LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 1/2546

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  พลับพลาได้งานถมดินสนามบินหนองงูเหลือมต้องใช้รถยนต์บรรทุกดินเป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกกับการเติมน้ำมันให้กับรถบรรทุกดินพลับพลาจึงทำข้อตกลงกับบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  ผู้ให้บริการน้ำมันที่ตำบลหนองงูเหลือม  โดยรถยนต์บรรทุกดินของพลับพลาจะเติมน้ำมันที่บริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  จนกว่างานถมดินจะเสร็จโดยบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  จะเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ของพลับพลาไปก่อนและส่งใบเสร็จค่าน้ำมันและยอดเงินที่พลับพลา  จะต้องชำระให้พลับพลาตรวจทุกๆ  45  วัน  ส่วนพลับพลาจะชำระราคาน้ำมันให้กับบริษัท ป.ต.อ.  จำกัดภายใน  15  วันนับแต่ที่ทางบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  ส่งใบเสร็จค่าน้ำมันและยอดเงินที่ต้องชำระ  ดังนี้  นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  เป็นบัญชีเดินสะพัดหรือไม่เพราะเหตุใด

ข  ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน  ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน  ผู้สั่งจ่ายเช็ค  จะเขียนข้อกำหนดว่า  ให้ผู้จ่ายผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน  ธนาคารผู้ใช้เงิน ชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงตั๋วเงินด้วยได้หรือไม่  ถ้าได้จะคิดดอกเบี้ยกันแต่วันใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  นั้นเป็นการซื้อขายน้ำมันกันโดยที่บริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  ส่งมอบน้ำมันให้กับพลับพลาไปก่อนแล้วพลับพลาจะชำระราคาให้ในภายหลัง  ดังนั้นพลับพลาผู้ซื้อจึงเป็นลูกหนี้บริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  ผู้ขายอยู่ฝ่ายเดียวที่จะต้องชำระราคาน้ำมัน  โดยที่บริษัท  ป.ต.อ.  จำกัดก็เป็นเจ้าหนี้อยู่ฝ่ายเดียวเช่นกันที่มีสิทธิที่จะได้รับชำระราคา  ทั้งคู่จึงไม่ได้ตกลงกันตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดแก่กิจการในระหว่างพลับพลากับบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  โดยการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด  นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัดจึงมิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด  ตามมาตรา  856

ข  อธิบาย

1       กรณีเป็นตั๋วแลกเงิน  ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วแลกเงินว่าให้ผู้จ่ายชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงตั๋วแลกเงินด้วยก็ได้  และจะเริ่มคำนวณนับดอกเบี้ยกันเมื่อใดก็สุดแล้วแต่ผู้สั่งจ่ายจะกำหนดไว้  หากมิได้กำหนดไว้กฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยกันตั้งแต่วันเดือนปีที่ลงในตั๋วแลกเงินนั้น  (มาตรา  911)

2       กรณีเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน  ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะเขียนข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินว่าจะชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินด้วยก็ได้  และจะเริ่มคำนวณนับดอกเบี้ยกันเมื่อใดก็สุดแล้วแต่ผู้ออกตั๋วจะกำหนดไว้  หากมิได้กำหนดไว้กฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยกันตั้งแต่วันเดือนปีที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเช่นเดียวกับตั๋วแลกเงิน  เนื่องจากมาตรา  985  วรรคแรก  บัญญัติให้นำมาตรา  911  มาใช้บังคับกับตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย  (ฎ. 193/2536)

3       กรณีเป็นเช็ค  ผู้สั่งจ่ายเช็คจะเขียนข้อกำหนดลงไว้ในเช็คว่าให้ธนาคารผู้จ่ายชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงเช็คด้วยไม่ได้  เนื่องจากมาตรา  989  วรรคแรก  มิได้บัญญัติให้นำมาตรา  911  มาใช้บังคับกับเช็คด้วย  (ฎ. 3421/2525)

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท  ป.ต.อ.  จำกัด  มิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด

 

ข้อ  2  ก  ในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้นผู้สลักหลังสามารถที่จะทำการสั่งห้ามมิให้ทำการโอนตั๋วแลกเงินฉบับนั้นต่อไปได้หรือไม่  อย่างไร  จงอธิบายมาโดยละเอียด

ข  นาย  A  สั่งจ่ายเช็คจำนวน  100,000  บาท  ระบุชื่อนาย  B  เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออกแล้วส่งมอบให้แก่  นาย  B  เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่มีต่อกัน  ต่อมานาย  B  ได้สลักหลังเช็คฉบับนั้นชำระค่าเช่าอาคารให้แก่นาย  C  พร้อมทั้งระบุข้อความ  “ห้ามสลักหลังต่อไป”  ลงไว้ในเช็คฉบับนั้นด้วย  ต่อมานาย  C  นำเช็คนั้นไปสลักหลังขายลดให้กับนาย  D  ต่อมานาย D  สลักหลังเช็คนั้นให้แก่นาย  E เพื่อเป็นค่าสินค้า  เมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดชำระเงินนาย  E  นำเช็คไปขึ้นเงิน  แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น

ถามว่า  นาย  E  จะสามารถบังคับไล่เบี้ยเอาเงินตามเช็คจากนาย  C  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  923  “ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว  ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง”

จะเห็นว่ากฎหมายให้สิทธิผู้สลักหลังระบุข้อความห้ามโอนหรือห้ามสลักหลังต่อลงไว้ในตั๋วแลกเงินได้เช่นเดียวกับผู้สั่งจ่าย  ซึ่งถ้าผู้รับสลักหลังฝ่าฝืนข้อห้ามทำการสลักหลังโอนต่อไปอีก  ผลก็คือ  ผู้สลักหลังที่ระบุข้อความห้ามโอนไว้  ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้ทรงคนสุดท้ายตลอดจนบรรดาผู้สลักหลังทั้งหลายที่สลักหลังภายหลังผู้สลักหลังที่ถูกระบุห้ามโอนนั้น

ข  อธิบาย

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  923  ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว  ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง

มาตรา  967  วรรคแรก  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัว  หรือรวมกันก็ได้  โดยมิพักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910  914  ถึง  923…967  971

วินิจฉัย

จากข้อเจจริงนาย  B  ได้สลักหลังโดยระบุข้อความห้ามสลักหลังต่อไปไว้ด้วยนั้น  มิได้ทำให้สภาพการเปลี่ยนมือได้ของเช็คฉบับนั้นสิ้นสุดลงแต่ประการใด  เพียงแต่มีผลให้นาย  E  ไม่สามารถไล่เบี้ยนาย  B  ได้เท่านั้น  แต่สำหรับผู้สลักหลังรายอื่นๆแล้ว  ยังคงต้องรับผิดต่อนาย  E  อยู่  ตามมาตรา  900  ประกอบมาตรา  914 ,  967  วรรคแรกและสอง

ดังนั้น  นาย  E  จึงสามารถบังคับไล่เบี้ยเอาเงินตามเช็คจากนาย  C  ได้  ตามมาตรา  900 ,  914  ,  923  ,  967  วรรคแรกและวรรคสอง  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  นาย  E  สามารถไล่เบี้ยเอาเงินตามเช็คจากนาย  C  ได้

 

ข้อ  3  ก  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายในกรณีที่ธนาคารจ่ายเงินโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม

ข  แดงลงลายมือชื่อเขียนแล้วขีดคร่อมทั่วไป  สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพสาขาคลองจั่น  จ่ายเงินจำนวน  50,000  บาท  ระบุขาวเป็นผู้รับเงินโดยขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  แล้วส่งมอบเช็คนั้นชำระราคาคอมพิวเตอร์ให้แก่ขาว  ก่อนถึงกำหนดใช้เงินตามเช็ค  ขาวทำเช็คนั้นตกหายไปโดยไม่รู้ตัว  ดำเก็บได้จึงปลอมลายมือชื่อขาวสลักหลังโอนเช็คนั้นให้แก่เหลืองซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจำนวน  1  ห้อง  ต่อมาเหลืองได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารทหารไทยสาขาหัวหมากที่ตนมีบัญชีเงินฝากเรียกเก็บเงินได้สำเร็จ  และได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วทั้งหมด  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าขาวจะเรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ  ธนาคารทหารไทย  แดง  และเหลือง  ให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย  (Paying  Bank)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค  หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ  (Collecting  Bank)  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค  จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคแรก)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคสอง)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995 (4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

(2) ผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม

–          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คก็ดี  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่ผู้ทรงเช็คมิได้มีบัญชีเงินฝากก็ดี

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดหรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อลงไว้โดยเฉพาะก็ดี

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายไม่ปฏิเสธการจ่ายเงิน  หรือจ่ายเงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินก็ดี

ผล  ธนาคารผู้จ่ายต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คขีดคร่อมนั้น  (ผู้ทรงเดิม)  ในการที่น่าต้องเสียหาย  (มาตรา  997  วรรคสอง)  และไม่สามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายได้  เพราะถือว่าใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  แม้ถึงว่าจะใช้เงินไปตามทางการค้าโดยปกติ  โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม  (มาตรา  1009)

ข  อธิบาย

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา  998  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง  ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ  หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง  กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว  ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน  และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา  1000  ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี  หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้  ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น  ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

การที่แดงเขียนสั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมนั้นพร้อมทั้งส่งมอบให้ขาวแล้วอีกทั้งไม่ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ  ได้จ่ายเงินตามเช็คให้ธนาคารทหารไทยผู้เรียกเก็บเข้าบัญชีของเหลืองผู้ทรงไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่  ย่อมถือว่าธนาคารกรุงเทพ  และธนาคารทหารไทยต่างได้กระทำการโดยมิได้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การจ่ายและรับเงินตามเช็คขีดคร่อม  ธนาคารกรุงเทพจึงหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้อันเป็นผลให้แดงย่อมได้สิทธิเช่นเดียวกันกับธนาคารกรุงเทพผู้จ่าย  เสมือนว่าแดงได้ชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่ขาวแล้ว  ตามมาตรา  998  อีกทั้งธนาคารไทยผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คเพื่อเหลืองลูกค้าของตนโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อ  แม้เหลืองจะไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิบกพร่อง  ธนาคารทหารไทยก็ไม่ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คนั้นต่อขาว  ตามมาตรา  1000

อนึ่ง  การที่เช็คดังกล่าวมีลายชื่อขาวเป็นลายมือชื่อปลอม  แม้ว่าเหลืองจะรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริต  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม  เหลืองย่อมอยู่ในฐานะที่ไม่อาจไปบังคับไล่เบี้ยจากขาวได้  อีกทั้งจะยึดหน่วงเช็คนั้นไว้ก็มิได้  ดังนี้  ขาวย่อมเรียกร้องให้เหลืองคืนเงินตามเช็คนั้นให้แก่ขาวได้  ตามมาตรา  905  วรรคแรก  และวรรคสอง  ประกอบมาตรา  1008  วรรคแรก

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 2/2546

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บางเตยสั่งซื้อผ้าไหมจากบริษัทคลองตัน  จำกัด  เพื่อใช้ในการผลิตเสื้อส่งออก  โดยมีข้อตกลงว่าระยะเวลา  5  ปี  ที่จะซื้อขายกันนั้นบริษัทฯ  จะส่งผ้าไหมให้ตามจำนวนที่บางเตยสั่งซื้อพร้อมกับแจ้งราคาผ้าไหมที่จะต้องชำระไปพร้อมกันโดยบางเตยต้องตรวจสอบคุณภาพของผ้าไหมว่าตรงกับที่ต้องการหรือไม่ถ้าพบว่ามีความชำรุดบกพร่องไม่ได้คุณภาพก็ให้ส่งกลับคืนบริษัทฯ  และบริษัทฯจะนำราคาผ้าไหมที่ส่งกลับนั้นหักลบออกจากราคาที่เคยแจ้งไปครั้งแรกแล้วแจ้งกลับไปอีกครั้งหนึ่งซึ่งบางเตยจะต้องชำระภายใน  45  วันนับแต่รับคำบอกกล่าว  ถ้ายังไม่ชำระบริษัทฯจะลงรายการในบัญชีว่าบางเตยเป็นหนี้เงินอยู่จำนวนเท่าใดและจะต้องชำระในคราวต่อๆไปหรือเมื่อมีการคิดบัญชีทุกๆ  1  ปี  ดังนี้  ข้อตกลงระหว่างบางเตยกับบริษัทคลองตัน  จำกัด  เป็นบัญชีเดินสะพัดหรือไม่เพราะเหตุใด

ข  ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นมาตรา  983  บัญญัติไว้ว่า  ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นต้องมีรายการดังจะกล่าวต่อไปนี้…  (5)  ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน  ดังนั้นถ้ามีผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีรายการตามที่มาตรา  983  บัญญัติไว้ครบถ้วนโดยมีการระบุชื่อบุคคลเป็นผู้รับเงิน  แต่มีการเขียนว่า  ให้ใช้เงินแก่  หรือผู้ถือ  ด้วย  ดังนี้คำว่า  หรือผู้ถือ  มีผลอย่างไรหรือไม่กับตั๋วสัญญาใช้เงิน

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ข้อตกลงระหว่างบางเตยกับบริษัทคลองตัน  จำกัด  นั้นเป็นการซื้อขายผ้าไหมที่บางเตยลูกหนี้ผู้ซื้อมีหนี้ที่จะต้องชำระราคาให้กับบริษัทคลองตัน  จำกัด  ผู้ขายเจ้าหนี้  แม้จะมีการหักลบราคาผ้าไหมที่ไม่ได้คุณภาพออกจากราคาที่เคยแจ้งไปก็เป็นการหักลบหนี้ที่บางเตยลูกหนี้จะต้องชำระให้กับเจ้าหนี้เท่านั้น  ไม่มีหนี้ในส่วนที่บริษัทคลองตัน  จำกัดเป็นลูกหนี้และบางเตยเป็นเจ้าหนี้  ข้อตกลงระหว่างลางเตยกับบริษัทคลองตัน  จำกัด  จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นหรือในชั่วเวลาอันกำหนดให้มีการนำหนี้ที่ต่างฝ่ายเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันทั้งหมดหรือแต่บางส่วนมาตัดทอนบัญชีโดยการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด

สรุป  ข้อตกลงระหว่างบางเตยกับบริษัทคลองตัน  จำกัด  จึงมิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

ตามมาตรา  983(5)  ได้วางหลักว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นต้องมีชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินไว้เสมอ  ถือเป็นรายการสำคัญที่ต้องมี  ถ้ามิได้ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน  ย่อมไม่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน  ตามมาตรา  984  วรรคแรก  จะละไว้ในฐานที่เข้าใจไม่ได้  หรือจะระบุเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินแก่ผู้ถือดังเช่นตั๋วแลกเงินและเช็คไม่ได้

ดังนั้นการที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีรายการตามมาตรา  983  ครบถ้วนโดยมีการระบุชื่อบุคคลเป็นผู้รับเงิน  แต่มีการเขียนว่าให้ใช้เงินแก่  หรือผู้ถือ  ด้วย  ดังนี้

วินิจฉัย

ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวยังคงเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีความสมบูรณ์  เพราะมีการระบุชื่อของบุคคลเป็นผู้รับเงิน  ตามมาตรา  983(5)  แล้ว แม้ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะได้เขียนถ้อยคำเพิ่มเข้าไปว่าให้ใช้เงินแก่  หรือผู้ถือ  ด้วยก็ตาม  แต่ไม่มีผลตามกฎหมายเพราะเป็นกรณีที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเขียนข้อความลงในตั๋วเงินแต่เป็นข้อความที่กฎหมายตั๋วเงินมิได้มีบัญญัติไว้  ข้อความนั้นๆย่อมไม่มีผลแต่อย่างใด  กล่าวคือ  ไม่เป็นผลให้ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลายเป็นตั๋วผู้ถือ  ตามมาตรา  899    ซึ่งมีหลักว่า  ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้  ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน  ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

 

ข้อ  2  ก  ธนาคารสามารถที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้นำมาขึ้นเงินกับธนาคารได้หรือไม่  อย่างไร  ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  นายนิคได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารกรุงทอง  จำกัด  (มหาชน)  โดยในคำขอเปิดบัญชีนั้นมีข้อความหนึ่งระบุว่า  ถ้าผู้ฝากเงินออกเช็คจ่ายเงินมาแล้ว  เงินในบัญชีไม่พอจ่ายธนาคารจ่ายเงินไปผู้ฝากเงินจะต้องชดใช้คืนเงินให้แก่ธนาคาร  ต่อมานายนิคได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวจำนวน  100,000  บาท  ให้แก่นายเต้เพื่อชำระค่าสินค้าและเมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงิน  นายเต้ได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารฯ ใช้เงินตามเช็คปรากฏว่าเงินในบัญชีฯ  คงเหลืออยู่เพียงจำนวน  99,000  บาท  แต่ธนาคารฯก็ยินยอมจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นายเต้ไปเป็นจำนวน  100,000  บาท  เพราะเห็นว่ามีข้อตกลงกันไว้แล้วในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่า  ถ้าธนาคารจ่ายไปผู้ฝากก็จะต้องชำระคืนแก่ธนาคารตามข้อความที่ปรากฏในคำขอเปิดบัญชี

ถามว่า  จากกรณีดังกล่าวการกระทำของธนาคารที่ชำระเงินเต็มจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คให้แก่นายเต้นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และธนาคารจะสามารถเรียกเงินในส่วนที่จ่ายเกินไปจำนวน  1,000  บาทนั้นคืนจากนายนิคได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค  (Paying  Bank)  มีความผูกพันทางกฎหมาย  (นิติสัมพันธ์)  ในการใช้เงินตามเช็คต่อผู้เคยค้า  (ผู้สั่งจ่าย)  จากบัญชีกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายคือ  ธนาคารผู้จ่ายจำต้องใช้เงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่าย  (ผู้เคยค้า)  ได้เซ็นสั่งจ่ายเพื่อเบิกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น  เว้นแต่ธนาคารผู้จ่ายอาจใช้ดุลพินิจจ่ายหรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามคำสั่งจ่ายเช็คนั้นก็ได้  หากมีข้อใดข้อหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา  991  ดังนี้คือ

 (1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า  (ผู้สั่งจ่าย)  เป็นเจ้าหนี้พอจ่ายตามเช็คนั้น  หรือ

(2) มีผู้นำเช็คที่ผู้เคยค้าเป็นผู้สั่งจ่ายนั้นมายื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายใช้เงินเมื่อพ้น  6  เดือน  นับแต่วันออกเช็ค  (วันเดือนปีที่ลงในเช็ค)  หรือ

(3) มีการบอกกล่าวว่าเช็คที่ธนาคารรับไว้นั้นเป็นเช็คที่หายหรือถูกลักไป

อนึ่ง  มาตรา  992  ได้วางหลักว่าในกรณีดังต่อไปนี้เป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายสิ้นอำนาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คที่ผู้เคยค้าได้เซ็นสั่งจ่ายเบิกเงินจากบัญชีของเขา  คือ

 (1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คนั้นโดยผู้สั่งจ่ายเช็คเอง

(2) ธนาคารผู้จ่ายทราบว่าผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นถึงแก่ความตาย

(3) ธนาคารผู้จ่ายรู้ว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายหรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น

ข  อธิบาย

มาตรา  991  ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารให้ออกเบิกเงินแก่ตน  เว้นแต่ในกรณีดั่งกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น  หรือ

(2) เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็คหรือ

(3) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป

วินิจฉัย

ตามปกติธนาคารมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คที่ลูกค้าของธนาคารสั่งจ่ายออกไปให้มาเบิกกับธนาคาร  แต่ก็มีข้อยกเว้นโดยกฎหมายที่ให้ธนาคารมีสิทธิใช้ดุลพินิจที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คก็ได้  หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา  991  คือ

 (1) เงินในบัญชีของลูกค้าไม่พอจ่าย

(2) ยื่นเช็คให้ใช้เงินเกิน  6  เดือนนับแต่วันออกเช็ค

(3) มีคำบอกกล่าวว่าเช็คหายหรือถูกลักไป

ตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่เงินในบัญชีของนายนิคลูกค้าของธนาคารกรุงทองมีไม่พอจ่ายตามเช็ค  แต่เนื่องจากมีข้อตกลงกันไว้ว่า  ถ้าผู้ฝากเงินมีเงินไม่พอจ่าย  ธนาคารสามารถจ่ายเงินตามเช็คได้โดยผู้ฝากเงินต้องชดใช้คืนให้กับธนาคาร  ดังนั้นการที่ธนาคารฯจ่ายเงินเต็มจำนวนในเช็คคือ  100,000  บาท  ให้แก่นายเต้จึงชอบด้วยกฎหมาย  และธนาคารก็สามารถเรียกเงินในส่วนที่จ่ายเกินไป  1,000  บาทนั้นคืนจากนายนิคได้  เพราะมาตรา  991  นั้นเป็นเหตุที่ธนาคารจะใช้ดุลพินิจจ่ายหรือไม่ก็ได้  ประกอบกับมีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว  ธนาคารจึงมีสิทธิที่จะจ่ายได้  (แต่ถึงแม้จะไม่มีข้อตกลงดังกล่าวนั้นไว้ก็ตาม  ธนาคารก็อาจใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คไปก็ได้  เพื่อเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือของลูกค้าและสามารถเรียกเงินคืนได้เช่นกัน  เพราะปัจจุบันวิธีปฏิบัติแบบนี้กลายเป็นจารีตประเพณีทางการค้าไปแล้ว)

สรุป  การกระทำของธนาคารชอบด้วยกฎหมาย  และธนาคารสามารถเรียกเงินส่วนที่เกินคืนจากนายนิคได้

 

ข้อ  3  ก  ตั๋วเงินที่มีการแก้ไขข้อความสำคัญ  เช่น  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  และตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อปลอม  จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขปพร้อมอ้างอิงหลักกฎหมาย  และอนุญาตให้นำหลักกฎหมายไปใช้ในการวินิจฉัยในข้อ  ข

ข  ข้อเท็จจริงได้ความว่าโทเป็นผู้รับเงินตามเช็คธนาคารอ่าวไทย  เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปที่สั่งจ่ายล่วงหน้าโดยเอก  ระบุจำนวนเงินในเช็ค  50,000  บาท  โทถึงแก่ความตายก่อนเช็คถึงกำหนดตรีทายาทรายหนึ่งของโทได้แก้ไขจำนวนเงินตามเช็คเป็น  150,000  บาท  ได้อย่างแนบเนียนพร้อมกับปลอมลายมือชื่อโทสลักหลังลอย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าธนาคารอ่าวไทยจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของเอกได้เพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย 

กรณีตามปัญหา  มีประเด็นอธิบาย  2  ประเด็น  คือ  การแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน  และการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน  กล่าวคือ

 (1) ในกรณีที่มีการแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน  เช่น  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  (มาตรา  1007  วรรคสาม)  นั้น  กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติผลตามกฎหมายไว้  2  กรณี  คือ

กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นประจักษ์  กล่าวคือ  มองเห็นได้หรือมีการแก้ไขไม่แนบเนียนหรือเห็นเป็นประจักษ์นั่นเอง  โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้น  ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินเสียไป  แต่ยังคงใช้ได้กับผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  (มาตรา  1007  วรรคแรก)

กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ประจักษ์  กล่าวคือ  มองไม่เห็น  หรือมีการแก้ไขได้อย่างแนบเนียน  หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์  และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้  เสมือนว่าตั๋วเงินนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นตามเนื้อความเดิมก็ได้  (มาตรา  1007  วรรคสอง)

(2) ในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1006  ได้บัญญัติให้ตั๋วเงินนั้นยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้  ลายมือชื่อปลอมนั้นโดยหลักการแล้ว  ไม่มีผลกระทบไปถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่ออื่นๆในตั๋วเงินนั้น  ขณะเดียวกันกฎหมายตั๋วเงิน  ป.พ.พ.  มาตรา  1008  ได้บัญญัติให้ลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย  ผู้ใดจะแสวงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้มิได้

 2.1 ผู้ใดจะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้  เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง  อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกเหตุลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

2.2 ผู้ใดจะทำให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้  เว้นแต่  ได้ใช้เงินไปในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม

2.3 ผู้ใดจะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้  เว้นแต่คู่สัญญาผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

อนึ่งลายมือชื่อปลอมนั้น  กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม  ให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อปลอมนั้น  กรณีย่อมเป็นผลให้เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมตลอดไป

ข  อธิบาย

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  1007  ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด  หรือในคำรับรองตั๋วเงินใด  มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้  ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย  เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด                ๆ  แก่วันที่ลง  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  เวลาใช้เงิน  สถานที่ใช้เงินกับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย

วินิจฉัย

เช็คธนาคารอ่าวไทยเป็นเช็คที่มีการแก้ไขจำนวนเงินอันจะพึงใช้อันเป็นรายการสำคัญรายการหนึ่งได้อย่างแนบเนียน  กับทั้งมีการสลักหลังปลอมลายมือชื่อผู้รับเงิน  โดยการกระทำของตรีซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตรีจึงมิใช่ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  905  ดังนี้  แม้ว่าธนาคารอ่าวไทยผู้จ่ายจะจ่ายเงินไปให้ธนาคารสินไทยโดยสุจริต  เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของตรี  ธนาคารอ่าวไทยก็ไม่สามารถหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของเอกได้เลย  (ทั้งจำนวนเงินตามเนื้อความเดิมและจำนวนเงินตามที่แก้ไขใหม่)  เพราะตรีมิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  (ตามมาตรา  1007  วรรคสองและวรรคสาม)

สรุป  ธนาคารอ่าวไทยไม่สามารถหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของเอกได้เลย

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด S/2546

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายชิตได้ตกลงเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารแสงโสมจำกัด  (มหาชน)  โดยในคำขอเปิดบัญชีฯนั้นมีข้อตกลงหนึ่งระบุว่า  ถ้าเงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายตามเช็คแต่ธนาคารได้จ่ายเงินให้ไปก่อน  ผู้ฝากเงินจะต้องจ่ายเงินส่วนที่จ่ายเกินไปนั้นคืนให้แก่ธนาคารเสมือนหนึ่งได้ขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารและธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีนั้นเป็นดอกเบี้ยแบบทบต้นได้  และต่อมานายชิตได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีฯ  ดังกล่าว  และสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเรื่อยมา  ซึ่งบางครั้งเงินในบัญชีไม่พอจ่ายธนาคารแสงโสมฯ  ก็ยินยอมจ่ายเงินตามเช็คที่นายชิตสั่งจ่ายมานั้นทุกครั้ง  และนายชิตก็ได้นำเงินมาชำระคืนในส่วนที่เกินบัญชีนั้นทุกครั้งเช่นกัน  ในกรณีดังกล่าวนั้นถือว่านายชิตได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารแสงโสมฯจำกัด  (มหาชน)  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ในกรณีของตั๋วแลกเงินนั้น  ผู้ทรงสามารถที่จะทำการผ่อนเวลาการใช้เงินตามตั๋วฯ  ให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรองได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงนั้น  ข้อความที่ปรากฏในคำขอเปิดบัญชีฯ  ประกอบด้วยการกระทำของนายชิตจากการจ่ายเช็คเกินวงเงินในบัญชี  และธนาคารฯ  ก็ยินยอมจ่ายให้โดยที่นายชิตก็ได้นำเงินมาชำระคืนในส่วนที่เกินนั้นทุกครั้ง  อย่างนี้ให้ถือว่าตกลงทำสัญญาเดินสะพัดต่อกันแล้ว  ดังนั้นจึงถือว่านายชิตได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารแสงโสมแล้ว  (ฎ. 1629/2537)

สรุป  นายชิตได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารแสงโสมแล้ว

ข  อธิบาย

โดยหลักแล้วในการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น  กฎหมายตั๋วเงินห้ามมิให้ผู้ทรงยอมผ่อนเวลาในการใช้เงินให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรอง  ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา  903

ในกรณีของตั๋วแลกเงินก็เช่นเดียวกัน  ผู้ทรงจะต้องไม่ยอมผ่อนเวลาในการใช้เงินให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรอง  แต่ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนวันใช้เงินให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรอง  ย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยคู่สัญญาคนก่อนๆ  (ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังคนก่อนๆ)  ซึ่งมิได้ตกลงด้วยในการผ่อนวันใช้เงินนั้นตามมาตรา  906  ประกอบมาตรา  948

 

ข้อ  2  ก  ตามกฎหมายนั้นได้มีบทบัญญัติที่ระบุข้อที่ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้หรือไม่  อย่างไร

ข  นายจิตสั่งจ่ายเช็คจำนวน  500,000  บาท  ชำระหนี้ค่าเหล็กเส้นให้แก่นางจอย  ต่อมานางจอยนำเช็คฉบับดังกล่าวโอนชำระหนี้ค่าซื้อขายทองคำ  99%  ที่นางจอยตกลงซื้อมาจากนางสาวเจี๊ยบให้แก่นางสาวเจี๊ยบ  โดยในสัญญาซื้อขายทองคำนั้นได้มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขไว้ว่าหากได้มีการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบทองคำดังกล่าวแล้ว  ปรากฏว่ามิใช่ทองคำ  99%  จริงก็ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายนั้นไม่มีผลบังคับต่อกัน  ซึ่งปรากฏว่าเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบทองคำดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นทองคำ  50%  เท่านั้น  นางจอยจึงทำการส่งมอบทองคำนั้นคืนให้แก่นางสาวเจี๊ยบและขอเช็คฉบับดังกล่าวคืนจากนางสาวเจี๊ยบด้วย  แต่ปรากฏว่านางสาวเจี๊ยบกลับนำเช็คฉบับดังกล่าวนั้นมาฟ้องนายจิตให้รับผิดใช้เงินตามเช็คในฐานะผู้สั่งจ่าย  กรณีดังกล่าวนี้นายจิตมีข้อต่อสู้หรือข้ออ้างใดๆที่จะสามารถอ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องชำระเงินให้แก่นางสาวเจี๊ยบหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ตาม  ป.พ.พ.  ได้บัญญัติหลักการคุ้มครองผู้รับโอนตั๋วเงินโดยสุจริตไว้ในมาตรา  916  ซึ่งมีหลักคือ  บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนๆนั้นได้ไม่  เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

จากหลักดังกล่าวนี้สามารถอธิบายได้ว่า  ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายคนใดได้รับตั๋วมาโดยสุจริตมิได้คบคิดฉ้อฉลกับผู้โอนตั๋วมาให้ตนแต่ประการใด  ผู้ทรงคนนั้นมีสิทธิฟ้องให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วต้องรับผิดชอบตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้นได้ทุกคน  ผู้ที่ถูกไล่เบี้ยจะอ้างว่าข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือตนกับผู้ทรงคนก่อนๆนั้นมาต่อสู้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายและสุจริตนั้นไม่ได้

อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า  แม้ผู้ทรงนั้นจะสุจริตและเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามแต่ถ้าปรากฏว่าข้อต่อสู้ที่ยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงนั้น  เป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินนั้นเอง  เช่น  ตั๋วขาดอายุความใช้เงินแล้ว  ฯลฯ  เหล่านี้สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมายนั้นได้

ข  อธิบาย

มาตรา  916  บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนนั้นได้ไม่  เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910  914  ถึง 923…

วินิจฉัย

โดยปกติบุคคลผู้ถูกฟ้องตามตั๋วเงินไม่อาจจะยกข้ออ้างหรือข้อต่อสู้ใดๆที่ว่าไม่มีมูลหนี้ตามตั๋วเงินฉบับนี้ได้  2  กรณี  คือ

 1       ข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวกันเฉพาะบุคคลระหว่างผู้ถูกฟ้องกับผู้สั่งจ่าย

2       ข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างผู้ถูกฟ้องกับผู้ทรงคนก่อนๆคือ  ผู้ทรงคนก่อนจากผู้ทรงคนปัจจุบันที่เป็นผู้ฟ้อง  และรวมถึงผู้สลักหลังคนก่อนๆด้วย

แต่หากไม่เกี่ยวกับ  2  กรณีนี้เลย  ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  916  ดังนั้น  ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีที่สิทธิของนางสาวเจี๊ยบซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายจิตนั้นบกพร่องเสียเอง  กล่าวคือ  เงื่อนไขบังคับก่อนไม่สำเร็จ  สัญญาซื้อขายระหว่างนางสาวเจี๊ยบกับนางจอยไม่มีต่อกันแล้ว  จึงไม่มีมูลหนี้ที่นางสาวเจี๊ยบจะได้รับเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวเลย  ดังนั้นนางสาวเจี๊ยบจึงฟ้องเรียกเงินจากนายจิตไม่ได้  นายจิตสามารถยกขึ้นต่อสู้นี้ขึ้นอ้างเพื่อจะต้องไม่ชำระเงินให้แก่นางสาวเจี๊ยบได้  (ฎ. 2932/2519)

 

ข้อ  3  ก  ตั๋วเงินที่มีการปลอมลายมือชื่อหรือมีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นทำให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง

ข  แอนออกเช็คฉบับหนึ่งสั่งธนาคารตามเช็คให้จ่ายเงินจำนวน  500,000  บาท  ให้แก่อ้อมเพื่อชำระหนี้ที่มีต่อกัน  ต่อมาอั๋นซึ่งเป็นบุตรชายของอ้อมได้ปลอมลายมือชื่อของอ้อมสลักหลังโอนเช็คนั้นให้กับกิ๊กซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของอ้อมจากนั้นกิ๊กได้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวให้กับก้องเพื่อชำระหนี้ที่มีต่อกัน  เมื่อก้องได้รับเช็คมาแล้วก้องก็ได้สอบถามอ้อมว่าได้สลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้กิ๊กมาหรือไม่  เพราะลายมือชื่อของอ้อมที่ปรากฏในเช็คแตกต่างจากลายมือชื่อของอ้อมที่ตนเคยเห็นมาก่อนและอ้อมก็ยอมรับว่าลายมือชื่อนั้นเป็นของตนจริงๆ เพราะเกรงว่าอั๋นจะได้รับโทษจากการปลอมลายมือชื่อ  ดังนี้หากต่อมาอ้อมโกรธอั๋นจึงทำการเรียกเช็คนั้นคืนจากก้องโดยอ้างว่าเช็คฉบับดังกล่าวมีลายมือชื่อปลอม  ตนมิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อนั้นในเช็คแต่อย่างใด  ก้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงเช็คฉบับดังกล่าวนั้นไว้ต้องคืนให้แก่ตน  จากกรณีดังกล่าวนั้นก็จะต้องคืนเช็คให้แก่อ้อมตามที่อ้อมเรียกร้องมาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อปลอมกับตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นมีผลทางกฎหมายดังนี้

–          กรณีที่เหมือนกัน  คือ  ตั๋วเงินนั้นย่อมเสียไปทั้งฉบับสำหรับเจ้าของลายมือชื่อ  ซึ่งถูกปลอมลายมือชื่อ  และเจ้าของลายมือชื่อซึ่งมิได้มอบอำนาจ  อีกทั้งเป็นผลให้ผู้ใดจะแสวงสิทธิจากลายมือชื่อทั้งสองนั้นเพื่อยึดหน่วงเช็คนั้นไว้ก็ดี  หรือเพื่อทำให้หลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดตามมูลหนี้ในตั๋วเงินนั้นก็ดี  ย่อมไม่อาจกระทำได้  เว้นแต่บุคคลซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วง  หรือจะพึงถูกบังคับการใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้  (มาตรา  1008  วรรคแรก) 

–          กรณีที่แตกต่างกัน  คือ  ตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและหรือลายมือชื่อผู้สลักหลังชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม  เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม  ไม่อาจให้สัตยาบันได้  หากแสดงออกด้วยการยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อตนเอง  กรณีย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทหรือถูกปิดปากมิให้ยกลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้  ขณะที่ลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจากอำนาจ  เจ้าของลายมือชื่อที่เขาลงไว้โดยมิได้มอบอำนาจอาจให้สัตยาบันได้  และกลายเป็นการลงลายมือชื่อโยได้รับมอบอำนาจ  (มาตรา  1008  วรรคท้าย)

ข  อธิบาย

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

การกระทำของอ้อมที่ยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อของตนจริงๆเพราะเกรงว่าอั๋นจะได้รับโทษจากการปลอมลายมือชื่อนั้น  เป็นการทำให้ตนเองนั้นถูกตัดบท  มิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือข้ออ้างให้ต้องคืนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ตนได้ตามมาตรา  1008  วรรคแรก  ดังนั้นจากกรณีดังกล่าว  ก้องไม่ต้องคืนเช็คให้แก่อ้อมตามที่อ้อมเรียกร้องมาแต่อย่างใด

สรุป  ก้องไม่ต้องคืนเช็คให้แก่อ้อม

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  บุญมีออกทุนให้สำรวยเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำประมงจำนวน  2  ล้านบาท  ต่อการออกทะเลจับปลาแต่ละครั้ง  เป็นเวลา  5  ปี  โดยให้เบิกเงินสด  น้ำมัน  น้ำแข็ง  โดยบุญมีจะจดบัญชีเป็นจำนวนเงินทั้งหมดตามที่สำรวยเอาไปจริงและเมื่อสำรวยได้ปลามาแล้วจะต้องส่งมอบให้แก่บุญมีเพื่อนำไปขายส่งให้กับทองจันทร์  เมื่อขายได้บุญมีจะหักเงินไว้  10  เปอร์เซ็นเป็นค่าตอบแทนในการขายปลา  แล้วส่งใบเสร็จรับเงินค่าปลาให้สำรวยเก็บไว้เพื่อตรวจสอบและมีข้อตกลงหักทอนบัญชีกันทุกๆ  3  เดือน  เพื่อจะได้ทราบว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้  ลูกหนี้จำนวนเท่าใดโดยมีสมุดบัญชีเบิกเงินรายวัน  สมุดบัญชีน้ำมัน  สมุดบัญชีน้ำแข็ง  สมุดบัญชีฝากขายปลาเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ  ดังนี้  นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับสำรวยเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ผู้ทรงที่รับโอนตั๋วแลกเงินมาโดยการสลักหลังลอย  สามารถโอนตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนได้อย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ข้อตกลงระหว่างบุญมีกับสำรวยเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีได้ตกลงกันว่า  ชั่วระยะเวลา  5  ปี  ที่กำหนดนั้น  ให้เอาหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างเขาทั้งสองที่มีการจดบัญชีกันไว้  มาตัดทอนกันทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยการหักกลบลบกัน  และชำระแต่ละส่วนที่จำนวนคงเหลือ  โดยดุลภาคอันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด

สรุป  ข้อตกลงระหว่างบุญมีกับสำรวยเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย 

การสลักหลังลอย  คือ  การที่ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อของตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน  โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์  (ผู้รับสลักหลัง)  มาตรา  919  วรรคสอง

ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินมาโดยการสลักหลังลอย  สามารถโอนตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนได้  ตามมาตรา  920  วรรคสอง  ซึ่งสามารถเลือกโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปได้ใน  3  วิธีดังต่อไปนี้  คือ

(1) กรอกข้อความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง  (เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้)

 (2) ผู้รับโอนตั๋วมาด้วยการสลักหลังลอยนั้น  อาจสลักหลังตั๋วเงินต่อไปได้อีก  โดยเป็นการสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง  คือ  ได้รับตั๋วมาแล้วก็สลักหลังลอยต่อไปอีก  หรือว่าสลักหลังเฉพาะ  คือ  สลักหลังให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้

 (3) โอนตั๋วนั้นให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกข้อความในที่ว่างและไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด  กรณีนี้ก็เหมือนกับวิธีการโอนตั๋วผู้ถือ  แม้เป็นตั๋วระบุชื่อแต่เมื่อมีการสลักหลังลอยมาก็ส่งมอบต่อไปเลย  คนที่ส่งมอบไปนั้นก็ไม่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นเพราะไม่ได้ลงชื่อในตั๋วเงินนั้นเลย

 

ข้อ  2  ก  ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะต้องงดเว้นการใช้เงินตามเช็คในกรณีใดบ้าง  ให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  ก้องทำสัญญาจ้างโก้ให้ทำการตกแต่งภายในบ้านพักของก้องโดยตกลงค่าจ้างกันเป็นเงินจำนวน  200,000  บาท  เมื่อโก้ทำการตกแต่งภายในบ้านของก้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก้องจึงได้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  จำนวน  200,000  บาท  ให้แก่โก้เพื่อชำระราคาค่าจ้างตกแต่งฯดังกล่าว  แต่หลังจากนั้นก้องได้ตรวจพบว่าโก้ตกแต่งภายในบ้านพักของตนไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้  จึงได้แจ้งให้โก้แก้ไขให้ถูกต้อง  แต่โก้ไม่ยินยอมแก้ไขให้โดยอ้างว่าตนตกแต่งให้ถูกต้องตามที่ตกลงกันแล้ว  ก้องไม่พอใจจึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ก้องสั่งจ่ายชำระหนี้  ค่าตกแต่งฯให้แก่โก้ไปนั้น  ต่อมาเมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินโก้ได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  เพื่อให้จ่ายเงินตามเช็คให้  แต่ธนาคารฯได้ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนั้นให้แก่โก้  เพราะเห็นว่าก้องได้มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารฯ  ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวแล้ว  แม้ว่าในขณะนั้นจะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินในบัญชีของก้องมีเพียงพอที่ธนาคารฯ  จะสามารถจ่ายให้แก่โก้ได้ก็ตาม

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมานั้น  โก้จะสามารถเรียกให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ต้องจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  992  หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

 (1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

(2) รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย

(3) รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว  หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย  หรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น

บทบัญญัติมาตรา  992  ดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นบทบังคับว่าถ้ามีกรณีดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นแล้วธนาคารต้องงดการจ่ายเงิน  จะจ่ายเงินไม่ได้  ถ้าจ่ายไปก็ต้องรับผิดต่อลูกค้าเอาเอง

เหตุที่ต้องงดการจ่ายเงินตามเช็คตามมาตรา  992

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินของผู้สั่งจ่าย

(2) รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย  ถ้าธนาคารรู้ก็จ่ายไม่ได้  ถ้าไม่รู้ก็ยังจ่ายได้  ถ้ารู้ว่าผู้สั่งจ่ายตายแล้ว  ยังขืนจ่ายไปอีกก็ต้องรับผิดต่อทายาทของผู้สั่งจ่าย

(3) รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว  คือรู้ว่ามีการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาล้มละลาย  กรณีเหล่านี้ต้องงดการจ่ายเงิน  แม้ว่ายังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม  ธนาคารก็มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้  ผู้ล้มละลายต่อไป

ข  อธิบาย

มาตรา  992  หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่ก้องผู้สั่งจ่ายเป็นผู้มีคำบอกห้ามการใช้เงินไปยังธนาคารฯ  ดังนั้นหน้าที่และอำนาจของธนาคารฯ  ซึ่งจะใช้เงินตามเช็คฉบับดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดไป  การที่ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คให้แก่โก้นั้นจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  โก้จะเรียกร้องให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ให้ใช้เงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ตนไม่ได้

สรุป  โก้ไม่สามารถเรียกให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  จ่ายเงินตามเช็คได้

 

ข้อ  3  ก  บุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็ค  และเขียนข้อความห้ามเปลี่ยนมือลงไว้บนเช็ค

ข  เช็คพิพาทเป็นเช็คธนาคารกรุงทอง  เป็นเช็คระบุชื่อศักดิ์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน  ซึ่งศักดิ์ได้รับเช็คฉบับนี้จากสมผู้สั่งจ่ายเนื่องจากมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้า  ขณะรอเรียกเก็บเงินตามเช็ค  ศักดิ์ได้ขีดคร่อมเช็คพิพาทดังกล่าว  พร้อมทั้งได้เขียนข้อความว่า  “A/C  PAYEE  ONLY”  ลงไว้ในระหว่างรอยขีดคร่อมนั้นด้วยความประมาทเลินเล่อและหลงลืมศักดิ์ทำเช็คพิพาทนั้นตกหายไปโดยไม่รู้ตัว  สิทธิ์เก็บได้แล้วต่อมาได้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอย  เช็คนั้นชำระหนี้ให้แก่ซื่อซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตอีกทั้งไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  โดยเชื่อตามคำกล่าวอ้างของสิทธิ์เองที่ได้อ้างกับซื่อว่าลายมือชื่อในคำสลักหลังนั้นเป็นลายมือชื่อของศักดิ์  ทำให้ซื่อหลงเชื่อจึงตกลงรับเช็คนั้นไว้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าซื่อเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และระหว่างศักดิ์กับซื่อบุคคลใดมีสิทธิในเช็คนั้นดีกว่ากัน  อนึ่งหากธนาคารกรุงทองผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน  ให้ท่านวินิจฉัยว่าซื่อจะบังคับไล่เบี้ยให้บุคคลใดต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็ค  ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค  อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(2) ผู้ทรงเช็ค  อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(3) ธนาคาร  ต้องเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเท่านั้น  มาตรา  995(1)  (2)  (4)  และ  (5)

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความห้ามโอน  หรือห้ามเปลี่ยนมือ  หรือความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน  ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค  (มาตรา  917  วรรคสองประกอบมาตรา  989  วรรคแรก)

(2) ผู้สลักหลังเช็ค  (มาตรา  923  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก)

(3) ผู้ทรงเช็คขีดคร่อม  (มาตรา  995 (3))

ข  อธิบาย

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  999  บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า  ห้ามเปลี่ยนมือ  ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามเปลี่ยนมือ  (A/C  PAYEE  ONLY)  โดยศักดิ์ผู้ทรงเช็คผู้ถือเดิม  และเป็นเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อศักดิ์โดยสิทธิ์  เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามปัญหาและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ขอวินิจฉัยทั้งสามประเด็นดังนี้

(1) ชื่อไม่เป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีลายมือชื่อปลอมตามมาตรา  905  ประกอบมาตรา  1008  วรรคแรก

(2) ระหว่างศักดิ์กับซื่อนั้น  ศักดิ์ผู้ทรงเดิมย่อมมีสิทธิในเช็คนั้นดีกว่า  ตามมาตรา  999  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา  905

(3) ซื่อจะบังคับไล่เบี้ยบุคคลใดให้ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทมิได้  เพราะมิใช่ผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  905  ประกอบมาตรา  1008  วรรคแรก

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด S/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  เล็กได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  โดยในคำขอเปิดบัญชีฯนั้น  มีข้อหนึ่งกำหนดว่า  ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค  แต่ธนาคารได้จ่ายเงินตามเช็คให้ไป  ผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งที่ธนาคารจ่ายเงินเกินไปคืนให้กับธนาคารเสมือนหนึ่งว่าได้ขอเบิกเกินบัญชีกับธนาคาร  และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่เบิกเกินบัญชีนั้นเป็นดอกเบี้ยทบต้น  ต่อมาเล็กได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีฯดังกล่าวเกินกว่าวงเงินที่ตนฝากไว้หลายครั้ง  และมีการนำเงินฝากเข้าบัญชีฯ  เพื่อลดยอดหนี้บ้าง  ดังนี้การกระทำระหว่างเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  ดังที่กล่าวมานั้น  ถือว่าเป็นการทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  655  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ  แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง  คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้  แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

 ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี  ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี  หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

ข  นาย  A  สั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวน  10,000  บาท  ระบุชื่อ  นาย  B  เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ออก  แล้วส่งมอบให้แก่นาย  B  เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  ต่อมานาย  B  ได้สลักหลังเฉพาะโอนให้แก่นาย  C  เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายสินค้า  โดยในการสลักหลังนั้นนาย  B  ได้ระบุถ้อยคำว่า  โอนให้นาย  C  แต่ข้าพเจ้ายอมรับผิดเพียง  5,000  บาท  ดังนี้  การสลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวของนาย B  ตามที่กล่าวมานั้นมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

การที่ในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างเล็กกับธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  นั้น  มีข้อตกลงว่าหากธนาคารจ่ายเงินเกินบัญชีให้ไปแล้วให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามีข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชี  ถือว่าเป็นการตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างกันแล้วประกอบกับเล็กก็ทำการเบิกเงินเกินบัญชีไปหลายครั้ง  และมีการนำเงินเข้าฝากบัญชีเพื่อลดหนี้บ้าง  จึงถือว่าเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด (มหาชน)  ได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้วเพราะเป็นไปตามองค์ประกอบของมาตรา  856  (ฎ. 1629/2537)

สรุป  การกระทำระหว่างเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

มาตรา  915  ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใดๆก็ดี  จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้  คือ

 (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914,  ถึง  923, 925 , 926, 938  ถึง  940, 945, 946, 959, 967, 971

วินิจฉัย

การสลักหลังโอนเช็คของนาย  B  นั้น  ถือเป็นกรณีที่ผู้สลักหลังจดข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของตนต่อผู้ทรงตั๋วฯ  ตามมาตรา  915(1) มิใช่การสลักหลังโอนบางส่วนแต่อย่างใด  จึงถือว่าเป็นการโอนตั๋วฯตามปกติเพียงแต่นาย  B  ขอจำกัดความรับผิดของตนเพียง  5,000 บาทเท่านั้น  ตามมาตรา  915(1)  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  การสลักหลังโอนเช็คของนาย  B  มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 

ข้อ  2  ก  ผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินมีความรับผิดตามตั๋วฯ  เป็นอย่างไร  และจะสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วฯนั้นได้ด้วยเหตุใดบ้าง

ข  ปริกสั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  และส่งมอบให้แก่ปิ่นเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  ต่อมาปิ่นได้ไปเล่นพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศในบ่อนพนันของปอ  แล้วปิ่นแพ้พนันต้องจ่ายเงินค่าพนันให้กับปอเป็นเงิน  100,000  บาท  แต่ปิ่นไม่มีเงินจ่ายค่าพนันให้แก่ปอ  ปอจึงขู่ว่าจะให้ลูกน้องทำร้ายปิ่นหากปิ่นไม่ยินยอมชำระเงินค่าพนันให้แก่ปอ  ด้วยความกลัวปิ่นจึงได้สลักหลังเช็คฉบับที่รับมาจากปริกดังกล่าวนั้น  แล้วส่งมอบชำระหนี้พนันให้แก่ปอไป  ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน  ปอได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค  แต่ธนาคารฯปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอ  ปอจึงมาเรียกให้ปิ่นใช้เงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอ  โดยอ้างว่าปิ่นเป็นผู้สลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอจึงต้องรับผิดใช้เงินให้แก่ปอ  ปิ่นจึงมาปรึกษาท่านว่าตนจะต้องรับผิดจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ปอตามที่ปอเรียกร้องมาหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ให้นักศึกษาตอบคำถามโดยอาศัยหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสัญญาตั๋วเงินตามที่ได้ศึกษามา)

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ความรับผิดของผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินเป็นไปตามมาตรา  940  วรรคแรก  ซึ่งมีหลักคือ

ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน  หมายถึง  รับผิดในจำนวนเงินเท่ากับผู้ที่ตนเข้าประกัน  (เว้นแต่ผู้รับอาวัลจะขอรับอาวัลบางส่วน)

ผู้รับอาวัลต้องรับผิดเสมอ  แม้บางกรณีผู้ซึ่งตนประกันอาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากทำผิดแบบหรือระเบียบ  (มาตรา  940  วรรคสอง)

การหลุดพ้นความรับผิดตามตั๋วแลกเงินของผู้รับอาวัลนั้น  โดย

 1       ตามมาตรา  940  วรรคสอง  กล่าวคือ  ตั๋วเงินนั้นผิดแบบหรือผิดระเบียบ  เช่น  ตั๋วเงินขาดรายการสำคัญ  การสลักหลังลอยผิดแบบ  การรับรองผิดแบบ  ฯลฯ  ผู้รับอาวัลสามารถอ้างตนให้หลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวได้

2       ผู้รับอาวัลมีข้อต่อสู้กับผู้ทรงเป็นของตัวผู้รับอาวัลเองหรือผู้ทรงตั๋วแลกเงินนั้นมีสิทธิบกพร่อง

ข  อธิบาย

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  918  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากเพราะทำผิดระเบียบ  ท่านว่าข้อสัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914,  ถึง  923, 925 , 926, 938  ถึง  940, 945, 946, 959, 967, 971

วินิจฉัย

เช็คพิพาทเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  สามารถโอนได้ด้วยการส่งมอบตามมาตรา  918  แต่การที่ปิ่นสลักหลังโอนเช็คให้แก่ปอนั้นถือว่าเป็นการโอนเช็คให้แก่ปอแล้วแต่มิได้ส่งผลให้การสลักหลังนั้นเป็นการสลักหลังโอน  แต่เป็นการรับอาวัลปริกผู้สั่งจ่ายเช็คตามมาตรา  921 ปิ่นจึงมีฐานะเป็นผู้รับอาวัลปริกผู้สั่งจ่ายเช็ค  ตามมาตรา  921,  940  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก  มิใช่มีฐานะเป็นผู้สลักหลัง  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปอได้เช็คมาจากปิ่นโดยไม่สุจริตเพราะรับเช็คมาเพื่อชำระหนี้การพนัน  และปิ่นโอนเช็คให้ปอเพราะปอข่มขู่ปิ่น  ดังนั้นปอจึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  904,  905  จึงไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ใดต้องรับผิดตามเช็คนี้ได้เลย

สรุป  ปิ่นจึงมิต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่ปอแต่อย่างใด

 

ข้อ  3  ก  ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะหลุดพ้นจากความรับผิดในการใช้เงินตามเช็คได้อย่างไร  จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  นางส้มปลอมลายมือชื่อของนายดำผู้เป็นสามีของตน  สั่งจ่ายเช็คของนายดำเป็นจำนวน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือแล้วส่งมอบให้แก่นางซื่อเพื่อชำระราคาค่าแหวนเพชรที่นางส้มซื้อมาจากร้านของนางซื่อ  โดยนางซื่อรับเช็คนั้นไว้โดยสุจริต  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ซึ่งนายดำก็ทราบถึงการปลอมลายมือชื่อของนางส้มดังกล่าวแต่ก็มิได้แจ้งให้ธนาคารผู้ต้องจ่ายเงินตามเช็คให้ทราบ  เพราะเกรงว่านายส้มจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา  ต่อมานายคดลูกจ้างในร้านของนางซื่อได้งัดตู้เซฟที่นางซื่อใช้เก็บของมีค่าภายในร้านและได้ขโมยเอาเช็คฉบับที่นางส้มส่งมอบชำระราคาค่าแหวนเพชรให้นางซื่อดังกล่าวซึ่งเก็บไว้ในตู้เซฟไปขึ้นเงินกับธนาคารผู้มีหน้าที่จ่ายเงินตามเช็ค  ธนาคารฯก็หลงเชื่อว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนั้นเป็นลายมือชื่อของนายดำเจ้าของบัญชีจริงๆ  เพราะปลอมได้เหมือนมาก  ธนาคารฯจึงจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายคดไป  และทำการหักบัญชีของนายดำตามจำนวนเงินที่ธนาคารจ่ายไป  คือ  100,000  บาท นายดำทราบเรื่องก็ไม่ยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีของตนโดยอ้างว่าธนาคารจ่ายเงินตามเช็คไปทั้งที่ลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมธนาคารจะต้องรับผิดชอบเอง  ดังนี้  ข้ออ้างของนายดำนั้นถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

โดยหลักมาตรา  1009  ธนาคารจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการใช้เงินไปตามเช็คก็ต่อเมื่อต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       ธนาคารได้ใช้เงินไปตามทางค้าปกติ

2       ธนาคารได้ใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  และ

3       ธนาคารไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ว่าตั๋วเงินนั้นจะมีการสลักหลังปลอมหรือสลักหลังโดยปราศจากอำนาจหรือไม่  เพียงแต่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ปลอมก็เพียงพอแล้ว  และให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

ส่วนกรณีของเช็คขีดคร่อมนั้น  มีวิธีพิเศษตามมาตรา  994  ซึ่งธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงใดต้องบังคับตามมาตรา  998  กล่าวคือ  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  โดย

–          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค  หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ  (Collecting  Bank)  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค  จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคแรก)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคสอง)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995(4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

ข  อธิบาย

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

แต่ข้อความใดๆอันกล่าวมาในมาตรานี้  ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อลงไว้โดยปราศจากอำนาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม

มาตรา  1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด  และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้  ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน  หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม  ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

วินิจฉัย

ตามหลักกฎหมายในกรณีที่ตั๋วฯ  มีลายมือชื่อปลอมต้องบังคับตามมาตรา  1008  เว้นแต่จะมีมาตราอื่นบัญญัติไว้เป็นพิเศษ  เช่น  มาตรา  1009  แต่เนื่องจากมาตรา  1009  เป็นกรณีเกี่ยวกับบทคุ้มครองธนาคารผู้จ่ายเงินตามตั๋วฯ  ที่มีลายมือชื่อผู้สลักหลังปลอม  มิใช่กรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม  ดังนั้นหากเป็นกรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมจะต้องบังคับตามมาตรา  1008

ดังนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  ลายมือชื่อนายดำผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมที่นางส้มปลอมขึ้น  ซึ่งปกติแล้วธนาคารผู้จ่ายจะอ้างความหลุดพ้นตามาตรา  1009  ไม่ได้  เพราะถ้ากรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมต้องบังคับตามมาตรา  1008  ซึ่งธนาคารจะไม่สามารถบังคับอ้างให้หลุดความรับผิดโดยอาศัยลายมือชื่อปลอมได้เช่นกัน  แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงดำทราบเรื่องแต่ไม่แจ้งให้ธนาคารทราบ  จึงถือว่าดำตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ดังนั้นธนาคารสามารถหักเงินจากบัญชีของดำได้

สรุป  ข้ออ้างของดำจึงไม่ถูกต้อง

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด สอบซ่อมภาค 2 และภาค S/2548

การสอบซ่อมภาค 2 และภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เพื่อเลี้ยงไก่ครั้งละไม่เกินห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยมีข้อตกลงว่าให้จันทร์เบิกเป็นลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงาน โดยอาทิตย์จะจดบัญชีไว้โดยคำนวณเป็นจำนวนเงินทั้งหมดตามที่จันทร์มีการเบิกไป และเมื่อลูกไก่โตได้ขนาดจันทร์จะขายไก่ให้กับอังคารเมื่อได้รับเงินจากอังคาร จันทร์จะนำเงินไปชำระหนี้อาทิตย์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้ อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใดและจะหักบัญชีเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไปและนำเงินมาชำระหนี้ แล้วจันทร์จะเอาลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงานไปเลี้ยงในรอบต่อไปอีก ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงินหรือสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข การรับรองตั๋วแลกเงินนั้นทำได้อย่างไร และการรับรองนั้นมีกี่ประเภทให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

จันทร์มีหนี้ที่จะต้องชำระ คือ ราคาค่าขายไก่ให้กับอาทิตย์ แต่ในส่วนของอาทิตย์ไม่มีหนี้สินอันใดที่จะต้องชำระให้กับจันทร์ ดังนั้นข้อตกลงระหว่างอาทิตย์กับจันทร์จึงไม่ใช่ข้อตกลงว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค จึงถือว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856 แต่อย่างใด นิติสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นแต่เพียงเรื่องกู้ยืมเงินเท่านั้น

สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงิน

ข อธิบาย

การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น มาตรา 931 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” ฯลฯ และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี การรับรองตามมาตรา 931 นี้ ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา 940) หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า (มาตรา 953) ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 935 ได้กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้

1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การรับรองใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ

– การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข เช่น ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

– การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 937 กล่าวคือ เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ 2 ก ผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินจะสามารถตั้งข้อจำกัดในการโอนตั๋วเงินได้หรือไม่ อย่างไร

ข นายกุหลาบลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายบัวเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และเขียนคำว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงไว้ที่ด้านหน้าเช็คและส่งมอบให้แก่นายบัวเพื่อชำระหนี้ที่มีต่อกัน ต่อมานายบัวต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ค่าเช่าบ้านให้แก่นายมะลิ แต่นายบัวเห็นว่าเช็คมีคำว่า “A/C PAYEE ONLY” ระบุอยู่จึงไม่แน่ใจว่าตนจะสามารถโอนเช็คฉบับดังกล่าวนี้ชำระหนี้ให้แก่นายมะลิได้หรือไม่ นายบัวจึงมาปรึกษาท่านให้ท่านให้คำปรึกษาแก่นายบัวว่านายบัวจะสามารถโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่นายมะลิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

ผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินสามารถตั้งข้อจำกัดในการโอนตั๋วเงินได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 917 วรรคสองว่า “เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้แก่กันได้ แต่รูปการและด้วยผลแห่งการโอนสามัญ” และบทบัญญัติมาตรา 985, 989 วรรคแรก ให้นำมาตรา 917 ไปใช้ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย

กรณีที่ผู้สั่งจ่ายจะกำหนดหรือเขียนลงไปว่าเปลี่ยนมือไม่ได้นั้นต้องเป็นตั๋วชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น ส่วนตั๋วผู้ถือนั้นสามารถที่จะโอนกันได้ด้วยการส่งมอบ ตามมาตรา 918

ข้อจำกัดห้ามโอนนั้นผู้สั่งจ่ายต้องลงไว้ด้านหน้าตั๋วแลกเงินโดยใช้คำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือคำอื่นอันได้ความทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “ห้ามโอน” หรือ “ห้ามสลักหลังต่อ” หรือระบุความว่า “จ่ายให้นาย ก เท่านั้น” หรือ “จ่ายเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น (A/C PAYEE ONLY หรือ ACCOUNT PAYEE ONLY) ย่อมมีผลเป็นการห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอนเช่นกัน แต่ถ้าลงไว้ด้านหลังตั๋วแลกเงิน น่าจะถือว่าตั๋วแลกเงินนั้นไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนลงไว้เลย ทั้งนี้ตามมาตรา 899

ผลของการลงข้อจำกัดห้ามโอน คือ ผู้รับเงิน (ผู้ทรง) จะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปด้วยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา 917 วรรคแรกไม่ได้ แต่ตั๋วแลกเงินก็ยังโอนต่อไปอีกได้ตามแบบสามัญหรือตามหลักการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือโอนหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้นระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน และผู้โอนต้องบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังผู้สั่งจ่าย หรือให้ผู้สั่งจ่ายยินยอมด้วยโดยทำเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด

ข อธิบาย

มาตรา 917 วรรคสอง เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ

มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้

ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 , ถึง 923…

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริง เช็คฉบับดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่าย คือ นายกุหลาบสั่งจ่ายโดยตั้งข้อจำกัดการโอนไว้ตามมาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โดยคำว่า “A/C PAYEE ONLY” มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” จึงโอนตามมาตรา 917 วรรคสองไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี หากนายบัวต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายมะลิจะต้องโอนต่อไปโดยรูปการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ ตามมาตรา 306 มิใช่การโอนด้วยวิธีการโอนตั๋วเงินทั่วไป กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนนั่นเอง

สรุป นายบัวสามารถโอนเช็คได้ด้วยรูปการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ

 

ข้อ 3 ก บุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็คได้ เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป หรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และบุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความ “ห้ามโอน” หรือ “ห้ามเปลี่ยนมือ” หรือ สำนวนอื่นอันมีความหมายทำนองเดียวกันลงในเช็ค และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่คู่สัญญาแห่งเช็คนั้นเพียงใดหรือไม่

ข เอกมีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คธนาคารกรุงทอง ที่พิเศษเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายซึ่งได้ขีดคร่อมทั่วไปและได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออกแล้ว เมื่อเอกได้รับเช็คนั้นมาก็ได้ลงข้อความว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงในระหว่างเส้นคู่ขนานที่ปรากฏด้านหนาเช็คนั้นและลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คเพื่อเตรียมให้ธนาคารอ่าวไทยที่ตนมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่เอกทำเช็คนั้นตกหายโดยไม่รู้ตัว โทเก็บเช็คนั้นได้แล้วนำไปส่งมอบขายลดเช็คนั้นให้ตรีซึ่งรับซื้อเช็คนั้นโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าตรีเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และตรีจะบังคับไล่เบี้ยพิเศษ เอกและโทให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่ หากธนาคารกรุงทองปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อเช็คนั้นถึงกำหนด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็ค ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(2) ผู้ทรงเช็ค อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(3) ธนาคาร ต้องเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเท่านั้น (มาตรา 995 (1) , (2) , (4) และ (5))

กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายต้องจ่ายเงินตามเช็คเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็คหรือธนาคารตัวแทนของผู้ทรงเช็ค ธนาคารจะจ่ายเงินสดมิได้

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความห้ามโอน หรือห้ามเปลี่ยนมือ หรือความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค (มาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(2) ผู้สลักหลังเช็ค (มาตรา 923 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(3) ผู้ทรงเช็คขีดคร่อม (มาตรา 995 (3))

กรณีย่อมก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินดังนี้ คือ

(1) กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คห้ามโอน ผู้รับเงินจะโอนเช็คนั้นด้วยการสลักหลังและส่งมอบต่อไปมิได้ คงโอนต่อไปได้ด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดา หรือการโอนแบบสามัญซึ่งผู้สั่งจ่ายจะต้องยินยอมด้วยในการโอนหนี้ตามเช็คนั้น (มาตรา 917 วรรคแรกและวรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(2) กรณีที่ผู้สลักหลังเช็คห้ามโอน ผู้รับสลักหลังต่อมายังคงสลักหลังโอนต่อไปได้ไม่จำกัดแต่ผู้สลักหลังเช็คซึ่งเป็นผู้ห้ามโอน ไม่ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้งหลายซึ่งได้เข้าผูกพันภายหลัง ผู้รับสลักหลังที่ตนเองได้ห้ามโอนไว้ (มาตรา 923 ประกอบมาตรา 899 วรรคแรก)

(3) กรณีที่ผู้ทรงเช็คขีดคร่อมห้ามโอน หากมีบุคคลอื่นแอบนำเช็คนั้นโอนต่อไป ย่อมเป็นผลให้ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (มาตรา 995 (3) ประกอบมาตรา 999)

ข อธิบาย

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา 995 (3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้

มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

วินิจฉัย

เอกผู้ทรงเช็คได้เขียนข้อความที่มีความหมายว่า “ห้ามโอน” ลงไว้ในเช็คขีดคร่อมแล้ว ตามมาตรา 995(3) แม้ว่าตรีจะรับซื้อลดเช็คจากโทไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อมีการสลักหลังโอนที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย เสมือนเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 905 วรรคแรก และวรรคสอง แต่ตรีก็ได้รับเช็คจากโทซึ่งมิได้มีสิทธิรับเช็คและโอนเช็คนั้น กรณีย่อมเป็นผลให้ตรีมีสิทธิเช่นเดียวกับโทตามมาตรา 999 ตรีจึงไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบุคคลใดให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าว

สรุป ตรีไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบุคคลใดให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าว

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บุญมีเปิดบัญชีฝากเงินประเภทกระแสรายวันไว้กับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  จำนวน  200,000  บาท  ได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชี  โดยนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา  ภายหลังลูกค้ามีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชีเพียงเล็กน้อย  จึงทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก  500,000  บาท  โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้น  รายเดือนตามประเพณีธนาคารเป็นเวลา  2  ปี  บุญมีนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา  เมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  บุญมีตายลง  ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชนจำกัดเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร  และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา  2  ปี  ตามสัญญาได้หรือไม่อย่างไร

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  655  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ… ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดีในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี  หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนไม่

ข  กรณีของตั๋วแลกเงินและเช็คนั้นผู้สั่งจ่ายจะสั่งให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอนให้กับผู้รับเงิน  ดังนี้ถ้าผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินด้วย  โดยคิดจากจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

การที่บุญมีเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  200,000  และได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา  เป็นกรณีที่บุญมีใช้สิทธิเบิกเงินตามที่บุญมีฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงเก่า  มิใช่กรณีที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ  ตามมาตรา 856  ต่อมาบุญมีทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี  500,000  บาท  เป็นเวลา  2  ปี  โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีธนาคารและมีการนำเงินเข้าฝากและถอนเรื่อยมานั้น  การเบิกเงินเกินบัญชีของบุญมีดังกล่าว  เป็นการที่บุญมีผู้ฝากเงินซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารได้ขอเบิกเงินเกินกว่าที่ตนเองมีสิทธิและเมื่อธนาคารยอมให้เบิก  ธนาคารย่อมเป็นเจ้าหนี้และเมื่อมีการฝากถอนเงินไปใช้เรื่อยมา  

ดังนี้ย่อมเป็นการที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ  จึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดประเภทที่มีกำหนดเวลา  2  ปี  ตามมาตรา  856 และเมื่อบุญมีตายลงย่อมทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นเรื่องการเฉพาะตัวของบุญมีสิ้นสุดลง  ธนาคารย่อมหมดสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น  ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่บุญมีตายเท่านั้นจะคิดตามกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาไม่ได้  ตามมาตรา  655  (ฎ. 1862/2518)

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดและธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา  2  ปีตามสัญญาไม่ได้

ข  อธิบาย

กรณีตั๋วแลกเงิน

ผู้สั่งจ่ายสามารถสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้  ตามมาตรา  911  ซึ่งมีหลักว่า

ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้  และในกรณีเช่นนั้นถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน

ดังนั้นถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินไม่ลงข้อกำหนดดอกเบี้ยลงในตั๋วแลกเงิน  ผู้รับเงินหรือผู้ทรงก็จะเรียกดอกเบี้ยตามมาตรานี้ไม่ได้  สำหรับดอกเบี้ยนั้นตามปกติต้อไม่เกินร้อยละ  15  ต่อปี  ถ้าเกินต้องลดลงมาเป็นร้อยละ  15  ต่อปี  และถ้าผู้สั่งจ่ายได้เขียนกำหนดดอกเบี้ยลงไว้ในตั๋วแลกเงิน  แต่มิได้กำหนดว่าร้อยละเท่าใด  ดังนี้ต้องนำมาตรา  7  มาบังคับ  คือคิดร้อยละ  7.5  ต่อปี

สำหรับการคิดดอกเบี้ยตามมาตรา  911  ถ้ามิได้กำหนดเป็นอย่างอื่น  ให้เริ่มนับจากวันที่ลงในตั๋วแลกเงินหรือวันออกตั๋วแลกเงิน

กรณีเช็ค

ผู้สั่งจ่ายไม่สามารถสั่งให้ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้  ดังนั้นผู้สั่งจ่ายเช็คจะกำหนดดอกเบี้ยในเช็คไม่ได้  เพราะมาตรา  989 วรรคแรกมิได้บัญญัติให้นำมาตรา  911  ไปใช้บังคับกับเช็คด้วย  การคิดดอกเบี้ยในเช็คคงคิดได้ตามหลักทั่วไปในเรื่องหนี้  กล่าวคือ  คิดตามมาตรา  224  คือร้อยละ  7.5  ต่อปีในระหว่างผิดนัด  (ฎ. 901/2505)  ถ้ามีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในเช็ค  กรณีย่อมเป็นผลตามมาตรา  899  ซึ่งมีหลักว่า  ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้  ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน  ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินไม่

 

ข้อ  2  ก  ธนาคารผู้มีหน้าที่ใช้เงินตามเช็คจะสามารถปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ในวันที่  15  ตุลาคม  2547  นายวันสั่งจ่ายเช็คธนาคารไกรทอง  จำกัด  (มหาชน)  สาขาหัวหมากซึ่งตนเป็นลูกค้าอยู่จำนวน  100,000  บาท  ลงวันที่  29  ตุลาคม  2547  ระบุชื่อนายเดือนเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นออกแล้วส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ย่านถนนรามคำแหงให้แก่นายเดือน  ต่อมาเมื่อถึงวันที่  29  ตุลาคม  2547  นายเดือนก็ยังไม่นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารไกรทองฯ  ใช้เงิน  เนื่องจากมีภารกิจต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ต่างประเทศ  ต่อมาเมื่อนายเดือนเดินทางกลับมาจากต่างประเทศในวันที่  14  กุมภาพันธ์  2548  นายเดือนได้รีบนำเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารไกรทองฯ  ใช้เงินในวันเดียวกันนั้นทันที  เมื่อธนาคารไกรทองฯ  ทำการตรวจสอบเงินในบัญชีของนายวันผู้สั่งจ่ายแล้วปรากฏว่ามีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีที่ธนาคารจะสามารถจ่ายได้  จำนวน  1,000,000  บาท  ต่อจากนั้นธนาคารไกรทองฯได้ทำการสอบถามไปยังนายวัน  เมื่อนายวันทราบเรื่องก็แจ้งให้ธนาคารไกรทองฯ  ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวทันที  เพราะเห็นว่าเป็นเช็คที่ล่วงเลยเวลาใช้เงินตามเช็คมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว  ดังนี้  ธนาคารไกรทองฯ  จะสามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนี้ให้แก่นายเดือนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

โดยหลักแล้ว  ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค  (Paying  Bank)  มีความผูกพันทางกฎหมาย  (นิติสัมพันธ์)  ในการใช้เงินตามเช็คต่อผู้เคยค้า  (ผู้สั่งจ่ายเช็ค)  จากบัญชีกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายคือ  ธนาคารผู้สั่งจ่ายจำต้องใช้เงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่าย  (ผู้เคยค้า)  ได้เซ็นสั่งจ่ายเพื่อเบิกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น  เว้นแต่ธนาคารผู้สั่งจ่ายอาจใช้ดุลพินิจจ่ายหรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามคำสั่งจ่ายเช็คนั้นก็ได้   หากมีข้อใดข้อหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา  991  ดังนี้คือ

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า  (ผู้สั่งจ่าย)  เป็นเจ้าหนี้พอจ่ายตามเช็คนั้น  หรือ

(2) มีผู้นำเช็คที่ผู้เคนค้าเป็นผู้สั่งจ่ายนั้นมายื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายใช้เงินเมื่อพ้น  6  เดือน  นับแต่วันออกเช็ค  (วันเดือนปีที่ลงในเช็ค)  หรือ

(3) มีการบอกกล่าวว่าเช็คที่ธนาคารรับไว้นั้นเป็นเช็คที่หายหรือถูกลักไป

อนึ่งมาตรา  992  ได้วางหลักว่าในกรณีดังต่อไปนี้เป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายสิ้นอำนาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คที่ผู้เคยค้าได้เซ็นสั่งจ่ายเลิกเงินจากบัญชีของเขา  คือ

 (1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คนั้นโดยผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นเอง

(2) ธนาคารผู้จ่ายทราบว่าผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นถึงแก่ความตาย

(3) ธนาคารผู้จ่ายรูว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายหรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น

ข  อธิบาย

มาตรา  990  วรรคแรก  ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น  ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน  ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง  ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วย  เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น

มาตรา  992  หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารในกรุงเทนมหานคร  เพื่อชำระหนี้ในกรุงเทพมหานคร  จึงถือว่าเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกัน  ดังนั้นผู้ทรงคือนายเดือนจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารฯจ่ายเงินภายใน  1  เดือนนับแต่วันลงในเช็ค  คือภายในวันที่  30  พฤศจิกายน  2548  มิฉะนั้นจะมีผลตามมาตรา  990  วรรคแรก  แต่ถึงแม้ในข้อเท็จจริงนายเดือนจะยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินในวันที่  14 กุมภาพันธ์  2549  ซึ่งเลยระยะเวลานับแต่วันที่ลงในเช็คมากว่า  3 เดือนเศษแล้วก็ตาม  แต่ก็ต้องถือว่าผู้สั่งจ่ายคือ  นายวันยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  990  วรรคแรก  ทั้งนี้เพราะมิได้ปรากฏว่าธนาคารไกรทองฯ  ล้มละลายนายวันจึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด  (ฏ. 1865/2492)

แต่ไม่ว่านายวันจะหลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ก็ตาม  หากปรากฏว่านายวันผู้สั่งจ่ายแจ้งกับธนาคารฯให้ธนาคารระงับการจ่ายแล้วก็ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายมีคำบอกกล่าวห้ามใช้เงินแล้ว  ตามมาตรา  992(1)  เมื่อธนาคารฯทราบแล้วธนาคารจะใช้ดุลยพินิจจ่ายเงินไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

สรุป  ธนาคารไกรทองฯไม่สามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนี้ให้แก่นายเดือนได้

 

ข้อ  3  ก  กฎหมายตั๋วเงินที่ได้บัญญัติให้ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร  หากปฏิบัติตามกฎหมายแล้วจะได้ประโยชน์ตามกฎหมายอย่างไร  ตรงกันข้าม  หากฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังกล่าว  จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร

ข  เหลืองได้รับโอนเช็คธนาคารสินไทย  สาขาคลองจั่นจากดำไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  เนื่องจากมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย  ข้อเท็จจริงได้ความว่าเช็คดังกล่าว  แดงเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายล่วงหน้าระบุขาวเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ  และได้ขีดคร่อมทั่วไปไว้  แต่แดงได้ทำตกหายไปโดยไม่รู้ตัว  ต่อมาเหลืองได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารกรุงทอง  สาขารามคำแหงซึ่งเป็นสาขาที่เหลืองมีบัญชีเงินฝากเพื่อเรียกเก็บ  พนักงานธนาคารกรุงทองได้ใช้ตราประทับซ้ำรอยขีดคร่อมทั่วไป  เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารสินไทยเข้าบัญชีของเหลืองได้สำเร็จ  และเหลืองได้ถอนเงินที่เดรียกเก็บมานั้นไปใช้แล้วบางส่วน

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยโดยอ้างอิงหลักกฎหมายโดยสังเขปในประเด็นดังต่อไปนี้

 (1) บุคคลใดเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คดังกล่าว

(2) ธนาคารทั้งสอง  ยังคงต้องรับผิดต่อใครหรือไม่

(3) ธนาคารสินไทยจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(4) แดงได้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ขาวแล้วหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงินด้วยการจำแนกเช็คขีดคร่อม  3  ประเภท  ได้แก่  เช็คขีดคร่อมทั่วไป  เช็คขีดคร่อมเฉพาะ  และเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าหนึ่งธนาคารหนึ่งขึ้นไป  กล่าวคือ

 (1)   กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมทั่วไป

 ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็คนั้น  จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างธรรมดาเช่นเช็คธรรมดาที่มิได้ขีดคร่อมมิได้   (มาตรา  994  วรรคแรก)

(2)   กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะ 

ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างเช่นเช็คธรรมดาหรือจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้มิได้  (มาตรา  994  วรรคท้าย)

 (3)   กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารมากกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป 

ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995 (4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

อนึ่ง  ธนาคารผู้จ่ายหากได้จ่ายเงินไปภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ  ทั้งได้จ่ายเงินไปตามทางการค้าปกติ  (ในระหว่างวันและเวลาที่เปิดทำการตามนัย  มาตรา  1009)  กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น  (ปกติให้แก่ผู้ทรงเดิม)  และชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายนั้นได้  (มาตรา  998)

ตรงกันข้าม  หากธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คขีดคร่อมเป็นอย่างอื่น  เช่น  ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คแทนที่จะเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ทรงเช็ค  หรือใช้เงินสดให้แก่พนักงานธนาคารอื่นผู้ยื่นเช็ค  หรือใช้เงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อไว้โดยเฉพาะ  หรือมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินกรณีที่มีการขีดคร่อมเฉพาะเกินกว่า  1  ธนาคาร  หรือใช้เงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามหลักเกณฑ์  (1)  (2)  และ  (3)  ดังกล่าวข้างต้น  กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายยังจะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาต้องเสียหายจากการที่มิได้ใช้ประโยชน์จากเช็คขีดคร่อมนั้น  (มาตรา  997  วรรคสองตอนท้าย)  อีกทั้งไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่าย  เพราะถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  (มาตรา  1009)

ข  อธิบาย

มาตรา  998  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง  ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ  หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง  กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว  ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน  และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา  1000  ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี  หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้  ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น  ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

มาตรา  1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด  และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้  ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน  หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม  ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

วินิจฉัย

 (1) เช็คพิพาทได้ตกหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของแดงผู้สั่งจ่าย  ต้องถือว่าแดงยังคงเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนี้

(2) ธนาคารทั้งสอง  ได้แก่  ธนาคารสินไทยฯ  ในฐานะธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะและธนาคารกรุงทองในฐานะธนาคารผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คที่ตนเองได้ขีดคร่อมเฉพาะเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของเหลืองผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายต่างก็ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะแล้วย่อมไม่ต้องรับผิดต่อแดงเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คพิพาทรายนี้  ตามมาตรา  998  และมาตรา  1000

(3) ธนาคารสินไทยจ่ายเงินไปตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะตามมาตรา  998  แล้ว  ย่อมถือว่าได้จ่ายเงินไปโดยถูกระเบียบย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้ตามนัย  มาตรา  1009

(4) แดงไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้ขายแต่อย่างใดทั้งมูลหนี้เดิม  และมูลหนี้ตามเช็ค  เนื่องจากเป็นมูลหนี้เดียวกัน  เพราะเช็คพิพาทนั้นยังมิได้ตกไปถึงมือขาวผู้รับเงินตามมาตรา  998

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  แดงซื้อลูกไก่  อาหารไก่และวัคซีนไก่  ด้วยเงินเชื่อจากเหลืองโดยเหลืองได้จดบัญชีลงรายการที่แดงซื้อเงินเชื่อไว้และมีข้อตกลงกับแดงว่าเมื่อครบ  45  วัน  ไก่เจริญเติบโตเหลืองจะไปซื้อไก่จากแดงโดยตีราคาไก่ตามน้ำหนักได้ยอดเท่าใดก็จะเอายอดเงินค่าลูกไก่  อาหารไก่  และวัคซีนไก่มากักออก  หากเงินเหลือก็จะมอบให้แดงไป  แต่ถ้าเงินไม่พอแดงต้องชำระราคาลูกไก่อาหารไก่และวัคซีนไก่ที่ค้างอยู่ทั้งหมด  แต่ถ้าชำระไม่ได้เหลืองจะจดบัญชีว่าแดงเป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและจะหักจากราคาไก่ในรอบต่อไป  ข้อตกลงนี้มีกำหนด  2  ปี  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ข้อตกลงระหว่างแดงกับเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินที่ผู้สั่งจ่ายออกมาโดยชอบแล้ว  จะเกิดผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างแดงและเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด  เพราะว่าเป็นสัญญาที่คู่กรณีมีเจตนาที่จะหักทอนหรือตัดทอนหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นในระหว่างเขาทั้งสองนั้นด้วยการหักกลบลบกันและชำระแต่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค  ตามมาตรา  856

สรุป  ข้อตกลงระหว่างแดงกับเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

ตามกฎหมายตั๋วเงิน  แม้มีการบัญญัติให้ผู้สั่งจ่าย  ผู้ทรง  ธนาคาร  ขีดคร่อมเช็คได้ไม่ว่าจะเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป  หรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม  แต่ในส่วนของตั๋วแลกเงินนั้นมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้สิทธิผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินแต่อย่างใด  ดังนั้น  ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงิน  ไม่ว่าจะเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม  รอยขีดคร่อมนั้นย่อมหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วแลกเงินไม่  กล่าวคือ  ตั๋วแลกเงินนั้นก็ยังเป็นตั๋วแลกเงินที่มิได้มีรอยขีดคร่อมแต่อย่างใด  ตามมาตรา  899  ซึ่งมีหลักว่า  ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน  ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน  ข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

 

ข้อ  2  นายดำสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายแดงเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คออก  แล้วส่งมอบชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าให้แก่นายแดง  ต่อมานายแดงได้สลักหลังลอยเช็คนั้นแล้วส่งมอบให้แก่นายทอง  เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  หลังจากนั้นนายทองได้ส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่าจ้างซ่อมรถยนต์ให้แก่นายขาว  ต่อมานายขาวมีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยด่วนจึงจะทำการสลักหลังเช็คนั้นขายลดให้แก่นายเขียว  นางสาวส้มเพื่อนสนิทของนายเขียวได้บอกแก่นายเขียวว่าอย่ารับซื้อลดเช็คนั้นไว้  โดยให้เหตุผลว่านายเขียวจะไม่มีสิทธิใดๆ  ในเช็คนั้นเลยเนื่องจากจะไม่มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายเขียวไม่แน่ใจจึงมาปรึกษาท่าน

ท่านจงให้คำปรึกษาแก่นายเขียวว่าหากนายเขียวรับสลักหลังขายลดเช็คนั้นมาจากนายขาวแล้ว  จะมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  920  วรรคสอง  ถ้าสลักหลังลอย  ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้  คือ

 (1) กรอกรข้อความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง  หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย  หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง  และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

ข้อเท็จจริงนั้นนายทองเป็นผู้ทรงเช็คที่ได้รับโอนมาโดยการสลักหลังลอย  ดังนั้นจึงสามารถโอนเช็คนั้นต่อไปได้โดยการส่งมอบให้แก่นายขาวได้  ตามมาตรา  920  วรรคสอง  (3)  ซึ่งก็จะถือว่านายขาวเป็นผู้ทรงเช็คที่ได้รับสลักหลังลอยเช็คนั้นมาจากนายแดงโดยตรงโดยไม่ผ่านมือนายทองเลย  จึงถือว่านายขาวเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งมีสิทธิที่จะโอนเช็คนั้นต่อไปได้ตามวิธีการตามมาตรา  920 วรรคสอง  หากนายขาวต้องการจะโอนเช็คนั้นขายลดให้แก่นายเขียวโดยการสลักหลังก็สามารถที่จะกระทำได้  ตามมาตรา  920  วรรคสอง  (2)  โดยไม่ถือว่าเป็นการโอนที่ขาดสายแต่อย่างใด

ดังนั้น  หากนายขาวทำการสลักหลังเช็คนั้นนายลดให้แก่นายเขียวแล้ว  นายเขียวก็จะมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  เพราะ

 1       ได้ครอบครองเช็คนั้นอยู่

2       ได้ครอบครองเช็คนั้นในฐานะผู้รับสลักหลัง

3       ได้ครอบครองเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4       ได้ครอบครองเช็คนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

ทั้งนี้  ตามมาตรา  904, 905

สรุป  นายเขียวเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  ก  ประมวลกฎหมายแพ่งลักษณะตั๋วเงิน  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงิน  (Paying  Bank)  และผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร

ข  แดงลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารสินไทย  สาขาหัวหมาก  ระบุดำเป็นผู้รับเงินและได้ขีดคร่อมทั่วไปลงบนเช็คทั้งได้ขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นออกแล้วได้มอบเช็คนั้นให้ดำ  ดำลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คนั้นเพื่อเตรียมไปมอบให้ธนาคารอ่าวไทยเรียกเก็บเงินให้  แต่เขียวได้ขโมยเช็คนั้นไปขึ้นเงินสดจากธนาคารสินไทย  สาขาหัวหมาก  ได้สำเร็จ  ในขณะที่ธนาคารสินไทย  ผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อและตามทางการค้าปกติ  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คฉบับนี้  และธนาคารสินไทยผู้จ่ายยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย  (Paying  Bank) 

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค  หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ  (Collecting  Bank)  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค  จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคแรก)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคสอง)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995 (4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

(2) ผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คก็ดี  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่ผู้ทรงเช็คมิได้มีบัญชีเงินฝากก็ดี

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดหรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อลงไว้โดยเฉพาะก็ดี

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายไม่ปฏิเสธการจ่ายเงิน  หรือจ่ายเงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินก็ดี

ผล  ธนาคารผู้จ่ายต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คขีดคร่อมนั้น  (ผู้ทรงเดิม)  ในการที่น่าต้องเสียหาย  (มาตรา  997  วรรคสอง)  และไม่สามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายได้  เพราะถือว่าใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  แม้ถึงว่าจะใช้เงินไปตามทางการค้าโดยปกติ  โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม  (มาตรา  1009)

ข  อธิบาย

มาตรา  994  วรรคแรก  ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า  กับมีหรือไม่มีคำว่า  และบริษัท  หรือคำย่ออย่างใดๆ  แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้  เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป  และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

มาตรา  997  วรรคสอง  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดี  ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่งก็ดี  ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ  หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี  ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปดังกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาจะต้องเสียหายอย่างใดๆ  เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คนั้น

วินิจฉัย

เช็คธนาคารสินไทยฯ  เป็นเช็คระบุชื่อขีดคร่อมทั่วไป  อันเป็นผลให้ธนาคารสินไทยผู้จ่ายต้องจ่ายเงินผ่านธนาคารของผู้ทรงเช็ค  หรือธนาคารผู้เรียกเก็บ  มิใช่จ่ายเงินสด  การที่ธนาคารสินไทยได้จ่ายเงินสดให้แก่เขียว  แม้ว่าจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นไปตามทางการค้าปกติ  โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม  กรณีย่อมเป็นการใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารสินไทยจึงต้องผูกพันรับผิดต่อดำผู้ทรงเดิมซึ่งเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนี้  ตามนัยมาตรา  994  วรรคแรก  และมาตรา 997  วรรคสอง

สรุป  ดำเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คฉบับนี้  และธนาคารสินไทยผู้จ่ายยังคงต้องรับผิดต่อดำ

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด S/2548

การสอบภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เพื่อเลี้ยงไก่ครั้งละไม่เกินห้าแสนบาท  เป็นเวลา  5  ปี  โดยให้เบิกเป็นลูกไก่  อาหารไก่  ยา  สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงาน  โดยอาทิตย์จะจดบัญชีไว้ว่าจันทร์เป็นหนี้เงินอยู่จำนวนเท่าใด  โดยคำนวณจากสิ่งของที่จันทร์เอาไป  และเมื่อลูกไก่โตได้ขนาด  จันทร์ต้องขายไก่ให้กับอาทิตย์โดยอาทิตย์จะตีราคาไก่แล้วหักเงินที่จันทร์เป็นหนี้ออกแล้วมอบส่วนที่เหลือให้จันทร์  แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใด  และจะหักบัญชีเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไป

ดังนี้  นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร

ข  ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์  กล่าวถึง  การโอนตั๋วแลกเงินอย่างไรบ้าง  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการตกลงในช่วงระยะเวลา  5  ปี  ให้มีการตัดทอนบัญชีหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ด้วยวิธีการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาคจึงถือว่าเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด  ตามมาตรา  856

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

ตามลักษณะของตั๋วแลกเงินมีอยู่  2  ชนิด  คือ  ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตามคำสั่งผู้รับเงิน  เรียกว่า  ตั๋วแลกเงินระบุชื่อ  ซึ่งในตั๋วเงินทั้ง  3  ประเภท  คือ  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค  และตั๋วแลกเงินชนิดที่ระบุชื่อผู้รับและมีคำว่า  หรือผู้ถือ  รวมอยู่ด้วย หรือระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  เรียกว่า  ตั๋วแลกเงินผู้ถือ  ซึ่งมีเฉพาะตั๋วแลกเงินและเช็คเท่านั้น

ดังนั้นวิธีการโอนตั๋วแลกเงินจึงแตกต่างกันตามชนิดของตั๋วแลกเงินดังกล่าวข้างต้น  กล่าวคือ

1       กรณีโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อ  มาตรา  917  วรรคแรก  บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ

อนึ่งการสลักหลังมี  2  วิธี  คือ  สลักหลังเฉพาะ  (เจาะจงชื่อผู้รับสลักหลัง)  ซึ่งมาตรา  919  ได้บัญญัติวิธีการสลักหลังไว้ดังนี้

 (ก)  สลักหลังเฉพาะ  (Specific  Endorsement)  ให้ระบุชื่อผู้รับสลักหลัง  แล้วลงลายมือชื่อผู้สลักหลังลงไปในตั๋วเงิน  โดยจะกระทำด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินนั้นก็ได้  (มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  วรรคแรก)

(ข)  สลักหลังลอย  (Blank  Endorsement)  ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน  โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์  (ผู้รับสลักหลัง)  (มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  วรรคสอง)

ผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังโอนตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังดังกล่าวใน  (ก)  หรือ  (ข)  แล้วก็สามารถสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นโดยวิธีข้างต้นต่อไปอีกก็ได้  แต่ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย  สามารถเลือกโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นต่อไปได้อีก  3  วิธี  ทั้งนี้ตามมาตรา  920  วรรคสอง  คือ

(1) เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้

(2) สลักหลังลอยหรือสลักหลังเฉพาะต่อไป  หรือ

(3) ส่งมอบต่อไปโดยไม่ต้องสลักหลัง

 2       กรณีโอนตั๋วแลกเงินผู้ถือ  มาตรา  918  บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการส่งมอบ

 

ข้อ  2  ก  การที่บุคคลจะจดข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วเงิน  เช่น  การจำกัดความรับผิดในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินก็ดี  การสลักหลังโอนเช็คบางส่วนก็ดี  การสลักหลังจำนำเช็คก็ดี  บุคคลจะกระทำได้หรือไม่  และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร

ข  เอกสั่งซื้อสินค้า  OTOP  5  ดาว  จากโทผู้ประกอบการ  SMEs  ด้วยการลงลายมือชื่อสั่งจ่าย  เช็คธนาคารสินไทยเป็นการล่วงหน้า  จำนวน  50,000  บาท  ระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินขีดคร่อมทั่วไปและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นออก  ต่อมาโทได้สลักหลังเช็คโดยเขียนข้อความว่า  ราคาเป็นประกัน  จำนวน  25,000  บาท  ให้ไว้แก่ตรี  พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของโทส่งมอบเช็คดังกล่าวให้แก่ตรี พร้อมทั้งตกลงว่าจะไถ่ถอนเช็คกลับคืนก่อนเช็คถึงกำหนดใช้เงิน  ก่อนเช็คถึงกำหนด  โทขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นการชั่วคราว  และไม่สามารถผลิตสินค้าส่งให้แก่เอกได้  อีกทั้งไม่มีเงินที่จะไถ่ถอนเช็คนั้นกลับคืนมา  ครั้นเช็คถึงกำหนดใช้เงิน  ตรีได้นำเช็คดังกล่าวไปฝากให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารสินไทย  แต่ได้รับการปฏิเสธการจ่ายเงิน  เพราะเอกได้มีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน  เนื่องจากโทผิดสัญญาซื้อขาย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าตรีจะบังคับไล่เบี้ยให้บุคคลใดรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้ในฐานะใด  และเพียงใดหรือไม่  อนึ่งเอกจะอ้างการที่โทผิดสัญญาซื้อขายขึ้นต่อสู้ตรีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

 –                    การจดข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วแลกเงินด้วยการจำกัดความรับผิดในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินนั้น  ป.พ.พ.  มาตรา  915(1)  อนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน  และผู้สลักหลังทุกคนสามารถกระทำได้  อันเป็นผลให้ผู้ทรงมีสิทธิบังคับไล่เบี้ยได้เพียงเท่าที่เขาได้จำกัดความรับผิดไว้นั้น

–                    การสลักหลังโอนเช็คเพียงบางส่วนนั้น  ไม่สามารถกระทำได้  หากกระทำไป  กรณีย่อมเป็นผลให้การสลักหลังโอนนั้นเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  922  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

 –                    การสลักหลังจำนำเช็ค  โดยใช้ถ้อยคำว่า  ราคาเป็นประกัน  หรือ  ราคาเป็นจำนำ  หรือ  ถ้อยคำอื่นอันเป็นปริยายว่าจำนำ  กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้สลักหลังมีฐานะเป็นผู้จำนำ  ผู้ทรงเป็นผู้รับจำนำ  และผู้ทรงเช็คนั้นย่อมมีสิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่เช็คนั้นได้ทั้งสิ้น  เช่น  การบังคับจำนำ  หรือบังคับไล่เบี้ยคู่สัญญาในเช็คนั้นแต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังเช็คนั้นต่อไป  ย่อมใช้ได้ในฐานะเป็นคำสลักหลังของตัวแทนของผู้สลักหลังจำนำ  กรณีจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้สลักหลังจำนำ  ตามมาตรา  926  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

ข  อธิบาย

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  926  เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า  ราคาเป็นประกัน  ก็ดี  ราคาเป็นจำนำ  ก็ดี  หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้  ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น  แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น  ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน

คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่  เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา  959  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้  คือ

(ก)  ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914 ถึง  923, 925, 926 …959…

วินิจฉัย

โทได้สลักหลังจำนำเช็คพิพาทไว้กับตรี  การที่โทไม่ไถ่ถอนเช็คนั้นจากตรี  และธนาคารฯได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน  ตรีย่อมมีสิทธิบังคับจำนำเช็คได้ในฐานะเป็นผู้ทรงเช็คคนหนึ่ง  กล่าวคือ  มีสิทธิไล่เบี้ยเอกผู้สั่งจ่าย  ซึ่งต้องรับผิดตามจำนวนในเช็คคือ  50,000  บาท  แล้วหักราคาที่รับจำนำไว้  25,000  บาท  พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่เหลือต้องคืนให้แก่โทผู้จำนำ  หรืออาจบังคับจำนำจากโทผู้สลักหลังจำนำ  ได้ตามราคาที่รับจำนำพร้อมดอกเบี้ย  ตามมาตรา  914, 926  วรรคแรก  959(ก)  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก  อนึ่งเอกจะอ้างการที่โทผิดสัญญาซื้อขายอันเป็นข้อต่อสู้ที่อาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับโทผู้สลักหลังมิได้เพราะว่าตรีมิใช่ตัวแทนของโทแต่ตรีใช้สิทธิไล่เบี้ยในนามของตน  ตามมาตรา  926  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  ข้ออ้างของเอกฟังไม่ขึ้น  ตรีมีสิทธิบังคับจำนำเช็คในฐานะเป็นผู้ทรงเช็ค  กับเอกผู้สั่งจ่ายได้  หรือบังคับจำนำจากโทผู้สลักหลังจำนำก็ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ  3  ก  ตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมปรากฏอยู่นั้นจะมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร  ให้อธิบายมาให้เข้าใจโดยละเอียด

ข  นายนกสั่งจ่ายเช็คธนาคารหัวหมาก  จำกัด  (มหาชน)  จำนวน  500,000  บาท  ระบุชื่อนายหนูเป็นผู้รับเงิน  พร้อมทั้งขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คออก  แล้วส่งมอบให้แก่นายหนูเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย  ต่อมานายหนูได้สลักหลังเฉพาะส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่านายหน้าค้าที่ดินให้แก่นายไก่  หลังจากนั้นนายลิงน้องชายของนายไก่ได้ลักเช็คฉบับดังกล่าวไป  แล้วทำการปลอมลายมือชื่อของนายไก่สลักหลังลอยลงในเช็คแล้วนำไปส่งมอบให้แก่นายแมว  เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์  หลังจากได้รับมอบเช็คมาแล้วนายแมวได้พบกับนายไก่โดยบังเอิญจึงได้สอบถามนายไก่ว่า  ได้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวมาหรือไม่  นายไก่ซึ่งทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่แล้ว  แต่เกรงว่านายลิงจะถูกดำเนินคดี  จึงได้บอกแก่นายแมวว่าตนนั้นเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คจริง  ต่อมานายแมวนำเช็คฯ  ไปยื่นให้ธนาคารหัวหมากฯ  ชำระเงินให้  แต่ธนาคารหัวหมากฯ  ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน  นายแมวจึงเรียกให้นายไก่รับผิดชำระเงินตามเช็คให้  แต่นายไก่ปฏิเสธที่จะชำระเงินให้แก่นายแมว  โดยอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้ลงมือชื่อสลักหลังเช็คฯแต่อย่างใด  ดังนี้ข้ออ้างของนายไก่ถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1006  ได้บัญญัติให้ตั๋วเงินนั้นยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้  ลายมือชื่อปลอมนั้นโดยหลักการแล้ว  ไม่มีผลกระทบไปถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่ออื่นๆในตั๋วเงินนั้น  ขณะเดียวกัน  ป.พ.พ.  มาตรา  1008  ได้บัญญัติให้ลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย  ผู้ใดจะแสวงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้มิได้  เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นดังต่อไปนี้  คือ

 1        ผู้ใดจะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้  เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง  อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกเหตุลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

2       ผู้ใดจะทำให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้  เว้นแต่  ได้ใช้เงินไปในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม

 3       ผู้ใดจะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้  เว้นแต่คู่สัญญาผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

อนึ่งลายมือชื่อปลอมนั้น  กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม  ให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อปลอมนั้น  กรณีย่อมเป็นผลให้เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมตลอดไป

ข  อธิบาย

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่มีลายมือชื่อปลอม  คือ  ลายมือชื่อของนายไก่  ปรากฏอยู่เช็ค  ซึ่งโดยหลักจะมีผลคือห้ามมิให้ผู้ใดแสวงหาสิทธิต่างๆจากลายมือชื่อปลอมของนายไก่นั้นได้  แต่การที่นายไก่ได้ยอมรับว่า  ตนเป็นผู้สลักหลังเช็ค  ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนายลิงเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของนายไก่นั้น  ถือได้ว่านายไก่อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท  มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับนายแมวได้ตามมาตรา  1008  วรรคแรก  นายไก่จึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่นายแมว  ดังนั้น  ข้ออ้างของนายไก่จึงไม่ถูกต้อง

สรุป  ข้ออ้างของนายไก่ไม่ถูกต้อง

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เลี้ยงไก่ครั้งละห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยมีข้อตกลงให้จันทร์เอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่จากพุธ และเงินค่าจ้างแรงงานโดยอาทิตย์จะจดบัญชีว่าจันทร์เอาเงินไปจำนวนเท่าใดและเมื่อลูกไก่โตได้ขนาดจันทร์ต้องขายไก่ให้กับอาทิตย์ โดยอาทิตย์จะตีราคาไก่แล้วหักเงินที่จันทร์เป็นหนี้ออกแล้วมอบส่วนที่เหลือให้จันทร์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใดเพื่อจะได้หักทอนบัญชีกันเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไปแล้วอาทิตย์จะให้จันทร์เบิกเงินไปซื้อลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่ไปเลี้ยงในรอบต่อไปอีก ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงินหรือบัญชีเดินสะพัด

ข ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงินในกรณีใดบ้าง

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์มีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามาตรา 856 เพราะว่าเป็นข้อตกลงที่มีการเอาหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ซึ่งต่างฝ่ายเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันมาหักทอนแล้วชำระแต่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข อธิบาย

บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นทั้งนี้ตามมาตรา 900 วรรคแรก

– ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงิน

– ผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินเช่นเดียวกัน

สำหรับเหตุที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 914 กล่าวคือ ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน และผู้ที่ได้โอนตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อโดยการสลักหลัง นอกจากจะต้องรับผิดตามตั๋วในฐานะที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วตามมาตรา 900 แล้ว ทั้งสองคนนี้ยังต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วหรือเป็นผู้สลักหลังโอนต่อไปด้วย เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก

1 ในกรณีที่ตั๋วแลกเงินนั้นยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน เมื่อผู้ทรงได้นำตั๋วไปยื่นให้ผู้จ่ายรับรองแล้วผู้จ่ายไม่รับรอง และ

2 ผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ประเด็นที่สอง

1 ในกรณีที่ตั๋วแลกเงินนั้นถึงกำหนดใช้เงินแล้ว เมื่อผู้ทรงได้นำตั๋วไปยื่นให้ผู้จ่ายใช้เงินแล้วผู้จ่ายไม่ยอมจ่ายเงินให้ และ

2 ผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

จะเห็นว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังโอนตั๋วจะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นต่อเมื่อตั๋วนั้นได้ขาดความเชื่อถือ โดยผู้จ่ายไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินแล้ว และผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ถึงจะไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังในตั๋วนั้นได้

 

ข้อ 2 ก ให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์ของ “ผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย” โดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข ส้มออกตั๋วแลกเงินสั่งให้เขียวจ่ายเงินให้แก่แดง เป็นตั๋วฯ แบบระบุให้ใช้เงินแก่แดงหรือผู้ถือต่อมา แดงสลักหลังเฉพาะระบุชื่อดำ แล้วส่งมอบตั๋วฯนั้นชำระหนี้ให้ดำฯ จากนั้นดำนำตั๋วฯนั้นไปสลักหลังลอยและส่งมอบชำระหนี้ให้แก่ขาว ซึ่งต่อมาขาวก็ได้ส่งมอบตั๋วนั้นชำระหนี้ให้แก่ทองจากข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น ทองถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ

1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)

2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อหรือเป็นผู้ถือ สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ทรงโดยสุจริต) และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

อนึ่ง การสลักหลังไม่ขาดสาย หมายถึง การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน

ข อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

วินิจฉัย

ตั๋วดังกล่าวถือว่าเป็นตั๋วที่ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ หรือตั๋วผู้ถือซึ่งจะสามารถโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบให้แก่กัน แต่หากมีการสลักหลังตั๋ว ที่ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย

ดังนั้นเมื่อตั๋ว ดังกล่าวสามารถโอนให้แก่กันโดยเพียงการส่งมอบ ตามมาตรา 918 จึงถือว่า ทองเป็นผู้ทรงตั๋ว นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นผู้ครอบครองตั๋วนั้น ในฐานะผู้ถือ และได้รับการโอนตั๋วมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 904 905 วรรคสองและวรรคสาม

ส่วนที่มีการสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นก็ไม่ถือว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อการโอนตั๋ว เพียงแต่จะมีผลทำให้ผู้ที่สลักหลังนั้นต้องรับผิดตามตั๋ว ในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ตามมาตรา 921

สรุป ทองเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 ก กฎหมายตั๋วเงินได้วางหลักเกณฑ์ให้ธนาคารผู้จ่ายเงิน (Paying Bank) ตามเช็คขีดคร่อมธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน (Collecting Nank) ตามเช็คขีดคร่อม รวมทั้งผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลหนี้แห่งเช็คขีดคร่อมนั้นอย่างไร

ข รัตนาวดีได้รับเช็คผู้ถือธนาคารกรุงทองจากสมชายซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายล่วงหน้าแล้ว ได้ขีดคร่อมทั่วไปลงบนเช็ค พร้อมกับเขียนข้อความว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงไว้ในระหว่างรอยขีดคร่อม รัตนาวดีทำเช็คนั้นตกหายโดยไม่รู้ตัว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ดวงดีเป็นผู้เก็บเช็คนั้นได้แล้วนำเช็คนั้นไปซื้อสินค้าและมอบเช็คนั้นให้ไว้แก่หนึ่งฤทัยซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดนสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ต่อมาหนึ่งฤทัยได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารทัพไทยเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของหนึ่งฤทัย และหนึ่งฤทัยได้ถอนเงินตามเช็คนั้นไปใช้หมดแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) หนึ่งฤทัยเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(2) ใครเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คพิพาทดังกล่าว

(3) สมชายและธนาคารกรุงทอง พร้อมทั้งธนาคารทัพไทย ยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าของอันแท้จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

เช็คขีดคร่อม หมายถึง เช็คที่บนด้านหน้าทางด้านซ้ายของเช็คมีรอยเส้นขนาน 2 เส้น ขีดพาดไว้ ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนี้อาจจะมีถ้อยคำเขียนไว้ก็ได้ ตามมาตรา 994 แบ่งเช็คขีดคร่อมออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นว่างเปล่า ไม่มีถ้อยคำใดเขียนไว้ หรือมีถ้อยคำแต่เพียง “และบริษัท” หรือคำย่อใดๆอยู่ในระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งระบุลงไว้โดยเฉพาะ

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) ตามมาตรา 998 มีหลักคือ

– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ (Collecting Bank) หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้

ดังนั้น ถ้าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผลให้

1 ให้ถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินให้แก่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงและธนาคารก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้สั่งจ่ายด้วย ดังนี้ธนาคารผู้จ่ายย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้

2 ให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมนั้นได้หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อผู้รับเงินเงิน ผู้รับเงินจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คนั้นหรือตามมูลหนี้เดิมอีกไม่ได้

หลักเกณฑ์การเบิกเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน ตามมาตรา 1000 มีหลักคือ

1 ต้องเป็นเช็คที่ขีดคร่อมมาก่อน มิใช่ธนาคารขีดคร่อมเสียเอง

2 เช็คขีดคร่อมใบนั้น เมื่อเบิกมาแล้วจะต้องนำเข้าบัญชีของลูกค้าธนาคารนั้น

3 ธนาคารจะต้องดำเนินการเบิกเงินเพื่อลูกค้านี้โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ

ดังนั้นหากครบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินรายใดได้เรียกหรือรับเงินไว้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น (ผู้ทรงเดิม) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิในเช็คขีดคร่อมนั้นเลย หรือผู้เคยค้านั้นมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คขีดคร่อมนั้น

ข อธิบาย

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา 995 (3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้

มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาตามประเด็นได้ ดังนี้

(1) หนึ่งฤทัยไม่เป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคสองและวรรคสามเพราะเช็คพิพาทเป็นเช็คที่รัตนาวดีขีดคร่อมและห้ามเปลี่ยนมือ ตามมาตรา 995 (3) ดวงดีผู้เก็บเช็คนั้นได้ ย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นและไม่มีสิทธิโอนให้ใคร กรณีย่อมเป็นผลให้หนึ่งฤทัยไม่มีสิทธิรับโอนเช็คพิพาทนั้นด้วยตามมาตรา 999

(2) เช็คพิพาทได้ตกหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของรัตนาวดี ต้องถือว่ารัตนาวดียังคงเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คพิพาทตามมาตรา 998

(3) สมชายและธนาคารกรุงทองไม่ต้องรับผิดต่อรัตนาวดี ตามมาตรา 998 และธนาคารทัพไทยก็ไม่ต้องรับผิดต่อรัตนาวดี ตามมาตรา 1000

WordPress Ads
error: Content is protected !!