การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคโบราณและยุคปัจจุบันมีจุดร่วม และ/หรือจุดแตกต่างกันอย่างไร และในทัศนะของนักศึกษา สังคมไทยปัจจุบันควรยึดถือหลักคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3 ระดับ ในปรัชญากฎหมายธรรมชาติสมัยใหม่หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

– ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ปรากฏตัวขึ้นในลักษณะที่เป็นการแสดงออกซึ่งความบันดาลใจ ของมนุษย์ ที่มุ่งมั่นจะค้นหาหลักการอันสูงส่งซึ่งเป็นกฎหมายอุดมคติที่จะคอยกํากับกฎหมายลายลักษณ์อักษร ของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นอภิปรัชญา หรือที่เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ นั่นเอง

ซึ่งแนวคิดตามหลักกฎหมายธรรมชาตินั้น เชื่อว่า มีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่แน่นอนอยู่ อันเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และความยุติธรรมภายในกฎหมาย ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการ ของกฎหมายธรรมชาติ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติตามความหมายในทางทฤษฎีจะแบ่งออกเป็น 2 นัย ได้แก่

ทฤษฎีแรก เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคโบราณจนถึงยุคกลาง ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเอง ดังนั้น กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นแล้วขัดหรือแย้งต่อกฎหมายธรรมชาติย่อมไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย

ทฤษฎีที่สอง เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่าหลักกฎหมายธรรมชาติเป็น เพียงอุดมคติของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้น ดังนั้นการบัญญัติหรือตรากฎหมายจึงควรให้สอดคล้องกับหลัก กฎหมายธรรมชาติ กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายธรรมชาติอาจถือว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทาง กฎหมายโดยสมบูรณ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นโมฆะหรือไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายเสียเลย

จากความหมายของปรัชญากฎหมายธรรมชาติทั้ง 2 ทฤษฎีดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคโบราณและยุคปัจจุบันต่างก็ยึดมั่นในแนวคิดทางกฎหมายแบบศีลธรรมนิยม เพียงแต่ปรัชญากฎหมายยุคโบราณจะมีลักษณะอภิปรัชญาสูงและเคร่งครัดในหลักกฎหมายธรรมชาติที่กฎหมาย ของมนุษย์ไม่อาจขัดแย้งได้ ซึ่งต่างจากปรัชญากฎหมายยุคปัจจุบันที่มีลักษณะผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้น มี ความหลากหลายในคําอธิบายมากขึ้น ตลอดจนมีจุดเด่นในการเน้นศีลธรรมทางกฎหมายในลักษณะการเคารพ ต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน

สําหรับหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3 ระดับในปรัชญากฎหมายธรรมชาติสมัยใหม่ที่ประกอบด้วย ศักดิ์ศรีในระดับเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ทั้งหมด ระดับกลุ่มบุคคล และในระดับปัจเจกบุคคลนั้น สังคมไทยปัจจุบันควร ยึดถือหลักคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้ง 3 ระดับ มิใช่ยึดถือหรือเลือกปฏิบัติต่อระดับใดระดับหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น การนําหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในระดับเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ทั้งหมดมาใช้เป็นฐานของกฎหมายใน การบัญญัติกฎหมาย การออกกฎหมายเพื่อยืนยันต่อสิทธิที่จะได้รับการเคารพต่อการดํารงอยู่หรือวิถีชีวิตของมนุษย์ ระดับที่ 2 เช่น การออกกฎหมายต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ เป็นต้น และการออกกฎหมาย ที่กําหนดให้ชดเชยความเสียหายแก่บุคคล หรือการกําหนดสิทธิของบุคคลต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการเคารพต่อศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของปัจเจกบุคคล

ซึ่งในสังคมไทยปัจจุบันนั้น ในการจัดทํารัฐธรรมนูญนั้น ก็มักจะมีบทบัญญัติที่เป็นหลักการ พื้นฐานในการยึดถือและคุ้มครองหลักคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้ง 3 ระดับ เช่น บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิ์ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง” “การใช้อํานาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” เป็นต้น

 

ข้อ 2. แนวความคิดสําคัญทางนิติปรัชญาของสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) มีคุณูปการต่อการพัฒนาหรือตรวจสอบการใช้อํานาจตุลาการในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และท่ามกลางกระแสเร่งเร้าให้ใช้การลงโทษประหารชีวิตต่อความผิดร้ายแรงอย่างจริงจัง อาทิ การทุจริต คอร์รัปชัน หรือการข่มขืนกระทําชําเรา นักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใดต่อหลักการ/เหตุผล เบื้องหลังการคัดค้านเรื่องการลงโทษประหารชีวิตของนักสัจนิยมทางกฎหมายบางท่าน (J. Frank)

ธงคําตอบ

– แนวความคิดสําคัญทางนิติปรัชญาของสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) นั้น มีที่มาจากงานความคิดของ โอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Vendel Holmes) ผู้ดํารงตําแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดนับแต่ปี ค.ศ. 1902

โฮล์มส์ ไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาจะสามารถตัดสินคดีตามใจชอบ โดยมองจากประสบการณ์ การทํางานของตน ซึ่งไม่อาจปรุงแต่งกฎหมายให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ เป้าหมายสําคัญที่โฮล์มส์ วิพากษ์วิจารณ์คือ ความคิดที่เชื่อว่าบทบัญญัติทั้งหมดในกฎหมายล้วนมีเหตุผลอันชอบธรรม

โฮล์มส์ เชื่อว่า กฎหมายจํานวนมากถูกเขียนขึ้นบนบริบททางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งถูก เปลี่ยนแปลงไปแล้วในภายหลัง ดังนี้แล้วจึงสมควรให้มีการตรวจสอบทบทวนอย่างสม่ำเสมอต่อวัตถุประสงค์ของ กฎหมายว่ายังมีความเหมาะสมดีอยู่หรือไม่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะนี้จึงไม่มีกรณีใด ๆ ซึ่งสมควรกล่าวอ้าง (ตามกระบวนการอนุมานความคิด) กฎหมายว่าเป็นเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแน่นอน หากว่าในทางปฏิบัติ ศาลแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แท้จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจากความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย กับความเป็นจริงของสังคมดังนี้เองที่ทําให้เห็นว่ามีเพียงผู้พิพากษา (หรือทนายความ) ซึ่งเข้าใจดีถึงบริบททาง ประวัติศาสตร์, สังคม และเศรษฐกิจเท่านั้นจึงจะทําหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมต่อ บทบาทของตน

นอกเหนือจากโฮล์มส์ ก็ยังมี จอห์น ชิปแมน เกรย์ ที่ยืนยันว่ากฎหมายประกอบด้วยกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ ซึ่งศาลยุติธรรมได้กําหนดไว้ บรรดาพระราชบัญญัติเป็นเพียงที่มาของกฎหมายดังกล่าวนี้เท่านั้น

คาร์ล ลูเวลลิน (Karl Llewellyn) ในฐานะสมาชิกคนสําคัญอีกท่านหนึ่ง กล่าวในทํานองเดียวกัน ไม่ให้ไว้วางใจนักต่อ “กฎเกณฑ์ในกระดาษ” ควรเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมหรือแบบแผนการวินิจฉัยตีความกฎหมายของ ศาลซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันตามแต่กาละและสถานที่ ตลอดจนสนใจต่อข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคําตัดสินที่ปรากฏจริง ๆ

เยโรม แฟรงค์ (Jerome Frank) ผู้พิพากษาที่ถือว่าเขาเป็น “ผู้ที่ไม่เชื่อใจต่อข้อเท็จจริง” หมายความว่า แม้ในกรณีที่กฎเกณฑ์มีความชัดเจนง่ายดายต่อการตีความแล้วก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจส่งผล สะเทือนน้อยเต็มที่ในคําตัดสินของศาลระดับล่าง เฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบลูกขุน เนื่องจากบุคคลดังกลาวสามารถ ยกข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ตนพึงพอใจมาปรับเข้ากับกฎเกณฑ์ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ตามที่ตนต้องการในที่สุดได้ นอกจากนี้ เหตุปัจจัยเรื่องความสมบูรณ์หรือบกพรองของพยานหลักฐาน ความสามารถของทนายความหรือผู้พิพากษา ก็เป็นตัวกําหนดอันสําคัญต่อผลของคําพิพากษา ความลื่นไหลหรือไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมนับเป็น อุปสรรคในการคาดทํานายการตัดสินใจของศาล

นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1957 แฟรงค์ยังได้ร่วมเขียนงานชิ้นหนึ่งเรื่อง “ไร้ความผิด” (Not guilty) ซึ่งเป็นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องคดีความผิดจํานวนหนึ่ง ซึ่งบรรดาจําเลยต่างถูกตัดสินพิพากษาว่าประกอบ อาชญากรรม แต่ได้รับการตัดสินใหม่ว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในศาลชั้นหลัง การค้นพบประจักษ์หลักฐานในความไม่แน่นอน แห่งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาลและความผิดพลาดต่าง ๆ อันเกิดขึ้นได้ เหล่านี้นับเป็นเหตุผลที่ทําให้ เขาคัดค้านเรื่องการลงโทษประหารชีวิต อีกทั้งยังทําให้เขายืนยันความสําคัญของความเป็นธรรมในการพิจารณา พิพากษาคดี ซึ่งไม่อาจนําไปแลกกับประสิทธิภาพ (ความรวดเร็ว) ในทางตุลาการ

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน มีแนวความคิดสําคัญ ที่เน้นความเป็นกฎหมายในทางปฏิบัติ วิจารณ์ความไม่แน่นอนของกฎหมาย ช่องว่างของกฎหมายในตัวบทและ ความเป็นจริงในแง่การบังคับใช้ รวมทั้งวิจารณ์เบื้องหลังการใช้อํานาจของผู้พิพากษาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมว่า เบื้องหลังคําพิพากษาไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย หากส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้พิพากษาที่เกี่ยวโยงกับ การเมือง กฎหมายไม่อาจจะแยกออกจากการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมได้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้แนวความคิดดังกล่าวอาจถูกวิพากษ์ในแง่ความเกินเลยในบางความคิด แต่ในระดับหนึ่งย่อมมีคุณูปการในการเป็นฐานคิดเชิงทฤษฎีรองรับการตรวจสอบและพัฒนาการใช้อํานาจตุลาการใน สังคมไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในระยะหลัง ๆ จะปรากฏข้อวิจารณ์ความบกพร่องในการใช้อํานาจตุลาการมากขึ้นเรื่อย ๆ

สําหรับกระแสเร่งเร้าให้ใช้การลงโทษประหารชีวิตต่อความผิดร้ายแรงอย่างจริงจังนั้น ข้าพเจ้า ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เพราะแม้จะมีการลงโทษประหารชีวิตผู้กระทําความผิดร้ายแรงก็ตาม ก็มิได้หมายความว่า การกระทําความผิดร้ายแรงนั้นจะลดน้อยลง หรือจะไม่เกิดขึ้นอีก และที่สําคัญคือ ในการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามกระบวนการนั้น จะมีหลักประกันอะไรมายืนยันได้ว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ถ้าหากจําเลยคนใดได้ถูกศาล พิพากษาประหารชีวิตไปแล้ว แต่ในภายหลังได้มีการพบพยานหลักฐานใหม่ว่าจําเลยคนนั้นมิใช่ผู้กระทําความผิดแล้ว จะมีการเยียวยาอย่างไร และที่สําคัญคือจะให้ชีวิตใหม่แก่จําเลยได้หรือไม่ในเมื่อเขาถูกประหารชีวิตไปแล้ว ซึ่งลักษณะ ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในสังคมไทย อันเกิดมาจากความบกพร่องในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของศาล

หมายเหตุ นักศึกษาอาจแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงความคิดเห็น โดยอาศัยความไม่แน่นอนของกฎหมาย ความบกพร่องในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาล ตาม แนวความคิดของนักสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน

 

ข้อ 3. ปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมเชิงธรรมนิยม-อํานาจนิยม มีอิทธิพลสําคัญต่อการก่อตัวหรือพัฒนาการของวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ/ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกันในสังคมไทยสมัยใหม่ หรือไม่ เพราะเหตุใด และเหตุใดในยุคแรกเริ่มปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นสังคมสมัยใหม่ (Modernization) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ร.4) จึงเกิดการปรับเปลี่ยนปรัชญากฎหมายไทยให้มีลักษณะ ธรรมนิยมบริสุทธิ์หรือธรรมนิยมเชิงมนุษยนิยม (Humanism) อันทําให้เกิดการยอมรับทางกฎหมาย ต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

ธงคําตอบ

– ปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมเชิงธรรมนิยมหรืออํานาจนิยมนั้น มิได้มีอิทธิพลสําคัญต่อการก่อตัว หรือพัฒนาการของวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกันในสังคมไทย สมัยใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะ ธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม มีปรากฏในหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

เมื่อความคิดเชิงธรรมนิยมหรืออํานาจนิยมในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม มุ่งเน้นศีลธรรม แบบดั้งเดิม และอนุรักษนิยมภายใต้โครงสร้างสังคมแบบศักดินา ซึ่งไม่มีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกัน ดังนั้น การก่อตัวหรือพัฒนาวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกันในสังคมไทยสมัยใหม่ จึงไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ดังกล่าวนั้นแต่อย่างใด แต่จะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก ตามแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก โดยเริ่มมีการปฏิรูปตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) ซึ่ง เกี่ยวพันกับเหตุปัจจัยอันซับซ้อนทั้งกระแสปฏิรูปความคิดทางพุทธศาสนาแบบมนุษยนิยมและธรรมยุติกนิกาย อิทธิพลของวิทยาการตะวันตก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับจากการทําสัญญาเบาริงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับ พลังกดดันจากมหาอํานาจตะวันตก ตลอดจนเหตุปัจจัยทางการเมืองภายในอันเกี่ยวกับอํานาจเสนาบดีตระกูลบุนนาค

ซึ่งการก่อตัวหรือพัฒนาวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังกล่าว ทําให้เกิดแผนการปฏิรูปสังคมไทยให้เข้าสู่แบบวิถีสังคมสมัยใหม่แบบตะวันตก และแผนปฏิรูปสังคมนับว่าเป็น เหตุที่มาของการปฏิรูปสถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ตามมา รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการ การคลัง และโดยเฉพาะ การปฏิรูปกฎหมาย ทําให้ปรัชญากฎหมายไทยแบบเดิมที่อิงอยู่กับพระธรรมศาสตร์ได้เสื่อมลงอย่างมาก พร้อมกันนั้น ปรัชญากฎหมายตะวันตกก็เริ่มปรากฏตัวขึ้น

 

Advertisement