การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้อธิบายแนวคิดเชิงอุดมคติทางกฎหมายของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ และให้เปรียบเทียบการยอมรับสิทธิพื้นฐานตามธรรมชาติกับศีลธรรมภายในกฎหมายภายใต้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติกับปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ปรากฏตัวขึ้นในลักษณะที่เป็นการแสดงออกซึ่งความบันดาลใจ ของมนุษย์ ที่มุ่งมั่นจะค้นหาหลักการอันสูงส่งซึ่งเป็นกฎหมายอุดมคติที่จะคอยกํากับกฎหมายลายลักษณ์อักษร ของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นอภิปรัชญา หรือที่เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ นั่นเอง

ซึ่งแนวคิดตามหลักกฎหมายธรรมชาตินั้น เชื่อว่า มีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่แน่นอนอยู่ อันเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และความยุติธรรมภายในกฎหมาย ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับ หลักการของกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาแล้วขัดหรือแย้งต่อหลักกฎหมายธรรมชาติ อาจถือว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่กฎหมายที่ออกโดยคณะปฏิวัตินั้น ตามหลักทฤษฎีของปรัชญากฎหมายธรรมชาติจะมีแนวคิดว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์และไม่มีความชอบธรรม เพราะเมื่อพิจารณาในเชิงจริยธรรมและทางศีลธรรมแล้ว ไม่มีความยุติธรรม ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์

สําหรับปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย มีแนวคิดที่มีหลักสวนกลับหรือโต้ตอบกลับ หลักกฎหมายธรรมชาติ โดยมองว่ากฎหมายเป็นผลผลิตหรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยอํานาจปกครองในสังคม กล่าวคือ กฎหมาย คือ คําสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ที่มีสภาพบังคับ ซึ่งกําหนดมาตรฐานความประพฤติให้กับผู้อยู่ใต้อํานาจ ปกครองของตน ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามแล้วจะต้องได้รับโทษ โดยกฎหมายที่ว่านี้ไม่ต้องอาศัยที่มาจากจารีตประเพณี ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติมาเป็นที่มาของกฎหมายแต่อย่างใด และ กฎหมายย่อมแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดกับจริยธรรมหรือศีลธรรมต่าง ๆ

ดังนั้นตามทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย จึงถือว่า คําสั่งหรือกฎหมายที่ออกโดยคณะปฏิวัติ เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์ โดยถือว่าเมื่อคณะปฏิวัติก่อการสําเร็จก็ย่อมถือได้ว่าเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีอํานาจ ในการออกกฎหมายโดยชอบธรรม

 

ข้อ 2. ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยามีแนวคิดที่สําคัญในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเป้าหมายในการกําหนดกฎหมายขึ้น ให้นักศึกษาอธิบายที่มาของแนวคิด ดังกล่าว ตลอดจนเนื้อหาสาระของแนวคิดนี้โดยสังเขป และให้อธิบายทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมของ รอสโค พาวด์ ในส่วนของบทบาทนักกฎหมายและภารกิจของนักกฎหมาย พร้อมแสดงความคิดเห็นประกอบว่านักศึกษาเห็นด้วยกับหลักคิดของพาวด์ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) หมายถึง การนําเอาสังคมวิทยา ไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้ก็จะนําไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก มีที่มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมโดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุนและ ผู้ใช้แรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง จึงทําให้เกิดแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาขึ้น โดยมีหลักการ คือ การนํากฎหมายมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ สังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม และเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิด ความสมดุล

บุคคลสําคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคือ รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง และ รอสโค พาวด์ โดยเยียริ่งเน้นความสําคัญของวัตถุประสงค์ โดยถือว่าวัตถุประสงค์เป็นผู้สร้างกฎหมายทั้งหมด ไม่มี กฎเกณฑ์ทางกฎหมายใด ๆ ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ กฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระทําของมนุษย์ ต้นเหตุสําคัญ ของกฎหมายอยู่ที่การเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม วัตถุประสงค์ของกฎหมายอยู่ที่การปกป้องหรือขยายการปกป้องผลประโยชน์ของสังคม เยียริ่งแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภทคือ

– ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล

– ผลประโยชน์ของรัฐ

– ผลประโยชน์ของสังคม

บทบาทของกฎหมายในแนวของเยียริ่ง จึงเป็นเรื่องของบทบาททางสังคมของกฎหมายในการสร้างความสมดุลหรือการจัดลําดับขั้นของความสําคัญระหว่างผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลกับผลประโยชน์ของสังคม

ในส่วนของรอสโค พาวด์ แนวความคิดทางกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงของสังคมอเมริกันที่มี ความเปลี่ยนแปลงจึงตระหนักต่อปัญหาบทบาทของกฎหมายในสังคม และรับอิทธิพลทางความคิดของเยียริงที่ เน้นบทบาทหน้าที่ของกฎหมาย และเห็นว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุล เขาอธิบายถึงวิธีการคานผลประโยชน์ด้วยการสร้างกลไกต่าง ๆ ซึ่งการคานผลประโยชน์ ในสังคมให้เกิดความสมดุลเหมือนการก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม ซึ่งต่อมาเรียกว่า ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม พาวด์ แบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท คล้ายกับเยียริ่ง ได้แก่

– ผลประโยชน์ของปัจเจกชน

– ผลประโยชน์ของมหาชน

– ผลประโยชน์ของสังคม

วิธีการของการนํากฎหมายมาใช้ พาวด์มอบให้เป็นหน้าที่ของนักกฎหมายที่เกิดจากทฤษฎี วิศวกรรมทางสังคมของพาวด์ โดยเน้นภารกิจของนักกฎหมายในการจัดระบบผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้สมดุลโดย กลไกทางกฎหมายคล้ายกับการเป็นนักวิศวกรรมสังคมที่มุ่งสร้างโครงสร้างสังคมใหม่อันมีประสิทธิภาพในการ ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุดโดยให้เกิดการร้าวฉานหรือสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งนักนิติศาสตร์มี ภารกิจที่สําคัญ 6 ประการคือ

1 ศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงของสถาบันทางกฎหมายและทฤษฎีกฎหมาย

2 ศึกษาเชิงสังคมวิทยาในเรื่องการตระเตรียมการนิติบัญญัติ โดยเฉพาะในเรื่องผลของการนิติบัญญัติเชิงเปรียบเทียบ

3 ศึกษาถึงเครื่องมือหรือกลไกที่จะทําให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพ

4 ศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายในเชิงสังคมวิทยา ด้วยการตรวจพิสูจน์ดูว่า ทฤษฎีกฎหมายต่าง ได้ส่งผลลัพธ์ประการใดบ้างในอดีต

5 สนับสนุนให้มีการตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและยุติธรรม และ

6 พยายามทําให้เกิดการบรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีผลมากขึ้น

และจากประเด็นหลักการนําเสนอทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของเยียริ่ง และรอสโค พาวด์ นั้น จะเห็นได้ว่านักกฎหมายทั้งสองท่าน มีจุดประสงค์ต้องการให้กฎหมายมีความสําคัญในการถูกนําไปใช้เพื่อแก้ไข ปัญหาของสังคมนั่นเอง

และจากทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาตามแนวความคิดของรอสโค พาวด์ ที่ว่ากฎหมาย เป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมเพื่อให้เกิดความสมดุล และวิธีการคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม ทําได้โดยการสร้างกลไกต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งการสร้างกลไกต่าง ๆ ขึ้นมานั้น ย่อมหมายความรวมถึงการสร้าง ระบบกฎหมายและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้วย โดยเน้นการส่งเสริมให้กฎหมายมีบทบาทในการควบคุมระเบียบ ของสังคมเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นจากทฤษฎีดังกล่าวของรอสโค พาวด์ ข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยเพราะ สามารถนํามาใช้ในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทยในปัจจุบัน (รวมทั้งให้มีการผลักดันให้มีการตรากฎหมาย ใหม่ ๆ) ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพื่อให้กฎหมายไทยนั้นเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีความยุติธรรม มุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ (มิใช่กฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือ หรือเพื่อ ประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะทําให้กฎหมายขาดความยุติธรรม ขาดความศักดิ์สิทธิ์ ขาดความเคารพเชื่อมั่นต่อกฎหมายนั้น)

และเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยใช้หลักทฤษฎีของรอสโค พาวด์ ดังกล่าว เช่น การปรับปรุงแก้ไขให้มีเครื่องมือหรือกลไกที่จะทําให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้มีการ ตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและมีความยุติธรรม รวมทั้งการสร้างระบบกฎหมายที่มุ่งถึงการควบคุมระเบียบของ สังคมและเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว กฎหมายไทยก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการเคารพเชื่อมั่น และยอมรับจากประชาชน

หมายเหตุ นักศึกษาสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ แต่ต้องแสดงความคิดเห็น โดยใช้หลักทฤษฎีทางกฎหมายของรอสโค พาวด์ ประกอบการอธิบายด้วย

 

ข้อ 3. หากมีผู้กล่าวว่า “ปรัชญากฎหมายไทย นับแต่อดีตมานั้นมีลักษณะเป็นแบบธรรมนิยม” ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายมาให้เข้าใจ

ธงคําตอบ

ในกรณีที่มีผู้กล่าวว่า “ปรัชญากฎหมายไทย นับแต่อดีตมานั้นมีลักษณะเป็นแบบธรรมนิยม” นั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วย

ทั้งนี้เพราะตามปรัชญากฎหมายไทยโบราณ ที่มีลักษณะเป็นปรัชญากฎหมายแบบ (พุทธ) ธรรมนิยม มีหลักสําคัญคือ ปรัชญากฎหมายไทยโบราณมิได้มาจากความคิดของนักปราชญ์ที่เป็นสามัญชน แต่ผูกพันอยู่กับ ศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธอย่างแน่นแฟ้น และมีความผูกพันกับรัฐอย่างแยกไม่ออก คือมีความผูกพันกับรัฐ โดยผ่านการเชื่อมโยงทางศาสนา จึงทําให้ปรัชญากฎหมายไทยโบราณจะผูกติดอยู่กับตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้ปกครองที่ เป็นผู้นําสูงสุดของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ และผูกติดอยู่กับตัวระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยนัยนี้ความจํากัด แห่งตัวบุคคล (พระมหากษัตริย์) หรือตัวระบบสังคมการเมืองย่อมส่งผลถึงการใช้การตีความปรัชญากฎหมาย ดังกล่าวอย่างยิ่งโดยเฉพาะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นระบบปิดในทางการเมือง (ไม่เป็นประชาธิปไตย) มีแนวโน้มจะเปิดช่องให้ผู้ปกครองอ้างธรรมะ ความสอดคล้องในธรรมะกับกฎหมายได้ง่าย โดยไม่มีระบบตรวจสอบ หรือโต้แย้งที่เปิดเผยแท้จริง เว้นแต่การตรวจสอบโดยธรรมชาติจากกลุ่มอํานาจขุนนางที่แวดล้อมพระมหากษัตริย์ ธรรมะที่ว่านี้ก็เช่น หลักทศพิธราชธรรม หลักจตุรธรรม เป็นต้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม มีปรากฏในหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร 4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

Advertisement