การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2201 (MC 221) การรายงานข่าว

คำแนะนำ ข้อสอบมีทั้งหมด 7 ข้อ ให้นักศึกษาทำข้อสอบทุกข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน

Advertisement

ข้อ 1. จงอธิบายความหมายของข่าวตามหลักการที่ศึกษามา พร้อมยกตัวอย่างข่าวที่มีลักษณะสอดคล้องกับ ความหมายดังกล่าวประกอบการอธิบายอย่างน้อย 3 ตัวอย่าง โดยไม่ต้องเขียนเนื้อข่าว 

แนวคำตอบ หน้า 1 – 2, (คำบรรยาย)

นิยามหรือความหมายของข่าวตามหลักการที่ได้ศึกษามา 

1.         ข่าว หมายถึง เรื่องคนกัดหมา หรือเรื่องที่แปลกไปจากสถานการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น

–           ข่าวการจัดไปทัวร์ท่องเที่ยวนอกโลก

–           ข่าวการจัดพิธีสมรสหมู่กบ เขียด อึ่งอ่าง ที่ จ.มหาสารคาม

–           ข่าวหญิงคนหนึ่งคลอดทารกแฝด 6 คน

2.         ข่าว หมายถึง เรื่องที่ผู้อ่านไม่เคยรู้มาก่อน ตัวอย่างเช่น

–           ข่าวการปฏิวัติรัฐประหาร

–           ข่าวการเกิดสึนามิที่ภาคใต้ของไทย

–           ข่าวประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

3.         ข่าว หมายถึง เรื่องอะไรอย่างหนึ่งที่ประชาชนต้องพูดถึง ตัวอย่างเช่น

–           ข่าวเรื่องเตียงหัก รักร้าว หรือคลิปฉาวของดารานักร้อง

–           ข่าวอดีตพระเณรคำร่ำรวยอย่างผิดปกติ

–           ข่าวนักแบดมินตันไทยชกต่อยกันเองระหว่างการแข่งขันระดับโลก

4.         ข่าว หมายถึง รายงานอันสุจริตและสมบูรณ์ของเหตุการณ์ที่เป็นผลประโยชน์และ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสาธารณชน โดยมีการรายงานทางสื่อมวลชนและต้องเป็นรายงานที่สมบูรณ์ทุกแง่มุมจากทุกความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น

–           ข่าวรัฐบาลปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม (LPG)

–           ข่าวรัฐบาลปรับขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท

–           ข่าวรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท

5.         ข่าว หมายถึง การแจ้งสิ่งที่เกิดขึ้นในอันจะทำให้บุคคลได้รับความตื่นเต้น หรือเกิด อารมณ์ความรู้สึก ตัวอย่างเช่น

–           ข่าวนักมวยไทยได้รับเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก

–           ข่าวเยาวชนไทยคว้าเหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิก

–           ข่าวตะกร้อทีมชาติไทยชนะมาเลเซียในกีฬาซีเกมส์

ข้อ 2. คำว่า ข่าวอาชญากรรม” กับ ข่าวบันเทิง” ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง ยกตัวอย่างประเด็น หรือหัวข้อข่าวประกอบการอธิบาย โดยไม่ต้องเขียนเนื้อข่าว (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 169 – 170188 – 189

ข่าวอาชญากรรมครอบคลุมขอบเขตเนื้อหา 

1.         ข่าวฆาตกรรม เช่น ข่าวการลักขโมย ปล้น ชิงทรัพย์ คดีต่าง ๆ

2.         ข่าวอุบัติเหตุ อุบัติภัย และภัยพิบัติ เป็นข่าวที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน และ คนให้ความสนใจในเรื่องความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ข่าวรถชน รถคว่ำ เครื่องบินตก ไฟไหม้ น้ำท่วม รวมถึงข่าวเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ข่าวการประท้วง การจลาจล ฯลฯ

3.         ข่าวการฆ่าตัวตาย จะมีลักษณะคล้ายข่าวอุบัติเหตุที่ตองระบุตัวผู้เคราะห์ร้าย มูลเหตุ จูงใจที่ทำให้ฆ่าตัวตาย สภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมาจากตำรวจ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ หมอ ครอบครัว ญาติมิตรผู้ตาย เช่น ข่าวการทำอัตวินิบาตกรรม

4.         ข่าวเบ็ดเตล็ด เช่น ข่าวคนหาย สัตว์ร้ายหลุดมาอาละวาด งานบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ

5.         ข่าวสะท้อนสังคม เช่น คนว่างงานจี้ปล้นทรัพย์ การวิวาทระหว่างนายทุนกับกรรมกร คู่อริทางการเมือง เจ้านายกับลูกน้อง และความขัดแย้งในครอบครัว

6.         ข่าวเกี่ยวกับความผิดทางอาญา เช่น ข่าวความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ การเปิดเผยความลับของราชการ ฯลฯ

ตัวอย่างประเด็นหรือหัวข้อข่าวอาชญากรรม

ปล้นร้านทองกลางห้างดัง กวาดทองหนัก 100 บาท หนีลอยนวล

ข่าวบันเทิงครอบคลุมขอบเขตเนื้อหา ดังนี้

1.         ข่าวบันเทิงภายในประเทศ เป็นข่าวมาจากแหล่งข่าวภายใบประเทศ เข่น ข่าวภาพยนตร์ไทยเรื่องใหม่ ความคืบหน้าของการถ่ายทำละคร งานประกวดผลรางวัลของสมาคมต่าง ๆ ในแวดวงบันเทิง งานแต่งงานของดารานักร้อง การใช้ชีวิตคู่ การจัดงานนิทรรศการ งานศิลปะ ข่าวเกี่ยวกับบุคคลเด่นในสังคม ข่าวศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมที่ได้รับรางวัล การแสดงคอนเสิร์ต มหกรรมดนตรี แฟชั่น ละครเวที และรายการโชว์พิเศษต่าง ๆ ฯลฯ

2.         ข่าวบันเทิงต่างประเทศ เป็นข่าวมาจากแหล่งข่าวต่างประเทศ เช่น ข่าวความเคลื่อนไหว ของดารานักร้องและนักแสดงชื่อดังของฮอลลีวูดในภาพยนตร์ต่าง ๆ งานประกาศรางวัลออสการ์ งาบประกวด ผลรางวัลแกรมมี่อวอร์ด การจัดงานคอนเสิร์ต แฟชั่น นิทรรศการต่าง ๆ ละครเวที การแนะนำภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรื่องใหม่ ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดแต่ละสัปดาห์ ฯลฯ

ตัวอย่างประเด็นหรือหัวข้อข่าวบันเทิง

พ่อนักแสดงวัยรุ่นวัย 16 ยอมรับลูกสาวหนีเที่ยวตามคลิปจริง

ข้อ 3. กรณีชุดปฏิบัติการพิเศษวิสามัญนักโทษที่ฆ่าผู้คุมหลังจับผู้คุมเป็นตัวประกันเพื่อหลบหนีจากคุก เรื่องนี้ได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) ด้านใดบ้าง (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 2-6, (คำบรรยาย)

เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากมีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) ดังนี้

1.         เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น เกิดอารมณ์ตื่นเต้น ตกใจ หรือหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2.         ความเปลี่ยนแปลง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไป จากสภาพปกติที่เคยเป็น

3.         ความใกล้ชิด คือ เป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นความใกล้ชิดทางกาย ระหว่างผู้อ่านกับตัวเหตุการณ์

4.         ความโดดเด่น/ดัง/ชื่อเสียง คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความโดดเด่นในตัวเหตุการณ์ และ ความมีชื่อเสียงของเรือนจำที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

5.         ความไม่คาดคิด/เงื่อนงำ/ฉงนสนเท่ห์ คือ เป็นเรืองที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ทำให้ ผู้อ่านเกิดความฉงนสนเท่ห์ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และยังเป็นเหตุการณ์ที่มีเงื่อนงำ เพราะยังไม่สามรถ ตีแผ่หาสาเหตุถึงวิธีการที่นักโทษแหกคุกมาจับผู้คุมเป็นตัวประกันได้

6.         ความขัดแย้ง/การเผชิญหน้า คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งทางกาย ทำให้เกิด การเผชิญหน้าต่อสู้ปะทะกัน จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย

7.         ความทันต่อกาลเวลา คือ เป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ 

ข้อ 4. หากนักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นักศึกษาจะรายงานเนื้อหาด้านใด ยกตัวอย่าง 1 ข่าว ระบุประเด็นข่าว แหล่งข่าว พร้อมระบุว่าจะสัมภาษณ์หรือหาข้อมูลจากแหล่งข่าวนั้น ๆ ในประเด็นใด    

แนวคำตอบ หน้า 157 – 162, (คำบรรยาย)

การรายงานข่าวเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ควรรายงานเนื้อหา ด้านผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 

ตัวอย่างข่าวสุขุมพันธุ์คว้า 1.2 ล้านเสียง เป็นผู้ว่าฯ กทม. อีกสมัย

1 ประเด็นเนื้อหาที่ต้องรายงานในข่าว 

–           เกิดเหตุการณ์อะไร ที่ไหน เวลาใด และผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

–           ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการนับคะแนน ระหว่างการนับคะแนน และหลังจากนับคะแนนเสร็จ เช่น บรรยากาศการนับคะแนนของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยการเลือกตั้งเป็นอย่างไร มีบัตรเสียมากน้อยแค่ไหน การทำงานมี ความโปร่งใสหรือไม่ ฯลฯ

–           หน่วยการเลือกตั้งมีกี่หน่วย จากทั้งหมดจำนวนกี่เขตการเลือกตั้ง

–           จำนวนผู้มาใช้สิทธิมีกี่คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเท่าไร และคิดเป็น กี่เปอร์เซ็นต์

–           ผลการเลือกตั้งของผู้ที่มีคะแนนอันดับที่ 1 จนถึงอันดับสุดท้าย

–           ความรู้สึก ความคิดเห็น และการขอบคุณประชาชนของผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่สังกัด

–           ความรู้สึก ความคิดเห็น และการแสดงความยินดีต่อผู้ชนะของผู้ที่แพ้การเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่สังกัด

–           การรับรองผลการเลือกตั้งและการตรวจสอบการทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ขององค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น กกต.

2.         แหล่งข่าวและประเด็นที่จะสัมภาษณ์ ได้แก่

–           ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร สัมภาษณ์ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ จำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด

–           เขตการเลือกตั้งแต่ละเขต สัมภาษณ์ผลการนับคะแนนในเขตนั้น ๆ การทุจริต การเลือกตั้ง และผู้มาใช้สิทธิที่ทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง

–           ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และพรรคประชาธิปัตย์ สัมภาษณ์ความรู้สึกที่ชนะ การเลือกตั้ง การทำงานร่วมกับรัฐบาล และสิ่งที่จะทำต่อไปหลังจากนี้

–           พ.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย สัมภาษณ์ความรู้สึก ที่พ่ายแพ้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ และสิ่งที่จะทำต่อไปหลังจากนี้

–           คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สัมภาษณ์ขั้นตอนการรับรองผลการเลือกตั้ง และการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง

ข้อ 5. คุณลักษณะ (Identification) หมายถึงอะไร ในการรายงานข่าวประชุมคณะรัฐมนตรี กับข่าวคนร้าย ก่อคดีข่มขืน ต้องกล่าวถึงคุณลักษณะอะไรบ้าง ไม่ต้องเขียนเนื้อข่าว   

แนวคำตอบ หน้า 118 – 122, (คำบรรยาย)

คุณลักษณะ (Identification) หมายถึง ตัวตน ลักษณะรูปพรรณสัณฐาน และคุณสมบัติของแหล่งข่าวทั้งที่เป็นบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์ รวมทั้งบุคคลและสถานที่ที่มาเกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นข่าว ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการขยายความเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบว่าเป็นอะไร โดยมีความสำคัญ ความพิเศษ หรือ มีความผิดปกติอย่างไร เพื่อช่วยให้ข่าวนั้นมีสีสันและเพิ่มความน่าอ่านยิ่งขึ้น

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการรายงานข่าวประชุมคณะรัฐมนตรี

1.         คุณลักษณะของบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุลของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่ เข้าร่วมประชุม รวมทั้งยศหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน

2.         คุณลักษณะของสถานที่ เช่น สถานที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะต้องระบุลงไปในข่าวด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทำเนียบรัฐบาล แต่ถ้าหากเป็นการประชุมนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ก็ต้องระบุลงไปด้วยว่า สถานที่นั้นตั้งอยู่ที่ตำบล อำเภอ และจังหวัดอะไร หากอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือสถานที่ที่มีชื่อเสียงก็ต้อง ระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ เช่น ความเป็นมา วัตถุประสงค์ หรือหัวข้อในการประชุม จากนั้นลำดับเหตุการณ์การประชุมตั้งแต่ก่อนประชุม บรรยากาศเป็นอย่างไร มีผู้เข้าร่วมประชุมครบหรือไม่ การประชุมดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และข้อสรุปที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมจบลง

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการรายงานข่าวคนร้ายก่อคดีข่มขืน ได้แก่

1.         คุณลักษณะของบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุลของคนร้ายที่ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว และนามสมมติของผู้เสียหายอายุของผู้ก่อเหตุและผู้เสียหายอาชีพยศหรือตำแหน่งของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และที่อยู่ของผู้ก่อเหตุ

2.         คุณลักษณะของสถานที่ เช่น สถานที่ที่คนร้ายก่อเหตุ ซึ่งจะต้องระบุคุณลักษณะโดย การบอกที่ตั้ง เลขที่ ซอย ถนน ตำบล อำเภอ และจังหวัด หากอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือสถานที่ที่มีชื่อเสียง ก็ต้องระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ เช่น ลำดับเหตุการณ์ที่คนร้ายก่อคดีข่มขืนตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เวลาที่เกิดเหตุ จากนั้นเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์จบลงแล้ว ผู้เสียหายโดนทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอย่างไร จับคนร้ายได้ หรือไม่

ข้อ 6. การรายงานข่าวกีฬาสามารถนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรได้บ้าง และควรใช้ลีลาการเขียน (Style) อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง 1 ข่าว โดยกำหนดประเด็นข่าว และแหล่งข่าว พร้อมระบุว่าจะสัมภาษณ์ หรือหาข้อมูลจากแหล่งข่าวนั้น ๆ ในประเด็นใด   (20 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 106 – 115184 – 186, (คำบรรยาย)

ารรายงานข่าวกีฬาสามารถนำเสนอเนื้อหาได้ 

1.         การเสนอข่าวก่อนการแข่งขัน ได้แก่ ความสำคัญของการแข่งขัน ผลงนสถิติการแข่งขัน ที่ผ่านมา ระบบการเล่นที่ผ่านมาของแต่ละทีม สภาพความพร้อมของผู้เล่น วิเคราะห์วิจารณ์การเล่นที่อาจจะมี การเปลี่ยนแปลง แผนการเล่นของแต่ละทีม สภาพอากาศที่จะมีผลกระทบต่อการเล่น สภาพแวดล้อมด้านอื่น ๆ (เช่น ผู้ชม กองเชียร์) ความคิดเห็นของผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญ และผลการแข่งขันที่คาดว่าจะเป็น

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังอาจเพิ่มเติมประเด็นสำคัญในด้านอื่น ๆ เช่น แต่ละทีมมีการปรับปรุง แผนการเล่นอย่างไร ถ้าทีมแพ้จะเกิดผลอย่างไร มีการเตรียมทีมอย่างไร และประสบปัญหาด้านใดหรือไม่ เป็นต้น

2.         การเสนอข่าวหลังการแข่งขัน ได้แก่ ผลการแข่งขันใครเป็นผู้ชนะด้วยคะแนนเท่าไหร่ ผลการแข่งขันทำให้ทีมนั้นสามารถครองแชมป์ต่อไปได้หรือไม่ หรือทีมใดจะเป็นผู้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งแชมป์แทน รายงานรายละเอียดของการแข่งขันตั้งแต่ต้นจนจบ เปรียบเทียบการเล่นของแต่ละทีม ผู้เล่นดีเด่นมีใครบ้าง และขาดใครที่จะทำให้ทีมเกิดปัญหา ผู้เข้าชมการแข่งขันมีมากน้อยเพียงใด สภาพอากาศระหว่างการแข่งขัน และคะแนนรวมสถิติต่าง ๆ หรือการทำลายสถิติ

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังสามารถใช้การสัมภาษณ์ผู้เล่น ผู้จัดการทีมทั้งทีมแพ้และทีมชนะ เช่น สาเหตุที่ผลการแข่งขันเป็นเช่นนั้น และการเตรียมตัวกับการแข่งขันในรอบต่อไป เป็นต้น

ลีลาการเขียน (Style) ในการรายงานข่าวกีฬา

การรายงานข่าวกีฬาข่าวหนึ่งสามารถใช้ลีลาการเขียนได้หลายแบบในข่าวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับ ข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1.         การเขียนข่าวจากข้อเท็จจริงทั่วไป (Fact Story) มักใช้กับเรื่องที่มีเนื้อหาง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน อาจมีตัวเลข สถิติ หรือเป็นข่าวสั้น ข่าวประกอบภาพก็ได้

2.         การเขียนข่าวจากเหตุการณ์ที่เคลื่อนไหว (Action Story) เป็นการรายงานเหตุการณ์ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเหตุการณ์ที่มีการกระทำ ความคืบหน้า และความเคลื่อนไหว ซึ่งผู้เขียนข่าว ต้องการรายงานให้ผู้อ่านทราบโดยละเอียดทุกขั้นตอน เหมือนกับผู้อ่านได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง และได้รับ ความตื่นเต้น ดีใจ สลดใจไปกับบุคคลในข่าว ส่วนใหญ่มักเขียนเรื่องและลำดับรายละเอียดตามลำดับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของเหตุการณ์ดังกล่าว

3.         การเขียนข่าวจากคำพูดหรือคำปราศรัย (Quote Story) เป็นข้อมูลข่าวหรือข้อเท็จจริง ที่ได้มาจากคำพูด การแสดงความคิดเห็น การแถลงข่าว การให้ส้มภาษณ์หรือคำปราศรัยของบุคคลสำคัญ รวมทั้ง ประกาศ หรือแถลงการณ์ที่เป็นข้อเขียน โดยจะคัดเฉพาะถ้อยคำที่สำคัญและน่าสนใจมาเขียนเท่านั้น แบ่งออก เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

1)         การยกคำพูดมาโดยตรง (Direct Quote) โดยมีเครื่องหมายคำพูดหรือมี เลขในกำกับ ต้องระบุแหล่งที่มาของคำพูดหรือข้อความเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่า เป็นคำพูดของใคร

2)         การสรุปคำพูดหรือข้อความโดยใช้ภาษาของผู้เขียนเอง และมีเครื่องหมาย คำพูดกำกับ (Indirect Quote) แต่จะต้องรักษาข้อเท็จจริงเดิมของผู้พูดเอาไว้ โดยไม่มีการแต่งเติมใด ๆ ทั้งสิ้น และระบุแหล่งที่มาของคำพูดเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างข่าวหงส์แดงชนะไทย 3-0 ฟุตบอลนัดพิเศษที่ กกท

1.         ประเด็นเนื้อหาที่ต้องรายงานในข่าว ได้แก่

–           มีการแข่งขันอะไร แข่งที่ไหน เมื่อวันที่เท่าไร และใครแพ้ใครชนะ

–           บรรยากาศในการแข่งขันเป็นอย่างไร มีผู้ชมมาเชียร์คึกคักหรือไม่ และผู้เล่น ที่สำคัญของทั้ง 2 ทีม ประกอบด้วยใครบ้าง

–           ลำดับการแข่งขันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มเปิดเกมจนจบเกม ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง มีจุดโทษ และมีการต่อเวลาหรือไม่

–           ภายหลังจบเกมผลการแข่งขันเป็นอย่างไร และแต่ละทีมมีโปรแกรมต้องแข่งกับ ทีมใดต่อไป

–           ความคิดเห็นของผู้จัดการทีมทั้ง 2 ทีม โค้ช และนักเตะดาวเด่นภายหลังจบเกม

–           ข้อมูลเสริม เช่น สถิติที่ทั้งสองทีมเคยเจอกันมาก่อน ทีมใดแพ้-ชนะรวมทั้งหมด กี่ครั้ง

2.         แหล่งข่าวและประเด็นที่จะสัมภาษณ์ ได้แก่

–           ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล สัมภาษณ์ความคิดเห็นภายหลังชนะทีมชาติไทย ชุดเตรียมซีเกมส์ ความพึงพอใจกับชัยชนะครั้งนี้ และโปรแกรมการฝึกซ้อม หรือการแข่งขันนัดต่อไป

–           ผู้จัดการทีมและหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ทำให้ทีมแพ้ ข้อผิดพลาดหรือเรื่องที่ต้องปรับปรุง และการเตรียมตัวกับการแข่งขันนัดต่อไป

–           นักเตะดาวเด่นของทั้ง 2 ทีม สัมภาษณ์ความรู้สึกภายหลังจบเกม ความพอใจ หรือไม่พอใจในภาพรวมของเกม

–           บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือดารานักแสดงที่มาร่วมชมการแข่งขัน สัมภาษณ์ความรู้สึก

–           และความประทับใจที่ได้มาชมการแข่งขันนัดนี้ ความชื่นชอบในตัวผู้เล่น และ ความคิดเห็นต่อผลการแข่งขัน

ข้อ 7. จากข้อมูลโครงการเปิดบ้านการสื่อสารพัฒนาการ (Devcom R.u. Open House Season 2) ตอน วัยรุ่นกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต” ให้เขียนเนื้อข่าว    

และเขียนหัวข่าว      

โครงการเปิดบ้านการสื่อสารพัฒนาการ Devcom R.u. Open House Season 2 ตอน วัยรุ่นกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต 

หลักการและเหตุผล

หลักสูตรสาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการเน้นศึกษาแนวคิดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ การกำหนดนโยบายใช้การสื่อสารเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาสังคมเมืองและชนบท ศึกษาหลักการ วางแผน การดำเนินการ และการประเมินผลการสื่อสาร โดยมีรายวิชา DEV 7302 การสัมมนา ประยุกต์การสื่อสาร ซึ่งศึกษาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและสถานการณ์การสื่อสารในมิติต่าง ๆ ของสังคม เช่น การสื่อสารด้านการเมือง การสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม การสื่อสารด้านการศึกษา เป็นต้น

จากผลการวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันประการหนึ่ง คือ การที่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครมีพฤติกรรมการละเมิดลิขสิทธิ์ในเรื่องเกี่ยวกับ การดาวน์โหลดเพลงบนอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การดาวน์โหลดภาพ/ ภาพถ่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน และการคัดลอกข้อความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ บนอินเทอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มา

เพื่อเป็นการรณรงค์ป้องกัน/แก้ไขปัญหาสังคม และขับเคลื่อนกระบวนการป้องปราม ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต และเพื่อให้นักศึกษาของโครงการๆ มีประสบการณ์ เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาแนวทางการตัดสินใจในการบริหารจัดการ โดยนำทฤษฎีและหลักการที่ได้ จากการศึกษารายวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งเป็นการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร ผ่านการจัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง โครงการเปิดบ้านการสื่อสารพัฒนาการ Devcom R.u. Open House Season 2 ตอน วัยรุ่นกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.         เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิขาการสื่อสารพัฒนาการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้เป็นที่รู้จักในสังคม

2.         เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการของนักศึกษาสาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการสู่สังคม อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการศึกษา

3.         เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต แก่กลุ่มเป้าหมาย

4.         เพื่อปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และรับรู้แนวคิดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

กำหนดการ

โครงการเปิดบ้านการสื่อสารพัฒนาการ

(DEVCOM R.U. OPEN HOUSE SEASON 2)

วัยรุ่นกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต

วันที่ 9 เมษายน 2556 ณ. ห้องประชุมพวงแสด คณะมนุษยศาสตร์

เวลา 08.30 – 09.00 น.            ลงทะเบียน

เวลา 09.30 – 09.45 น.            พิธีเปิด (บริเวณลานปสาน)

เวลา 10.00 – 12.00 น.            เสวนา เรื่อง สมรภูมิลิขสิทธิ์กับความคิดที่แตกต่าง

โดย คุณสุทธิพงษ์ วัฒนจัง

ศิลปินอิสระ ผู้ประพันธ์เพลง นักแสดง

            – คุณศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์

ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรณาธิการสำนักพิมพ์แจ่มใส

            – อาจารย์สุวรรณา สมบัติรักษาสุข นักวิชาการด้านกฎหมายสื่อมวลชน

ดำเนินรายการ โดย

คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ผู้ประกาศข่าว

เวลา 12.00 – 13.00 น.            พัก

เวลา 13.00 – 16.00 น.            การนำเสนอผลงานสื่อสาระบันเทิง (Edutainment)

(หนังสั้น ละคร หนังสือการ์ตูน นิทรรศการมีชีวิต)

หัวข้อ วัยรุ่นกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต

ผลงานของนักศึกษาสาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ รุ่นที่ 7 และการวิพากษ์ผลงาน โดย รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.วาริศา พลายบัว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แนวคำตอบ หน้า 32 – 3791 – 118

หัวข่าว

ม.ร. เปิดบ้านถกปัญหาวัยรุ่นละเมิดลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์

เนื้อข่าว

โครงการศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดโครงการเปิดบ้านการสื่อสารพัฒนาการ (Devcom R.u. Open House Season 2) ตอน วัยรุ่นกับการ ละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต’’ ในวันที่ 9 เมษายน 2556 ณ ห้องประชุมพวงแสด คณะมนุษยศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ตรวมทั้งปลูกจิตสำนึกและกระตุ้น ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและรับรู้แนวคิดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

กิจกรรมในงานที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสวนาเรื่อง สมรภูมิลิขสิทธิ์กับความคิดที่แตกต่าง” โดยมีนายสุทธิพงษ์ วัฒนจัง ศิลปินอิสระ ผู้ประพันธ์เพลง นักแสดง เป็นวิทยากร ร่วมด้วยบรรณาธิการ สำนักพิมพ์แจ่มใส นักวิชาการด้านกฎหมายสื่อมวลชน และดำเนินรายการโดย นางคิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ผู้ประกาศข่าว นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอผลงานสื่อสาระบันเทิงในหัวข้อ วัยรุ่นกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนอินเทอร์เน็ต” ของนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ รุ่นที่ 7 เช่น หนังสั้น ละคร หนังสือการ์ตูน นิทรรศการ-มีชีวิต ฯลฯ และการวิพากษ์ผลงานโดยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ

 

Advertisement