การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ในอดีตมีแนวคิดอันเป็นมูลฐานต่อการเกิดและพัฒนาการของแนวคิดทางกฎหมายอย่างไรบ้าง และให้นักศึกษาพิจารณาว่าแนวคิดปรัชญากฎหมาย ธรรมชาติร่วมสมัยมีสวนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอุดมคติทางกฎหมายในอดีตหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

– ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ปรากฏตัวขึ้นในลักษณะที่เป็นการแสดงออกซึ่งความบันดาลใจ ของมนุษย์ ที่มุ่งมั่นจะค้นหาหลักการอันสูงส่งซึ่งเป็นกฎหมายอุดมคติที่จะคอยกํากับกฎหมายลายลักษณ์อักษร ของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นอภิปรัชญา หรือที่เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ นั่นเอง

ซึ่งแนวคิดตามหลักกฎหมายธรรมชาตินั้น เชื่อว่า มีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่แน่นอนอยู่ อันเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และความยุติธรรมภายในกฎหมาย ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการ ของกฎหมายธรรมชาติ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติตามความหมายในทางทฤษฎีจะแบ่งออกเป็น 2 นัย ได้แก่

ทฤษฎีแรก เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคโบราณจนถึงยุคกลาง ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเอง ดังนั้น กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นแล้วขัดหรือแย้งต่อกฎหมายธรรมชาติย่อมไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย

ทฤษฎีที่สอง เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่าหลักกฎหมายธรรมชาติเป็น เพียงอุดมคติของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้น ดังนั้นการบัญญัติหรือตรากฎหมายจึงควรให้สอดคล้องกับหลัก กฎหมายธรรมชาติ กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายธรรมชาติอาจถือว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมาย โดยสมบูรณ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นโมฆะหรือไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายเสียเลย ผลงใจ พัฒนาการของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ได้แก่

1 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมัน

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมันอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อน คริสตกาล ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยประมาณ ซึ่งว่ากันว่ากฎหมายธรรมชาตินี้พบเป็นเรื่องเป็นราวจากเฮราคลิส นักปรัชญาชาวกรีกที่มีอายุในช่วง 540 – 480 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขาไปค้นหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะ ความจริงเกี่ยวกับแก่นสารของชีวิตและสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปออกมาคือ ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง แก่นสารของชีวิตคือธรรมชาติและแก่นสารของชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยจุดหมายปลายทาง ระเบียบและเหตุผลอันแน่นอนซึ่งไม่อาจผันแปรได้

2 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลาง

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 12 โดยประมาณ ส่วนยุคกลางอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 16 โดยประมาณ ในยุคนี้กฎหมายธรรมชาติถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น แบบคริสเตียน (คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติก็เปลี่ยนไปอิงอยู่กับคําสอนทางศาสนา หรือบัญชาของพระเจ้า เนื่องจากเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรขึ้นมามีอํานาจเหนือฝ่ายอาณาจักร โดยยืนยันได้จาก ความคิดของเซนต์ ออกัสติน ที่ว่า “กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”

3 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 โดยประมาณ ส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยประมาณ ยุคนี้สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนไป ฝ่ายอาณาจักรขึ้นมา มีอํานาจและสลัดตัวออกจากศาสนจักรได้สําเร็จ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเองก็สามารถสลัดตัวออกจากคริสต์ ศาสนาเช่นกัน รูปแบบความคิดก็กลับไปเป็นแบบเหตุผลนิยม คล้าย ๆ กับปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้มีการพัฒนาเรื่องสิทธิธรรมชาติของมนุษย์โดยการเพิ่ม บทบาทความคิดแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้นในตัว โดยผ่านนักคิดหลาย ๆ คนในยุคนี้ เช่น พูเฟนดอร์ฟ, โทมัส ฮอบส์, สปินโนซ่า, จอห์น ลอค, มองเตสกิเออ, รุสโซ, วูล์ฟ เป็นต้น ซึ่งผลโดยรวมที่ได้ก็คืออิทธิพลโดยผ่านนักคิดเหล่านี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้นําไปสู่การเน้นเนื้อหากฎหมายที่เป็นธรรม, นําไปสู่ข้อยืนยันว่ากําลังหรืออํานาจไม่ใช่ ที่มาของกฎหมายหรือความถูกต้อง นับเป็นการเข้าไปต่อต้านเผด็จการหรือการกดขี่, สนับสนุนเรื่องความเสมอภาค ของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย มีส่วนแก้ไขให้บทลงโทษทางอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น และที่สําคัญคือเป็นที่มาหรือรากฐานหรือหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นยุคแห่งเหตุผล” เนื่องจาก อิทธิพลความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ครอบงําไปทั่วยุโรป

4 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคชาติรัฐนิยม

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่ง กฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ได้เสื่อมความนิยมลงในช่วงหนึ่งแล้วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตอนท้าย

เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมนั้นเป็นเพราะว่า เกิดกระแสสูง ของลัทธิชาตินิยมเข้ามาบดบังลัทธิปัจเจกนิยมที่เป็นแกนกลางสําคัญของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ และเพราะความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาทแบบวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานทําให้เกิด ลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ซึ่งได้รับ ความนิยมอย่างมากจนปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องของศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่าจะเป็น กฎหมายอันแท้จริงของรัฐ

ส่วนสาเหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือขึ้นมา อีกครั้งในตอนท้ายนั้นเป็นเพราะว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ปฏิฐานนิยม ทางกฎหมายก็ถูกนําไปใช้สนับสนุนเรื่องอํานาจนิยม การใช้อํานาจโดยมิชอบ ที่สําคัญก็คือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ก็มีที่มาจากการเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิด ๆ ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมของกฎหมายธรรมชาติ หรือระบบคิดแบบอุดมคตินิยมจึงปรากฏความสําคัญขึ้นอีกครั้ง

5 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย) ในยุคปัจจุบันปรัชญากฎหมายธรรมชาติจะมีบทบาทอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ

1) ในแง่ที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม คือ เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมาย หรือยืนยันในความเชื่อมั่น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่จําต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่าง ๆ

2) ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่สิทธิทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

– ที่สําคัญคือ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอม มากขึ้น กล่าวคือ ไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติหรือหลักความยุติธรรมต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ ตามความคิดแบบเก่า ซึ่งตรงนี้ก็ปรากฏจากความคิดของจอห์น ฟินนีส นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่ บอกว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมายที่ ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอํานาจผูกมัดทางมโนธรรม” ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ หน้าที่ทางศีลธรรม ที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงอาจจําต้องมีอยู่หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จะนํามาซึ่ง ความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมเสียส่วนมาก

เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปรัชญากฎหมายธรรมชาติทั้ง 5 ยุค จะเห็นได้ว่ายุคโบราณนักปราชญ์พยายามค้นหาแก่นแท้ของกฎหมาย ซึ่งพอสรุปได้ว่า กฎหมายเป็นเหตุผลตาม ธรรมชาติ จนกระทั่งยุคต่อมาที่ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง หลักคิดของกฎหมายจึงอยู่ที่ความเป็นเอกภาพของโลกและ จักรวาลกับหลักกฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเสมือนโองการของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งภายหลังก่อให้เกิด ข้อกังขาถึงการพิสูจน์ความเป็นกฎหมายที่แท้จริง ทําให้ปรัชญากฎหมายอื่นขึ้นมามีบทบาทสําคัญแทนที่ปรัชญา กฎหมายธรรมชาติ จนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เป็นแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่มีแนวคิดในการให้ ความสําคัญกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายและพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ให้ความสําคัญกับศีลธรรม และสิทธิมนุษยชน

จากการที่ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในอดีตมีส่วนที่ทําให้เห็นถึงการมองกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในฐานะ ที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีการปกครองโดยผู้ปกครองอาศัยอํานาจภายใต้การปกครองของตน สิ่งที่ประชาชน แสวงหาคือความเป็นธรรมและความยุติธรรม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กําหนดขึ้นในสังคมควรกําหนดโดยมีพื้นฐานจาก อํานาจหรือเหตุผลของมนุษย์ที่ถือเป็นธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่และสามารถเข้าใจได้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติจึงเป็น อุดมคติในทางกฎหมายที่เป็นมูลฐานสําคัญจากแนวคิดนักกฎหมายในยุคกรีกเป็นต้นมาจนมีพัฒนาการถึง 5 ยุค ในแต่ละยุคก็มีลักษณะที่ทําให้เห็นถึงแนวคิดทางกฎหมายที่นําไปกําหนดสร้างกฎหมายในการปกครองบ้านเมือง ในยุคสมัยนั้น ๆ และจากพัฒนาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแนวคิดทางกฎหมายที่สําคัญและมีบทบาทต่อการกําหนด สร้างกฎหมายในบ้านเมืองต่าง ๆ ต่อมา

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยเป็นแนวคิดกฎหมายธรรมชาติที่มีการพัฒนาแนวคิดทาง กฎหมายที่มีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกและโรมัน คือมีเนื้อหาและ หลักการที่มีความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับวิธีคิดร่วมสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการเข้าสู่แนวคิดแบบชุมชนนิยมที่มีลักษณะก้าวหน้า แต่ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย ยังคงลักษณะที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรมและทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง โดยแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติให้ความสําคัญกับ สิทธิมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันที่หลายประเทศให้ความสําคัญ และกําหนด อยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในด้านอุดมคติเชิงจริยธรรม แสดงออกที่ความคิดและความเชื่อถือเรื่องอุดมคติที่อยู่เหนือ กฎหมายของรัฐ หรือกฎหมายของรัฐควรบัญญัติให้สอดคล้องทั้งในด้านคุณธรรมและความยุติธรรมในฐานะที่เป็น จุดหมายปลายทางแห่งกฎหมาย ความสัมพันธ์กับกฎหมายและความยุติธรรม ความเป็นอุดมคติที่มีความแน่นอนเป็น สากล ใช้ได้ทุกสถานที่ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เป็นกฎหมายธรรมชาติในเชิงปฏิบัติ และมีลักษณะของ ความผ่อนปรน ประนีประนอมมากขึ้นกว่ากฎหมายธรรมชาติอันมีลักษณะอุดมคติแบบเก่าในอดีต

 

ข้อ 2. ทฤษฎีทางกฎหมายของสํานักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological School of Law) มีที่มาอย่างไร

และให้นักศึกษาอธิบายว่าที่มาดังกล่าวมีส่วนสําคัญต่อการกําหนดกฎหมายของสํานักคิดนี้อย่างไร และให้นักศึกษาเปรียบเทียบเชิงวิเคราะห์ระหว่างทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological School of Law) กับแนวคิดสัจนิยมทางกฎหมาย (Legal Realism) ในส่วนของความแตกต่างกันเชิงแนวคิดทางกฎหมาย

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) หมายถึง การนําเอาสังคมวิทยา ไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้ก็จะนําไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก มีที่มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมโดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุนและ ผู้ใช้แรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง จึงทําให้เกิดแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาขึ้น โดยมีหลักการ คือ การนํากฎหมายมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ สังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม และเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิด ความสมดุล

จากที่มาดังกล่าวมีส่วนสําคัญต่อการกําหนดกฎหมาย โดยมีบุคคลสําคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิด นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคือ รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง และรอสโค พาวด์ โดยเยียริ่งเน้นความสําคัญของวัตถุประสงค์ โดยถือว่าวัตถุประสงค์เป็นผู้สร้างกฎหมายทั้งหมด ไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายใด ๆ ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ กฎหมาย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระทําของมนุษย์ ต้นเหตุสําคัญของกฎหมายอยู่ที่การเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนอง ความต้องการของสังคม วัตถุประสงค์ของกฎหมายอยู่ที่การปกป้องหรือขยายการปกป้องผลประโยชน์ของสังคม เยียริ่งแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภทคือ

– ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล

– ผลประโยชน์ของรัฐ

– ผลประโยชน์ของสังคม

บทบาทของกฎหมายในแนวของเยียริง จึงเป็นเรื่องของบทบาททางสังคมของกฎหมายใน การสร้างความสมดุลหรือการจัดลําดับขั้นของความสําคัญระหว่างผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลกับผลประโยชน์ ของสังคม

ในส่วนของรอสโค พาวด์ แนวความคิดทางกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงของสังคมอเมริกันที่มี ความเปลี่ยนแปลงจึงตระหนักต่อปัญหาบทบาทของกฎหมายในสังคม และรับอิทธิพลทางความคิดของเยียริ่งที่ เน้นบทบาทหน้าที่ของกฎหมาย และเห็นว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุล เขาอธิบายถึงวิธีการคานผลประโยชน์ด้วยการสร้างกลไกต่าง ๆ ซึ่งการคานผลประโยชน์ ในสังคมให้เกิดความสมดุลเหมือนการก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม ซึ่งต่อมาเรียกว่า ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม พาวด์ แบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท คล้ายกับเยียริ่ง ได้แก่

– ผลประโยชน์ของปัจเจกชน

– ผลประโยชน์ของมหาชน

– ผลประโยชน์ของสังคม

วิธีการของการนํากฎหมายมาใช้ พาวด์มอบให้เป็นหน้าที่ของนักกฎหมายที่เกิดจากทฤษฎี วิศวกรรมทางสังคมของพาวด์ โดยเน้นภารกิจของนักกฎหมายในการจัดระบบผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้สมดุลโดย กลไกทางกฎหมายคล้ายกับการเป็นนักวิศวกรรมสังคมที่มุ่งสร้างโครงสร้างสังคมใหม่อันมีประสิทธิภาพในการ ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุดโดยให้เกิดการร้าวฉานหรือสูญเสียน้อยที่สุด

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยากับแนวคิดสัจนิยม ทางกฎหมายในส่วนของแนวคิดสัจนิยมทางกฎหมาย โดยเฉพาะแนวคิดสัจนิยมอเมริกัน มีแนวคิดในการ พิจารณากฎหมายในมุมมองของความเป็นจริงของกฎหมาย โดยเฉพาะลักษณะของกฎหมายที่ไม่ตายตัว ไม่อาจ คาดคะเนได้ รวมถึงความบกพร่องในตรรกวิธี ความกํากวมในภาษาของกฎหมาย การใช้วิธีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และปัญหาต่อกฎหมายและการใช้ดุลพินิจของศาล

ในภาพรวมของแนวคิดสัจนิยมจึงให้ความสําคัญต่อคําพิพากษาของศาล จากจุดยืนของนัก กฎหมายในแนวสัจนิยมอเมริกัน จึงมองว่ากฎหมายคือ สิ่งที่เป็นรูปธรรมจากการใช้ การตีความให้เกิดขึ้นตาม ความเป็นจริงโดยผู้พิพากษา

หากเปรียบเทียบแนวความคิดของสองสํานักคิดนี้มีความแตกต่างกัน โดยแนวคิดนิติศาสตร์ เชิงสังคมวิทยามองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและใช้วิธีการทางสังคมวิทยาเพื่อสร้างและกําหนดกฎหมายที่ เหมาะสมเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาโดยมีวัตถุประสงค์เป็นที่มาของกฎหมาย แต่แนวคิดสัจนิยมทางกฎหมายมี ปัญหาต่อกฎหมายและแสวงหากฎหมายในความเป็นจริง ซึ่งสัจนิยมมองว่าตัวบทกฎหมายยังไม่ใช่กฎหมายที่ แท้จริง กฎหมายที่แท้จริงต้องผ่านกระบวนการในการใช้ การตีความ หรือถูกนําไปใช้ในทางปฏิบัติผ่านศาลหรือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายตามมุมมองของนักสัจนิยมแต่ละคน

 

ข้อ 3. ปรัชญากฎหมายไทยในอดีตนั้นมีความสัมพันธ์กับหลักความเชื่อทางศาสนาหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยในอดีตจะมีความสัมพันธ์กับหลักความเชื่อทางศาสนาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมนั้นจะตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกันก็ถูกทับซ้อนด้วย ความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู หลักเทวราช และความเป็นจริยธรรม การเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็นกระแสหลัก ในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยม แบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

และเมื่อมีการปฏิรูปสังคมไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 – 4) ปรัชญา กฎหมายไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่สําคัญ กล่าวคือ กฎหมายยังถือว่ายึดถือแนวคิดแบบธรรมนิยม แต่จะ เน้นการอธิบายหลักธรรมหรือพฤติกรรมในแง่ของความมีเหตุผล หรือการหาคําตอบจากความคิดดั้งเดิม ไม่ยึดถือ เพียงแนวคิดในเชิงไสยศาสตร์งมงายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าปรัชญากฎหมายไทยในอดีตนั้นมีความสัมพันธ์กับหลักความเชื่อทาง ศาสนา คือการที่ปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมนั้นจะตั้งอยู่บนแนวคิดแบบธรรมนิยม ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหลักจตุรธรรม แห่งปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลัก ทศพิธราชธรรม

เหตุที่ทําให้มีการสรุปยืนยันว่าปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ในการ ปกครองบ้านเมือง และสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ ก็เพราะว่านอกจากกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรมแล้ว พระมหากษัตริย์ยังต้องตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรมอันมีค่าเป็นธรรมะ 10 ประการ ที่ทําหน้าที่ควบคุมการใช้พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ด้วย

Advertisement