การสอบไล่ภาค 1 ปีภารศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2201 การรายงานข่าว

คำสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 8 ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. จงเขียนข่าวจากข้อมูลต่อไปนี้ (เขียนเฉพาะเนื้อข่าว)     (20 คะแนน)

ศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอนำเสนอรามคำแหงโพล (RU POLL) ครั้งที่ 15/2555 โดยทำการสำรวจความคิดเห็นด้านบุคลิกภาพของนายกยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้ทำการสำรวจในช่วงวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2555 ทั้งในกรุงเทพฯ จำนวน 10,000 คน และต่างจังหวัด จำนวน 1,600 คนโดยผู้ตอบแบนลอบถามรวมทั้งสิ้น 11,600 คน เป็นเพศชายจำนวน 5,362 คน (46.22%) และเพศหญิงจำนวน 6,238 คน (53.78%) เป็นนักการเมืองร้อยละ 40.08 ธุรกิจเอกชน ร้อยละ 31.96 และอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐร้อยละ 15.98

ตาราง1 เรื่องที่เบื่อหน่ายนายกยิ่งลักษณ์มากที่สุด

ตาราง2 เรื่องที่ชื่นชมนายกยิ่งลักษณ์มากที่สุด

ตาราง3 เรื่องที่ต้องการให้นายกยิ่งลักษณ์แสดงความเป็นผู้นำมากที่สุด

แนวคำตอบ หน้า 91-118

เนื้อข่าว

ศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือรามคำแหงโพล (RU POLL) สำรวจความคิดเห็น ด้านบุคลิกภาพของนายกยิ่งลักษณ์ โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 11,600 คนในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม – 3 กันยายน 2555 พบว่า เรื่องที่เบื่อหน่ายนายกยิ่งลักษณ์มากที่สุด ได้แก่ ความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาร้อยละ 30.73 รองลงมาคือ การขาดภาวะผู้นำร้อยละ 19.57 ส่วนเรื่องที่ชื่นชม นายกยิ่งลักษณ์มากที่สุด ได้แก่ การนิ่งเงียบไม่โต้ตอบร้อยละ 43.39 รองลงมาคือ ความอดทนร้อยละ 17.74 สำหรับเรื่องที่ต้องการให้นายกยิ่งลักษณ์แสดงความเป็นผู้นำมากที่สุด ได้แก่ บริหารงานเพื่อประโยชน์โดยรวม ของคนในชาติร้อยละ 37.71 รองลงมาคือ ควบคุมแกนนำเสื้อแดงให้เคารพกฎหมายร้อยละ 22.13

ข้อ 2. หากนักศึกษาจะต้องรายงานข่าวต่อไปนี้จะสัมภาษณ์แหลงข่าวใดเพิ่มเติมอีกบ้างในประเด็นใดบ้าง (เขียนเฉพาะประเด็นที่จะถาม ไม่ต้องเขียนรายละเอียดเนื้อหา)     

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า โครงสร้างตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันยังคงใช้แรงงานระดับล่างและระดับกลางเป็นหลัก และสถานการณ์การใช้ แรงงานปัจจุบันค่อนข้างตึงตัว มีความต้องการแรงงานแต่หาไม่ได้ ขณะเดียวกันก็มีแรงงานบางส่วนตกงาน ว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานระดับสูง ป.ตรีขึ้นไป จากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเรามีผู้ว่างงานลดลงอย่างต่อเนือง เฉลี่ยปีละ 55,000 คน นับเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดประเทศหนึ่ง หมายความว่า ต่อให้ส่งเสริมอย่างไร เราก็ไม่มีคนกลับเข้าไปสู่ตลาดแรงงานได้เพียงพอ

เมื่อดูว่าในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นวิกฤติ ก็ยังมีคนว่างงานปีละ 2.8 แสนคน พร้อมกับ มีความต้องการแรงงานปีละ 2.5 แสนคน ซึ่งน่าจะทดแทนกันได้ แต่เราไม่สามารถเอามาใช้งานได้ เพราะ 70% ของผู้ว่างงานไม่ยอมทำงานหรือหางานทำ เราจึงมีภาวะขาดแรงงานตึงตัว นอกจากนี้ยังต้องมาเสียวัยแรงงานส่วนหนึ่ง ที่ควรใช้ประโยชน์อยู่ในตลาดแรงงานไปกับคนที่มีปัญหา พฤติกรรมไม่เหมาะสม อยู่ในสถนพินิจหลายหมื่นคน และมีอายุไม่ถึง 30 ปีที่ถูกจำคุกอีกกว่า 1 แสนคน

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเกิด น้อยลง วัยแรงงานมีน้อยลง และระบบการศึกษาปัจจุบันเป็นระบบที่กักเขาไว้ในโรงเรียนยาวนานในลักษณะยืดเวลา ว่างงานออกไป เพราะเมื่ออยู่ในโรงเรียนนานหมายถึง การเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่คือสายสามัญ แล้วไปต่ออุดมศึกษา ป.ตรี โท เอก ซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการน้อยกว่าสายอาชีวะหรือวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งเป็น แรงงนระดับกลางลงมา ซึ่งหากเทียบกับช่วงชีวิตการทำงาน (Lifetime Earning) ของผู้มีอายุ 24 ปีขึ้นไป ผู้จบ มัธยมปลายมีรายได้น้อยกว่าผู้จบอาชีวศึกษา

การนิยมใบปริญญา ผู้ปกครองอยากให้ลูกได้ปริญญาจึงส่งเสริมให้เรียนสายสามัญแล้วก็ไปรอตกงานในระดับ ปริญญาตรีและสูงกว่า ซึ่งทุกปีมีว่างงานปีละกว่า 1 แสนคน หากเข้าใจความต้องการแท้จริงของตลาดแรงงานก็ไม่ควร หลงใหลใบปริญญาที่ได้มาติดข้างฝาจนเกินเหตุแล้วก็กลายมาเป็นคนว่างงาน

แนวคำตอบ หน้า 15 – 17, (คำบรรยาย)

แหล่งข่าวเสริมและประเด็นสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากข่าวข้างต้น มีดังนี้

1.         ผู้ปกครอง หรือเด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและกำลังจะศึกษาต่อ ควร

สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุผลที่นิยมเลือกเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหากตัดสินใจ เลือกเรียนสายอาชีวะ

2.         กระทรวงศึกษาธิการ ควรสัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายที่จะส่งเสริมให้เด็กเรียนสายอาชีวะ หรือวิขาชีพเฉพาะให้มากขึ้น และแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

3.         คณะกรรมการอาชีวศึกษา ควรสัมภาษณ์เกี่ยวกับความต้องการแรงงานสายอาชีพใน ปัจจุบัน และมาตรการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการเรียนสายอาชีวะ เช่น ปัญหาเด็กยกพวกตีกัน เป็นต้น

4.         กระทรวงแรงงาน ควรสัมภาษณ์เกี่ยวกับอัตราความต้องการแรงงานในสายต่าง ๆ หรือ แรงงานประเภทใดเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด

5.         สำนักงานสถิติแห่งชาติ ควรสัมภาษณ์เกี่ยวกับอัตราว่างงานของไทยในปัจจุบัน หรือ ผู้จบการศึกษาระดับใดมีอัตราว่างงานมากที่สุด

ข้อ 3. เหตุการณ์ไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่ง และข่าวอดีตนักแสดงหญิงจมน้ำตายปริศนา ได้รับการรายงาน เป็นข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) ด้านใด (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 2-6, (คำบรรยาย)

เหตุการณ์ไฟไหมีโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่ง ได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากมี คุณค่าเชิงข่าว (News Values) 

1.         เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น เกิดอารมณ์ตื่นเต้น ตกใจ หรือหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2.         ผลกระทบ คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก ทั้งที่เป็นพนักงานที่ทำงานในโรงกลั่นน้ำมันแห่งนั้น รวมทั้งประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอาจได้รับควันพิษที่เกิดจากไฟไหม้ครั้งนี้

3.         ความเปลี่ยนแปลง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไป จากสภาพปกติที่เคยเป็น

4.         ความใกล้ชิด คือ เป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นความใกล้ชิดทางกาย ระหว่างผู้อ่านกับตัวเหตุการณ์

5.         ความโดดเด่น/ดัง/ชื่อเสียง คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความโดดเด่นในตัวเหตุการณ์ และ ความมีชื่อเสียงของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

6.         ความไม่คาดคิด/เงื่อนงำ/ฉงนสนเท่ห์ คือ เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และยังมี เงื่อนงำเพราะยังไม่สามารถคลี่คลายหรือตีแผ่หาสาเหตุได้ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่าน เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

7.         ความทันต่อกาลเวลา คือ เป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ

ข่าวอดีตนักแสดงหญิงจมน้ำตายปริศนา ได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจาก

มีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) ดังนี้

1.         เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น โคกเศร้า สงสาร หรือ เห็นอกเห็นใจครอบครัวของอดีตนักแสดงหญิง

2.         ความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร คือ เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้อ่าน

3.         ความใกล้ชิด คือ เป็นเรื่องราวใกล้ตัว เกิดขึ้นในสังคมไทย

4.         ความโดดเด่น/ดัง/ชื่อเสียง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เคยมีชื่อเสียงในอดีต ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

5.         ความไม่คาดคิด/เงื่อนงำ/ฉงนสนเท่ห์ คือ เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดวาจะเกิดขึ้น และยังมี เงื่อนงำว่าเป็นอุบติเหตุหรือการฆาตกรรม นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านสงสัยว่าเกิดขึ้นได้ อย่างไร

6.         ความขัดแย้ง/การเผชิญหน้า คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งระหว่างญาติพี่น้อง และสามีผู้ตายเกี่ยวกับสาเหตุการตายและการแย่งชิงมรดก ทำให้มีการเผชิญหน้าและ ทะเลาะวิวาทกัน

7.         ความทันต่อกาลเวลา คือ เป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ

ข้อ 4. การรายงานข่าวกีฬาควรรายงานเนื้อหาอะไรบ้าง ยกตัวอย่างข่าว 1 ข่าว ระบุแหล่งข่าวและ ประเด็นข่าว       (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 184 – 186 

 การรายงานข่าวกีฬาควรรายงานเนื้อหา 

1. การเสนอข่าวก่อนการแข่งขัน ได้แก่ ความสำคัญของการแข่งขัน ผลงานสถิติการแข่งขัน ที่ผ่านมา ระบบการเล่นที่ผ่านมาของแต่ละทีม สภาพความพร้อมของผู้เล่น วิเคราะห์วิจารณ์การเล่นที่อาจจะมี การเปลี่ยนแปลง แผนการเล่นของแต่ละทีม สภาพอากาศที่จะมีผลกระทบต่อการเล่น สภาพแวดล้อมด้านอื่น ๆ (เช่น ผู้ชม กองเชียร์) ความคิดเห็นของผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญ และผลการแข่งขันที่คาดว่าจะเป็น

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังอาจเพิ่มเติมประเด็นสำคัญในด้านอื่น ๆ เช่น แต่ละทีมมีการ ปรับปรุงแผนการเล่นอย่างไร ถ้าทีมแพ้จะเกิดผลอย่างไร มีการเตรียมทีมอย่างไร และประสบปัญหาด้านใดหรือไม่ เป็นต้น

2.         การเสนอข่าวหลังการแข่งขัน ได้แก่ ผลการแข่งขันใครเป็นผู้ชนะด้วยคะแนนเท่าไหร่ ผลการแข่งขันทำให้ทีมนั้นสามารถครองแชมป์ต่อไปได้หรือไม่ หรือทีมใดจะเป็นผู้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งแชมป์แทน รายงานรายละเอียดของการแข่งขันตั้งแต่ต้นจนจบ เปรียบเทียบการเล่นของแต่ละทีม ผู้เล่นดีเด่นมีใครบ้างและ ขาดใครที่จะทำให้ทีมเกิดปัญหา ผู้เข้าชมการแข่งขันมีมากน้อยเพียงใด สภาพอากาศระหว่างการแข่งขัน และ คะแนนรวมสถิติต่าง ๆ หรือการทำลายสถิติ

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังสามารถใช้การสัมภาษณ์ผู้เล่น ผู้จัดการทีมทั้งทีมแพ้และทีมชนะ เช่น สาเหตุที่ผลการแข่งขันเป็นเช่นนั้น และการ เตรียมตัวกับการแข่งขันในรอบต่อไปเป็นต้น

ตัวอย่างข่าวไทยพ่ายสเปน 1 – 7 ตกรอบฟุตซอลโลก

1.         ประเด็นเนื้อหาที่ต้องรายงานในข่าว ได้แก่

–           มีการแข่งขันอะไร แข่งที่ไหน เมื่อวันที่เท่าไร และใครแพ้ ใครชนะ

–           บรรยากาศในการแข่งขันเป็นอย่างไร มีผู้ชมมาเชียร์คึกคักหรือไม่ และผู้เล่นที่สำคัญ ของทั้ง 2 ทีม ประกอบด้วยใครบ้าง

–           ลำดับการแข่งขันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มเปิดเกมจนจบเกม ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง มีจุดโทษ และมีการต่อเวลาหรือไม่

–           ภายหลังจบเกมผลการแข่งขันเป็นอย่างไร ทีมที่ผ่านเข้ารอบต้องไปเจอกับทีมใด

–           ความคิดเห็นของกุนซือทีมชาติทั้ง 2 ทีม ผู้จัดการทีม และนักเตะดาวเด่นภายหลัง จบเกม

–           การให้เงินอัดฉีด และแนวทางการพัฒนากีฬาฟุตซอลไทยในอนาคต

2.         แหล่งข่าวประกอบ ได้แก่ กุนซือทีมชาติทั้ง 2 ทีม ผู้จัดการทีม และนักเตะดาวเด่น ของทั้ง 2 ทีม รวมทั้งประธานพัฒนาฟุตซอลแห่งชาติไทย

ข้อ 5. คำว่า ข่าวอาชญากรรม” ครอบคลุมเนื้อหาประเภทใดบ้าง ยกตัวอย่างข่าว 1 ข่าว ระบุประเด็น และแหล่งข่าว            (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 169 – 172

ข่าวอาชญากรรมครอบคลุมขอบเขตเนื้อหา 

1.         ข่าวฆาตกรรม เช่น ลักขโมย ปล้น ชิงทรัพย์ คดีต่าง ๆ

2.         ข่าวอุบัติเหตุ อุบัติภัย และภัยพิบัติ เป็นข่าวที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน และคน ให้ความสนใจในเรื่องความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เช่น รถชน รถคว่ำ เครื่องบินตก ไฟไหม้ น้ำท่วม รวมถึง ข่าวเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ข่าวการประท้วง การจลาจล ฯลฯ

3.         ข่าวการฆ่าตัวตาย จะมีลักษณะคล้ายข่าวอุบัติเหตุที่ต้องระบุตัวผู้เคราะห์ร้าย มูลเหตุ จูงใจที่ทำให้ฆ่าตัวตาย สภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมาจากตำรวจ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ แพทย์ ครอบครัว ญาติมิตรผู้ตาย

4.         ข่าวเบ็ดเตล็ด เช่น คนหาย สัตว์ร้ายหลุดมาอาละวาด งานบรรเทาสาธารณภัย

5.         ข่าวสะท้อนสังคม เช่น คนว่างงานจี้ปล้นทรัพย์ การวิวาท ระหว่างนายทุนกับกรรมกร คู่อริทางการเมือง เจ้านายกับลูกน้อง และความขัดแย้งในครอบครัว

6.         ข่าวเกี่ยวทับความผิดทางอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ การเปิดเผยความลับของราชการ ฯลฯ

ตัวอย่างข่าวนักเรียนเทคนิคดักยิงนักเรียนคู่อริบนรถเมล์

1.         ประเด็นเนื้อหาที่ต้องรายงานในข่าว ได้แก่

–          เกิดเหตุการณ์อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 

–           ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงอย่างไร รถเมล์คันที่เกิดเหตุสายอะไร วิ่งจากไหนไปที่ไหน นักเรียนคู่อริขึ้นรถเมล์จากป้ายใด และกลุ่มนักเรียนที่ดักยิง อยู่บริเวณไหน

–           วิธีการก่ออาชญากรรม อาวุธที่ใช้ก่อเหตุ

–           สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น มีผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตกี่คน เป็นใครบ้าง มีประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องโดนลูกหลงหรือไม่

–           การวางแผนติดตามจับกุม ความเห็น และข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

–           คำให้การของผู้เห็นเหตุการณ์ พยาน และวัตถุหลักฐานอื่น ๆ ในที่เกิดเหตุ

–           ความเห็นและการแก้ปัญหาของผู้เกี่ยวช้อง เช่น ผู้บริหารโรงเรียนเทคนิค คณะกรรมการอาชีวศึกษา ฯลฯ

2.         แหล่งข่าวประกอบ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่มูลนิธิการกุศล ต่าง ๆ โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล คนขับรถเมล์ กระเปารถเมล์ ผู้โดยสารรถเมล์สายนั้น พยานแวดล้อมที่เห็น เหตุการณ์ ผู้บริหารโรงเรียนเทคนิค ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงของผู้เสียชีวิต คณะกรรมการอาชีวศึกษา ฯลฯ 

ข้อ 6. การรายงานข่าวนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ กับข่าวบัณฑิตตกงาน ก่อเหตุจี้ชิงทรัพย์ จะต้องระบุคุณลักษณะในข่าวเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง ประกอบ       

แนวคำตอบ หน้า 119 – 122, (คำบรรยาย)

คุณลักษณะ (Identification) ในข่าวนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการป้องกันน้ำท่วม ในปีนี้ กับข่าวบัณฑิตตกงานก่อเหตุจี้ชิงทรัพย์ จะต้องระบุคุณลักษณะในข่าวแตกต่างกัน

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการรายงานข่าวนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ 

1.         คุณลักษณะองบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุลของนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าวยศหรือตำแหน่ง และชื่อเล่น 

2.         คุณลักษณะของสถานที่ เช่น สถานที่ที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์จะต้องระบุลงไปใน ข่าวด้วย หรือหากเป็นการสัมภาษณ์ระหว่างไปลงพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ก็ต้องระบุลงไปด้วยว่าพื้นที่นั้นตั้งอยู่ตำบล อำเภอ และจังหวัดอะไร หากอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือสถานที่ที่มีชื่อเสียงก็ควรระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ เช่น ลำดับเหตุการณ์การสัมภาษณ์ตั้งแต่ก่อนการสัมภาษณ์ ขณะสัมภาษณ์ ไปจนกระทั่งจบการสัมภาษณ์ รัฐบาลมีแผนการป้องกันและมาตรการรองรับปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ อย่างไร ได้ดำเนินการแก้ไขอะไรไปแล้วบ้าง

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการรายงานข่าวบัณฑิตตกงานก่อเหตุจี้ชิงทรัพย์ ได้แก่

1.         คุณลักษณะของบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุลของบัณฑิตที่ก่อเหตุ ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าวอายุของผู้ก่อเหตุและผู้เสียหายอาชีพยศหรือตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และที่อยู่ ของผู้ก่อเหตุ ผู้เสียหาย

2.         คุณลักษณะของสถานที่ เช่น สถานที่ที่บัณฑิตตกงานก่อเหตุจี้ชิงทรัพย์ ซึ่งจะต้อง ระบุคุณลักษณะโดยการบอกที่ตั้ง เลขที่ ซอย ถนน ตำบล อำเภอ และจังหวัด หากอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือ สถานที่ที่มีชื่อเสียงก็ควรระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ เช่น ลำดับเหตุการณ์การก่อเหตุจี้ชิงทรัพย์ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เวลาที่เกิดเหตุ จากนั้นเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์จบลงแล้ว มีจำนวนผู้เสียหายกี่คน ทรัพย์สินที่ถูกจี้ชิงไปมีอะไรบ้าง มีการทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอย่างไร

ข้อ 7. หัวข่าว ความนำ และส่วนเชื่อมมีความสำคัญอย่างไร พร้อมทั้งอธิบายหลักการเขียนแต่ละส่วน พอเข้าใจ      

แนวคำตอบ หน้า 63 – 648391, (คำบรรยาย)

ความสำคัญและหลักการเขียนหัวข่าว ความนำ และส่วนเชื่อมในข่าว

–           หัวข่าวหรือพาดหัวข่าว (Headline) คือ ส่วนบนสุดของข่าว เป็นส่วนที่อยู่เหนือจาก ความนำและเนื้อข่าว มีความสำคัญคือ ทำหน้าที่บอกผู้อ่านให้รู้ว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร บอกอารมณ์ของข่าว และช่วยกระตุ้นความสนใจให้คนอยากอ่านเนื้อหามากที่สุด ดังนั้นหัวข่าวจึงถือเป็นสิ่งแรกที่ต้องมีเสมอ เพื่อบอกผู้อ่านว่าในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ๆ มีข่าวที่น่าสนใจอะไรบ้าง

หลักการเขียนหัวข่าวคือ การพิจารณาประเด็นที่สำคัญที่สุดของข่าวและเป็นสิ่งที่น่าสนใจ มากที่สุดสำหรับผู้อ่าน มาเขียนให้ได้ใจความโดยใช้ภาษาที่กระชับรัดกุม แต่สื่อความหมายได้ครบถ้วนตาม ประเด็นข่าว ดังนั้นข้อความในหัวข่าวจึงต้องสั้นเพื่อให้เพียงพอต่อพื้นที่กระดาษอันจำกัด โดยมักใช้ตัวอักษร ตัวใหญ่และหนากว่าส่วนอื่น

–           ความนำหรือวรรคนำ (Lead) คือ ย่อหน้าแรกของข่าว จัดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของข่าว และยังเป็นส่วนที่เขียนยากที่สุดด้วย มีความสำคัญคือ ทำหน้าที่บอกประเด็นสำคัญของข่าว หรือสรุปสาระสำคัญ ของข่าวเพื่อให้ผู้อ่านซึ่งอาจจะเพียงมองผ่าน ๆ ก็สามารถตัดสินใจได้ตั้งแต่แรกว่าควรจะอ่านข่าวนั้นต่อไปหรือไม่ จึงช่วยให้ผู้อ่านไม่ต้องเสียเวลามาก และแม้ว่าจะอ่านเฉพาะแต่ความนำ ผู้อ่านก็จะทราบเรื่องทั้งหมดได้โดยย่อ

หลักการเขียนความนำคือ ก่อนที่จะเขียนความนำ ควรทราบก่อนว่าตัวข่าวเป็นเรื่องอะไร โดยควรเน้นที่ตัวข่าว หรือเน้นรายละเอียดที่สำคัญและน่าสนใจ แล้วจึงสรุปข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นโดยยึดหลัก ในสิ่งที่คนอยากรู้มากที่สุดตามเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ควรเขียนเป็นประโยคที่สั้น ชัดเจน เข้าใจง่าย อาจมีความยาวเพียง 1 ย่อหน้าสั้น ๆ เท่านั้น

–           ส่วนเชื่อม (Neck or Bridge) คือ ย่อหน้าถัดไปจากความนำ หรืออาจจะวางส่วนเชื่อม ไว้ท้ายข่าวเลยก็ได้ ซึ่งในข่าวบางข่าวอาจจะมีส่วนเชื่อมหรือไม่มีก็ได้ มีความสำคัญคือ ทำหน้าที่เป็นส่วนขยาย เพื่อให้ความนำสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรืออาจทำหน้าที่อธิบายความเดิมของข่าวในกรณีที่ข่าวนั้นเคยเกิดขึ้นและได้รับ การนำเสนอไปแล้ว ต่อมามีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นโดยมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผู้เขียนข่าว ก็มักจะเขียนส่วนเชื่อมไว้เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจความเดิมของข่าวนั้นได้ นอกจากนี้ส่วนเชื่อมยังใช้อธิบาย รายละเอียดหรือคุณลักษณะของบุคคลผู้ที่ตกเป็นข่าวด้วย

หลักการเขียนส่วนเชื่อมคือ การเขียนข้อความเชื่อมระหว่างความนำกับเนื้อข่าว เพื่อให้ ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เป็นข่าวได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่มักจะระบุชื่อบุคคลที่เป็นข่าว ชื่อสถานที่ แหล่งข่าว วัน เวลาที่เกิดเหตุการณ์ หรือการเท้าความโดยย่อจากเรื่องที่เคยเป็นข่าวมาแล้ว

ข้อ 8. สมมุติพบเด็กนักเรียนหลายสิบคนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพๆ มีอาการท้องเสียและอาเจียน อย่างหนักต้องนำส่งโรงพยาบาล ในจำนวนผู้ป่วยนั้นมีบุตรของรัฐมนรีคนหนึ่งอยู่ด้วย ถ้านักศึกษา เป็นผู้สื่อข่าวจะต้องรายงานประเด็นเนื้อหาอะไรบ้าง ควรสัมภาษณ์ใครบ้างเพื่อนำข้อมูลมาประกอบ การรายงานข่าวให้สมบูรณ์   

แนวคำตอบ หน้า 15 – 17, (คำบรรยาย)

ประเด็นเนื้อหาที่ต้องรายงานในข่าวดังกล่าว

–           เกิดเหตุการณ์อะไร ที่ไหน เวลาใด อย่างไร

–           ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เช่น ก่อนเกิดเหตุนักเรียนรับประทานอาหารอะไรเข้าไป หลังจากนั้นนักเรียนเริ่มมีอาการป่วย ตอนไหน เด็กนักเรียนที่ป่วยและเป็นบุตรของรัฐมนตรีชื่ออะไร เป็นบุตรของรัฐมนตรีคนใด และโรงเรียนดูแลรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยอย่างไร

–           อาการของเด็กที่ป่วย การรักษาพยาบาลเบื้องต้น และการนำเด็กส่งโรงพยาบาลของโรงเรียน

–           การรักษาของแพทย์ การวินิจฉัยถึงสาเหตุของโรค และการเก็บตัวอย่างอาหารในโรงเรียนไปตรวจสอบ

–           การสอบถามเหตุการณ์จากครูที่นำนักเรียนส่งโรงพยาบาล และเด็กนักเรียนที่ป่วยแต่ พอที่จะให้สัมภาษณ์ได้

–           ความคิดเห็นของรัฐมนตรีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอาการของบุตรที่ป่วย รวมถึง ความคิดเห็นของผู้ปกครองคนอื่น ๆ

–           คำสัมภาษณ์ของผู้อำนวยการโรงเรียนเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้ง ความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

–           ข้อมูลเสริม เช่น ประวัติของโรงเรียนที่เกิดเหตุ เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว หรือไม่

แหล่งข่าวที่ควรไปสัมภาษณ์เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการรายงานข่าว มีดังนี้

–           ครูในโรงเรียนที่รู้เห็นเหตุการณ์

–           ผู้อำนวยการโรงเรียน

–           เด็กนักเรียนที่ป่วย

–           โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล

–           มูลนิธิการกุศลต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือนำเด็กส่งโรงพยาบาล

–           รัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่ป่วย

–           ผู้ปกครองของนักเรียนที่ป่วยคนอื่น ๆ

 

Advertisement