การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  MCS 2201 การเขียนข่าว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบมีทั้งหมด  6  ข้อ  ให้นักศึกษาทำทุกข้อ

ข้อ  1  จงตอบคำถามต่อไปนี้

1.1            คำว่า  ข่าวการเมือง  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  มีแหล่งข่าวสำคัญอะไรบ้าง

แนวคำตอบ

ข่าวการเมือง  หมายถึง  การรายงานข่าวที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน  กิจกรรมความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล  รวมทั้งรายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ  ซึ่งรับอาสาเข้ามารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับทราบ  โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ  

1)    การจัดการเลือกตั้ง  การรณรงค์หาเสียง  นโยบายของพรรค

2)    การจัดตั้งรัฐบาล

3)    การกำหนดนโยบาย  การแถลง  การปฏิบัติงานตามนโยบาย

4)    กระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา  การดำเนินงานของรัฐสภา  กรรมาธิการ

5)    การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง  ข้าราชการประจำ  องค์กรอิสระต่างๆ  การเปิดอภิปราย

6)    บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน  วุฒิสภา

7)    ความคิดเห็นของ  ส.ส.  ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ  ในรัฐสภา

8)    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

9)    การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ  กกต.  ป.ป.ช.  ป.ป.ง.  ค.ต.ง.

แหล่งข่าวการเมืองที่สำคัญ  

1)    รัฐสภา

2)    ทำเนียบรัฐบาล

3)    พรรคการเมือง

4)    กระทรวงต่างๆ

5)    องค์กรอิสระ

6)    องค์กรมหาชน

7)    องค์กรพัฒนาเอกชน

8)    แหล่งข่าวท้องถิ่น

1.2              ในการรายงานข่าวฆ่าชิงทรัพย์ข้าราชการคนหนึ่ง  ควรเสนอประเด็นเนื้อหาอะไรบ้าง  และมีแหล่งข่าวอะไรบ้าง  ให้ยกตัวอย่างแหล่งข่าวและประเด็นที่ควรนำเสนอในข่าวดังกล่าวประกอบ

แนวคำตอบ

จากข่าวข้างต้นต้องอาศัยแหล่งข่าว  (Source)  ประเภทต่างๆ  ดังนี้

1       แหล่งข่าวประจำ  คือ  บุคคลหรือสถานที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ส่งผู้สื่อข่าวไปประจำตามแหล่งนั้นๆ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวประจำของข่าวข้างต้น  ได้แก่  เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ  โรงพยาบาล  เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิการกุศลที่ปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจ  เป็นต้น

2       แหล่งข่าวพิเศษ  คือ  แหล่งข่าวที่อาจอยู่  ณ  สถานที่เกิดเหตุ  หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง  ผู้เห็นเหตุการณ์  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวพิเศษของข่าวข้างต้น  ได้แก่  พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์  ญาติมิตรของผู้เสียชีวิต  ผู้บังคับบัญชาและเพื่อนข้าราชการในหน่วยงานของผู้เสียชีวิต  ผู้ต้องหา  (ในกรณีที่จับตัวมาดำเนินคดีได้แล้ว)  ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์  เป็นต้น

3       แหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์  คือ  เอกสารตีพิมพ์ซึ่งเป็นแหล่งข่าวสำคัญ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์ของข่าวข้างต้น  ได้แก่  บันทึกประจำวันของตำรวจ  เอกสารบันทึกส่วนบุคคลเพื่อนำมาใช้เป็นภูมิหลังประกอบข่าว  เอกสารจากแฟ้มข่าว  เป็นต้น

จากข่าวข้างต้นมีประเด็นเนื้อหาที่ควรนำเสนอ  ดังนี้

1       ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต  ได้แก่  ชื่อและคุณลักษณะ  วิธีการที่ถูกทำร้ายและลักษณะบาดแผลที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิต  การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต  เป็นต้น

2       ความเสียหาย  ได้แก่  มูลค่าของทรัพย์สินที่ถูกขโมย  ลักษณะของทรัพย์สินนั้นๆ  ทรัพย์สินที่พลอยเสียหายไปด้วย  เป็นต้น

3       รายละเอียดของเหตุการณ์  ได้แก่  เหตุการณ์ตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้น  ลักษณะรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์  สาเหตุของเหตุการณ์  เป็นต้น

4       การปฏิบัติการทางกฎหมาย  ได้แก่  การสืบสวนสอบสวนคดี  ข้อสันนิษฐาน  หลักฐานที่พบ  เบาะแส  วัตถุพยาน  ร่องรอย  การตั้งข้อหา  การจับกุม  เป็นต้น

5       การวางแผนติดตามของเจ้าหน้าที่

6       ปัญหาในการจับกุมหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่

7       การป้องกันหรือลดคดีอาชญากรรม

8       ความคิดเห็นของบุคคลหลายฝ่าย  เช่น  ตำรวจ  ญาติพี่น้อง  ผู้ร่วมงานของผู้ตาย  เป็นต้น

ข้อ  2   สื่อมวลชนแต่ละแขนงให้น้ำหนักความสำคัญแก่ข่าวแต่ละข่าวแตกต่างกัน  เช่น  หนังสือพิมพ์บางฉบับให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวของคนดัง  เช่น  เรื่องภายในครอบครัวของดารา  เป็นต้น  โดยพาดหัวข่าวตัวโตในหน้าหนึ่งและรายงานเรื่องราวโดยละเอียด  แต่บางฉบับเสนอเรื่องดังกล่าวเพียงสั้นๆ  ปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง  จงอธิบาย

แนวคำตอบ

หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะขึ้นอยู่กับ  ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินคุณค่าข่าว  ดังนี้

1       ปัจจัยด้านบุคคล  (ผู้สื่อข่าว  หัวหน้าข่าว  บรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง)  

–          เชื้อชาติ  ศาสนา  คือ  อคติเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและศาสนา  เพราะบุคคลที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน  ก็ย่อมเกิดความลำเอียงในการเลือกแง่มุมของข่าวที่จะนำมาเสนอ

–          ค่านิยม  สำนึก  และมุมมอง  ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางการศึกษา

–          ความเป็นวิชาชีพ  คือ  หนังสือพิมพ์จะต้องมีอุดมการณ์และวิญญาณแห่งวิชาชีพโดยต้องรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ  ควรหรือไม่ควรลงข่าว

–          การรับรู้และความสนใจของผู้รับสาร  คือ  การประเมินเรื่องที่คิดว่าผู้อ่านน่าจะให้ความสนใจมากที่สุด

2       ปัจจัยด้านองค์กร  แบ่งออกเป็น

นโยบายของสื่อ  ได้แก่

–          ความเป็นเจ้าของสื่อ  คือ  หนังสือพิมพ์มีใครเป็นเจ้าของสื่อ  หรือมีใครเป็นผู้โฆษณารายใหญ่  หนังสือพิมพ์นั้นก็อาจเน้นเสนอข่าวที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสื่อ  หรือผู้โฆษณารายนั้นๆ

–          นโยบายการบริหาร  คือ  หนังสือพิมพ์มีนโยบายเน้นทำกำไร  เอาตัวรอดหรือเน้นชิงส่วนแบ่งตลาด  ซึ่งมีผลให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามนโยบายการบริหาร

–          นโยบายด้านข่าว / เนื้อหา  คือ  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเน้นประเภทของข่าวที่จะนำเสนอ  ความลึก  ลีลาการเขียน ฯลฯ  ที่แตกต่างกัน

            วัฒนธรรมองค์กร  คือ  แบบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ  ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร  ได้แก่

–          จรรยาบรรณ  คือ  ข้อควรปฏิบัติของแต่ละองค์กร  ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

–          การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส  หรือรากหญ้า

–          การให้ความหมายกับข่าวบางประเภท  เช่น  ข่าวสังคม  ข่าววัฒนธรรม  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวท้องถิ่น ฯลฯ  ว่าจะเน้นนำเสนอหรือไม่

3       ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง  การปกครอง  และสังคม  ซึ่งมีผลทำให้บางเรื่องรายงานได้  แต่บางเรื่องรายงานไม่ได้  ได้แก่

–          ความมั่นคง  ผลประโยชน์ของชาติ

–          ผลประโยชน์ทางการเมืองระดับประเทศ  และนานาชาติ

ข้อ  3  กรณีตำรวจเตรียมพร้อมรับมือการก่อการร้ายในเขตกรุงเทพฯ  ได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในสื่อมวลชนทุกแขนง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าวด้านใดบ้าง

แนวคำตอบ

เหตุการณ์ข้างต้นได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว  (News  Values)  

1        ความมีชื่อเสียง  (Prominence)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียง  เช่น  นายกรัฐมนตรี  รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย  ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  ฯลฯ  รวมทั้งสถานที่ที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ  ซึ่งต้องรักษาความปลอดภัย  เช่น  สถานทูต  ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง  สนามบิน  หน่วยราชการต่างๆเป็นต้น

2        ความใกล้ชิด  (Proximity)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ  รวมถึงจังหวัดต่างๆ  ซึ่งส่งผลให้ทุกคนต้องมีความตื่นตัวไม่ประมาท  จึงได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นอย่างมาก

3        ความทันต่อเวลา  (Timeliness)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ  ทำให้ได้รับความสนใจ  เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่จะได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ  อยู่เสมอ

4        ปุถุชนสนใจ  (Human  Interest)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นก่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์หวาดกลัวสงสัยใคร่รู้  เกลียดและโกรธคนร้าย ฯลฯ  จึงทำให้มีคุณค่าข่าวสูงและเร้าให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ

5        ความขัดแย้ง  (Conflict)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ในลักษณะของความขัดแย้งทั้งทางกายและทางความคิด  ซึ่งเป็นความขัดแย้งระดับชาติหรือระดับประเทศ

6        ผลกระทบ  (Consequence)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นมีผลกระทบต่อชีวิตความเป้นอยู่ของผู้คนจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม  ซึ่งมีผลให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง  เช่น  ประชาชนไม่สามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยได้อย่างมีความสุข เพราะต้องมีชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวง  นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ  ดังนั้นประชาชนจึงควรรับรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ดังกล่าว

7        ความมีเงื่อนงำ  (Suspense)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นยังไม่สามารถคลี่คลายหรือตีแผ่หาสาเหตุได้  และยังไม่ทราบผลแน่ชัด เช่น  ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายและผู้อยู่เบื้องหลังได้  รวมทั้งไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นฝีมือของใคร

ข้อ  4  จงอธิบายหลักการเขียนข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของบุคคล   การเขียนข่าวการประชุมหรือสัมมนาว่าต้องมีประเด็นอะไรบ้าง

แนวคำตอบ

หลักการเขียนข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของบุคคล  มีดังนี้

ผู้สื่อข่าวจะต้องเขียนข่าวในลักษณะที่ต้องปรับคำพูดของแหล่งข่าวให้เป็นภาษาเขียน  และต้องทอนคำพูดของแหล่งข่าวที่มีความยาวมากๆ  ให้เหลือเพียงแค่พอที่จะบรรจุลงในเนื้อข่าวที่ได้รับ  โดยข่าวที่เขียนจะต้องคงทั้งความเที่ยงตรงและอารมณ์ดังเช่นที่แหล่งข่าวได้กล่าวและแสดงออกมา  ซึ่งอาจใช้วิธีการเขียนแบบการยกอ้างคำพูดโดยตรง  และการยกอ้างคำพูดโดยอ้อมสลับกันไปในข่าว  โดยประเด็นที่ควรนำเสนอ  ได้แก่

ความนำ  ใครเป็นคนให้สัมภาษณ์  ใจความสำคัญโดยสรุป  โดยอาจมีการอ้างคำพูดที่เด่นๆ  และโอกาสที่ให้สัมภาษณ์

เนื้อข่าว  วัน  เวลา  และสถานที่ที่ให้สัมภาษณ์  สรุปรายละเอียดที่สำคัญลดหลั่นกันลงไป  และอาจอ้างคำพูดโดยตรงของผู้ให้สัมภาษณ์สลับ  เพื่อเพิ่มน้ำหนัก  ความน่าเชื่อถือ  และทำให้ข่าวน่าอ่านขึ้น

การเขียนข่าวในการประชุมหรือสัมมนาควรนำเสนอในประเด็น  ต่อไปนี้

ความนำ  จะเป็นส่วนที่เน้นบุคคลในข่าว  และสรุปย่อคำพูดของผู้พูด  หรือสรุปย่อประเด็นสำคัญของการประชุมหรือสัมมนาเอาไว้ว่าใครกล่าว  มีใจความโดยสรุปว่าอะไร  อาจมีการอ้างคำพูดเด่น  ของบุคคลที่น่าสนใจมาประกอบในความนำ  และอาจระบุโอกาสที่ประชุมหรือสัมมนาเข้าไปด้วยก็ได้  หากโอกาสนั้นมีความสำคัญ

เนื้อข่าว  ส่วนแรกจะต้องกล่าวถึงชื่อเรื่องการประชุมหรือสัมมนา  โอกาสในการพูด  วัน  เวลา  สถานที่  จำนวนผู้ฟังโดยประมาณ  และผู้มีชื่อเสียงที่เข้าร่วมฟัง  จากนั้นนำเสนอรายละเอียดของการประชุมหรือสัมมนา  โดยแยกแยะประเด็นต่างๆ  ที่ผู้ประชุมหรือสัมมนากล่าว  และหยิบยกข้อความเด่นๆมาเขียนแบบอ้างคำพูดโดยตรง  อาจมีการนำเสนอประเดนการซักถามเพิ่มเติมที่น่าสนใจ  และบรรยากาศภายในงานในย่อหน้าสุดท้าย

ข้อ  5  ในการเขียนข่าว  คำว่า  คุณลักษณะ  มีความสำคัญอย่างไร  และคุณลักษณะใดบ้างที่จำเป็นหรือขาดไม่ได้ในการเขียนข่าว  อธิบาย

แนวคำตอบ

ในการเขียนข่าวต้องมีการระบุ  คุณลักษณะ  (Identification)  ของแหล่งข่าว  คือ  ลักษณะรูปพรรณสัณฐาน  และคุณสมบัติต่างๆ  ของแหล่งข่าวทั้งที่เป็นบุคคล  สถานที่  หรือเหตุการณ์  ทั้งนี้เพราะมีความสำคัญ  คือ  ทำให้ผู้อ่านได้ทราบว่าบุคคล  สถานที่  และเหตุการณ์ในข่าวเหล่านั้นเป็นอะไร  มีความสำคัญความพิเศษ  หรือผิดปกติอย่างไร  นอกจากนั้นยังช่วยให้ข่าวนั้นมีสีสัน  เพิ่มความน่าอ่าน  ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวและความใกล้ชิดกับผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น

คุณลักษณะของแหล่งข่าวที่จำเป็นในการเขียนข่าว  

1       คุณลักษณะด้านบุคคล 

1)    ชื่อ  นามสกุล  และอายุ  เช่น  น้องตุ้ม  ปริญญา  เกียรติบุษบา  นักมวยไทยวัย  18  ปี  เป็นต้น

2)    อาชีพ  เช่น  ราเชนทร์  เรืองเนตร  นักแต่งเพลงได้เสียชีวิตลงแล้ว  เป็นต้น

3)    ยศหรือตำแหน่ง  เช่น  พล.อ. เปรม  ติณสูลานนท์  องคมนตรี  เป็นต้น

4)    เกียรติภูมิหรือชื่อเสียง  เช่น  ภรณ์ทิพย์  นาคหิรัญกนก  นางงามจักรวาล  เป็นต้น

5)    บุคคลที่เคยปรากฏเป็นข่าวแล้ว  เช่น  กรณีมีผู้ถูกยิงเสียชีวิต  และผู้ตามนี้เคยตกเป็นข่าวว่าจ้างวานฆ่าบุคคลอื่นก็ต้องอธิบายถึงภูมิหลัง  หรือความเดิมของเรื่องในอดีตนั้นด้วย

6)    ที่อยู่  เช่น  บ้านเลขที่  ถนน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  ซึ่งเป็นที่อยู่ของบุคคลในข่าว

7)    ชื่อเล่น  เบิร์ด” ธงไชย  แมคอินไตย  เป็นต้น

8)    ฉายาหรือการตั้งชื่อใหม่  เช่น  พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ  ชินวัตร  มีฉายาว่า  แม้ว  เป็นต้น

9)    ญาติมิตร  เช่น  ข่าวบุตรชายหรือภรรยาของนายกรัฐมนตรีป่วย  เป็นต้น

10)งานอดิเรก  เช่น  ข่าวบุคคลที่ไม่มีชื่อเสียง  แต่อาจมีงานอดิเรกที่ทำให้ผู้อ่านทึ่งได้  เป็นต้น

2       คุณลักษณะด้านสถานที่

สถานที่มักจะได้รับการระบุคุณลักษณะโดยการดึงให้ไปสัมพันธ์  หรืออ้างอิงกับสถานที่อื่นๆที่มีชื่อเสียง  เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพกว้างๆ  ว่าสถานที่ที่เป็นข่าวนั้นอยู่ที่ใด  และอยู่ห่างจากผู้อ่านเพียงไร  เช่น  เมื่อวันที่  1  มิถุนายน  ผู้สื่อข่าวมติชนเดินทางไปตรวจสอบและสำรวจบริเวณสถานสงเคราะห์หญิงธัญบุรี  สังกัดกรมประชาสงเคราะห์  กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  ซึ่งตั้งอยู่ที่คลอง  5  อ.ธัญบุรี  จ.ปทุมธานี  ซึ่งมี  น.ส.บุญส่ง  แสวงผล  เป็นผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ดังกล่าวติดกับวิทยาลัยการปกครอง  สังกัดกระทรวงมหาดไทย

3       คุณลักษณะด้านเหตุการณ์

เหตุการณ์นอกจากจะได้รับการระบุว่าเป็นเหตุการณ์อะไร  มีความเคลื่อนไหวอย่างไรแล้วหากเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมักจะมีการระบุถึงวัตถุประสงค์  ความเป็นมา  และเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้นๆ  รวมทั้งอาจจะอ้างว่าเหตุการณ์นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิหลัง  หรือความเดิมของข่าว  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  (สวช.)  จัดสัมมนาสื่อมวลชนทุกแขนงแต่ละภูมิภาค  เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานวัฒนธรรมปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย  โดยเริ่มสัมมนาสื่อมวลชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อ  6  จงเขียนข่าวจากข้อเท็จจริงต่อไปนี้  (เขียนเฉพาะความนำและเนื้อเรื่อง)

–                    โครงการ  ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติในมงคลวาระเฉลิมพระชนม์พรรษา  80  พรรษา  ปี  2550  นิทรรศการและการอภิปรายทางวิชาการ  เรื่อง  ช้างในวัฒนธรรมไทย  วันที่  19  –  23  เมษายน  2550  ณ  คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง

–  เนื่องในศุภวาระ  80  พรรษา  แห่งการพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  พุทธศักราช  2550  คณะมนุษยศาสตร์จึงจัดให้มีโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยโดยการจัดนิทรรศการ  และบรรยายพิเศษเรื่องช้างในวัฒนธรรมไทย  ด้วยตระหนักในความสำคัญของช้างกับสถาบันพระมหากษัตริย์  และวัฒนธรรมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับช้างไทยในประเด็นต่างๆ  เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับช้างในทางวิชาการให้มากยิ่งขึ้น  ในการนี้ได้มีการเปิดเวทีวิชาการสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้เกี่ยวกับช้างในวัฒนธรรมไทยอีกด้วย   คณบดีคณะมนุษยศาสตร์  รศ.ณภาจรี  นาควัชระ  กล่าว

– วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในศุภวาระ  80  พรรษาแห่งการพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  2. เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับความสำคัญของช้างในวัฒนธรรมไทย

–  ผู้ดำเนินงาน  คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง

–  กำหนดการ

 วันที่  19  เมษายน  เวลา  07.00  08.00  น.  จัดพิธีบวงสรวงพระพิฆเณศวร  เทพแห่งศิลปวิทยาการ  ณ  บริเวณหน้าอาคาร  1  คณะมนุษยศาสตร์  08.00  08.30  น.  การแสดง  พระฆเณศเสียงา

วันที่  20  เมษายน  เวลา  09.30  12.00 น.  อภิปรายเรื่อง  พระพิฆเณศวร  :  คติ  ความเชื่อ  และอิทธิพลในวัฒนธรรมไทย  โดย  อ.ดร.  จิรัสสา  คชาชีวะ  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร  13.00  15.00  น.  อภิปรายเรื่อง  ช้างเผือกคู่พระบารมีรัชกาลที่  9  โดย  ม.ร.ว.  ชนัญวัตร  เทวกุล  และ  ม.ล.  พิพัฒนฉัตร  ดิศกุล  15.00  16.00  น.  อภิปรายเรื่อง  การฝึกช้างในศูนย์ฝึกช้าง  จ.ลำปาง  โดยหัวหน้าฝ่ายวิทยาลัยการศึกษาพัฒนาช้างไทยและควาญช้าง

วันที่  21  เมษายน  2550  เวลา  09.30  12.00 น.  อภิปรายเรื่อง  การฝึกช้างตามยุทธวิธีแบบโบราณ  โดยคุณคึกฤทธิ์  ขาวละมัย  ผู้แทนมูลนิธิพระคชบาล

ขอเชิญชวนชาวรามคำแหงเข้าร่วมพิธีบวงสรวงพระพิฆเณศวร  เทพแห่งศิลปวิทยาการและการขจัดอุปสรรค  เพื่อความเป็นสิริมงคล  การบวงสรวงในครั้งนี้ดำเนินการโดย  พราหมณ์ศีษณพันธ์  รังสิพราหมณ์กุล  หัวหน้าคณะพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีแห่งเทวสถานโบสถ์พราหมณ์  ส่วนเครื่องสักการะนั้น  คณะกรรมการจัดงานจะจัดเตรียมธูปและดอกไม้ไว้ให้บริการผู้เข้าร่วมพิธี  แต่หากต้องการเตรียมเครื่องสักการะมาเอง  ควรเป็นธูปเจ็ดดอกและดอกดาวเรือง  และหากมีรูปพระพิฆเณศวร  สามารถอัญเชิญเข้าร่วมพิธีดังกล่าวได้  รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา  อาจารย์เดมีย์  ระเบียบโลก  กล่าว

แนวคำตอบ

ความนำ

คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  จัดโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติในมงคลวาระเฉลิมพระชนม์พรรษา  80  พรรษา  ปี  2550  โดยการจัดนิทรรศการและอภิปรายทางวิชาการเรื่องช้างในวัฒนธรรมไทย  ณ  คณะมนุษยศาสตร์   มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ระหว่างวันที่  19  23  เมษายน  2550

เนื้อเรื่อง

วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในศุภวาระ  80  พรรษา  แห่งการพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  และเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับความสำคัญของช้างในวัฒนธรรมไทย 

ร.ศ. ณภาจรี  นาควัชระ  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์  กล่าวว่า  เนื่องในศุภวาระ  80  พรรษา  แห่งการพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  พุทธศักราช  2550  คณะมนุษยศาสตร์จึงจัดให้มีโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย  โดยการจัดนิทรรศการและบรรยายพิเศษเรื่อง  ช้างในวัฒนธรรมไทย  ด้วยตระหนักในความสำคัญของช้างกับสถาบันพระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับช้างไทยในประเด็นต่างๆ  เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับช้างในทางวิชาการให้มากยิ่งขึ้น  ในการนี้  ได้มีการเปิดเวทีวิชาการสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้เกี่ยวกับช้างในวัฒนธรรมไทยอีกด้วย

โอกาสนี้  อาจารย์เดมีย์  ระเบียบโลก  รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา  กล่าวเชิญชวนชาวรามคำแหง  ให้เข้าร่วมพิธีบวงสรวงพระพิฆเณศวร  เทพแห่งศิลปวิทยาการและการขจัดอุปสรรค    เพื่อความเป็นสิริมงคล  โดยมีพราหมณ์ศีษณพันธ์  รังสิพราหมณ์กุล  หัวหน้าคณะพราหมณ์ผู้กอบพิธีแห่งเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เป็นผู้ดำเนินการ  ทั้งนี้คณะกรรมการการจัดงานจะจัดเตรียมธูปและดอกไม้ไว้ให้บริการแก่ผู้ข้าร่วมพิธี  แต่หากผู้เข้าร่วมพิธีต้องการเตรียมเครื่องสักการะมาเองก็ควรเป็นธูปเจ็ดดอกและดอกดาวเรือง  และหากมีรูปพระพิฆเณศวรก็สามารถอัญเชิญเข้าร่วมพิธีดังกล่าวได้

สำหรับกำหนดการจัดงานที่น่าสนใจมีดังนี้  วันที่  19  เมษายน  เวลา  07.00  08.00 น.  จัดพิธี บวงสรวงพระพิฆเณศวร  ณ  บริเวณหน้าอาคาร  1  คณะมนุษยศาสตร์ วันที่  20  เมษายน  เวลา  13.00  15.00 น.  อภิปรายเรื่อง  ช้างเผือกคู่พระบารมีรัชกาลที่  9  โดย  ม.ร.ว. ชนัญวัตร  เทวกุล  และ  ม.ล. พิพัฒนฉัตร  ดิศกุล  วันที่  21  เมษายน  เวลา  9.30  12.00  น.  อภิปรายเรื่อง  การฝึกช้างตามยุทธวิธีแบบโบราณ   โดยนายคึกฤทธิ์  ขาวละมัย  ผู้แทนมูลนิธิพระคชบาล.

 

Advertisement