การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสืบไทย เกิดที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2516 จากนางบุญมารดาผู้มีสัญชาติไทย ส่วนบิดาเป็นวิศวกรเครื่องบินขับไล่สัญชาติอเมริกัน ผู้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการทางทหารระหว่าง ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี แล้วก็เดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกา ให้ท่านวินิจฉัย พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่านายสืบไทยควรได้สัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7

(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

 

ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ แล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสังเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสืบไทยควรได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า การที่นายสืบไทย เกิดที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นการเกิดในราชอาณาจักรไทย ก็ไม่ทําให้นายสืบไทยได้รับ สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ทั้งนี้เพราะนายสืบไทยได้เกิดในราชอาณาจักรไทย ในขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่เกิดบิดาเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 ประกอบกับข้อ 1(2)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ย่อมมีผลทําให้นายสืบไทยกลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กําหนดให้บุคคลที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือ นอกราชอาณาจักรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด และตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ยังได้

บัญญัติให้นําบทบัญญัติมาตรา 7(1) มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้ บังคับด้วย ดังนั้น นายสืบไทยจึงได้รับสัญชาติไทย เพราะเกิดจากนางบุญมารดาซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยถือว่า นายสืบไทยได้รับสัญชาติไทยย้อนหลังไปตั้งแต่นายสืบไทยเกิด

สรุป

นายสืบไทยควรได้รับสัญชาติไทย เพราะเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ประกอบกับมาตรา 10 โดยมีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่ นายสืบไทยเกิด

 

ข้อ 2 นายกิมคนสัญชาติเกาหลีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องการจะทําสัญญาฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ คือ สัญญาขายโต๊ะทองคํา ให้แก่นายลีคนสัญชาติเดียวกันซึ่งมีภูมิลําเนาตามกฎหมายอยู่ที่กรุงเทพฯ กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของเกาหลีกําหนดว่าความสามารถของบุคคลให้เป็นไป ตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น และกฎหมายแพ่งของเกาหลีกําหนดว่าบุคคลย่อมบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ต่อมานายกิมมาปรึกษากับท่านว่า ตนจะมีความสามารถทําสัญญาฉบับดังกล่าวนี้หรือไม่ ท่านจะให้คําปรึกษาพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายแก่นายกิมอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 10 วรรคสอง “แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมาย สัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้น มีความสามารถทํานิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรม ตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุ นิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาขายโต๊ะทองคําระหว่างนายกิมกับนายลีที่จะทําขึ้นในกรุงเทพฯ นั้น ถือเป็นกรณีที่คนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องนํา พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง มาเป็นหลักในการพิจารณาความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าว

ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 นั้น ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า คนต่างด้าวที่ทํานิติกรรมในประเทศไทย (สยาม) แม้จะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรม ตามกฎหมายสัญชาติของตน แต่อาจถือได้ว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ

1 คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2 ตามกฎหมายสัญชาติของคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตามข้อ 1

3 แต่กฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1 ได้

ดังนั้น การที่นายกิมคนสัญชาติเกาหลีต้องการทํานิติกรรมในประเทศไทย คือ สัญญาขาย โต๊ะทองคํา ซึ่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมาย สัญชาติของนายกิม (เกาหลี) ก็ถือว่านายกิมเป็นบุคคลไร้ความสามารถเนื่องจากอายุเพียง 20 ปี ไม่ครบ 21 ปีบริบูรณ์ นั้น เมื่อปรากฏว่าตามกฎหมายไทย นายกิมสามารถทํานิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้ เพราะถือว่า นายกิมบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น นายกิมจึงมีความสามารถทําสัญญาฉบับดังกล่าวนี้ได้ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง และสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายแก่นายกิมดังที่ได้อธิบายไปแล้วดังกล่าว ข้างต้น

 

ข้อ 3 เครื่องบินโดยสารของสายการบินจดทะเบียนประเทศสวีเดนเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังประเทศอังฤษได้ถูกชาวซีเรีย 2 คน อ้างว่าตนมีระเบิดนําติดตัวขึ้นมา และได้จับคนสัญชาติไทย เป็นตัวประกันเพื่อเรียกร้องให้นักบินเปลี่ยนทิศทางนําเครื่องบินไปร่อนลงที่ประเทศอิหร่าน ต่อมา นักบินนําเครื่องบินร่อนลงจอดที่ประเทศเกาหลีใต้โดยอ้างว่าจําเป็นต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ชาวซีเรีย ทั้ง 2 คน ได้ปล่อยตัวผู้โดยสารที่เป็นตัวประกันรวมถึงเจ้าหน้าที่ประจําเครื่องทั้งหมด และยอมจํานน ต่อเจ้าหน้าที่ ให้ท่านวินิจฉัย พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าในกรณีดังกล่าวนี้ประเทศใดบ้าง มีเขตอํานาจศาลตามอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยการกระทําความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963

ธงคําตอบ

เขตอํานาจศาลในการพิจารณาคดีความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วย การกระทําความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 มีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ซึ่งได้บัญญัติให้อํานาจรัฐซึ่งเครื่องบินนั้น ทําการจดทะเบียน (The state of registration of the aircraft) หรือรัฐเจ้าของสัญชาติ เจ้าของธงของ เครื่องบินนั้น มีอํานาจพิจารณาการกระทําความผิดที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินของตนได้

นอกจากนี้มาตรา 4 ยังบัญญัติให้อํานาจแก่รัฐอื่น ๆ ซึ่งมิใช่รัฐที่เครื่องบินนั้นทําการจดทะเบียน มีอํานาจพิจารณาความผิดฐานสลัดอากาศด้วย ได้แก่

1 ในกรณีที่ความผิดนั้นมีผลบนดินแดนแห่งรัฐใด รัฐนั้นมีอํานาจพิจารณา

2 รัฐซึ่งผู้กระทําความผิดนั้นมีสัญชาติหรือมีถิ่นที่อยู่เป็นการถาวร หรือหากเป็นเรื่องที่ความผิดนั้นกระทําต่อคนสัญชาติ หรือผู้ที่มีถิ่นที่อยู่เป็นการถาวรในรัฐใด รัฐนั้น ๆก็มีอํานาจพิจารณา

3 ในกรณีที่ความผิดกระทบต่อความมั่นคงของรัฐใด รัฐนั้นมีอํานาจพิจารณา

ดังนั้น กรณีตามปัญหาดังกล่าวประเทศที่มีเขตอํานาจศาลตามอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วย การกระทําความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 ในการพิจารณาความผิดที่เกิดขึ้น ได้แก่

1 ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่เครื่องบินนั้นจดทะเบียน (ตามมาตรา 3)

2 ประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้กระทําความผิดมีสัญชาติ (ตามมาตรา 4)

3 ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของสัญชาติของผู้เสียหาย (ตามมาตรา 4)

 

ข้อ 4 ในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ให้ท่านอธิบายฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําความผิดโดยละเอียดครบถ้วน

ธงคําตอบ

ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําความผิดในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น หมายถึง เหตุ ยกเว้นไม่ให้ส่งตัวผู้กระทําผิด หรือผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวมีอยู่ 4 ประการ ดังนี้ คือ

1 บุคคลที่ถูกสั่งให้ปล่อยตัวแล้ว กล่าวคือ ถ้าบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวนั้นถูกศาลใดศาลหนึ่ง พิจารณาในความผิดที่ขอให้ส่งตัวมาแล้ว และศาลได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว หรือศาลได้พิพากษาลงโทษ และผู้นั้นได้รับโทษแล้ว ประเทศผู้รับคําขอ ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการส่งตัวได้โดยอาศัยหลักกฎหมาย ที่ว่า บุคคลคนเดียวกันย่อมจะไม่ต้องถูกพิจารณาในความผิดนั้นเป็นสองซ้ํา ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญา ของไทยมาตรา 10 และมาตรา 11 ซึ่งได้บัญญัติยืนยันหลักนี้ไว้

2 มีโทษประหารชีวิตเพียงประการเดียว กล่าวคือ ตามหลักทั่ว ๆ ไปถือกันว่า ถ้าความผิด ที่ขอให้ส่งตัวนั้นเป็นความผิดที่มีแต่โทษหนักสถานเดียว คือ ประหารชีวิตแล้ว ประเทศที่รับคําขอชอบที่จะปฏิเสธ การส่งตัวนั้นได้เพราะถือหลักมนุษยธรรมว่า ประเทศไม่ควรยอมเป็นเครื่องมือช่วยประเทศอื่นโดยส่งคนที่เข้ามา อยู่ในประเทศตนไปให้ประเทศอื่นประหารชีวิตเสีย นอกจากนั้นยังละเมิดหรือฝ่าฝืนหลักศาสนาต่าง ๆ และยังเป็น การกระทบกระเทือนต่อจิตใจของบุคคล ตัวอย่างเช่น สนธิสัญญาระหว่างสเปนกับฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1850 ซึ่งระบุไว้ชัดแจ้งว่า สเปนจะยอมส่งคนข้ามแดนให้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่าความผิดที่จะพิจารณาลงโทษแก่บุคคลนั้น ไม่เป็นความผิดที่มีโทษหนักถึงประหารชีวิต

3 ความผิดที่ขัดกับหลักศีลธรรมของประเทศที่รับคําขออย่างร้ายแรง กล่าวคือ เป็น ความผิดที่นานาประเทศไม่ให้การยอมรับ เพราะขัดกับหลักศีลธรรมอย่างร้ายแรง ตัวอย่างเช่น ประเทศ ก (รับรองการมีทาสและมีบทบัญญัติกฎหมายลงโทษทาสผู้กระทําความผิด) ได้ร้องขอให้ประเทศ ข (ซึ่งมีหลักกฎหมาย บัญญัติว่า การค้าทาสและมีทาสเป็นความผิดเพราะขัดต่อหลักศีลธรรมและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์) ส่งตัว ช (ทาส) ผู้กระทําผิด ดังนี้ ประเทศ ข ย่อมปฏิเสธการส่งตัว ช ให้แก่ประเทศ ก ได้

4 บุคคลในคณะทูต กล่าวคือ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศได้ให้หลักเอกสิทธิ์และ ความคุ้มกัน (Privilege and Immunity) ทางการทูต ในการที่จะไม่ถูกฟ้องคดีอาญาในประเทศที่ไปประจําอยู่ ฉะนั้นถ้าเกิดปัญหาว่า บุคคลในคณะทูตผู้หนึ่งไปกระทําผิดอาญาในประเทศที่ตนไปประจําอยู่ แล้วหลบหนีไปอยู่ ในประเทศที่สาม ประเทศเจ้าของท้องที่เกิดเหตุ (ประเทศที่ผู้กระทําความผิดไปประจําอยู่) จะขอให้ประเทศที่สาม ส่งตัวให้ไม่ได้ เพราะแม้บุคคลนั้นยังอยู่ในประเทศนั้นโดยไม่ได้หลบรนี้ไปประเทศที่สาม ศาลแห่งประเทศนั้น (ประเทศที่ผู้กระทําผิดไปประจําอยู่) ก็ยังไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาอยู่แล้ว เพราะหลักเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ทางการทูตดังกล่าวข้างต้น

Advertisement