การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) คืออะไร มีพัฒนาการ 5 ยุคอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

กฎหมายธรรมชาติสามารถอธิบายความหมายได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1 ความหมายทั่ว ๆ ไป กฎหมายธรรมชาติหมายถึง กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้มีโครงสร้างขึ้นเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้ได้โดยทั่วไปอย่างไม่จํากัดกาลเทศะ

กฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และกฎเกณฑ์ทางกฎหมายต่าง ๆ ในอุดมคติซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น

ซึ่งอาจค้นพบได้โดยเหตุผล กฏเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้นเพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน (เมื่อพิจารณาความหมายในแง่มุมทางอุดมการณ์)

2 ความหมายในทางทฤษฎี แบ่งเป็น 2 ทฤษฎี คือ

1) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคกรีกโบราณและโรมันถึงยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16) ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมาย อุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ จะไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายเลย

2) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบันถือว่า หลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียง อุดมคติของกฎหมายที่รัฐจะบัญญัติขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ รัฐควรจะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการ ของกฎหมายธรรมชาติ แต่ถ้าตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ผ่อนปรน ประนีประนอม มากขึ้นกว่าในยุคโบราณและยุคกลาง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ดังนี้

1 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมัน มีสาระสําคัญดังนี้

1) จุดก่อตัวและช่วงเวลา ยุคกรีกโบราณและโรมันอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อน คริสตกาล ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยประมาณ ซึ่งว่ากันว่ากฎหมายธรรมชาตินี้พบเป็นเรื่องเป็นราวจากเฮราคลิส นักปรัชญาชาวกรีกที่มีอายุในช่วง 540 – 180 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขาไปค้นหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะ ความจริงเกี่ยวกับแก่นสารของชีวิตและสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปออกมาคือ ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง แก่นสารของชีวิตคือธรรมชาติและแก่นสารของชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยจุดหมายปลายทาง ระเบียบและเหตุผลอันแน่นอนซึ่งไม่อาจผันแปรได้

2) การเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติ แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต (427 – 347 ปีก่อนคริสตกาล) อธิบายว่า เข้าถึงได้โดยการใช้ญาณปัญญา อันบริสุทธิ์ แต่ก็มีเพียงนักปราชญ์เท่านั้นที่เพลโตเห็นว่าจะเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้

อริสโตเติล (384 – 322 ปีก่อนคริสตกาล) ศิษย์ของเพลโตเห็นว่า กฎหมาย ธรรมชาตินั้นมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยการใช้ “เหตุผลอันบริสุทธิ์” เนื่องจากอริสโตเติลพบว่าเหตุผลของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

สํานักสโตอิค (ก่อตั้งขึ้นศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลโดยเซโน) ยืนยันตามแนวคิด ของอริสโตเติลว่า “มนุษย์เข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้โดยการใช้เหตุผล” เหตุผลที่ว่านี้ก็อยู่ในฐานะเป็นพลังทางจักรวาล ซึ่งเข้าครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งเป็นพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรมด้วย

3) บทบาทความสําคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต ให้ความสําคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่าเป็นแบบหรือความคิดอันไม่มีวัน เปลี่ยนแปลง ที่ให้เป็นบรรทัดฐานต่อกฎหมายบ้านเมือง กฎหมายใด ๆ ที่รัฐตราขึ้นต้องสอดคล้องกับแบบหรือ กฎหมายธรรมชาตินี้ มิเช่นนั้นก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นกฎหมายได้

อริสโตเติล ให้ความสําคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่า เป็นกฎหมายที่เหมาะสม ในการปกครองสังคม แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกฎหมายที่รัฐตราขึ้นขัดกับกฎหมายธรรมชาติผลจะเป็นอย่างไร

โสฟิสต์บางกลุ่ม อ้างกฎหมายธรรมชาติขึ้นมาต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งอ้างเพื่อผลักดันให้ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และระบบทาส (โสฟิสต์เป็นกลุ่มนักคิด ชอบใช้วาทะในการโต้เถียง มีในสมัยศตวรรษที่ 4 – 5 ก่อนคริสตกาล)

ในชั้นของอาณาจักรโรมัน ประมวลกฎหมายของจักรพรรดิ์จัสติเนียนก็ถือว่า กฎหมายธรรมชาติมีส่วนในการพัฒนาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคคล ทรัพย์ หนี้ มรดกหรือลาภมิควรได้

2 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลาง มีสาระสําคัญดังนี้

1) ช่วงเวลาและภาพรวม ยุคมืดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 12 โดยประมาณ ส่วนยุคกลางอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 16 โดยประมาณ ในยุคนี้กฎหมายธรรมชาติถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น แบบคริสเตียน (คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติก็เปลี่ยนไปอิงอยู่กับคําสอนทางศาสนา หรือบัญชาของพระเจ้า เนื่องจากเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรขึ้นมามีอํานาจเหนือฝ่ายอาณาจักร โดยยืนยันได้จาก ความคิดของเซนต์ ออกัสติน ที่ว่า “กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”

2) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติ เนื่องจากกฎหมายธรรมชาติยุคนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ เป็นแบบคริสเตียน จึงปรากฏงานนิพนธ์ของ เซนต์ โทมัส อไควนัส (ค.ศ. 1226 – 1274) เรื่อง “Summa Theologica” สรุปว่า “หลักธรรมหรือโองการหรือเจตจํานงของพระเจ้าคือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ” เป็นการหักมุมแนวคิด ของอริสโตเติลที่ว่า “มนุษย์สามารถค้นพบกฎหมายธรรมชาติได้โดยอาศัยเหตุผลในตัวมนุษย์เอง” กล่าวคือ อไควนัส เห็นว่าเครื่องมือในการค้นหากฎหมายธรรมชาตินั้นปรากฏอยู่ใน “เหตุผลของพระเจ้า” ไม่ใช่เหตุผลของมนุษย์

3) คุณค่าความสําคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ปรากฏในงานเขียนของอไควนัส ซึ่งเขาได้แบ่งกฎหมายออกเป็น 4 ประเภท กฎหมายธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น อไควนัสบอกว่า กฎหมายธรรมชาติ มนุษย์สามารถเข้าถึงได้โดยอาศัยเหตุผลเหมือนกับอริสโตเติล แต่อไควนัสนั้นบอกว่า เหตุผลของมนุษย์เป็น คุณสมบัติธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้อีกที่หนึ่ง ไม่ใช่มีอยู่และในธรรมชาติเหมือนอริสโตเติลนําเสนอไว้

อไควนัส ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นเสมือนภาพสะท้อนอันไม่สมบูรณ์ซึ่งเหตุผล อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า แต่กฎหมายธรรมชาตินี้ก็มีความสําคัญในฐานะเป็นหลักชี้นําการกระทําต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยมีหลักธรรมพื้นฐานคือ การทําดีและละเว้นความชั่ว ซึ่งกฎหมายธรรมชาตินี้ อไควนัสถือว่ามีค่าบังคับสูงกว่า กฎหมายที่มนุษย์หรือรัฐบัญญัติขึ้น กล่าวคือ ถ้าขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติก็จะไม่ถือว่ากฎหมายนั้น เป็นกฎหมาย แต่เป็นความวิปริตของกฎหมายไป

3 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป มีสาระสําคัญดังนี้

1) ช่วงเวลาและภาพรวม ยุคฟื้นฟูอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 โดยประมาณ ส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยประมาณ ยุคนี้สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนไป ฝ่ายอาณาจักร ขึ้นมามีอํานาจและสลัดตัวออกจากศาสนจักรได้สําเร็จ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเองก็สามารถสลัดตัวออกจาก คริสต์ศาสนาเช่นกัน รูปแบบความคิดก็กลับไปเป็นแบบเหตุผลนิยม คล้าย ๆ กับที่อริสโตเติลหรือสํานักสโตอิค แห่งกรีกโบราณนําเสนอไว้

2) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติ ว่าจะตราหรือบัญญัติกฎหมายอย่างไรขึ้นใช้ในสังคม ถูกนําเสนอโดยฮูโก โกรเซียส ชาวเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1583 – 1645) มีแนวคิดว่า “เหตุผลและสติปัญญาของ มนุษย์คือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ” โดยถือว่าเหตุผลและสติปัญญานี้ปรากฏอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์เอง สิ่งที่โกรเซียสยืนยันก็คือ “ธรรมชาติของมนุษย์คือมารดาของกฎหมายธรรมชาติ และซึ่งจะคงปรากฏอยู่มาตร (แม้) ว่าจะไม่มีพระเจ้าแล้วก็ตาม”

3) ลักษณะและความสําคัญในเชิงบทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ถือว่ามีบทบาทที่สําคัญยิ่ง เริ่มที่โกรเซียสได้นําเอาหลักกฎหมายธรรมชาติ บางเรื่องไปเป็นรากฐานในการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ ควบคุมกิจการหรือกติกาในการทําสงครามระหว่างรัฐ จนได้รับยกย่องว่า เป็นบิดาของกฎหมายระหว่างประเทศเลยทีเดียว

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้มีการพัฒนาเรื่องสิทธิธรรมชาติของมนุษย์โดยการเพิ่ม บทบาทความคิดแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้นในตัว โดยผ่านนักคิดหลาย ๆ คนในยุคนี้ เช่น พูเฟนดอร์ฟ, โทมัส ฮอบส์, สปินโนซ่า, จอห์น ลอค, มองเตสกิเออ, รสโซ, วูล์ฟ เป็นต้น ซึ่งผลโดยรวมที่ได้ก็คืออิทธิพลโดยผ่านนักคิดเหล่านี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้นําไปสู่การเน้นเนื้อหากฎหมายที่เป็นธรรม, นําไปสู่ข้อยืนยันว่ากําลังหรืออํานาจไม่ใช่ ที่มาของกฎหมายหรือความถูกต้อง นับเป็นการเข้าไปต่อต้านเผด็จการหรือการกดขี่, สนับสนุนเรื่องความเสมอภาค ของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย มีส่วนแก้ไขให้บทลงโทษทางอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น และที่สําคัญคือเป็นที่มา หรือรากฐานหรือหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นยุคแห่งเหตุผล” เนื่องจาก อิทธิพลความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ครอบงําไปทั่วยุโรป

4 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคชาติรัฐนิยม (ความเสื่อมและการฟื้นตัวของกฎหมาย ธรรมชาติ) มีสาระสําคัญดังนี้

1) ภาพโดยรวมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ยุคนี้เป็นเหตุการณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 18 กฎหมายธรรมชาติยุคนี้ได้เสื่อมความนิยมลงในช่วงหนึ่งแล้วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตอนท้าย

2) เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมลง มีสาเหตุหลัก 2 เรื่องคือ

– กระแสสูงของลัทธิชาตินิยม ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามและเข้ามาบดบังลัทธิ ปัจเจกชนนิยมที่เป็นแกนกลางสําคัญในปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

– ความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาท แบบวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐานทําให้เกิดลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องของ ศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่าจะเป็นกฎหมายอันแท้จริงของรัฐ

3) เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้รับการเชื่อถืออีกครั้ง สาเหตุที่ทําให้ กฎหมายธรรมชาติได้รับการนิยมขึ้นมาอีก เพราะวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ปฏิฐานนิยม ทางกฎหมายก็ถูกนําไปใช้สนับสนุนเรื่องอํานาจนิยม การใช้อํานาจโดยมิชอบ ที่สําคัญก็คือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ก็มีที่มาจากการเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิด ๆ ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมของกฎหมายธรรมชาติ หรือระบบคิดแบบอุดมคตินิยมจึงปรากฏความสําคัญขึ้นอีกครั้ง

4) บทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติภายหลังที่ฟื้นตัวแล้ว พออธิบายได้ดังนี้

– สแตมม์เลอร์ ชาวเยอรมันประกาศความคิดเรื่อง “กฎหมายธรรมชาติซึ่งมี เนื้อหาอันเปลี่ยนแปลงได้ในฐานะเป็นหลักความยุติธรรม” ซึ่งสะท้อนความต้องการอันไม่แน่นอนของชนชาติหนึ่ง ในยุคสมัยหนึ่ง ๆ ขณะที่มาตรฐานแห่งความยุติธรรมเป็นการเน้นความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ระหว่างปัจเจกชน กับสังคม

– ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ได้ถูกนําไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในระดับ ข้อเท็จจริงและวิกฤติการณ์ทางคุณค่าด้วย โดยเฉพาะในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎหมายธรรมชาติได้ เข้าไปมีบทบาทในการตัดสินคดีเพื่อลงโทษทหารนาซีเยอรมัน โดยถือว่ากฎหมายที่ขัดกับมนุษยธรรมที่นาซีบัญญัติขึ้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย นอกจากนั้นการปรากฏตัวขึ้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยมนุษยชน ค.ศ. 1948 ก็เขียนขึ้นภายใต้ อิทธิพลของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

5 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย) ในยุคปัจจุบัน ปรัชญากฎหมายธรรมชาติมีบทบาทอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ

1) ในแง่ที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม คือ เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมาย หรือยืนยันในความเชื่อมั่น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่จําต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่าง ๆ

2) ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่สิทธิทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่สําคัญคือ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอม มากขึ้น กล่าวคือ ไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติหรือหลักความยุติธรรมต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ ตามความคิดแบบเก่า ซึ่งตรงนี้ก็ปรากฎจากความคิดของจอห์น ฟินนีส นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่ บอกว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมายที่ ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอํานาจผูกมัดทางมโนธรรม” ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ หน้าที่ทางศีลธรรม ที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงอาจจําต้องมีอยู่หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จะนํามาซึ่ง ความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมเสียส่วนมาก

 

ข้อ 2 ความยุติธรรม (Justice) คืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

“ความยุติธรรม” เป็นคําหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า ความยุติธรรม หมายถึง

1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมะ

3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนําเสนอความหมายไว้ที่สําคัญ ๆ ได้แก่

เพลโต (Plato) ได้ให้คํานิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทํากรรมดีหรือการทําสิ่งที่ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสําคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรม อื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

อริสโตเติล (Aristote) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคม ประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ ทุกคนไม่มีขอบเขตจํากัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน 2 แบบ ตามแนวคิดทางทฤษฎี คือ

1 ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและ ความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากล้วนมีกําเนิดมาจากพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลัง ๆ จนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้ โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสําคัญของสํานักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของสํานักนี้ด้วย อาทิเช่น

ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคําสั่งที่เป็น กฎหมาย โดยการปรับใช้คําสั่งนั้นอย่างมโนธรรม”

อัลฟ รอสส์ (Alf Ross) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง อันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทําสิ่งใดตามอําเภอใจ”

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตรัสว่า “ในเมืองไทย คําพิพากษาเก่า ๆ และคําพิพากษา เดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอ ๆ แต่คําที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคําไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกัน ตามนิสัย ซึ่งไม่เป็นกริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติ จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไร เป็นยุติธรรมไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ ทุกเรื่อง…”

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2473 “กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่ จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้”

2 ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรม ได้รับการเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็น ความคิดอุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรม ซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ อันเป็นวิธีคิดในทํานองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ อีกทั้งเป็นวิธีคิดอุดมคตินิยมซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน หรือในชื่อที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ” ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ยังมีแก่นสาร ของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกํากับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย

แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มี มาช้านานแล้ว ดังเช่น

คดีอําแดงป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อําแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามี ตุลาการก็ให้หย่า เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า “หญิงหย่าชาย หย่าได้” ผลของคําพิพากษานี้ รวมทั้ง กฎหมายที่สนับสนุนอยู่ เหนือหัวรัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องมีการชําระสะสางกฎหมายใหม่ จนกลายเป็นกฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา

ในยุคปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจาก บุคคลสําคัญของไทย เช่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีแนวพระราชดําริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพ สูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสําคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความ “ยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้นดูจะ ไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้”

ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายแนะนําไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่าน ไว้ว่า “การที่มีคําใช้อยู่ 2 คํา คือ “กฎหมาย” คําหนึ่ง “ความยุติธรรม” คําหนึ่ง ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่สิ่ง เดียวกันเสมอไปไม่ การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฎหมาย ไม่คํานึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้น เป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น”

 

ข้อ 3. จงอธิบายหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย

ธงคําตอบ

หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสําคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ปกครอง) ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

หลักทศพิธราชธรรม คือ หลักธรรมอันสําคัญยิ่งสําหรับกษัตริย์หรือผู้ปกครอง 10 ประการ ดังนี้

1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและให้วิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นและให้ประการอื่น ๆเช่น กําลังกาย กําลังความคิด ตลอดจนคําแนะนําที่รวมแล้วเรียกว่า ธรรมทาน

2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4 อาชชวะ คือ ความซื่อตรง

5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน

6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสําเร็จโดยไม่ลดละ

7 อักโกธะ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใคร

8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์เดือดร้อน

9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลําบาก ทั้งที่เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม

10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

หลักธรรมทั้ง 10 ประการนี้ อาจกล่าวว่าเป็นหลักธรรมทางกฎหมายในแง่พื้นฐานของการใช้ อํานาจทางกฎหมาย ถึงแม้โดยเนื้อหา ทศพิธราชธรรมจะมีลักษณะเป็นจริยธรรมส่วนตัวของผู้ปกครองก็ตาม เพราะหากเมื่อจริยธรรมนี้เป็นสิ่งที่ถือว่าควรอยู่เบื้องหลังกํากับการใช้อํานาจรัฐ โดยบทบาทหน้าที่ของธรรมะแล้ว บทบาทดังกล่าวย่อมอยู่เบื้องหลังการใช้อํานาจทางกฎหมาย ไม่ว่าจะในรูปของการนิติบัญญัติหรือการบังคับใช้ กฎหมายด้วยเช่นกัน มองที่จุดนี้ ทศพิธราชธรรมย่อมดํารงอยู่ในฐานะหลักธรรมสําคัญในปรัชญากฎหมายของไทยอีกฐานะหนึ่งด้วย

เกี่ยวกับหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้ ก็คงจัดได้ว่าเป็นหัวใจสําคัญของปรัชญา กฎหมายในพระธรรมศาสตร์ อันเทียบได้กับกฎหมายธรรมชาติของตะวันตกและสามารถเรียกได้ว่าเป็นประหนึ่ง หลักนิติธรรม ในอุดมการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยโบราณภายใต้ปรัชญาแบบพุทธธรรมนิยม หลัก 4 ประการนี้ ย่อมจัดเป็นรูปธรรมอันเด่นชัดที่สะท้อนความคิด รากเหง้าแห่งปรัชญากฎหมายไทย

หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย เป็นปรัชญากฎหมายที่มีอิทธิพลความสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญากฎหมายที่จํากัดอิทธิพลหรือจํากัดวงแห่งการรับรู้ เฉพาะกลุ่มนักคิด หรือสํานักคิดทางปรัชญากฎหมายหนึ่งเท่านั้น แม้การยึดถือหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยจะปรากฎมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมาก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ การยึดถือดังกล่าวจะเป็นไปอย่าง จริงจังเพียงใดก็คงเป็นอีกเรื่องเช่นกัน เพราะแม้ในทางทฤษฎีหรือปรัชญากฎหมายไทยจะกําหนดให้พระมหากษัตริย์ ต้อง “คํานึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์” ทุกคราวที่ตรากฎหมายก็ตาม แต่หากในทางปฏิบัติเกิดมีพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ทรงสนพระทัยต่อคัมภีร์ดังกล่าว หรือกระทั่งตรากฎหมายโดยขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ผลลัพธ์จะ ถือเป็นอย่างไร จะถือเป็นโมฆะหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งจะถือว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมาย หรือไม่ เพราะในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตรากฎหมายหรือราชศาสตร์โดยไม่คํานึงถึงพระธรรมศาสตร์หรือ กระทั่งขัดแย้งกับ “หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย” ก็ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ในทางปฏิบัติจะมีการดึงดัน ให้กฎหมายนั้นยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่ แต่ก็ย่อมมีผู้ถือว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรมหรือเป็นกฎหมายที่เลวอยู่ บ้างอย่างเงียบ ๆ และคาดเดาไปว่าจะเป็นกฎหมายที่อยู่ไม่ได้นาน ทั้งไม่สมควรเป็นเรื่องที่ควรเคารพเชื่อฟัง หากแต่ในทางปฏิบัติคงหาคนที่จะกล้าออกมาคัดค้านกฎหมายหรือดื้อแพ่งกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้แบบเผชิญหน้า โดยตรงไม่ได้ เพราะพระราชอํานาจของกษัตริย์ที่เป็นเทวราชาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครออกมาท้าทายอาจถูก ประหารชีวิตได้ง่าย ๆ

สรุป

การยึดมั่นในหลักจตุรธรรมทางปรัชญากฎหมายของพระมหากษัตริย์ จึงดูเป็นเรื่อง ศีลธรรมหรือคุณธรรมส่วนตัวของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์มากกว่าสิ่งอื่น โดยมีปัจจัยด้านความมั่นคงใน การใช้อํานาจของพระองค์เป็นตัวกําหนดภายนอก ทํานองเดียวกับที่ ร.แลงกาต์ เคยสรุปไว้ว่า ถ้าราชวงศ์ใดมั่นคง แข็งแกร่ง การพิสูจน์พระบรมราชโองการว่าสอดคล้องกับบทบัญญัติในพระธรรมศาสตร์หรือไม่ก็จะทําพอเป็นพิธี เท่านั้น ในทางปฏิบัติ เจตจํานงหรือความประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่มีต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินดูจะเป็นกฎหมาย หรือแหล่งที่มาอันสําคัญของกฎหมายเหนือสิ่งอื่นใด กฎหมายตามสภาพที่เป็นจริงจึงกลายเป็นภาพสะท้อนแห่ง เจตจํานงขององค์รัฐาธิปัตย์หรือพระมหากษัตริย์ที่มีต่อผู้อยู่ใต้อํานาจปกครอง แน่นอนว่าสิ่งที่พบก็คือช่องว่าง ระหว่างอุดมคติทางกฎหมายกับความเป็นจริง

Advertisement