะเลาะกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้สมชายขับรถไปชนท้ายของสมศักดิ์ซึ่งวิ่งอยู่ข้างหน้า  รถของสมชายได้รับความเสียหาย  2 แสนบาท  ส่วนรถของสมศักดิ์เสียหาย  8  หมื่นบาท  และสมศรีได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล  เสียค่าใช้จ่ายไป  5  หมื่นบาท  

สมชายถูกตำรวจจับฐานขับรถโดยประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย  และถูกปรับไป  2  พันบาท  สมชายจึงไปเรียกให้บริษัทชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  กรณีรถเสียหายและที่สมศรีได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น  2 แสนห้าหมื่นบาท  ส่วนสมศักดิ์ก็เรียกให้บริษัทชดใช้ให้ด้วยในความเสียหายที่เกิดขึ้น  8  หมื่นบาท  เพราะคิดว่าสมชายได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้

จงวินิจฉัยว่า  บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ใคร  เป็นจำนวนเงินเท่าไร  และในกรณีใดบ้างอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  869  อันคำว่า  วินาศภัย  ในหมวดนี้  ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆบรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

อันจำนวนวินาศจริงนั้น  ท่านให้ตีราคา  ณ  สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น  อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันไว้นั้น  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  887  วรรคแรก  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น  คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ 

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่าใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

สมชายทำประกันวินาศภัยในรถยนต์ของตนเอาไว้  ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกัน  สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา  863

กรณีที่รถของสมชายเสียหายคิดเป็นเงิน  2  แสนบาทนั้น  บริษัทผู้รับประกันวินาศภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  869 ประกอบมาตรา  877  คือจ่ายตามความเสียหายจริง  แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ประกันเอาไว้

ส่วนกรณีความเสียหายที่เกิดกับรถของสมศักดิ์  รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลของสมศรีนั้น  บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด  เพราะไม่ได้มีการทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้ตามมาตรา  887  และสมชายต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวด้วยตนเองในความรับผิดฐานละเมิด  ซึ่งสมศักดิ์สามารถเรียกจากสมชายได้ตามมาตรา  420 แต่สมศักดิ์ไม่สามารถเรียกจากบริษัทได้  เพราะไม่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทตามสัญญาประกันวินาศภัย  จะเรียกได้ก็เฉพาะมีการทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้ตามมาตรา  887  เท่านั้น

สรุป  บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถของสมชายเสียหาย  เป็นจำนวน  2  แสนบาท  ส่วนกรณีรถของสมศักดิ์เสียหายและค่ารักษาพยาบาลของสมศรี  บริษัทไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

ข้อ  2  นายสมพงษ์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทผู้รับประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง  โดยคุมครองทุกอย่าง  รวมทั้งอุบัติเหตุด้วย  เมื่อวันที่  5  พฤษภาคม  2538  เป็นระยะเวลา  1  ปี  วันสิ้นอายุตามกรมธรรม์คือ  5  พฤษภาคม  2539  ต่อมาวันที่  13  มิถุนายน  2539  เกิดอุบัติเหตุ  บริษัทผู้รับประกันภัยกับนายสมพงษ์ตกลงกันโดยบริษัทประกันออกกรมธรรม์ใหม่ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่  11 มิถุนายน  2539  มีระยะเวลาคุ้มครอง  1  ปี  เมื่อนายสมพงษ์ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์แล้วจึงเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่บริษัทประกันภัยปฏิเสธการจ่าย  ดังนั้น  อยากทราบว่า  บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  861  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น  หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคต  ดังได้ระบุไว้ในสัญญา  และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า  เบี้ยประกันภัย

วินิจฉัย

จากปัญหาการที่เกิดอุบัติเหตุกับรถของนายสมพงษ์ที่เอาประกันภัยในวันที่  13  มิถุนายน  2539  ซึ่งเป็นวันที่กรมธรรม์สิ้นอายุแล้ว  แม้ต่อมาบริษัทประกันได้ออกกรมธรรม์ให้ใหม่มีผลย้อนหลังไปก่อนวันเกิดวินาศภัย  2  วัน  คือ  วันที่  11  มิถุนายน  2539  ซึ่งเป็นวันที่วินาศภัยได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้ทำสัญญาประกันภัยกันใหม่  โดยที่ความหมายของสัญญาประกันภัยตามมาตรา  861  บริษัทผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เมื่อเกิดวินาศภัยในอนาคต  หมายความว่า  ขณะทำสัญญาประกันภัย  วินาศภัยยังไม่เกิดขึ้น  ดังนั้น  การที่ภัยได้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมิใช่ภัยที่อาจมีขึ้นในอนาคต  แต่เป็นภัยในอดีตที่ไม่สามารถเอาประกันภัยได้

สรุป  บริษัทประกันภัยไม่มีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมพงษ์  ตามมาตรา  861  (ฎ. 2513/2518)

 

ข้อ  3  นายยอด  ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  เมื่อวันที่  30  สิงหาคม  2540  วงเงิน  1  แสนบาท  ระยะเวลาคุ้มครอง  20  ปี  แบบอาศัยความมรณะ  ในปีต่อมาธุรกิจการค้าของนายยอดขาดทุนอย่างหนัก  นายยอดกลุ้มใจมากจึงใช้ปืนยิงตัวเอง  เมื่อวันที่  28  สิงหาคม  2541  แต่กระสุนไม่ถูกที่สำคัญจึงไม่เสียชีวิตทันทีเพียงแต่บาดเจ็บสาหัส  ครั้นวันที่  1  กันยายน  2541  นายยอดได้เสียชีวิตด้วยบาดแผลดังกล่าวขณะที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล  ดังนี้บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงิน  1  แสนบาทให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา

วินิจฉัย

นายยอด  ทำสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งเมื่อวันที่  30  สิงหาคม  2540  วงเงิน  1  แสนบาท  ระยะเวลาคุ้มครอง  20  ปี  ในปีต่อมานายยอดใช้ปืนยิงตัวเองย่อมถือว่านายยอดผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตตวินิจบาตรด้วยใจสมัครของตน  ภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว  แม้นายยอดจะถึงแก่ความตายหลังระยะเวลา  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญาก็ตาม  บริษัทผู้รับประกันภัยก็ได้ยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามมาตรา  895(1)

สรุป  บริษัทประกันชีวิต  ไม่มีหน้าที่จ่ายเงิน  1  แสนบาทให้แก่ผู้รับประโยชน์  (ฎ. 936/2536)

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายโอ่งมีฐานะยากจนและป่วยเป็นโรคอัมพาตมา  2  ปี  ทำให้พูดไม่ได้  ร่างกายผอมต้องนอนอยู่กับที่ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาลตัวเอง  นายกล้าจัดให้นายโอ่งเอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทผู้รับประกันชีวิตแห่งหนึ่งวงเงิน  1  แสนบาท  โดยนายกล้าเป็นคนออกเบี้ยประกันให้  นายโอ่งมีบุตรและภรรยาอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน  แต่นายโอ่งมิได้ระบุให้บุตรและภรรยาของตนเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต นายโอ่งกลับระบุให้นายกล้าเป็นผู้รับประโยชน์  ในคำขอเอาประกันได้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างนายกล้าและนายโอ่งว่านายกล้าเป็นหลานของนายปฐมซึ่งเป็นเพื่อนของนายโอ่งและปรากฏว่านายกล้าเป็นผู้กรอกข้อความในคำขอเอาประกันแทนนายโอ่ง  แต่ให้นายโอ่งลงชื่อเป็นผู้ยื่นขอเอาประกัน  ต่อมาในระหว่างอายุสัญญา  นายโอ่งถึงแก่ความตาย  นายกล้าได้ยื่นขอรับประโยชน์แต่บริษัทประกันปฏิเสธการจ่าย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

การที่นายกล้าจัดให้นายโอ่งเอาประกันภัย  โดยนายกล้าเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน  และเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย  ไม่ถือว่านายโอ่งเป็นผู้เอาประกันภัยโดยแท้จริง  เพราะการกระทำของนายกล้ามีเจตนาหลีกเลี่ยงเรื่องส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  โดยนายกล้าทำทีเป็นว่าให้นายโอ่งออกหน้าเป็นผู้เอาประกันภัย  ความจริงฟังได้ว่า  นายกล้าเป็นผู้เอาประกันภัย  และนายกล้าไม่มีความสัมพันธ์ในทางญาติแต่อย่างใด  เนื่องจากนายกล้าเป็นเพียงหลาน  คือ  บุตรชายนายปฐม  ซึ่งเป็นเพื่อนของนายโอ่ง  นายกล้าผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของบุคคลอื่น  คือ  นายโอ่ง  ตามมาตรา  863  นายกล้าไม่มีสิทธิเรียกเงินประกัน  1  แสนบาท

สรุป  นายกล้าผู้เอาประกันภัย  ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  คือ  ไม่มีความสัมพันธ์ในชีวิตของนายโอ่ง  ตามมาตรา  863  (ฎ. 1366/2509)

 

ข้อ  2  นายดำทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทสวรรค์ประกันชีวิต  จำกัด  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2544  ระบุให้นายแดงบุตรของนายดำเป็นผู้รับประโยชน์  มีจำนวนเงินที่เอาประกันชีวิต  1,000,000  บาท  วันที่  2  มกราคม  2544  นายดำทำสัญญาประกันชีวิตนางจันทร์ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายดำไว้กับบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  ระบุให้นายแดงเป็นผู้รับประโยชน์เช่นกัน  มีจำนวนเงินที่เอาประกันชีวิต  500,000  บาท  วันที่  2  มกราคม  2545  ซึ่งอยู่ในอายุกรมธรรม์  นายดำทะเลาะกับนางจันทร์อย่างรุนแรง  นายดำใช้อาวุธปืนยิงนางจันทร์ตายและใช้ปืนนั้นยิงตัวเองตายตาม

ให้วินิจฉัยว่าบริษัท  สวรรค์ประกันชีวิต  จำกัด  และบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นายแดงได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

เมื่อนางดำและนางเขียวมรณะภายในอายุกรมธรรม์  ผู้รับประกันภัยจะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามกรมธรรม์ได้  หากมีเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  895  คือ

1       บุคคลนั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน  1  ปีนับแต่วันทำสัญญา

2       บุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

นายดำฆ่านางจันทร์โดยเจตนาฆ่าตัวตายโดยใจสมัครเมื่อวันที่  2  มกราคม  2545  การที่นายดำฆ่านางจันทร์ตาย  แต่นายดำมิใช่ผู้รับประโยชน์  และการที่นายดำฆ่าตัวตายโดยใจสมัครก็ได้กระทำภายหลัง  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  ทั้งสองกรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุตามมาตรา  895  ที่บริษัท  สวรรค์ประกันชีวิต  จำกัดและบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นายแดง

สรุป  บริษัท  สวรรค์ประกันชีวิต  จำกัด  และบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นายแดงไม่ได้

 

ข้อ  3  ดำได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะไว้กับบริษัท  ไทยประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  ระยะเวลาประกันตามสัญญา  10  ปี  โดยระบุให้แดงบุตรสาวเป็นผู้รับประโยชน์  ระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว  ดำประสบอุบัติเหตุโดยในขณะที่กำลังเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายอยู่นั้นก็ถูกเขียวซึ่งขับรถมาด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนล้มลงหัวฟาดพื้นถึงแก่ความตายทันที  เขียวถูกจับดำเนินคดีฐานขับรถชนคนตายโดยประมาทเลินเล่อ  หลังจากที่ดำเสียชีวิตลง  บริษัทก็ได้จ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับแดงผู้รับประโยชน์เป็นเงิน  1  ล้านบาท  ต่อมาบริษัทก็ไปเรียกร้องเงินจากเขียว  ซึ่งเป็นผู้ขับรถชนดำเสียชีวิตตามจำนวนที่บริษัทได้จ่ายให้กับแดงไปแล้ว  โดยอ้างการรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันตามหลักกฎหมายประกันภัย  จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่  และเขียวต้องจ่ายเงินให้กับใครอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด  โดยอาศัยหลักกฎหมายใด

ธงคำตอบ

มาตรา  862  ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า  ผู้รับประโยชน์  ท่านหมายความว่า  บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

มาตรา  896  ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก  ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่  แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งมรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่  แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย

วินิจฉัย

ดำเอาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  ดำย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุนี้สัญญาจึงมีผลผูกพัน  ตามมาตรา  863  เมื่อแดงบุตรสาวถูกระบุให้เป็นผู้รับประโยชน์  ตามมาตรา  862  ย่อมมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา  ตามมาตรา 890  เพราะเป็นการประกันชีวิตโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  เมื่อมีมรณภัยเกิดขึ้น  บริษัทฯก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต  เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895  และเมื่อบริษัทจ่ายเงินตามสัญญาฯ  ให้กับผู้รับประโยชน์แล้วไม่มีสิทธิในการรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกัน  เนื่องจากเป็นการทำสัญญาประกันชีวิต  จึงต้องห้ามตามมาตรา  896  เพราะสิทธิเรียกค่าสินไหมมดแทนในกรณีนี้เป็นสิทธิของทายาทของผู้เอาประกันชีวิตตามหลักกฎหมายละเมิด

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฟังไม่ขึ้น  และเขียวต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทของดำ  โดยอาศัยหลักกฎหมายละเมิด

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย สอบซ่อม S/2548

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง  แต่เวลาออกกำลังกายมักจะมีอาการเจ็บที่หน้าอกบ่อยๆ  จึงชวนสองภริยาให้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำการตรวจและรักษา  แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่ากล้ามเนื้ออักเสบเพียงเล็กน้อย  กินยาสักระยะก็จะหายเป็นปกติ  หลังจากนั้นหนึ่งได้ไปทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะกับบริษัท  ประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  สัญญากำหนด  10  ปี  ระบุให้สองภริยาเป็นผู้รับประโยชน์  โดยหนึ่งได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตว่าตนมีสุขภาพสมบูรณ์  เพราะออกกำลังกายเป็นประจำ  

หลังจากทำสัญญาได้  3  ปี  หนึ่งก็หัวใจวายเฉียบพลัน  และเสียชีวิตลงขณะที่วิ่งออกกำลังกายอยู่  ซึ่งแพทย์ของบริษัทประกันชีวิตได้ตรวจพบว่า  เขาได้ป่วยเป็นโรคนี้มาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต  ดังนั้นบริษัทจึงบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนี้  ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  และไม่จ่ายเงินให้กับสองผู้รับประโยชน์  จงวินิจฉัยว่า  การบอกล้างของบริษัทชอบด้วยกฎหมายอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด และบริษัทต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์อย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

วินิจฉัย

หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุประกัน  สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา  863  การที่หนึ่งได้ไปทำสัญญาประกันชีวิตโดยที่ไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน  จึงไม่ได้เปิดเผยข้อความจริงเรื่องนี้ในเวลาทำสัญญานั้นถือว่าสัญญามีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  865  วรรคแรก  ส่วนอาการเจ็บที่หน้าอกบ่อยๆนั้น  ก็ไม่ใช่เรื่องที่อาจจะจูงใจให้บริษัทผู้รับประกันชีวิตเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นไปอีก  หรือบอกปัดไม่รับทำสัญญาแต่อย่างใดตามมาตรา  865  วรรคแรก  ดังนั้นบริษัทจึงบอกล้างตามมาตรา  865  วรรคสองไม่ได้  และต้องชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ให้แก่สองผู้รับประโยชน์ตามสัญญาตามมาตรา 890

สรุป  การบอกล้างของบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และบริษัทต้องจ่ายเงิน  1  ล้านบาทให้แก่สองผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต

 

ข้อ  2  เมื่อวันที่  9  ธันวาคม  2535  นายดำทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  วงเงินเอาประกันภัย  3 ล้านบาท  กำหนดเบี้ยประกันภัย  5  หมื่นบาท  โดยคู่สัญญากำหนดเวลาเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยไว้ในวันที่  3  มกราคม  2536  ครั้นวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำเปลี่ยนใจไม่ต้องการทำสัญญาประกันภัย  ดังนี้  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้หรือไม่  และบริษัทประกันภัยมีสิทธิอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  872  ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย  ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน

วินิจฉัย

สัญญาประกันวินาศภัยรายนี้ทำไว้ในวันที่  9  ธันวาคม  2535  แต่สัญญากำหนดวันเริ่มต้นมีผลบังคับในวันที่  3  มกราคม  2536  ดังนั้นในวันก่อนเริ่มเสี่ยงภัยคือก่อนวันที่สัญญามีผลบังคับ  คือวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำผู้เอาประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  872  แต่นายดำต้องเสียเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งคือ  25,000  บาท  ให้แก่บริษัทประกันวินาศภัย

สรุป  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้  และบริษัทประกันมีสิทธิได้เบี้ยประกันครึ่งหนึ่ง

 

ข้อ  3  นายตรีประกันชีวิตตนเองไว้ในวงเงิน  1  ล้านบาท  ระบุให้นางพิมภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ต่อมาในระหว่างที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับนางพิมทราบว่านายตรีมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับหญิงอื่น  นางพิมโกรธแค้นมากจึงใช้ไม้ตีศีรษะนายตรี  1  ที  เป็นเหตุให้นายตรีถึงแก่ความตาย  ศาลพิพากษาว่านางพิมมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ดังนี้  บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงิน  1  ล้านบาท  ให้นางพิมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

นายตรีประกันชีวิตตนเองไว้ในวงเงิน  1  ล้านบาท  นายตรีจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันชีวิต  โดยสัญญาระบุให้นางพิมภริยาเป็นผู้รับประโยชน์  การที่นางพิมซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ได้ทำร้ายนายตรีถึงแก่ความตาย  จนศาลพิพากษาว่านางพิมมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  การกระทำของนางพิมไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895(2)  ที่บริษัทประกันจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินประกัน  เพราะข้อยกเว้นตาม  มาตรา  895(2)  ต้องเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  แต่กรณีนี้เป็นการฆ่าโดยไม่เจตนา

สรุป  บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงิน  1  ล้านบาทให้นางพิม

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย S/2548

การสอบภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งได้นำรถยนต์ของตนไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท  ประกันภัย  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  4  แสนบาท  สัญญากำหนด  1  ปี  วนเวลาทำสัญญาหนึ่งได้กรอกข้อความลงในแบบคำขอเอาประกันภัยว่ารถยนต์ของตนมีสภาพดี  ไม่เคยถูกชนมาก่อน  ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์เคยพลิกคว่ำมาแล้วแต่ไม่อยากเปิดเผยให้บริษัททราบ  เพราะเกรงว่าบริษัทจะไม่ยอมรับประกันในวงเงินสูงถึง  4  แสนบาท ซึ่งถ้าบริษัททราบเรื่องนี้คงจะลดจำนวนเงินที่เอาประกันภัยลงเหลือเพียง  3  แสนบาทเท่านั้น  ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย  หนึ่งได้ขับรถคันดังกล่าวด้วยอาการมึนเมาสุราโดยประมาทเลินเล่อไปชนเสาไฟฟ้าทำให้รถเสียหาย  เสียค่าซ่อมไป  1  แสนบาท  หนึ่งจึงไปเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทน  แต่บริษัทปฏิเสธความรับผิด  โดยอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆียะ  เพราะหนึ่งได้ปกปิดความจริงในเรื่องรถยนต์ที่เคยพลิกคว่ำมาแล้ว  จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างของบริษัทฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

หนึ่งเป็นเจ้าของรถที่นำไปเอาประกัน  ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา  863

การที่หนึ่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  865 นั้น  จะต้องเป็นข้อความจริงที่มีลักษณะสำคัญถึงขนาดว่าอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา

แต่จากข้อเท็จจริง  บริษัทไม่อาจอ้างเหตุที่หนึ่งปกปิดความจริงเรื่องรถเคยพลิกคว่ำมาก่อนขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ เพราะความจริงที่ปกปิดเป็นเพียงเหตุให้บริษัทประกันภัยจะไม่ยอมรับประกันภัยในวงเงินที่สูงถึง  4  แสนบาท  แต่จะรับประกันภัยในวงเงินที่เอาประกันเพียง  3  แสนบาทเท่านั้น  มิใช่จะจูงใจให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น  หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  จึงใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดไม่ได้ตามมาตรา  865  วรรคแรก

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  2  ดำเป็นเจ้าของรถยนต์  เขาได้นำรถคันดังกล่าวไปให้แดงเช่าเพื่อทำเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์รับส่งคนโดยสาร  ต่อมาแดงได้นำรถไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท  ประกันภัย  จำกัดจำนวนเงินที่เอาประกัน  2  แสนบาท  สัญญากำหนด  1  ปี  ระบุให้ดำเป็นผู้รับประโยชน์  หลังจากทำสัญญาประกันภัยไปได้  5  เดือน  ดำก็ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้กับขาวไปในราคา  4  แสนบาท  โดยแดงซึ่งเป็นทั้งผู้เช่าและผู้เอาประกันภัยเป็นผู้แจ้งการซื้อขายให้บริษัททราบแล้ว  ต่อมาอีก  3  เดือน  ขาวได้ขับรถโดยประมาทไปชนรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่ริมถนน  รถของขาวเสียหาย  เสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน  1  แสนบาท  จงวินิจฉัยว่าขาวจะเรียกให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยที่แดงได้ทำไว้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  875  วรรคสอง  ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันไซร้  ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย  อนึ่งถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้  ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

แดงเป็นผู้เช่ารถจากดำ  แม้แดงจะไม่ได้เป็นเจ้าของ  แต่เขาก็เป็นผู้เช่าย่อมมีส่วนได้เสียตามสัญญาเช่า  จึงสามารถนำรถที่เช่าไปทำสัญญาประกันภัยได้สัญญาจึงมีผลผูกพัน  ตามมาตรา  863

ขาวจะเรียกให้บริษัทประกันภัยที่แดงผู้เช่าได้ทำสัญญาประกันภัยไว้  ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนนั้นไม่ได้  เพราะสิทธิตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวไม่ได้โอนตามวัตถุที่เอาประกันภัยมาที่ขาวผู้ซื้อ  เนื่องจากแดงเป็นเพียงผู้เช่าและเป็นผู้เอาประกันภัยที่มีส่วนได้เสียตามสัญญาเช่าเท่านั้น  แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เอาประกันแต่อย่างใด  อีกทั้งดำซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขของกฎหมาย  ดังนั้นแม้ว่าสัญญาประกันภัยจะไม่ได้กำหนดข้อห้ามโอนไว้  และแดงผู้เอาประกันได้แจ้งให้บริษัททราบแล้วก็ตาม  แต่ก็ไม่มีผลให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโอนมายังขาวได้ตามมาตรา  863  และมาตรา  875  วรรคสอง

สรุป  ขาวเรียกให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามสัญญาประกันภัยไม่ได้

 

ข้อ  3  เอกได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการสรณะไว้กับบริษัท  ประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  สัญญากำหนด  10  ปี  ระบุให้โทน้องชายเป็นผู้รับประโยชน์  โดยที่โทยังไม่ทราบว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์  หลังจากทำสัญญาประกันชีวิตได้  8  เดือน  โทน้องชายทำธุรกิจขาดทุน  เอกสงสารน้องและต้องการช่วยเหลือ  เขาจึงคิดฆ่าตัวตายเพื่อให้โทได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตจึงกินยาฆ่าแมลงเข้าไป  โทมาพบเข้าจึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเขาเป็นคนขับรถเอง  ระหว่างทางโทขับรถโดยประมาทด้วยความเร่งรีบจึงชนท้ายรถบรรทุกอย่างแรง  ด้วยแรงกระแทกของรถทำให้เอกถึงแก่ความตายทันที  โททราบเรื่องที่เอกทำสัญญาประกันชีวิตไว้  จึงไปขอรับเงินจากบริษัทประกันฯ  จงวินิจฉัยว่าบริษัทจะจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่โทหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  891  วรรคแรก  แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี  ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้  เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว  และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

เอกเอาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  ย่อมมีส่วนได้เสียตามมาตรา  863  ประกอบมาตรา  889  สัญญาประกันชีวิตมีผลผูกพัน

โทเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาฯ  ที่เอกทำไว้  ดังนั้นเมื่อมีมรณะเกิดขึ้น  บริษัทก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่โท  ตามมาตรา  890  ประกอบมาตรา  895  วรรคแรก  แม้โทจะไม่ทราบว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์เขาก็ยังคงได้รับประโยชน์ตามสัญญาอยู่เพราะไม่มีการโอนประโยชน์ให้กับใครจึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา  891  และแม้เอกจะฆ่าตัวตาย  หลังจากทำสัญญาประกันชีวิตได้  8  เดือน  แต่เอกก็ไม่ได้ตายเพราะฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญาตามมาตรา  895  (1)  หรือถูกโทผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  895  (2)

สรุป  บริษัท  ประกันชีวิต  จำกัด  จึงต้องชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่โทตามเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย สอบซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  นายเปรียวได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  โดยคุ้มครองบุคคลที่สาม  คือ  คุ้มครองภัยที่ตนอาจขับรถที่จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเงิน  100,000  บาท  ในระหว่างอายุสัญญานายเปรียวได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทชนรถของนายเฉื่อยเสียหาย  80,000  บาท  ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยไม่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายเฉื่อย  แต่นำค่าสินไหมทดแทนมาจ่ายให้นายเปรียว  80,000  บาท  นายเปรียวไม่ได้เอามาจ่ายให้นายเฉื่อย  เมื่อนายเฉื่อยยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจึงฟ้องบริษัทประกันภัย  แต่บริษัทประกันภัยต่อสู้ว่าตนได้ใช้ให้นายเปรียวไปแล้วจึงไม่ต้องรับผิดอีก  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  887  วรรคสาม  อนึ่งผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่   เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาประกันภัยที่นายเปรียวทำกับบริษัทประกันภัยนั้นเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน  กล่าวคือ  เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย  เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  (บุคคลที่สาม) และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ  การที่บริษัทประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเปรียวผู้เอาประกัน  แต่นายเปรียวไม่ได้นำมาจ่ายให้นายเฉื่อยบุคคลภายนอก  จึงทำให้นายเฉื่อยยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน  ผลทางกฎหมายตามมาตรา  887  วรรคสาม  คือ บริษัทประกันภัยยังคงมีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเฉื่อย  และไม่ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยได้พิสูจน์ว่าค่าสินไหมทดแทนนั้นนายเปรียวผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่นายเฉื่อยผู้เสียหายแล้ว

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัยที่อ้างว่าตนได้ใช้ให้นายเปรียวไปแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดอีกเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  กนกได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกของตนไว้กับบริษัทประกันภัยจำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  3  แสนบาท  และในขณะเดียวกัน   เขาก็เอาประกันภัยในความรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้รถคันนี้  (ประกันภัยค้ำจุน)    อีกกรมธรรม์หนึ่งไว้กับบริษัทเดียวกัน  จำนวนเงินที่เอาประกัน  4  แสนบาท  กำหนดระยะเวลาในการทำสัญญา  1  ปี  หลังจากทำสัญญาได้สามเดือน  กนกได้สั่งให้ดนัยซึ่งเป็นคนขับรถและเป็นลูกจ้างของตนขับรถคันดังกล่าวบรรทุกสินค้าไปส่งให้ลูกค้าที่จังหวัดอุทัยธานี  หลังจากส่งของเสร็จแล้วดนัยได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  แซงรถคันอื่นมาตลอดทาง  จึงเกิดอุบัติเหตุชนกับรถของอมรซึ่งวิ่งสวนทางมา  ทำให้ดนัยและอมรบาดเจ็บสาหัสทั้งคู่  เสียค่ารักษาพยาบาลไปคนละ  5  หมื่นบาท  ส่วนรถบรรทุกของกนกพังเสียหายคิดเป็นเงิน  2  แสนบาท  และรถของอมรก็เสียหายเช่นกันคิดเป็นเงิน  1  แสนบาท  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทประกันภัยจำกัดจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับใคร  อย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  862  วรรคท้าย  อนึ่ง  ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น  จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

มาตรา  887  วรรคแรก  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น  คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ 

บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง  แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่  ในคดีระหว่างผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น  ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย

อนึ่งผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่   เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

วินิจฉัย

กนกได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกของตนเอง  กนกย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลผูกพัน  และในขณะเดียวกันเมื่อเขาไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์ไว้  กนกจึงเป็นผู้รับประโยชน์เองตามมาตรา  862  วรรคท้าย  ซึ่งบริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาดังต่อไปนี้

1       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กนกตามสัญญาประกันวินาศภัย  กรณีที่รถบรรทุกของกนกเสียหายคิดเป็นเงิน  2  แสนบาท  ตามมาตรา  877 (1)  และวรรคท้าย

2       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับอมรตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน  กรณีรถของอมรเสียหายคิดเป็นเงิน  1  แสนบาท  และค่ารักษาพยาบาลที่บาดเจ็บสาหัสเป็นเงิน  5  หมื่นบาท  ตามมาตรา  887  ประกอบมาตรา  877

3       จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับดนัยที่บาดเจ็บสาหัสเป็นเงิน  5  หมื่นบาท  ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน  ตามมาตรา  887  ประกอบมาตรา  877

ทั้งนี้เพราะวินาศภัยที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของกนก  ซึ่งเป็นทั้งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์  แต่เป็นการกระทำของดนัยซึ่งเป็นลูกจ้างของกนก  จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่บริษัทไม่ต้องจ่าย  ตามมาตรา  862  วรรคท้าย  และมาตรา  879  วรรคแรก

เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและผู้ต้องเสียหายไปแล้ว  บริษัทก็สามารถที่จะเข้าไปรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันรียกจากดนัย  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้  ตามมาตรา  880  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  877

สรุป  บริษัทต้องรับผิดชอบดังนี้

1       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กนก  2  แสนบาท

2       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้อมร  ในกรณีรถเสียหาย  1  แสนบาท  และค่ารักษาพยาบาล  5  หมื่นบาท

3       จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ดนัย  5  หมื่นบาท

 

ข้อ  3  หนึ่งมีอาการเจ็บหน้าอกที่ชายโครงด้านขวาเป็นประจำ  จึงชวนสองภริยาให้พาไปตรวจร่างกายกับแพทย์ที่โรงพยาบาลซึ่งเคยรักษา  แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่าเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ และได้ให้ยามารับประทาน ซึ่งอาการที่เจ็บก็หายเป็นพักๆ  ต่อมาอีกสามเดือน สามซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตได้มาชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิต  เขาจึงได้ตกลงทำจำนวนเงินที่เอาประกัน  1 ล้านบาท  สัญญามีกำหนด  5  ปี  ระบุให้สองภริยาเป็นผู้รับประโยชน์  ซึ่งขณะทำสัญญาเขาได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตว่าสุขภาพสมบูรณ์ดี

และเมื่อแพทย์ของประกันชีวิตตรวจร่างกาย  และได้สอบถามถึงสุขภาพ  หนึ่งก็ตอบว่าไม่เคยป่วยเป็นโรคใด  บริษัทประกับชีวิตจึงได้รับประกันชีวิตของหนึ่งไว้  ต่อมาอีก  2  ปี  หนึ่งก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในตับ  ซึ่งแพทย์ตรวจพบว่าเป็นมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต  จงวินิจฉัยว่า  สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวเป็นโมฆียะหรือไม่  และบริษัทจะบอกล้างได้หรือไม่  หรือบริษัทจะต้องชดใช้เงินตามสัญญาดังกล่าวอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

วินิจฉัย

หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  ย่อมมีเหตุแห่งส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันตามาตรา  863  สัญญามีผลผูกพัน  การที่สองได้พาหนึ่งไปตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาพยาบาลในอาการเจ็บที่ชายโครงด้านขวา  ซึ่งแพทย์ได้ตรวจแล้วและวินิจฉัยว่าอาจเป็นกล้ามเนื้ออักเสบนั้น  หนึ่งไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็ง  ฉะนั้นการที่เขากรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตไปว่ามีสุขภาพสมบูรณ์  จึงไม่ใช่การไม่เปิดเผยข้อความจริงและเมื่อแพทย์ของบริษัทฯ  สอบถามถึงสุขภาพ  เขาก็ตอบว่าไม่เคยป่วยเป็นโรคใดๆ   ก็ไม่ใช่การปกปิดข้อความจริงตามมาตรา  865  เพราะอาการกล้ามเนื้ออักเสบไม่ใช่อาการของโรคที่ต้องเปิดเผยในขณะทำสัญญาประกันชีวิต  เมื่อแพทย์ผู้ตรวจรักษาและแพทย์ของบริษัทประกันชีวิตผู้ตรวจสุขภาพ  ไม่ทราบว่าหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งในตับ  และหนึ่งเองก็ไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน  กรณีจึงถือไม่ได้ว่าหนึ่งไม่เปิดเผยข้อความจริงที่ได้รู้มาก่อน  อันจะเป็นเหตุให้บริษัทบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นแต่อย่างใด  ตามมาตรา  865  สัญญาประกันชีวิตของหนึ่งจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่เป็นโมฆียะที่บริษัทจะมีสิทธิบอกล้างได้  บริษัทจำต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา  ตามมาตรา  889  ประกอบมาตรา  890  (ฎีกาที่  3728/2530)

สรุป  สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ  และบริษัทต้องจ่ายเงินจำนวน  1  ล้านบาท  ตามสัญญาประกันชีวิต

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  แดงได้ไปทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะไว้กับบริษัท  ประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  7000,000  บาท สัญญากำหนด  10  ปี  โดยระบุให้ขาวภริยาเป็นผู้รับประโยชน์กิอนทำสัญญาแดงมีอาการท้องอืดบ่อยๆ  บางครั้งก็ถ่ายอุจจาระออกมามีเลือดปนด้วย  แดงได้ชวนขาวภริยาไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ  แพทย์ได้แจ้งผลให้ขาวทราบว่าแดงป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  ขาวเกรงว่าจะมีผลต่อสภาพจิตใจของสามีจึงเพียงแต่บอกเขาว่าท้องอืดธรรมดาไม่มีอะไรร้ายแรง  กินยาที่หมอให้มาก็คงหายเป็นปกติ  ในขณะเดียวกันขาวซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตก็ไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบด้วย  

ทั้งๆที่ในขณะที่แดงกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิต  ขาวก็นั่งอยู่ด้วย  เพราะเกรงว่าถ้าเปิดเผยออกไปแล้วบริษัทจะไม่รับทำสัญญา  หลังจากทำสัญญาได้  3  ปี  ในขณะที่แดงเดินทางไปโรงพยาบาลก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  ขาวจึงไปขอรับเงินตามสัญญาในฐานะผู้รับประโยชน์  จงวินิจฉัยว่าสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวเป็นโมฆียะหรือไม่  บริษัทจะอ้างเหตุผลใดในการบอกล้างสัญญาได้อย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

วินิจฉัย

แดงทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  ถือว่าแดงมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน  สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา  889  ประกอบมาตรา  863

แดงไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งในเวลาทำสัญญา  แดงจึงไม่ได้แถลงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งจะมีผลทำให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาแต่อย่างใด  สัญญาจึงไม่เป็นโมฆียะตามมาตรา  865  วรรคแรก  ส่วนขาวนั้นเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงแต่อย่างใด  เพราะตามกฎหมายมาตรา  865  กำหนดว่า  ผู้ที่แถลงข้อความจริงในเวลาทำสัญญานั้นคือบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความมรณะคือแดงนั่นเอง  ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตของแดงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะ  บริษัทจึงไม่มีเหตุผลใดมาบอกล้างได้  ต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาให้กับขาวผู้รับประโยชน์ตามมาตรา  890

สรุป  สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะและบริษัทต้องจ่ายเงินจำนวน  7  แสนบาทแก่ขาวตามสัญญาประกันชีวิต

 

ข้อ  2  นายสมหวังได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยในเหตุอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัย  1,000,000  บาท  นายสมควรบุคคลภายนอกได้ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านของนายสมหวังเสียหาย  1,000,000  บาท  บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้  600,000  บาท  นายสมหวังจึงได้เงินไม่ครบตามความเสียหาย  นายสมหวังจึงฟ้องนายสมควรให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เหลืออีก  400,000  บาท  ขณะเดียวกันบริษัทประกันภัยก็รับช่วงสิทธิของนายสมหวังผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน  600,000  บาท  ที่ได้จ่ายไปแล้วจากนายสมควรอีก  ปรากฏว่านายสมควรมีทรัพย์สินทั้งหมดอยู่เพียง  500,000  บาท  ดังนี้  นายสมหวังและบริษัทประกันภัยจะมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากนายสมควรเป็นจำนวนรายละเท่าไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้  ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพียงเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  บริษัทประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไปบางส่วนคือ  600,000  บาท  ย่อมเข้ารับสิทธิของนายสมหวังไปฟ้องนายสมควรได้เพียง  600,000  บาท  ตามมาตรา  880  วรรคแรก  แต่บริษัทประกันภัยจะใช้สิทธิให้เสื่อมเสียสิทธิของนายสมหวังที่ฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เหลืออีก  400,000  บาท  จากนายสมควรไม่ได้  ตามมาตรา  880  วรรคสอง  ดังนั้น  เมื่อนายสมควรมีทรัพย์สินอยู่เพียง  500,000  บาท  ไม่พอชำระให้ครบทั้งสองราย  จึงต้องให้นายสมหวังผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนก่อน  400,000  บาท  ส่วนที่เหลือบริษัทประกันไหมจึงได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียง  100,000  บาท

สรุป  สมหวังมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน  400,000  บาท  ส่วนบริษัทประกันภัยมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน  100,000  บาท

 

ข้อ  3  นายชัยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางแวว  นายชัยทำสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง   วงเงินเอาประกัน  1  ล้านบาท  ระบุนางแววเป็นผู้รับประโยชน์ระยะเวลา  20  ปี  อีก  1  ปีต่อมา  นายชัยโต้เถียงกับนางแววอย่างรุนแรง  สาเหตุเกิดจากนายชัยเกิดความหวาดระแวงว่านางแววจะกลับไปอยู่กินกับสามีเก่า  และสมคบกันวางแผนฆ่าตนเองเพื่อเอาเงินประกันชีวิต  นางแววเกิดความเสียใจจึงหนีไปอยู่กับน้องสาว  ครั้นต่อมาบริษัทประกันได้ออกกรมธรรม์และส่งมาให้แล้ว  นายชัยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันภัยว่าตนเองต้องการเปลี่ยนผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกลูกชายซึ่งเกิดกับภรรยาคนก่อน  หลังจากนั้นอีก  2  ปี  ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับนายชัยขับรถไปต่างจังหวัด  รถคว่ำเป็นเหตุให้นายชัยถึงแก่ความตาย  นางแววทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์จึงยื่นขอรับเงินประกัน  แต่บริษัทประกันภัยแจ้งว่าได้จ่ายเงินให้นายเอกไปแล้ว  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านางแววมีสิทธิเรียกร้องเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  891  วรรคแรก  แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี  ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้  เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว  และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

วินิจฉัย

แม้นายชัยระบุนางแววเป็นผู้รับประโยชน์ไว้แล้วก็ตาม  นายชัยย่อมมีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกได้  เว้นแต่จะเข้าหลักเกณฑ์สองประการที่นายชัยจะโอนสิทธิตามสัญญาประกันชีวิตไปให้ผู้อื่นอีกไม่ได้คือ

1       ได้มีการส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นางแววไปแล้ว

2       นางแววได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทประกันภัยแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นางแววยังไม่ได้รับกรมธรรม์เพราะหนีออกจากบ้านไปก่อนที่บริษัทประกันส่งกรมธรรม์ฯ  มาให้และนางแววไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันชีวิต  นางแววบุคคลภายนอกจึงยังไม่มีสิทธิสมบูรณ์เนื่องจากยังไม่ครบหลักเกณฑ์  2  ข้อดังกล่าว

สรุป  นางแววไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิต 

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายหมอกเป็นเจ้าของตึกแถวราคา  10  ล้านบาท  นายเมฆเป็นพี่ชายนายหมอก  นายหมอกอนุญาตให้นายเมฆเข้ามาอาศัยอยู่และขายอาหารในตึกแถวนั้นได้  แต่นายเมฆกลัวว่าถ้าไฟไหม้ตึกแถวนี้  ตนจะได้รับความเดือดร้อน  เพราะต้องหาตึกแถวแห่งใหม่เพื่อทำการค้าต่อไป  นายเมฆจึงนำตึกแถวนี้ไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งเป็นเวลา  1  ปี  วงเงินเอาประกัน  5 แสนบาท  หลังจากทำสัญญาประกันภัยไปได้สามเดือน  นายหมอกได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยให้กับนายเมฆเป็นเวลา  10  ปี  อีก  1  เดือนต่อมาไฟไหม้ตึกแถวข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้ตึกแถวที่นายเมฆเอาประกันภัยไว้เสียหายทั้งหมด  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  สัญญาประกันภัยระหว่างนายเมฆกับบริษัทประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  869  อันคำว่า  วินาศภัย  ในหมวดนี้  ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆบรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเมฆผู้เอาประกันไม่มีส่วนได้เสียตามมาตรา  863  เพราะไม่มีความสัมพันธ์ใดๆที่กฎหมายรับรองสิทธิเนื่องจากนายเมฆครอบครองตึกของนายหมอกในฐานะผู้อาศัย  โดยมิได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยไว้ด้วย  (คำพิพากษาฎีกาที่  1742/2502)  อีกทั้งนายเมฆไม่สามารถตีราคาความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้  ตามมาตรา  869  นายเมฆจึงไม่ได้รับความเสียหาย  เพราะนายเมฆยังไม่มีสิทธิใดๆในตึกแถวนี้

แม้ต่อมาภายหลังนายเมฆมีสิทธิอาศัย  เพราะมีการจดทะเบียนก็ไม่ทำให้สัญญาที่ไม่ผูกพันตั้งแต่ต้นกลายมาเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันภายหลังได้  เพราะส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันต้องมีก่อนหรือในขณะทำสัญญาเท่านั้น 

สรุป  สัญญาประกันภัยระหว่างนายเมฆกับบริษัทประกันภัยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญา

 

ข้อ  2  นายสักได้นำบ้านของตนไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทเงียบสูญประกันภัย  โดยกำหนดราคาแห่งมูลประกันภัย  1,000,000  บาท  จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย  800,000  บาท  ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาได้เกิดเพลิงไหม้บ้านเสียหายเป็นเงิน  796,000  บาท  และในขณะที่เกิดเพลิงไหม้นั้นนายสักได้พยายามป้องกันบ้านมิให้เกิดเพลิงไหม้โดยเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างฉีดน้ำป้องกันไฟเป็นจำนวนเงิน  6,000  บาท 

ดังนี้  นายสักมีสิทธิเรียกให้บริษัทเงียบสูญประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนได้ในกรณีใดบ้าง  เป็นจำนวนเงินเท่าใด  ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

อันจำนวนวินาศจริงนั้น  ท่านให้ตีราคา  ณ  สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศนั้นได้เกิดขึ้น  อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

วินิจฉัย

นายสักนำบ้านของตนไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทเงียบสูญประกันภัย  มีจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย  800,000  บาท  ในระหว่างอายุสัญญา  เกิดเพลิงไหม้บ้านเสียหายเป็นเงิน  796,000  บาท  และนายสักยังได้เสียค่าใช้จ่ายในการจ้างฉีดน้ำป้องกันไฟเป็นเงิน  6,000 บาท  ดังนี้  นายสักย่อมมีสิทธิเรียกให้บริษัทเงียบสูญประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงที่เกิดขึ้นกับตัวบ้าน  คือ  796,000  บาท  ตามมาตรา  877(1)  และมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไป เพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ  คือค่าใช้จ่ายในการจ้างฉีดน้ำป้องกันไฟเป็นจำนวนเงิน  6,000  บาท  ตามมาตรา  877(3)  เมื่อรวมแล้วคิดเป็นค่าสินไหมทดแทนที่นายสักจะพึงได้คือ  802,000  บาท

แต่อย่างไรก็ตาม  ค่าสินไหมทดแทนที่นายสักจะได้รับนั้น  ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้คือ  800,000  บาท  ตามมาตรา  877  วรรคท้าย

สรุป  นายสักมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทเงียบสูญประกันภัย  ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีความเสียหายที่เกิดแก่ตัวบ้าน  และค่าสินไหมทดแทนในการรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้มิให้วินาศ  รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น  800,000  บาท

 

ข้อ  3  จันทร์ได้เอาประกันชีวิตอังคารซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไว้กับบริษัทไทยประกันชีวิต  จำนวนเงินที่เอาประกันภัย  5  ล้านบาท  สัญญามีกำหนด  5  ปี  ระบุให้ตนเองและอาทิตย์บุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  ทั้งจันทร์และอาทิตย์ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตแล้ว  ต่อมา  2  ปี  จันทร์กับอังคารได้หย่าขาดจากกันเนื่องจากจันทร์ไปได้ดาวพระศุกร์เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง  จากความประพฤติของบิดาทำให้อาทิตย์บุตรชายไม่พอใจและได้ต่อว่าบิดา  ทั้งคู่เกิดการโต้เถียงกันขึ้นอย่างรุนแรง  อาทิตย์จึงชักปืนออกมาเพื่อขู่บิดา  เมื่ออังคารเห็นเข้าจึงรีบวิ่งเข้าไปห้ามในขณะที่ชุลมุนกันอยู่นั้น  อาทิตย์ได้ทำปืนลั่นถูกอังคารซึ่งเป็นมารดาตาย  ศาลได้พิพากษาจำคุก  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยประมาท  และให้รอลงอาญาไว้  5  เดือน  หลังจากนั้นจันทร์กับอาทิตย์ได้ไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตจากบริษัทในฐานะผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  แต่บริษัทฯไม่จ่าย  อ้างว่า

1        จันทร์กับอังคารได้หย่าขาดจากกันแล้ว  จันทร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของอังคารในขณะที่อังคารตาย  จึงไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญา  และ

2      อาทิตย์ก็ไม่มีสิทธิรับเงินด้วยเช่นกัน  เพราะเหตุว่าได้ทำให้อังคารซึ่งเป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิตตาย

จงวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของบริษัททั้ง  2  ข้อ  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895  เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  จะเห็นได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันชีวิต  แยกพิจารณาได้ดังนี้

1       จันทร์  เป็นผู้เอาประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย

2       อังคาร  เป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิต

3       อาทิตย์  เป็นผู้รับประโยชน์

ข้อเท็จจริง  จันทร์ได้เอาประกันชีวิตของอังคารภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งความทรงชีพหรือมรณะของภริยาอาจมีผลกระทบต่อตนเอง  ถือว่ามีเหตุแห่งส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลสมบูรณ์และผูกพันคู่สัญญา  จากข้ออ้างของบริษัทตามข้อเท็จจริงทั้ง  2  ข้อนั้น  มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

 1       จันทร์กับอังคารได้หย่าขาดจากกันแล้ว  จันทร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของอังคารในขณะที่อังคารตาย  จึงไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญา  เห็นว่า  แม้จันทร์และอังคารจะได้หย่าขาดจากกันไปแล้ว  แต่สัญญาประกันชีวิตยังคงสมบูรณ์อยู่ไม่ทำให้สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด  เพราะส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันชีวิต  คงพิจารณาในขณะทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น  หาจำต้องพิจารณาในขณะมรณะอย่างใดไม่  ซึ่งตราบใดที่ผู้เอาประกันยังคงส่งเบี้ยประกันภัยอยู่ตามสัญญา  และเมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามมาตรา  889  บริษัทก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาตามมาตรา  890  ให้กับจันทร์ผู้เอาประกัน  ข้ออ้างของบริษัทจึงฟังไม่ขึ้น

2       การที่อาทิตย์ได้ทำปืนลั่นถูกอังคารตายและศาลพิพากษาให้จำคุก  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยประมาทนั้น  ก็ไม่ใช่เป็นการที่ผู้รับประโยชน์ได้ฆ่าผู้เอาประกันหรือผู้ถูกเอาประกันตายโดยเจตนาตามมาตรา  895(2)  ดังนั้นอาทิตย์ก็ยังคงมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์เช่นเดียวกับจันทร์  ข้ออ้างของบริษัทจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฟังไม่ขึ้นทั้ง  2  กรณี  ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับจันทร์และอาทิตย์

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายชมไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหนึ่งแต่ไม่มีเงิน  นายเชยซึ่งเป็นเพื่อนสนิทตกลงรับเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์แทนให้  ต่อมานายชมได้นำรถยนต์คันนั้นไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทประกันภัย  โดยตกลงกันว่าถ้ารถยนต์สูญหายไป  นายชมจะได้รับชำระค่าสินไหมทดแทน  400,000  บาท  ระหว่างอายุสัญญาประกันวินาศภัย  รถยนต์สูญหายไปโดยไม่ปรากฏร่องรอย  นายชมจึงเรียกให้บริษัทประกันภัยชำระค่าสินไหมทดแทน  400,000  บาท  

บริษัทประกันภัยปฏิเสธการชำระค่าสินไหมทดแทน  โดยอ้างว่ารถยนต์คันนี้นายชมมิได้เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อ  นายเชยต่างหากที่เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อ  นายชมเพียงแต่ไปทำสัญญาเช่าซื้อ  นายชมไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันนี้  จึงไม่มีสิทธิที่จะเอารถยนต์คันนี้ไปทำสัญญาประกันวินาศภัย  บริษัทประกันภัยไม่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทน  400,000  บาทให้  ดังนี้  บริษัทประกันภัยต้องชำระค่าสินไหมทดแทน 400,000  บาท  ให้แก่นายชมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

ตามปัญหา  แม้นายชมมิได้เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อ  นายเชยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อแทนให้ก็ตาม  แต่นายชมเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ  จึงอยู่ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ตลอดจนต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือบุบสลายในรถยนต์ที่เช่าซื้อ  และเมื่อใช้เงินครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว  รถยนต์คันนั้นก็ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่นายชมผู้เช่าซื้อ  นายชมจึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่มาทำสัญญาประกันวินาศภัยเมื่อรถสูญหายตามที่ตกลงไว้ในสัญญา  บริษัทประกันภัยจึงต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้  400,000  บาท  ตามสัญญา

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องชำระค่าสินไหมทดแทน  4000,000  บาทให้แก่นายชม

 

ข้อ  2  นายสมหวังนำตึกหลังหนึ่งไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทดำในวงเงิน  200,000  บาท  และต่อมานำไปประกันไว้กับบริษัทแดงในวงเงิน  400,000  บาท  เกิดอัคคีภัยเสียหาย  250,000  บาท  อยากทราบว่าบริษัทดำและบริษัทแดงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายสมหวังหรือไม่  ถ้าต้องรับผิดจะรับผิดมากน้อยเพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  870  วรรคสาม  ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน  ท่านว่าผู้รับประกันภัยรายแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน  ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆกันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ

วินิจฉัย

ตามปัญหา  เป็นเรื่องการประกันวินาศภัยหลายรายในวัตถุเดียวกัน  และเป็นสัญญาสืบต่อเนื่องกันตามหลักที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดวินาศภัย  ผู้รับประโยชน์จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าที่เสียหายจริง  ฉะนั้น เมื่อความเสียหายที่เกิดวินาศภัย  250,000  บาท  บริษัทดำและบริษัทแดงต้องรับผิดชอบตามลำดับต่อไปนี้   

1       บริษัทดำผู้รับประกันก่อนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  200,000  บาท  เท่ากับจำนวนเงินที่ได้ประกันไว้  ซึ่งยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัย

2       บริษัทแดงผู้รับประกันต่อมาจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังไม่คุ้ม  50,000  บาท

สรุป  บริษัทดำรับผิด  200,000  บาท  ส่วนบริษัทแดงรับผิด  50,000  บาท  

 

ข้อ  3  เมื่อต้นปี  พ.ศ.  2535  นายดีนำนางศรีภริยาไปทำสัญญาเอาประกันชีวิตกับบริษัทไทยประกันชีวิต  ในวงเงิน  1,000,000  บาท  นายดีแถลงต่อบริษัทว่า นางศรีภริยามีสุขภาพสมบูรณ์  ซึ่งความจริงนางศรีป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านม  นายดีไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน  ขณะที่ทำสัญญาประกันชีวิต  นางศรีก็นิ่งเสียไม่แถลงความจริงโดยคาดว่าจะรักษาหาย  ครั้นต่อมานางศรีได้ถึงแก่กรรมเมื่อต้นเดือนมกราคม  2541 บริษัทไทยประกันชีวิตสืบทราบว่า  นางศรีป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อนที่นายดีนำมาทำสัญญาประกันชีวิต  จึงบอกล้างนิติกรรมโมฆียกรรมนี้  เมื่อวันที่  15  มกราคม  2541  อยากทราบว่า  บริษัทไทยประกันชีวิต  มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมรายนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

หน้าที่การเปิดเผยข้อความจริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นี้เป็นหน้าที่ทั้งของผู้เอาระกันภัยและผู้ถูกประกัน  การที่นางศรีผู้ถูกเอาประกันนิ่งเสีย  ไม่เปิดเผยว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรง  หากบริษัทไทยประกันชีวิตทราบความจริงเรื่องนี้คงไม่ยอมรับทำสัญญาประกันชีวิตด้วยอย่างแน่นอน  สัญญาประกันชีวิตฉบับนี้จึงเป็นโมฆะ

แต่การบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ตามมาตรา  865  วรรคท้าย  ได้วางหลักไว้ว่า  ต้องบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันทราบมูลอันจะบอกล้างได้  หรือภายในห้าปีนับแต่วันทำสัญญาหากมิฉะนั้นแล้วเป็นอันหมดสิทธิในการบอกล้าง  สัญญาประกันชีวิตฉบับนี้ได้ทำเมื่อต้นปี  พ.ศ. 2535  นับจนบัดนี้  เกินห้าปีแล้ว  บริษัทไทยประกันชีวิตไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมนี้แล้ว

สรุป  บริษัทไทยประกันชีวิตไมมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมนี้แล้ว

WordPress Ads
error: Content is protected !!