การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ก เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับ จากบิดาเป็นคนสัญชาติจีนอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย ส่วนมารดาเป็นคนสัญชาติไทย บิดามารดาได้ จดทะเบียนสมรส ณ สํานักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2489 ให้ท่าน วินิจฉัยว่า ก. ได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร ยกข้อกฎหมายประกอบคําตอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลัก ก. ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม หลักดินแดนตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3)

แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว ก. จะถูกถอนสัญชาติไทยตาม ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1. (3) เพราะ ก. เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าว และ ในขณะที่เกิดบิดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ ย่อมมีผลทําให้ ก. กลับมาได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ประกอบมาตรา 10 เพราะเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และตามมาตรา 10 ได้บัญญัติให้มาตรา 7 (1) มีผลใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อน วันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้นจึงถือว่า ก. ได้สัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตของ มารดาตั้งแต่เกิด

สรุป

ก ได้สัญชาติไทยตามหลักสายโลหิต ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ประกอบมาตรา 10

 

ข้อ 2 นายทอมคนสัญชาตินิวซีแลนด์มีภูมิลําเนาตามกฎหมายอยู่ที่กรุงเทพฯ ทําสัญญาซื้อเครื่องกรองน้ำจํานวน 10 เครื่อง จากนายเจมส์คนสัญชาติเดียวกัน โดยไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะให้ใช้กฎหมายของ ประเทศใดบังคับแก่ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้ สัญญานี้ทําที่ญี่ปุ่นและขณะทําสัญญา เครื่องกรองน้ำทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ญี่ปุ่น เมื่อซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าภายหลังที่นายทอมนําเครื่องกรองน้ำ ทั้งหมดไปใช้ได้เพียง 3 วัน เครื่องกรองน้ำฯ ที่ว่านี้เกิดชํารุดใช้การไม่ได้ นายทอมจึงขอเปลี่ยน แต่นายเจมส์ไม่ยอมเปลี่ยนให้โดยอ้างว่า ตนในฐานะผู้ขายไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องใน พฤติการณ์เช่นนี้ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า หากข้อพิพาทที่ว่านี้เป็นคดีในศาลไทย ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทฯ ที่ว่านี้เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 13 วรรคหนึ่ง “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญหรือ ผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญา ไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสําคัญหรือผลของ สัญญานั้น กรณีเป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็น กรณีตามลําดับได้ดังนี้

1 กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้นํากฎหมายของประเทศใด มาใช้บังคับ ก็ให้นํากฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ

2 กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่ จะใช้บังคับแก่สัญญา

(ก) ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน ให้ใช้กฏหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ (ข) ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้นมาใช้บังคับ

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่า นายเจมส์ (ผู้ขาย) จะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องในทรัพย์สิน (เครื่องกรองน้ำ) ที่ซื้อขายกันเพียงใดหรือไม่ อันเป็นปัญหาในเรื่องผลของสัญญา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือ โดยปริยายว่าให้นํากฎหมายประเทศใดมาใช้บังคับแก่ผลของสัญญา จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายได้ว่าคู่สัญญาจะให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ข้อพิพาทนี้ และเมื่อทั้งนายทอมและนายเจมส์ซึ่ง เป็นคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน ดังนั้น กฎหมายที่ศาลไทยควรจะนําขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านี้จึงได้แก่ กฎหมาย ของประเทศนิวซีแลนด์ เพราะเป็นกฎหมายสัญชาติอันร่วมกันของคู่สัญญา ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่ง กฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง

สรุป

ศาลไทยควรนํากฎหมายของประเทศนิวซีแลนด์ขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทดังกล่าว

 

ข้อ 3 ขณะที่เครื่องบินจดทะเบียนประเทศแคนาดากําลังแล่นอยู่ที่ทางขึ้นลงของเครื่องบิน (Runway) เพื่อเตรียมนําเครื่องขึ้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยเพื่อไปยังประเทศแคนาดา นายวู คนสัญชาติเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้โดยสารที่อยู่ในเครื่องบินลํานั้น บอกว่าตนมีระเบิดและจะทําการระเบิด เครื่องบินหากนักบินไม่นําเครื่องไปลงที่ประเทศเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามลูกเรือช่วยกันจับนายวทําให้ ไม่มีการระเบิดแต่อย่างใด จากกรณีดังกล่าว การกระทําของนายวผิดตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วย การขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 บัญญัติว่า ความผิดฐานสลัดอากาศ หมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลํานั้นกระทําการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของ อากาศยาน โดยใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยาน หรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยาน ให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน ทั้งนี้รวมถึงการพยายามกระทําความผิด

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทําของนายวถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ เนื่องจากการ เรียกร้องให้นักบินเปลี่ยนทิศทางบิน โดยบังคับให้นักบินนําเครื่องบินไปยังประเทศเกาหลีใต้เป็นการกระทํา อันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน ซึ่งถือเป็นการใช้กําลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามที่ตนต้องการ แม้ว่านายวูจะถูกจับตัวได้และไม่มี การระเบิดแต่อย่างใด การกระทําดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามมาตรา 1 แห่งอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1970 ซึ่งรวมถึงการพยายามกระทําความผิดด้วย

สรุป

การกระทําของนายวูถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการ ขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970

 

ข้อ 4 จงบอกลักษณะความผิดที่ไม่นิยมส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคําตอบ

ลักษณะของความผิดที่ไม่นิยมส่งผู้ร้ายข้ามแดน แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

1 ความผิดทางการเมือง

2 ความผิดต่อกฎหมายพิเศษ หรือบทบัญญัติอันมีลักษณะพิเศษทางการปกครอง

3 ความผิดต่อกฎหมายการพิมพ์

4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา

5 ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายทหาร

6 ความผิดฐานหลบหนีราชการทหาร

Advertisement