การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ดวงใจเกิดที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530 จากมารดาคนสัญชาติไทยและบิดาคนสัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งจดทะเบียนสมรสกัน โดยบิดาของดวงใจนั้นเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทําวิจัยในประเทศไทย

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าดวงใจเป็นผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสังเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ดวงใจจะเป็นผู้ได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า การที่ดวงใจเกิดที่ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นการเกิดในราชอาณาจักรไทย ก็ไม่ทําให้ดวงใจได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3) ทั้งนี้เพราะดวงใจได้เกิดในราชอาณาจักรไทย ในขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่เกิด บิดาเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2. ประกอบกับข้อ 1. (2)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ย่อมมีผลทําให้ดวงใจกลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ที่กําหนดให้บุคคลที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด และตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ยังได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติ มาตรา 7 (1) มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น ดวงใจ จึงได้รับสัญชาติไทย เพราะเกิดจากมารดาซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยถือว่าดวงใจได้รับสัญชาติไทยย้อนหลังไปตั้งแต่ ดวงใจเกิด

สรุป

ดวงใจเป็นผู้ที่ได้รับสัญชาติไทย

 

 

ข้อ 2 นายสรศักดิ์คนสัญชาติไทยทําสัญญาซื้อเตียงโบราณประดับมุก 1 เตียง จากนายกิมคนสัญชาติเกาหลี โดยสัญญาทําที่เกาหลีและขณะทําสัญญาเตียงฯ นี้ก็อยู่ที่เกาหลี นายสรศักดิ์และนายกิม กําหนดไว้ในสัญญาชัดแจ้งว่าหากมีข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฯ ฉบับนี้ให้ใช้ กฎหมายไทยบังคับ กฎหมายขัดกันฯ ของเกาหลีกําหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย ของประเทศที่สัญญาทําขึ้น และกฎหมายแพ่งของเกาหลีกําหนดว่าการซื้อขายวัตถุโบราณต้องทํา เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ปรากฏว่าการซื้อขายรายนี้ ทําเป็นหนังสือแต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายสรศักดิ์ผิดสัญญาโดยไม่ยอม ชําระราคาและรับมอบเตียงนี้ นายกิมจึงฟ้องนายสรศักดิ์ต่อศาลไทยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย อันเกิดจากการผิดสัญญา นายสรศักดิ์ยกข้อต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ ตน (นายสรศักดิ์) จึงไม่ผูกพันหรือต้องรับผิดตามสัญญา ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าหากท่านเป็นศาลไทย ท่านควรพิจารณา และวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายรายนี้เป็นโมฆะหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 9 วรรคหนึ่ง “นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นใด แห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้น ได้ทําขึ้น”

มาตรา 13 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็น สาระสําคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือ โดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่ง คู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น

สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผล แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสรศักดิ์คนสัญชาติไทยทําสัญญาซื้อเตียงโบราณประดับมุก 1 เตียง จากนายกิมคนสัญชาติเกาหลี และขณะทําสัญญาเตียงๆ ที่ว่านี้ก็อยู่ที่เกาหลี โดยนายสรศักดิ์กับนายกิมได้ตกลงกันไว้ว่า หากกรณีมีข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย และ สัญญาซื้อขายฉบับนี้ได้ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ดังนี้ ถ้าพิจารณาตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ที่ว่า ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรม ย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทําขึ้น ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ของเกาหลีได้กําหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น และตามกฎหมายแพ่ง ของเกาหลีก็กําหนดว่า การซื้อขายวัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ ดังนั้นสัญญาซื้อขายเตียงฯ ฉบับนี้ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นสัญญาที่ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของสัญญาเมื่อกรณี ตามข้อเท็จจริง กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาได้แก่ กฎหมายไทย ซึ่งเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณีตาม มาตรา 13 วรรคหนึ่ง และตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็ไม่มีบทบัญญัติบังคับว่าการซื้อขายวัตถุโบราณ ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายเตียงฯ ระหว่างนายสรศักดิ์กับ นายกิมจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ ข้อต่อสู้ของนายสรศักดิ์จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาลไทย ข้าพเจ้าจะพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายฉบับนี้มีผลสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆะ

 

 

ข้อ 3 นายฮัสซันคนสัญชาติตุรกีได้วางระเบิดเครื่องบินของประเทศเกาหลีใต้ขณะที่กําลังจอดอยู่ที่สนามบิน สุวรรณภูมิเพื่อเตรียมจะบินจากประเทศไทยไปยังประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวางระเบิดเสร็จแล้วนายฮัสซัน ได้หนีกลับไปยังประเทศตุรกี และเครื่องบินลําดังกล่าวได้ระเบิดขณะที่กําลังบินอยู่เหนือทะเลหลวง การกระทําของนายฮัสซันผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 ได้บัญญัติ ถึงลักษณะของการจี้เครื่องบินอันเป็นการกระทําความผิดฐานสลัดอากาศว่า เป็นการกระทําโดย

(1) บุคคลที่อยู่ในเครื่องบินนั้น

(2) การกระทํานั้นเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้กระทําต่อเครื่องบินลํานั้นเอง

(3) การกระทํานั้นเกิดในขณะที่เครื่องบินกําลังบินอยู่

ทั้งนี้หมายความรวมถึงการพยายามกระทําความผิดด้วยการจี้เครื่องบินจึงเป็นการกระทําจาก ผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกําลังบิน (on board an aircraft in flight) หรือที่เราเรียกว่าเป็นการกระทําภายในนั่นเอง

ดังนั้นการกระทําภายนอก เช่น การโจมตีด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยาน หรือก่อวินาศกรรมแก่ เครื่องบินที่จอดอยู่ในสนามบิน ย่อมไม่ใช่การจี้เครื่องบินตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทําของนายฮัสซันคนสัญชาติตุรกี เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ เห็นว่า การวางระเบิดเครื่องบินโดยนายฮัสซันนั้นได้กระทํา ในขณะที่เครื่องบินยังจอดอยู่ที่สนามบิน การกระทําดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความหมายของการกระทําภายในของ ความผิดฐานจี้เครื่องบิน ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 เพราะเป็น การกระทําภายนอก ไม่ใช่การกระทําของผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกําลังบินอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออนุสัญญากรุงมอนทรีว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความ ปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971 ซึ่งใช้บังคับในเวลาต่อมา ได้บัญญัติให้คลุมถึงการกระทําทุกชนิดที่กระทบ ต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการกระทําภายนอกด้วย ดังนั้นการกระทําของนายฮัสซัน จึงเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงมอนทรีสว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความปลอดภัย แห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971

สรุป

การกระทําของนายฮัสซันเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971

 

ข้อ 4 จงอธิบายหลักในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศอังกฤษมาโดยครบถ้วนและถูกต้อง

ธงคําตอบ

อธิบาย

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศอังกฤษนั้น จะต้องประกอบไปด้วย องค์ประกอบ 3 ประการ คือ

1 ความผิดต้องได้กระทําในขณะที่ไม่มีความสงบในทางการเมือง เช่น เกิดขึ้นในระหว่างที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ฯลฯ

2 ต้องมีความขัดแย้งระหว่างพรรคหรือกลุ่มตั้งแต่สองพรรคหรือสองกลุ่มขึ้นไป

3 แต่ละพรรคหรือกลุ่มต้องการให้อีกพรรคหรือกลุ่มยอมรับระบบการปกครองของตน

เมื่อครบองค์ประกอบ 3 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศอังกฤษจะถือว่าความผิดนั้น เป็นการกระทําความผิดทางการเมืองซึ่งห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้นหากมีคําร้องขอให้ประเทศอังกฤษส่ง ผู้ร้ายข้ามแดน และมีการต่อสู้ว่าความคิดที่ผู้ถูกขอให้ส่งข้ามแดนได้กระทําลงไปนั้น เป็นความผิดทางการเมือง ประเทศอังกฤษจะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นมาใช้ในการพิจารณาคดี

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าลําพังการกระทําของพวก ก่อการร้าย (Terrorists) ที่เพียงแต่ก่อความไม่สงบต่อการปกครองของรัฐก็ดี หรือการกระทําของพวกอนาคิสต์ (Anarchist) ซึ่งยึดถือลัทธิที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไม่ว่าในแบบใดก็ดีจึงไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองเพราะ ผู้กระทําไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้มีการปกครองไม่ว่าในรูปแบบใดเลย

Advertisement