การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2201 การรายงานข่าว

คำแนะนำ  ข้อสอบมีทั้งหมด 8 ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. จงเขียนข่าวจากข้อมูลสมมติต่อไปนี้ (เขียนหัวข่าว ความนำ และเนอข่าว)        (20 คะแนน)

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ในการดำเนินการสำรวจความพึงพอใจต่อบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิต และการสำรวจ ความพึงพอใจต่อสถาบันอุดมศึกษาของนิสิตนักศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ซึ่ง ก.พ.ร. ได้กำหนดให้มีการสำรวจความพึงพอใจ 2 ส่วน

1.         การสำรวจความพึงพอใจต่อบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิต โดยสัมภาษณ์ผู้ใช้บัณฑิต ได้แก่ นายจ้าง/หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต

2.         การสำรวจความพึงพอใจต่อสถาบันอุดมศึกษาของนักศึกษาโดยการสัมภาษณ์นิสิตนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ทั้งนี้การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 20 กันยายน 2554

สรุปประเด็นสำคัญในส่วนของมหาวิทยาลัยนานา 

1. ความพึงพอใจต่อบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิต คะแนนที่ได้จากการสำรวจอยู่ที่ 4.3491 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละของคะแนน 86.98 โดยผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจในประเด็นคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ความรู้ความสามารถ ทางวิชาการ และความรู้ความสามารถพื้นฐานตามลำดับ

2.         ความพึงพอใจต่อมหาวิทยาลัยนานาของนักศึกษา คะแนนที่ได้จากการสำรวจอยู่ที่ 4.1877 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละของคะแนน 83.95 โดยนักศึกษามีความพึงพอใจ ในประเด็นด้านการจัดการเรียนการสอนสูงกว่าประเด็นด้านการให้บริการของสถาบัน โดยมีรายละเอียดในแต่ละประเด็นหลัก 

2.1       ด้านการจัดการเรียนการสอน นักศึกษามีความพึงพอใจในสถานที่สำหรับการจัด การเรียนการสอนสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ อาจารย์ผู้สอน การจัดหลักสูตร การเรียนการสอน และสื่อ/เอกสาร และอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนตามสำดับ

2.2       ด้านการให้บริการของมหาวิทยาลัย นักศึกษามีความพึงพอใจในการให้บริการทั่วไป สูงกว่าการให้บริการด้านวิชาการ

แนวคำตอบ หน้า 29-31

หัวข่าว

ม. นานา ได้ใจนายจ้าง ชี้ผลิตบัณฑิตมีคุณธรรม

ความนำ

ผลการสำรวจพบ มหาวิทยาลัยนานาได้รับความนิยมจากนายจ้างด้านการผลิตบัณฑิตมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพสูงที่สุด ส่วนนักศึกษาโดนใจด้านการจัดการเรียนการสอนมากกว่าการให้บริการของสถาบัน

เนื้อข่าว

สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ไดร่วมกัน ดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิต และความพึงพอใจต่อสถาบันอุดมศึกษาของ นิสิตนักศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ใช้บัณฑิต ได้แก่ นายจ้าง หัวหน้า หรือผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต และนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ผลการสำรวจในส่วนของมหาวิยาลัยนานาพบว่า ด้านความพึงพอใจต่อบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิต ผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจ 4.35 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 86.98 ในประเด็นคุณธรรม จริยธรรม และ จรรยาบรรณในวิชาชีพสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ความรู้ความสามารถทางวิชาการ และความรู้ความสามารถพื้นฐาน ตามลำดับ

ในด้านความพึงพอใจต่อมหาวิทยาลัยนานาของนักศึกษาพบว่า นักศึกษามีความพึงพอใจ 4.19 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 83.95 ในประเด็นด้านการจัดการเรียนการสอนสูงกว่าประเด็นด้านการให้บริการ ของสถาบัน กล่าวคือ ด้านการจัดการเรียนการสอน นักศึกษามีความพึงพอใจในสถานที่สำหรับการจัดการเรียนการสอน สูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ อาจารย์ผู้สอน การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน และสื่อ เอกสาร รวมทั้งอุปกรณ์ ประกอบการเรียนการสอนตามลำดับ ส่วนด้านการให้บริการของมหาวิทยาลัย นักศึกษามีความพึงพอใจในการ ให้บริการทั่วไปสูงกว่าการให้บริการด้านวิชาการ

ข้อ 2. จากข่าวต่อไปนี้ จงเขียนหัวข่าว (10 คะแนน)

ศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินการสำรวจ รามคำแหงโพล” เกี่ยวกับผลงาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และการแต่งตั้ง ครม. ยิ่งลักษณ์ 2 เก็บข้อมูลจากประชาชน จำนวน 11,595 คน ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครฯ ระหว่างวันที่ 25 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2555

ผลการสำรวจพบว่า ด้านความพอใจในการบริหารงานของนายกยิ่งลักษณ์ 1 ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ประชาชนพอใจร้อยละ 45.00 ไม่พอใจร้อยละ 15.63 ประเด็นที่ไม่พอใจคือ มีความเห็นว่า สร้างความแตกแยกด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญร้อยละ 26.55 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่มีภาวะผู้นำ ร้อยละ 25.91 มีการก่อหนี้สินให้ประเทศชาติโดยไม่จำเป็นร้อยละ 15.32 ก้าวก่ายงานข้าราชการประจำ ร้อยละ 11.77 อย่างไรก็ตามมีประชาชนที่เห็นว่านายกยิ่งลักษณ์มีความเป็นเลิศในการบริหารงาน แผ่นดินร้อยละ 20.45

ในด้านความพอใจต่อการแต่งตั้ง ครม. ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ 2 พบว่า ประชาชนพอใจ ร้อยละ 42.00 ไม่พอใจร้อยละ 20.23 ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าการแต่งตั้ง ครม. มีความเหมาะสม ร้อยละ 35.92 ไม่มีความเหมาะสมร้อยละ 25.06 นอกจากนั้นยังมีความเห็นว่าการแต่งตั้ง ครม. ครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 22.32 แต่งตั้งเพื่อตอบแทนบุญคุณให้ สมาชิกพรรคร้อยละ 16.70

แนวคำตอบ หน้า 2932 – 33 หัวข่าว

โพลชี้ผลงานปู 1 และ ครม. ปู 2 คนพอใจให้สอบผ่าน

ข้อ3. เหตุการณ์พายุฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้ฝนตกหนัก จะได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) ด้านใด          (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 2-6, (คำบรรยาย)

เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากมีคุณค่าเชิงข่าว (News

Values) ดังนี้

1. เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น เกิดอารมณ์ตื่นเต้น ตกใจ หรือเห็นใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ จนกระทั่งบ้านเรือนเสียหาย หรืออาจบาดเจ็บล้มตาย

2.         ความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้รับสารทั้งทางตรง และทางอ้อม ส่งผลให้ผู้รับสารที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับความเดือดร้อนจากการจราจรที่ติดขัดเนื่องจากฝนตกหนัก น้ำท่วม หรือทรัพย์สินเสียหายจากลมพายุ นอกจากนี้ยังเป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้อ่านให้สร้างบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง

3.         ผลกระทบ คือ เป็นเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของ ผู้คนจำนวนมาก และยังเป็นผลกระทบในเชิงลบโดยตรงต่อผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ

4.         ความเปลี่ยนแปลง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเป็นสิ่งไม่ปกติธรรมดา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ทุกวัน

5.         ความใกล้ชิด คือ เป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว เกิดขึ้นในสังคมไทย และยังอาจเกี่ยวข้องกับ ตัวผู้รับสารเอง ครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

6.         ความโดดเด่น/ดัง/ชื่อเสียง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เป็นอุบัติภัยในเขตเมืองหลวง จึงมี ความโดดเด่นในตัวเหตุการณ์

7. ความทันต่อกาลเวลา คือ เป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ 

ข้อ 4. ข่าวการเมือง” ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง ยกตัวอย่างข่าวและแหล่งข่าวประกอบ(10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 159 – 162

ข่าวการเมืองครอบคลุมขอบเขตเนื้อหา 

1. การจัดการเลือกตั้ง การจัดตั้งพรรคการเมือง นโยบายของแต่ละพรรค และการรณรงค์ หาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ

2.         การเจรจาตอรองในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล การเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรี โครงสร้างของคณะรัฐมนตรี และการวางตัวบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง

3.         การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา การปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล

4.         กระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา การบังคับใช้กฎหมาย

5.         การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรี การปรับคณะรัฐมนตรี ฯลฯ

6.         บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา

7.         ความคิดเห็นของ ส.ส. ต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐสภา

8.         การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อร่าง พ.ร.บ. ที่มีปัญหา

9.         การฟ้องร้องของประชาชนต่อศาลปกครอง รวมทั้งการวินิจฉัยต่าง ๆ

10.       การปฏิบัติงานขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ

11.       ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ตัวอย่างข่าวการเมืองและแหล่งข่าวประกอบ

ข่าวการตรวจสอบการถือครองหุ้นของรัฐมนตรีเกินกว่ากำหนด ซึ่งใช้แหล่งข่าวประกอบ ดังนี้

–           คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ (ปปช.)

–           รัฐมนตรีที่เข้าข่ายความผิดถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าร้อยละ 5

–           นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543

–           สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องแจ้งเรื่องคุณสมบัติของ รัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่ง

–           บริษัทเอกชนที่รัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5%

–           บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี

–           รัฐมนตรีและบุคคลสำคัญต่าง ๆ ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องจริยธรรม ของรัฐมนตรี

ข้อ5 การรายงานข่าวกีฬาควรรายงานเนื้อหาอะไรบ้าง และใช้แหลงข่าวใดบ้าง         (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 184 – 186

การรายงานข่าวกีฬาควรรายงานเนื้อหา 

1.         การเสนอข่าวก่อนการแข่งขัน ได้แก่ ความสำคัญของการแข่งขัน ผลงานสถิติการแข่งขัน ที่ผ่านมา ระบบการเล่นที่ผ่านมาของแต่ละทีม สภาพความพร้อมของผู้เล่น วิเคราะห์วิจารณ์การเล่นที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แผนการเล่นของแต่ละทีม สภาพอากาศที่จะมีผลกระทบต่อการเล่น สภาพแวดล้อมด้านอื่น ๆ (เช่น ผู้ชม กองเชียร์) ความคิดเห็นของผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญ และผลการแข่งขันที่คาดว่าจะเป็น

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังอาจเพิ่มเติมประเด็นสำคัญในด้านอื่น ๆ เช่น แต่ละทีมมีการปรับปรุง แผนการเล่นอย่างไร ถ้าทีมแพ้จะเกิดผลอย่างไร มีการเตรียมทีมอย่างไร และประสบปัญหาด้านใดหรือไม่ เป็นต้น

2.         การเสนอข่าวหลังการแข่งขัน ได้แก่ ผลการแข่งข้นใครเป็นผู้ชนะด้วยคะแนนเท่าไหร่ ผลการแข่งข้นทำให้ทีมนั้นสามารถครองแชมป์ต่อไปได้หรือไม่ หรือทีมใดจะเป็นผู้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งแชมป์แทน รายงานรายละเอียดของการแข่งขันตั้งแต่ต้นจนจบ เปรียบเทียบการเล่นของแต่ละทีม ผู้เล่นดีเด่นมีใครบ้างและ ขาดใครที่จะทำให้ทีมเกิดปัญหา ผู้เข้าชมการแข่งขันมีมากน้อยเพียงใด สภาพอากาศระหว่างการแข่งขัน และ คะแนนรวมสถิติต่าง ๆ หรือการทำลายสถิติ

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังสามารถใช้การสัมภาษณ์ผู้เล่น ผู้จัดการทีมทั้งทีมแพ้และทีมชนะ เช่น สาเหตุที่ผลการแข่งขันเป็นเช่นนั้น และการเตรียมตัวกับการแข่งขันในรอบต่อไป เป็นต้น

แหล่งข่าวของข่าวกีฬา 

–           การกีฬาแห่งประเทศไทย

–           กระทรวงศึกษาธิการ

–           คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

–           สมาคมกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งมี 25 สมาคม

–           กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีสำนักกีฬาทหารของกองทัพทั้ง 4 เหล่าทัพ

–           กรุงเทพมหานครและเทศบาลของจังหวัดต่าง ๆ

–           หน่วยงานภาคเอกชน เช่น บริษัท ฟุตบอลไทย จำกัดบริษัท แกรนด์สปอร์ต จำกัด

เป็นต้น

–           สโมสรกีฬาต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน

–           สมาคมวิชาชีพทางพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬา

–           นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้จัดการทีม

ข้อ 6. การรายงานข่าวอุบัติเหตุรถชนกัน กับข่าวดารานักร้องชื่อดังเสพยา จะต้องระบุคุณลักษณะในข่าว เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ยกตัวอย่างประกอบ (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 119 – 122, (คำบรรยาย)

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการรายงานข่าวอุบัติเหตุรถชนกัน มีดังนี้

1.         คุณลักษณะของบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุลผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อายุของผู้ตายและผู้บาดเจ็บอาชีพหรืองานอดิเร ยศหรือตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และ ที่อยู่หรือที่ทำงานของผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ

2.         คุณลักษณะของสถานที่ เช่น สถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน ซึ่งต้องระบุคุณลักษณะ โดยการบอกจุดเกิดเหตุ ซอย ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือหากอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่ต่างจังหวัดก็ควรบอก หลัก กม. ที่เท่าไหร่ บนถนนสายอะไร และหากจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือที่ที่เป็นที่รู้จักกันดี ก็ต้องระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ เช่น ลำดับเหตุการณ์ของการเกิดอุบัติเหตุรถชนกันตั้งแต่ ก่อนเกิดเหตุ เวลาที่เกิดเหตุ จากนั้นเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์จบลงแล้ว มีสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร จำนวนผู้ตายและผู้บาดเจ็บ คำพูดของผู้เห็นเหตุการณ์หรือ ผู้บาดเจ็บ และข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการรายงานข่าวดารานักร้องชื่อดังเสพยา มีดังนี

1.         คุณลักษณะของบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุลของดารานักร้องที่เสพยา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ชื่อเล่น หรือชื่อที่ใช้ในวงการบันเทิงอายุของดารานักร้องอาชีพที่อยู่เกียรติภูมิหรือผลงานที่ สร้างชื่อเสียง. ยศหรือตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เป็นต้น

2.         คุณลักษณะของสถานที่ เช่น สถานที่ที่ดารานักร้องชื่อดังเสพยา หรือสถานที่ที่ถูกตำรวจ จับกุมตัวได้ ซึ่งต้องระบุคุณลักษณะโดยการบอกที่ตั้ง เลขที่ ซอย ถนน ตำบล อำเภอ และจังหวัด และหากสถานที่นั้นอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือที่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ต้องระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ เช่น ลำดับเหตุการณ์ของข่าวตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เวลาที่ เกิดเหตุ จากนั้นเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์จบลงแล้ว มีจำนวน ผู้เสพยาที่ตำรวจจับกุมตัวได้กี่คน คำพูดของดารานักร้องที่เสพยาหรือผู้เห็นเหตุการณ์ ความรับผิดชอบต่อสังคม ของต้นสังกัดของดารานักร้องผู้นั้น และความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับหลักฐาน การให้ประกันตัว เป็นต้น 

ข้อ 7. โครงสร้างการเขียนข่าวประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ละส่วนมีความสำคัญอย่างไร อธิบายพอเข้าใจ (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 29638391, (คำบรรยาย)

โครงสร้างของการเขียนข่าวทั่วไปประกอบด้วยส่วนสำคัญ 

1.         หัวข่าวหรือพาดหัวข่าว (Headline) คือ ส่วนบนสุดของข่าว ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่เหนือจาก ความนำและเนื้อข่าว ทำหน้าที่บอกผู้อ่านให้ทราบถึงสาระสำคัญของข่าว และช่วยดึงดูดสายตาหรือสร้างความสนใจ ให้คนอยากอ่านเนื้อหามากที่สุด ดังนั้นหัวข่าวจึงถือเป็นสิ่งแรกที่จะบอกผู้อ่านว่าในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ๆ มีข่าว ที่น่าสนใจอะไรบ้าง โดยมักใช้ตัวอักษรตัวใหญ่และหนากว่าส่วนประกอบอื่น

2.         ความนำหรือวรรคนำ (Lead) คือ ย่อหน้าแรกของข่าว จัดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของข่าว และยังเป็นส่วนที่เขียนยากที่สุดด้วย โดยความนำจะทำหน้าที่สรุปสาระของข่าวเพื่อให้ผู้อ่านซึ่งอาจจะเพียง มองผ่าน ๆ ก็สามารถตัดสินใจได้ตั้งแต่แรกว่าจะอ่านข่าวนั้นต่อไปหรือไม่ จึงเป็นการช่วยให้ผู้อ่านไม่ต้องเสียเวลามาก และแม้ว่าจะอ่านเฉพาะแต่ความนำ ผู้อ่านก็จะทราบเรื่องทั้งหมดได้โดยย่อ

3.         ส่วนเชื่อม (Neck or Bridge) คือ ย่อหน้าถัดไปจากความนำ หรืออาจจะวางส่วนเชื่อม ไว้ท้ายข่าวเลยก็ได้ ซึ่งในข่าวบางข่าวอาจจะมีส่วนเชื่อมหรือไม่มีก็ได้ โดยส่วนเชื่อมจะทำหน้าที่เป็นส่วนขยาย เพื่อให้ความนำสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรืออาจทำหน้าที่อธิบายความเดิมของข่าวในกรณีที่ข่าวนั้นเคยเกิดขึ้นและได้รับ การนำเสนอไปแล้ว ต่อมามีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นโดยมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผู้เขียนข่าว ก็มักจะเขียนส่วนเชื่อมไว้เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจความเดิมของข่าวนั้นได้ นอกจากนี้ส่วนเชื่อมยังใช้อธิบาย รายละเอียดหรือคุณลักษณะของบุคคลผู้ที่ตกเป็นข่าวด้วย

4.         เนื้อข่าว (Body or Details) คือ ส่วนที่เป็นข้อมูลทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เป็นข่าว ทำหน้าที่เป็นส่วนขยายหรือให้รายละเอียดเพิ่มเติมแก่ข้อมูลข่าวที่กล่าวถึงไปแล้วในความนำ รวมทั้งเพิ่มข้อมูลข่าว ที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยในความนำ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากมีความสำคัญไมมากนักเมื่อเทียบกับข้อมูลข่าวอื่น ๆ ที่เสนอไว้ ในความนำ

ข้อ 8. สมมติเกิดเหตุระเบิดท่ามกลางงานคอนเสิร์ตซึ่งจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยมี ดารานักร้องชื่อดัง และบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่ในงานด้วย ถ้านักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวจะต้องรายงาน ประเด็นเนื้อหาอะไรบ้าง ควรสัมภาษณ์ใครบ้างเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการรายงานข่าว และควร มีการระบุคุณลักษณะอะไรบ้างในเนื้อข่าวดังกล่าว           (20 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 15- 17118 – 122148 – 149

ประเด็นเนื้อหาที่ต้องรายงานในข่าวดังกล่าว มีดังนี้

–           เกิดเหตุการณ์อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

–           ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ บรรยากาศในงานคอนเสิร์ตเป็นอย่างไร มีดารานักร้องชื่อดังและบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานกี่คน เป็นใครบ้าง ผู้จัดงานเป็นใครและมีผู้มาชมงานประมาณกี่คน

–           เหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นในช่วงไหนของคอนเสิร์ต ความโกลาหลและการหนีเอาตัวรอด ของผู้คน และการควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่

–           สภาพความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และการช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บของเจ้าหน้าที่

–           รายชื่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ อาการ การรักษา และมีดารานักร้อง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างไร

–           ความเห็นหรือข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดระเบิด การพบ พยานวัตถุและหลักฐานอื่น ๆ ในที่เกิดเหตุ

–           คำสัมภาษณ์ของผู้เห็นเหตุการณ์ ดารานักร้อง และบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งรอดชีวิต จากเหตุการณ์

–           ข้อมูลเสริม เช่น ภูมิหลังที่ทำให้ทราบว่าเคยมีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าหรือไม่ก่อนเกิด เหตุการณ์ระเบิดขึ้น

แหล่งข่าวที่ใช้ประกอบการรายงานข่าวดังกล่าว มีดังนี้

–           เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด

–           เจ้าหน้าที่มูลนิธิการกุศลต่าง ๆ

–           โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล

–           ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ดารานักร้อง และบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์

–           พยานที่รู้เห็นเบาะแสของเหตุการณ์

–           ผู้จัดงาน หรือผู้รับผิดชอบในการจัดงานคอนเสิร์ต

–           ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์

–           ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงของผู้เสียชีวิต

–           บริษัทประกันวินาศภัย

คุณลักษณะที่ต้องระบุในเนอข่าวดังกล่าว มีดังนี้

1.         คุณลักษณะของบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุลของผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ ดารานักร้อง บุคคลที่ มีชื่อเสียง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชื่อเล่น หรือชื่อที่ใช้ในวงการของดารานักร้อง และบุคคลที่มีชื่อเสียงอายุของผู้ตายและผู้บาดเจ็บอาชีพหรืองานอดิเรกยศหรือตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ที่อยู่ ที่เรียน หรือที่ทำงานของผู้ตายและผู้บาดเจ็บเกียรติภูมิหรือ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงของดารานักร้อง และบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้น

2.         คุณลักษณะของสถานที่ เช่น มหาวิทยาลัยที่จัดงานคอนเสิร์ตและเกิดเหตุระเบิดขึ้น ซึ่งต้องระบุคุณลักษณะโดยการบอกที่ตั้ง เลขที่ ซอย ถนน ตำบล อำเภอ และจังหวัด และหากสถานที่นั้นอยู่ใกล้ กับสถานที่ราชการหรือที่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ต้องระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ เช่น ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดระเบิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เวลาที่เกิดเหตุ จากนั้นเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์จบลงแล้ว มีสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร จำนวนผู้ตายและผู้บาดเจ็บ คำพูดของผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ และผู้รอดชีวิต รวมทั้งข้อสันนิษฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดระเบิด ผู้ก่อเหตุ หลักฐานที่พบ เป็นต้น

Advertisement