การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้นักศึกษาอธิบายแนวความคิดของลีออง ดิว (Leon Duguit) ในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) และให้วิจารณ์ว่าแนวคิดของดิวก็มีความแตกต่างกับทฤษฎีวิศวกรรม ทางสังคม (Social Engineering Theory) และทฤษฎีผลประโยชน์ (The Theory of Interest) ของรอสโค พาวด์ (RosCoe Pound) อย่างไร และให้แสดงความคิดเห็นว่าแนวคิดของลีออง ดิว สามารถนํามาปรับใช้เพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) หมายถึง การนําเอาสังคมวิทยา ไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้ก็จะนําไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก มีที่มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมโดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุนและ ผู้ใช้แรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง จึงทําให้เกิดแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาขึ้น โดยมีหลักการ คือ การนํากฎหมายมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ สังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม และเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิด ความสมดุล

นักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคนสําคัญหลายท่านได้แสดงแนวความคิดต่อทฤษฎีนี้อย่าง กว้างขวาง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

– แนวความคิดของลีออง ดิวกี้ (leon [Duguit)

ดิว (Duguit) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ ในประเทศฝรั่งเศส เขาได้เสนอ “ทฤษฎีว่าด้วยความสมานฉันท์ของสังคม” โดยได้รับอิทธิพลความคิดของเยียริ่ง เกี่ยวกับทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา อธิบายบทบาทของกฎหมายทั้งหมดในแง่ของการปกป้องผลประโยชน์ ของสังคม การปฏิเสธแนวคิดดั้งเดิมเรื่องธรรมชาติของรัฐ อํานาจอธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

ทฤษฎีว่าด้วยความสมานฉันท์ของสังคมของดิวกี้มีจุดเริ่มจากเรื่องความสมานฉันท์ของสังคม โดยผ่านรูปการแบ่งแยกแรงงาน และอิงอยู่กับวิธีคิดแบบปรัชญาปฏิฐานนิยมที่มุ่งการเข้าสู่ปัญหาสังคมจากความ เปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ บนพื้นฐานของความต้องการและการทํางานใช้ชีวิตที่ สอดคล้องกลมกลืนกัน เฉกเช่นวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมได้นํามาสู่ลักษณะความสมานฉันท์ อันมีรูปแบบใหม่ มีลักษณะคล้ายเป็นการรวมตัวขององคาพยพต่าง ๆ ดังนั้นในแง่ของกฎหมายหลักนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือชั้นหนึ่ง ในสังคมที่คอยรักษาและควบคุมการทํางานของระบบการแบ่งงานในสังคมที่ซับซ้อน ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงกันอย่าง ใกล้ชิดได้ก็สามารถดําเนินวิถีชีวิตในสังคมภายใต้กฎหมายอันนี้ได้อย่างราบรื่น

การจัดองค์กรหรือระเบียบทั้งหมดในสังคมจึงควรต้องมุ่งสู่การร่วมมือกันอย่างเต็มพร้อมและ ราบรื่นมากขึ้นระหว่างประชาชน และเรียกว่า “หลักความสมานฉันท์ของสังคม” ซึ่งอาจจัดเป็นเสมือนหลักนิติธรรม ที่สมบูรณ์สูงสุดและไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้านต่อความเป็นภววิสัย

ดิวกี้เน้นเรื่องการกระจายอํานาจของรัฐ โดยเน้นหลักเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐ ปฏิเสธ เรื่องกลไกของรัฐที่มีลักษณะรวมศูนย์อํานาจให้ความสําคัญต่อการตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อการใช้อํานาจรัฐ ที่มิชอบ และถือว่ารัฐไม่ใช่เป็นสิ่งจําเป็นที่ขาดไม่ได้ ดิวก็ปฏิเสธการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกฎหมาย เอกชนและกฎหมายมหาชน โดยเห็นว่ากฎหมายมหาชนเท่านั้นที่ควรจะใช้ในการบริหาร

นอกจากนั้นดิวกี้ก็ยังปฏิเสธการดํารงอยู่เรื่อง สิทธิ (Rights) ส่วนตัว นับว่าเป็นการเน้นเรื่อง ประโยชน์ของสังคมอย่างเดียว ปฏิเสธความแตกต่างของกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน ยังผลให้การใช้ สิทธิเสรีภาพทางแพ่งหรือทางทรัพย์สินก็ต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมด้วย

แนวความคิดของรอสโค พาวด์ (Roscoe Pound)

รอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาให้มีรายละเอียด เพิ่มขึ้นในเชิงปฏิบัติ โดยพาวด์ได้สร้างทฤษฎีผลประโยชน์ (The Theory of Interest) ที่รู้จักกันในนามทฤษฎี วิศวกรรมทางสังคม (Social Engineering Theory) ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม ให้เกิดความสมดุล

– เขาให้ความหมายของผลประโยชน์ว่าคือ “ข้อเรียกร้อง, ความต้องการ หรือความปรารถนา ที่มนุษย์ต่างยืนยันเพื่อให้ได้มาอย่างแท้จริง และเป็นภารกิจที่กฎหมายต้องกระทําการอันใดอันหนึ่ง เพื่อสิ่งเหล่านี้ หากต้องการธํารงไว้ซึ่งสังคมอันเป็นระเบียบเรียบร้อย”

พาวด์ แบ่งประเภทของผลประโยชน์ตามแนวคิดของเขาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1 ผลประโยชน์ของปัจเจกชน คือ ข้อเรียกร้องความต้องการ ความปรารถนา และความคาดหมายในการดํารงชีวิตของปัจเจกชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ด้านบุคลิกภาพส่วนตัว ครอบครัวและทรัพย์สิน ฯลฯ

2 ผลประโยชน์ของมหาชน คือ ขอเรียกร้องความต้องการ หรือความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดํารงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

3 ผลประโยชน์ของสังคม คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการหรือความปรารถนาที่พิจารณา จากแง่ความคาดหมายในการดํารงชีวิตทางสังคม อันรวมถึงผลประโยชน์ในแง่ความปลอดภัย ศีลธรรม ความก้าวหน้าทั่วไป ฯลฯ

ทฤษฎีของพาวด์ให้ความสําคัญกับการแก้ไขปัญหาสังคมโดยมองปัญหาสังคมจากโครงสร้าง และฐานรากเดิมที่มีอยู่ โดยมุ่งปรับสังคมใหม่โดยการถ่วงดุลกันของผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายให้เกิดความสมดุล ดังนั้นพาวด์จึงสร้างทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมและทฤษฎีผลประโยชน์ โดยมอบหน้าที่ของนักกฎหมายให้ เปรียบเสมือนวิศวกรสังคมที่มีภารกิจในการที่จะต้องลงไปศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมองที่โครงสร้าง ของสังคมปัจจุบัน และออกแบบโครงสร้างของสังคมใหม่ที่มีปัญหาน้อยที่สุด การศึกษาดังกล่าวต้องประกอบด้วย การศึกษาทฤษฎีผลประโยชน์ ได้แก่ ผลประโยชน์ของปัจเจกชน ผลประโยชน์ของมหาชน และผลประโยชน์ของสังคม ซึ่งเมื่อศึกษาและได้ทราบถึงผลประโยชน์ คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ ความคาดหมาย ของแต่ละฝ่ายแล้ว ต้องนํามาชั่งน้ำหนักเพื่อถ่วงดุลผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย โดยจะต้องให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง น้อยที่สุด และเติมเต็มผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลงตัว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวความคิดของดิวก็ในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาจะแตกต่างกับ ทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคม และทฤษฎีผลประโยชน์ของรอสโค พาวด์ ตรงที่ว่า แนวความคิดของดิวก็ค่อนข้างโอนเอียง ไปกับความคิดสังคมนิยม เป็นแนวความคิดของการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก โดยเน้นเรื่องความ สมานฉันท์ของสังคมโดยผ่านรูปการแบ่งแยกแรงงาน บนพื้นฐานของความต้องการและการทํางานใช้ชีวิตที่สอดคล้อง กลมกลืนกัน เฉกเช่นวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรม ปฏิเสธแนวความคิดดั้งเดิมเรื่องธรรมชาติของรัฐ อํานาจอธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล แต่แนวความคิดของรอสโค พาวด์ นั้น ไม่ได้เน้นที่การปกป้องผลประโยชน์ของ สังคมเท่านั้น แต่เป็นแนวความคิดที่ให้ความสําคัญกับการแก้ไขปัญหาสังคมโดยมุ่งปรับสังคมใหม่โดยการถ่วงดุลกัน ของผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายให้เกิดความสมดุล ซึ่งได้แก่ ผลประโยชน์ของปัจเจกชน ผลประโยชน์ของมหาชน และผลประโยชน์ของสังคม โดยพิจารณาถึงข้อเรียกร้องความต้องการ ความคาดหมายของแต่ละฝ่าย และจะต้อง ให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งน้อยที่สุด และเติมเต็มผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลงตัว

เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความแตกต่างทางความคิด และมีความพยายาม นําหลักการสมานฉันท์มาใช้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงแนวความคิดของดิวกี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นแนวความคิดที่เน้นถึง ความสมานฉันท์ของสังคม โดยการเสนอความหมายของความสมานฉันท์ว่า เป็นการทําให้ความต้องการของมนุษย์ที่ แตกต่างกันปรับตัวเข้าหากันได้ และหากมีการเชื่อมโยงความสลับซับซ้อนของสังคมให้สัมพันธ์กันได้ก็จะสามารถ ดําเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น สงบสุข ดังนั้นแนวคิดของลีออง ดิวกี้ จึงสามารถนํามาปรับใช้เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ เพียงแต่การนําแนวทางของความสมานฉันท์มาปรับใช้นั้นต้องสอดคล้องกับแนวคิดของ ลีออง ดิวกี้ ด้วย กล่าวคือ จะนําเหตุผลมาใช้ไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่แตกต่างกันจากสภาพโครงสร้างของ สังคมที่ซับซ้อน การแก้จึงต้องเริ่มที่ใจ ทั้งการจัดองค์กรหรือระเบียบทั้งหมดในสังคมต้องมุ่งสู่การร่วมมือกันอย่าง เต็มพร้อม และประชาชนทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะผู้นําประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรี จะต้องมีบทบาทในการสร้างความสมานฉันท์

 

ข้อ 2. การดื้อแพ่งกฎหมายของประชาชน (Civil Disobedience) หมายถึงอะไร มีเงื่อนไขแห่งความชอบธรรมได้แก่อะไรบ้าง และจากการศึกษาทาที่ของสัจนิยมอเมริกัน (American Legal Realism) ในการพิจารณาความเป็นจริงของกฎหมาย นักศึกษาคิดว่าหลักการดื้อแพ่งกฎหมายของประชาชนตอบสนองต่อมุมมองปัญหาทางกฎหมายของสัจนิยมทางกฎหมาย (Realism) หรือไม่

ธงคําตอบ

การดื้อแพ่งกฎหมายของประชาชน (Civil Disobedience) หมายถึง การกระทําที่เป็นการ ฝ่าฝืนกฎหมายโดยสันติวิธี เป็นการกระทําเชิงศีลธรรม ในลักษณะของการประท้วงคัดค้านต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือต่อการกระทําของรัฐบาลที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง

จอห์น รอลส์ (John Rawls) ให้นิยามการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนว่า คือการฝ่าฝืน กฎหมายด้วยมโนธรรมสํานึก ซึ่งกระทําโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นการกระทํา ในเชิงการเมืองที่ปกติมุ่งหมายจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล

รอลส์ให้ความเห็นชอบในการซื้อแพ่งกฎหมายของประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่ง ความชอบธรรมตามที่กําหนดต่อไปนี้

1 ต้องเป็นการกระทําที่มีจุดประสงค์ของการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม อันเป็นการกระทําในเชิงการเมือง แต่ต้องมิใช่เป็นการมุ่งทําลายระบบกฎหมายทั้งหมดหรือ รัฐธรรมนูญ (Constitution Theory of Civil Disobedience)

2 ต้องเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง อันฝ่าฝืนหลักธรรมขั้นพื้นฐานหรืออิสรภาพขั้นมูลฐาน เช่น เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม (Equal Liberty)

3 ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติการซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

4 การต่อต้านกฎหมายต้องกระทําโดยสันติวิธีโดยเปิดเผย (Public Act)

จากการศึกษาสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) ในการพิจารณา ความเป็นจริงของกฎหมาย จะเห็นได้ว่าหลักการดื้อแพ่งกฎหมายของประชาชนย่อมมีผลตอบสนองต่อมุมมอง ทางกฎหมายของสัจนิยมทางกฎหมาย ดังนี้

สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) มีที่มาจากงานความคิดของ โอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Wendel Holmes) ผู้ดํารงตําแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดนับแต่ปี ค.ศ. 1902

โฮล์มส์ ไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาจะสามารถตัดสินคดีตามใจชอบ โดยมองจากประสบการณ์ การทํางานของตน ซึ่งไม่อาจปรุงแต่งกฎหมายให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ เป้าหมายสําคัญที่โฮล์มส์ วิพากษ์วิจารณ์คือ ความคิดที่เชื่อว่าบทบัญญัติทั้งหมดในกฎหมายล้วนมีเหตุผลอันชอบธรรม

โฮล์มส์ เชื่อว่า กฎหมายจํานวนมากถูกเขียนขึ้นบนบริบททางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งถูก เปลี่ยนแปลงไปแล้วในภายหลัง ดังนี้แล้วจึงสมควรให้มีการตรวจสอบทบทวนอย่างสม่ำเสมอต่อวัตถุประสงค์ของ กฎหมายว่ายังมีความเหมาะสมดีอยู่หรือไม่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะนี้จึงไม่มีกรณีใด ๆ ซึ่งสมควรกล่าวอ้าง (ตามกระบวนการอนุมานความคิด) กฎหมายว่าเป็นเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแน่นอน หากว่าในทางปฏิบัติ ศาลแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แท้จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจากความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย กับความเป็นจริงของสังคมดังนี้เองที่ทําให้เห็นว่ามีเพียงผู้พิพากษา (หรือทนายความ) ซึ่งเข้าใจดีถึงบริบททาง ประวัติศาสตร์, สังคม และเศรษฐกิจเท่านั้นจึงจะทําหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมต่อบทบาทของตน

นอกเหนือจากโฮล์มส์ ก็ยังมี จอห์น ชิบแมน เกรย์ ที่ยืนยันว่ากฎหมายประกอบด้วยกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ ซึ่งศาลยุติธรรมได้กําหนดไว้ บรรดาพระราชบัญญัติเป็นเพียงที่มาของกฎหมายดังกล่าวนี้เท่านั้น

คาร์ล ลูเวลลิน (Karl Llewellyn) ในฐานะสมาชิกคนสําคัญอีกท่านหนึ่ง กล่าวในทํานองเดียวกัน ไม่ให้ไว้วางใจนักต่อ “กฏเกณฑ์ในกระดาษ” ควรเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมหรือแบบแผนการวินิจฉัยตีความกฎหมาย ของศาลซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันตามแต่กาละและสถานที่ ตลอดจนสนใจต่อข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคําตัดสินที่ ปรากฎจริง ๆ

เยโรม แฟรงค์ (Jerome Frank) ผู้พิพากษาที่ถือว่าเขาเป็น “ผู้ที่ไม่เชื่อใจต่อข้อเท็จจริง” หมายความว่า แม้ในกรณีที่กฏเกณฑ์มีความชัดเจนง่ายดายต่อการตีความแล้วก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจส่งผล สะเทือนน้อยเต็มที่ในคําตัดสินของศาลระดับล่าง เฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบลูกขุน เนื่องจากบุคคลดังกล่าวสามารถ ยกข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ตนพึงพอใจมาปรับเข้ากับกฎเกณฑ์ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ตามที่ตนต้องการในที่สุดได้ นอกจากนี้ เหตุปัจจัยเรื่องความสมบูรณ์หรือบกพร่องของพยานหลักฐาน ความสามารถของทนายความหรือผู้พิพากษา ก็เป็นตัวกําหนดอันสําคัญต่อผลของคําพิพากษา ความลื่นไหลหรือไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมนับเป็น อุปสรรคในการคาดทํานายการตัดสินใจของศาล

นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1957 แฟรงค์ยังได้ร่วมเขียนงานชิ้นหนึ่งเรื่อง “ไร้ความผิด” (Not guilty) ซึ่งเป็นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องคดีความผิดจํานวนหนึ่ง ซึ่งบรรดาจําเลยต่างถูกตัดสินพิพากษาว่าประกอบ อาชญากรรม แต่ได้รับการตัดสินใหม่ว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในศาลชั้นหลัง การค้นพบประจักษ์หลักฐานในความไม่แน่นอน แห่งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาลและความผิดพลาดต่าง ๆ อันเกิดขึ้นได้ เหล่านี้นับเป็นเหตุผลที่ทําให้ เขาคัดค้านเรื่องการลงโทษประหารชีวิต อีกทั้งยังทําให้เขายืนยันความสําคัญของความเป็นธรรมในการพิจารณา พิพากษาคดี ซึ่งไม่อาจนําไปแลกกับประสิทธิภาพ (ความรวดเร็ว) ในทางตุลาการ

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน มีแนวความสําคัญ ที่เน้นความเป็นกฎหมายในทางปฏิบัติวิจารณ์ความไม่แน่นอนของกฎหมาย ช่องว่างของกฎหมายในตัวบทและ ความเป็นจริงในแง่การบังคับใช้ รวมทั้งวิจารณ์เบื้องหลังการใช้อํานาจของผู้พิพากษาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมว่า เบื้องหลังคําพิพากษาไม่ใช่ตัวบทกฎหมายหากส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้พิพากษาที่เกี่ยวโยงกับ การเมือง กฎหมายไม่อาจจะแยกออกจากการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมได้

ดังนั้นถ้าการพิจารณาตัดสินคดีของศาลไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายหรืออาศัยช่องว่างของ กฎหมายก่อให้เกิดความรู้สึกของคนในสังคมว่าไม่ยุติธรรมหรือไม่เป็นธรรมแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดอคติหรือความ ไม่พอใจต่อคําตัดสินนั้นและจะก่อให้เกิดการคัดค้าน การต่อต้านของคนในสังคมและจะมีผลไปถึงการคัดค้าน หรือการดื้อแพ่งกฎหมายโดยอ้างว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ไม่มีความเป็นธรรมก็ได้ และโดยเฉพาะในบางสังคมที่ถือว่า คําตัดสินของศาลเป็นที่มาของกฎหมายด้วยแล้ว เมื่อคําตัดสินของศาลไม่มีความยุติธรรม กฎหมายที่เกิดขึ้นก็ย่อม ไม่มีความชอบธรรมไปด้วย ดังนั้นถ้าสังคมใดไม่ต้องการให้เกิดการดื้อแพ่งกฎหมาย ศาลก็จะต้องตัดสินไปให้ถูกต้อง ตามตัวบทของกฎหมายหรือถ้าเห็นว่ากฎหมายใดมีบทบัญญัติที่ไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสม หรือมีข้อบกพร่อง ก็จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้กฎหมายนั้นมีความเป็นธรรมและเหมาะสมที่จะใช้บังคับกับคนในสังคมนั้น ๆ

หมายเหตุ นักศึกษาอาจแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงความคิดเห็นโดย อาศัยหลักการดื้อแพ่งกฎหมายประกอบกับแนวคิดสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน

 

ข้อ 3. ให้นักศึกษาอธิบาย “ หลักจตุรธรรม” แห่งปรัชญากฎหมายไทย ตามที่ศึกษามาให้เข้าใจ และหากเปรียบเทียบกันระหว่าง “หลักจตุรธรรม” กับ ปรัชญากฎหมายของตะวันตกที่มีหลักการที่สําคัญ ประการหนึ่งคือ “Lex iniusta non est lex” (กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมาย) นักศึกษามีความเห็นว่าคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

“หลักจตุรธรรม” นั้นถือเป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ ที่สรุปอนุมาน ขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสําคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย 4 ประการ ในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ 4 ประการ ในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก และหลัก 4 ประการนั้น ได้แก่

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร 4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ปกครอง) ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

ซึ่งหลักการทั้ง 4 ประการนี้ ถือเป็นหัวใจสําคัญของปรัชญาาฎหมายในพระธรรมศาสตร์ ซึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายธรรมชาติของฝ่ายตะวันตกแล้ว เปรียบเสมือนหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ในอุดมการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยสมัยโบราณ ภายใต้ปรัชญากฎหมายแบบพุทธธรรมนิยม โดยเรียกว่า “หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย” ซึ่งมีอิทธิพลความสําคัญต่อสังคมไทยสมัยโบราณเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณล้วนนับถือศาสนาพุทธ และ หลักทศพิธราชธรรมซึ่งเป็นหลักการข้อ 4 ของหลักจตุรธรรมก็มีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ชาดกในพุทธศาสนา จึงทําให้ พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่เลื่อมใสพุทธศาสนาต้องตั้งพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมซึ่งทําให้ผู้คนในบ้านเมือง สมัยนั้นอยู่กันอย่างสงบสุขร่มเย็น

และเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง “หลักจตุรธรรม” กับปรัชญากฎหมายของตะวันตก หรือ กฎหมายธรรมชาติที่มีหลักการที่สําคัญ คือ “Lex iniusta non est lex” หรือ “กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมาย” แล้ว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันตรงที่ว่า ตามหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย จะกําหนดให้ พระมหากษัตริย์จะต้องคํานึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ทุกคราวที่ตรากฎหมาย กล่าวคือ การตรากฎหมายจะต้อง ไม่ขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เช่น กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจมีความแตกต่างกันได้ กล่าวคือ ถ้าในกรณีเกิดมีพระมหากษัตริย์ที่ ไม่ทรงสนพระทัยต่อคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ตรากฎหมายโดยขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์หรือขัดกับหลัก จตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย เช่น ขัดกับธรรมะหรือศีลธรรม ทําให้กฎหมายไม่เป็นธรรม ดังนี้ ในทางปฏิบัติ เป็นไปได้สูงที่จะมีการดึงดันให้กฎหมายนั้นยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่ แต่ย่อมมีผู้ถือว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม

หรือเป็นกฎหมายที่เลวอยู่บ้างอย่างเงียบ ๆ และคาดเดากันว่าจะเป็นกฎหมายที่อยู่ได้ไม่นานทั้งเป็นกฎหมายที่ไม่ควร เคารพเชื่อฟัง

Advertisement