การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายทวีครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดิน เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ นายทวีไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามที่กฎหมายกําหนด แต่ก็ยังคงครอบครองและทําประโยชน์ตลอดมา ในปี พ.ศ. 2530 นายทวีได้ขายที่ดินนั้นให้แก่นายเพชรโดยทําหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองแล้วส่งมอบที่ดินให้แก่กัน ขณะที่ได้มี การประกาศของทางราชการเพื่อเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น ดังนี้อยากทราบว่านายเพชร จะนําที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 27 ตรี “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการ สํารวจตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคําสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทําการสํารวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้นให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายใน กําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกําหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานํา หรือส่งตัวแทนมานําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการสํารวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกําหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

มาตรา 58 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กําหนดจังหวัดที่จะทําการสํารวจรังวัดทําแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทําประโยชน์สําหรับปีนั้น เขตจังหวัดที่ รัฐมนตรีประกาศกําหนดไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จําแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสํารวจรังวัดในท้องที่นั้น โดยปิดประกาศไว้ ณ สํานักงานที่ดิน ที่ว่าการอําเภอ ที่ว่าการกิ่งอําเภอ ที่ทําการกํานัน และที่ทําการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ก่อนวันเริ่มต้นสํารวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้มีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคสอง ให้บุคคลตามมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว นําพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมาย เพื่อทําการสํารวจรังวัด ทําแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทําประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นัดหมาย”

มาตรา 58 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง “เมื่อได้สํารวจรังวัดทําแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวน การทําประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนด ที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ได้ คือ

(2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทวีครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดิน และนายทวีก็ไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองตามที่กฎหมายกําหนด กรณีนี้ ถือว่านายทวีเป็นผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครอง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 นายทวีจึงเป็นบุคคลตามมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง

ต่อมา ใน พ.ศ. 2530 นายทวีได้ขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายเพชร โดยนายเพชรได้ครอบครอง และทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ในารณีนี้ถือว่านายเพชรเป็นผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อ เนื่องมาจากนายทวีตามมาตรา 27 ตรี วรรคสอง ซึ่งให้ถือว่านายเพชรเป็นบุคคลตามมาตรา 27 ตรีด้วย

เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้ได้มีประกาศเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น (แบบทั้งตําบล) ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นายเพชรก็สามารถนําที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 58 วรรคสาม กล่าวคือ

1 นายเพชรต้องมาแจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ ภายในกําหนดเวลา 30 วันนับแต่วันปิดประกาศ และมานําหรือส่งตัวแทนมานําพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายทําการเดินสํารวจรังวัดที่ดิน

2 ถ้านายเพชรมิได้แจ้งการครอบครองภายในกําหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานําหรือส่ง ตัวแทนมานําพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายทําการเดินสํารวจรังวัดที่ดิน ซึ่งกรณีเช่นนี้ ก็ให้ถือว่านายเพชรประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

ดังนั้น เมื่อนายเพชรได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว นายเพชร ก็จะได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2)

สรุป

นายเพชรขอออกโฉนดที่ดินได้ เพราะเป็นบุคคลตามมาตรา 27 ตรี วรรคสอง โดยต้อง ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 58 วรรคสาม และจะได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2)

 

ข้อ 2. นายเอกครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2518 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ใน พ.ศ. 2525 นายเอกยกที่ดินนั้นที่ใช้หนี้ให้แก่นายโท นายโทเข้าครอบครอง และทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ใน พ.ศ. 2541 นายโทถึงแก่ความตาย นายตรีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ครองครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อจากบิดา ใน พ.ศ. 2554 ได้มีประกาศเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น แต่นายตรีไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใดจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ขณะนี้นายตรีมีความจําเป็นจึงได้ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้อยากทราบว่านายตรีจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 59 “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรอง การทําประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย”

มาตรา 59 ทวิ “ผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจําเป็นจะขอ ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณา เห็นสมควรให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และ วิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กําหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการ จังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2518 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินนั้น ถือว่านายเอกเป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการภายหลังวันที่ประมวล กฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2497) เมื่อนายเอกได้ยกที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายโทในปี พ.ศ. 2525 และนายโทเข้าครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นตลอดมา ก็ถือว่านายโทเป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการ ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับด้วย และเมื่อปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2541 นายโทถึงแก่คามตายและนายตรีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้เข้าครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อจากบิดา ดังนี้ นายตรีซึ่งเป็นทายาทก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับนายโท คือ ให้ถือว่านายตรีเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เช่นเดียวกัน

และในขณะนี้นายตรีมีความจําเป็นจึงนําที่ดินไปยื่นขอออกโฉนดที่ดิน แต่เมื่อปรากฏว่า ไม่มีประกาศของทางราชการเพื่อจะออกโฉนดแบบทั้งตําบลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 จึงต้อง พิจารณาการออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ แล้วแต่กรณี

สําหรับการขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ผู้ที่จะขอ ออกโฉนดที่ดินได้ จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือ แสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนายตรีเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ดังนั้นนายตรีจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมาย ที่ดิน มาตรา 59 ไม่ได้ อีกทั้งในกรณีดังกล่าวนี้ นายตรีจะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่องตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคสอง ไม่ได้เช่นกัน เพราะนายตรีมิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)

ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้นั้น กฎหมายกําหนดว่า จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 เท่านั้น แต่เมื่อได้ความว่า นายตรีเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น นายตรีจึงไม่สามารถขอออกโฉนด ที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้เช่นกัน

สรุป

นายตรีเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จะ ขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้เลย

 

ข้อ 3. นางทับทิมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม นางทับทิมไปยื่นคําขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดินที่เป็นมรดกเพื่อจะได้จัดการมรดกตามหน้าที่โดยได้พานายสมปอง ทายาทของเจ้ามรดกไปด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจเอกสารหลักฐานและได้สอบถามนายสมปอง ซึ่งเป็นทายาทเพียงคนเดียวของเจ้ามรดกว่าจะคัดค้านหรือไม่ นายสมปองไม่คัดค้าน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงทําการจดทะเบียนลงชื่อนางทับทิมตามคําขอในวันนั้น ดังนี้อยากทราบว่าการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 81 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง “การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้มาโดยทางมรดก ให้ผู้ได้รับมรดกนําหลักฐานสําหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐาน ในการได้รับมรดกมายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นทายาทแล้ว ให้ประกาศ โดยทําเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมีกําหนดสามสิบวัน ณ สํานักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอําเภอ หรือกิ่งอําเภอ สํานักงานเทศบาล ที่ทําการองค์การบริหารส่วนตําบล ที่ทําการแขวงหรือที่ทําการกํานันท้องที่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ และ บริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็น ทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศ และมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียนให้ตามที่ ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 82 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดิน ให้ยื่นคําขอพร้อมด้วยนําหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น และหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคําสั่งศาลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียน ให้ตามคําขอ แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและตรวจสอบหลักฐาน และให้นําความในมาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อไม่มีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางทับทิมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ถือว่า นางทับทิมเป็นผู้จัดการมรดกโดยทางอื่นนอกจากโดยคําสั่งศาล ดังนั้น ในการจดทะเบียนลงชื่อนางทับทิม ผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดินที่เป็นมรดกนั้น จึงต้องดําเนินการตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 81 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อนางทับทิมได้ยื่นคําขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทําการ ประกาศเป็นหนังสือก่อนมีกําหนด 30 วัน และมีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้ทายาททุกคนทราบเท่าที่จะทําได้ หากไม่มีผู้โต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อนางทับทิมผู้จัดการมรดก ในโฉนดที่ดินนั้นได้

ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทําการจดทะเบียนลงชื่อนางทับทิมผู้จัดการมรดกในโฉนด ที่ดินตามคําขอของนางทับทิมในวันที่ยื่นคําขอโดยไม่ได้ทําการประกาศก่อน จึงเป็นการดําเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement