การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นางดําเกิดที่จังหวัดอุดรธานีเมื่อปี พ.ศ. 2493 จากบิดามารดาเป็นญวนอพยพซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ต่อมานางดําได้อยู่กินฉัน สามีภริยากับนายม่วงคนสัญชาติไทยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และเกิดบุตรชาย 1 คนก่อนประกาศ ของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า นางดําและบุตรชาย 1 คนนั้นได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นางดําและบุตรชายได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนางดํา

จากข้อเท็จจริง นางดําเกิดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2493 จากบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ซึ่ง เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และเกิดก่อนวันที่ประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลักนางดํา ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตามมาตรา 7 (3)

แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว นางดําจะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) เพราะบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

 

กรณีบุตรชายของนางดํา

จากข้อเท็จจริง บุตรชายของนางดําเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลักบุตรชายของนางดําย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิดตามหลักดินแดนตามมาตรา 7 (3)

และเมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ ย่อมมีผลทําให้บุตรชายของ นางดําได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ประกอบมาตรา 10 เพราะเกิดโดยมารดามีสัญชาติไทย (ขณะเกิดนางดําเป็นผู้มีสัญชาติไทย) แม้ว่านางดําจะถูกถอนสัญชาติไทยใน ภายหลังก็ตาม

สรุป

นางดําจะได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7 (3) แต่จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ส่วนบุตรชายของนางดําจะได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ประกอบมาตรา 10

 

ข้อ 2 นายสมเดชคนสัญชาติไทยได้ทําสัญญาซื้อเครื่องถ่ายเอกสารจํานวน 10 เครื่องจากนายโทนี่คนสัญชาติอังกฤษที่มีภูมิลําเนาตามกฎหมายอยู่กรุงเทพฯ โดยสัญญานี้ทําที่สิงคโปร์ และขณะทําสัญญา เครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่สิงคโปร์ นายสมเดชและนายโทนี่ไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายว่าจะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้ เมื่อ ซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าสวิตช์ตัวควบคุมของเครื่องถ่ายเอกสารทั้ง 10 เครื่องนี้อยู่ในสภาพชํารุด ใช้การไม่ได้ นายสมเดชจึงขอเปลี่ยน แต่นายโทนี้ไม่ยอมเปลี่ยนให้โดยโต้แย้งว่าตนในฐานะผู้ขาย ไม่จําต้องรับผิดในกรณีการชํารุดที่ว่านี้ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า หากศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ของสัญญาฉบับนี้ไว้พิจารณา ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านี้ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 13 วรรคหนึ่ง “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญหรือ ผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้า คู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฏหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มี สัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสําคัญหรือผลของ สัญญานั้น กรณีเป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็น กรณีตามลําดับได้ดังนี้

1 กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้นํากฎหมายของประเทศใดมาใช้บังคับ ก็ให้นํากฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ

2 กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่สัญญา

(ก) ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ

(ข) ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้นมาใช้บังคับ

กรณีตามอุทาหรณ์

ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่า นายโทนี่ (ผู้ขาย) จะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องในทรัพย์สิน (เครื่องถ่ายเอกสาร) ที่ซื้อขายกันเพียงใดหรือไม่ อันเป็นปัญหาในเรื่องผลของสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดย ปริยายว่าให้นํากฎหมายประเทศใดมาใช้บังคับแก่ผลของสัญญา จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายได้ว่าคู่สัญญาจะให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ข้อพิพาทนี้ และเมื่อทั้งนายสมเดชและนายโทนี่ คู่สัญญาก็ไม่ได้มีสัญชาติเดียวกัน กรณีเช่นนี้กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่ กฎหมายประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็น กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาฉบับนี้ได้ทําขึ้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น หากได้ความว่าศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ไว้พิจารณา ศาลไทยจึงควรนํากฎหมาย ประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าว

สรุป

ศาลไทยควรนํากฎหมายประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 ในการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่ของศาลประเทศฝรั่งเศสในฐานะประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้รับคําขอ อยากทราบว่าศาลประเทศฝรั่งเศสมีหลักพิจารณาประเด็นแห่งคดีฯ ที่ว่านี้อย่างไร หรือไม่ ให้ท่านอธิบายโดยชัดเจนและครบถ้วน

ธงคําตอบ

ศาลประเทศฝรั่งเศสมีหลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองไว้ เพื่อวินิจฉัยประเด็น แห่งคดีว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่ โดยมีหลักสําคัญว่า กฎหมายของประเทศฝรั่งเศสนั้นจะไม่คํานึงถึง มูลเหตุจูงใจในการกระทําความผิด แต่ จะถือสาระสําคัญของการกระทําเป็นสําคัญ ซึ่งถ้าเป็นการกระทําที่ กระทบต่อธรรมนูญการปกครองและรัฐบาล โดยมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนหรือล้มล้างการปกครองประเทศในหลักใหญ่ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) แล้ว ให้ถือว่าการกระทํานั้นเป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งจะแตกต่างกับ ศาลประเทศชิลี ซึ่งจะพิจารณามูลเหตุจูงใจในการกระทําผิดเป็นสําคัญ โดยดูว่ามูลเหตุจูงใจในการก่อคดีเป็น เรื่องของการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องของการเมืองก็จะถือเป็นความผิดทางการเมือง

 

ข้อ 4 จงอธิบายหลักเกณฑ์และสาระสําคัญพอสรุปได้ของความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Crimes) พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์และสาระสําคัญของความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Crimes) มีว่า “ประเทศภาคีแห่งข้อตกลงระหว่างประเทศฯ ทุกประเทศ ย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาความผิด ดังกล่าวนี้ โดยใช้กฎหมายอาญาของประเทศนั้นได้ หากปรากฏตัวผู้กระทําผิดในดินแดนหรือราชอาณาจักรของ ประเทศนั้น โดยไม่ต้องคํานึงว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศเจ้าของท้องที่เกิดเหตุหรือประเทศผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม”

ตัวอย่างของความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ การฉ้อโกงระหว่างประเทศ การกระทํา ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเงินตรา การค้าทาสและการค้าหญิง การกระทําความผิดเกี่ยวกับสลัดอากาศ เป็นต้น

Advertisement