การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ปรัชญาปฏิฐานนิยมตามแนวความคิดของฮาร์ท (H.L.A. Hart) ที่ถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคม (System of Social Rules) มีความหมายอย่างไร ในส่วนของ ข้อสรุปเรื่อง “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ” ของฮาร์ทเป็นการยอมรับต่อทฤษฎี กฎหมายธรรมชาติอย่างไร

ธงคําตอบ

ปรัชญาปฏิฐานนิยมตามแนวความคิดของฮาร์ท (H.L.A. Hart) ที่ถือว่า ระบบกฎหมายนั้น เป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคม (System of Social Rules)ฮาร์ทเป็นนักปฏิฐานนิยมรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 20 เป็นเจ้าของงานเขียนชื่อ “The Concept of Law” เป็นนักปรัชญากฎหมายร่วมสมัยที่วิเคราะห์ลักษณะภายในของหน้าที่ตามกฎหมาย และเห็นจุดบกพร่อง ในทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของจอห์น ออสติน

ฮาร์ทเป็นนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่ยืนยันว่า กฎหมายและศีลธรรมไม่จําเป็นต้องเกี่ยวโยง กันเสมอไป และการดํารงอยู่หรือความสมบูรณ์ของกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากเรื่องความชอบหรือ ไม่ชอบธรรมภายในกฎหมายนั้น ๆ

ฮาร์ทถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับ สังคมในสองความหมาย ความหมายหนึ่งมาจากการที่มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ปกครองการกระทําของมนุษย์ในสังคม และอีกความหมายหนึ่งคือการมีแหล่งที่มาและดํารงอยู่จากการปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์โดยเฉพาะ

กฎเกณฑ์ทางสังคมในทัศนะของฮาร์ทมีหลายประการ ได้แก่ กฎเกณฑ์ทางด้านจริยธรรม ศีลธรรม กฎเกณฑ์ที่เป็นกติกาการแข่งขัน ฯลฯ กฎเกณฑ์ที่สําคัญประการหนึ่งคือ กฎเกณฑ์ที่กําหนดพันธะหน้าที่ ซึ่งเป็นกฎที่บังคับหรือเรียกร้องให้คนปฏิบัติตามควบคู่กับแรงกดดันทางสังคมที่มีต่อคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นี้ อาจแบ่งออก ได้เป็นสองประเภทซึ่งแปรไปตามแรงกดดันทางสังคมที่แตกต่างกัน ประเภทแรกปรากฏในรูปกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษ ทางกายภาพต่อผู้ฝ่าฝืน ประเภทที่สองปรากฏในรูปศีลธรรมซึ่งไม่มีการลงโทษทางกายภาพใด ๆ ต่อผู้ฝ่าฝืน

ฮาร์ทมองข้อจํากัดของการมีแต่กฎเกณฑ์ที่กําหนดพันธะหน้าที่ จึงได้สร้างแนวความคิดเรื่อง ระบบกฎหมาย กฎปฐมภูมิ และกฎทุติยภูมิขึ้น

ข้อสรุปเรื่อง “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ” หรือเรียกว่าแนวความคิด กฎหมายธรรมชาติทางสังคมวิทยา (Sociological conception of natural law) ในมุมมองของฮาร์ท

ฮาร์ทมองธรรมชาติของมนุษย์ที่มีลักษณะผสมผสานในตัวเอง บนพื้นฐานของสิ่งที่เป็น สัจธรรมสากลตามทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ โดยฮาร์ทเห็นว่าเป็นความจําเป็นทางธรรมชาติที่ในทุกสังคมมนุษย์ จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่กําหนดพันระหน้าที่รูปกฎหมายซึ่งจํากัดควบคุมความรุนแรง พิทักษ์รักษาทรัพย์สินและป้องกัน ควบคุมการหลอกลวงกัน ฮาร์ทถือว่ากฎเกณฑ์ที่จําเป็นนี้เปรียบเสมือน “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ” ซึ่งจะเรียกว่าเป็นแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติทางสังคมวิทยาก็ได้ ซึ่งฮาร์ทยอมรับแก่นความหมายในแง่ดีของ ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติเท่านั้น

 

ข้อ 2. ให้อธิบายความแตกต่างอันเป็นสาระสําคัญในแนวคิดทางกฎหมายของทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) และทฤษฎีกฎหมายของมาร์กซิสต์ (The Marxist Theory of Law) และให้เสนอความคิดเห็นต่อข้อสรุปตามความคิดของมาร์กซิสต์ที่ว่า “กฎหมายเป็นเสมือนหนึ่ง เครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้น เพื่อปกป้องอํานาจของตน/กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ ของชนชั้นปกครอง”

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) หมายถึง การนําเอา สังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้ก็จะนําไปสร้างกฎหมาย อีกชั้นหนึ่งนั่นเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก มีที่มาจาก การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคม โดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุนและผู้ใช้แรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง จึงทําให้เกิดแนวคิด นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาขึ้น โดยมีหลักการคือ การนํากฎหมายมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้าง กฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม และเป็นเครื่องมือ สําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุล

จากที่มาดังกล่าวมีส่วนสําคัญต่อการกําหนดกฎหมาย โดยมีบุคคลสําคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิด นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคือ รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง และรอสโค พาวด์ โดยเยียริ่งเน้นความสําคัญของวัตถุประสงค์ โดยถือว่าวัตถุประสงค์เป็นผู้สร้างกฎหมายทั้งหมด ไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายใด ๆ ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ กฎหมาย ๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระทําของมนุษย์ ต้นเหตุสําคัญของกฎหมายอยู่ที่การเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนอง ความต้องการของสังคม วัตถุประสงค์ของกฎหมายอยู่ที่การปกป้องหรือขยายการปกป้องผลประโยชน์ของสังคม เยียริงแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภทคือ

– ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล

– ผลประโยชน์ของรัฐ

– ผลประโยชน์ของสังคม

บทบาทของกฎหมายในแนวของเยียริง จึงเป็นเรื่องของบทบาททางสังคมของกฎหมายในการสร้าง ความสมดุลหรือการจัดลําดับขั้นของความสําคัญระหว่างผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลกับผลประโยชน์ของสังคม

ในส่วนของรอสโค พาวด์ แนวความคิดทางกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงของสังคมอเมริกันที่มี ความเปลี่ยนแปลงจึงตระหนักต่อปัญหาบทบาทของกฎหมายในสังคม และรับอิทธิพลทางความคิดของเยียริ่งที่ เน้นบทบาทหน้าที่ของกฎหมาย และเห็นว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุล เขาอธิบายถึงวิธีการคานผลประโยชน์ด้วยการสร้างกลไกต่าง ๆ ซึ่งการคานผลประโยชน์ ในสังคมให้เกิดความสมดุลเหมือนการก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม ซึ่งต่อมาเรียกว่า ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม พาวด์ แบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท คล้ายกับเยียริ่ง ได้แก่

– ผลประโยชน์ของปัจเจกชน

– ผลประโยชน์ของมหาชน

– ผลประโยชน์ของสังคม

วิธีการของการนํากฎหมายมาใช้ พาวด์มอบให้เป็นหน้าที่ของนักกฎหมายที่เกิดจากทฤษฎี วิศวกรรมทางสังคมของพาวด์ โดยเน้นภารกิจของนักกฎหมายในการจัดระบบผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้สมดุลโดย กลไกทางกฎหมายคล้ายกับการเป็นนักวิศวกรรมสังคมที่มุ่งสร้างโครงสร้างสังคมใหม่อันมีประสิทธิภาพในการ ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุดโดยให้เกิดการร้าวฉานหรือสูญเสียน้อยที่สุด

– ส่วน “ทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์” (The Marxist Theory of Law) เป็นทฤษฎี ทางกฎหมายของคาร์ล มาร์กซ์ ที่มองกฎหมายว่าเป็นเพียงกลไกเพื่อรับใช้ประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางชนชั้น ที่มีอํานาจในสังคม มิใช่เป็นกลไกที่มีความเป็นอิสระในการใช้ประนีประนอมผลประโยชน์ขัดแย้งทั้งหลาย

เนื่องจากตัวมาร์กซ์เองแล้วเขาเป็นคนค่อนข้างจะเย้ยหยันต่อบทบาทของกฎหมายในระบบ ทุนนิยม จึงทําให้มีการสรุปธรรมชาติหรือบทบาทของกฎหมายเป็น 3 ประการ คือ

1 กฎหมายเป็นผลผลิตหรือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงื่อนไขทาง เศรษฐกิจ โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น ๆ โดยมองว่าสังคม ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม ล้วนถูกกําหนดโดยระบบการผลิตหรือ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ซึ่งสมมติให้เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานของระบบเศรษฐกิจหรือ โครงสร้างส่วนล่างของสังคม ซึ่งกฎหมายก็ถือเสมือนว่าเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม โดยที่รูปแบบและเนื้อหา ของกฎหมายนั้นจะเป็นผลสะท้อนของระบบเศรษฐกิจหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

2 กฎหมายเป็นเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อปกป้องอํานาจ ของตน กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ของชนชั้นปกครอง เป็นข้อสรุปที่มาจาก “คําประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์” ที่มาร์กซิสต์และเองเกลส์เขียนขึ้นเพื่อกล่าวเสียดสีกฎหมายของชนชั้นเจ้าสมบัติ จึงทําให้นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ทั่วไป มองกฎหมายว่าไม่ได้เกิดจากเจตนาร่วมหรือเจตจํานงทั่วไปของประชาชน แต่กฎหมายนั้นเป็นเพียงการแสดงออก ซึ่งเจตจํานงของชนชั้นปกครอง

3 ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการควบคุมสังคม จะเหือดหาย (Writering Away) และสูญสิ้นไปในที่สุด เป็นการสรุปความเอาเองของบรรดาเหล่าสาวกของมาร์กซ์ ที่ตีความของบุคคลจากงานเขียนของเองเกลส์ ชื่อ “Anti-Duhring” ที่กล่าวพยากรณ์ว่า สังคมคอมมิวนิสต์ในอนาคต รัฐหรือรัฐบาลของบุคคลจะเหือดหายไร้ความจําเป็นในการดํารงอยู่อีกต่อไป ซึ่งเองเกลส์พูดถึงแต่รัฐเท่านั้นไม่ได้ พูดถึงกฎหมาย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยามีความแตกต่างจากทฤษฎีกฎหมายของ ฝ่ายมาร์กซิสต์ โดยทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาจะมีฐานคิดทางกฎหมายแนวปฏิบัตินิยม กฎหมายเป็นพลัง ทางสังคม โดยเชื่อมั่นต่อกฎหมายว่าสามารถเป็นเครื่องมือในการไกล่เกลี่ยและคานผลประโยชน์อันขัดแย้งใน สังคมให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมได้ ขณะที่ฝ่ายทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์ มีฐานคิดแนววัตถุนิยม เศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งไม่เชื่อถือศรัทธาต่อกฎหมายอันนําไปสู่บทสรุปที่เชื่อว่า เศรษฐกิจเป็นตัวกําหนดสําคัญ ต่อกฎหมาย กฎหมายคือการเมือง เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและความเชื่อต่อการเดือดหายของกฎหมาย ในท้ายสุดเมื่อเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์อันสมบูรณ์

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาอธิบายปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ว่ามีลักษณะที่สําคัญเป็นอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบคําอธิบายมาให้เข้าใจ

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา เป็นปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมที่ยอมรับให้มีการปฏิเสธหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์

ลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐาน ในลักษณะธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม มีปรากฏในหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

เหตุที่ทําให้มีการสรุปยืนยันว่าปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง บ้านเมือง และสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้ พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ ก็เพราะว่านอกจากกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรมแล้ว พระมหากษัตริย์ยังต้องตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรมอันมีค่าเป็นธรรมะ 10 ประการ ที่ทําหน้าที่ควบคุมการใช้พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ด้วย (อาจเรียกว่าเป็นราชธรรม 10 ประการก็ได้) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและวิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลแก่ผู้อื่น

2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4 อาชชวะ คือ ความซื่อตรง

5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน

6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสําเร็จโดยไม่ลดละ

7 อักโกธะ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใคร ๆ

8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์เดือดร้อน

9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลําบาก ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม

10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

ด้วยเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณล้วนนับถือศาสนาพุทธ ทศพิธราชธรรมนี้ ก็มีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ชาดกในพุทธศาสนานั่นเอง จึงทําให้พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่เลื่อมใสใน พระพุทธศาสนาต้องตั้งพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมข้างต้นนี้ และรูปธรรมชัดเจนของข้อสรุปดังกล่าวก็คือหลักการ ในทศพิธราชธรรมก็ได้ถูกนําไปตราเป็นกฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 และ 113 ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ดังนี้

กฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 ความว่า “อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวดํารัสตรัสด้วยกิจราชการคดีถ้อยความ ประการใด ๆ ต้องกฎหมายประเวนี้เป็นยุติธรรมแล้วให้กระทําตาม ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทาน 1, 2, 3 ครั้ง ถ้าหมีฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่งไปให้ทูลในที่ระโหถาน ถ้าหมีฟังจึงให้กระทําตาม ถ้าผู้ใดมิได้กระทําตามพระอายการ ดังนี้ ท่านว่าผู้นั้นละมิดพระราชอาชญา”

กฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 นี้ก็เป็นการยืนยันหลักการทางทฤษฎีที่ถือเอาธรรมะหรือกฎหมาย เป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมืองอันเป็นการสอดรับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ อันหมายถึง การไม่ประพฤติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

ส่วนกฎมณเฑียรบาลบทที่ 113 ก็มีความว่า “อนึ่ง ธรงพระโกรธแก่ผู้ใด แลตรัสเรียกพระแสง อย่าให้เจ้าพนักงานยื่น ถ้ายื่นให้โทษถึงตาย” อันนี้ก็สอดรับกับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ ดังที่กล่าวแล้ว กับข้อที่ 7 คือ อักโกธะ อันหมายถึงการไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อผู้ใด

Advertisement