การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายอาทิตย์ได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดิน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2550 ต่อมาใน พ.ศ. 2553 นายอาทิตย์ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นางจันทร์โดยมอบที่ดินและใบจอง ให้นางจันทร์ครอบครอง ใน พ.ศ. 2557 นางจันทร์ถึงแก่ความตาย นายอังคารทายาทเพียงคนเดียว ได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ขณะนี้ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสํารวจ ออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่านายอังคารจะนําที่ดินนั้นมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 58 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม “เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กําหนดจังหวัดที่จะทําการสํารวจรังวัดทําแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทําประโยชน์สําหรับปีนั้น เขตจังหวัดที่ รัฐมนตรีประกาศกําหนดไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จําแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้น ของการเดินสํารวจรังวัดในท้องที่นั้น โดยปิดประกาศไว้ ณ สํานักงานที่ดิน ที่ว่าการอําเภอ ที่ว่าการกิ่งอําเภอ ที่ทําการกํานัน และที่ทําการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ก่อนวันเริ่มต้นสํารวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้มีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคสอง ให้บุคคลตามมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว นําพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมาย เพื่อทําการสํารวจรังวัด ทําแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทําประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นัดหมาย”

มาตรา 58 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง “เมื่อได้สํารวจรังวัดทําแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวน การทําประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตาม วรรคหนึ่งให้ได้ คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทําประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ”

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคํารับรองจากนายอําเภอว่าได้ทําประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอด โดยทางมรดก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์เจ้าของที่ดินที่มีเพียงใบจองได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าว ติใช้หนี้ให้แก่นางจันทร์โดยมอบที่ดินและใบจองให้นางจันทร์ครอบครองนั้น การยกที่ดินให้นางจันทร์ดังกล่าว ถือเป็นการโอนที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง เพราะมิได้เป็นการตกทอดทางมรดก ส่งผลให้นางจันทร์ เป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และเมื่อต่อมานางจันทร์ถึงแก่ความตาย นายอังคารทายาทเพียงคนเดียวได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อจากนางจันทร์ตลอดมา ก็ถือว่า นายอังคารเป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีใบจอง หรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินใด ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3) ดังนั้น นายอังคาร จะสามารถขอออกโฉนดที่ดินได้ก็ต่อเมื่อได้มีประกาศของทางราชการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 เท่านั้น

และเมื่อได้ความว่า ในขณะนี้ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน อันถือว่า เป็นการออกโฉนดแบบทั้งตําบลตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนั้น นายอังคาร จึงสามารถนําที่ดินแปลงนั้นมาขอออกโฉนดที่ดินได้ โดยมานําพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ มอบหมายเพื่อทําการสํารวจรังวัดทําแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทําประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่ พนักงานเจ้าหน้าที่นัดหมายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 วรรคสาม และนายอังคารจะได้รับโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3)

สรุป

นายอังคารนําที่ดินแปลงนั้นมาขอออกโฉนดที่ดินได้

 

ข้อ 2. นายทองครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินและไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินเมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ใน พ.ศ. 2548 ได้มีประกาศเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน นายทองได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินไว้แต่ไม่ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ใน พ.ศ. 2552 นายทองขายที่ดินนั้น ให้แก่นายเพชรโดยทําหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองแล้วส่งมอบที่ดินให้นายเพชรครอบครอง ขณะนี้นายเพชรได้นําที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่านายเพชรจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 27 ตรี “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสํารวจ ตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มี หนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญัติให้ใช้ประมวล กฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคําสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและ ทําประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทําการสํารวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกําหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานําหรือส่งตัวแทนมานําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการ สํารวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกําหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

มาตรา 59 ทวิ “ผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจําเป็นจะขอออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ประมวลกฎหมายกําหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

วินิจฉัย

ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ ได้กําหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบ เฉพาะรายไว้ดังนี้

1 จะต้องเป็นผู้ครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสําคัญ แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 และรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและ ทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย

2 ต้องไม่ใช่ผู้ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี กล่าวคือ ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี จะไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้

3 มีความจําเป็นต้องออกโฉนดที่ดิน และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร และต้องมีเนื้อที่ ไม่เกิน 50 ไร่ ถ้าเกิน 50 ไร่ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กรณีถือว่านายทองเป็นผู้ครอบครองและทําประโยชน์ ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ในปี พ.ศ. 2548 ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น การที่นายทองได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการสํารวจรังวัดที่ดิน กรณีเช่นนี้ ต้องถือว่า นายทองเป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว แม้นายทองจะไม่ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ไป ทําการสํารวจรังวัดที่ดิน อันทําให้ไม่ได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 วรรคสามก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าตาม มาตรา 27 ตรี ใช้คําว่า “หรือ” แสดงว่า ให้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ระหว่างให้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือมานําพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทําการสํารวจรังวัดที่ดิน ดังนั้น นายทองจึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิขอออกโฉนดที่ดิน แบบเฉพาะรายได้ตามมาตรา 59 ทวิ วรรคหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 นายทองได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเพชร กรณีจึงถือว่า นายเพชร เป็นผู้ครอบครองและทําประโยชน์ต่อเนื่องมาจากนายทองตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ วรรคสอง ดังนั้น นายเพชรจึงสามารถนําที่ดินไปยื่นขอออกโฉนดแบบเฉพาะรายได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ วรรคหนึ่ง เพราะต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

สรุป นายเพชรขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายได้ตามมาตรา 59 ทวิ

 

ข้อ 3. นางธิดาได้รับแต่งตั้งโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดก นางธิดาได้ไปที่สํานักงานที่ดินพร้อมด้วยนายเอกซึ่งเป็นทายาทเพียงคนเดียวของเจ้ามรดกเพื่อขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดก เจ้าพนักงาน ที่ดินเห็นว่าเจ้ามรดกมีทายาทเพียงคนเดียว คือนายเอกและได้สอบถามแล้วนายเอกก็ไม่คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนลงชื่อนางธิดาลงในโฉนดที่ดินที่เป็นมรดกในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกในวันนั้น ดังนี้อยากทราบว่าการจดทะเบียนดังกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่ง ได้มาโดยทางมรดก ให้ผู้ได้รับมรดกนําหลักฐานสําหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐาน ในการได้รับมรดกมายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นทายาทแล้ว ให้ประกาศ โดยทําเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมีกําหนดสามสิบวัน ณ สํานักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอําเภอ หรือกิ่งอําเภอ สํานักงานเทศบาล ที่ทําการองค์การบริหารส่วนตําบล ที่ทําการแขวงหรือที่ทําการกํานันท้องที่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ และ บริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็น ทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศ และมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียนให้ตามที่ ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 82 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ให้ยื่นคําขอพร้อมด้วยนําหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น และหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคําสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียน ให้ตามคําขอ แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและตรวจสอบหลักฐาน และให้ นําความในมาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อไม่มีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นได้ แต่ถ้ามีผู้โต้แย้งก็ให้รอเรื่องไว้ และให้คู่กรณีไปฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดประการใดแล้ว ให้ดําเนินการไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่งศาลนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางธิดาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมนั้น ถือว่า นางธิดาเป็นผู้จัดการมรดกโดยทางอื่นนอกจากโดยคําสั่งศาล เมื่อนางธิดาได้ไปยื่นขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดก ลงในโฉนดที่ดินที่เป็นมรดก และแม้ว่าในวันไปที่สํานักงานที่ดินนั้น นางธิดาจะได้พานายเอกซึ่งเป็นทายาทเพียง คนเดียวของเจ้ามรดกไปด้วยก็ตาม พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะต้องดําเนินการตามมาตรา 82 ประกอบมาตรา 81 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประกาศเป็น หนังสือก่อนมีกําหนด 30 วัน ณ สํานักงานที่ดิน และให้ส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็นทายาททุกคน ทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีผู้โต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศและมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิตามกฎหมาย ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้เลย แต่ถ้ามี ผู้โต้แย้งก็ให้รอเรื่องไว้ และให้คู่กรณีไปฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดประการใดแล้ว ให้ดําเนินการไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่งศาลนั้น

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนางธิดาได้ไปยื่นขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกพร้อมกับพานายเอกไปด้วยนั้น การที่เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าเจ้ามรดกมีทายาทเพียงคนเดียวและได้สอบถามนายเอกแล้ว นายเอกก็ไม่คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินจึงดําเนินการจดทะเบียนลงชื่อนางธิดาเป็นผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดิน ในวันนั้น การจดทะเบียนของเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 82 ประกอบมาตรา 81 วรรคสอง

สรุป

การจดทะเบียนดังกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement